ความเดิมจากตอนที่แล้ว

เรื่องอุ้มจับพลัดจับผลูกลายไปเป็นเมกเกอร์ สร้างแบรนด์ตุ้มหูเสร็จสรรพใน 30 วัน

เรื่องนี้มันมีเบื้องหลังค่ะ

คิดว่าแม่บ้านคนหนึ่งดูดฝุ่นอยู่ดี ๆ จะมีนิมิตให้เข้าไปจดทะเบียนบริษัทสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาได้อย่างงั้นเหรอ!

มันต้องมีคนรู้จักทำอะไรแบบนั้นได้มาก่อน ถึงจะพอไปไถ่ถามขอความรู้ แล้วเอามาทำเอง ใช่ไหมคะ

อุ้มเองก็โชคดี มีเพื่อนคนหนึ่งที่มารู้จักที่นี่เมื่อ 6 – 7 ปีก่อน อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนก็บอกว่าจะทำเสื้อผ้าเด็กขาย อุ้มก็เลยได้เห็นการสร้างแบรนด์จนมีคนรักทั่วบ้านทั่วเมือง แถมจากเสื้อผ้าเด็ก วันนี้ยังขยับขยายไปมีหน้าร้าน ขายของแต่งบ้านเพิ่มมาอีกด้วย

เพื่อนคนที่ว่านี้ ชื่อ ปุ้ม-พรรณทินี ลินน์ เจ้าของแบรนด์สุดแสนจะน่ารัก ชื่อ ‘Silly Daisy’ ค่ะ

Silly Daisy แบรนด์เสื้อผ้าเด็กชื่อดังในพอร์ตแลนด์ โดยสาวไทยผู้ชอบซื้อผ้าจนหัดตัดเสื้อ

    อุ้มนี่ก็ได้ปุ้มคอยให้คำปรึกษามาไม่รู้กี่รอบ วันนี้เลยไปนั่งคุยกันมายาว ๆ เพราะเชื่อว่าคนที่อยากสร้างแบรนด์ขายของ น่าจะได้ความรู้จากความที่เคยไม่รู้ของเราสองคน มาฟังกันค่ะ

อุ้ม : ทำไมถึงคิดจะทำเสื้อผ้าเด็ก

ปุ้ม : เริ่มจากชอบซื้อผ้า (หัวเราะ) คือซื้อมาเฉย ๆ ด้วยนะ ยังไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร แต่ไปร้านผ้าที่นี่แล้วผ้ามันน่ารักมาก ก็เลยซื้อมาเก็บ ๆ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นงานศิลปะที่จับต้องได้ แล้วก็ไม่แพงเกินไป จนสามีบอกว่า ถ้าไม่เอาผ้าพวกนี้มาทำอะไร ห้ามซื้อใหม่แล้วนะ (หัวเราะ) ก็เลยคิดว่าจะเอามาตัดเสื้อ

Silly Daisy แบรนด์เสื้อผ้าเด็กชื่อดังในพอร์ตแลนด์ โดยสาวไทยผู้ชอบซื้อผ้าจนหัดตัดเสื้อ

อุ้ม : เย็บผ้าเป็นอยู่แล้วเหรอ

ปุ้ม : ไม่เป๊นนนนน (หัวเราะ) ตอนสมัยมัธยมเคยเย็บอย่างเดียวคือปลอกหมอน แบบที่เย็บตะเข็บตรงปรื๊ดอย่างเดียวยาว ๆ น่ะ แต่ทีนี้เรามีลูกสาว ตอนนั้นยังไม่ 3 ขวบดี (ตอนนี้ 10 ขวบแล้ว) ก็เลยคิดว่าอยากตัดชุดให้ลูก

อุ้ม : เคยใช้แพตเทิร์นตัดเสื้อมาก่อนมั้ย

ปุ้ม : ไม่เคย (หัวเราะ) ทีแรกไปซื้อยี่ห้อพวก Simplicity ที่แบบแม่บ๊านแม่บ้าน แต่โคตรยากเลย เปิดมาแล้วมึน ทำตามไม่ได้ ก็เลยไปหายี่ห้ออื่นที่มันสมัยใหม่หน่อย ทำตามได้ง่าย ๆ อย่างยี่ห้อ Oliver + S

อุ้ม : ทีนี้ได้เลย

ปุ้ม : ก็เป็นชุดแหละ แต่ห้ามเปิดดูข้างในนะจ๊ะ ตะเข็บตะเขิบดูไม่ได้เลย (หัวเราะ) จักรพ้งก็ยังไม่มี แต่ก็ภูมิใจนะ เพราะจากที่ไม่เคยเย็บอะไร ก็บ้าบิ่นตัดชุดเลย แม่เราก็บอกว่า “เธอออ…จะทำชุดแรก เอาผ้าถูก ๆ มาลองตัดก่อน” แต่แบบนั้นมันไม่ได้แรงบันดาลใจ เราก็เอาผ้าสวย ๆ ที่ซื้อมานี่แหละลองทำเลย

Silly Daisy แบรนด์เสื้อผ้าเด็กชื่อดังในพอร์ตแลนด์ โดยสาวไทยผู้ชอบซื้อผ้าจนหัดตัดเสื้อ
Silly Daisy แบรนด์เสื้อผ้าเด็กชื่อดังในพอร์ตแลนด์ โดยสาวไทยผู้ชอบซื้อผ้าจนหัดตัดเสื้อ

อุ้ม :  แล้วกลายมาเป็นธุรกิจได้ไง

ปุ้ม :  ก็ลูกเราใส่ไปโรงเรียน ใส่ไปโน่นมานี่ แล้วก็มีคนชม เพื่อนแม่ ๆ ด้วยกันก็บอก “ทำขายเลย” เราก็ทำแจกลูกเพื่อนก่อน เพิ่งมาจริง ๆ จัง ๆ ตอนลูกเข้าอนุบาล ประมาณปี 2017 เริ่มขายใน Etsy ส่วนเว็บไซต์เรามีอยู่แล้วชื่อ Silly Daisy นี่แหละ เพราะเราจดทิ้งไว้ตั้งนานแล้ว

Silly Daisy แบรนด์เสื้อผ้าเด็กชื่อดังในพอร์ตแลนด์ โดยสาวไทยผู้ชอบซื้อผ้าจนหัดตัดเสื้อ

อุ้ม : แล้วจดทะเบียนตั้งบริษัทตั้งแต่แรกเลยไหม

ปุ้ม : เปล่า ๆ เพิ่งมาจดตอนต้องซื้อของ Wholesale เพราะตอนเริ่มใหม่ ๆ เรายังไม่ได้ซื้อผ้าเยอะ ก็ไปซื้อตามร้านทั่วไปนี่ล่ะ อย่างแพง ทำตอนแรก ๆ นี่แทบไม่ได้กำไรเลยนะ แพสชันล้วน ๆ (หัวเราะ) แต่ละชุดกว่าจะทำเสร็จก็นานมาก เพราะยังเย็บไม่ค่อยเก่ง จักรอุตสาหกรรมก็ยังไม่ได้ซื้อ ทีนี้พอเริ่มจะซื้อผ้าในราคาขายส่ง ต้องมีบริษัท ก็เลยไปจดทะเบียน

อุ้ม : สักปีสองปีได้มั้ยกว่าจะมาจดทะเบียน

ปุ้ม : ไม่เลย เราเป็นคนทำอะไรเร็ว อยากทำอะไรทำเลย บางทีนะ ไม่คิดด้วยซ้ำ (ยิ้ม) แต่เป็นความโชคดีหรือเปล่าไม่รู้ จังหวะมันได้ เพราะในพอร์ตแลนด์ไม่ค่อยมีคนทำของเด็ก เวลาไปออกงาน เราก็จะเด่นขึ้นมา คู่แข่งก็ไม่เยอะ

