24 กุมภาพันธ์ 2022
2 K

สุวรรณภูมิ ไม่ใช่แค่ชื่อสนามบิน

แต่ดินแดนสุวรรณภูมิ ยังหมายถึงพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน ว่ากันว่า ที่นี่เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยทำเลที่ตั้งบนคาบสมุทรทำให้ได้เปรียบเรื่องการค้าและการเดินเรือ ในคัมภีร์ มหาชนกชาดก ของพุทธศาสนา ก็ยังเล่าว่า พระมหาชนกเดินทางมาค้าขายที่สุวรรณภูมิ 

อีกคำที่ควรรู้จักไปพร้อมกันก็คือ ‘เส้นทางสายไหมทางทะเล’ เราคงคุ้นเคยกับเส้นทางสายไหม (ทางบก) ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมมากมายระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก เส้นทางสายไหมทางทะเลก็เป็นเช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นเส้นทางที่ข้ามผ่านดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการเดินทางทางน้ำที่บางช่วงก็ต้องสลับมาใช้ทางบก นับรวมได้ 8 เส้นทาง เส้นทางเหล่านี้เองที่ทำให้ดินแดนสุวรรณภูมิได้ต้อนรับผู้จากเยือนจากสองฟากมหาสมุทร ซึ่งนำศาสตร์และศิลป์มากมายมาสู่ดินแดนแห่งนี้

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), มูลนิธิสงขลาเมืองเก่า หอศิลป์สงขลา และ a.e.y.space ก็เลยบอกเล่าเรื่องนี้ด้วยวิธีการที่ใหม่มาก

นั่นก็คือ เอาหลักฐานทางโบราณคดีในสุวรรณภูมิมาเป็นตัวตั้ง แล้วเชิญศิลปิน 18 ท่าน มาตีความ สร้างออกมาเป็นงานศิลปะหลายแขนง จากนั้นก็จัดแสดงในอาคารต่าง ๆ ทั่วเมืองสงขลา

งานนี้ชื่อ นิทรรศการศิลป์สุวรรณภูมิ บนเส้นทางสายไหมทางทะเล จัดแสดงถึงวันที่ 12 มีนาคม 2565 ตั้งแต่ 10.30 – 17.30 น. ถ้าอยากวางแผนการเดินชมเอง ศึกษาข้อมูลได้ที่ silpsuvarnabhumi.com 

แต่ถ้าไม่อยากหาข้อมูลเยอะ เปิดหน้านี้ไว้ แล้วเดินตามได้เลย
ถ้าขี้เกียจกดลิงก์แผนที่ทีละบ้าน ก็กดลิงก์นี้รวมทุกบ้านไว้ครบจบในลิงก์เดียว 

01

ชื่องาน : ลบเลือนและจดจำ (แผนที่)

หลักฐานทางโบราณคดี : แผนที่โบราณปโตเลมี

ศิลปิน : สุธี คุณาวิชยานนท์

เทคนิค : วิดีโอและวาดเส้นด้วยสีชอล์กบนกระดานดำ

สถานที่ : หอศิลป์สงขลา ถนนกำแพงเพชร 

แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ

เริ่มต้นกันที่หอศิลป์สงขลา ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางของเทศกาลเพราะมีงานจัดแสดงถึง 6 ชิ้น เราขอเริ่มต้นจากงานที่ใช้พื้นที่มากที่สุด อ.สุธี คุณาวิชยานนท์ จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร หยิบแผนที่โลกฉบับแรกของโลก โดย คลอดิอุส ปโตเลมี ซึ่งเขียนจากคำบอกเล่าตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 2 แผนที่ฉบับนี้ทำให้โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเกิดการเดินทางข้ามโลกเพื่อค้าขาย เผยแพร่วัฒนธรรม ไปจนถึงการค้าทาสและล่าอาณานิคม

แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ
แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ

อ.สุธี ใช้ชอล์กเขียนแผนที่โลกหลายยุคหลายสมัยและหลายพื้นที่ซ้อนทับปะปนกันบนผนังไม่ต่างจากความทรงจำของมนุษย์ โดยมีภาพเด็ดอยู่ 2 ภาพ คือ ใบหน้าของปโตเลมีและแผนที่สุวรรณภูมิ เมื่อเขียน 2 ภาพนี้เสร็จก็ลบจนเหลือแค่รอยจาง ๆ แล้วนำฝุ่นชอล์กที่ร่วงจากภาพมาใส่ขวดจัดแสดงในชื่อ ปโตเลมีและสุวรรณภูมิ นั่นแหละ ร่องรอยความทรงจำของเราที่มีต่อแผนที่โลกโบราณชิ้นนี้

02

ชื่องาน : Ring of Abundance

หลักฐานทางโบราณคดี : วงแหวนศิลา สมัยโมริยะ-ศุงคะ จากเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร

ศิลปิน : วิทยา จันมา

เทคนิค : ภาพเคลื่อนไหวจากวัตถุ

สถานที่ : หอศิลป์สงขลา ถนนกำแพงเพชร 

แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ
แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ

วงแหวนศิลาฯ เป็นวงแหวนหินทรงกลม มีรูตรงกลาง มีลวดลายดอกไม้และสัตว์สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นหลักฐานที่แสดงว่าสุวรรณภูมิเคยติดต่อกับอินเดียตั้งแต่สมัยพุทธกาล

วิทยา จันมา ศิลปินผู้ชอบเล่นกับภาพติดตา เอาลวดลายบนแหวนมาจัดเรียงใหม่ แล้วหมุนพร้อมกับกะพริบไฟใส่ จนทำให้ภาพนูนต่ำบนวงแหวนที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่กลายเป็นภาพเคลื่อนไหว เหมือนคืนชีวิตให้เรื่องราวบนวงแหวนศิลากลับมาดำเนินต่อไปอีกครั้ง 

03

ชื่องาน : Prosperity dimensions

หลักฐานทางโบราณคดี : พระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ศิลปิน : รัตนา สาลี

เทคนิค : เหล็กทำสี อะคริลิก กระจกเงา

สถานที่ : หอศิลป์สงขลา ถนนกำแพงเพชร 

แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ
แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ

พระบรมธาตุไชยาได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะศรีวิชัยเพียงแห่งเดียวของไทยที่ยังคงความสมบูรณ์สวยงามที่สุด รัตนา สาลี มองว่าพระบรมธาตุฯ ไม่ต่างจากเครื่องบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ข้ามผ่านมาหลายยุคสมัย และแสดงให้เห็นถึงการทับซ้อนของเวลา ซึ่งความเจริญที่ว่านี้ยากจะวัดออกมาเป็นความกว้างความลึก จุดเด่นอีกอย่างของพระบรมธาตุฯ ก็คือรูปทรงเรขาคณิตที่มีความสมมาตร ศิลปินก็เลยนำรูปทรงของพระบรมธาตุฯ มาทำเป็นประติมากรรมที่มีมิติ และมองเห็นพื้นที่ภายในได้ด้วย

04

ชื่องาน : พื้นที่สีสันจากสุวรรณภูมิ

หลักฐานทางโบราณคดี : ภาพถ่ายดาวเทียม คาบสมุทรไทย-มาเลย์

ศิลปิน : จิรโรจน์ ศรียะพันธุ์

เทคนิค : สีอะคริลิกบนผ้าบาติก

สถานที่ : หอศิลป์สงขลา ถนนกำแพงเพชร 

แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ
แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ

ดร.จิรโรจน์ ศรียะพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ หยิบภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่าสุวรรณภูมิเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมมากมาย โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยสีสันจัดจ้านไม่ต่างจากสีในภาพถ่ายดาวเทียม ดร.จิรโรจน์ ก็เลยนำสัญลักษณ์อย่างเรือกอและ กลองมโหระทึก และสิ่งต่าง ๆ มาซ้อนทับ จนเกิดจังหวะลีลาและสีสันที่แสบซ่าน สมกับความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นี้ เรียกว่าเป็นภาพวาดขนาดยักษ์ที่ใช้สีได้มันมาก จนต้องใช้เวลายืนดูอยู่นานทีเดียว

05

ชื่องาน : เส้นทางแห่งการแลกเปลี่ยน

หลักฐานทางโบราณคดี : ภาพดาวเทียมเครือข่ายการเชื่อมโยงภูมิภาค

ศิลปิน : สงขลาพาวิเลี่ยน

เทคนิค : จัดวางแบบสื่อผสม

สถานที่ : หอศิลป์สงขลา ถนนกำแพงเพชร 

แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ
แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ

ดูเผิน ๆ นึกว่าเป็นงานวิดีโอที่ฉายบนผนัง แต่พอสังเกตดี ๆ ก็พบว่า เป็นการ Mapping เรื่องราวการค้าและการเชื่อมต่อของสองฟากสมุทร เราก็เลยได้เห็นการขนย้ายสินค้านานาชนิดตามเส้นประบนแผนที่ มีทั้งกองเรือเป่าฉวนอันเกรียงไกรของจีน เรือขนยีราฟ มาจนถึงยุคปัจจุบัน ไปลองทายกันว่า ยุคนี้เราแลกเปลี่ยนสินค้าอะไรกันบ้าง

06

ชื่องาน : ห่วงโซ่แห่งชีวิต

หลักฐานทางโบราณคดี : ลูกปัดภูเขาทอง จังหวัดระนอง

ศิลปิน : วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ

เทคนิค : สื่อผสม (ขวดพลาสติกและตะกร้าพลาสติก)

สถานที่ : หอศิลป์สงขลา ถนนกำแพงเพชร

แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ

ก่อนจะพาไปดูงานชิ้นสุดท้ายในหอศิลป์ ต้องขอเล่าเรื่องหอศิลป์สงขลาสักเล็กน้อย ที่นี่มีชื่อเล่นว่า Art Mill เพราะเดิมเคยเป็นโรงไม้โบราณ แถมยังมีร่อยรอยของทางรถไฟที่ใช้เชื่อมการขนส่งจากทะเลสาบสงขลาสู่แผ่นดินใหญ่ (เดินจากหอศิลป์ไปทางทะเลสาบอีกนิด ตรงหัวมุมสี่แยก จะเจอร้านกาแฟโบราณที่ตั้งอยู่บนซากทางรถไฟพอดี)

แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ

ลูกปัดเป็นเครื่องประดับโบราณที่ทำจากวัสดุมีค่า แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จังหวัดระนอง ถือเป็นแหล่งผลิตลูกปัดขนาดใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลิตแล้วส่งออกไปทั่วภูมิภาค อ.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ จากคณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ก็เลยนำวัสดุและเทคโนโลยีที่เราคุ้นเคยในปัจจุุบัน อย่างเช่น ตะกร้าพลาสติก กล่องกระดาษ มาเรียงร้อยเป็นสร้อยลูกปัดขนาดใหญ่ เพื่อเล่าถึงความชำนาญในการผลิตของคนในยุคนี้ ซึ่งอาจจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญในอนาคตเช่นเดียวกับลูกปัด

07

ชื่องาน : ฝัง

หลักฐานทางโบราณคดี : หลุมฝังศพที่ถ้ำซาไก จังหวัดตรัง

ศิลปิน : อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ

เทคนิค : จัดวางแบบสื่อผสม

สถานที่ : บ้านสงครามโลก ถนนนครนอก 

แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ

จุดต่อมาคือ บ้านสงครามโลก เป็นอาคารสูง 3 ชั้นที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมยุคจอมพล ป. ช่วงสงครามมีเครื่องบินจากอังกฤษมาทิ้งระเบิด แต่ก็มีภาพถ่ายจากกล้อง Large Format บันทึกว่าที่นี่คืออาคารสูงที่รอดจากระเบิดมาได้

แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ

ชั้นล่างสุดเป็นที่แสดงผลงานของ อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากหลุมฝังศพที่ถ้ำซาไก อายุ 9,000 ปี คนยุคก่อนฝังเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม หรือการส่งผู้ตายไปโลกหน้าพร้อมทรัพย์สมบัติ แต่คนยุคนี้ใช้การฝังเพื่อกลบเกลื่อนและกำจัดขยะ งานนี้ก็เลยเซ็ตพื้นที่ให้เป็นกองทราย และเก็บขยะจริงจากชายหาดมาจัดแสดง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ใน ‘หลุม’ ของคนยุคก่อนกับยุคนี้ต่างกันยังไง

08

ชื่องาน : เสียงสะท้อนจากวัฒนธรรม

หลักฐานทางโบราณคดี : กลองมโหระทึกจากเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร

ศิลปิน : วิระวุธ บุญเนือง, ชานนท์ กสิกรานันท์ และ ธินวัฒน์ ไทยแท้

เทคนิค : การจัดวางและสื่อประสม

สถานที่ : บ้านสงครามโลก ถนนนครนอก 

แจกลายแทง ‘ศิลป์สุวรรณภูมิ’ เทศกาลศิลปะในสงขลาสุดล้ำที่สร้างงานจากโบราณวัตถุ

เดินขึ้นไปชั้นสองของบ้านสงครามโลก เราจะได้พบกับกลองมโหระทึกจำลอง กองมโหระทึกที่หล่อจากสำริดมีถิ่นกำเนิดในเวียดนามตอนเหนือ โดยรับวิธีการหลอมโลหะมาจากจีน มีอายุราว 3,000 ปี แต่เมื่อเราพบหลักฐานแม่พิมพ์ลายกลองมโหระทึกในไทย จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะผลิตในไทยแล้วส่งไปเวียดนามก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แสดงให้เห็นถึงวิทยาการถลุงโลหะที่มีมานับพันปี คนโบราณใช้กลองมโหระทึกเพื่อตีประกอบพิธีกรรม ทั้งขอฝน เกี่ยวกับความตาย และบำบัดโรคด้วยความเชื่อ

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

ด้วยความที่ศิลปินกลุ่ม Woodoo เป็นทั้งนักดนตรี นักเต้น และนัดวาด ซึ่งทำงานแนว World Culture อยู่แล้ว พวกเขาก็เลยรวมความถนัดทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นวิดีโอ

09

ชื่องาน : ชุดดวงตาบ้านสงครามโลก

หลักฐานทางโบราณคดี : แหล่งศิลปกรรมรอบทะเลสาบสงขลา

ศิลปิน : ปรัชญา ลดาชาติ

เทคนิค : ประติมากรรมเทคนิคผสม, เลนส์ขยาย

สถานที่ : บ้านสงครามโลก ถนนนครนอก 

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ
พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

นี่คือผลงานชิ้นเดียวที่เราเห็นได้ชัดเจนจากริมถนน ปรัชญา ลดาชาติ ทำงานประติมากรรมนูนต่ำรูปตา ติดบนชั้นสามของบ้านสงครามโลก เป็นดวงตาที่เฝ้ามองความเป็นไปของวิถีชีวิตรอบทะเลสาบสงขลา และถ้าพิจารณาต่อ เราต่างก็เป็นผลผลิตของเรื่องราววิถีชีวิตเหล่านี้ที่ผ่านกาลเวลามา และอีกบทบาทหนึ่งก็คือเป็นผู้ส่งต่อด้วย ความน่าสนใจของงานนี้คือด้านหลังของดวงตา ที่เป็นภาพผ่านเลนส์สะท้อนกลับหัวอยู่บนฉาก ซึ่งเราดูได้จากชั้นสามของบ้านสงครามโลก จัดแสดงเคียงข้างเมืองสงขลาจำลองที่สร้างขึ้นจากเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยมีแว่นขยายให้ส่องด้วย ให้ความรู้สึกเหมือนเราเป็นเจ้าของดวงตายักษ์บนตึกที่กำลังเฝ้าของเมืองสงขลาอยู่

10

ชื่องาน : แคปซูลกาลเวลา

หลักฐานทางโบราณคดี : การฝังศพครั้งที่ 2 ที่แหล่งโบราณคดีเขาโกบ จังหวัดชุมพร

ศิลปิน : ประสิทธิ์ วิชายะ

เทคนิค : เทคนิคผสม

สถานที่ : บ้านเลขที่ 123 ถนนนครนอก 

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ
พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

ที่แหล่งโบราณคดีเขาโกบ จังหวัดชุมพร ซึ่งมีอายุราว 3,000 ปี ขุดพบหลุมฝังศพซึ่งเดาว่าเป็นการฝังครั้งที่ 2 ซึ่งน่าจะเป็นการขุดกระดูกและข้าวของผู้ตายขึ้นมาเพื่อทำพิธีอีกครั้ง แล้วฝังกลับลงไปรวมกัน เราจึงเห็นโครงกระดูกที่กระจัดกระจาย และไม่ครบส่วน อ.ประสิทธิ์ วิชายะ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.มหาสารคาม จึงเกิดแรงบันดาลใจ นำดินมาปั้นเป็นอวัยวะมนุษย์กองรวมกันแล้วเผาไฟอุณหภูมิต่ำ จึงเกิดพื้นผิวและสีคล้ายกระดูก จากนั้นก็นำหลาย ๆ ชิ้นส่วนมาหล่อเรซิ่นอีกรอบให้เป็นรูปอวัยวะ แล้วจัดแสดงในบ้านไม้หลังเก่า พร้อมกับใช้ถ่านวาดภาพประกอบด้วย

11

ชื่องาน : หญิงสาว

หลักฐานทางโบราณคดี : พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะชวา สมัยศรีวิชัย

ศิลปิน : ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

เทคนิค : บรอนซ์ทำสี

สถานที่ : บ้านเลขที่ 73 ถนนนครนอก

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ
พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นประติมากรรมสำริดที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งของไทยตามพุทธลักษณะอุดมคติมหายาน ในสมัยศรีวิชัย ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี หยิบงานนี้มาตีความว่า แต่เดิมศิลปกรรมทำหน้าที่รับใช้ความเชื่อและศรัทธา และศิลปินก็ได้ถ่ายทอดความงามในยุคสมัยนั้นออกมา แต่ความงามของศิลปะร่วมสมัยในยุคนี้แตกต่างออกไป เขาจึงทำงานประติมากรรมรูปศีรษะผู้หญิง มาวางคู่กับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจำลอง และหยิบภาพวาดหญิงสาวเปลือยอก นางรำ และนางนอน มาวางแสดงไว้ในบ้านเลขที่ 73 ซึ่งเป็นบ้านเก่าที่ได้รับการบูรณะแบบเนี้ยบกริ๊บ

12

ชื่องาน : ร่องรอยแห่งอารยธรรม

หลักฐานทางโบราณคดี : องค์ประกอบแร่ใต้กล้องจุลทรรศน์ ของหม้อสามขา

ศิลปิน : ไพโรจน์ วังบอน

เทคนิค : เทคนิคผสม

สถานที่ : บ้านเลขที่ 73 ถนนนครนอก

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ
พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

ปัจจุบันมีการนำศาสตร์ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้กับงานโบราณคดี เช่นการศึกษาศิลาวรรณา (Petrography) เป็นการตัดภาชนะดินเผาบางส่วนออก แล้วนำไปขัดให้บาง 0.03 มิลลิเมตร จากนั้นก็นำไปส่องดูองค์ประกอบของแร่ต่าง ๆ ด้วยกล้องจุลทรรศน์ เมื่อนำเนื้อหม้อสามขาจากแหล่งโบราณคดีถ้ำหอมถ้ำเหม็นไปศึกษา ก็พบรายละเอียดของดินที่ใช้และอุณหภูมิที่เผา

อ.ไพโรจน์ วังบอน จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ทดลองทำภาพชุดนี้ขึ้นมาด้วยเทคนิคที่ให้ความรู้สึกถึงการส่องดูแร่ธาตุต่าง ๆ ในโบราณวัตถุด้วยกล้องจุลทรรศน์ แล้วแขวนภาพไว้บนผนังด้านหลังโต๊ะกินข้าวยาว โดยผนังฝั่งตรงข้ามภาพวาดเป็นภาพถ่ายจริง ส่วนผนังอีกด้านเป็นวิวทะเลสาบสงขลาที่สวยมาก

13

ชื่องาน : นครศรีธรรมราช 5G; Legend Vs Digital

หลักฐานทางโบราณคดี : พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

ศิลปิน : ปริทรรศน์ หุตางกูร

เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าใบ

สถานที่ : บ้านยะหริ่ง ถนนยะหริ่ง 

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ
พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

