16 มกราคม 2019
5 K

ตอนที่แล้วเราได้เล่าถึงวีรกรรมในการเอาตัวรอดจากการโดนรถไฟมาเลเซียทิ้งไว้กลางทางจนมาถึงสิงคโปร์ได้สำเร็จ ตอนนี้เรามาทำความรู้จักกับสถานีรถไฟในสิงคโปร์กันดีกว่า

ประเทศสิงคโปร์มีทางรถไฟพื้นฐานสั้นที่สุดในอาเซียน และอาจจะสั้นที่สุดในโลก

คำว่า ‘รถไฟพื้นฐาน’ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่ามันคือรถไฟทางไกล รถไฟระหว่างเมืองที่วิ่งไกลๆ มีรถนั่ง รถนอน รถเสบียง ไม่ใช่รถไฟที่วิ่งในเมือง

ปกติเวลาเราไปเที่ยวสิงคโปร์จะคุ้นเคยกับรถไฟฟ้าที่วิ่งขวักไขว่ซ้อนไปซ้อนมา แต่ก็ไม่เคยเห็นรถไฟพื้นฐานหรือที่เรียกให้เข้าใจกันโดยทันที่ว่า ‘รถไฟปู๊นๆ’ อาจเป็นเพราะว่าประเทศสิงคโปร์นั้นเล็กจิ๋วจนรู้สึกได้ว่าแค่รถไฟฟ้าก็วิ่งทั่วทั้งเกาะแล้ว

ทางรถไฟสายนี้ทอดยาวมาจากเชียงใหม่ เวียงจันทน์ ผ่านกรุงเทพฯ พุ่งมาหาดใหญ่ ข้ามแดนมากัวลาลัมเปอร์ และมาถึงสถานี JB Sentral ปราการด่านสุดท้ายของมาเลเซียก่อนจะข้ามไปที่สถานีวู้ดแลนด์ส (Woodlands) สถานีรถไฟเดียวของสิงคโปร์ที่ยังเหลืออยู่

ว่ากันด้วยสถานีรถไฟที่อยู่ชายแดน เราผ่านสถานีรถไฟชายแดนมาแล้ว 3 ที่ นั่นคือท่านาแล้ง หนองคาย และ

ปาดังเบซาร์ ซึ่งสถานีรถไฟที่ชายแดนเองก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

รูปแบบแรกเรียกว่า International Station สถานีแบบนี้มีด่านตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร และกระบวนการ CIQ แบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่สถานีแห่งเดียว โดยจะตั้งอยู่ในพื้นที่ของประเทศใดก็ได้ พนักงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจาก 2 ประเทศจะต้องมาทำงานในที่เดียวกัน ว่ากันง่ายๆ คือลงจากรถไฟมาก็จะเจอด่านตรวจคนเข้าเมืองของ 2 ประเทศในที่เดียวกัน ผ่านการแสตมป์พาสปอร์ตเรียบร้อยก็เดินยิ้มขึ้นรถไฟเดินทางต่อได้เลย ที่เห็นชัดๆ ใกล้ตัวก็คือสถานีปาดังเบซาร์ ชายแดนไทย-มาเลเซีย

สิงคโปร์

สถานีร่วมปาดังเบซาร์ตั้งอยู่ในรัฐเปอร์ลิส มาเลเซีย มีที่ทำการศุลกากรและสถานีรถไฟทั้งไทยและมาเลเซียในสถานีเดียวกัน

รูปแบบที่ 2 คือ Border Station เหมือนกับการผ่านแดนทางถนนเลย สถานีจะตั้งอยู่ก่อนถึงพรมแดนของทั้งสองประเทศ ทำหน้าที่แยกจากกันไม่ว่าจะเป็น CIQ หรือภารกิจด้านขนส่งทางรถไฟ ผู้โดยสารต้องลงรถเพื่อแสตมป์พาสปอร์ตแล้วกลับมาขึ้นรถไฟขบวนเดิมเพื่อวิ่งข้ามเขตแดนไปอีกประเทศ เมื่อข้ามปุ๊บก็จะถึงอีกสถานีปั๊บ ลงจากรถอีกรอบมาปั๊มพาสปอร์ตจึงถือว่าจบพิธี อันนี้จะดูยุ่งยากและขั้นตอนเยอะกว่า ที่เห็นได้ใกล้ตัวเราก็คือสถานีหนองคาย (ฝั่งไทย) และสถานีท่านาแล้ง (ฝั่งลาว)

ซึ่งสถานี JB Sentral ในฝั่งมาเลเซียและสถานีวู้ดแลนด์สของสิงคโปร์เป็นสถานี Border Station

สิงคโปร์

สถานีวู้ดแลนด์สเป็นสถานีชายแดนและสถานีหลักแห่งเดียวของสิงคโปร์ในปัจจุบัน

การเดินรถไฟระหว่างมาเลเซีย-สิงคโปร์ ณ ปัจจุบันเป็นรถไฟ Shuttle ระยะสั้น มีแต่รถนั่งอย่างเดียว ใช้เวลาเดินทาง 5 นาที ราคาค่าตั๋ว 5 ริงกิต ในทางกลับกันหากขึ้นจากสิงคโปร์กลับมายะโฮร์ค่าโดยสารจะสนนอยู่ที่ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์

อะไรคือความเท่าเทียมนี้

สิงคโปร์

รถไฟข้ามจากปลายแหลมมลายูไปที่เกาะสิงคโปร์เป็นของมาเลเซียทั้งขบวน มันประกอบไปด้วยตู้โดยสารความยาว 5 คันถ้วน มีหัวรถจักรดีเซลประกบหัวประกบท้าย ใช้เวลาเดินทางข้ามเกาะประมาณ 5 นาที

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน มีรถไฟด่วนของมาเลเซียที่ชื่อว่า ‘ด่วนลังกาวี’ วิ่งยาวจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ในประเทศไทย ผ่านบัตเตอร์เวอร์ธ กัวลาลัมเปอร์ เกอมัส ยะโฮร์ และมาสิ้นสุดที่สถานีวูดแลนด์ส นับว่าเป็นรถไฟขบวนเดียวในอาเซียนที่วิ่งผ่าน 3 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่ด้วยเวลาการเดินทางที่ยาวแบบเข็มนาฬิกาเกือบเวียนกลับมาครบรอบ 24 ชั่วโมง จึงทำให้รถไฟขบวนนี้อยู่ในตารางเวลาเดินรถเพียงไม่กี่เดือนและอันตรธานหายไปในที่สุด จะว่าไปก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหมือนกันเพราะถ้ารถไฟขบวนนี้ยังวิ่งอยู่ การเดินทางจากกรุงเทพฯ-สิงคโปร์จะต่อรถไฟเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้นที่หาดใหญ่ ไม่ใช่ต่อรถไฟแบบมาราธอนห้ารอบอย่างเราในครั้งนี้

สิงคโปร์

ชานชาลาสถานีวู้ดแลนด์ส

ปัจจุบัน สิงคโปร์นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีทางรถไฟพื้นฐานสั้นที่สุดในอาเซียน (และอาจจะที่สุดในโลกด้วยซ้ำ) วัดระยะทางจากกึ่งกลางของช่องแคบยะโฮร์จนถึงวู้ดแลนด์ส ระยะทางอยู่ราวๆ 1 กิโลเมตร ซึ่งทำให้ทางรถไฟความยาว 3.5 กม. ของ สปป.ลาว กลายเป็นยาวขึ้นมาทันที เมื่อถึงปลายทางผู้โดยสารทุกคนต้องลงรถไฟเพื่อเข้าด่านตรวจคนเข้าเมือง ก่อนจะกระจัดกระจายแยกย้ายเข้าเมืองด้วยวิธีต่างๆ ที่มีให้เลือกมากมายทั้งรถเมล์ แท็กซี่ MRT

สถานีวู้ดแลนด์สตอนนี้คือสถานีรถไฟแห่งเดียวในสิงคโปร์ แต่ในอดีตทางรถไฟเคยไปไกลกว่านี้จนถึงย่านถนน Kepple

แล้วเกิดอะไรขึ้นทำไมทางรถไฟถึงกุดอยู่แค่วู้ดแลนด์สล่ะ?

สิงคโปร์

แผนที่ทางรถไฟของสิงคโปร์ในสมัยที่ยังไม่รื้อถอนทาง

 

13 เมษายน 2561

เราขึ้นรถไฟ MRT จากย่านไชน่าทาวน์ (Chinatown) มาลงที่สถานี Tanjong Pagar แล้วเดินมาตามถนนสายเล็กๆ ที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่มาโผล่ที่ถนน Kepple

อาคารสีเทามอๆ ทรงสี่เหลี่ยมมีประตูโค้งแบบ Arch ประดับด้วยรูปปูนปั้นปรากฏอยู่ที่หัวถนนนั้น มันถูกล้อมรอบไว้ด้วยสังกะสี ด้านหน้าเป็นลานจอดรถเล็กๆ ที่ไม่มีรถจอดเลยซักคันทำให้รู้ว่าที่นี่ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว

ที่นี่คือสถานีรถไฟสิงคโปร์ (Singapore Railway Station)

หลายคนเรียกที่นี่ว่า Tanjong Pagar, Kepple Road และ Singapura

ไม่แตกต่างกับที่เราเรียกสถานีรถไฟกรุงเทพว่าสถานีรถไฟหัวลำโพง

สิงคโปร์

สถานีสิงคโปร์คืออดีตสถานีปลายทางภายใต้ของระบบรถไฟทางไกลที่ดำเนินการโดย KTMB ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟหลักในมาเลเซีย โดยเส้นทางรถไฟและตัวสถานีถือเป็นกรรมสิทธิ์ของ KTMB บางส่วน สถานีแห่งนี้เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 และใช้งานมาจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 จึงหยุดการดำเนินการและย้ายสถานีหลักไปอยู่ที่วู้ดแลนด์สจนถึงปัจจุบัน ส่วนทางรถไฟเดิมจากสถานีวู้ดแลนด์ส ผ่านสถานี Bukit Timah มาถึงสถานีสิงคโปร์ถูกรื้อถอนออกจนหมด เหลือเพียงแต่สะพานรถไฟบางส่วนที่ Bukit Timah ที่ยังคงเหลือไว้ให้เห็น

สิงคโปร์

ในอดีต แต่แรกเริ่มนั้นยังไม่มีรถไฟข้ามจากมาเลเซียมาที่เกาะสิงคโปร์ ทางรถไฟจึงมีเพียงเฉพาะในเกาะเท่านั้น และเมื่อทางเชื่อมข้ามช่องแคบยะโฮร์สร้างเสร็จก็ได้เปิดเดินรถไฟสินค้าข้ามจากมาเลเซียมาสิงคโปร์เที่ยวแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2466 ก่อนจะตามมาด้วยรถไฟโดยสารในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2466 มาสุดปลายทางที่สถานีสิงคโปร์ และก็ได้มีรถไฟหลากหลายขบวนจากตุมปัต กัวลาลัมเปอร์ เกอมัส ยะโฮร์ รวมถึงรถโรงแรมสุดหรูอย่าง Eastern and Oriental Express ที่วิ่งตรงมาจากสถานีกรุงเทพอีกด้วย

สิงคโปร์

ชานชาลาสถานีสิงคโปร์ในอดีตสมัยยังใช้งาน

น่าเสียดายที่เราไม่สามารถเข้าไปด้านในสถานีได้ แต่ก็พอโชคดีที่มีข้อมูลในมือบางส่วนที่พอจะเอามาเล่าให้ฟังได้ ก่อนอื่นเลยคงต้องขอพูดถึงสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าก่อน นั่นคือสถาปัตยกรรมของสถานีที่เด่นชัดมากของสถานีรถไฟสิงคโปร์ เป็นรูปแกะสลักหินอ่อน ออกแบบโดย รูดูลโฟ นอลลี สื่อถึงเกษตรกรรม การค้าขาย การขนส่ง และอุตสาหกรรม

สิงคโปร์

รูปสลักทั้ง 4 ไล่จากซ้ายไปขวา เกษตรกรรม การค้าขาย การขนส่ง และอุตสาหกรรม

รูปแบบของสถานีรถไฟนั้นมีความคล้ายคลึงกับสถานีกรุงเทพ คือเป็นปลายทางตันมีสถานีขวางทางรถไฟเอาไว้ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้มากในประเทศทางยุโรป ส่วนความแตกต่างคือ ทางรถไฟในชานชาลาหลักจะมี Pocket Track สำหรับใช้สับเปลี่ยนรถจักรได้เลย โดยไม่ต้องดึงรถออกจากชานชาลาไปสับเปลี่ยนในย่านเหมือนกับสถานีบัตเตอร์เวอร์ธเก่า

สิงคโปร์ สิงคโปร์

อีกเสน่ห์หนึ่งของสถานีแห่งนี้คือผนังด้านในของห้องโถงใหญ่ที่มีภาพวาดสีแสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในแหลมมลายู เช่น การปลูกข้าว การทำอุตสาหกรรมยาง การปลูกมะพร้าวรวมถึงเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งในโถงสถานีก่อนที่จะปิดตัวนั้นมีร้านค้า ร้านหนังสืออยู่ภายใน รวมถึงด่าน ตม. ขาออก ซึ่งแตกต่างจากขาเข้าที่เราต้องผ่านการตรวจที่วู้ดแลนด์ส แต่หากจะนั่งรถไฟออกจากสิงคโปร์นั้นต้องตรวจตั้งแต่ที่สถานีนี้เลย

เพราะการตรวจคนเข้าเมืองที่แปลกประหลาดนั้นทำให้เกิดปัญหาเป็นอย่างมากระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ จนเกิดเหตุหญิงชาวสิงคโปร์ถูกจับเพราะไม่มีตราประทับในพาสปอร์ตจากฝั่งมาเลเซีย เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ระหว่าง 2 ประเทศ จนเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่ประชุมนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก (Najib Razak) และ นายลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) จากสิงคโปร์ได้ตัดสินใจแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมืองผ่านทางรถไฟ พวกเขาประกาศอย่างเป็นทางการว่า KTMB จะขอย้ายสถานีหลักจากสถานีสิงคโปร์ไปที่สถานีวู้ดแลนด์สแทน รวมถึงกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองทั้งหมดด้วย

สิงคโปร์

คลิปรถไฟขบวนสุดท้ายออกจากสถานีสิงคโปร์ โดยมีสุลต่านอิบราฮิม อิสมาอิล แห่งรัฐยะโฮร์ เป็นผู้ขับรถไฟขบวนนั้น

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 รถไฟขบวนสุดท้ายเคลื่อนออกจากสถานีสิงคโปร์ รถไฟขบวนนั้นถูกลากจูงด้วยรถจักร GE Bluetiger หมายเลข 26108 ‘Tanjang Kupang’ และสุลต่านอิบราฮิม อิสมาอิล แห่งรัฐยะโฮร์ ซึ่งได้พารถไฟขบวนสุดท้ายกลับสู่มาตุภูมิด้วยตัวเอง

สิงคโปร์

รถจักร GE Bluetiger หมายเลข 26108 ‘Tanjang Kupang’ คือรถจักรที่พารถไฟขบวนสุดท้ายออกจากสถานีสิงคโปร์

หลังจากการยกเลิกใช้สถานีไม่นาน พื้นที่นี้ได้ถูกใช้สำหรับการจัดแสดงงานศิลปะ แฟชั่นโชว์ รวมถึงงานสำคัญหลายๆ งานเหมือนเป็น Exhibition Hall ก่อนที่จะปิดเพื่อเตรียมปรับปรุงอาคาร พื้นที่โดยรอบยังพอมองเห็นความสวยงามของสถาปัตยกรรมที่ชวนให้นึกถึงในวันที่สถานียังมีชีวิตและเต็มไปด้วยผู้คนที่มาขึ้นรถไฟ

สิงคโปร์ สิงคโปร์

ทางรถไฟเดิมถูกรื้อถอนออกทั้งหมด เหลือไว้แต่เพียงคันทางเดิมเป็นแนวพาดผ่านป่าใจกลางเกาะสิงคโปร์ ส่วนพื้นที่สถานี Bukit Timah ก็ยังคงเก็บรักษาสถานีและสะพานเหล็กข้ามถนนไว้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่แนวทางรถไฟเดิมมีแผนพัฒนาให้กลายเป็นทางเดิน ทางจักรยานภายใต้ธรรมชาติที่มีชื่อว่า The Greenway เนื่องจากสภาพแวดล้อมส่วนใหญ่ที่ทางรถไฟผ่านเป็นพื้นที่สีเขียวและป่าธรรมชาติที่ยังคงอยู่

สิงคโปร์

สถานี Bukit Timah สมัยที่ยังใช้งานอยู่

สิงคโปร์

สะพาน Bukit Timah

สิงคโปร์ สิงคโปร์

สถานี Bukit Timah และทางรถไฟเดิมที่เป็น Greenway ในปัจจุบัน
ภาพ : Greenway Singapore

อาคารสถานีรถไฟสิงคโปร์ได้ถูกเปลี่ยนสถานะให้เป็นโครงสร้างของสถานี MRT Cantonment ในเส้นทางสาย Circle Line ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อขยายเส้นทาง MRT เชื่อมสถานี Habour Front และ Marina Bay ให้กลายเป็นวงกลมโดยสมบูรณ์ ตามโครงการนั้นออกแบบให้ยึดโครงสร้างอาคารเดิมไว้และสร้างพื้นสถานีใหม่อยู่ระดับต่ำกว่าของเดิม ชานชาลา MRT แห่งนี้จึงเป็นรูปแบบเพดานสูง โดยจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

การเดินทางจากเวียงจันทน์ยันสิงคโปร์ของเราจบสมบูรณ์แล้วที่นี่

สิงคโปร์

อีกนิดอีกหน่อย

  1. หากใครอยากจะไปเลียบๆ มองๆ สถานีสิงคโปร์ หรือที่คุ้นเคยกันในนาม Tanjong Pagar และ Singapura ให้นั่ง MRT สาย East-West (สีเขียว) ลงที่สถานี Tanjong Pagar หรือ Outram Park และเดินตามถนนมุ่งหน้ามาที่ถนน Kepple
  2. และถ้าใครอยากไปเยี่ยมสถานี Bukit Timah ให้นั่ง MRT สาย Downtown (สีน้ำเงิน) ไปลงที่สถานี King Albert Park แล้วเดินต่อไปอีกนิดหน่อย และเมื่อเห็นสะพานรถไฟเก่าให้เลี้ยวซ้ายเลียบแนวทางรถไฟเดิมไปจะเจอสถานี Bukit Timah ซุกตัวอยู่ในนั้น
  3. ใครที่อยากลองนั่งรถไฟมาสิงคโปร์ บอกก่อนเลยว่าด่านวู้ดแลนด์สโหด!!!