26 กุมภาพันธ์ 2021
4 K

“รวบรวมมาให้แล้ว น้อน…สัตว์มหัศจรรย์ในพื้นถิ่นอีสาน”

ถ้าจักรวาล Harry Potter มี Fantastic Beasts and Where to Find Them หรือ สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ เป็นสารานุกรมให้ข้อมูลบรรดาสัตว์ประหลาดนานาชนิดที่แวะเวียนมาปรากฏกายในโลกเวทมนตร์

อีสานบ้านเฮาก็มีเพจ ‘สิม’ พาไปสัมผัสความตะมุตะมิของบรรดาน้อนๆ จากป่าหิมพานต์ซึ่งเร้นกายอยู่ตามโบสถ์ต่างๆ อย่างที่เป็นกระแส #หิมพานต์มาร์ชเมลโลว ปลายปีก่อน

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว

เพจสิม เล่าเรื่องราวของโบสถ์แบบอีสานที่มีความงดงามที่เรียบง่ายแต่ไม่น่าเบื่อของงานศิลปะในวัดตามฉบับลูกข้าวเหนียว รวมทั้งข่าวสารความเป็นไปของสิมโบราณ จะเก่า ใหม่ ใหญ่ เล็ก เบน-พุทธิวัฒน์ โชติวุฒิวัฒน์ สถาปนิกหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังเพจ ก็ไปไล่ล่าเก็บภาพมาให้ลูกเพจได้ชมอยู่เสมอๆ ไม่ต้องเดินทางไกลก็เที่ยววัดทั่วภูมิภาคผ่านเพจนี้ได้ชิลล์ๆ

“แต่นี่ไม่ใช่เพจพาเที่ยววัดนะครับ” เจ้าตัวยืนกรานอย่างหนักแน่น

แล้วเพจนี้นำเสนออะไร ตัวตน แรงบันดาลใจ และประสบการณ์การตามล่าหาขุมทรัพย์ศิลปะท้องถิ่นอันแสนสนุกเป็นอย่างไร คุณผู้อ่านที่รักไม่ต้องตีตั๋วรถไฟเพื่อไปโคราช แค่ปูเสื่อนั่งลง จกข้าวเหนียวจิ้มปลาร้า แล้วท่องสิมทั่วอีสานผ่านเรื่องราวแสนสนุกนี้ไปพร้อมกันได้เลย

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว

สอย สอย พี่น้องฟังสอย สิมน้อยๆ สิมใหญ่สิมงาม

สาวขึ้นฮามเพิ่นบ่ฮู้จักข้อ กะเลยส่อขอเอามาโผด

เพจเพิ่นกะโปรดให้เอามาสู่ ซื่อเพจเด้อทางข่อยนี่บอกให้ฮู้

จื่อจำไว้ว่าสิม อันนี้กะว่าสอย

01

แฮงกาย แฮงใจ

“ผมไม่ได้พาเที่ยววัดนะ”

แอดมินหนุ่มยืนยันครั้งที่ 2 จาก 10 กว่าครั้งตลอดการสนทนา

แล้วคุณนำเสนออะไร-เราถามคำถามซึ่งชายปลายสายคงตอบบ่อยสุดออกไป

“หลักๆ คือ ‘สิม’ แน่นอนว่าแตกต่างไปจากความคุ้นชินของคนภาคอื่น จึงพยายามชี้ให้เห็นจุดน่ารักเล็กๆ น้อยๆ และประเด็นทางวิชาการซึ่งซ่อนอยู่”

(ถ้านึกภาพ ‘โบสถ์แบบอีสาน’ อย่างที่ว่าไม่ออก ลองดูภาพข้างล่างนี้สิ)

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว

จริงอยู่ว่าสิมอีสานส่วนมากจิ๋วกว่าโบสถ์ภาคกลางมาก แต่รายละเอียดเชิงช่างมีเยอะไม่แพ้กันเลย ภาพถ่ายแม้เพียงมุมแคบๆ มุมเดียวจึงบอกเล่าเรื่องราวได้มหาศาล เพียงแค่ลองจินตนาการเล่นๆ ว่าวัดหนึ่งๆ มีกี่ประเด็นซ่อนอยู่ แล้วแกล้งคูณจำนวนวัดเข้าไป สมองเราก็ขึ้นค่า Error ทันที