พระบรมธาตุแห่งเมืองนครศรีธรรมราชเป็นสถานที่สำคัญของดินแดนสุวรรณภูมิ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทั้งการก้าวเข้าสูู่โลกดิจิทัล คนรุ่นใหม่ที่ถอยห่างจากศาสนสถาน และพระสงฆ์ที่เปิดรับโลกวัตถุมากเกินไป อ.ปริทรรศน์ หุตางกูร จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ซึ่งวาดภาพวิพากษ์และเสียดสีศาสนามาอย่างต่อเนื่อง จึงทำภาพวาดนี้ขึ้นมาโดยมีพระสงฆ์ AI และเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อตอบคำถามว่า ศูนย์กลางพุทธศาสนาในยุคต่อไปจะเป็นอย่างไร โดยมีภาพแสดงประกอบที่ติดอยู่ฝั่งตรงข้าม เป็นภาพหญิงสาวสวยเซ็กซี่ ทั้ง AI และคน ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงนี้

14

ชื่องาน : หม้อสามขาตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์

หลักฐานทางโบราณคดี : หม้อสามขา

ศิลปิน : พรสวรรค์ นนทะภา

เทคนิค : ดินเผา เซรามิก 1,270 องศาเซลเซียส

สถานที่ : บ้านเลขที่ 168 ถนนนครใน 

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ
พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

บ้านเลขที่ 168 เป็นบ้านเก่าที่ได้รับการบูรณะอย่างดี จุดเด่นอย่างหนึ่งของบ้านหลังนี้คือ ผนังเก่าสีน้ำเงินซึ่งทาด้วยคราม ที่นี่มีงานจัดแสดง 3 ชิ้นด้วยกัน

ชิ้นแรก เกี่ยวกับหม้อสามขาซึ่งเป็นภาชนะที่ได้รับอิทธิพลจากจีน มักพบว่าถูกฝังร่วมกับศพเพื่อใช้เป็นภาชนะใส่เครื่องเซ่นหรืออุทิศให้ผู้ตาย และบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ ที่พบในประเทศไทยมีอายุราว 4,000 ปี อ.พรสวรรค์ นนทะภา จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏมหาสารคาม จึงทำงานเซรามิกหม้อสามขาขึ้นมาและจัดเรียงอย่างสวยงามอยู่ในบ้านเก่าที่ได้รับการบูรณะอย่างดี

15

ชื่องาน : ความอุดมสมบูรณ์แห่งสุวรรณภูมิ

หลักฐานทางโบราณคดี : ภาชนะดินเผาคาลานาย จังหวัดชุมพร

ศิลปิน : อนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี

เทคนิค : จารบาติก

สถานที่ : บ้านเลขที่ 168 ถนนนครใน 

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ
พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

ชิ้นที่สองคืองานที่ได้แรงบันดาลใจจาก ภาชนะดินเผาคาลานาย อายุราว 2,500 ปี มีจุดเด่นคือลวดลายที่มีรูปแบบคล้ายตัว S ต่อกันเป็นเกลียวกลอน โดยสันนิษฐานว่าน่าวาดโครงลวดลายไว้ก่อนด้วยการใช้กริชขีด แล้วค่อยลงสีแดงซึ่งมีส่วนผสมของแร่เหล็ก ลวดลายที่พบจัดอยู่ในกลุ่มซาหวิ่น-คาลานาย พบได้ทั่วไปในเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

อนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี มองลวดลายแล้วรู้สึกว่าส่วนที่ขาดหายไปน่าจะเป็นภาพกวาง ซึ่งมีความผูกพันกับมนุษย์ในมิติต่าง ๆ จึงจารบาติกเป็นภาพกวางเมื่อมองจากด้านบน โดยลวดลายที่ใช้นำมาจาก ภาพบนภาชนะดินเผาคาลานาย ลายผ้าผะเหวดอีสานโบราณ ลายสิม ลายประกับคัมภีร์เก่า และลายพานเชี่ยนหมากที่อายุราว 100 ปี

16

ชื่องาน : เรียงร้อยตามจินตนาการ อารยธรรมศิลป์สุวรรณภูมิ

หลักฐานทางโบราณคดี : เมืองสงขลา ฝั่งบ่อยาง

ศิลปิน : ธาตรี เมืองแก้ว

เทคนิค : ประติมากรรมเซรามิก

สถานที่ : บ้านเลขที่ 168 ถนนนครใน 

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ
พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

ชิ้นสุดท้ายในบ้านนี้ คือ การตีความจากพื้นที่สงขลาฝั่งบ่อยาง ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเมืองสงขลาในสมัยรัชกาลที่ 3 และยังปรากฏโครงสร้างกำแพงเมืองโบราณ (ส่วนที่อยู่นอกกำแพงเมืองเลยเรียกว่าถนนนครนอก ด้านในเรียกถนนนครใน) อ.ธาตรี เมืองแก้ว จากคณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร สนใจเรื่องการค้นพบลูกปัดโบราณ ซึ่งเห็นถึงจินตนาการของมนุษย์ในการนำสิ่งต่าง ๆ มาเรียงร้อยตามจินตนาการ จึงทำงานเซรามิกชุดนี้ขึ้นมาด้วยแนวความคิดเหมือนกับกำลังร้อยสร้อยลูกปัดในยุคนี้ เป็นงานที่จัดวางในพื้นที่ที่มีเสน่ห์มาก เรียกกว่ามีฉากหลังสวยไปซะทุกด้านเลย

17

ชื่องาน : Datum

หลักฐานทางโบราณคดี : เครื่องทองจากภูเขาทอง จังหวัดระนอง

ศิลปิน : ปณชัย ชัยจิรรัตน์ ร่วมกับ Moonday Pottery

เทคนิค : ดินขาวระนอง อะคริลิกใส ผ้า แผ่นทองคำเปลว และผงสีทอง

สถานที่ : บ้านคราม ถนนนครใน 

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

การค้นพบเครื่องทองในแหล่งโบราณคดีภูเขาทองในรูปแบบของแหวน จี้ ลูกปัด เมื่อ 2,000 ปีก่อน ทำให้เรารู้ว่า มีของที่ผลิตในท้องถิ่นรวมกับของที่มาจากตะวันตก คืออินเดีย อาหรับ และโรมัน นั่นแปลว่า มีคนกลุ่มคนที่หลากหลายเดินทางมายังสุวรรณภูมิตั้งแต่ 2,000 ปีก่อน นอกจากนำวัฒนธรรมเข้ามาแล้ว ก็ยังนำความรู้และเทคนิคในการผลิตเครื่องประดับมาด้วย 

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ
พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

ปณชัย ชัยจิรรัตน์ เลือกบ้านคราม (ผนังด้านในก็ใช้ครามทาผนัง) บอกเล่าเรื่องราวนี้ เขามองว่าสุวรรณภูมิเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับล้ำค่า จึงสร้างงานที่เป็นบล็อกผลิตเหรียญทองโบราณขึ้นมา เพื่อแสดงถึงการผลิตซ้ำ และเหรียญที่เขาเลือกมา บางเหรียญพบในไทย เช่น เหรียญฟูนัน บางเหรียญเป็นเหรียญโรมันในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ว่าไม่พบในไทย เมื่อเขาเข้าไปในพื้นที่และเห็นพื้นบ้านที่ปูด้วยกระเบื้องเกาะยอ เขาเลยปรับขนาดของบล็อกให้ล้อไปกับขนาดของกระเบื้องที่พื้นด้วย

18

ชื่องาน : Reality

หลักฐานทางโบราณคดี : แผนที่เส้นทางข้ามคาบสมุทร

ศิลปิน : จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์

เทคนิค : วิดีโอและการจัดวาง

สถานที่ : a.e.y.space ถนนนางงาม 

พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ
พาชม 18 ผลงานศิลปะที่สร้างจากหลักฐานทางโบราณคดี เพื่อเล่าความรุ่งเรืองและร่วงโรยของดินแดนสุวรรณภูมิ

แผนที่เมืองโบราณในประเทศไทยและเพื่อนบ้านแสดงให้เห็นแนวเส้นทางเครือข่ายทางบกระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออก ที่ใช้ข้ามคาบสมุทร หรือที่เราเรียกกันว่า เส้นทางสายไหมทางทะเล 8 เส้นทาง แต่ละเส้นทางก็มีการผสมผสานระหว่างทางบกกับทางน้ำ อ.จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร เลยนำแผนที่และเขตแดนโบราณเหล่านี้มานำเสนอผ่านวิดีโอ ซึ่งมีทั้งช่วงที่ภาพชัดและภาพจาง รวมไปถึงเสียงบรรยายที่มีหลากหลายภาษาตามผู้คนที่อยู่ในย่านนี้ ดูแล้วเหมือนเราได้พาตัวเองกลับไปในยุคสมัยต่าง ๆ และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นบนดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป