3 มิถุนายน 2022
2 K

ในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ มีเทศกาลศิลปะนานาชาติจัดกันหลายเมือง ด้วยว่าเป็นช่วงที่นักเรียน นักศึกษาปิดเทอม เพราะอุณหภูมิสูงเกินตั้งใจเรียน ส่วนผู้ใหญ่คนทำงานประจำนั้นก็ลาพักร้อนกันได้ยาว ๆ การไปเที่ยวต่างเมืองต่างถิ่นหรือต่างประเทศของแต่ละคน แต่ละคู่ แต่ละครอบครัวนั้น จึงไม่เป็นเพียงการไปสถานที่ใหม่ ๆ แต่เป็นการไปชมงานศิลปะเปิดรับความคิดมุมมองและทัศนะใหม่ ๆ ด้วย

เทศกาลศิลปะนานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International Festival of Arts หรือย่อว่า SIFA) เป็นเทศกาลประจำปีที่จัดต่อเนื่องโดยทุนสนับสนุนเกือบทั้งหมดจากสภาศิลปะแห่งชาติ (National Arts Council) หน่วยงานหลักด้านศิลปวัฒนธรรมของสิงคโปร์ ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชน (Ministry of Culture, Community and Youth หรือสั้น ๆ ว่า MCCY) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เดิมใช้ชื่อว่า Singapore Arts Festival (หรือย่ออีกว่า SAF) 

จนถึง พ.ศ. 2557 ก็มาเปลี่ยนชื่อเป็น SIFA พร้อม ๆ กับปรับโครงสร้างใหม่ ให้ Arts House Limited (AHL) ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่ศิลปะอย่าง Victoria Theatre, Victoria Concert Hall, Drama Centre, Goodman Arts Centre ฯลฯ และจัดเทศกาล Singapore Writers Festival อยู่แล้วเข้ามาบริหารเทศกาลโดยที่ทุนสนับสนุนยังคงมาจากแหล่งเดิม พร้อมกำหนดแนวทางเปลี่ยนหัวเรือหรือ Festival Director ทุก ๆ 3 ปีเพื่อวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ และป้องกันการสืบทอดอำนาจหรือระบบพวกพ้อง

ถึงแม้ว่าจะใช้คำว่า Arts แต่งานส่วนใหญ่ที่เทศกาลนำเสนอในช่วงแรก ๆ ก็เป็นงานศิลปะการ

แสดงทั้งละครเวที นาฏศิลป์ และดนตรี เป็นโอกาสสำคัญของผู้ชมศิลปะชาวสิงคโปร์จะได้ชมงานนานาชาติที่เขาไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปชมในสมัยนั้น

ในสมัยต่อมา งานในเทศกาลก็มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ 

มีงานแนวทดลอง งานที่เป็นประสบการณ์เดี่ยวของผู้ชมแต่ละคน ใส่หูฟังเดินไปตามจุดต่าง ๆ งานที่คนทั่วไปเปิดแฟลตหรือคอนโดฯ ให้ผู้ชมเข้าไปฟังเรื่องราวที่แตกต่างหลากหลายของเขา หรืองานที่ข้ามสาขาศิลปะต่าง ๆ มากขึ้น พร้อม ๆ กับที่เทศกาลเลิกแยกประเภทงาน แต่เน้นให้เห็นว่าเนื้อหาและประเด็นของแต่ละงานเชื่อมโยงกับเทศกาลแต่ละปีอย่างไร  

นอกจากนั้นเทศกาลยังมีบทบาทสำคัญในการให้ทุนสนับสนุน (Commission) ศิลปินท้องถิ่นให้ได้สร้างงานเองและร่วมสร้างสรรค์กับศิลปินนานาชาติมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อ พ.ศ. 2553 SAF ยังให้ทุนสนับสนุนศิลปินจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง อาจารย์พิเชษฐ กลั่นชื่น และคณะสร้างงานชื่อ Nijinsky Siam และจัดแสดงรอบปฐมทัศน์ (World Premiere) ในเทศกาลด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่องานได้ไปจัดแสดงที่เมืองใดประเทศไหนต่อไป SAF ก็ได้เครดิตไปด้วยทุกครั้ง 

นั่นคือเขารู้ว่า Soft Power คืออะไร ต่างจาก Software อย่างไร และควรใช้ภาษีประชาชนพาศิลปินแห่งชาติไปรำโนราในเรือกอนโดล่าหรือไม่ 

Singapore International Arts Festival 2022 ชมการแสดงในเทศกาลที่ทลายกรอบงานศิลปะแบบเดิม ๆ

ผมเป็นติ่ง SAF มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และยอมรับอย่างหน้าชื่นตาตี่เลยว่า ช่วงนั้นสนใจและตื่นเต้นกับงานนานาชาติของคณะที่มีชื่อเสียงอย่าง The Royal Ballet หรือ Akram Khan Dance Company ซึ่งไม่มีโอกาสได้ชมในบ้านเรามากกว่า ในขณะเดียวกันเวลาชมงานของศิลปินท้องถิ่นหลาย ๆ ครั้ง ก็จะรู้สึกว่ามีบริบทหลายอย่างที่จำเพาะเจาะจงมากจนเกินเข้าใจ หรือไม่ก็มีความพยายามผสมผสานข้ามสาขาเสียจนหัวมังกุท้ายมังกรกึกกือ แต่ก็ยังอดดีใจแทนศิลปินท้องถิ่นไม่ได้ว่า รัฐบาลเขาสนับสนุนการสร้างงานและนำเสนองานในเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่อง แบบที่ไม่ต้องจัดลำดับชั้นต่ำสูงว่า ชิ้นไหนเป็นงานประเพณีมรดกวัฒนธรรมสมควรอนุรักษ์ หรืองานร่วมสมัยสะท้อนสังคมและการเมืองสมควรเฝ้าระวัง 

ความทรงจำดี ๆ จาก SAF และ SIFA มีนับไม่ถ้วน ในช่วงที่โควิดวิกฤตหนักในที่พักคนงานต่างชาติที่สิงคโปร์ ผมก็ยังนึกถึงการแสดง Cargo Kuala Lumpur – Singapore ของ Rimini Protokoll กลุ่มศิลปินชาวเยอรมันที่พาผู้ชมขึ้นรถบรรทุกที่ปรับสภาพให้นั่งได้และปิดหน้าต่างให้ทึบ สร้างประสบการณ์เสมือนการเดินทางของคนขับรถขนส่งสินค้าข้ามประเทศ จุดหนึ่งที่แวะในเย็นวันนั้นเมื่อ พ.ศ. 2554 ก็คือหอพักคนงานต่างชาติ ภาพแห่งความจริงที่ผู้มาเยือนสิงคโปร์ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นนั่นเอง

SIFA 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม ถึง 5 มิถุนายนนี้ เป็นเทศกาลปีแรกของ Festival Director คนใหม่ นาตาลี เฮนเนดีจ์ (Natalie Hennedige) ซึ่งแก่นความคิดหลักของเทศกาลทั้ง 3 ปีของเธอคือ The Anatomy of Performance และแก่นย่อยของปีนี้คือ Ritual ผู้อำนวยการคณะละคร Cake Theatricals คนนี้ทำการแสดงที่ข้ามศาสตร์ข้ามสาขาไม่ติดกรอบติดกรงอยู่แล้ว เทศกาลที่เธอนำเสนอจึงเป็นเช่นเดียวกัน   

Ubin : ทุเรียน หมูป่า และเวทีสาธารณะ

5 ชั่วโมงหลังจากผมใช้หนังสือเดินทางครั้งแรกในรอบ 2 ปี และพบว่า SG Arrival Card คือการประสานงานระบบการตรวจคนเข้าเมืองกับระบบสาธารณสุขที่อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและประหยัดงบประมาณ ผมก็กลับมาแถวสนามบินอีกครั้ง แต่คราวนี้มาลงเรือข้ามฟากไปที่เกาะปูเลาอูบิน (Pulau Ubin) เพื่อชมงานชื่อ Ubin ของคณะละคร Drama Box 

Singapore International Arts Festival 2022 ชมการแสดงในเทศกาลที่ทลายกรอบงานศิลปะแบบเดิม ๆ

ผู้ชม 40 คนแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มได้รับกำไลยางเป็นสีประจำกลุ่ม มีไกด์ประจำแต่ละกลุ่มคอยดูแล  2 ชั่วโมงแรกบนเกาะคือการเดินไปตามจุดสำคัญ ๆ อย่างจัตุรัสเล็ก ๆ บริเวณที่เคยเป็นเหมืองหินแกรนิตและโรงเรียนประจำเกาะ เป็นอาทิ 

เสียงสัมภาษณ์ผู้คนที่อยู่อาศัยและทำงานอยู่ที่เกาะนี้ดังต่อเนื่องผ่านมาทางหูฟัง มีทั้งภาษาอังกฤษ จีน มลายู และฮินดี เล่าทั้งอดีตและปัจจุบันและปัญหาของเกาะที่ความเป็นธรรมชาติและระบบนิเวศวิทยาสมบูรณ์ที่สุดของประเทศนี้ เช่น การเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ เป็นต้น ก๊ก เฮ็ง หลุน (Kok Heng Luen) ผู้ก่อตั้ง Drama Box อดีตสมาชิกรัฐสภาและผู้กำกับองก์แรกของ Ubin แนะนำว่าให้ใส่หูฟังข้างเดียว ซึ่งก็ได้ผลดีกว่าจริง ๆ เพราะได้ฟังเสียงธรรมชาติยามโพล้เพล้จนพลบค่ำรอบ ๆ ตัวไปพร้อมกันด้วย

Singapore International Arts Festival 2022 ชมการแสดงในเทศกาลที่ทลายกรอบงานศิลปะแบบเดิม ๆ
Singapore International Arts Festival 2022 ชมการแสดงในเทศกาลที่ทลายกรอบงานศิลปะแบบเดิม ๆ
Singapore International Arts Festival 2022 ชมการแสดงในเทศกาลที่ทลายกรอบงานศิลปะแบบเดิม ๆ

บางช่วงหยุดพักให้นั่งหรือยืนชมการแสดงที่เป็นนาฏศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary Dance) 3 ชิ้น ช่วงหนึ่งที่เดินผ่านกลุ่มวัยรุ่นที่มาตั้งเต็นท์พักแรมกินดื่มกันอย่างร่าเริง ชวนให้สงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของงาน Ubin ด้วยหรือไม่ และเมื่อเดินวนรอบต้นทุเรียนเก่า ๆ ที่มีต้นมะเดื่อมาขึ้นบัง ก็พบนักแสดงที่ไม่ได้รับเชิญเป็นหมูป่า 3 ตัว ซึ่งหลังจากสิ้นเสียงของไกด์ที่บอกให้พวกเราอยู่ในความสงบ พวกเขาก็เดินกลับเข้าป่าไป 

องก์สองของ Ubin ผู้ชมมานั่งรวมกันเป็น 4 กลุ่มที่ร้านอาหารร้านหนึ่ง ที่ปกติเปิดเฉพาะเวลากลางวันบริเวณจตุรัสกลางเมือง หลังจากได้รับฟังเรื่องราวในอดีตและปัจจุบันของเกาะไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่ผู้ชมจะช่วยกันออกความคิดเห็นและเสนอแนะความเป็นไปได้ในอนาคตของเกาะนี้ ซึ่งกระบวนกร (Facilitator) แต่ละกลุ่มก็สร้างบรรยากาศเวทีสาธารณะให้ผู้ชมทุกคนมีส่วนแสดงความคิดเห็นทั้งทางคำพูด ลายลักษณ์อักษร ตุ๊กตาและภาพแทนประเด็นต่าง ๆ แล้วส่งตัวแทนไปนำเสนอในกลุ่มใหญ่ในตอนสุดท้าย กลุ่มผมมีส่วนผสมที่น่าสนใจ มีสมาชิกอย่างคู่วัยรุ่นคลั่งรัก นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักอนุรักษ์ชาวรัสเซีย และนักกินชาวไทยที่ท้องร้องหาแต่ข้าวมันไก่ การอภิปรายจึงสนุกสนานด้วยความแตกต่าง ไม่รู้สึกเหมือนว่าเวลาผ่านไปเกือบชั่วโมงครึ่ง  

Singapore International Arts Festival 2022 ชมการแสดงในเทศกาลที่ทลายกรอบงานศิลปะแบบเดิม ๆ

เมื่อเรือกลับมาเทียบท่าฝั่งเกาะใหญ่อีกครั้ง ผู้ชมทุกคนก็ต้องนำกระเป๋าทุกชิ้นผ่านเครื่องสแกน ไกด์ประจำกลุ่มอธิบายว่านี่คือมาตรการป้องกันการเก็บผลไม้จากเกาะกินซึ่งผิดกฎหมาย และไม่ว่าความคิดเห็นจากผู้ชมหรือประชาชนที่ร่วมประสบการณ์ Ubin ครั้งนี้จะสรุปมาและเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร แต่คนขับแท็กซี่ที่พาผมกลับโรงแรมในคืนนั้นก็ยืนยันว่า อีกไม่นานรัฐบาลก็จะเข้ามา ‘พัฒนา’ พื้นที่ธรรมชาติแห่งนี้เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ที่เคยทำมา และเมื่อประตูลิฟต์โรงแรมเปิดออกที่ชั้นที่ห้องผม กลิ่นทุเรียนก็ลอยทะลุหน้ากากอนามัยมาเข้าจมูกทั้งสองรู ราวกับจะบอกว่า ‘นักท่องเที่ยวกลับมาแล้ว’

Project Salome : ข้ามสมัย ข้ามประเทศ ข้ามเพศ ข้ามสื่อ

อ็อง เค็ง เซ็น (Ong Keng Sen) ผู้กำกับละครเวทีชาวสิงคโปร์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในระดับโลกคนหนึ่งในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้อำนวยการคณะ TheatreWorks ที่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็น T:>Works เพื่อสร้างงานข้ามสาขามากขึ้น นำบทละครอื้อฉาวอายุเกินศตวรรษของออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) ที่เล่าเรื่องราวจากสมัยโรมันโบราณมาแสดงสดโดยนักแสดงหญิงคนเดียว ตัดสลับไปมากับภาพยนตร์สั้นกึ่งสารคดี Becoming Salome ที่เขาสัมภาษณ์ผู้อพยพชาวซีเรียที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายกว่าที่จะได้มาเป็น Drag Queen ที่กรุงเบอร์ลิน 

Singapore International Arts Festival 2022 ชมการแสดงในเทศกาลที่ทลายกรอบงานศิลปะแบบเดิม ๆ
เจาะลึกเทศกาลศิลปะนานาชาติแห่งสิงคโปร์ ที่ไม่แบ่งประเภทงานว่าเป็นละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี นาฏศิลป์หรืออะไรกันแน่
เจาะลึกเทศกาลศิลปะนานาชาติแห่งสิงคโปร์ ที่ไม่แบ่งประเภทงานว่าเป็นละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี นาฏศิลป์หรืออะไรกันแน่

การใส่ใจกับขนาดของภาพบนเวที และความแตกต่างระหว่างสื่อภาพยนตร์กับละครเวที ประกอบกับการใส่เสียงประกอบและดนตรีของทั้งสองสื่อในโรงละคร ทำให้งานผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนการแสดงจะจัดขึ้นที่ Victoria Theatre ผู้ชมเริ่มติดตามเรื่องราวของตัวละครสมมติ เซียะ โละ เหมย (Seah Loh Mei) ซึ่งฟังดูคล้าย ๆ ซาโลเม่ ใน Instagram @thesalomecomplex นักเทนนิสหญิงคนนี้มีเรื่องราวคุ้น ๆ คล้าย ๆ กับนักเทนนิสจีนที่ถูกนักการเมืองล่วงละเมิดทางเพศ 

ด้วยการใช้สื่อที่หลากหลาย ประเด็นการวิพากษ์ระบอบปิ(ด)ตาธิปไตยใน Project Salome จึงไม่ได้เริ่มขึ้นและจบลงใน SIFA เท่านั้น และงานที่ใช้นักแสดงเพียงคนเดียว ทีมงานไม่มากและฉากไม่ยุ่งยากเช่นนี้ ก็น่าเดินทางไปแสดงที่อื่นต่อได้ไม่ยาก

Remotes X Quantum และ The Neon Hieroglyph: ถูกทางผิดที่หรือถูกที่ผิดทาง

เจาะลึกเทศกาลศิลปะนานาชาติแห่งสิงคโปร์ ที่ไม่แบ่งประเภทงานว่าเป็นละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี นาฏศิลป์หรืออะไรกันแน่
เจาะลึกเทศกาลศิลปะนานาชาติแห่งสิงคโปร์ ที่ไม่แบ่งประเภทงานว่าเป็นละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี นาฏศิลป์หรืออะไรกันแน่

งานแรกเป็นการทดลองเชื่อมต่อ The Remotes ภาพยนตร์แนวทดลองของ จอห์น ตอร์เรส (John Torres) ผู้กำกับชาวฟิลิปปินส์กับบทละคร The Quantum of Space ของ เอเลนอร์ หว่อง (Eleanor Wong) นักเขียนบทละครและกวีชาวสิงคโปร์ สะท้อนภาวะความโดดเดี่ยวและความกลัวสิ่งที่ไม่แน่นอนในสังคมและชีวิตในปัจจุบันและอนาคต อันเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด

แต่การที่ผู้ชมต้องดูหนังในห้องหนึ่ง แล้วเดินไปชมการแสดงในอีก 2 ห้องที่มีปัญหาเรื่องเสียงก้องใน Arts House อาคารเก่าแก่ที่ปรับมาเป็นพื้นที่จัดงานศิลปะนั้น ก็ได้ทำให้เหมือนเป็นงานสองชิ้นแยกออกจากกัน 

เจาะลึกเทศกาลศิลปะนานาชาติแห่งสิงคโปร์ ที่ไม่แบ่งประเภทงานว่าเป็นละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี นาฏศิลป์หรืออะไรกันแน่
เจาะลึกเทศกาลศิลปะนานาชาติแห่งสิงคโปร์ ที่ไม่แบ่งประเภทงานว่าเป็นละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี นาฏศิลป์หรืออะไรกันแน่

The Neon Hieroglyph ของ ไท ชานิ (Tai Shani) ศิลปินชาวอังกฤษที่ทำงานหลายสาขา เป็นงานภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิค CGI เล่าความเป็นมาของเชื้อราอสรพิษ Ergot ที่ภายหลังสะกัดมาทำยารักษาไมเกรนได้ ประกอบการบรรยายสดโดยนักแสดงชาวมาเลเซียที่นั่งอยู่ข้างซ้ายของจอ แล้วถ่ายทอดภาพใบหน้ามาออกในจอเล็กด้านขวา และโฆษณาว่านี่คือ ‘Filmic Performance

งานที่นำเสนอครั้งแรกผ่านการสตรีมมิ่งในเทศกาล Manchester International Festival เมื่อปีที่แล้วนี้ ได้สะกดผู้ชมสุภาพสตรี 2 คนที่นั่งอยู่ซ้ายขวาของผมให้เข้าสู่ภวังค์แห่งนิทรา และผู้ชมอีกหลายคนก็ตัดสินใจเดินออกตั้งแต่ยังไม่จบ สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากสถานที่จัดแสดงคือโรงไฟฟ้าปาซีร์ ปันจง (Pasir Panjong Power Station) ที่ทั้งไกลจากขนส่งสาธารณะ และไม่เอื้อต่องานซึ่งต้องอาศัยความเงียบและสมาธิในการชมนั่นเอง 

SIFA On Demand : อยู่ที่ไหนก็ดูได้

การระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อศิลปะการแสดงทั่วโลก แต่ก็ได้ทำให้ผู้จัดเทศกาลอย่าง SIFA มีทางเลือกใหม่ในการนำเสนองาน โดยให้ทุนสนับสนุนทั้งงานที่สร้างขึ้นมาเพื่อชมออนไลน์และการบันทึกการแสดงสดเพื่อมาสตรีมมิ่งในเวลาต่อมา ซึ่งแบบหลังนี้ลงทุนใช้ทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อให้ได้คุณภาพและบรรยากาศใกล้เคียงกับที่มาชม On-Site มากที่สุด เป็นทางเลือกใหม่ให้ทั้งผู้ชมงานและศิลปิน เหมือนรถยนต์ที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า ร้านอาหารที่นั่งทานที่ร้าน สั่งกลับบ้านและสั่งให้มาส่งที่บ้านได้ และด้วยความที่เทศกาล Commission งานใหม่จำนวนมากอยู่แล้ว เรื่องลิขสิทธิ์จึงไม่เป็นปัญหา 

เข้าไปรับชมได้ที่ www.sifa.sg/vod ขณะนี้ (ต้นเดือนมิถุนายน) มี Performance Film ของศิลปินออสเตรเลีย เรื่อง Delicate Spells of Mind ฉายอยู่แล้ว และวันที่ 20 มิถุนายนนี้จะมีงานที่จัดแสดง On-Site เพิ่มอีก 3 งาน ทั้งหมดมีให้ชมถึงวันที่ 10 กรกฎาคมปีนี้เท่านั้น

อ่านรายละเอียด SIFA ชมงานศิลปะสาขาอื่น ๆ อย่างทัศนศิลป์และดนตรี ดูคลิปตัวอย่างงานการแสดง สัมภาษณ์ศิลปิน ฯลฯ เพิ่มเติมได้ที่ www.sifa.sg

ขอขอบคุณทีมงาน Arts House Limited และ Tate Anzur ที่สนับสนุนการเดินทางไป SIFA 2022 ครั้งนี้

 ภาพ : Debbie Y./ Arts House Limited

Writer

Avatar

ปวิตร มหาสารินันทน์

กรรมการบริหารสมาคมนักวิจารณ์ละครเวทีนานาชาติ (International Association of Theatre Critics) ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรก อาจารย์พิเศษหลักสูตรบูรณาการข้ามศาสตราจารย์ทางศิลปะการแสดงและการบริหารจัดการวัฒนธรรม จุฬาฯ ผู้รักการเดินทาง อาหารและประสบการณ์ศิลปะใหม่ ๆ