ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งผู้ช่างคิดช่างถามตามวิสัยคนยุคมิลเลนเนียลมีคำถามติดปากอยู่ข้อหนึ่ง หลังจากได้ชมตัวอย่างการแสดงในชั้นเรียนวิชาบูรณาการข้ามศาสตร์ทางศิลปะการละครว่า “อันนี้เพอร์ฟอร์มานซ์หรือเพอร์ฟอร์มิ่งครับ” 

ด้วยความเป็นวัยรุ่นชอบละไว้ในฐานที่ (ไม่) เข้าใจ เขาจึงละคำว่า ‘อาร์ต’ ออกจากคำหลัง น้อง ๆ เลยแกล้งแซวกลับว่า “พี่คะ คำแรกเป็นคำนาม คำที่สองเป็นคำขยายนะคะ” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “มัน หรือ กันบ่ได้ค่า”

อันที่จริง ถ้าเกรงว่าแปล Performance เป็น ‘การแสดง’ แล้วจะเข้าใจผิดว่าหมายถึง Acting จนต้องพูดหรือเขียนทับศัพท์ ก็น่าจะลองพูดตามเจ้าของภาษาว่า เพอ-ฟอว์-มึนซ์ (อังกฤษ) หรือ เพอะ-ฟอร์-มึนซ์ (อเมริกัน) โดยเน้นหนักที่พยางค์ที่สอง นั่นคือ เขาไม่อ่านพยางค์หลังว่า ‘แมนซ์’ หรือ ‘มันซ์’ กันเลย ถึงแม้ว่าเราจะนิยมเขียนกันแบบนั้นก็ตาม

ย้อนอดีตไป 3 ทศวรรษสมัยได้ทุนฟุลไบรต์ไปเรียนต่อด้านละครเวทีที่ Northwestern University มีภาควิชาการแสดงศึกษา (Performance Studies) อยู่ชั้นเดียวกัน ผมเลยได้ดอดไปเปิดโลกทัศน์เรียนกับ อาจารย์แฟรงค์ กาลาติ (Frank Galati) และ โยฮันเนส บิร์ริงเงอร์ (Johannes Birringer) พบว่า สิ่งที่เราไม่ได้จัดว่าเป็นละครก็ศึกษาวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีการละคร รวมทั้งทฤษฎีอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนั้นการสร้างสรรค์งานแบบเพอร์ฟอร์มานซ์ทำลายข้อจำกัดหลายประการของการทำละครเวที น่าสนใจว่าอาจารย์แฟรงค์เองก็ทำละครเวทีมากกว่าเพอร์ฟอร์มานซ์เสียอีก แฟนละครบรอดเวย์อาจจะพอนึกถึง Ragtime the Musical กันได้

ผลที่ตามติดมาที่เมืองไทยก็คือ ผมได้กำกับการแสดงละครต่อต้านละคร (หรือเพอร์ฟอร์มานซ์หรืออะไรก็ช่างมันเถิด) ซึ่ง ศิลปินบูโต คุณโซโนโกะ โชจิ และ VJ นาเดีย นิมิตรวานิช แสดงด้วย เรื่อง ขอโทษที่กวนประสาท ซึ่งแปลมาจาก Publikumsbeschimpfung (Offending the Audience) ของ เพเทอร์ ฮันท์เคอ (Peter Handke) นักเขียนชาวออสเตรียคนที่ได้เรียนในวิชาอาจารย์แฟรงค์ ผลที่ติดตามมาก็คือปีนั้นมีลูกศิษย์ที่เลือกศิลปะการละครเป็นวิชาเอกน้อยเป็นประวัติการณ์ ด้วยความงงงวยว่า “ละครเวทีเป็นแบบนี้จริง ๆ หรือครับ ’จารย์” หรือถ้าเป็นสมัยนี้เขาอาจจะพูดว่า “อย่างไม่เอาอะ ’จารย์”   

Performance ที่แท้จริงคืออะไรในสายตาของ ผอ. Singapore International Festival of Arts

หลังจากนั้น รุ่นน้อง ๆ หลาย ๆ คนก็ได้ไปเรียนสาขา Performance Studies หรือ Performance Practice หรือแม้แต่ Performance Design บางคนกลับมาเข้ากรอบสาขาหรือภาควิชาที่ตั้งกำแพงอคติไว้แล้วว่า ‘สาขาเราสอนละครเวที ไม่ได้สอนเพอร์ฟอร์แมนซ์’ หรือ ‘เราทำงานวิชวลฯ ไม่ใช่เพอร์ฟอร์มิ่งฯ’ ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนก็ก้าวข้ามพรมแดนระหว่างสาขา ทำลายข้อจำกัดแล้วสร้างสรรค์งานอย่างสนุกสนาน

ที่น่าสังเกตก็คือ ในประเทศไทยมีการจัดเทศกาลศิลปะแสดงสด (Performance Art) กันมานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะมีคำว่าศิลปะนำหน้า คำว่า Art ต่อท้ายด้วยหรือเปล่า จึงสร้างงาน ชมงานกันอยู่ในวงแคบ ๆ ต่างจากเวลาที่บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จัดการแสดงต่อเนื่องระยะยาว (Long Durational Performance) แบบ 8 ชั่วโมงของสถาบันมารีน่า อบราโมวิช (MAI) ซึ่งมีผู้ชมชาวไทยให้ความสนใจล้นหลาม จนเป็นสถิติของ MAI เลย

ที่ฮิตติดชาร์ตเมื่อปีที่แล้วคือการแสดงแบบอิมเมอร์ซีฟเพอร์ฟอร์มานซ์ ซึ่งให้ประสบการณ์การรับชมแบบรอบด้าน สะท้านผัสสะยิ่งกว่าภาพยนตร์ระบบ 4DX แตกต่างจากการเฝ้าจอในช่วงล็อกดาวน์อย่างมาก เปิดโอกาสให้ศิลปินได้ทำงานข้ามสาขาและในพื้นที่ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำการแสดงโดยเฉพาะ  

ใครอยากอ่านเรื่องนี้เป็นภาษาไทย ขอแนะนำตำรา การแสดง/Performance: ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเพอร์ฟอร์มานซ์ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนัชพร กิตติก้อง ซึ่งอาจารย์ให้คำจำกัดความอย่างครบถ้วนและเข้าใจง่ายว่า 

“การแสดงในภาพรวมของงานศิลปะการแสดง ซึ่งในปัจจุบันถูกยกขึ้นเป็นกระบวนทัศน์อันเกี่ยวเนื่องกับการเกิดขึ้นและตั้งอยู่ของการแสดงหรือ “กระบวนการการแสดง” โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของมนุษย์เพียงเท่านั้น และเป็นองค์ความรู้ที่ยึดโยงกับพื้นฐานในการสร้างสรรค์และทดลองของศิลปะการละครที่ได้รับอิทธิพลจากการแสดงศึกษาและแนวคิดในยุคหลังสมัยใหม่หรือโพสต์โมเดิร์นตลอดช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20”

Performance ที่แท้จริงคืออะไรในสายตาของ ผอ. Singapore International Festival of Arts

หลังจากได้พาผู้อ่าน The Cloud ไปชมงาน Singapore International Festival of Arts (SIFA) 2022 ซึ่งมีแก่นความคิดหลักว่า ‘The Anatomy of Performance – Ritual’ เมื่อปีที่แล้ว (ปีนี้ผมก็มีโอกาสคุยกับผู้อำนวยการเทศกาล นาตาลี เฮนเนดีจ์ (Natalie Hennedige) ซึ่งผมเขียนคำอ่านนามสกุลเขาผิดไปในบทความเมื่อปีที่แล้ว) เริ่มด้วยคำถามเผื่อลูกศิษย์ผมทันทีว่า ในบริบทของ SIFA นั้นเพอร์ฟอร์มานซ์คืออะไรกันแน่ และทำไมไม่ระบุว่าเป็นงานละครเวที นาฏศิลป์ ดนตรี หรือทัศนศิลป์ให้ชัด ๆ ไปเลย

เพอร์ฟอร์มานซ์ ‘ใกล้ชีวิตจริงยิ่งขึ้น’ 

“การใช้คำว่า ‘เพอร์ฟอร์มานซ์’ เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้งานใกล้ชีวิตจริงยิ่งขึ้น ดิฉันรู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนเราทั้งในชีวิตจริงและในเพอร์ฟอร์มานซ์ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เราให้ค่าให้ความสำคัญเป็นเหมือนพิธีกรรม (Ritual) ซึ่งเราอาจจำกัดความได้ด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ เวลา (Time) ท่าทาง (Gesture) และสิ่งประดิษฐ์ (Artefact)”

แนตทาลียกตัวอย่างให้ฟังว่า งานเลี้ยงวันเกิดเป็นพิธีกรรม เค้กวันเกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ ส่วนภาพถ่ายงานเลี้ยงวันเกิดก็บันทึกช่วงเวลาขณะหนึ่งและผู้คนในพื้นที่หนึ่งซึ่งกำลังเฉลิมฉลองวาระสำคัญในชีวิตของคนคนหนึ่ง

“แทนที่จะทำให้แปลกแยกจากกัน เราพยายามนำเสนอเส้นที่เชื่อมโยงศิลปะสาขาต่าง ๆ กับชีวิตด้วยคำว่า เพอร์ฟอร์มานซ์ ในวิถีทางที่เป็นธรรมชาติหรือวิถีทางที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ เส้นนี้เชื่อมโยงศิลปะสาขาต่าง ๆ กับสิ่งที่เคยมีอยู่แต่ครั้งบรรพกาลก่อนจะมีชื่อเรียกเสียอีก ในลักษณะนี้ เพอร์ฟอร์มานซ์จึงครอบคลุมสิ่งต่าง ๆ ที่เราจำเป็นต้องจดจำและยอมรับในประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ของเรา เพื่อประกอบรวมสิ่งต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจข้อขัดแย้งส่วนตัว ปัญหาทางสังคมและการเมือง หรือเพียงเพื่อเก็บเกี่ยวความงดงามและความชั่วคราวของชีวิต” 

Performance ที่แท้จริงคืออะไรในสายตาของ ผอ. Singapore International Festival of Arts

หลากหลายเรื่องราวของมนุษย์  

แก่นความคิดหลักของเทศกาลปีนื้คือ ‘The Anatomy of Performance – Some People’ นำเสนองานเกี่ยวกับผู้คนหลากหลาย อธิบายได้ด้วยคำกริยา 14 คำ ได้แก่ โศกเศร้า (Grieve) แปรเปลี่ยน (Transform) จดจำ (Remember) ครอบงำ (Dominate) อันตรธาน (Disappear) รู้สึกสัมผัส (Feel) เป็นต่อ (Prevail) อ้อยอิ่ง (Linger) ฉายแสง (Shimmer) สังเกตการณ์ (Observe) ทวงคืน (Reclaim) ทนทาน (Endure) หาญกล้า (Dare) และข้ามผ่าน (Transcend)

แนตทาลีขยายความเพิ่มว่า “ถึงแม้ว่าทั้งหมดจะเป็นสิ่งที่พวกเรามีประสบการณ์กันทุกคน แต่ดิฉันรู้สึกว่าการที่แต่ละคนเศร้าโศกก็มีรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงต่างกันไป บางคนนิ่งเฉยมาก ส่วนอีกหลาย ๆ คนต้องออกไปช้อปปิ้ง ด้วยวลีที่ว่า ‘Some People’ เราพยายามจะโอบรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเราทุกคนและเราแต่ละคน”

แนตทาลีบอกว่า Some People ต่อเนื่องมาจากและเหมือนเป็นอีกชั้นหนึ่งเหนือ Ritual เธออธิบายว่า “ถึงดิฉันจะรู้สึกว่าทุกเพอร์ฟอร์มานซ์มีลักษณะของพิธีกรรรม แต่เพอร์ฟอร์มานซ์และงานที่สร้างขึ้นใหม่ก็เป็นเรื่องของทัศนะมุมมองด้วย นั่นคือความคิดที่ว่า เราอยู่บนโลกใบเดียวกัน แต่เราไม่ได้มีประสบการณ์เหมือนกันทั้งหมด การชมงานเพอร์ฟอร์มานซ์เป็นโอกาสที่จะได้รับฟังทัศนะมุมมองของผู้อื่นดูบ้าง Some People จึงเป็นคำเชิญชวนให้เปิดใจรับฟังเรื่องเล่าอื่นที่อาจจะแตกต่างจากของคุณ 

“เพอร์ฟอร์มานซ์เป็นพื้นที่ที่ช่วยสร้างความร่วมรู้สึก (Empathy) คุณจะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีขึ้นจากการพิจารณาดูสิ่งอื่น ๆ คนอื่น ๆ เรื่องอื่น ๆ หรือมุมมองอื่น ๆ รวมทั้งสิ่งที่อาจจะท้าทายสิ่งที่คุณยึดมั่นถือมั่นด้วย”   

Performance ที่แท้จริงคืออะไรในสายตาของ ผอ. Singapore International Festival of Arts
Performance ที่แท้จริงคืออะไรในสายตาของ ผอ. Singapore International Festival of Arts

Intermission เพอร์ฟอร์มานซ์สัญชาติไทยไม่น้อยหน้าใคร

หลังจากเงียบหายจากวงการศิลปะการแสดงไปศึกษาด้านอื่นอยู่หลายปี ธนพล วิรุฬหกุล เจ้าของผลงานตัวตึงที่แสดงมาแล้วหลายประเทศอย่าง Hipster the King กลับมาสร้างสรรค์งานแสดงอีกครั้งร่วมกับ จำปา แสนพรม ครูซอล้านาและ วิทุรา อัมระนันทน์ นักเต้นร่วมสมัย ในงาน Intermission ธนพลวิพากษ์อำนาจทางสังคมการเมืองไทยผ่านท่าทางการเคลื่อนไหวรูปแบบต่าง ๆ ที่ประชาชนชาวไทยได้รับการบ่มเพาะมาทั้งนาฏศิลป์ จินตลีลา หางเครื่อง ท่าเต้นเชียร์ลีดเดอร์ ฯลฯ Intermission แสดงรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่งาน Bangkok International Performing Arts Meeting หรือ BIPAM และต้นมิถุนายนนี้จะไปแสดงที่โรงละคร Drama Centre Black Box ในเทศกาล SIFA 2023 

แนตทาลีเล่าให้ฟังว่า SIFA ติดตามความเคลื่อนไหวของงานเพอร์ฟอร์มานซ์ในภูมิภาคนี้มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อทราบข่าวงาน Intermission จึงตกลงร่วมเป็นผู้อำนวยการสร้างร่วม (Co-producer) กับ BIPAM อีกเทศกาลหนึ่งที่มาร่วมลงขันคราวนี้ก็คือ George Town Festival (GFT) ที่ปีนัง นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่พี่น้องอาเซียนจะได้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะการแสดงกันเองบ้าง ไม่ต้องรอเงินทุนสนับสนุนจากนอกภูมิภาคอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา 

นอกจากนั้น SIFA 2023 ยังมี NEW-ILLUSION งานใหม่ผสมความจริง ผสานความลวง ของศิลปินชื่อคุ้นหูผู้ชมการแสดงชาวไทยอย่าง โทชิกิ โอกาดะ (Toshiki Okada) ซึ่งเราเคยได้ชมผลงานละครเวทีของเขาอย่าง Five Days in March (ภัทราวดีเธียเตอร์) Super Premium Soft Double Vanilla Rich และ ปรารถนา : ภาพเหมือนการเข้าสิง (ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล) มาแล้ว

ผู้ที่ชอบงานนาฏศิลป์ร่วมสมัยน่าจะมีความสุขในการได้ชมงานฮิปฮอป BLKDOG งานรางวัลโอลิเวียร์ของศิลปินชาวอังกฤษ พูดถึงปัญหาวัยรุ่นในโลกที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อพวกเขา หรืองานที่พัฒนาจากศิลปะการเต้นแบบขนบประเพณีและใช้นักเต้นหญิงล้วนอย่าง Abyss ซึ่งสำรวจความทุกข์ระทมที่ดำดิ่งในสังคมเกาหลีใต้ รวมทั้งงานกายกรรมที่ไม่ได้อวดเทคนิคอย่างเดียวอย่าง Humans 2.0 จากแดนจิงโจ้ 

Performance ที่แท้จริงคืออะไรในสายตาของ ผอ. Singapore International Festival of Arts
Performance ที่แท้จริงคืออะไรในสายตาของ ผอ. Singapore International Festival of Arts

ผู้ที่ชื่นชอบประสบการณ์ศิลปะที่ไม่เหมือนใครน่าจะสนุกกับ £¥€$ (LIES) งานอิมเมอร์ซีฟจากเบลเยียมที่สมมติให้ผู้ชมเป็นอภิมหาเศรษฐีมีอำนาจตัดสินใจควบรวม ซื้อบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก งานจากเกาหลีใต้อีก 2 งาน Cuckoo กับ Lolling & Rolling เพอร์ฟอร์มานซ์กระตุ้นความคิดที่ว่าด้วยจักรวรรดินิยมทางภาษาและความโดดเดี่ยว งานศิลปะจัดวางสื่อผสมจากไต้หวัน A Day, 2023 งานศิลปะเสียงและวีดิทัศน์จัดวางจากออสเตรเลีย ซึ่งจะมีเพอร์ฟอร์มานซ์ประกอบด้วย 2 รอบ We Will Slam You With Our Wings วิพากษ์ประวัติศาสตร์สังคมที่ชายเป็นใหญ่ MATERIA งานที่ศิลปินอิตาเลียนเล่นสนุกกับพลาสติกพอลิสไตรีนอย่างมหัศจรรย์ และงานอื่น ๆ อีกมากมาย 

SIFA 2023 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคมถึง 4 มิถุนายนที่โรงละครและพื้นที่แสดงงานศิลปะหลายแห่งในสิงคโปร์ อ่านรายละเอียด ดูคลิปตัวอย่างการแสดง สัมภาษณ์ศิลปิน ฯลฯ และจองบัตรชมเพอร์ฟอร์มานซ์กันได้ที่ www.sifa.sg

ได้ข่าวมาว่าลูกศิษย์ผมคนนั้นกำลังจะไปชมงาน SIFA 2023 กลับมาเมื่อไหร่ผมจะถามเขาบ้างว่า “ตกลงเพอร์ฟอร์มานซ์หรือเพอร์ฟอร์มึน (ซ์) ครับ”

มุมมองของ ผอ. Singapore International Festival of Arts ว่า Performance คืออะไร และต้องทำยังไงให้ใกล้ชีวิตจริงยิ่งขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
  • We Will Slam You with Our Wings โดย Dudley Meyburgh
  • Abyss โดย Sanghoon Ok
  • BLKDOG โดย Camilla Greenwell
  • New-Illusion โดย Ryohei Tomita
  • Humans 2.0 โดย Yaya Stempler
  • Lies โดย Peter Stumpf
  • Materia โดย Milan Szypura
  • Lolling & Rolling โดย Bea Borgers

Writer

Avatar

ปวิตร มหาสารินันทน์

กรรมการบริหารสมาคมนักวิจารณ์ละครเวทีนานาชาติ (International Association of Theatre Critics) ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรก อาจารย์พิเศษหลักสูตรบูรณาการข้ามศาสตราจารย์ทางศิลปะการแสดงและการบริหารจัดการวัฒนธรรม จุฬาฯ ผู้รักการเดินทาง อาหารและประสบการณ์ศิลปะใหม่ ๆ