ในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ มีเทศกาลศิลปะนานาชาติจัดกันหลายเมือง ด้วยว่าเป็นช่วงที่นักเรียน นักศึกษาปิดเทอม เพราะอุณหภูมิสูงเกินตั้งใจเรียน ส่วนผู้ใหญ่คนทำงานประจำนั้นก็ลาพักร้อนกันได้ยาว ๆ การไปเที่ยวต่างเมืองต่างถิ่นหรือต่างประเทศของแต่ละคน แต่ละคู่ แต่ละครอบครัวนั้น จึงไม่เป็นเพียงการไปสถานที่ใหม่ ๆ แต่เป็นการไปชมงานศิลปะเปิดรับความคิดมุมมองและทัศนะใหม่ ๆ ด้วย
เทศกาลศิลปะนานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International Festival of Arts หรือย่อว่า SIFA) เป็นเทศกาลประจำปีที่จัดต่อเนื่องโดยทุนสนับสนุนเกือบทั้งหมดจากสภาศิลปะแห่งชาติ (National Arts Council) หน่วยงานหลักด้านศิลปวัฒนธรรมของสิงคโปร์ ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชน (Ministry of Culture, Community and Youth หรือสั้น ๆ ว่า MCCY) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เดิมใช้ชื่อว่า Singapore Arts Festival (หรือย่ออีกว่า SAF)
จนถึง พ.ศ. 2557 ก็มาเปลี่ยนชื่อเป็น SIFA พร้อม ๆ กับปรับโครงสร้างใหม่ ให้ Arts House Limited (AHL) ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่ศิลปะอย่าง Victoria Theatre, Victoria Concert Hall, Drama Centre, Goodman Arts Centre ฯลฯ และจัดเทศกาล Singapore Writers Festival อยู่แล้วเข้ามาบริหารเทศกาลโดยที่ทุนสนับสนุนยังคงมาจากแหล่งเดิม พร้อมกำหนดแนวทางเปลี่ยนหัวเรือหรือ Festival Director ทุก ๆ 3 ปีเพื่อวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ และป้องกันการสืบทอดอำนาจหรือระบบพวกพ้อง
ถึงแม้ว่าจะใช้คำว่า Arts แต่งานส่วนใหญ่ที่เทศกาลนำเสนอในช่วงแรก ๆ ก็เป็นงานศิลปะการ
แสดงทั้งละครเวที นาฏศิลป์ และดนตรี เป็นโอกาสสำคัญของผู้ชมศิลปะชาวสิงคโปร์จะได้ชมงานนานาชาติที่เขาไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปชมในสมัยนั้น
ในสมัยต่อมา งานในเทศกาลก็มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ
มีงานแนวทดลอง งานที่เป็นประสบการณ์เดี่ยวของผู้ชมแต่ละคน ใส่หูฟังเดินไปตามจุดต่าง ๆ งานที่คนทั่วไปเปิดแฟลตหรือคอนโดฯ ให้ผู้ชมเข้าไปฟังเรื่องราวที่แตกต่างหลากหลายของเขา หรืองานที่ข้ามสาขาศิลปะต่าง ๆ มากขึ้น พร้อม ๆ กับที่เทศกาลเลิกแยกประเภทงาน แต่เน้นให้เห็นว่าเนื้อหาและประเด็นของแต่ละงานเชื่อมโยงกับเทศกาลแต่ละปีอย่างไร
นอกจากนั้นเทศกาลยังมีบทบาทสำคัญในการให้ทุนสนับสนุน (Commission) ศิลปินท้องถิ่นให้ได้สร้างงานเองและร่วมสร้างสรรค์กับศิลปินนานาชาติมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อ พ.ศ. 2553 SAF ยังให้ทุนสนับสนุนศิลปินจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง อาจารย์พิเชษฐ กลั่นชื่น และคณะสร้างงานชื่อ Nijinsky Siam และจัดแสดงรอบปฐมทัศน์ (World Premiere) ในเทศกาลด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่องานได้ไปจัดแสดงที่เมืองใดประเทศไหนต่อไป SAF ก็ได้เครดิตไปด้วยทุกครั้ง
นั่นคือเขารู้ว่า Soft Power คืออะไร ต่างจาก Software อย่างไร และควรใช้ภาษีประชาชนพาศิลปินแห่งชาติไปรำโนราในเรือกอนโดล่าหรือไม่

ผมเป็นติ่ง SAF มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และยอมรับอย่างหน้าชื่นตาตี่เลยว่า ช่วงนั้นสนใจและตื่นเต้นกับงานนานาชาติของคณะที่มีชื่อเสียงอย่าง The Royal Ballet หรือ Akram Khan Dance Company ซึ่งไม่มีโอกาสได้ชมในบ้านเรามากกว่า ในขณะเดียวกันเวลาชมงานของศิลปินท้องถิ่นหลาย ๆ ครั้ง ก็จะรู้สึกว่ามีบริบทหลายอย่างที่จำเพาะเจาะจงมากจนเกินเข้าใจ หรือไม่ก็มีความพยายามผสมผสานข้ามสาขาเสียจนหัวมังกุท้ายมังกรกึกกือ แต่ก็ยังอดดีใจแทนศิลปินท้องถิ่นไม่ได้ว่า รัฐบาลเขาสนับสนุนการสร้างงานและนำเสนองานในเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่อง แบบที่ไม่ต้องจัดลำดับชั้นต่ำสูงว่า ชิ้นไหนเป็นงานประเพณีมรดกวัฒนธรรมสมควรอนุรักษ์ หรืองานร่วมสมัยสะท้อนสังคมและการเมืองสมควรเฝ้าระวัง
ความทรงจำดี ๆ จาก SAF และ SIFA มีนับไม่ถ้วน ในช่วงที่โควิดวิกฤตหนักในที่พักคนงานต่างชาติที่สิงคโปร์ ผมก็ยังนึกถึงการแสดง Cargo Kuala Lumpur – Singapore ของ Rimini Protokoll กลุ่มศิลปินชาวเยอรมันที่พาผู้ชมขึ้นรถบรรทุกที่ปรับสภาพให้นั่งได้และปิดหน้าต่างให้ทึบ สร้างประสบการณ์เสมือนการเดินทางของคนขับรถขนส่งสินค้าข้ามประเทศ จุดหนึ่งที่แวะในเย็นวันนั้นเมื่อ พ.ศ. 2554 ก็คือหอพักคนงานต่างชาติ ภาพแห่งความจริงที่ผู้มาเยือนสิงคโปร์ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นนั่นเอง
SIFA 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม ถึง 5 มิถุนายนนี้ เป็นเทศกาลปีแรกของ Festival Director คนใหม่ นาตาลี เฮนเนดีจ์ (Natalie Hennedige) ซึ่งแก่นความคิดหลักของเทศกาลทั้ง 3 ปีของเธอคือ The Anatomy of Performance และแก่นย่อยของปีนี้คือ Ritual ผู้อำนวยการคณะละคร Cake Theatricals คนนี้ทำการแสดงที่ข้ามศาสตร์ข้ามสาขาไม่ติดกรอบติดกรงอยู่แล้ว เทศกาลที่เธอนำเสนอจึงเป็นเช่นเดียวกัน
Ubin : ทุเรียน หมูป่า และเวทีสาธารณะ
5 ชั่วโมงหลังจากผมใช้หนังสือเดินทางครั้งแรกในรอบ 2 ปี และพบว่า SG Arrival Card คือการประสานงานระบบการตรวจคนเข้าเมืองกับระบบสาธารณสุขที่อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและประหยัดงบประมาณ ผมก็กลับมาแถวสนามบินอีกครั้ง แต่คราวนี้มาลงเรือข้ามฟากไปที่เกาะปูเลาอูบิน (Pulau Ubin) เพื่อชมงานชื่อ Ubin ของคณะละคร Drama Box

ผู้ชม 40 คนแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มได้รับกำไลยางเป็นสีประจำกลุ่ม มีไกด์ประจำแต่ละกลุ่มคอยดูแล 2 ชั่วโมงแรกบนเกาะคือการเดินไปตามจุดสำคัญ ๆ อย่างจัตุรัสเล็ก ๆ บริเวณที่เคยเป็นเหมืองหินแกรนิตและโรงเรียนประจำเกาะ เป็นอาทิ
เสียงสัมภาษณ์ผู้คนที่อยู่อาศัยและทำงานอยู่ที่เกาะนี้ดังต่อเนื่องผ่านมาทางหูฟัง มีทั้งภาษาอังกฤษ จีน มลายู และฮินดี เล่าทั้งอดีตและปัจจุบันและปัญหาของเกาะที่ความเป็นธรรมชาติและระบบนิเวศวิทยาสมบูรณ์ที่สุดของประเทศนี้ เช่น การเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ เป็นต้น ก๊ก เฮ็ง หลุน (Kok Heng Luen) ผู้ก่อตั้ง Drama Box อดีตสมาชิกรัฐสภาและผู้กำกับองก์แรกของ Ubin แนะนำว่าให้ใส่หูฟังข้างเดียว ซึ่งก็ได้ผลดีกว่าจริง ๆ เพราะได้ฟังเสียงธรรมชาติยามโพล้เพล้จนพลบค่ำรอบ ๆ ตัวไปพร้อมกันด้วย



บางช่วงหยุดพักให้นั่งหรือยืนชมการแสดงที่เป็นนาฏศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary Dance) 3 ชิ้น ช่วงหนึ่งที่เดินผ่านกลุ่มวัยรุ่นที่มาตั้งเต็นท์พักแรมกินดื่มกันอย่างร่าเริง ชวนให้สงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของงาน Ubin ด้วยหรือไม่ และเมื่อเดินวนรอบต้นทุเรียนเก่า ๆ ที่มีต้นมะเดื่อมาขึ้นบัง ก็พบนักแสดงที่ไม่ได้รับเชิญเป็นหมูป่า 3 ตัว ซึ่งหลังจากสิ้นเสียงของไกด์ที่บอกให้พวกเราอยู่ในความสงบ พวกเขาก็เดินกลับเข้าป่าไป
องก์สองของ Ubin ผู้ชมมานั่งรวมกันเป็น 4 กลุ่มที่ร้านอาหารร้านหนึ่ง ที่ปกติเปิดเฉพาะเวลากลางวันบริเวณจตุรัสกลางเมือง หลังจากได้รับฟังเรื่องราวในอดีตและปัจจุบันของเกาะไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่ผู้ชมจะช่วยกันออกความคิดเห็นและเสนอแนะความเป็นไปได้ในอนาคตของเกาะนี้ ซึ่งกระบวนกร (Facilitator) แต่ละกลุ่มก็สร้างบรรยากาศเวทีสาธารณะให้ผู้ชมทุกคนมีส่วนแสดงความคิดเห็นทั้งทางคำพูด ลายลักษณ์อักษร ตุ๊กตาและภาพแทนประเด็นต่าง ๆ แล้วส่งตัวแทนไปนำเสนอในกลุ่มใหญ่ในตอนสุดท้าย กลุ่มผมมีส่วนผสมที่น่าสนใจ มีสมาชิกอย่างคู่วัยรุ่นคลั่งรัก นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักอนุรักษ์ชาวรัสเซีย และนักกินชาวไทยที่ท้องร้องหาแต่ข้าวมันไก่ การอภิปรายจึงสนุกสนานด้วยความแตกต่าง ไม่รู้สึกเหมือนว่าเวลาผ่านไปเกือบชั่วโมงครึ่ง

เมื่อเรือกลับมาเทียบท่าฝั่งเกาะใหญ่อีกครั้ง ผู้ชมทุกคนก็ต้องนำกระเป๋าทุกชิ้นผ่านเครื่องสแกน ไกด์ประจำกลุ่มอธิบายว่านี่คือมาตรการป้องกันการเก็บผลไม้จากเกาะกินซึ่งผิดกฎหมาย และไม่ว่าความคิดเห็นจากผู้ชมหรือประชาชนที่ร่วมประสบการณ์ Ubin ครั้งนี้จะสรุปมาและเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร แต่คนขับแท็กซี่ที่พาผมกลับโรงแรมในคืนนั้นก็ยืนยันว่า อีกไม่นานรัฐบาลก็จะเข้ามา ‘พัฒนา’ พื้นที่ธรรมชาติแห่งนี้เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ที่เคยทำมา และเมื่อประตูลิฟต์โรงแรมเปิดออกที่ชั้นที่ห้องผม กลิ่นทุเรียนก็ลอยทะลุหน้ากากอนามัยมาเข้าจมูกทั้งสองรู ราวกับจะบอกว่า ‘นักท่องเที่ยวกลับมาแล้ว’
Project Salome : ข้ามสมัย ข้ามประเทศ ข้ามเพศ ข้ามสื่อ
อ็อง เค็ง เซ็น (Ong Keng Sen) ผู้กำกับละครเวทีชาวสิงคโปร์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในระดับโลกคนหนึ่งในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้อำนวยการคณะ TheatreWorks ที่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็น T:>Works เพื่อสร้างงานข้ามสาขามากขึ้น นำบทละครอื้อฉาวอายุเกินศตวรรษของออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) ที่เล่าเรื่องราวจากสมัยโรมันโบราณมาแสดงสดโดยนักแสดงหญิงคนเดียว ตัดสลับไปมากับภาพยนตร์สั้นกึ่งสารคดี Becoming Salome ที่เขาสัมภาษณ์ผู้อพยพชาวซีเรียที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายกว่าที่จะได้มาเป็น Drag Queen ที่กรุงเบอร์ลิน



การใส่ใจกับขนาดของภาพบนเวที และความแตกต่างระหว่างสื่อภาพยนตร์กับละครเวที ประกอบกับการใส่เสียงประกอบและดนตรีของทั้งสองสื่อในโรงละคร ทำให้งานผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนการแสดงจะจัดขึ้นที่ Victoria Theatre ผู้ชมเริ่มติดตามเรื่องราวของตัวละครสมมติ เซียะ โละ เหมย (Seah Loh Mei) ซึ่งฟังดูคล้าย ๆ ซาโลเม่ ใน Instagram @thesalomecomplex นักเทนนิสหญิงคนนี้มีเรื่องราวคุ้น ๆ คล้าย ๆ กับนักเทนนิสจีนที่ถูกนักการเมืองล่วงละเมิดทางเพศ
ด้วยการใช้สื่อที่หลากหลาย ประเด็นการวิพากษ์ระบอบปิ(ด)ตาธิปไตยใน Project Salome จึงไม่ได้เริ่มขึ้นและจบลงใน SIFA เท่านั้น และงานที่ใช้นักแสดงเพียงคนเดียว ทีมงานไม่มากและฉากไม่ยุ่งยากเช่นนี้ ก็น่าเดินทางไปแสดงที่อื่นต่อได้ไม่ยาก
Remotes X Quantum และ The Neon Hieroglyph: ถูกทางผิดที่หรือถูกที่ผิดทาง


งานแรกเป็นการทดลองเชื่อมต่อ The Remotes ภาพยนตร์แนวทดลองของ จอห์น ตอร์เรส (John Torres) ผู้กำกับชาวฟิลิปปินส์กับบทละคร The Quantum of Space ของ เอเลนอร์ หว่อง (Eleanor Wong) นักเขียนบทละครและกวีชาวสิงคโปร์ สะท้อนภาวะความโดดเดี่ยวและความกลัวสิ่งที่ไม่แน่นอนในสังคมและชีวิตในปัจจุบันและอนาคต อันเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด
แต่การที่ผู้ชมต้องดูหนังในห้องหนึ่ง แล้วเดินไปชมการแสดงในอีก 2 ห้องที่มีปัญหาเรื่องเสียงก้องใน Arts House อาคารเก่าแก่ที่ปรับมาเป็นพื้นที่จัดงานศิลปะนั้น ก็ได้ทำให้เหมือนเป็นงานสองชิ้นแยกออกจากกัน


The Neon Hieroglyph ของ ไท ชานิ (Tai Shani) ศิลปินชาวอังกฤษที่ทำงานหลายสาขา เป็นงานภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิค CGI เล่าความเป็นมาของเชื้อราอสรพิษ Ergot ที่ภายหลังสะกัดมาทำยารักษาไมเกรนได้ ประกอบการบรรยายสดโดยนักแสดงชาวมาเลเซียที่นั่งอยู่ข้างซ้ายของจอ แล้วถ่ายทอดภาพใบหน้ามาออกในจอเล็กด้านขวา และโฆษณาว่านี่คือ ‘Filmic Performance
งานที่นำเสนอครั้งแรกผ่านการสตรีมมิ่งในเทศกาล Manchester International Festival เมื่อปีที่แล้วนี้ ได้สะกดผู้ชมสุภาพสตรี 2 คนที่นั่งอยู่ซ้ายขวาของผมให้เข้าสู่ภวังค์แห่งนิทรา และผู้ชมอีกหลายคนก็ตัดสินใจเดินออกตั้งแต่ยังไม่จบ สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากสถานที่จัดแสดงคือโรงไฟฟ้าปาซีร์ ปันจง (Pasir Panjong Power Station) ที่ทั้งไกลจากขนส่งสาธารณะ และไม่เอื้อต่องานซึ่งต้องอาศัยความเงียบและสมาธิในการชมนั่นเอง
SIFA On Demand : อยู่ที่ไหนก็ดูได้
การระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อศิลปะการแสดงทั่วโลก แต่ก็ได้ทำให้ผู้จัดเทศกาลอย่าง SIFA มีทางเลือกใหม่ในการนำเสนองาน โดยให้ทุนสนับสนุนทั้งงานที่สร้างขึ้นมาเพื่อชมออนไลน์และการบันทึกการแสดงสดเพื่อมาสตรีมมิ่งในเวลาต่อมา ซึ่งแบบหลังนี้ลงทุนใช้ทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อให้ได้คุณภาพและบรรยากาศใกล้เคียงกับที่มาชม On-Site มากที่สุด เป็นทางเลือกใหม่ให้ทั้งผู้ชมงานและศิลปิน เหมือนรถยนต์ที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า ร้านอาหารที่นั่งทานที่ร้าน สั่งกลับบ้านและสั่งให้มาส่งที่บ้านได้ และด้วยความที่เทศกาล Commission งานใหม่จำนวนมากอยู่แล้ว เรื่องลิขสิทธิ์จึงไม่เป็นปัญหา
เข้าไปรับชมได้ที่ www.sifa.sg/vod ขณะนี้ (ต้นเดือนมิถุนายน) มี Performance Film ของศิลปินออสเตรเลีย เรื่อง Delicate Spells of Mind ฉายอยู่แล้ว และวันที่ 20 มิถุนายนนี้จะมีงานที่จัดแสดง On-Site เพิ่มอีก 3 งาน ทั้งหมดมีให้ชมถึงวันที่ 10 กรกฎาคมปีนี้เท่านั้น
อ่านรายละเอียด SIFA ชมงานศิลปะสาขาอื่น ๆ อย่างทัศนศิลป์และดนตรี ดูคลิปตัวอย่างงานการแสดง สัมภาษณ์ศิลปิน ฯลฯ เพิ่มเติมได้ที่ www.sifa.sg
ขอขอบคุณทีมงาน Arts House Limited และ Tate Anzur ที่สนับสนุนการเดินทางไป SIFA 2022 ครั้งนี้
ภาพ : Debbie Y./ Arts House Limited