แต่นั่นคือเรา ไม่ใช่ชายคู่สนทนา

คราวเป็นนักเรียนสถาปัตยกรรม เบนบังเอิญเดินตกหลุมพรางรักของวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเข้าโดยไม่รู้ตัว และต้องมนต์ศิลปะอีสานบ้านเกิดของเขาเข้าอย่างจัง จากนั้นจึงเริ่มศึกษาอย่างลงลึกจนเชี่ยวชาญ และออกตะเวนถ่ายภาพสิมเอาไว้เป็นคลังแสงส่วนตัว จากนั้นจึงเริ่มเอามาแบ่งปันให้พี่น้องหมู่เฮาชาวเฟซบุ๊กได้ชม

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
ภาพจิตรกรรมเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย จากวัดจักรวาลภูมิพินิจ (วัดหนองหมื่นถ่าน) จ.ร้อยเอ็ด
สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
ภาพจิตรกรรมการละเล่นหัวล้านชนกันที่วัดโพธิ์ชัยบ้านโคกใหญ่ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

“ภาพถ่ายของเพจช่วงแรก ส่วนใหญ่เล่าเรื่องทั่วไปในวัด แต่พอจับความสนใจของตัวเองได้เลยเน้นงานศิลปะท้องถิ่นอีสาน ซึ่งแฝงอยู่ตามจุดต่างๆ ทั้งภาพวาด ปูนปั้น และงานสถาปัตยกรรม อย่างจิตรกรรมเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย หรือภาพการละเล่นหัวล้านชนกัน แบบนี้จะชอบเป็นพิเศษเพราะมีแค่ในบ้านเรา”

ภูมิภาคพี่ใหญ่อันดับหนึ่งของไทยเป็นเสมือนครกซึ่งรับเอาวัตถุดิบทางศิลปะมาจากหลากหลายแหล่ง ปรุงออกมาเป็นส้มตำถาดยักษ์ยักษ์มีรูปรสเป็นเอกลักษณ์ ตำบักหุ่งครกนี้นี่เองคอยเติมไฟแห่งความกระหายใคร่รู้แก่เบน ให้มีแรงทำเพจมาได้กว่า 6 ปี

“แต่อีสานน่าน้อยใจเพราะไม่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครอง คนอีสานจึงได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากหลากหลายแหล่ง ทำให้เราได้เห็นความกล้าบ้าบิ่นของช่าง นี่คือความสนุกอย่างหนึ่งของการออกไปเที่ยวดูสิมเยอะๆ” เจ้าของเพจบอกความนัยอีกเหตุผลที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาทำเพจ

เมื่อเราถามว่าไปมาแล้วทั้งหมดกี่วัด ไม่นานเขาก็ส่งคำตอบมาเป็นภาพแผนที่พร้อมจุดปักหมุดข้างล่างนี้ และบอกว่า “มาช่วยกันนับสิครับ” อย่างติดตลก

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว

02

เฮ็ดจังใด๋

ปีก่อนแอดมินหนุ่มทำชาเลนจ์ตัวเองด้วยการลงภาพสิมตอน 5 โมงเย็นของทุกวัน

บวกกับอาชีพสถาปนิกซึ่งต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เพียงแค่จินตนาการว่าต้องยอมเสียเวลางาน สละเวลาพักผ่อนและทุนทรัพย์ส่วนตัว ก็เหนื่อยหมดแฮงไปล่วงหน้าแล้ว

ไหนจะมีเรื่องเหนือการควบคุม บางวัดเจ้าอาวาสก็ไม่เปิดโบสถ์ให้เข้าไปเก็บข้อมูล เพราะมีของมีค่าเก่าเก็บ บางแห่งกรรมการวัดไม่มีกุญแจโบสถ์ หนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังเพจศิลปะอีสานจึงต้องจัดรูทเก็บภาพอย่างรัดกุมสุดๆ

“ต้องทำลิสต์เรียงลำดับก่อน-หลัง แต่ละวัดมีอะไรเด่นต้องไปดู รีเสิร์ชถึงแม้กระทั่งว่าสิมหลังไหนหันหน้าไปทิศอะไร เพราะอย่างตอนเช้าๆ ควรเลือกไปโบสถ์หันหน้าเข้าทิศตะวันออก ช่วงกลางวันแสงแข็งหน่อย ควรไปเก็บภาพงานจิตรกรรมหรือประติมากรรมในร่ม ทำข้อมูลล่วงหน้าว่าแต่ละแห่งมีอะไรเด่นต้องไปดู แต่ความสำคัญลำดับแรกคือที่ที่จะโดนรื้อหรือบูรณะ

“แต่ผมไม่ชอบแบบนี้นะ” เขาเบรกความคิดเราจนหน้าแทบคว่ำ

นี่น่าจะเป็นวิธีการที่คุ้มค่าคุ้มเวลาสุดไม่ใช่หรอ

“มันดูใจร้ายมากไป เหมือนเราไปเพื่อข้อมูลอย่างเดียว ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนตรงนั้นเลย แต่ก็อยากให้เข้าใจว่ามีเวลาน้อย หลายคนเข้าใจว่าผมอยู่อีสาน แต่จริงๆ ผมทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ สละเวลาวันหยุดมาเก็บข้อมูล ก็ต้องคุ้มค่าสำหรับพนักงานออฟฟิศอย่างเราด้วย” เบนกล่าวด้วยน้ำเสียงถ้อยที

03

หิมพานต์มาร์ชเมลโลว

วิธีการอันแสนทรหดนี้ แค่ได้ฟังในฐานะลูกเพจผู้เฝ้าติดตามรูปสิมหายากจากหน้าจอโทรศัพท์ก็คิดเหนื่อยหน่ายแทนแล้ว เราทึ่งมากที่มันบั่นทอนกำลังใจของเบนไม่ได้เลยแม้แต่น้อย

“ผมมุ่งมั่นอยากนำเสนอสิมให้คนได้เห็น เพื่อสร้างความเข้าใจว่าศิลปะแบบไม่คุ้นเคยก็มีความงามของตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นคืออยากเชียร์ให้คนออกไปดูของจริง เพราะพอมีคนมาเยี่ยมชม ชาวบ้านจะเห็นว่าสิมเหล่านี้มีคุณค่า เกิดกะจิตกะใจอยากอนุรักษ์มากกว่าเปลี่ยนแปลงหรือทำลาย”

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว

หากเปรียบเป็นขบวนรถไฟ ความสนใจก็เป็นเหมือนหัวจักรแล่นลากขบวนรถแห่งการเห็นค่าและการอนุรักษ์มาด้วยเสมอ เช่นเดียวกับปรากฏการณ์หิมพานต์มาร์ชเมลโลว เมื่อคนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าน่ารักน่าเอ็นดู ขับรถออกจากบ้านไปตามล่าหาเซลฟี่ลงโซเชียล จึงเกิดความคิดอยากรักษาไว้

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว

“เรานำเสนอมาตลอดเพราะเป็นความสนใจของเรา งานประติมากรรมน้องๆ เหล่านั้นถูกลดทอนรายละเอียดลง พญานาคก็ปั้นเหมือนงู ใส่ตาเข้าไปสองข้าง จบ ไม่เหมือนนาคในกรุงเทพฯ ทั้งเกล็ดทั้งหงอน ใส่เครื่องทรงกระจกสีสุดเนี้ยบ เพราะอีสานห่างไกล ความเข้มงวดเชิงขนบจึงลดลงไปมาก แถมช่างท้องถิ่นก็ไม่ได้มีทักษะแพรวพราวมากเท่าช่างหลวง แต่เรื่องศรัทธาไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเลย”

แอดมินเพจศิลปะเล่าสรุปปรากฏการณ์นี้สั้นๆ ทว่าละเอียดลึกซึ้งสมกับตำแหน่งเพจศิลปะอันดับหนึ่งในใจเรา

“เรานำเสนอมาตั้งหลายปีแล้ว แต่ไม่มีคนสนใจ คงถูกที่ถูกเวลาขึ้นมา แล้วพอมีคนเอาไปทำมีมก็เริ่มเกิดกระแส ตั้งคำถามว่านี่ตัวอะไร รูปร่างน่ารักมุ้งมิ้งดูเป็นมิตร คล้ายๆ คุมะมงหรือริลัคคุมะ”

แม้เนื้อความจะเจือด้วยอารมณ์น้อยใจ แต่เราสัมผัสความปลาบปลื้มใจของคู่สนทนาผ่านน้ำเสียงได้อย่างชัดเจน

และเราก็ดีใจไม่แพ้เขาเหมือนกัน

04

ศูนย์รับ #saveสิม

‘ภาพถ่ายสิมเพื่อการอนุรักษ์ สืบ สาน สิม’

คือคำอธิบายเป้าหมายการทำเพจอันแสนกระชับได้ใจความ แต่แอดมินหนุ่มวัยฉกรรจ์กลับมักก้าวช้าไปกว่าญาติโยมผู้กระหายบุญเสมอ

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
ภาพจำลองการบูรณะวัดมงคลนิมิตร ต.หายโศก อ.บ้านผือ อุดรธานี

“เราห้ามศรัทธาไม่ได้ แต่อยากให้ลองมองคุณค่าเชิงช่างของสิมบ้าง บางครั้งญาติโยมร่วมกันบูรณะ แต่ดันทำผิดวิธี ไม่ได้โทษเขานะเพราะเข้าใจว่าเจตนาดี เพียงแค่เสียดาย เราทำได้แค่ช่วยเผยแพร่ความรู้ต่อไปแบบเป็นกลาง ไม่ชี้นำ เช่น เอาภาพมาลงแล้วบอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะดีไหมนะ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะดีไหมนะ ตั้งคำถามชวนให้ขบคิดหาคำตอบเอง

“อย่างที่มุกดาหาร เอาสีทองไปทาล้อมรอบภาพงานจิตรกรรมไว้ เพราะเชื่อว่าสีทองเป็นสีมงคลแห่งความดีงาม แต่ความจริงไม่ใช่ สีเคมีสมัยใหม่ไม่เหมือนแบบที่เขาใช้วาด สุดท้ายภาพจิตรกรรมเสียหาย”

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
วัดลัฏฐิกวัน บ้านชะโนด ต.ชะโนด อ.หว้านใหญ่ มุกดาหาร

เบนจึงลดทอนรายละเอียดโพสต์ลงเหลือเพียงภาพ ชื่อวัด และพิกัดบนแผนที่ ใจหนึ่งก็เพราะอยากให้ผู้ชมได้เล่นสนุกค้นคว้าข้อมูลดูเอง แต่อีกใจก็เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นเปราะบาง

“มีหลายครั้งผมช่วยเซฟไว้ทัน” คู่สนทนาของเราเปลี่ยนโทน ส่งแววแห่งความภาคภูมิใจออกมาผ่านโทรศัพท์

“พออยู่ในความสนใจของคนหมู่มาก เขาก็ไม่กล้าเปลี่ยน ช่วยไว้ได้หลายที่จนตอนนี้ถ้าหมู่บ้านไหนมีสิมเก่าแล้วจะถูกรื้อ จะถูกทาสี เขาก็กระซิบบอกให้เราช่วยแชร์

“บางวัดพระท่านก็เข้ามาปรึกษาว่าจะดูแลอย่างไร เพราะขึ้นทะเบียนกับกรมศิลป์ไปแล้วเลยทำอะไรไม่ได้ ผมก็แนะนำให้เปิดโบสถ์เพื่อระบายอากาศบ้าง ค้างคาวจะได้ไม่มาอยู่ หรือเป็นไปได้ก็สร้างหลังคามาคลุมไว้ก่อน อย่างน้อยได้ช่วยกันแดดกันฝน”

นี่น่าจะเป็นการเดินทางที่เบนเดินมาไกลกว่าจุดหมายเดิมมาก จากการออกไล่ล่าสิมเพื่อสะสมภาพ สู่การเผยแพร่เพื่อการอนุรักษ์ และการเป็นศูนย์รับ #saveสิม ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์สิมทั่วอีสาน

05

มาจากกรมศิลป์หรือเปล่า

“มาจากกรมศิลป์หรือเปล่า”

เป็นคำถามยอดฮิตซึ่งบรรดาพ่อแม่พี่น้องสูผู้สูคนที่ได้เห็นเบนลงพื้นที่ไปตะลอนเก็บภาพถามอยู่บ่อยๆ ปัญหาคือเมื่อชาวบ้านขึ้นทะเบียนสิมเป็นโบราณสถานแล้ว พวกเขาไม่สามารถดัดแปลงแก้ไขอะไรได้เลย ทำได้แค่รอให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะเพียงเท่านั้น

รอแล้วรอเล่า ก็ยังไม่ถึงคิวเหลียวแลจากหลวง

สถาปนิกหนุ่มนักถ่ายภาพเปิดใจรับฟังปัญหานี้มาตลอด จนแทบจะเรียกได้ว่ามีคำร้องเรียนติดกระเป๋าเป็นของแถมมากับภาพถ่ายทุกครั้ง

“ผมพยายามบอกว่าให้อดทนรออีกหน่อย เพราะรู้ว่าไม่ใช่ราชการไม่ทำอะไรเลย แต่งบประมาณและจำนวนคนทำงานตรงนี้ไม่สัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่และปริมาณโบราณสถานอย่างมาก ทำได้แค่ให้เทคนิคในการดูแลเบื้องต้นแก่พวกเขาไป”

แม้กระโดดเข้ามาโลกออนไลน์ แอดมินหนุ่มก็หนีไม่พ้นประเด็นดราม่า งบประมาณเดินทางช้าว่าศรัทธาบุญ พอซ่อมกันเองก็มาแจ้งจับ หรือขึ้นทะเบียนไว้ก็ไม่เห็นมาซ่อม ทำให้เขาต้องรับบท ‘ทูตกรมศิลป์จำเป็น’ คอยช่วยสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องกับชาวเน็ต จนกลายเป็นศูนย์ร้องเรียนหรือศูนย์ประสานงานกลายๆ

หมวกอีกใบนอกเหนือจากการเป็นศูนย์รับ #saveสิม ที่แอดมินเพจสิมจำต้องยอมสวมไปโดยปริยายนี้ เขาเต็มใจทำ เพราะเข้าใจทั้งหลวงทั้งราษฎร์ทุกฝ่ายอย่างถ่องแท้ และเชื่อมั่นว่าการประนีประนอมคือวิธีการอนุรักษ์ให้สิมอยู่กับหมู่เราได้นานที่สุด

“อันไหนทำดีผมก็ช่วยบอกต่อ อย่างมีวัดหนึ่งที่ยโสธร สภาพเละมากจนคิดไม่ออกเลยว่าจะซ่อมยังไง แต่กรมศิลปากรบูรณะออกมาได้ดีมาก บางแห่งเราก็เอาภาพมาทำ Before-After เปรียบเทียบว่าเขาทำงานได้เยี่ยม”

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
หอแจกโบราณ บ.โพนงามเกี้ยงเก่า ต.โพนงาม อ.กุดชุม จ.ยโสธร
บูรณะโดยกรมศิลปากร

06

เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ

“ในอนาคต รูปถ่ายของเราอาจมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์” เจ้าตัวแอบกระซิบความเชื่อลึกๆ ในใจ

“เหมือนสมัยก่อนที่เวลาเจ้านายหรือคนใหญ่คนโตเสียชีวิต ลูกหลานจะพิมพ์หนังสือให้ความรู้แจกในงาน ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงชั้นเยี่ยมให้แก่คนรุ่นหลัง วันหนึ่งเราอยากมีแบบนั้นบ้าง อีกอย่าง ถ่ายมาเก็บไว้ดูคนเดียวจะสนุกอะไร สู้เอามาแชร์กันดีกว่า

“ผมหวังลึกๆ ว่ามันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เช่นบางหมู่บ้านจะทำบุญสร้างโบสถ์ใหม่ พอมาเห็นภาพจากเพจเราแล้วเขาอยากบูรณะของเก่าให้ดี หรือสร้างใหม่เป็นสิมแบบอีสานดั้งเดิม ไม่ทำใหญ่โตเกินใช้งานหรือเลียนแบบโบสถ์ภาคกลาง”

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว
วัดพุทธสีมา บ้านกุดฉิม ต.กุดฉิม อ.ธาตุพนม นครพนม

‘เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ’

ประโยคเด็ดจากภาพยนตร์เรื่องดังแล่นฉับเข้ามาสู่สมองทันทีที่บทสนทนาระหว่างเรากับเขาเดินมาถึงตอนท้ายๆ ใจเราค่อยๆ ฟูขึ้นเรื่อยๆ ตลอดการพูดคุยด้วยเหตุผล 2 ข้อ

ข้อแรกคือ เพราะได้แลกเปลี่ยนกับคนผู้หลงใหลอะไรเหมือนๆ กัน (แถมคุยได้สาระและสนุกถูกคอไม่น้อย)

ข้อสองคือ เพราะสัมผัสได้ถึงความตั้งใจแน่วแน่ของแอดมินหนุ่มคนนี้ได้ชัดเจนตลอดการสัมภาษณ์

ถ้าจะมีใครเป็นตัวอย่างของการสมาทานความเชื่อใดแล้วลงมือทำอย่างแข็งขัน เรามั่นใจว่าคนคนนั้นคือชายคู่สนทนาของเรา

สิม เพจของหนุ่มถาปัตย์ที่เล่าตั้งแต่เรื่องศิลปะในโบสถ์อีสาน จนถึงหิมพานต์มาร์ชเมลโลว

ภาพ : พุทธิวัฒน์ โชติวุฒิวัฒน์

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey