อักษรสเตนเลสที่ทอดยาวอยู่เหนือหัวของผมอ่านว่า ‘สิงห์ชัย’

‘สิงห์ชัย’ ซูเปอร์สโตร์ในลำพูนที่สร้างรอยยิ้มให้แก่ชุมชนบ้านป่าเห็ว ตำบลอุโมงค์ มายาวนานกว่า 60 ปีตั้งแต่ถนนยังเป็นลูกรัง หญ้ารกสูงถึงหัว จนตอนนี้เป็นย่านชุมชนร้านค้าและที่อยู่อาศัยน่ารักๆ ที่ทุกคนพึ่งพาอาศัยกัน รวมถึงร้านแห่งนี้ด้วยที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกความน่ารักในย่านนี้

‘สิงห์ชัย’ ซูเปอร์สโตร์ในลำพูนที่เอาใจใส่ แนะนำอย่างจริงใจ และไม่ขายสินค้าซ้ำชุมชน

เป็นสถานที่ที่ผมเคยกระโดดโลดเต้นเล่นบนลังนมสูง 30 ชั้นในโกดังเก็บของ เดินเขี่ยลำไยที่ตกเกลื่อนกลาดอยู่หลังบ้าน ที่ที่มีไอศกรีมกินทุกวัน มีขนมเกือบทุกยี่ห้อที่อยากกิน ที่ที่ผมยืนขายของหลังจากกลับจากโรงเรียนกับปะป๊า หม่าม้า อากง อาม่า และอาเฮีย ผลัดกันกินข้าว ผลัดกันเฝ้าร้าน เป็นที่รองรับร่างอวบอ้วนนี้ให้มีที่ซุกกายซุกใจ

แต่มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ ที่ร้านจะดำรงอยู่มานานขนาดนี้ การทำธุรกิจด้วยความหวังดีและเอาใจใส่ ทำไมถึงไม่ยอมขายของซ้ำๆ กับใคร ความลับที่ว่าขายของยังไง ทำไมคนถึงพูดกันว่า หาอะไรไม่เจอให้มาร้านสิงห์ชัย

วันนี้ลูกชายคนเล็กของตระกูลอย่างผมได้มีโอกาสประกอบจิ๊กซอว์เรื่องราวความเป็นมาของร้าน

ผมกำลังนั่งคุยกับ เจ๊เกด-เกษรา สุโภไควณิช หญิงแกร่งผู้อ่อนโยนประจำตำบลอุโมงค์ หรือสมัยนี้อาจจะเรียกได้ว่าเน็ตไอดอลของตำบล ผู้ครอบครองสถานะ เจ๊ ป้า น้อง พี่ หม่วย (แปลว่าน้องสาวในภาษาจีนแต้จิ๋ว) ย่า ยาย อาม่า และสถานะที่ผมเรียกเขา ‘หม่าม้า’

หม่าม้ากำลังจะพาผมย้อนกลับไป 60 กว่าปีที่แล้วก่อนจะมาเป็นสิงห์ชัย

ภาพค่อยเฟดเป็นสีซีเปีย 

‘สิงห์ชัย’ ซูเปอร์สโตร์ในลำพูนที่เอาใจใส่ แนะนำอย่างจริงใจ และไม่ขายสินค้าซ้ำชุมชน

หมายเหตุ : บทสนทนาส่วนใหญ่เป็นภาษาเหนือ จึงขออนุญาตแปลเป็นภาษากลาง

พ.ศ. 2499 อากงครองตลาด

ฝุ่นตลบอบอวลหลังการแล่นผ่านของยานพาหนะ พ่อของอากง (ผมเรียกว่า เหล่ากง) ตื่นแต่เช้ามืดเตรียมตัวไปขายของที่ตลาดโต้รุ่งบ้านป่าเห็ว ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เหล่ากงเป็นชาวจีนที่ตัดสินใจอพยพเข้ามาตั้งรกรากมีลูกมีหลานอยู่แถวนี้ ลูกชายของเขาคนหนึ่งชื่อว่า ไช้ มีความทะเยอทะยานในการขายของมากกว่าการไปโรงเรียน เพราะอยู่กับเหล่ากงเหล่าม่าเป็นประจำ 

เขาพยายามเสาะแสวงหาของมาขายทุกรูปแบบเท่าที่จะหามาได้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่ของที่อยู่ในหมวดเดียวกันก็ตาม เช่น ปุ๋ย สีทาบ้าน ไอศกรีม กล่องดินสอ ยา สายไฟ อาหารสัตว์ เหล็กรูปพรรณ เป็นต้น ถ้าสมัยนั้นมีการ์ตูน โดราเอมอน ร้านก็คงถูกเรียกว่าร้านโดราเอมอนเป็นแน่แท้ เหล่ากงเห็นถึงจิตวิญญาณพ่อค้าของอากง จึงเลื่อนขั้นให้เป็นผู้สืบทอดกิจการ

‘สิงห์ชัย’ ซูเปอร์สโตร์ในลำพูนที่เอาใจใส่ แนะนำอย่างจริงใจ และไม่ขายสินค้าซ้ำชุมชน

ใน พ.ศ. 2499 อากงแต่งงานกับ อาม่าสุพร พาร์ตเนอร์คนสำคัญ มีลูกด้วยกัน 4 คน นั้นคือ อาอี๊น้อย หม่าม้า อากู๋ตี้ และอากู๋น้อง

อากงซื้อที่ดินบริเวณใกล้ตลาดสร้างเป็นร้านขายของและบ้านของตัวเอง เป็นบ้านแถวไม้หน้ากว้างประมาณ 10 เมตร กิจการดำเนินไปในรูปแบบโชห่วย ให้ลองนึกภาพตามว่าหน้าร้านมีตู้กระจกยาวๆ กั้นอยู่ มีสินค้ามากมายละลานตาเป็นแบกกราวนด์ ลูกค้าจะเดินเข้ามาเอาแขนเท้าบนตู้กระจกแล้วพูดว่า 

“เฮีย ขอสายยางสักสองเมตร” แล้วอากง อาม่า หรือใครก็ตามที่เฝ้าหน้าร้านอยู่ในขณะนั้น จะเดินเข้าไปในร้านหยิบสายยางม้วนใหญ่ๆ มาตัด 2 เมตร ลูกค้าจ่ายเงิน จบ 

“เจ๊ เอาแฟ้บถุงหนึ่ง” อาม่าก็เดินเข้าไปหยิบออกมาให้ ลูกค้าจ่ายเงิน จบ ประมาณนั้น นี่คือโชห่วย

‘สิงห์ชัย’ ซูเปอร์สโตร์ในลำพูนที่เอาใจใส่ แนะนำอย่างจริงใจ และไม่ขายสินค้าซ้ำชุมชน

ใช่แล้ว ฉันทำอาชีพค้าขาย

ณ เวลานั้น ไม่แน่ใจว่าคนแถวนั้นเรียกชื่อร้านว่าอะไร เพราะตอนนั้นยังไม่มีชื่อ ไม่นานอากงรู้สึกว่าเราควรทำป้ายร้านได้แล้ว จึงใช้ชื่อไทยและจีนของตัวเองเป็นชื่อร้าน ด้านบนคือ ‘สิงห์ชัย’ มีภาษาจีนอยู่ด้านล่าง อ่านว่า ‘ลิ้ม ย่ง ไช้’ สลักเป็นตัวหนังสือสีทองบนป้ายอะคริลิกสีแดง เข้ากับอุปนิสัยหนักแน่น ใจนักเลงของอากงเป็นอย่างยิ่ง 

พอพูดถึงความใจนักเลงของอากง ผมก็พอจินตนาการถึงความดุดันของอากงในสมัยก่อนได้ สมัยนั้นอาชีพค้าขายค่อนข้างไม่เข้าตาใครในสังคม บางทีก็ถูกโจมตีด้วยหางตาให้รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวบ้าง การกรอกอาชีพพ่อแม่ในข้อมูลส่วนตัวของโรงเรียนว่า ค้าขาย เพื่อนก็ดูแคลนจนบางทีหม่าม้าก็แอบน้อยใจโชคชะตาบ้าง 

นั่นอาจเป็นที่มาของความแข็งแกร่งที่อากงต้องมีและแสดงออกมา เหนือแววตาดูแคลนทั้งหลาย แต่หม่าม้าก็พูดสวนขึ้นมาว่า “ถึงอย่างงั้น อากงแกใจดี ใจกว้างนะ” 

หม่าม้าเล่าให้ฟังต่อว่า อากงเป็นคนแรกของตำบลที่ซื้อโทรทัศน์ แต่ไม่ได้เอามาดูเองอย่างเดียว พอหลังปิดร้านแกจะเข็นโทรทัศน์เครื่องนี้มาที่หน้าบ้าน แบ่งให้ลูกค้าดูก่อนกลับบ้าน ถ้าผมอยู่ตรงนั้น คงมีภาพผมกับเด็กๆ แถวบ้านเชียร์ไอ้มดแดงสู้กับวายร้ายช็อกเกอร์ สู้ต่อไปทาเคชิ! 

ซูเปอร์สโตร์ที่รักของคน ต.อุโมงค์ ลำพูน ร้านที่เอาใจใส่ลูกค้าที่หนึ่ง แนะนำสินค้าอย่างจริงใจ และไม่ขายของซ้ำกับร้านอื่นๆ ในชุมชน

ผ่านไปราว 20 ปี ลูกทั้ง 4 ของอากงก็เติบโตขึ้นจนเบียดเสียดอยู่ในบ้านไม้ชั้นเดียวนี้ไม่ได้อีก ใน พ.ศ. 2522 อากงซื้อที่ดินฝั่งตรงข้ามสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ และพร้อมจะโยกย้ายกิจการเข้าไปในนั้น ด้วยความที่ที่ดินค่อนข้างกว้าง อากงจึงแบ่งพื้นที่ให้ญาติพี่น้องเข้ามาอยู่ด้วย ส่วนหนึ่งทำสวนลำไยควบคู่กับร้านขายของ หลังบ้านพอมีที่ว่างเหลือก็สร้างเป็นโกดังเก็บปุ๋ย เก็บถั่ว เก็บทุกอย่างที่จะขาย และดำเนินกิจการต่อไปอย่างเมามัน 

ลูกๆ ทั้ง 4 ก็ถึงเวลาแยกย้ายกันไปทำงานที่ตนนั้นเรียนมา รวมถึงหม่าม้าที่กลายไปเป็นสาวบัญชีสุดฮอตประจำธนาคารสีฟ้า พร้อมกับความฝันที่อยากจะเป็นผู้จัดการสุดคูล ส่วนที่ร้านมีอากู๋คนเล็กคอยช่วยอากงดูแลร้านต่อ

กลายเป็น ‘เจ๊’

หม่าม้าในวัย 27 ปี ได้แต่งงานกับปะป๊าผู้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้จัดการสายโหด มีลูกด้วยกัน 2 คน นั่นคือ อาเฮีย (พี่ชาย) และผมเอง หม่าม้าบอก

“ม้าก็ลาออกเลย” 

ผมถามกลับไปถึงเหตุผล หม่าม้าเอื้อมมือมาจับไหล่ผมแล้วบอกว่า 

“สงสารลูกๆ ไม่มีคนอยู่ด้วย” ดึงดราม่าเฉย 

อีก 2 ปีต่อมาปะป๊าก็ลาออกมาอยู่กับหม่าม้าที่ลำพูนด้วยเหตุผลเดียวกัน ตลอดเวลา 2 ปีที่หม่าม้ากลับมาอยู่ลำพูน แล้วปะป๊ายังทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ปะป๊าจะนั่งรถทัวร์มาหาทุกเย็นวันศุกร์ แล้วนั่งกลับไปทำงานในเช้าวันจันทร์ เป็นอีกหนึ่งความเท่ของปะป๊าที่น่าเอาเยี่ยงอย่างเหลือเกิน

ซูเปอร์สโตร์ที่รักของคน ต.อุโมงค์ ลำพูน ร้านที่เอาใจใส่ลูกค้าที่หนึ่ง แนะนำสินค้าอย่างจริงใจ และไม่ขายของซ้ำกับร้านอื่นๆ ในชุมชน
ซูเปอร์สโตร์ที่รักของคน ต.อุโมงค์ ลำพูน ร้านที่เอาใจใส่ลูกค้าที่หนึ่ง แนะนำสินค้าอย่างจริงใจ และไม่ขายของซ้ำกับร้านอื่นๆ ในชุมชน

ไม่นานหลังปะป๊าลาออกจากงาน ด้วยความเป็นพนักงานธนาคารของปะป๊าและหม่าม้า ผู้มองเห็นตัวเลขและพัฒนาการของร้าน จึงตัดสินใจผนึกกำลังกันสร้างฝันชิ้นใหม่ด้วยกัน นั่นก็คือ ซูเปอร์สโตร์! 

“แน่ใจหรอ จะทำได้หรอ” อากงถามกลับเพื่อความแน่ใจ 

“ถ้าไม่ให้ทำ จะกลับไปทำงานแบงก์ละนะ” หม่าม้ายื่นคำขาดแกมงอนใส่ จนอากงต้องยอมตอบตกลง พร้อมทิ้งท้ายเหมือนในหนังจีนว่า “ฝากร้านข้าด้วย” 

ไม่ใช่ๆ 

อากงบอกหม่าม้าว่า “จะขายอะไรก็ขายให้มันครบๆ ซื่อสัตย์ จริงใจ ยังไงก็ต้องมาก่อน”

หม่าม้ากับปะป๊าจึงเริ่มปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงร้าน เริ่มจากเปลี่ยนรูปแบบโชห่วยขายหน้าเคาน์เตอร์ไปเป็นแบบซูเปอร์มาเก็ตที่ให้คนเข้าไปเลือกซื้อของในร้านเอง ลดการขายส่งมาเน้นขายปลีก มีสินค้าหลากหลายมากขึ้น แยกกิจการขายเหล็กและอุปกรณ์ก่อสร้างให้อากู๋คนเล็ก ชวนอาเจ็ก ญาติฝั่งปะป๊า ให้มารับช่วงต่อกิจการขายยา

ปะป๊าเข้าไปรื้อของในโกดังใหม่ จัดระบบสต็อกใหม่ทั้งหมด จัดชั้นวางใหม่ปรับเปลี่ยนหมวดหมู่ของใหม่ ออกมาคุยกับเซลล์เอง คุมลูกน้องเอง เป็นแคชเชียร์เอง ทำทุกอย่าง จากอาหมวยกระโปรงแดงตัวเล็กๆ ที่วิ่งไปวิ่งมาในร้าน ตอนนี้ใครๆ ก็เรียกเธอว่า ‘เจ๊’

ซูเปอร์สโตร์ที่รักของคน ต.อุโมงค์ ลำพูน ร้านที่เอาใจใส่ลูกค้าที่หนึ่ง แนะนำสินค้าอย่างจริงใจ และไม่ขายของซ้ำกับร้านอื่นๆ ในชุมชน

มหาสมุทรต้องเป็นสีฟ้าสิ!

“ตอนแรกม้าตั้งคอนเซปต์ไว้ว่ายังไงกับร้านนี้” ผมถาม

“ก็ไม่มีเสียทีเดียว อย่างอากงว่า ขายให้มันครบๆ จริงใจ ซื่อสัตย์” หม่าม้าพูดอะไรเท่ๆ ไม่เก่ง

แต่ที่ว่าขายครบๆ ไม่ใช่จะขายทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้

“ครบในที่นี้คือชุมชนเรามีของขายครบ ไม่ใช่ว่าเราเห็นอะไรขายดีก็จะขายๆๆ ไปทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นม้าก็ขายก๋วยเตี๋ยว ขายอาหารตามสั่ง ขายน้ำเต้าหู้ ต้นทุนเราดีกว่า เราขายตัดราคาเขาเลยได้ แต่แบบนั้นเราจะอยู่กับคนอื่นได้ยังไง อย่างเรารู้ว่าที่ตลาดเขาขายผัก ขายเนื้อ ถ้าจะเราจะขายจริงๆ ก็ขายได้ มีเซลล์มาเสนอให้ขายเลยด้วยซ้ำ”

ผมนึกไม่ออกว่าถ้าเราตัดสินใจขายผัก ขายเนื้อ เวลาเราไปเดินตลาด คนจะมองเราอย่างไร

“ไม่รู้สิ เราถือว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน เป็นพี่ๆ น้องๆ มีอะไรก็ช่วยๆ กัน ลูกค้ามาถามหาของที่เราไม่ขาย เราก็แนะนำให้ไปร้านนั้นสิ ลองไปหาในตลาดหรือยัง หรือร้านโน้นอาจจะมี คนในตลาดเอง แม่ค้าก็แนะนำ ถ้าหาอะไรไม่เจอก็ไปร้านสิงห์ชัยสิ แบบนี้เราถึงจะอยู่กับชุมชนได้ เราเองอยากได้ของอะไร ก็จะนึกถึงร้านแถวๆ บ้านไว้ก่อน ไม่ใช่จะซื้ออะไรก็เข้าห้างอย่างเดียว”

เมื่อก่อนที่ร้านเคยขายเหล้า เบียร์ บุหรี่ จำได้ว่าตอนที่ผมยังเป็นอาตี๋หัวเกรียน กำลังอินกับวิชา สปช. หัวข้ออบายมุข เลิกเรียนกลับมาจึงพูดกับหม่าม้าแบบหน้าซื่อตาใสไปง่ายๆ ว่า “เหล้าไม่ดี แล้วเราจะขายทำไม”

ป๊ากับหม่าม้าเกาหัวพร้อมกัน ไม่รู้จะตอบไอ้ลูกชายคนนี้ยังไง

ต่อมาไม่นาน ขณะที่ผมยืนขายของให้ลูกค้าคนหนึ่งอยู่ “น้องเอาเบียร์ (สัตว์ใหญ่) ลังหนึ่ง”

ป๊าตะโกนสวนออกมาจากในร้านว่า “ไม่มี ไม่ขายแล้ว!” แล้วร้านเราก็เลิกขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ตอนนั้น

พอถามว่าคนคิดยังไงกับร้านเรา ม้าตอบว่า

“เจ๊น่าฮักขนาด (แปลว่าเจ๊น่ารักมากในภาษาเหนือ)” 

เดี๋ยวๆ

หม่าม้าหัวเราะก่อนจะยอมรับตามตรงว่า ของบางอย่างร้านเราถูกกว่า ของบางอย่างแพงกว่า แต่ก็มั่นใจว่าลูกค้าจะนึกถึงเราเป็นร้านแรกๆ 

“เคยได้ยินเขาพูดเหมือนกัน ว่าเจ๊ใจดี เจ๊ชอบแจกของแถม ตอนเราทำอย่างนั้น เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก ก็แค่อยากลดให้ อยากแถมของให้ แต่ก็ไม่คิดว่าจะผลตอบแทนมาดีขนาดนี้ ไม่ใช่เป็นเงินเป็นของอะไรนะ เป็นผลตอบแทนทางใจ ม้าไม่ชอบบรรยากาศ เออ เขาเรียกว่าไงนะ ไอ้มหาสมุทรอะไรสักอย่าง”

“Red Ocean (กลยุทธ์น่านน้ำสีแดง) เหรอ”

“นั่นแหละๆ ถ้าเราไม่ตะบี้ตะบันขายตัดราคากัน ห้ำหั่นกัน ทุกคน ทุกร้านก็อยู่ด้วยกันได้ เราจะอยู่ที่นี่ เราก็ต้องเคารพกัน”

นั่นคงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ร้านเรายังอยู่ในชุมชนได้อย่างกลมกลืน

ซูเปอร์สโตร์ที่รักของคน ต.อุโมงค์ ลำพูน ร้านที่เอาใจใส่ลูกค้าที่หนึ่ง แนะนำสินค้าอย่างจริงใจ และไม่ขายของซ้ำกับร้านอื่นๆ ในชุมชน

ปรับตัวพอเป็นพิธี

โลกการค้าสมัยใหม่เริ่มเข้าถึงชุมชน เขียงหมูกลายเป็นร้านขายเนื้อหมูในตู้เย็น มีห้องแอร์สบายๆ ในตลาดมีแต่ร้านขายสมาร์ทโฟน มีร้านกาแฟชิคๆ คูลๆ มีพี่มอเตอร์ไซค์ชุดเขียว ชุดชมพู วิ่งกันขวักไขว่

ตอนช่วงห้างมาเปิดใหม่ใกล้บ้าน มีร้านสะดวกซื้อเจ้าดังๆ มาเปิดแถวตลาดใกล้บ้าน 2 – 3 เจ้า 

“ทีแรกก็กังวลว่าเราจะขายไม่ได้แล้วรึเปล่า เลยพยายามหาของที่ในห้างไม่มีมาขายเพิ่มมาบ้างนิดหน่อย ช่วงแรกคนก็น้อยไปเหมือนกัน แต่สุดท้ายไปๆ มาๆ คนก็กลับมาซื้อร้านเราเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขนาดพนักงานในห้าง ในร้านสะดวกซื้อ ยังมาซื้อของบ้านเราเลย”

ซูเปอร์สโตร์ที่รักของคน ต.อุโมงค์ ลำพูน ร้านที่เอาใจใส่ลูกค้าที่หนึ่ง แนะนำสินค้าอย่างจริงใจ และไม่ขายของซ้ำกับร้านอื่นๆ ในชุมชน

เพราะอะไร-ผมถาม

“อาจจะเพราะว่าเขาถามแคชเชียร์ในห้างไม่ได้ว่า ลูกเขาควรจะใช้ผ้าอ้อมเบอร์ไหนล่ะมั้ง

“พูดไม่ถูกเหมือนกันนะ เราสนิทกับลูกค้า คุยเล่นกับเขา จริงใจ ของเราก็ขายไม่แพง บางทีเรารู้จักเขา รู้จักลูกเขา เรารู้ว่าลูกเขาต้องกินนมแบบไหนถึงจะเหมาะ เราก็แนะนำเลย หรือบางทีเขาซื้อของที่ไม่จำเป็น เราจะแนะนำว่าเอาอีกตัวแทนไหม ถูกกว่า เอาไปลองใช้ดูก่อน ทำนองว่าเราอยากเอาใจเขา อยากให้รู้ว่าเราพึ่งพาได้นะ”

วันดีคืนดีมีชาวไทใหญ่พูดไทยไม่เก่งมาขอซื้อฮิลดูบอย หม่าม้าชี้ให้ไปซื้อร้านยา สุดท้ายเขาเดินกลับมาบอกว่า ฮิลดูบอยที่เป็นน้ำหวานสีแดงๆ

บางทีเป็นคนสติไม่ดีมาขอเงิน หม่าม้าก็ให้ แถมขนมปังให้ด้วย แต่บอกเขาว่าวันหลังต้องเอาเงินมาซื้อเอง แล้ววันต่อมาเขาเอามะม่วงมาแลกขนมปังแทน

“หรือคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่รู้จักของเลย รู้ว่าตัวเองจะมาซื้อนม แต่นมอะไรก็ไม่รู้มีเป็นร้อยเป็นพันอย่าง เราก็จะแนะนำนมสำหรับผู้สูงอายุ ชงกินวันละเท่านี้นะ พอเรารู้ว่าเขาไม่ได้มีกำลังซื้อเยอะ เราก็แนะนำพอสมควร เดี๋ยวค่อยมาซื้อใหม่ ให้ลูกน้องพาไปส่งที่บ้านด้วย”

บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องจิตวิทยาในการขาย แต่หม่าม้าสลัดทุกทฤษฎีในตำราออก แล้วใช้เพียงคำว่า ‘จริงใจ’

บางครั้งก็มีเอาของแปลกๆ มาขาย สบู่สมุนไพรเอย ข้าวเกรียบเอย ขนมต่างๆ

“พวกนั้นลูกค้ามาฝากขายอีกที ลูกค้าบางคนลองทำของขาย ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน มาพูดให้ม้าฟัง ม้าก็เลยบอกให้เอามาวางหน้าร้านเรา เผื่อขายได้ แล้วก็ขายได้จริงๆ ขายดีด้วยบางตัว”

ร้านเราปรับตัวนิดๆ หน่อยๆ พยายามอัปเดตสินค้าตลอดเวลา ข้อได้เปรียบคือเจ้าของเป็นคนขายเอง เลยรู้ตลอดว่าคนต้องการอะไร ถามหาอะไร อะไรขายดี อะไรไม่ดี บางทีลองหาของอะไรแปลกๆ ที่แถวนี้ไม่เคยมีขายมาก่อน ขายดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ลูกค้าสนุกที่ได้เห็นของใหม่ๆ อยู่ตลอด 

หน้าร้านก็ไม่ได้ปรับปรุงอลังการจนคนไม่กล้าเข้า เพราะยังอยากให้คนรู้สึกคุ้นเคย เป็นกันเอง และเข้าถึงง่าย

สำหรับผมถ้าจะให้เปรียบ คงเหมือนเวลาที่ผมอยากจะกินก๋วยเตี๋ยวอร่อยๆ ร้านใหม่สักร้านหนึ่ง ผมจะเลือกร้านที่ตู้ใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวหน้าร้านเป็นไม้เก่าๆ โต๊ะเอย เก้าอี้เอย ตะเกียบเอย เป็นไม้ที่ถูกขัดแล้วขัดอีกจนสึกสีซีดๆ ที่ใส่เครื่องปรุงยังเป็นตลับสเตนเลสสีเหลี่ยมผืนผ้าแบ่งเป็นช่องๆ มีถั่ว มีพริกป่น มีน้ำตาล มีอาแปะยืนลวกเส้นเสียงดังโหวกเหวกกับอาซิ่มใจดีคอยรับออเดอร์ ค่อยๆ เดินมาถามเรา “วันนี้เรากินอะไรดีลูก” ความรู้สึกแค่ผมนั่งรอก็รู้เลยว่าก๋วยเตี๋ยวที่จะมาวางอยู่ตรงหน้าเราต้องอร่อยแน่นอน 

ในที่นี้ การปรับตัวของหม่าม้าอาจแค่หมายถึงมั่นคงในจุดยืนในการขายของเรา

เป็นแม่ค้าแล้วได้อะไร

ตลอด 50 กว่าปีที่ม้าขายของมา คิดว่าได้อะไรกลับมาบ้าง

จริงๆ คำถามนี้ผมก็พอจะได้คำตอบมาหมดแล้วล่ะ จากที่นั่งคุยกันเกือบครึ่งวัน

“ก็ได้ความสุขไง” หม่าม้าตอบสวนขึ้นมาทันที

ถ้าอย่างนั้นขอถามประโยคสุดคลาสสิกเลย แล้วความสุขของม๊าคืออะไร

“การที่ม้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ได้ขายของที่คนอยากซื้อ ได้รับความรัก ได้รับความเคารพ ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ นี่แหละความสุข”

ฟังดูง่ายนะ แต่ผมรู้เลยว่ามันยากมากจริงๆ ที่ใครคนหนึ่งจะได้รับสิ่งที่หม่าม้าพูดมาทั้งหมด ทั้งต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้พลังงาน และใช้จิตวิญญาณสูง

ผมยืนขายของกับหม่าม้ามาจะ 30 ปี แม้ว่าผมจะไม่ได้อยู่กับเขาตลอดเวลา แต่ทุกครั้งที่ผมอยู่ขายของกับหม่าม้า ผมสัมผัสได้จริงๆ ถึงพลังงานความสุขที่ล้นเหลือ ล้นไปถึงคนในครอบครัว พนักงาน คนส่งของ แม่ค้าในตลาด ลุงขายอาหารตามสั่งข้างบ้าน ป้าขายไข่บ้าน 2 หลังถัดไป และล้นถึงลูกค้าทุกคนที่เข้ามา 

“เจ๊ วันนี้ทำแกงอะไรกิน”

“วันนี้แก๋งบะหนุน (แกงขนุน) เจ้า”

“ลูกชายโตขึ้นเยอะเลยนะ เห็นตั้งแต่ตัวเล็กๆ”

“ป้าคะ แม่ให้เอาขนมมาฝาก”

“ฝากนมนี่ไปให้พ่อด้วย เห็นว่าช่วงนี้ป่วยอยู่”

“เอากล้วยไปกินไหม เจ๊ปลูกเองหลังบ้าน”

“ไม่เป็นไร ซื้อผิดเอามาเปลี่ยนได้”

ผมนั่งคุยกับหม่าม้ามาครึ่งวัน ยังไม่ได้ยินคำพูดเชิงว่า ธุรกิจเราจะขยายออกไปกี่สาขา สิ้นปีต้องทำยอดให้ได้เท่านี้นะ เราจะรวยๆๆ อะไรเทือกนั้นเลย

‘ก็ได้ความสุขไง’ ของหม่าม้า ไม่ได้เป็นแค่คำตอบที่ตอบไปง่ายๆ แต่มันคือความสุขที่สุขจริงๆ ผมรู้สึกได้

รู้สึกได้ว่า ภาพบรรยากาศที่อากงเข็นโทรทัศน์ออกมาให้คนแถวบ้านดูยิ้มหัวเราะกัน มันยังไม่หายไปไหน

ไม่น้อยใจเหมือนเมื่อก่อนแล้วล่ะสิที่เป็นแม่ค้า-ผมแซว

“โหะ ม่วนจะต๋าย” (โห สนุกจะตาย)

น่าเสียดายที่อากงกับอาม่าไม่มีโอกาสได้อ่านบทความนี้ ไม่งั้นคงยิ้มแก้มปริให้กับแม่ค้าคนนี้เป็นแน่แท้

ซูเปอร์สโตร์ที่รักของคน ต.อุโมงค์ ลำพูน ร้านที่เอาใจใส่ลูกค้าที่หนึ่ง แนะนำสินค้าอย่างจริงใจ และไม่ขายของซ้ำกับร้านอื่นๆ ในชุมชน

Lessons Learned

  • เกื้อกูลธุรกิจอื่นๆ มากกว่าจะมองเป็นคู่แข่ง ยกให้ลูกค้าเป็นเพื่อนบ้านที่อยากมอบสิ่งดีๆ ให้ ลูกค้าอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ ธุรกิจก็อยู่ได้ 
  • รักษามนตร์เสน่ห์และ Sense of Place ของร้านเอาไว้ ร้านอาจไม่จำเป็นต้องหรูหรา แต่ทำให้ลูกค้าสบายใจเวลาเข้ามา มากกว่าสินค้าที่ดี คือประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับ
  • หากมีความหวังดี เอาใจใส่ลูกค้า ทำธุรกิจด้วยความจริงใจและใจรัก ใครมองก็ดูออก และอยากกลับมาใช้บริการอีก โดยไม่ต้องพึ่งการตลาดใดๆ เลย
  • มั่นคงในจุดยืนของธุรกิจ ผลกำไรจึงไม่จำเป็นต้องมาเป็นเม็ดเงินเสมอไป อาจมาในรูปแบบมะม่วง ขนมของฝาก คำถามว่า ‘วันนี้ทำอะไรกิน’ และคำทักทาย ‘ลูกชายโตขึ้นเยอะเลยนะ’

Writer

Avatar

วรุฐ สุโภไควณิช

สถาปนิกแดนล้านนา ผู้มีชีวิตอยู่รอดได้หากโลกนี้มีอาหารแค่เพียงก๋วยเตี๋ยวและข้าวกะเพรา ชื่นชอบการดูและสะสมไอ้มดแดง มีเพจเรื่องสั้นชื่อ ‘หนังสือสะท้อนแสง’ ถ้านานๆ อัปทีแสดงว่าขี้เกียจ

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