อุ้ม : จากที่ลองทำดู กลายเป็นจริงจัง ออกงานแฟร์อะไรแบบนี้ ใช้เวลานานแค่ไหน

ปุ้ม : ปีเดียว ไปออกงานเลย แต่ก็ต้องมีเว็บไซต์กับโซเชียลมีเดียที่โอเคนะ เพราะคนจัดงานเขาไม่มีเวลามาศึกษาแบรนด์เราหรอก เขาก็ดูจากไอจี

อุ้ม : แล้วตอนเริ่มใหม่ ๆ ยังไม่มีคนฟอลโลว์ ทำยังไง โพสไปเยอะ ๆ งี้เหรอ

ปุ้ม : เราต้องไปฟอลโลว์ชาวบ้านชาวเมืองเขาก่อน คนที่ขายของคล้าย ๆ ของเรา แล้วไปคอมเมนต์ เพื่อเขาจะได้เห็นเรา ซึ่ง… ใครจะมีเวลาวะ (หัวเราะ) ของก็ต้องทำ เพราะฉะนั้นโซเชียลมีเดียเรานี่ค่อย ๆ  โตมาก ๆ

Silly Daisy แบรนด์เสื้อผ้าเด็กชื่อดังในพอร์ตแลนด์ โดยสาวไทยผู้ชอบซื้อผ้าจนหัดตัดเสื้อ
Silly Daisy แบรนด์เสื้อผ้าเด็กชื่อดังในพอร์ตแลนด์ โดยสาวไทยผู้ชอบซื้อผ้าจนหัดตัดเสื้อ

อุ้ม : แล้วคนรู้จักแบรนด์ Silly Daisy ได้ยังไง

ปุ้ม : ปีแรก ๆ เราไปออกงานเยอะมากกกกก มีปีหนึ่งช่วงคริสต์มาสไปออก 7 – 8 งานน่ะ เหนื่อยม้ากกกก (หัวเราะ) ไปจนแบบว่า “ฉันทำอย่างนี้ไม่ได้อีกแล้ว สังขารไม่ได้อย่างแรง” แต่มันก็ Pay Off นะ คือเราต้องไปให้คนเห็น แล้วเราขายของเด็ก ตลาดเราคือพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เราก็จะไปออกงานตามโรงเรียน แต่ก็เลือกโรงเรียนที่มีกำลังซื้อ แล้วก็ขี้เกียจด้วยนะ ไปแต่แถว ๆ นี้ (หัวเราะ)

อุ้ม : อ้าว แต่ก็เป็นขี้เกียจที่มีเหตุผลนะ เพราะเรารู้ว่าคนแถวนี้มีพฤติกรรมการซื้อของยังไง

ปุ้ม : ความโชคดีอีกอย่างคือ คนพอร์ตแลนด์เขาจะไม่มาคิดยุบยิบว่า อุ๊ย แพงจังโน่นนี่ เพราะเขารู้ว่าเป็นของทำมือ ก็ช่วยกันซื้อ

อุ้ม : แล้วตั้งราคายังไง

ปุ้ม : แรก ๆ เราคิดจากความสามารถในการซื้อของตัวเราเอง แต่ลืมไปว่ามันมีคนอื่นที่จ่ายได้แพงกว่านี้เว้ย (หัวเราะ) ตอนแรกเพื่อนที่เป็น Maker ด้วยกันมาเห็นราคาเราแล้วบอกว่า “ไม่ได้นะ เธอต้องตั้งแพงกว่านี้” แล้วพอทำไปเรื่อย ๆ เราก็เห็นว่ามันไม่คุ้มจริง ๆ ก็เลยต้องขึ้นราคา แต่ก็ยัง 59 – 69 เหรียญนะ เพราะนี่มันพอร์ตแลนด์ ไม่ใช่แอลเอ นิวยอร์ก ตั้งราคาชุดเด็กสูงกว่านี้คนก็จะว่าแพงไป จะตั้ง 120 เหรียญไปเลยก็ได้นะ แต่จะไปขายที่ไหน คือเราต้องรู้ว่าตลาดของเราอยู่ที่ไหน แล้วเราต้องเอาแบรนด์เราไปให้ถึงตรงนั้น

อุ้ม : มีช่วงหนึ่งที่จ้างคนมาทำไอจีด้วยนี่

ปุ้ม : ช่วงนั้นอยากให้มีคนฟอลโลว์มากขึ้น ก็เลยตัดสินใจจ้างคนมาทำ เขาก็ช่วยตรงมาดูโทนสี มาสอนใช้แอปฯ ที่ตั้งเวลาให้โพสต์ มีตารางการโพสต์มากขึ้น แต่สุดท้ายก็อยู่ที่เราเองอยู่ดี ตอนนี้เราก็ไม่ได้ใช้เขาแล้ว

Silly Daisy แบรนด์เสื้อผ้าเด็กชื่อดังในพอร์ตแลนด์ โดยสาวไทยผู้ชอบซื้อผ้าจนหัดตัดเสื้อ
ปุ้ม-พรรณทินี ลินน์ สาวไทยในพอร์ตแลนด์ อเมริกา ผู้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Silly Daisy ที่ขายดีจนขยายสู่ของแต่งบ้าน

อุ้ม : ตอนนี้ก็ค่อนข้าง Active นะ

ปุ้ม : ใช่ โพสต์ทุกวัน เพราะเราสังเกตได้เลยว่าถ้าโพสต์ทุกวัน มันจะมีคน Engage มากกว่า จริง ๆ อยากจะจ้างคนทำนะ ก็ไม่มีเงินจ้าง (หัวเราะ)

อุ้ม : เป็นความข้นแค้นของคนทำธุรกิจเล็ก ๆ เนอะ จะโตก็ก้ำ ๆ กึ่ง ๆ จะจ้างคนก็ไม่ได้เพราะเดี๋ยวต้นทุนสินค้าสูงเกินแต่ขึ้นราคามากไม่ได้ สุดท้ายเลยต้องทำทุกอย่างเองหมด

ปุ้ม :  ใช่

อุ้ม : ตอนนี้ปุ้มขาย 3 ช่องทางเนอะ ขายส่ง ขายทางเว็บ แล้วก็มีหน้าร้านด้วย แบบไหนดียังไง

ปุ้ม-พรรณทินี ลินน์ สาวไทยในพอร์ตแลนด์ อเมริกา ผู้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Silly Daisy ที่ขายดีจนขยายสู่ของแต่งบ้าน

ปุ้ม :  เวลาขายส่ง เราไม่ขายชุด เพราะใช้เวลานาน ไม่คุ้ม เราก็จะขายพวกชิ้นเล็ก ๆ ทำเร็ว ๆ อย่าง Bib (ผ้าซับน้ำลายเด็ก) สั่งมา 70 อันเราทำแป๊บเดียวเสร็จ แล้วเราทำให้แค่เจ้าเดียว คือ Tender Loving Empire เพราะเขามี 8 สาขาทั่วพอร์ตแลนด์ มีร้านในสนามบินด้วย มันก็ช่วยทำให้คนรู้จักแบรนด์เรามากขึ้น อีกอย่างคือได้เงินก้อน ได้มาก็เอาไปซื้อผ้า (หัวเราะ)

อุ้ม : ธุรกิจคุณนายเนอะ

ปุ้ม : (หัวเราะ) ก็ถือว่าโชคดีนะ ที่ทำโดยไม่มีความกดดัน เพราะสามีเป็นรายได้หลักของครอบครัวอยู่แล้ว ของเรานี่เป็นแค่รายได้เสริมกะจุ๊งกะจิ๊ง เอาไว้ช้อปปิ้งไม่ต้องขอเงินสามี

อุ้ม : แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราชอบ อยากทำ ทำแล้วรู้สึกมีคุณค่ากับตัวเอง

ปุ้ม : ใช่ แต่จะหวังว่าให้สามีเลิกงานแล้วเราทำคนเดียว ก็จะไม่พอกินนะจ๊ะ (หัวเราะ) ขนาดมีคนหนึ่ง ชื่อลินด์ซีย์ ฟอกซ์ เขาเป็นศิลปินพอร์ตแลนด์ที่มีคนฟอลโลว์เยอะมาก รูปหนึ่งขายหกเจ็ดร้อยเหรียญเลยนะ เขาเอางานมาขายที่ร้านเรา เราก็แซวเล่นว่า โห แบบนี้ลาออกจากงานประจำมาทำแต่วาดรูปขายได้แล้วมั้งเนี่ย เขาตอบมาว่าไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนจ่ายประกันสุขภาพ เอาเงินใส่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่าง ๆ ให้ครอบครัว เพราะฉะนั้นเขายังต้องทำงานประจำ เพราะเป็น Maker ที่อเมริกา มันยากตรงไม่มี Benefit นี่แหละ หรืออย่างที่ร้านเรา มี Maker 9 คน มีแค่คนเดียวที่เป็น Breadwinner

อุ้ม : ที่เหลือสามีเลี้ยงหมด

ปุ้ม : (หัวเราะ)

ปุ้ม-พรรณทินี ลินน์ สาวไทยในพอร์ตแลนด์ อเมริกา ผู้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Silly Daisy ที่ขายดีจนขยายสู่ของแต่งบ้าน
ปุ้ม-พรรณทินี ลินน์ สาวไทยในพอร์ตแลนด์ อเมริกา ผู้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Silly Daisy ที่ขายดีจนขยายสู่ของแต่งบ้าน

อุ้ม : มีหน้าร้านนี่ดียังไง

ปุ้ม : ดีเรื่องรายได้ เพราะเงินที่ขายได้ในแต่ละเดือนนี่มาจากหน้าร้านเยอะมาก ยอดขายจากเว็บไซต์คือขำ ๆ ไปเลยอะ นี่เป็นอีกสาเหตุที่เราไม่ต้องไปจ้างคนมาทำไอจี เพราะเรามีหน้าร้านไง คนเดินมาหาเรา ไม่ใช่เราต้องพยายามออกไปในสื่อ ที่น่ารักอีกอย่างคือคนพอร์ตแลนด์เนี่ย พอเห็นของที่ร้านเรา แทนที่จะไปซื้อกับเว็บไซต์คนที่ทำของนั้นโดยตรง เขาก็จะซื้อกับเรา ถึงจะแพงกว่าด้วยนะ เพราะเขาอยากสนับสนุนธุรกิจเล็ก ๆ

อุ้ม : แล้วทำไมตอนนั้นถึงเพิ่มของใช้ในบ้านเข้ามา ไม่ได้มีแต่เสื้อผ้าเด็ก

ปุ้ม : ความชอบส่วนตัวล้วน ๆ อีกเหมือนกัน เราเป็นคนชอบของกระจุกกระจิก แต่มีประโยชน์ ใช้งานได้ อีกอย่างคือลำดับความสำคัญในชีวิตมันเปลี่ยนไปด้วยเนอะ แต่ก่อนไม่มีลูก ไม่มีครอบครัว ก็ชอบแต่งตัว แต่พอเป็น Homemaker ก็ชอบทำบ้านให้น่าอยู่ พอจะมีหน้าร้าน เราเลยเพิ่มของใช้เข้ามาด้วย คนจะได้มีอะไรให้เลือกมากขึ้น แรก ๆ ก็เน้นพวกผ้าก่อน อย่างผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดจาน เพราะว่ามันเบา ส่งง่าย

อุ้ : เลือกของเข้าร้านยังไง

ปุ้ม : ส่วนใหญ่เราซื้อจากธุรกิจเล็ก ๆ หรือ Maker รายย่อยคนอื่น เพราะยอดสั่งขั้นต่ำไม่สูงมาก เราจะได้ไม่ต้องมีสต็อกเยอะ เพราะถ้าเราซื้อของจากแบรนด์ใหญ่ ๆ ต้องสั่งอย่างน้อย 500-1,000 เหรียญ เราไม่ได้มีเงินทุนเยอะขนาดนั้น เป็นร้านเล็ก ๆ ไม่ควรสต็อกของเยอะด้วย เงินจะไปจม และอีกอย่างแบรนด์ที่เราเลือกมาที่ร้าน เราเน้น Small Makers ที่เป็น Women-Owned ซึ่งผลิตในอเมริกา หรือถ้าไม่ได้ทำที่นี่ ก็เน้นเป็น Fair Trade ทำธุรกิจโดยไม่กดขี่และจ่ายค่าแรงลูกจ้างแบบเป็นธรรม

อุ้ม : ในปีหนึ่งนี่ช่วงไหนขายดี ช่วงไหนเป็น Low Season

ปุ้ม : เดือนมกราฯ ถึงมีนาฯ นี่จะเงียบมากเลย เพราะคนเพิ่งซื้อของหนัก ๆ ไปช่วงคริสต์มาสปีใหม่ แต่พอหลังมีนาฯ คนได้เงินคืนภาษี ก็เริ่มมีกำลังซื้อมากหน่อย พอพฤษภาฯ มีวันแม่ ก็จะเริ่มคึกคัก เข้าซัมเมอร์ช่วงมิถุนาฯ เป็นต้นไป ก็จะเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงตุลาฯ พฤศจิกาฯ มี Thanksgiving มีคริสต์มาส ช่วงนั้นก็จะขายกระหน่ำเลย อีกอย่างที่นี่มันมีฤดูกาลชัดเจนเนอะ แต่ละหน้าก็จัดบ้านเปลี่ยนไป Spring, Summer, Fall นี่ไม่เหมือนกัน พอฤดูเปลี่ยน คนก็จะจัดบ้าน แต่งบ้านใหม่

อุ้ม : มีของที่ซื้อมาแล้วไม่โดน ขายไม่ได้ไรงี้ไหม

ปุ้ม : มี๊! (ยิ้ม)

อุ้ม : แล้วทำไง

ปุ้ม : ถ้าอันไหนขายไม่ได้จริง ๆ คิดว่าจะไม่สั่งมาอีกแล้ว หมดแล้วหมดเลย เราก็เอาออกไปตั้งโต๊ะลดราคาหน้าร้านเลย แล้วระหว่างปีก็มีลดราคา แต่ไม่เยอะนะ 2-3 ครั้งเอง

อุ้ม : การลดราคานี่เป็นการทำร้ายแบรนด์มั้ย แบบคนไม่ยอมซื้อเต็มราคา เพราะรอให้เอามาลด

ปุ้ม : ไม่นะ เพราะเราไม่ได้ลดบ่อย แล้วอันที่ลดจริง ๆ นี่คือของที่ไม่ได้ขายดี คนไม่ได้ซื้อเยอะ ๆ อยู่แล้ว

อุ้ม : แล้วช่วงโควิดหนัก ๆ นี่ผ่านมาได้ยังไง

ปุ้ม : เราปิดร้านไป 3 เดือนเลยนะ คนก็ยังสั่งทางเว็บไซต์ ขอให้ไปส่งที่หน้าบ้าน น่ารักมาก พอเรากลับมาเปิดร้าน ก็ต้องจำกัดจำนวนคนเข้าใช่มั้ย ตอนคริสต์มาสนะ น้ำตาแทบไหล คนมายืนต่อคิวกันหน้าร้านยาวเหยียดเลย

อุ้ม : ร้านนี่ทำมากี่ปีแล้วนะ

ปุ้ม : 4 ปีแล้ว

อุ้ม : ไปเจอร้าน plural กับหุ้นส่วนทั้งหมดได้ไง เราว่าโมเดลของปุ้มดีมากเลย (คือทุกคนเป็น Maker แล้วแชร์พื้นที่ขายของ กับแบ่งเวรมาทำงาน ต้นทุนค่าเช่าก็เลยถูกกว่า แล้วไม่ต้องเสียค่าจ้างเด็กมาเฝ้าร้านด้วย)

ปุ้ม : เจ๋อ… ชอบเดิน (หัวเราะ) ก็เดินเล่นแถวบ้าน เห็นร้านนี้เป็น Maker’s Space ก็เข้าไปคุยกับเขาว่าถ้ามีสเปซว่างอย่าลืมบอกนะ! วันหนึ่งก็ว่างจริง ๆ พอเขาโทรมาถาม เราบอกเลย เอา! เซ็นสัญญาเลย ยังไม่ได้ปรึกษาสามีด้วย (หัวเราะ) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในปีแรกที่เริ่มทำแบรนด์ ดวงมาก

ปุ้ม-พรรณทินี ลินน์ สาวไทยในพอร์ตแลนด์ อเมริกา ผู้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Silly Daisy ที่ขายดีจนขยายสู่ของแต่งบ้าน
ปุ้ม-พรรณทินี ลินน์ สาวไทยในพอร์ตแลนด์ อเมริกา ผู้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Silly Daisy ที่ขายดีจนขยายสู่ของแต่งบ้าน
ภาพ : instagram.com/pluralcollectivepdx

อุ้ม : เคยทำร้านมาก่อนมั้ย

ปุ้ม : เคยไปทำซูเปอร์มาร์เก็ตสมัยอยู่อังกฤษ เกี่ยวมั้ย (หัวเราะ) แต่เรามีความเป็นแม่ค้านะ สมัยก่อนพ่อแม่เรามีสวนแถวรังสิต ที่บ้านมีอพาร์ตเมนต์ให้เช่า อีนี่ก็ใส่ชุดนักศึกษามานั่งขายมะม่วงใต้ตึก (หัวเราะ) แม่ก็ให้คนงานไปเก็บมะม่วงมาให้ขาย ชอบขายของ สนุกดี เราว่าเรากับอุ้มเหมือนกัน คือดวงไม่ได้เป็นคุณนาย (หัวเราะ) ชอบหาอะไรทำ จะมานั่งกระดิกตรีนไม่ได้นะ เบื่อ (หัวเราะ)

อุ้ม : อีกอย่างก็คือ ทัศนคติแบบ ไม่เคยทำก็ไม่เป็นไร ทำไปแล้วเดี๋ยวก็รู้เอง แต่ก็ไม่ใช่มาแบบเอ๋อไม่รู้อะไรเลยอีกเหมือนกันเนอะ มันต้องมีประสบการณ์สั่งสมมาประมาณนึงด้วย

ปุ้ม : แล้วก็ต้องมีรสนิยมที่ดีด้วยนะเราว่า อีกอย่างคืออย่าไปทำอะไรที่เป็นเทรนด์ ไม่ใช่อุ๊ยปีนี้สไตล์นี้มาแรง ก็ทำใหญ่เลย อ้าวแล้วปีหน้ามันไปแล้วทำไงล่ะ ของเต็มร้าน

อุ้ม : ถามอีกเรื่อง การไปออกบูทตามงาน มีอะไรแนะนำบ้าง

ปุ้ม : แรก ๆ ก็ทำไม่เป็นเหมือนกัน จะวางยังไงดีวะ แรก ๆ สะเปะสะปะมากเลย โรงลิเกมาเลยทีเดียว (หัวเราะ) เราว่ามันต้องไปเดินแล้วก็ดูว่าชาวบ้านชาวเมืองเขาทำยังไงกัน ตอนแรกที่ไปออกบูท เดินไปเห็นป้ายร้านของคนอื่น กลับมารีบพับของตัวเองเก็บเลย (หัวเราะ) แรก ๆ มันก็จะเด๋อ ๆ หน่อย เสื้อผ้าเต็มไปหมด มีกี่ลายโชว์มันหมดเลย แต่พอย้อนกลับมาดูตอนนี้นะ เราว่าเสื้อผ้าเราลายมันเยอะอยู่แล้ว ยิ่งเอามาแขวนเยอะ ๆ มันยิ่งทำให้คนตาลาย เลือกไม่ถูก ตอนนี้เราเลยเลือกเอาไม่กี่แบบ เพราะตอนนี้เริ่มรู้แล้วว่าสีไหนแบบไหนจะขายดีกว่า แต่มันก็ต้องลองไปก่อนแหละถึงจะรู้

ปุ้ม-พรรณทินี ลินน์ สาวไทยในพอร์ตแลนด์ อเมริกา ผู้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Silly Daisy ที่ขายดีจนขยายสู่ของแต่งบ้าน
ปุ้ม-พรรณทินี ลินน์ สาวไทยในพอร์ตแลนด์ อเมริกา ผู้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Silly Daisy ที่ขายดีจนขยายสู่ของแต่งบ้าน

อุ้ม : ทำแบรนด์มา 5 ปีแล้ว ตอนนี้รู้สึกยังไงบ้าง

ปุ้ม : รู้สึกว่ามันเป็นอาชีพ สมัยทำแรก ๆ เรายังมีความแบบ ต้องไปหาอะไรอย่างอื่นทำ อันนี้จะมาเป็นงานหลักคงไม่รอด เพราะรายได้ไม่มากเท่าไหร่ แต่ตอนนี้รู้สึกว่ามั่นคงพอจะเรียกว่าเป็นอาชีพได้แล้ว เพราะมีอะไรทำทุกวันเลย ไม่มีวันไหนว่าง เข้าร้านอาทิตย์ละ 2 วัน ที่เหลืออีก 3 วันก็ต้องทำของ ค่าตอบแทนก็โอเคพอใจแล้ว ถึงแม้ไปทำอย่างอื่นคงได้มากกว่านี้

อุ้ม : สมคิดนะ ชอบมาบอกว่า ถ้ายูอยากทำงานจริง ๆ ยูเรียนโฆษณามา ยูไปสมัครงานเอเจนซี่ ไปทำบริษัทสิ

ปุ้ม : เหมือนแมท (สามี) เลยยยยย! อิปั๋วนี่ไม่เข้าใจ

อุ้ม : ก็นั่นน่ะสิ เรียนจบมา 30 ปีที่แล้ว ไม่ได้ทำงานมา 10 ปี อยู่ดี ๆ จะให้เดินเข้าไปสมัครงานเอเจนซี่ ใครเขาจะรับ! เขามีตัวเลือกเยอะแยะ

ปุ้ม : อีกอย่างนะ ถ้าเราออกไปทำงาน 9 – 5 ต้องหย่าผัว ต้องตีกันตาย บ้านแตกแน่นอน แค่เราไปร้าน กลับมาชามเต็มอ่างไม่มีคนล้าง เรายังโกรธเลย

อุ้ม : แล้วใครจะสแตนด์บาย สมมติลูกล้มหัวฟาด ที่โรงเรียนโทรมาตามตอนเที่ยงเงี้ย (เรื่องจริง เคยโดนมาแล้ว) สรุปว่าทำธุรกิจเล็ก ๆ แบบนี้แหละเนอะ ก็เหมาะกับแม่บ้านที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีฝีมือ

ปุ้ม : และมีสามีเลี้ยง (หัวเราะ)

ปุ้ม-พรรณทินี ลินน์ สาวไทยในพอร์ตแลนด์ อเมริกา ผู้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Silly Daisy ที่ขายดีจนขยายสู่ของแต่งบ้าน

จบการคุยกับเพื่อนสาวคนเก่งแต่เพียงเท่านั้น

มีสาระและเป็นวิชาการสูงมากจนคนฟังส่ายหัว (ฮ่า ๆ) แต่อยากบอกว่า แบรนด์ใหญ่ ๆ ดัง ๆ ของพอร์ตแลนด์ที่อุ้มเคยไปสัมภาษณ์มา ก็เริ่มจากเล็ก ๆ ทำในครัวในห้องนอนที่บ้านกันทั้งนั้นแหละค่ะ แต่ที่ประสบความสำเร็จกันก็เพราะทุกคนทำของที่รัก ทำด้วยใจ และของเขาดีจริง

ที่สำคัญ คือต้องมีก้าวแรก เหมือนอย่างที่ Marquise du Deffand บอกไว้ว่า “The distance doesn’t matter; it is only the first step that is the most difficult.”

อุ้มกับปุ้มผ่านก้าวแรกกันมาแล้ว หาทางที่คิดว่าจะเดิน แล้วก้าวตามกันมานะคะ

ภาพ : www.instagram.com/sillydaisy

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์