ท่ามกลางสีเขียวของต้นไม้ใหญ่ใจกลางสวนลุมพินี ในงาน Thailand Tree Climbing Championship 2018 ซึ่งจัดโดย BIG Trees เรามีโอกาสได้พบกับ คุณริค โทมัส (Rick Thomas) รุกขกรชาวออสเตรเลีย ผู้อำนวยการใหญ่แห่ง ArborCulture Pte Ltd ประเทศสิงคโปร์

สิงคโปร์

ด้วยประสบการณ์การทำงานที่สิงคโปร์นับ 16 ปี วันนี้คุณริคจะเล่าให้เราฟังถึงเส้นทางการเป็นเมืองสีเขียวของเกาะเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยเป็นเมืองคอนกรีตสีเทาไม่ต่างจากเรา

ต่อจากนี้ คือเบื้องหลังที่ทำให้ประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด กลายมาเป็นประเทศที่มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นั่นคือ 66 ตารางเมตรต่อคน (เทียบกับกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่แค่ 5.46 ตารางเมตรต่อคน)

1

ความเชื่อที่ว่า ‘พื้นที่สีเขียว’ มีความหมายเดียวกับ ‘การพัฒนา’

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดเริ่มต้นมาจากแนวคิด

สำหรับสิงคโปร์ แนวคิดการเปลี่ยนเมืองให้เป็นสีเขียวเริ่มต้นเมื่อปี 1965 เมื่อครั้งที่ ลีกวนยู ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ด้วยวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือความใหญ่โตของสิ่งปลูกสร้าง หากยังรวมไปถึงคุณภาพชีวิตของคน ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม

แนวคิด ‘เมืองในสวน’ หรือ A City in a Garden คือสิ่งที่ลีกวนยูตั้งเป็นเป้าหมาย เขาระดมผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ตั้งแต่สถาปนิก วิศวกร รุกขกร มาช่วยกันออกแบบเมือง วางแผนอย่างเป็นระบบว่าจะปลูกต้นอะไร ตรงไหน เพื่อใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากนั้นการปลูกต้นไม้ครั้งใหญ่ก็กลายเป็นวาระแห่งชาติ

ผมมีความเชื่อว่าเมืองที่มีภูมิทัศน์เสื่อมโทรมและป่าคอนกรีตทำลายจิตวิญญาณของมนุษย์ พวกเราต้องการพื้นที่สีเขียวของธรรมชาติเพื่อยกระดับจิตวิญญาณของเรา” คือคำพูดของลีกวนยูที่กล่าวไว้ในปี 1995

มาถึงวันนี้คงไม่มีใครกังขาแล้วว่าสิงคโปร์คือเมืองที่ทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า การพัฒนากับการรักษาต้นไม้ใหญ่ คือสิ่งที่ดำเนินไปด้วยกันได้

สิงคโปร์
สิงคโปร์
2

ไม่สามารถโค่นต้นไม้ใหญ่ได้ตามอำเภอใจ

การปลูกต้นไม้อย่างเดียวคงไม่มีประโยชน์หากไม่สามารถดูแลต้นไม้เหล่านั้นให้คงอยู่ได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ตามมาคือ การออกนโยบายเพื่อรักษาต้นไม้ และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด

หนึ่งในนโยบายที่เป็นหัวใจของการรักษาต้นไม้ใหญ่ในสิงคโปร์ คือการไม่อนุญาตให้ใครก็ตามโค่นต้นไม้ตามอำเภอใจ ต้นไม้ทุกต้นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไปถือเป็นต้นไม้อนุรักษ์ ไม่สามารถตัดได้ แม้จะเป็นต้นไม้ที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวก็ตาม หากจำเป็นต้องตัด ต้องทำเรื่องขออนุญาตและผ่านการประเมินจากรุกขกรก่อน หากไม่มีเหตุผลอันสมควรก็ตัดไม่ได้

3

หากจำเป็นต้องตัดต้นไม้ ต้องปลูกทดแทนเสมอ

ในการพัฒนาเมือง หลายครั้งสิ่งปลูกสร้างก็ไปเบียดบังพื้นที่สีเขียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่สิงคโปร์ พวกเขาไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนา พวกเขาเลือกทั้งสองสิ่ง โดยมีกฎว่าหากจำเป็นต้องตัดต้นไม้ ผู้ตัดต้องรับผิดชอบด้วยการปลูกทดแทนเสมอ และหลายครั้งก็ไม่ใช่การปลูกทดแทนด้วยอัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง แต่ต้องปลูกในอัตราส่วนที่มากกว่า จะมากแค่ไหนก็ขึ้นกับการประเมินเป็นกรณีไป ตรงนี้ถือเป็นขั้นตอนที่เข้มงวดมาก หากเจ้าของโครงการไม่สามารถหาพื้นที่ปลูกทดแทนได้ แผนการพัฒนานั้นก็ต้องพับเก็บ

คุณริคบอกเหตุผลเบื้องหลังแนวคิดนี้ว่า “มันไม่แฟร์ที่คนแค่ไม่กี่คนมีสิทธิ์ทำลายพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะเพื่อสร้างกำไร นโยบายนี้ถือเป็นการกดดันผู้ประกอบการทางหนึ่ง ทำให้การตัดต้นไม้ไม่ใช่เรื่องง่ายจนเกินไป”

สิงคโปร์
สิงคโปร์
4

ทุกสิ่งปลูกสร้างต้องมีพื้นที่สีเขียวขั้นต่ำ

หากคุณเป็นสถาปนิกที่สิงคโปร์ ทุกครั้งที่ออกแบบอาคาร คุณต้องหาพื้นที่สำหรับพื้นที่สีเขียวเสมอ เพราะสิ่งปลูกสร้างทุกแห่งมีข้อกำหนดเรื่องพื้นที่สีเขียวขั้นต่ำที่ต้องมี หรือที่เรียกว่า Green Buffer สิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทก็จะมีข้อกำหนดแตกต่างกันไป เช่น ถนนต้องมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นต้นไม้ใหญ่สองข้างรวมกันไม่ต่ำกว่า 2 เมตร

5

แก้ปัญหาข้อจำกัดของพื้นที่ด้วยการออกแบบ

สิงคโปร์ก็ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ คือมีพื้นที่จำกัด หลายครั้งนักออกแบบต้องเผชิญปัญหาว่า อยากปลูกต้นไม้ แต่ไม่รู้จะไปหาที่ปลูกตรงไหน ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการวางแผนและการออกแบบที่ดี สถาปนิกและรุกขกรจะทำงานร่วมกันตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบอาคาร เช่น หากในพื้นที่มีต้นไม้อยู่แล้ว จะออกแบบอาคารให้หลบหลีกต้นไม้ หรือการสร้างสวนบนดาดฟ้า (Roof Garden) พื้นที่สีเขียวแนวตั้ง (Vertical Greenery) ไปจนถึงพื้นที่สีเขียวในอาคาร (Indoor Greenery) ซึ่งเห็นได้ทั่วไปในสิงคโปร์

สิงคโปร์
สิงคโปร์
6

สายไฟทั้งหมดอยู่ใต้ดิน

ในขณะที่ต้นไม้ริมถนนบ้านเรามักถูกบั่นยอดเพราะไปชนสายไฟ แต่ที่สิงคโปร์ไม่ต้องกังวลกับปัญหานี้ เพราะสายไฟหรือสายเคเบิลทุกชนิดถูกนำลงใต้ดินทั้งหมด คุณริคบอกว่า นี่คือตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาต้นไม้ในเมืองกับสายไฟ จริงอยู่ที่การนำสายไฟลงดินใช้งบประมาณสูง แต่การเก็บสายไฟไว้บนดินก็ใช้งบประมาณดูแลสูงไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซ่อมแซมหรือการดูแลตัดแต่งต้นไม้ ยังไม่นับรวมปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยกว่า

อย่างไรก็ตาม การนำสายไฟลงดินต้องมีการวางแผนและออกแบบที่ดี เพราะหากไม่ระวังก็อาจทำให้รากต้นไม้ริมถนนฉีกขาด วิธีแก้ของสิงคโปร์คือ สายไฟทั้งหมดจะถูกฝังอยู่กลางถนนในส่วนรถวิ่ง เพื่อกันพื้นที่บริเวณสองฝั่งถนนให้รากต้นไม้

7

เด็ดใบไม้หนึ่งใบสะเทือนถึงเงินในกระเป๋า

หากคุณเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินเล่นอยู่ในสิงคโปร์ การเผลอเด็ดใบไม้หรือดอกไม้แม้เพียงหนึ่งใบก็อาจถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 2,000 ดอลลาร์ฯ หากต้นไม้นั้นเป็นต้นไม้สาธารณะหรือแม้แต่ผลไม้หรือดอกไม้ที่หล่นอยู่ตามพื้นก็ห้ามเก็บ หากอนุญาตให้คนหนึ่งเด็ดดอกไม้ใบไม้ได้ตามใจ คนอื่นๆ ก็อาจทำบ้าง แล้วสภาพของต้นไม้ต้นนั้นก็จะเปลี่ยนไป เช่น ดอกไม้อาจถูกเด็ดจนหมด ไม่เหลือดอกไม้สำหรับแมลงหรือนกที่จะมากินน้ำหวาน

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นของการชื่นชมความงาม ที่ทุกคนควรมีสิทธิ์ได้เห็นความงดงามของต้นไม้นั้นโดยเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ใครคนหนึ่งมีสิทธิ์ไปทำให้ความงามนั้นเปลี่ยนไป

สิงคโปร์
สิงคโปร์
8

จำลองป่ามาไว้ข้างถนน

การปลูกต้นไม้ที่สิงคโปร์เป็นมากกว่าแค่การขุดหลุมแล้วเอากล้าไม้ลงดิน กระบวนการทั้งหมดเริ่มตั้งแต่ก่อนลงมือปลูก มีรายละเอียดให้คำนึงถึงมากมาย ตั้งแต่การเลือกชนิดต้นไม้ โดยดูความเหมาะสมของต้นไม้แต่ละชนิดกับพื้นที่ เช่น การชอนไชของราก ความเหมาะสมของดิน สภาพอากาศ ไปจนถึงความยากง่ายในการดูแลรักษา

นอกจากนั้น ความหลากหลายทางสายพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่พวกเขาให้คุณค่า หากไปดูต้นไม้ริมถนนของสิงคโปร์ เราจะไม่ค่อยเห็นต้นไม้สายพันธุ์เดียวตลอดถนนทั้งเส้น แต่เราจะเห็นการออกแบบที่เลียนแบบพืชพรรณในป่า คือเต็มไปด้วยต้นไม้หลายสายพันธุ์ หลากรูปทรง ตั้งแต่ไม้พุ่ม ไม้ดอก ไม้ยืนต้น ไปจนถึงพืชเกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ เช่น เฟิร์น กล้วยไม้ มองตามพื้นดินก็อาจเจอเห็ด มองที่ลำต้นก็อาจเจอไลเคน

คุณริคเล่าว่า หากเราปลูกพืชชนิดเดียว เวลาที่มีโรคหรือแมลงระบาดก็เสี่ยงต่อการสูญเสียทั้งหมด ในทางตรงข้าม หากเราปลูกพืชพรรณที่หลากหลาย นอกจากจะยั่งยืนกว่าแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยให้สัตว์ต่างๆ มากมายหลายชนิดได้พึ่งพามากกว่า

“การดูแลต้นไม้ของเรา สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่เพียงต้นไม้ แต่ยังรวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่พึ่งพาต้นไม้นั้นด้วย ยิ่งพื้นที่สีเขียวของเรามีความหลากหลายเท่าไหร่ สายพันธุ์สัตว์ต่างๆ เช่น นก แมลง ที่พื้นที่นั้นค้ำจุนก็ยิ่งมากเท่านั้น ซึ่งก็จะเชื่อมมาถึงความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งมีความหลากหลายมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้คนก็ยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะเวลาคนได้เห็นนก เห็นสัตว์ต่างๆ พวกเขาก็จะมีความสุข”

จากสิบกว่าปีที่แล้วที่ตัวเลขสายพันธุ์พืชริมถนนของสิงคโปร์อยู่ที่ไม่เกิน 100 ชนิด มาวันนี้ความหลากหลายมีมากถึง 750 ชนิด นับเฉพาะแค่ต้นไม้ใบหญ้าริมถนนเท่านั้น และนี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากเราจะพบสัตว์ป่าหายากในเมืองสิงคโปร์ เช่น เหยี่ยวผึ้งบนต้นไม้ริมถนนสายช้อปปิ้ง นกแก้วบนต้นไม้ใกล้สถานีรถไฟอันพลุกพล่าน หรือแม้แต่ชะนีที่มีการพบไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก จนถึงขั้นว่ามีนักวิจัยมาตั้งกล้อง Camera Trap เพื่อดักถ่ายสัตว์ป่าในพื้นที่เมือง!

