ประเทศไทยของเรามีภูมิประเทศในเขตเส้นศูนย์สูตร ทำให้มีอากาศร้อนชื้น 1 ปี มี 3 ฤดูกาล คือ ร้อน ร้อนมาก และร้อนมากถึงมากที่สุด แต่เอาเถอะ ร้อนกายอย่าร้อนใจ ไปเที่ยวกันให้จิตใจร่มเย็นดีกว่า นึกถึงช่วงเวลาแบบนี้ ลมแม่น้ำโขงพัดเย็นสบาย งั้นเราไปชมสถาปัตยกรรมฝีมือช่างญวนริมแม่น้ำโขงกันเถอะ

ในอดีตชาวเวียดนามเข้ามาอาศัยในบ้านเมืองเราตั้งแต่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จำนวนชาวญวนเพิ่มขึ้นจนเป็นชนกลุ่มน้อยที่สำคัญของประเทศ โดยในช่วง พ.ศ. 2488 – 2489 เกิดการอพยพครั้งใหญ่ เพื่อหนีภัยสงครามจากความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองและลัทธิล่าอาณานิคม 

ด้วยความสามารถเฉพาะตัวในเชิงช่าง ชาวญวนจึงมีบทบาททั้งสร้างบ้านแปงเมืองในยุคต้นรัตนโกสินทร์ และสร้างศาสนสถาน ฉันเริ่มต้นการเดินทางที่จังหวัดอุบลราชธานี

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

จุดหมายแรกคือวัดป่าข่า อ.เขื่องใน ที่นั่นฉันได้พบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับหอธรรมาสน์ฝีมือช่างญวนเก่าแก่ที่สุดในภาคอีสานขณะนี้ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2423 ตัวฐานเป็นงานปูน ส่วนตัวหอธรรมาสน์เป็นไม้ สลักลวดลายมงคลอันประณีตอย่างคติที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน ชาดที่ทาสียังแดงสดใส ราวกับกาลเวลาไม่อาจทำลายความงามนี้ลงได้

หอธรรมาสน์หลังนี้ใช้เวลาสร้างอยู่ 9 เดือนจึงแล้วเสร็จ จากความงามและแปลกในรสนิยมทางศิลปะ ท่านอุปัชฌาวงศ์ เจ้าอาวาสวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ (ในสมัยนั้น) จึงติดต่อว่าจ้างไปสร้างธรรมาสน์สิงห์เทิน

หลังจากนั้นฉันจึงเดินทางสู่จังหวัดมุกดาหาร ณ ริมแม่น้ำโขงใกล้ด่านตรวจคนเข้าเมืองวัดศรีมงคลใต้ เป็นสถานที่ที่ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวลาวต่างมาสักการะพระเจ้าองค์หลวง พระคู่บ้านคู่เมือง

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

วัดแห่งนี้มีจุดสังเกตคือ ตรงซุ้มประตูโขงซึ่งดูคล้ายงานฝีมือแบบไทยผสมจีน ประดับรูปมังกร หรือที่ภาษาเวียดนามเรียกว่า ‘ลอง’ เป็นสัญลักษณ์หมายถึงอำนาจและปัญญา

และมีจารึกไว้ว่าเป็น ‘อนุสรณ์ของชาวเวียดนาม สร้างถวายปี ๒๕๐๓’ เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ. 2502 – 2503 ช่วงที่ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยกับความมั่นคงของชาติ มีการส่งกลับชาวญวนครั้งใหญ่ ชาวเหวี่ยดที่ต้องกลับในครั้งนั้นจึงร่วมกันสร้างอนุสรณ์สถาน เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำให้กับคนในท้องถิ่น อนุสรณ์สถานบางแห่งมีการจารึกเป็นภาษาเวียดนามว่า ‘เหวี่ยด เกี่ยว โห่ย เฮือง” (viet kieu hoi huong) หมายถึง การกลับคืนสู่มาตุภูมิของชาวเหวี่ยด

ถ้าพ่อรู้ว่าดั้นด้นมาถึงนี่เพื่อมาดูแค่ประตูวัดจะว่าเราบ้ายกแก๊งหรือเปล่า อย่ากระนั้นเลย เข้าไปกราบพระให้เป็นสิริมงคลเสียหน่อย บังเอิญบนวิหารกำลังบูรณะ จึงได้เห็นการทำลายน้ำคำแบบยุค 4.0 คือ เอาสติ๊กเกอร์มาติดรองพื้น ก่อนจะเอารักเทียมมาทา แล้วเอาทองคำเปลวมาติดวาดลาย แล้วใช้คัตเตอร์สะกิดออก จะได้ลายน้ำคำคมๆ ในเวลาอันรวดเร็ว

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

จากจังหวัดมุกดาหารใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงก็ถึงอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่นี่มีวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร สถานที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธ 2 ฝั่งโขง ไม่เพียงเสริมสิริมงคลแก่ตัวเอง ยังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ด้วย

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

นับจากพระอุรังคธาตุได้รับการสถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2408 ก็มีการซ่อมแซมต่อเติมกันเรื่อยมา จนกระทั่ง พ.ศ. 2444 มีการซ่อมแซมพระธาตุพนมครั้งใหญ่นำโดยพระครูวิโรจน์ รัตโนบล จากการซ่อมแซมในครั้งนั้นยังปรากฏรอยซ่อมฝีมือช่างญวนฝากเอาไว้ด้วย 

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

วันต่อมา ฉันมุ่งหน้าสู่วัดโอกาสศรีบัวบาน สักการะพระติ้ว-พระเทียม พระพุทธรูปฝาแฝดคู่บ้านคู่เมืองนครพนม โดยมีผลพลอยได้จากการมาวัดนี้ คือการมาชมซุ้มประตูโขงฝีมือองแมด ช่างญวนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนถือได้ว่าเป็นสกุลช่างสกุลหนึ่งเลยทีเดียว 

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

แต่ช่างญวนเขาไม่ได้สร้างสรรค์แต่งานทางพุทธศาสนาเท่านั้น เลาะเลียบริมโขงไปไม่ไกลเป็น วัดนักบุญอันนา หนองแสง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบโกธิคหลังคาทรงแหลม ประดับโรสกลาสด้านข้างตามขนบการสร้าง วันนี้มีพิธีมิสซา แม้ว่าฉันจะไม่ใช่ชาวคริสต์ แต่ก็พยายามสำรวมอย่างที่สุดเพื่อให้เกียรติสถานที่

เมื่อการเดินทางครั้งนี้เป็นทริปเยี่ยมญวน จึงพลาดไม่ได้ที่จะแวะไปเยี่ยมบ้านลุงโฮ บ้านหลังน้อยที่ร่มครึ้มไปด้วยพืชพรรณ ที่แท้แล้วเป็นถึงฐานบัญชาการกู้ชาติจากประเทศเจ้าอาณานิคมทีเดียว 

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

ออกจากนครพนมมุ่งหน้าสู่เมือง 3 ธรรม ก็เมืองสกลนครไงเล่า เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม เจ้ารถคันเล็กพาฉันซอกซอนไปจนถึงบ้านอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ โดยมีหมุดหมายแรกอยู่ที่วัดหนองบัวสร้าง วัดแห่งนี้มี ‘สิม’ (โบสถ์) ฝีมือช่างญวนที่สร้างอย่างคติไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2492 มีลวดลายปูนปั้นนูนต่ำที่น่ารักอย่างเครือเถาของดอกไม้ ดูความซับซ้อนของกลีบน่าจะเป็นดอกโบตั๋น เทวดานางฟ้า และเรื่องราวในพุทธประวัติ

วันนี้โชคดีได้พบช่างที่เคยฝากฝีมือไว้กับสิมหลังนี้ คือพ่อคำมอม ทองเกลี้ยง ปีนี้อายุ 82 ย่าง 83 แล้ว ในตอนที่สร้างสิมหลังนี้พ่อเป็นช่างรุ่นเล็กของทีมงาน มีอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น 

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม
ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

จากอำเภอกุสุมาลย์ ฉันเดินทางต่อไปยังบ้านท่าแร่ ที่แห่งนี้มีคฤหาสน์โบราณเรียกว่าตึกฝรั่งช่างญวน กลุ่มคฤหาสน์นี้ก่อสร้างอย่างสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสที่ช่างชาวญวนเขาถนัด เป็นต้นว่ากรอบโค้งเหนือประตูหน้าต่าง ช่องระเบียงเจาะเป็นทรงรี และลวดลายปูนปั้นเครือเถาองุ่นอ่อนหวานประณีต

มีบ้านหลังหนึ่งค้าขายน้ำปั่นและอาหารตามสั่งยอมเปิดบ้านให้เราเข้าไปชม ที่บ้านหลังนี้มีกรอบโค้งเหนือหน้าต่างประดับลายปูนปั้นนูนต่ำแบบอิทธิพลศิลปะจากจีนและยุโรป อย่างกวาง เครือเถา ริบบิ้น เข้ากันอย่างลงตัว เมื่อขึ้นไปชมชั้นบนจึงเห็นว่าส่วนล่างของบ้านก่อด้วยศิลาแลง ไม่รู้เขาไปเอามาจากไหน พื้นไม้กระดานผ่านการขัดถูและใช้งานจนมันวาว ชั้นบนตกแต่งอย่างเรียบง่าย บนฝาบ้านประดับรูปชาวเหวี่ยดที่น่าจะเป็นคนในครอบครัวของเจ้าบ้าน

หลังขอบคุณเจ้าบ้านใจอารีและอุดหนุนของกินเล่นเล็กน้อย ฉันก็มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองสกลนคร

มาถึงแล้วก็ต้องสักการะรอยประชุมพระบาทของโคตมพุทธเจ้าและอดีตพระพุทธเจ้า ที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร โดยไม่ลืมแวะไปดูสิมญวนหลังน้อยด้านข้างวิหารด้วย

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

ปกติฉันมักจะเจอสิมทึบเสียส่วนใหญ่ แต่สิมหลังนี้เป็นสิมกึ่งโถงเปิดโล่งเห็นภายใน หน้าบันมีฮูปแต้ม (จิตรกรรม) เทวดานางฟ้า ด้านในวาดเครือเถาเป็นรัศมีรอบเศียรพระพุทธรูปสวยหวานทีเดียว พิจารณารสทางศิลปะอยู่นาน มารู้สึกตัวอีกที ความมืดโรยตัวคลุมท้องฟ้าจนมืดมิดแล้ว ถึงเวลาเข้าที่พักเสียที

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

วันต่อมา ฉันเดินทางสู่วัดศรีสระเกษ ซึ่งประดับด้วยกระจก แต่ไม่ใช่กระจกหุงหรือกระจกเกรียบหรอกนะ เป็นกระจกจากตลับแป้งและกระจกที่มีด้ามมาประดับทั้งอัน เก๋ไก๋แปลกตาทีเดียว วัดโบราณแห่งนี้ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร หลวงพ่อท่านเห็นคนมามุงสิมเก่ากันมากมาย จึงตกใจรีบฉวยไม้เท้าวิ่งมาจนจีวรปลิว

“นึกว่าหน่วยงานสิมารื้อสิมเก่า” ท่านว่า

“ปัดโธ่! หลวงพ่อคะ สมัยนี้เขาไม่รื้อหรอกมีแต่จะอนุรักษ์ไว้”

ที่ฐานของสิมน้อยนี้ก็มีศิลาแลงเป็นฐานอีก ไปเอามาจากไหนกันมากมายนะ ฉันหอบความสงสัยนี้ไปยังวัดสะพานคำ

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

สิมญวนหลังนี้มีบานประตูแกะสลักลายประแจ อย่างที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน ส่วนนาคที่อยู่ด้านหน้านั้นลดทอนความฟุ้งเฟ้อลงจนดูเรียบง่ายแต่โมเดิร์นอยู่ในที ส่วนฐานก็ก่อจากศิลาแลง ที่แท้ก็มีแหล่งหินตัดอยู่ที่ดอนเชียงบานนี่เอง เมื่อความสงสัยยุติ ฉันจึงมุ่งหน้าสู่วัดโคกนาดี

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

สิมของวัดประจำหมู่บ้านหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 อีก 10 ปีต่อมาจึงได้ต่อเติมมุขยื่นออกมา แม้ไม่ปรากฏชื่อของช่างผู้สร้าง แต่ก็แสดงลักษณะของสิมญวนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีฮูปแต้มประดับสิมที่ภายนอกด้วย ความน่าสนใจคือตรงหน้าบันวาดเป็นรูปพานแว่นฟ้า เพื่อแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองในเรื่องรัฐนิยม สื่อถึงความเท่าเทียมตามระบอบประชาธิปไตย ก่อนออกจากเขตจังหวัดสกลนคร ฉันยังแวะชมหอแจก (ศาลาการเปรียญ) แบบงานสร้างสรรค์ช่างญวนอีก 2 – 3 แห่ง

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

เนื่องจากครั้งนี้ฉันขับรถเป็นวงกลม ขากลับจึงผ่านจังหวัดมุกดาหารอีกครั้ง เมื่อถึงอำเภอหว้านใหญ่ ก็อดใจไม่ได้ที่จะหักพวงมาลัยเลี้ยวไปทางตำบลชะโนด เพื่อแวะที่วัดลัฏฐิกวันสักหน่อย ไปชมความสร้างสรรค์ในการสร้างฉากมารผจญ ซึ่งแสดงภาพพวกหมู่มารถูกน้ำจากมวยผมพระแม่ธรณีท่วมไปอย่างน่าสนใจ

ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม
ตามหาตึกเก่าทั่วอีสานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ช่างอพยพจากเวียดนาม

ช่างปั้นหุ่นมารแค่ครึ่งตัวและใช้กระเบื้องสีฟ้าแทนน้ำ ที่วัดนี้ยังมีสิมโถงอีกหลัง มีคันทวย (ค้ำยัน) ปีกอย่างสวยงามมีเสน่ห์ ภายในสิมมีฮูปแต้มทศชาติ น่าเสียดายที่ถูกลัทธินิยมสีทองอันฉาบฉวยทำลายเสียพินาศ

ระหว่างทางกลับบ้าน ฉันมีความคิดฟุ้งอยู่ในหัวอยู่หลายเรื่อง แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือแผนการสำหรับทริปหน้า… ใครจะไปกับฉันบ้าง

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

นัทธ์หทัย วนาเฉลิม

จบการศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักเขียนอิสระ นิยมศิลปะและวัฒนธรรมพื้นถิ่น