ซินไฉฮั้ว คือร้านซักแห้งเจ้าแรกของประเทศไทย

เป็นภาษาแต้จิ๋ว ‘ซิน’ แปลว่า ใหม่ ‘ไฉ’ แปลว่า สีสัน และ ‘ฮั้ว’ แปลว่า ความเจริญรุ่งเรือง

จนถึงวันนี้ ซินไฉฮั้วมีอายุ 85 ปี อยู่ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่ 3 ไม่เพียงให้บริการซักอบรีดตามความเชี่ยวชาญอย่างครบวงจร เขายังต่อยอดธุรกิจและหาโอกาสใหม่ๆ ให้กิจการครอบครัวอยู่เสมอ

ถ้าใครเคยเดินทางด้วยรถไฟด่วนพิเศษแบบตู้นอน จะต้องเคยสัมผัสผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มหอมๆ ไว้นอนอุ่นๆ ไหนจะผ้าสะอาดๆ ตามโรงแรม โรงพยาบาลและคลินิกมีชื่อ และผ้านุ่มที่แจกกันหนาวในสายการบิน ล้วนผ่านกระบวนการทำความสะอาดจากซินไฉฮั้วทั้งนั้น

คุณปิยะพล กัญจนาภรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซินไฉฮั้วอุตสาหกรรม จำกัด

The Cloud มีนัดกับ คุณปิยะพล กัญจนาภรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซินไฉฮั้วอุตสาหกรรม จำกัด ที่โรงงานย่านร่มเกล้า แน่นอนว่านำทางโดยผ้ากลิ่นผ้าสะอาดๆ

ก่อนพูดคุยเรื่องการรับช่วงต่อและดูแลแบรนด์ของครอบครัว ไปจนถึงบรรยากาศร้านซักแห้งสมัย 85 ปีก่อน ฟังเพลินตัดสลับฟังเสียงเครื่องซักผ้า ที่บรรเลงเข้าจังหวะพนักงานนับร้อยชีวิตกันอย่างพอดี

ต่อให้ไม่ใช่ทายาทกิจการ แต่ถ้าคุณทำงานที่เกี่ยวกับการให้บริการ คุณไม่ควรจะพลาดบทความนี้ เพราะงานแรกของการรับช่วงต่อของทายาทรุ่นสามคนนี้ ไม่ใช่การปรับร้านให้ทันสมัย แต่พ่อและแม่ส่งให้ไปจัดโครงสร้างองค์กร แก้ความขัดแย้ง และปรับให้การทำงานมีโครงสร้างที่เอื้อต่อการสร้างคนจริงๆ

ปิยะพลทำได้อย่างไร มาฟังพร้อมกัน

คุณปิยะพล กัญจนาภรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซินไฉฮั้วอุตสาหกรรม จำกัด

ธุรกิจ: ซินไฉฮั้ว (พ.ศ. 2477)

ประเภท: ให้บริการซักทำความสะอาด

เจ้าของและผู้ก่อตั้ง: คุณกิจจา และคุณเพ็ญพิมล กัญจนาภรณ์

ทายาทรุ่นที่สอง: คุณพิพัฒน์ และคุณทัศนา กัญจนาภรณ์

ทายาทรุ่นที่สาม: คุณปิยะพล คุณเอกพล คุณปรัชพล และคุณศิวะพล กัญจนาภรณ์

ร้านซักแห้งเจ้าแรกของไทย

ซักอบรีดคือการซักที่ใช้น้ำ แต่ซักแห้งใช้น้ำมัน 

ในกระบวนการซักแห้ง ผ้าจะแห้งตั้งแต่เข้ายันออกจากเครื่อง เหมาะกับผ้าบางอย่างที่ลงน้ำไม่ได้ เช่นผ้าขนสัตว์ หรือแม้กระทั่งผ้าโดนน้ำได้ ที่วิธีซักแห้งรักษาเนื้อผ้าได้ดีกว่า เพราะวิธีซักอบรีดน้ำซักผ้าจะทะลวงเส้นใย แต่ซักแห้งคือการปัดออก สิ่งที่ต่างกันคือต้นทุนเครื่องซักราคามหาศาล

ทายาทรุ่นสามร้านซักแห้งแรกของไทย ซินไฉฮั้ว ผู้ต่อยอดธุรกิจ 85 ปีจนล้ำกว่าการทำความสะอาด

ปิยะพลเล่าเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ถ้าเริ่มต้นทำธุรกิจซักอบรีดจะมีต้นทุนเครื่องซักราคา 3 – 4 หมื่นบาท ขณะที่เครื่องซักแห้งราคา 4 ล้านบาท 

“อาจไม่ใช่ธุรกิจทำเงินมากมาย แต่ใช้เลี้ยงครอบครัวได้ถ้าตั้งใจทำ เพราะมีคนใช้ มีตลาด มีความต้องการบริการนี้อยู่” ปิยะพลยืนยันเมื่อเราถามถึงโอกาสของตลาด

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 85 ปีก่อน คุณปู่กิจจาเริ่มต้นทำงานที่ร้านซักผ้า ‘ไฉฮั้ว’ ในประเทศจีน ก่อนกลับไทยมาเปิดร้านชื่อ ‘ซินไฉฮั้ว’ โดย ‘ซิน’ ในภาษาจีนแปลว่า ใหม่ 

ทายาทรุ่นสามร้านซักแห้งแรกของไทย ซินไฉฮั้ว ผู้ต่อยอดธุรกิจ 85 ปีจนล้ำกว่าการทำความสะอาด

ซินไฉฮั้วให้บริการซักผ้าแก่รายย่อย เช่นชุดราชปะแตนของข้าราชการ เรื่อยมาจนเข้าสู่ช่วงสงครามเวียดนาม มีทหารเกณฑ์จากอเมริกันเข้ามาตั้งฐานในประเทศไทย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของซินไฉฮั้ว จากการรับซักชุดทหารจำนวนมาก จนมีเงินทุนขยายกิจการไปสู่ธุรกิจโรงงานเย็บเสื้อผ้าตามสั่งและโรงงานฟอกยีนส์

“สมัยที่รับซักผ้าอย่างเดียวเริ่มมีลูกค้าถามว่ารับฟอกยีนส์ด้วยไหม เราบอกว่า ไม่เคยทำ แต่ขอลองดู ในที่สุดก็กลายเป็นโรงงานฟอกยีนส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ยุครุ่งเรืองสุดๆ ฟอกสียีนส์นับล้านตัวต่อเดือน” ปิยะพลเล่าพร้อมชี้ให้ดูเครื่องจักรที่ยังตั้งอยู่ที่เดิม เปลี่ยนไปแค่เสียงเครื่องที่ไม่ครื้นเครงเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน

คุณพ่อพิพัฒน์ และคุณแม่ทัศนา กัญจนากรณ์

ต่อมาในยุค คุณพ่อพิพัฒน์ และคุณแม่ทัศนา กัญจนากรณ์ ทั้งคู่ต่อยอดธุรกิจด้วยการรับผลิตเสื้อผ้าส่งออกต่างประเทศ และเริ่มให้บริการซักผ้าแก่องค์กรต่างๆ จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ย้ายฐานการผลิตตามค่าแรง โรงงานฟอกยีนส์และผลิตเสื้อผ้าก็ทยอยลดขนาดลง พวกเขาจึงหันมาจับตลาดบริการในประเทศมากขึ้น

เรื่องซักผ้าระดับอุตสาหกรรม

เสียงเครื่องซักผ้า อบผ้า รีดผ้า ขนาดใหญ่รอบตัวเรา ตัดสลับกับเสียงของปิยะพลที่เล่าถึงกลไกของเครื่องจักร ฟังเพลินจนเผลอคิดว่าเรากำลังอยู่ในสถานีอวกาศมากกว่าโรงงานซักผ้า เขาชี้ชวนกึ่งอธิบายกระบวนการ หลังจากแยกผ้าที่ส่งมารวมกันที่โรงงานแห่งนี้ ผ้าจะเข้าเครื่องซักที่เหวี่ยงผ่านน้ำ น้ำยาซักผ้า และน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผ่านเครื่องรีดน้ำ เครื่องเซ็ตผ้า แล้วจึงนำไปรีดให้เรียบก่อนพับแล้วแพ็กใส่ถุง

“โรงงานซินไฉฮั้วซักผ้าวันละกี่ชิ้น” เราถาม

ทายาทรุ่นสามร้านซักแห้งแรกของไทย ซินไฉฮั้ว ผู้ต่อยอดธุรกิจ 85 ปีจนล้ำกว่าการทำความสะอาด
ทายาทรุ่นสามร้านซักแห้งแรกของไทย ซินไฉฮั้ว ผู้ต่อยอดธุรกิจ 85 ปีจนล้ำกว่าการทำความสะอาด

“ไม่นับชิ้น แต่นับเป็นตัน ประมาณแปดสิบตันต่อวัน อนาคตตั้งใจให้มีกำลังผลิตถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันต่อวัน” ปิยะพลตอบ ก่อนเสริมว่าสมัยก่อนซักก่อนแล้วแยกมาสลัดน้ำ ปัจจุบันมีเครื่องที่ซักและสลัดน้ำออกในตัวทำให้ลดขั้นตอนได้มาก

คุยไปคุยมาจึงได้รู้เกร็ดของวงการซักผ้าที่น่าสนใจว่า ธุรกิจซักผ้าที่มาเก๊ามีกำลังผลิตถึงวันละ 120 ตัน ใช้คน 600 คน แบ่งเป็น 3 กะ ทำงาน 24 ชั่วโมง เพราะมาเก๊ามีธุรกิจโรงแรมเยอะ มีคนใช้บริการตลอด ได้ยินอย่างนี้ก็ยิ่งเชื่อว่าตลาดในประเทศไทยที่มีการท่องเที่ยวเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ จะทำให้ธุรกิจบริการทำความสะอาดนี้พัฒนาและเติบโตตามได้ไม่ยาก

ธุรกิจซักผ้าในส่วนอุตสาหกรรมยุคทายาทรุ่นที่ 2 ให้บริการกลุ่มธุรกิจ Hospitality ได้แก่ กลุ่มโรงแรม กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มที่ให้บริการด้านต่างๆ ก่อนที่ทายาทรุ่นที่ 3 อย่างปิยะพลจะขยายตลาดมาสู่กลุ่ม Healthcare ได้แก่ โรงพยาบาล และคลินิก ซึ่งมีเงื่อนไขและความต้องการแตกต่างกัน ตามด้วยกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม 

ทายาทรุ่นสามร้านซักแห้งแรกของไทย ซินไฉฮั้ว ผู้ต่อยอดธุรกิจ 85 ปีจนล้ำกว่าการทำความสะอาด

นอกจากซินไฉฮั้วจะให้บริการซักชุดยูนิฟอร์มที่ใช้ภายในโรงงานแล้ว ยังมีงานท้าทายความสามารถอย่างผ้าเช็ดน้ำมันที่ใช้ในกระบวนการผลิตของเกือบทุกโรงงานอุตสาหกรรม

ปิยะพลเล่าให้ฟังว่า ผ้าเหล่านี้มีวิธีซักแตกต่างไปจากการซักผ้าทั่วไป ไปจนถึงการบำบัดน้ำจากการซักล้าง แม้จะให้บริการซักทำความสะอาดเหมือนกัน แต่จำเป็นต้องแยกประเภทธุรกิจ เพราะเงื่อนไขที่ต้องการแตกต่างกัน

ซัก อบ รีบ

จากที่ซินไฉฮั้วเคยมีแฟรนไชส์สาขานับร้อยแห่งทั่วกรุงเทพฯ วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป 

“ที่ผ่านมา เปิดสาขาเยอะมาก เราได้บทเรียนว่างานบริการสำคัญที่การควบคุมคุณภาพ เราแค่ต้องทำให้ลูกค้าสะดวกที่สุด พัฒนาแอปพลิเคชันที่มีระบบรับส่งผ้าถึงบ้าน” ปิยะพลเล่า เขาไม่ได้ตั้งใจพัฒนาส่วนออนไลน์อย่างเดียว เพราะพฤติกรรมลูกค้าเก่าแก่ชอบการปฏิสัมพันธ์ ชอบมาที่ร้าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะร้านซินไฉฮั้วตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน ซูปอร์มาร์เกต ห้างสรรพสินค้า เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต

ธุรกิจเกี่ยวกับบริการซักทำความสะอาดล่าสุดของซินไฉฮั้ว คือธุรกิจซักผ้าหยอดเหรียญ เครื่องแบบเดียวกันกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมซักผ้า ไม่ใช่เครื่องซักผ้าบ้านหยอดเหรียญ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม เพราะตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมืองรุ่นใหม่ที่อาศัยในห้องเล็กๆ จึงไม่อยากลงทุนกับเครื่องซักผ้าที่ไม่ได้ใช้บ่อยและมีค่าเสื่อม

“คนต้องการคุณภาพการซักที่ดีกว่า เร็วกว่า ซักและอบขั้นตอนละยี่สิบห้านาที ลูกค้าเอามาแต่ผ้า เพราะน้ำยาทุกอย่างเราใช้เกรดเดียวกับระบบซักผ้าโรงพยาบาล” ปิยะพลเล่าถึงธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเปิดสาขาแรกที่ปทุมธานี

ทายาทรุ่นสามร้านซักแห้งแรกของไทย ซินไฉฮั้ว ผู้ต่อยอดธุรกิจ 85 ปีจนล้ำกว่าการทำความสะอาด

โปรดรักษาความสะอาด

ปิยะพลบอกว่า ความรู้เกี่ยวกับการซักผ้าที่ผ่านมาไม่ได้มีการส่งต่อเทคนิค แต่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงหน้างาน หาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ เช่นเดียวกับบริการล่าสุดของบริษัทอย่างบริการกำจัดไรฝุ่นที่นอนตามบ้าน

“เราเห็นโอกาสธุรกิจ อนาคตโลกเราจะสกปรกขึ้นเรื่อยๆ และคนไทยรู้เรื่องไรฝุ่นน้อยมาก ไรฝุ่นเป็นแมลงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า กินหนังกำพร้าเป็นอาหาร เป็นเหตุผลว่าซักผ้าสะอาดแล้วทำไมยังคัน น้อยคนจะรู้ว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากไรฝุ่น” เป็นการต่อยอดบริการทำความสะอาดที่ไปไกล ตอบโจทย์กลุ่มตลาดครอบครัวที่มีเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ

คุณปิยะพล กัญจนาภรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซินไฉฮั้วอุตสาหกรรม จำกัด

ประสบการณ์และสายเลือดของนักธุรกิจผู้บุกเบิก ทำให้ซินไฉฮั้วต่อยอดธุรกิจไปไกลกว่าการทำความสะอาดเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้จำเป็น นั่นคือการบริหารจัดการความเรียบร้อยของอาคาร

ในยุคของปิยะพล เขาบุกเบิกธุรกิจบริหารอาคาร ประกอบด้วยส่วนงานที่คุ้นเคยอย่างธุรกิจทำความสะอาดและการจัดหาแม่บ้าน ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ธุรกิจระบบวิศวกรอาคาร 

“เรียกรวมกันง่ายๆ คือ งานดูแลตึก เราเห็นโอกาสธุรกิจในงานบริหารอาคารซึ่งไม่ใช่ Core Business ของลูกค้า เช่น งานแม่บ้าน งานรักษาความปลอดภัย งานกำจัดปลวก มด แมลง งานระบบน้ำและสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เราให้บริการเพื่อช่วยเขาลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้น โดยใช้ประสบการณ์จากการทำงานโรงงานซักแห้งที่ต้องมีทั้งความสะอาด ระบบความปลอดภัย ระบบเครื่องจักร พอรู้ว่าทำได้ก็เริ่มขยับขยาย เราเริ่มธุรกิจส่งแรง หรือธุรกิจบริหารแรงงานมาประมาณสิบปี คนไม่ได้เยอะ มีประมาณหกร้อยถึงเจ็ดร้อยคน แต่เป็นสิ่งที่เราเริ่มเอง” ปิยะพลเล่าถึงโอกาสที่มองเห็นหลังซินไฉฮั้วรับงานบริหารโรงซักของสายการบินแห่งชาติ

ระบบรวมศูนย์กลางการตัดสินใจ

“ผมเคยฝันอยากเป็นนักร้อง” เราละลายพฤติกรรมกันด้วยความฝันในวัยเด็ก

หลายครอบครัวมีปัญหาว่าทายาทไม่ได้รับอำนาจการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของบริษัท แต่ไม่ใช่กับที่นี่ วันแรกที่ปิยะพลเข้ามารับช่วงต่อ คนแรกที่วางมือทันทีคือคุณแม่

“ท่านบอกว่าอยากใช้ชีวิตของท่าน ก่อนหน้านี้คุณแม่ดูแลส่วนงานหน้าร้านสาขาและลูกค้าปลีก” ปิยะพลเล่าย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีก่อน

ทายาทรุ่นสามร้านซักแห้งแรกของไทย ซินไฉฮั้ว ผู้ต่อยอดธุรกิจ 85 ปีจนล้ำกว่าการทำความสะอาด

เขาเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวที่เกิดและโตในโรงงาน ร่ำเรียนวิชาการบริหาร และมีโอกาสเข้ามาช่วยงานด้านเอกสารบ้าง เขาเล่าว่า แม่สอนเสมอว่างานเอกสารบอกอะไรเรามากกว่าที่เห็น การจัดซื้อจัดจ้าง การซื้อขาย รายรับ รายจ่าย บอกว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ

หลังเรียนจบ เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานในสายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 2 ปี ก่อนเข้ามารับช่วงต่ออย่างเต็มตัว

“จำได้ว่าตอนนั้นซ่ามาก เต็มไปด้วยความอยากที่จะเปลี่ยน เพราะมองว่ากิจการเราไม่ควรเป็นแบบนั้น แต่ควรเป็นอย่างที่เราคิด ควรทันสมัย เราคิดอยากเป็น CEO ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย เริ่มทำตัวเองเป็นศูนย์กลาง คิดว่าสิ่งที่ตัดสินใจทำนั้นถูกต้องที่สุด ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่” เขาบอกว่าประสบการณ์ในห้องเรียนและการใช้ชีวิตในต่างประเทศทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเมื่อคนอื่นๆ ทำได้ เขาก็น่าจะทำได้

งานแรกๆ ของทายาทร้านซักแห้งรายใหญ่ที่เก่าแก่ มีลูกค้าและพนักงานให้ความไว้ใจมากมาย ไม่ใช่การปรับแบรนด์ เปลี่ยนงานออกแบบให้ร้านดูทันสมัย หรือขยายร้านให้มีสาขาครอบคลุมทุกพื้นที่มากที่สุด แต่คือการเปลี่ยนระบบภายในให้พร้อมต่อการเติบโต

และโลกความเป็นจริงก็สอนปิยะพลว่า มีแต่ตัวเขาเท่านั้นที่คิดจะเปลี่ยนสิ่งต่างๆ คนอื่นๆ เขาไม่คิดด้วย โลกไม่คิดด้วย 

คุณปิยะพล กัญจนาภรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซินไฉฮั้วอุตสาหกรรม จำกัด
คุณปิยะพล กัญจนาภรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซินไฉฮั้วอุตสาหกรรม จำกัด

ปิยะพลยอมรับว่าแผนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรและการขยายธุรกิจอย่างเป็นระบบที่วาดไว้สวยหรู ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่หวัง ตลอดการพูดคุยปิยะพลพูดเสมอว่า ความล้มเหลวครั้งนั้นเกิดจากความไม่พร้อม ความไม่รู้ และความประมาทของเขา

“เราพบว่าการตัดสินใจที่ไม่ดีจากคนคนเดียวส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ มากมาย เมื่อก่อนเราคิดอะไรออกก็ทำ ระบบบริหารงานสมัยก่อนทุกอย่างขึ้นตรงที่เถ้าแก่เพียงคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็จะมาหาเราหมด ทีมงานรอบตัวไม่เคยถูกฝึกให้คิด เขาจะรอแต่คำสั่ง สุดท้ายเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา ก็จะโทษกันหรือโยนความผิดว่าเขาไม่ได้เป็นคนคิดตัดสินใจ” 

หลักการบริการผู้ให้บริการ

ปิยะพลเริ่มมาตรการกระจายอำนาจให้พนักงานตัดสินใจกันเอง สอนให้รับผิดชอบในการตัดสินใจ และยื่นมือช่วยเมื่อใครคนใดต้องการ โดยจัดหาบุคลากรมืออาชีพเข้ามาทำงานแผนกต่างๆ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการบริหาร จะเป็นคนนอกเกือบทั้งหมด ต่างจากสมัยพ่อแม่ที่สร้างคนจากทีมงานเก่าแก่

“การมีมืออาชีพเข้ามากดดันให้ทีมงานเดิมเรียนรู้การรับฟังคำสั่ง รู้จักคิดตาม ตั้งคำถามต่อมุมมองของหัวหน้าและหารือสรุปแนวทางก่อนนำเสนอ ทำให้ปัจจุบันทำงานเป็นทีมมากขึ้น หาข้อมูลมากขึ้น มองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ก่อน แล้วปล่อยให้เรื่องตัวเลขและผลกำไรมาทีหลัง เดี๋ยวนี้มีเรื่องอะไรเราจะคุยกันที่ประชุมทั้งหมด แผนกไหนจะเริ่มทำโปรเจกต์อะไร เขาจะไปวิเคราะห์แผนรับมือแล้วมานำเสนอหารือร่วมกัน ไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอีกแล้ว”

งานยากลำดับต่อมาคือ งานลดความขัดแย้งในองค์กร 

ปิยะพลอยากเห็นการคุยกันด้วยเหตุผล และทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

“สมัยก่อนเราไม่ค่อยแชร์ข้อมูลกัน เพราะข้อมูลบางเรื่องถือเป็นความลับ แต่โลกปัจจุบันไม่มีอะไรเป็นความลับอีกแล้ว เราแชร์ข้อมูลให้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเขารู้ข้อมูลนี้ เขาก็จะรู้ว่าควรต้องทำอะไร ทุกคนโฟกัสกับงานของตัวเองและไม่เอาเปรียบกัน” ปิยะพลเล่า

เขาบอกว่า โจทย์ในวันนี้กับวันแรกยังเหมือนเดิม คืออยากยิ่งใหญ่ในธุรกิจ แต่วิธีการเปลี่ยนไป โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับคน 

สิ่งที่ทำให้ธุรกิจบริการแตกต่าง คือวิธีการดูแล ปิยะพลเชื่อว่าหากมีการสื่อสารพูดคุย ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ยุติธรรม ให้สิ่งที่พวกเขาควรได้รับ ก็ทำให้พวกเขามีความสุขขึ้น สังเกตจากเดิมที่มีหลายพรรคหลายฝ่าย การจัดการที่เป็นระบบจะช่วยสลายก๊กที่มี

ทายาทรุ่นสามร้านซักแห้งแรกของไทย ซินไฉฮั้ว ผู้ต่อยอดธุรกิจ 85 ปีจนล้ำกว่าการทำความสะอาด

คำอาม่าสอน: อย่าทำลายความเชื่อมั่นของคนที่ทำงานให้เรา

สิ่งที่ทำให้ซินไฉฮั้วแตกต่างจากธุรกิจซักแห้งเจ้าอื่นและอยู่ยืนยาวมากว่า 85 ปี คือความเชื่อมั่นในการบริการ

“ถามว่าวันนี้ถ้ามีใครลุกขึ้นมาทำธุรกิจซักผ้าจะยากไหม ไม่ยากหรอก คุณมีเครื่องซักผ้าคุณก็ทำธุรกิจนี้ได้แล้ว แต่สิ่งที่เรามีคือความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ การบริหารงานอย่างตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์กับทุกฝ่าย วิธีทำงานที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นอาม่าคือ ห้ามจ่ายเงินเดือนลูกน้องผิดเวลาเด็ดขาด เพราะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นของคนทำงาน ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร อย่าทำลายความเชื่อมั่นของคนที่ทำงานให้เรา 

“ไม่ต้องพูดเรื่องซื้อใจเลยนะ ไม่ว่านายจะดีแค่ไหน แต่ถ้าคุณจ่ายเงินเดือนไม่ตรงนี่วงแตกแน่” ปิยะพลเล่าถึงแนวคิดที่สืบทอดกันมาในครอบครัว ก่อนจะทิ้งท้ายว่า การรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่อุปสรรคก็มีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้หนี

“เป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจ การถ่ายทอดองค์ความรู้ อำนาจการบริหารและการตัดสินใจ ตามด้วยการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรม เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไป ถ้าปรับไม่ทันก็ต้องออกจากธุรกิจนี้ไป สำหรับเราที่ทำธุรกิจบริการ ก็คือการให้บริการซ้ำๆ Core Business เหมือนเดิม เพียงปรับให้ทันยุคสมัย เหมาะกับเทคโนโลยีมากขึ้นแค่นั้น”

ทายาทรุ่นสามร้านซักแห้งแรกของไทย ซินไฉฮั้ว ผู้ต่อยอดธุรกิจ 85 ปีจนล้ำกว่าการทำความสะอาด

ซินไฉฮั้ว (พ.ศ. 2477)

ซินไฉฮั้วเริ่มต้นขึ้นจากประสบการณ์ของคุณกิจจา กัญจนาภรณ์ ผู้ก่อตั้ง จากการฝึกงานในร้านซักแห้งไฉฮั้วที่เซี่ยงไฮ้ ช่วงที่เดินทางไปเยี่ยมญาติที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนกลับมาเปิดร้านซักแห้งร้านแรกในประเทศไทยชื่อ ซินไฉฮั้ว สาขาแรกใกล้วัดเล่งเน่ยยี่ และขยายร้านมาที่สาขาสี่พระยา จากนั้นเปิดโรงงานและสำนักงานย่านพัฒนาการ เพื่อรองรับลูกค้าทั่วไปและกลุ่มองค์กรซึ่งเติบโตต่อเนื่อง ถือเป็นกิจการแรกที่นำเข้าเครื่องซักแห้งจากเยอรมนีเครื่องแรกในไทยเมื่อ 40 ปีก่อน

นับเป็นเวลา 85 ปี ที่ซินไฉฮั้วให้บริการซักแห้งและซักอบรีดครบวงจร ไม่เพียงมีลูกค้าทั่วไปจากหน้าร้านที่มีมากมายหลายสาขา แต่รวมถึงลูกค้าระดับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงแรม สายการบิน การรถไฟ ปัจจุบันประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซักล้างทำความสะอาดผ้าและเครื่องใช้ ไปจนถึงการรับดูแลบริหารอาคาร ภายใต้ความเชี่ยวชาญและมาตรฐานที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล