ถ้าโต๊ะโตะจังเป็นเด็กหญิงข้างหน้าต่าง ฉันก็เป็นเด็กหญิงข้างตู้กระจกร้านเครื่องประดับ
เพราะตั้งแต่จำความได้ การเข้าห้างไปเกาะตู้กระจกดูประกายระยับจากอัญมณีที่ล้อเล่นกับแสงไฟก็เป็นหนึ่งในความตื่นเต้นของฉันในวันที่เป็นเด็กน้อย
การมาเยือนร้านพลอยต้นตำรับอย่าง ‘ร้านเพชรพลอยเอกมณี’ ถึงถิ่นวังบูรพา จึงทำให้ใจฉันเต้นไม่เป็นส่ำ เพราะนอกจากได้เห็นเครื่องประดับพลอยโดยไม่มีกระจกกั้น ยังมีโอกาสฟังเรื่องราวเบื้องหลังการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจร้านพลอยถึง 3 รุ่น ขยับจากการเป็นร้านค้าพลอยและเครื่องประดับธรรมดาในรุ่นแรก สู่ชิ้นงานประดับพลอยหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่จิลเวลรี่ กระเป๋าถือ ไปถึงโคมไฟระย้า ที่จับตลาดไฮเอนด์ในรุ่นที่ 2 มาจนถึงรุ่นที่ 3 ที่นำเอาความงามของพลอยที่สะสมมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ มาผนวกกับดีไซน์เรียบหรูที่ดูร่วมสมัย
จนกลายเป็นร้านพลอยที่มีสินค้าตอบรับความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกช่วงวัย และทุกรสนิยม


เรื่องนี้ถ้าจะเล่าอย่างเรียบง่าย ต้องย้อนกลับไปในวันก่อตั้งร้านเพชรพลอยเอกมณีเมื่อ 65 ปีก่อน
๒๔๙๘
ย่งคิม แซ่ตั้ง คือหนึ่งในชาวจีนอพยพที่ขึ้นเรือมาเทียบท่าที่สยามประเทศ วันนั้นเขาอยู่ในช่วงขวบปีที่สิบกว่า และเริ่มต้นอาชีพแรกของตัวเองในแผ่นดินใหม่เป็นลูกจ้างร้านเพชร ย่านหัวเม็ด ถนนเยาวราช
หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในวงการค้าเพชรพลอยได้ 10 ปี ย่งคิมก็ตัดสินใจเริ่มต้นกิจการค้าพลอยเป็นของตัวเองภายใต้ชื่อ ร้านเพชรพลอยเอกมณี เมื่อพุทธศักราช 2498 โดยมีหน้าร้านแห่งแรกอยู่บริเวณแยกสี่กั๊กพระยาศรี หรือถนนบ้านหม้อ ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านพลอยของกรุงเทพฯ ในเวลานั้น
เรียกได้ว่า ใครอยากซื้อหาพลอยน้ำดี เครื่องประดับชั้นเยี่ยม ต้องมุ่งหน้ามาที่ย่านนี้ ถนนสายนี้จึงคึกคักอยู่ตลอดเวลา ร้านเพชรพลอยเอกมณีเองก็มีช่วงเวลาที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู ผู้คนแวะเวียนมาทั้งซื้อและขายพลอยกับย่งคิมชนิดหัวกระไดไม่เคยแห้ง
ย่งคิมมีบุตรธิดารวม 7 คน แต่มีเพียง 2 คนที่ใฝ่ใจจะรับช่วงต่อธุรกิจพลอย นั่นคือ วิชัย ตรีวิชาพรรณ กับพี่สาวที่แยกออกไปเปิดร้านสาขา

นั่นทำให้เหลือเพียงวิชัย ในฐานะทายาทรุ่น 2 ที่มาเล่าขานตำนานร้านพลอยแห่งนี้ให้ฉันฟัง
“ช่วงนั้นเศรษฐกิจดี ทำอะไรก็ง่าย มีคนมาขายพลอยที่หน้าร้านทุกวัน เป็นพลอยพม่าบ้าง ไม่ก็มาจากเหมืองในไทยที่บ่อพลอย (กาญจนบุรี) หรือบ่อไร่ (จันทบุรี)” วิชัยเริ่มต้นเล่า เมื่อฉันถามว่าธุรกิจร้านพลอยยุคแรกเริ่มหน้าตาเป็นอย่างไร
“สมัยนั้นเรารับซื้อพลอยมาให้ช่างประกอบเข้ากับตัวเรือน เป็นสร้อยบ้าง แหวนบ้าง สร้อยพม่านี่ทำเยอะเลย แล้วก็มีคนมารับของจากเราไปขายทั่วประเทศ” วิชัยว่า “งานที่เราขายเป็นดีไซน์สมัยนิยม เช่นล้อมพลอยเยอะๆ ใช้พลอยนพเก้า มันเทอะทะหน่อย แต่ลูกค้าชอบ
“ผมได้ซึมซับทุกขั้นตอนที่เกิดขึ้นในร้าน การเลือกซื้อพลอย ทั้งจากคนที่เอามาขายหน้าร้าน และไปเลือกเองถึงตลาดพลอยบ่อไร่ การทำงานผลิตกับช่าง ไปจนถึงการขาย รวมถึงได้ไปเรียนหลักสูตรเฉพาะทาง Gemological Institute of America (GIA) เพราะผมคิดว่าจะเอาจริงเอาจังด้านนี้”

เล่าไปพลาง วิชัยก็ผายมือให้ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน แพม-พรพนิต และ แพทตี้-ณัชชา ตรีวิชาพรรณ ไปยกเอาผลงานจิวเวลรี่ที่ทำมาตั้งแต่รุ่นอากงย่งคิมออกมาอวด ซึ่งฉันยินดีจะชมเป็นอย่างยิ่ง
๒๕๓๔
การเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากรุ่นของย่งคิมสู่มือวิชัยเกิดขึ้นในวันที่ฝนฟ้าทำท่าไม่เป็นใจ แต่เขาเอาตัวรอดมาได้อย่างสวยงามเพราะเข้าใจจุดแข็งของตัวเองดี
“คนทำอาชีพค้าพลอยทุกคนต้องเป็นนักสะสมพลอยด้วย เพราะไม่ใช่ว่าคิดทำอะไรแล้วจะทำได้เลย มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีวัตถุดิบอะไรอยู่ในมือ
“ในวันที่อากงย่งคิมกำลังจะเสีย เมื่อราวๆ พ.ศ. 2534 – 2535 นายหน้าที่เคยมารับจิวเวลรี่พลอยจากเราไปขายต่อเริ่มหันไปขึ้นตัวเรือนกันเอง ทำให้ลูกค้าน้อยลงไปบ้าง และมาชะลอลงอีกช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 แม้ยังไม่ถึงขั้นลำบาก แต่ผมก็รู้ว่าต้องปรับตัวแล้ว
“ผมคิดว่า อยากทำอะไรที่คนอื่นทำไม่ได้ จากสิ่งที่เรามีแต่คนอื่นไม่มี นั่นคือพลอยที่ร้านเราสะสมมาตั้งแต่รุ่นอากง ทั้งปริมาณ ขนาด ความหลากหลาย สามารถทำชิ้นงานขนาดใหญ่ ต่างจากที่ขายกันเกลื่อนในตลาดได้” วิชัยเผยเคล็ดลับในการพาร้านเพชรพลอยเอกมณีผ่านช่วงวิกฤต

ด้วยวิธีที่คิดที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ผลงานทั้งจิวเวลรี่และสินค้าอื่นๆ ของร้านเพชรพลอยเอกมณีภายใต้ความดูแลของวิชัยนั้นโดดเด่น เมื่อเทียบกับร้านอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาดีไซน์ผ่านนิตยสารต่างประเทศ นำมาปรับให้เป็นแบบของตัวเอง
เมื่อฉันตั้งใจมองสร้อยแหวนในถาดจิวเวลรี่ตรงหน้า จึงได้เห็นว่ามีอิทธิพลของสไตล์อาร์ตเดโค ซึ่งแหวกแนวออกไปสไตล์สมัยนิยมในช่วงเวลาของเขาอย่างเห็นได้ชัด

“อย่างแชนเดอร์เลียนั่น” วิชัยเล่าต่อพร้อมชี้นิ้วไปที่โคมไฟระย้าที่แขวนอยู่ในห้องทำงานอีกฟากหนึ่ง
“ผมไม่รู้หรอกว่าโคมไฟที่อื่นเขาทำอย่างไร แต่ผมคิดขึ้นจากพื้นฐานการทำจิลเวลรี่ ให้ช่างประกอบขึ้นจากพลอยเป็นแสนเม็ด ใช้เวลาทำเป็นสิบปี”

กระจ่างแจ้งแจ่มจริง ไม่ใช่ใครก็ทำได้ดังที่วิชัยว่า สมองของฉันถึงบางอ้อขึ้นมาทั้งที่กายละเอียดนั่งอยู่วังบูรพา นอกจากคลังพลอยที่สะสมมาแล้ว การเลือกทำของชิ้นใหญ่ มูลค่ามหาศาล ในวันที่สภาพเศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีนั้น ต้องใช้พลังและความกล้ามากแค่ไหนกัน…
“ทำของใหญ่ขนาดนี้ มีใครค้านบ้างไหมคะ” ฉันโพล่งถามออกไป
“มีสิ พี่น้องค้านกันหมดว่าทำมาจะขายใคร” เขาตอบกลั้วหัวเราะ
มากกว่าเป็นนักสะสมและนักธุรกิจ ฉันเชื่อว่าลึกๆ แล้ววิชัยเป็นนักทดลอง แปลกแต่จริง เขาไม่มีองค์ความรู้ในการทำโคมไฟแม้แต่น้อย ให้เล่าเป็นหลักการคงไม่ได้ แต่ถ้าให้เล่าเป็นการลงมือทดลองทำ ชายคนนี้เล่าได้เป็นฉากๆ และงานมาสเตอร์พีซชิ้นนี้ของเขาขายได้จริง
ยังไม่ทันหายตื่นเต้นกับโคมไฟระย้า สายตาของฉันก็จับจ้องของชิ้นถัดไปที่วิชัยคลี่คลายหีบห่อออกให้ดูอย่างเบามือ

ใต้ห่อผ้ากำมะหยี่สีกรมท่า คือกระเป๋าถือ (Clutch Bag) ประดับพลอยสีชมพูน้ำงามกระจ่างใส เข้าคู่กันกับเข็มขัดหัวดอกไม้ประดับพลอยสีเดียวกัน “ชิ้นนี้ได้ไปอยู่ในแคตตาล็อกประมูลงานศิลปะของบริษัทที่ฮ่องกงด้วย” เขาเล่าอย่างภูมิใจในผลงานที่ขยับชั้นจากจิวเวลรี่ซื้อขาย ไปสู่หน้าประตูของโลกศิลป์ ด้วยมุมมองของเขาที่ว่า อะไรก็เป็นเครื่องประดับได้
และนอกจากงานศิลปะเหล่านี้ วิชัยยังให้กำเนิดพลอยเม็ดงามอีก 2 เม็ด โดยมีภรรยาของเขาเป็นผู้ช่วยเจียระไน
๒๕๕๗
คุณแม่อัจฉรา ตรีวิชาพรรณ ภรรยาของคุณพ่อวิชัย เป็นสะใภ้หนึ่งเดียวที่ได้ซึมซับวิถีร้านพลอยจากอากงย่งคิม เธอเห็นแววประกายในตัวแพม ลูกสาวคนโต ตั้งแต่วันที่เธอรับหน้าที่ดูแลลูกค้าอยู่หน้าร้านเพชรพลอยเอกมณี และมีเด็กหญิงตัวเล็กที่คอยป้วนเปี้ยนเวียนวนอยู่ไม่ห่าง
“แม่เลี้ยงลูกสาวสองคนในร้านพลอยนี่แหละ แพมเขาเกาะตู้กระจกโชว์จิวเวลรี่มาตลอด ส่วนแพทตี้นี่เตะบอลอยู่ในร้าน”
อัจฉรารำลึกถึงความหลัง สีหน้าของเธอสุกใส

“แพมจะคอยมาถามเวลาพ่อเขาทำเครื่องประดับใหม่ๆ มา ขอเอาไปใส่ เดินไปเดินมา เขาชอบของสวยงาม”
“ทีแรกคุณพ่อจะให้แพมไปทำงานธนาคาร” แพมเล่าบ้าง
“แต่คุณแม่เชื่อมาตลอดว่าแพมรับช่วงร้านพลอยได้ คอยผลักดันจนคุณพ่อยอม เริ่มจากการยกถาดแหวนที่เป็นดีไซน์ของคุณพ่อมาให้แพมลองขาย แวบแรกแพมก็คิดในใจว่า จะขายยังไง (หัวเราะ)
“แต่ขายได้นะ ขายลูกค้าเก่าของคุณแม่ เลยได้เงินทุนมาก้อนหนึ่งเพื่อเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง” ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านเพชรพลอยเอกมณี ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องประดับพลอย Silver Glam จึงถือกำเนิดเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2557 ด้วยประการฉะนี้

Silver Glam คือแบรนด์จิวเวลรี่กึ่ง Casual กึ่ง Formal ใส่ในชีวิตประจำวันก็ได้ ใส่ออกงานก็ดี ที่แพมตั้งใจนำองค์ความรู้เก่าแก่ในการทำจิวเวลรี่พลอยของที่บ้าน ผสานกับดีไซน์ใหม่ จนได้ออกมาเป็นเครื่องประดับสวยแปลกตา ตั้งแต่การจับคู่สีของพลอย การลงยา ตัวเรือน ให้ความรู้สึกกึ่งเก่ากึ่งใหม่ ดูราวกับไร้กาลเวลา


“พลอยของเราสีไม่เหมือนที่มีทั่วไปในตลาดปัจจุบัน นั่นเพราะเป็นพลอยที่สะสมมาตั้งแต่รุ่นอากง ทำเลียนแบบได้ยาก” แพมเฉลยที่มาของความรู้สึกเหนือกาลเวลาในผลงานของเธอ
“จิวเวลรี่เป็นของที่มักจะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เราเลยอยากทำให้เรียบง่ายเข้าไว้ เพื่อเวลาที่ถูกส่งต่อไป ผู้รับจะยังใส่ได้ แม้เวลาจะเปลี่ยนไปก็ตาม”
มรดกอีกอย่างที่แบรนด์ Silver Glam ได้รับสืบทอดมาจากร้านเพชรพลอยเอกมณีคงหนีไม่พ้นฝีมือของช่าง บางคนอยู่กับทางร้านมายาวนานกว่า 40 ปี แพมแอบเล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกที่เข้ามาเริ่มงานกับช่างยังรู้สึกถึงแรงต้านอยู่ไม่น้อย แต่การใช้ลูกอ้อนก็ทำให้เธอชักชวนช่างรุ่นใหญ่มาโชว์ฝีไม้ลายมือในแบรนด์ของเธอได้สำเร็จ

ในส่วนของดีไซน์ หากใครสงสัย แม้แพมไม่ได้เรียนจบทางด้านออกแบบโดยตรง แต่เธอใช้ประสบการณ์ที่ได้เห็นของสวยงามจากการไปเรียนอยู่เมืองนอก และได้ใช้ดวงตาของตนเก็บเอาศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ธรรมชาติ ทุกอย่างมาหลอมรวมกัน กลั่นกรองเป็นดีไซน์

และอีกหนึ่งส่วนผสมที่ทำให้แบรนด์นี้กลมกล่อม คือรสนิยมของแพมเอง

“แพมได้แรงบันดาลใจในการทำเครื่องประดับ Silver Glam จากสีสันของผ้าโบราณ” แพมเล่า พลางบรรจงนำของสะสมของเธอออกมาวางเรียง
“อย่างผืนนี้เป็นผ้ามาจากมาเลเซียก็จริง แต่ไปได้มาจากทางใต้ เป็นผ้าที่ชาวบ้านใช้พาดบ่ากัน ส่วนผืนนี้เป็นผ้าเขมร อายุมากกว่าหนึ่งร้อยปี ลองจับเนื้อดูก็รู้ว่าจะเบาและบาง ของที่ทอกันในยุคนั้น ดูก็รู้เลยว่าไม่เหมือนยุคนี้ ลวดลายและสีเขามีเอกลักษณ์มาก” แพมอธิบาย พลางวางเครื่องประดับของเธอลงเทียบกับเนื้อผ้าให้ดูทีละชิ้น


นอกจากการแมตช์สีของพลอยโบราณจากรุ่นอากงให้เข้ากันกับสีลงยาที่ผสมมาอย่างละเอียดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันรู้สึกว่าสนุกไม่แพ้กัน ก็คือจินตนาการของแพมในการออกแบบตัวเรือนให้เข้ากับรูปทรงของพลอย ที่ไม่ได้พยายามบีบเค้นให้พลอยต้องเป็นทรงกลม ทรงรี เท่านั้น แต่ปล่อยให้เม็ดพลอยได้แสดงตัวออกมาอย่างโดดเด่นและเป็นธรรมชาติ
“แพมชอบทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร” เธอให้เหตุผลด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม นิสัยนี้เธอคงได้มาจากคุณพ่ออย่างไม่ต้องสงสัย
“ลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อไปลอง แล้วพอติดใจเขาก็กลับมาซื้อซ้ำ หรือช่วยบอกต่อให้ Silver Glam เหมือนเป็นแบรนด์ที่ดึงดูดคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน ไม่ต่างกับที่แพมชอบผ้าไทย แล้วต้องไปเสาะหาซื้อมาจากแหล่ง เราก็อยากให้คนรู้สึกแบบนั้นกับเครื่องประดับของ Silver Glam เหมือนกัน”


อาจเรียกได้ว่า Silver Glam คือการประสานกันระหว่างประสบการณ์ที่สั่งสมเกาะตู้กระจกร้านพลอยมาแต่เล็กแต่น้อย กับรสนิยมที่บ่มเพาะขึ้นมาผ่านการเวลาของแพม
๒๕๖๓
ผ่านมา 6 ปี Silver Glam ที่กำลังเติบโตอย่างเยือกเย็นแต่มั่นคง ได้ดึงเอาพลอยน้ำงามอีกเม็ดของร้านเพชรพลอยเอกมณีเข้ามาประกอบร่างเป็นผลงานใหม่ แพทตี้ ลูกสาวคนเล็กของครอบครัว ดีกรีนักกอล์ฟอาชีพ ผู้พาทีม New York University ที่เธอสังกัดอยู่ไปคว้าแชมป์รายการ NCAA Division III มาแล้วที่สหรัฐฯ
ดูเหมือนจะเป็นลูกไม้ที่หล่นไกลต้น ถึงขั้นอัจฉราผู้เป็นแม่ยังเอ่ยปากว่า ลูกสาวคนเล็กไม่น่าจะมาเอาดีทางนี้ แต่เมื่อช่วง COVID-19 นี่เองที่ทายาทคนโตอย่างแพมชักชวนน้องสาวให้มาเข้าร่วมขบวนการด้วยกัน


“ตอนแรกเราไม่ได้เห็นด้วยนะคะ” แพทตี้ยอมรับ น้ำเสียงกลั้วหัวเราะ “แต่พี่แพมมาชวน เขาบอกว่าลองสิ มันได้เงินจริงๆ นะ เราอยากเอารายได้ไปซื้อไม้กอล์ฟเลยลองทำดู”
แพทตี้คว้าเอาผลงานออกมาคลี่คลายลงบนโต๊ะ เป็นสารพัดสร้อยที่ร้อยลูกปัดสีหวานสลับกับเม็ดพลอยแสนสดใส ก่อนอธิบายว่าสินค้าของ Glam Edition ตั้งใจจับกลุ่มเป้าหมายเด็กลงกว่าแบรนด์ของคุณพ่อ และ Silver Glam
เรียกได้ว่าตอนนี้ ร้านเพชรพลอยเอกมณี Silver Glam และ Glam Edition ครองพื้นที่ในตลาดครบหมดแล้วทุกช่วงวัย
หน้าที่หลักของแพทตี้ในการทำ Glam Edition คือการทำการตลาดและการสื่อสาร ส่วนเรื่องของดีไซน์ แพมมีประสบการณ์อยู่แล้วจึงเป็นคนรับผิดชอบ โดยให้น้องสาวมาเติมส่วนที่ขาด นอกจากนั้น แพทตี้ยังเป็นช่างร้อยฝีมือดีคนหนึ่งของแบรนด์


“ช่วงแรกเราก็ร้อยขายเอง ใช้เทคนิคการร้อยย้อนเพื่อป้องกันพลอยหลุดหายเวลาสร้อยขาด ปกติเทคนิคนี้ใช้กับสร้อยมุกราคาหลักแสน แต่เราก็ทำเพื่อคุมคุณภาพ”
“ตอนนี้ขายมาแล้วห้าเดือน ผลตอบรับดีเกินคาดมาก จนร้อยเองอย่างเดียวไม่ไหว ต้องให้พี่ช่างมาช่วยแล้วค่ะ” แพทตี้เล่า
“Glam Edition นี่ถือว่าโตเร็วมาก เขาเริ่มมาช่วง COVID-19 ที่ธุรกิจของพ่อกับแม่ชะงักลงพอดี การมีทั้งออร์เดอร์ของ Silver Glam และ Glam Edition อยู่ เลยช่วยให้ช่างของเรายังมีงานทำ” อัจฉราเสริมขึ้นมา สีหน้าภาคภูมิใจในผลงานการเจียระไนอัญมณีเม็ดงามอย่างลูกสาวทั้งสองของเธอ
ฉันอดถามต่อไม่ได้ว่า ตอนนี้แพทตี้เปลี่ยนใจจากอาชีพนักกอล์ฟมาจับเทรดพลอยแล้วหรือยัง “คิดว่าทำได้นะคะ ตอนนี้ก็ชอบพลอยมากขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย” ทายาทคนน้องตอบ ท่ามกลางสายตาอิ่มเอมของคุณพ่อ คุณแม่ และพี่สาว
นิรันดร์
นี่คือเรื่องราว 65 ปีฉบับกะทัดรัดของร้านเพชรพลอยเอกมณี กับการเปลี่ยนผ่านทั้งสามรุ่น ที่แต่ละรุ่นมีแนวทางการดำเนินธุรกิจของตัวเอง มีเอกลักษณ์ และเป็นเอกเทศ แต่งดงามอย่างเอกอุ
จากรุ่นที่ 1 ซึ่งบุกเบิกธุรกิจจากร้านพลอยกะจิริดพาเข้าสู่ความเฟื่องฟู สู่รุ่นที่ 2 ใช้กลยุทธ์การเข้าใจจุดแข็งของตัวเองมาต่อลมหายใจ รวมถึงขยายเขตข่ายไปให้ไกลกว่าเก่า เข้ารุ่นที่ 3 ที่มองเห็นความงดงามของธุรกิจเก่า และหยิบเอามาผสานกับรสนิยมของตนได้อย่างร่วมสมัย
สำหรับฉันแล้ว ธุรกิจที่ส่งต่อกันในครอบครัวงดงามไม่ต่างจากอัญมณีล้ำค่า
เพราะทั้งสองต่างส่องประกายผ่านกาลเวลาในแบบของตน

ภาพ : Silver Glam และ Glam Edition