สิงคโปร์
สิงคโปร์
9

มีฐานข้อมูลต้นไม้ทุกต้น

ภารกิจการสร้างเมืองสีเขียวไม่ได้จบแค่การปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้ก็เหมือนกับคน คือเจ็บป่วยได้ ทำให้หลังจากปลูกต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความพิเศษของสิงคโปร์คือ ต้นไม้ในเมืองทุกต้นมีประวัติบันทึกในฐานข้อมูลทั้งหมด ไม่ต่างจากแฟ้มข้อมูลคนไข้ในโรงพยาบาล เช่น ต้นนี้คือต้นอะไร อยู่ที่ไหน อายุเท่าไหร่ มีประวัติการดูแลและรักษาอย่างไร ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถรู้ได้ว่าต้นไม้ต้นใดต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และทุกต้นจะได้รับการตรวจเช็กสุขภาพสม่ำเสมอ ต้นไหนที่มีความเสี่ยงมากหน่อย ก็อาจต้องต้องมีทีมไปตรวจเช็กอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี

การตรวจเช็กก็ต้องทำอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่ใต้ดิน ซึ่งต้องดูว่าสภาพดินเหมาะสมหรือไม่ การระบายน้ำของดินดีเพียงใด ดินมีแร่ธาตุเพียงพอไหม ส่วนเหนือผิวดิน รุกขกรก็จะประเมินเรื่องโรคและแมลงโดยดูจากสภาพลำต้น รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้เครื่องมือไฮเทคมากมาย เช่น เครื่องสแกนเพื่อดูความหนาแน่นของเนื้อไม้ ซึ่งจะบอกถึงสุขภาพของต้นไม้ต้นนั้น เป็นต้น และสุดท้ายคือการตัดแต่งกิ่งอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหากิ่งหัก

เมื่อต้นไม้ได้รับการดูแลอย่างดี ต้นไม้ก็จะมีความปลอดภัย ปัญหาระหว่างคนกับต้นไม้ก็จะไม่เกิดขึ้น

สิงคโปร์
สิงคโปร์
10

สร้างกองทัพรุกขกร

ย้อนกลับไปในวันที่สิงคโปร์เริ่มวางแผน City in a Garden ใหม่ๆ นอกจากระดมปลูกต้นไม้ครั้งใหญ่แล้ว พวกเขายังเริ่มต้นโปรแกรมฝึกอบรมเพื่อสร้างรุกขกรอย่างจริงจังด้วย แต่ถึงแม้ว่าจะมีต้นไม้ที่ต้องการการดูแลมาก ก็ไม่ใช่ว่าใครจะไปตัดแต่งต้นไม้ตามใจก็ได้ เพราะคนที่จะทำหน้าที่นี้จำเป็นต้องมีใบรับรอง ซึ่งจะได้จากการผ่านหลักสูตรอบรมตามที่กำหนดไว้ ทำให้มั่นใจได้ว่าต้นไม้ทุกต้นในประเทศสิงคโปร์จะได้รับการตัดแต่งอย่างถูกหลักการเสมอ

11

ทำให้คนภูมิใจกับเมือง

เมื่อการออกแบบเมือง เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก ผลที่เกิดขึ้นก็คือผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความภาคภูมิใจกับเมือง

“คนสิงคโปร์ภูมิใจกับเรื่องนี้มาก เขารู้ว่าต้นไม้ให้ประโยชน์ต่อเขายังไง แม้แต่คนขับแท็กซี่ก็เข้าใจ เพราะเขาจะเจอนักท่องเที่ยวที่บอกว่า เขาชอบเมืองสิงคโปร์เพราะต้นไม้ เขากลับมาที่นี่อีกเพราะต้นไม้ พื้นที่สีเขียวไม่ได้ช่วยแค่เรื่องสังคมหรือความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ยังช่วยเรื่องเศรษฐกิจด้วย พวกเขารู้ว่าถ้าไม่มีต้นไม้ สิงคโปร์ก็จะไม่ใช่สิงคโปร์อย่างทุกวันนี้”

เมื่อความรักต้นไม้เกิดขึ้น พวกเขาก็จะช่วยกันดูแล รวมทั้งเป็นหูเป็นตาเวลาที่เห็นต้นไม้มีปัญหา ก็จะช่วยกันแจ้งไปยังหน่วยงานที่ดูแล และเมื่อต้นไม้ในเมืองมีสุขภาพที่ดี ผู้คนก็มีสุขภาพที่ดีเช่นกัน

“ไม่ต้องมีข้อสงสัยเลยว่าพื้นที่สีเขียวทำให้คนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการมองพื้นที่สีเขียวทำให้คนมีความสุข เคยมีการศึกษาว่าหากหน้าต่างห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาลมองไปเห็นพื้นที่สีเขียวได้ ผู้ป่วยก็จะฟื้นตัวเร็วกว่า”

สิงคโปร์
สิงคโปร์
ภาพ : Living in a Garden – the Greening of Singapore (published by the National Parks Board 2013

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographers

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล