ถ้าโต๊ะโตะจังเป็นเด็กหญิงข้างหน้าต่าง ฉันก็เป็นเด็กหญิงข้างตู้กระจกร้านเครื่องประดับ

เพราะตั้งแต่จำความได้ การเข้าห้างไปเกาะตู้กระจกดูประกายระยับจากอัญมณีที่ล้อเล่นกับแสงไฟก็เป็นหนึ่งในความตื่นเต้นของฉันในวันที่เป็นเด็กน้อย

การมาเยือนร้านพลอยต้นตำรับอย่าง ‘ร้านเพชรพลอยเอกมณี’ ถึงถิ่นวังบูรพา จึงทำให้ใจฉันเต้นไม่เป็นส่ำ เพราะนอกจากได้เห็นเครื่องประดับพลอยโดยไม่มีกระจกกั้น ยังมีโอกาสฟังเรื่องราวเบื้องหลังการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจร้านพลอยถึง 3 รุ่น ขยับจากการเป็นร้านค้าพลอยและเครื่องประดับธรรมดาในรุ่นแรก สู่ชิ้นงานประดับพลอยหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่จิลเวลรี่ กระเป๋าถือ ไปถึงโคมไฟระย้า ที่จับตลาดไฮเอนด์ในรุ่นที่ 2 มาจนถึงรุ่นที่ 3 ที่นำเอาความงามของพลอยที่สะสมมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ มาผนวกกับดีไซน์เรียบหรูที่ดูร่วมสมัย 

จนกลายเป็นร้านพลอยที่มีสินค้าตอบรับความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกช่วงวัย และทุกรสนิยม

เรื่องนี้ถ้าจะเล่าอย่างเรียบง่าย ต้องย้อนกลับไปในวันก่อตั้งร้านเพชรพลอยเอกมณีเมื่อ 65 ปีก่อน

๒๔๙๘

ย่งคิม แซ่ตั้ง คือหนึ่งในชาวจีนอพยพที่ขึ้นเรือมาเทียบท่าที่สยามประเทศ วันนั้นเขาอยู่ในช่วงขวบปีที่สิบกว่า และเริ่มต้นอาชีพแรกของตัวเองในแผ่นดินใหม่เป็นลูกจ้างร้านเพชร ย่านหัวเม็ด ถนนเยาวราช

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในวงการค้าเพชรพลอยได้ 10 ปี ย่งคิมก็ตัดสินใจเริ่มต้นกิจการค้าพลอยเป็นของตัวเองภายใต้ชื่อ ร้านเพชรพลอยเอกมณี เมื่อพุทธศักราช 2498 โดยมีหน้าร้านแห่งแรกอยู่บริเวณแยกสี่กั๊กพระยาศรี หรือถนนบ้านหม้อ ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านพลอยของกรุงเทพฯ ในเวลานั้น

เรียกได้ว่า ใครอยากซื้อหาพลอยน้ำดี เครื่องประดับชั้นเยี่ยม ต้องมุ่งหน้ามาที่ย่านนี้ ถนนสายนี้จึงคึกคักอยู่ตลอดเวลา ร้านเพชรพลอยเอกมณีเองก็มีช่วงเวลาที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู ผู้คนแวะเวียนมาทั้งซื้อและขายพลอยกับย่งคิมชนิดหัวกระไดไม่เคยแห้ง

ย่งคิมมีบุตรธิดารวม 7 คน แต่มีเพียง 2 คนที่ใฝ่ใจจะรับช่วงต่อธุรกิจพลอย นั่นคือ วิชัย ตรีวิชาพรรณ กับพี่สาวที่แยกออกไปเปิดร้านสาขา

Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ

นั่นทำให้เหลือเพียงวิชัย ในฐานะทายาทรุ่น 2 ที่มาเล่าขานตำนานร้านพลอยแห่งนี้ให้ฉันฟัง

“ช่วงนั้นเศรษฐกิจดี ทำอะไรก็ง่าย มีคนมาขายพลอยที่หน้าร้านทุกวัน เป็นพลอยพม่าบ้าง ไม่ก็มาจากเหมืองในไทยที่บ่อพลอย (กาญจนบุรี) หรือบ่อไร่ (จันทบุรี)” วิชัยเริ่มต้นเล่า เมื่อฉันถามว่าธุรกิจร้านพลอยยุคแรกเริ่มหน้าตาเป็นอย่างไร

“สมัยนั้นเรารับซื้อพลอยมาให้ช่างประกอบเข้ากับตัวเรือน เป็นสร้อยบ้าง แหวนบ้าง สร้อยพม่านี่ทำเยอะเลย แล้วก็มีคนมารับของจากเราไปขายทั่วประเทศ” วิชัยว่า “งานที่เราขายเป็นดีไซน์สมัยนิยม เช่นล้อมพลอยเยอะๆ ใช้พลอยนพเก้า มันเทอะทะหน่อย แต่ลูกค้าชอบ

“ผมได้ซึมซับทุกขั้นตอนที่เกิดขึ้นในร้าน การเลือกซื้อพลอย ทั้งจากคนที่เอามาขายหน้าร้าน และไปเลือกเองถึงตลาดพลอยบ่อไร่ การทำงานผลิตกับช่าง ไปจนถึงการขาย รวมถึงได้ไปเรียนหลักสูตรเฉพาะทาง Gemological Institute of America (GIA) เพราะผมคิดว่าจะเอาจริงเอาจังด้านนี้” 

Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ

เล่าไปพลาง วิชัยก็ผายมือให้ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน แพม-พรพนิต และ แพทตี้-ณัชชา ตรีวิชาพรรณ ไปยกเอาผลงานจิวเวลรี่ที่ทำมาตั้งแต่รุ่นอากงย่งคิมออกมาอวด ซึ่งฉันยินดีจะชมเป็นอย่างยิ่ง

๒๕๓๔

การเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากรุ่นของย่งคิมสู่มือวิชัยเกิดขึ้นในวันที่ฝนฟ้าทำท่าไม่เป็นใจ แต่เขาเอาตัวรอดมาได้อย่างสวยงามเพราะเข้าใจจุดแข็งของตัวเองดี

“คนทำอาชีพค้าพลอยทุกคนต้องเป็นนักสะสมพลอยด้วย เพราะไม่ใช่ว่าคิดทำอะไรแล้วจะทำได้เลย มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีวัตถุดิบอะไรอยู่ในมือ

“ในวันที่อากงย่งคิมกำลังจะเสีย เมื่อราวๆ พ.ศ. 2534 – 2535 นายหน้าที่เคยมารับจิวเวลรี่พลอยจากเราไปขายต่อเริ่มหันไปขึ้นตัวเรือนกันเอง ทำให้ลูกค้าน้อยลงไปบ้าง และมาชะลอลงอีกช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 แม้ยังไม่ถึงขั้นลำบาก แต่ผมก็รู้ว่าต้องปรับตัวแล้ว

“ผมคิดว่า อยากทำอะไรที่คนอื่นทำไม่ได้ จากสิ่งที่เรามีแต่คนอื่นไม่มี นั่นคือพลอยที่ร้านเราสะสมมาตั้งแต่รุ่นอากง ทั้งปริมาณ ขนาด ความหลากหลาย สามารถทำชิ้นงานขนาดใหญ่ ต่างจากที่ขายกันเกลื่อนในตลาดได้” วิชัยเผยเคล็ดลับในการพาร้านเพชรพลอยเอกมณีผ่านช่วงวิกฤต

Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ

ด้วยวิธีที่คิดที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ผลงานทั้งจิวเวลรี่และสินค้าอื่นๆ ของร้านเพชรพลอยเอกมณีภายใต้ความดูแลของวิชัยนั้นโดดเด่น เมื่อเทียบกับร้านอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาดีไซน์ผ่านนิตยสารต่างประเทศ นำมาปรับให้เป็นแบบของตัวเอง

เมื่อฉันตั้งใจมองสร้อยแหวนในถาดจิวเวลรี่ตรงหน้า จึงได้เห็นว่ามีอิทธิพลของสไตล์อาร์ตเดโค ซึ่งแหวกแนวออกไปสไตล์สมัยนิยมในช่วงเวลาของเขาอย่างเห็นได้ชัด

Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ

“อย่างแชนเดอร์เลียนั่น” วิชัยเล่าต่อพร้อมชี้นิ้วไปที่โคมไฟระย้าที่แขวนอยู่ในห้องทำงานอีกฟากหนึ่ง

“ผมไม่รู้หรอกว่าโคมไฟที่อื่นเขาทำอย่างไร แต่ผมคิดขึ้นจากพื้นฐานการทำจิลเวลรี่ ให้ช่างประกอบขึ้นจากพลอยเป็นแสนเม็ด ใช้เวลาทำเป็นสิบปี” 

Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ

กระจ่างแจ้งแจ่มจริง ไม่ใช่ใครก็ทำได้ดังที่วิชัยว่า สมองของฉันถึงบางอ้อขึ้นมาทั้งที่กายละเอียดนั่งอยู่วังบูรพา นอกจากคลังพลอยที่สะสมมาแล้ว การเลือกทำของชิ้นใหญ่ มูลค่ามหาศาล ในวันที่สภาพเศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีนั้น ต้องใช้พลังและความกล้ามากแค่ไหนกัน… 

“ทำของใหญ่ขนาดนี้ มีใครค้านบ้างไหมคะ” ฉันโพล่งถามออกไป

“มีสิ พี่น้องค้านกันหมดว่าทำมาจะขายใคร” เขาตอบกลั้วหัวเราะ

มากกว่าเป็นนักสะสมและนักธุรกิจ ฉันเชื่อว่าลึกๆ แล้ววิชัยเป็นนักทดลอง แปลกแต่จริง เขาไม่มีองค์ความรู้ในการทำโคมไฟแม้แต่น้อย ให้เล่าเป็นหลักการคงไม่ได้ แต่ถ้าให้เล่าเป็นการลงมือทดลองทำ ชายคนนี้เล่าได้เป็นฉากๆ และงานมาสเตอร์พีซชิ้นนี้ของเขาขายได้จริง

ยังไม่ทันหายตื่นเต้นกับโคมไฟระย้า สายตาของฉันก็จับจ้องของชิ้นถัดไปที่วิชัยคลี่คลายหีบห่อออกให้ดูอย่างเบามือ 

Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ

ใต้ห่อผ้ากำมะหยี่สีกรมท่า คือกระเป๋าถือ (Clutch Bag) ประดับพลอยสีชมพูน้ำงามกระจ่างใส เข้าคู่กันกับเข็มขัดหัวดอกไม้ประดับพลอยสีเดียวกัน “ชิ้นนี้ได้ไปอยู่ในแคตตาล็อกประมูลงานศิลปะของบริษัทที่ฮ่องกงด้วย” เขาเล่าอย่างภูมิใจในผลงานที่ขยับชั้นจากจิวเวลรี่ซื้อขาย ไปสู่หน้าประตูของโลกศิลป์ ด้วยมุมมองของเขาที่ว่า อะไรก็เป็นเครื่องประดับได้

และนอกจากงานศิลปะเหล่านี้ วิชัยยังให้กำเนิดพลอยเม็ดงามอีก 2 เม็ด โดยมีภรรยาของเขาเป็นผู้ช่วยเจียระไน

๒๕๕๗

คุณแม่อัจฉรา ตรีวิชาพรรณ ภรรยาของคุณพ่อวิชัย เป็นสะใภ้หนึ่งเดียวที่ได้ซึมซับวิถีร้านพลอยจากอากงย่งคิม เธอเห็นแววประกายในตัวแพม ลูกสาวคนโต ตั้งแต่วันที่เธอรับหน้าที่ดูแลลูกค้าอยู่หน้าร้านเพชรพลอยเอกมณี และมีเด็กหญิงตัวเล็กที่คอยป้วนเปี้ยนเวียนวนอยู่ไม่ห่าง

“แม่เลี้ยงลูกสาวสองคนในร้านพลอยนี่แหละ แพมเขาเกาะตู้กระจกโชว์จิวเวลรี่มาตลอด ส่วนแพทตี้นี่เตะบอลอยู่ในร้าน”

อัจฉรารำลึกถึงความหลัง สีหน้าของเธอสุกใส

“แพมจะคอยมาถามเวลาพ่อเขาทำเครื่องประดับใหม่ๆ มา ขอเอาไปใส่ เดินไปเดินมา เขาชอบของสวยงาม”

“ทีแรกคุณพ่อจะให้แพมไปทำงานธนาคาร” แพมเล่าบ้าง

“แต่คุณแม่เชื่อมาตลอดว่าแพมรับช่วงร้านพลอยได้ คอยผลักดันจนคุณพ่อยอม เริ่มจากการยกถาดแหวนที่เป็นดีไซน์ของคุณพ่อมาให้แพมลองขาย แวบแรกแพมก็คิดในใจว่า จะขายยังไง (หัวเราะ) 

“แต่ขายได้นะ ขายลูกค้าเก่าของคุณแม่ เลยได้เงินทุนมาก้อนหนึ่งเพื่อเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง” ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านเพชรพลอยเอกมณี ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องประดับพลอย Silver Glam จึงถือกำเนิดเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2557 ด้วยประการฉะนี้

Silver Glam คือแบรนด์จิวเวลรี่กึ่ง Casual กึ่ง Formal ใส่ในชีวิตประจำวันก็ได้ ใส่ออกงานก็ดี ที่แพมตั้งใจนำองค์ความรู้เก่าแก่ในการทำจิวเวลรี่พลอยของที่บ้าน ผสานกับดีไซน์ใหม่ จนได้ออกมาเป็นเครื่องประดับสวยแปลกตา ตั้งแต่การจับคู่สีของพลอย การลงยา ตัวเรือน ให้ความรู้สึกกึ่งเก่ากึ่งใหม่ ดูราวกับไร้กาลเวลา 

“พลอยของเราสีไม่เหมือนที่มีทั่วไปในตลาดปัจจุบัน นั่นเพราะเป็นพลอยที่สะสมมาตั้งแต่รุ่นอากง ทำเลียนแบบได้ยาก” แพมเฉลยที่มาของความรู้สึกเหนือกาลเวลาในผลงานของเธอ

“จิวเวลรี่เป็นของที่มักจะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เราเลยอยากทำให้เรียบง่ายเข้าไว้ เพื่อเวลาที่ถูกส่งต่อไป ผู้รับจะยังใส่ได้ แม้เวลาจะเปลี่ยนไปก็ตาม”

มรดกอีกอย่างที่แบรนด์ Silver Glam ได้รับสืบทอดมาจากร้านเพชรพลอยเอกมณีคงหนีไม่พ้นฝีมือของช่าง บางคนอยู่กับทางร้านมายาวนานกว่า 40 ปี แพมแอบเล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกที่เข้ามาเริ่มงานกับช่างยังรู้สึกถึงแรงต้านอยู่ไม่น้อย แต่การใช้ลูกอ้อนก็ทำให้เธอชักชวนช่างรุ่นใหญ่มาโชว์ฝีไม้ลายมือในแบรนด์ของเธอได้สำเร็จ

ในส่วนของดีไซน์ หากใครสงสัย แม้แพมไม่ได้เรียนจบทางด้านออกแบบโดยตรง แต่เธอใช้ประสบการณ์ที่ได้เห็นของสวยงามจากการไปเรียนอยู่เมืองนอก และได้ใช้ดวงตาของตนเก็บเอาศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ธรรมชาติ ทุกอย่างมาหลอมรวมกัน กลั่นกรองเป็นดีไซน์

และอีกหนึ่งส่วนผสมที่ทำให้แบรนด์นี้กลมกล่อม คือรสนิยมของแพมเอง

“แพมได้แรงบันดาลใจในการทำเครื่องประดับ Silver Glam จากสีสันของผ้าโบราณ” แพมเล่า พลางบรรจงนำของสะสมของเธอออกมาวางเรียง

“อย่างผืนนี้เป็นผ้ามาจากมาเลเซียก็จริง แต่ไปได้มาจากทางใต้ เป็นผ้าที่ชาวบ้านใช้พาดบ่ากัน ส่วนผืนนี้เป็นผ้าเขมร อายุมากกว่าหนึ่งร้อยปี ลองจับเนื้อดูก็รู้ว่าจะเบาและบาง ของที่ทอกันในยุคนั้น ดูก็รู้เลยว่าไม่เหมือนยุคนี้ ลวดลายและสีเขามีเอกลักษณ์มาก” แพมอธิบาย พลางวางเครื่องประดับของเธอลงเทียบกับเนื้อผ้าให้ดูทีละชิ้น

Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ
 แหวนพลอยที่แมตช์สีกับผ้าเขมร  
Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ
ต่างหูที่พลอยเข้าคู่กับสีผ้าพาดบ่ามาเล

นอกจากการแมตช์สีของพลอยโบราณจากรุ่นอากงให้เข้ากันกับสีลงยาที่ผสมมาอย่างละเอียดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันรู้สึกว่าสนุกไม่แพ้กัน ก็คือจินตนาการของแพมในการออกแบบตัวเรือนให้เข้ากับรูปทรงของพลอย ที่ไม่ได้พยายามบีบเค้นให้พลอยต้องเป็นทรงกลม ทรงรี เท่านั้น แต่ปล่อยให้เม็ดพลอยได้แสดงตัวออกมาอย่างโดดเด่นและเป็นธรรมชาติ 

“แพมชอบทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร” เธอให้เหตุผลด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม นิสัยนี้เธอคงได้มาจากคุณพ่ออย่างไม่ต้องสงสัย

“ลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อไปลอง แล้วพอติดใจเขาก็กลับมาซื้อซ้ำ หรือช่วยบอกต่อให้ Silver Glam เหมือนเป็นแบรนด์ที่ดึงดูดคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน ไม่ต่างกับที่แพมชอบผ้าไทย แล้วต้องไปเสาะหาซื้อมาจากแหล่ง เราก็อยากให้คนรู้สึกแบบนั้นกับเครื่องประดับของ Silver Glam เหมือนกัน”

อาจเรียกได้ว่า Silver Glam คือการประสานกันระหว่างประสบการณ์ที่สั่งสมเกาะตู้กระจกร้านพลอยมาแต่เล็กแต่น้อย กับรสนิยมที่บ่มเพาะขึ้นมาผ่านการเวลาของแพม

๒๕๖๓

ผ่านมา 6 ปี Silver Glam ที่กำลังเติบโตอย่างเยือกเย็นแต่มั่นคง ได้ดึงเอาพลอยน้ำงามอีกเม็ดของร้านเพชรพลอยเอกมณีเข้ามาประกอบร่างเป็นผลงานใหม่ แพทตี้ ลูกสาวคนเล็กของครอบครัว ดีกรีนักกอล์ฟอาชีพ ผู้พาทีม New York University ที่เธอสังกัดอยู่ไปคว้าแชมป์รายการ NCAA Division III มาแล้วที่สหรัฐฯ 

ดูเหมือนจะเป็นลูกไม้ที่หล่นไกลต้น ถึงขั้นอัจฉราผู้เป็นแม่ยังเอ่ยปากว่า ลูกสาวคนเล็กไม่น่าจะมาเอาดีทางนี้ แต่เมื่อช่วง COVID-19 นี่เองที่ทายาทคนโตอย่างแพมชักชวนน้องสาวให้มาเข้าร่วมขบวนการด้วยกัน 

Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ
Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ

“ตอนแรกเราไม่ได้เห็นด้วยนะคะ” แพทตี้ยอมรับ น้ำเสียงกลั้วหัวเราะ “แต่พี่แพมมาชวน เขาบอกว่าลองสิ มันได้เงินจริงๆ นะ เราอยากเอารายได้ไปซื้อไม้กอล์ฟเลยลองทำดู” 

แพทตี้คว้าเอาผลงานออกมาคลี่คลายลงบนโต๊ะ เป็นสารพัดสร้อยที่ร้อยลูกปัดสีหวานสลับกับเม็ดพลอยแสนสดใส ก่อนอธิบายว่าสินค้าของ Glam Edition ตั้งใจจับกลุ่มเป้าหมายเด็กลงกว่าแบรนด์ของคุณพ่อ และ Silver Glam

เรียกได้ว่าตอนนี้ ร้านเพชรพลอยเอกมณี Silver Glam และ Glam Edition ครองพื้นที่ในตลาดครบหมดแล้วทุกช่วงวัย

หน้าที่หลักของแพทตี้ในการทำ Glam Edition คือการทำการตลาดและการสื่อสาร ส่วนเรื่องของดีไซน์ แพมมีประสบการณ์อยู่แล้วจึงเป็นคนรับผิดชอบ โดยให้น้องสาวมาเติมส่วนที่ขาด นอกจากนั้น แพทตี้ยังเป็นช่างร้อยฝีมือดีคนหนึ่งของแบรนด์

Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ
Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ

“ช่วงแรกเราก็ร้อยขายเอง ใช้เทคนิคการร้อยย้อนเพื่อป้องกันพลอยหลุดหายเวลาสร้อยขาด ปกติเทคนิคนี้ใช้กับสร้อยมุกราคาหลักแสน แต่เราก็ทำเพื่อคุมคุณภาพ”

“ตอนนี้ขายมาแล้วห้าเดือน ผลตอบรับดีเกินคาดมาก จนร้อยเองอย่างเดียวไม่ไหว ต้องให้พี่ช่างมาช่วยแล้วค่ะ” แพทตี้เล่า

Glam Edition นี่ถือว่าโตเร็วมาก เขาเริ่มมาช่วง COVID-19 ที่ธุรกิจของพ่อกับแม่ชะงักลงพอดี การมีทั้งออร์เดอร์ของ Silver Glam และ Glam Edition อยู่ เลยช่วยให้ช่างของเรายังมีงานทำ” อัจฉราเสริมขึ้นมา สีหน้าภาคภูมิใจในผลงานการเจียระไนอัญมณีเม็ดงามอย่างลูกสาวทั้งสองของเธอ

ฉันอดถามต่อไม่ได้ว่า ตอนนี้แพทตี้เปลี่ยนใจจากอาชีพนักกอล์ฟมาจับเทรดพลอยแล้วหรือยัง “คิดว่าทำได้นะคะ ตอนนี้ก็ชอบพลอยมากขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย” ทายาทคนน้องตอบ ท่ามกลางสายตาอิ่มเอมของคุณพ่อ คุณแม่ และพี่สาว

นิรันดร์

นี่คือเรื่องราว 65 ปีฉบับกะทัดรัดของร้านเพชรพลอยเอกมณี กับการเปลี่ยนผ่านทั้งสามรุ่น ที่แต่ละรุ่นมีแนวทางการดำเนินธุรกิจของตัวเอง มีเอกลักษณ์ และเป็นเอกเทศ แต่งดงามอย่างเอกอุ

จากรุ่นที่ 1 ซึ่งบุกเบิกธุรกิจจากร้านพลอยกะจิริดพาเข้าสู่ความเฟื่องฟู สู่รุ่นที่ 2 ใช้กลยุทธ์การเข้าใจจุดแข็งของตัวเองมาต่อลมหายใจ รวมถึงขยายเขตข่ายไปให้ไกลกว่าเก่า เข้ารุ่นที่ 3 ที่มองเห็นความงดงามของธุรกิจเก่า และหยิบเอามาผสานกับรสนิยมของตนได้อย่างร่วมสมัย

สำหรับฉันแล้ว ธุรกิจที่ส่งต่อกันในครอบครัวงดงามไม่ต่างจากอัญมณีล้ำค่า

เพราะทั้งสองต่างส่องประกายผ่านกาลเวลาในแบบของตน

Silver Glam ทายาทเอกมณี ร้านจิวเวลรี่ 65 ปีกับการ Redesign สร้อยแหวนยุคอากงด้วยสีผ้าโบราณ

ภาพ : Silver Glam และ Glam Edition

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