จำได้ไหมว่าใครตั้งชื่อจริงให้เรา และชื่อเรามีความหมายว่าอะไร

บางคนถือว่าชื่อที่พ่อแม่หรือพระสงฆ์ตั้งให้ด้วยความรักความปรารถนาดีคือมงคลสูงสุดของชีวิต แม้มีตัวอักษรที่ถูกทักว่า ‘เป็นกาลกิณี’ ก็ไม่เป็นไร แต่บางคนเมื่อเกิดสิ่งไม่ดีกับชีวิตมากๆ เข้าก็คิดว่าเป็นเพราะชื่อ และไปเปลี่ยนชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคลและความสบายใจ แต่ทั้งสองกรณีต่างเป็นไปด้วยความคิดที่ว่าเจ้าของชื่อย่อมอยากมีชื่อที่คิดว่าดีและเหมาะสมกับตนมากที่สุด การคัดเลือกแม่ทัพนายกองเพื่อออกรบ นอกเหนือจากความสามารถ ยังต้องพิจารณาถึงชื่อที่บ่งบอกความเป็นสิริมงคลและมีอำนาจเหนือข้าศึก ยิ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในบ้านเมือง ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการตั้งชื่อ

The Cloud เคยเล่าไปแล้วว่า ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562 ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เราจะได้พบกับโครงการ วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลาคณะทำงานนำทีมโดยคุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน เล่าประวัติศาสตร์วังหน้าด้วยวิธีแปลก ใหม่ และสด

วิธีของคุณใหม่คือ เชิญคนเก่งจากสารพัดวงการ ทั้งศิลปิน ช่างเขียนรูป นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักพฤกษศาสตร์ นักร้องประสานเสียง นักทำหนัง ร็อกเกอร์ เชฟ สถาปนิก นักภาษาศาสตร์ ฯลฯ มาดูร่องรอยประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งของชาติไทย แล้วสร้างชิ้นงานตามความถนัด

‘นักภาษาศาสตร์’ จะสร้างงานแบบไหนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์วังหน้า

ตามโบราณราชประเพณี เมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะต้องมีการจารึกพระบรมนามาภิไธยลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏ หรือจารึกชื่อบนแผ่นทอง ในช่วงรัชกาลที่ 4 ก็เช่นกัน แต่เป็นพระบรมนามาภิไธยที่ ‘แหวกม่านประเพณี’ ในหลายแง่มุม ทำให้น่าสนใจอย่างยิ่งว่า แหวกอย่างไร และทำไม

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา วรรณกรรม และประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย ผศ. ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ (นักภาษาศาสตร์) บุญเตือน ศรีวรพจน์ (นักประวัติศาสตร์และกวี) พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณฯ (ชวิน รังสิพราหมณกุล หัวหน้าพราหมณ์ สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง) และ พงศ์ศิษฏ์ ปังศรีวงศ์ (นักการทูต) ร่วมกัน ‘ถอดรหัส’ ความหมายพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  

คติความเชื่อโบราณในศาสนาพราหมณ์กล่าวว่า ถ้อยคำอันเป็นมงคลส่งผลเป็นรูปธรรมได้ พระปรมาภิไธยที่มีความหมายเป็นมงคล ย่อมบ่งบอกล่วงหน้าถึงรัชสมัยอันรุ่งโรจน์รุ่งเรือง

พูดภาษาชาวบ้านคือ ลองมาดูกันซิว่ารัชกาลที่ 4 ทรงตั้งชื่อสำหรับขึ้นครองราชย์ให้ตัวท่านเองและน้องชายว่าอย่างไร ในชื่ออย่างเป็นทางการของสองบุรุษผู้ดำรงสถานะหมายเลขหนึ่งและสองของประเทศ แฝงไปด้วยวิธีคิดทางการเมืองการปกครอง ประเพณีวัฒนธรรม และความงามทางภาษาอย่างไร และมี ‘ของใหม่’ ที่ไม่ปรากฏในพระนามรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 อย่างไรบ้าง

พระปรมาภิไธย, วังหน้านฤมิต

ชื่อนั้นสำคัญไฉน

ผศ. ดร.ประพจน์ กล่าวว่า “ในภาษาต่างๆ จะมีคำสำคัญอยู่สองอย่าง คือ คำเรียกชื่อ กับ คำที่แสดงกิริยา ถ้าไม่มีชื่อก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร คนไทยเรามีคำเรียกชื่อหลายอย่าง มีคำว่า ชื่อ นาม สมัญญา ฉายา พระนาม พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธย ราชทินนาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้บ่งบอกว่ามีความซับซ้อนในความคิดเรื่องชื่อของคนไทย”

พระปรมาภิไธย, วังหน้านฤมิต

“ชื่อเป็นสิ่งที่กำหนดลักษณะหรืออัตลักษณ์ของบุคคล” อาจารย์บุญเตือนกล่าว “เด็กเพิ่งเกิดใหม่ ผิวดำ คนโบราณก็เรียกไอ้ดำ เด็กชายดำ หรือตั้งให้ใกล้เคียงกับผู้เป็นต้นสกุลหรือผู้เป็นใหญ่ในสกุล พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เช่น นายด่อน นายแดง นายดำ นายเด่น ตั้งแต่สมัยอยุธยา ก็ไม่ปรากฏว่าชาวบ้านหรือผู้คนในราชสำนักใช้ชื่อที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต

“แต่ในภายหลัง เมื่อเรามีความสัมพันธ์กับชาติอื่นๆ ความหมายของชื่อก็สำคัญมากขึ้น การตั้งชื่อจำเป็นต้องเน้นไปที่ความหมาย จากของเดิมเราตั้งชื่อเป็นสิ่งระบุสัญลักษณ์ของบุคคล โดยเฉพาะในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีตำราโหราศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่อยุธยาตอนต้น เช่น ตำราพิชัยสงคราม ระบุไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นแม่ทัพต้องใช้ชื่อตัวอักษรอย่างไร ข้าราชการในราชสำนักก็ต้องตั้งชื่อให้สัมพันธ์กับงานที่ตัวเองทำ” อาจารย์บุญเตือนกล่าว

“การตั้งชื่อของคนไทยเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อมี 3 หลักใหญ่ๆ คือความเชื่อตามคติพุทธ พราหมณ์ และผี ซึ่งเป็นเรื่องของท้องถิ่น อย่างเด็กโบราณเขาจะตั้งชื่อให้น่าเกลียดเข้าไว้ เช่น เด็กเกิดใหม่มีหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู แต่คนรอบข้างจะบอกว่าเด็กรูปร่างหน้าตาน่าเกลียด เพราะถ้าบอกว่าน่ารักผีจะชอบ ชื่อต่างๆ เช่น ชื่ออึ่ง เขียด กบ เป็นสิ่งที่พอผีได้ยินปุ๊บ ไม่ชอบ ก็จะไม่เอาไปอยู่ด้วย”

ตามธรรมเนียมไทยที่มีมาแต่โบราณกล่าวว่า ชื่อบุคคลไม่เพียงระบุคุณสมบัติประจำตัว แต่ยังบ่งบอกบริบทด้านสังคมและศาสนา และระบุลักษณะเฉพาะที่ผู้ตั้งชื่อปรารถนาให้เจ้าของชื่อพึงมี

“คนไทยเชื่อว่าภาษาไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์ แต่ตัวอักษรยังมีความผูกพันกับความเป็นจริงและสิ่งที่จับต้องไม่ได้ การตั้งชื่อคนก็มีผลกระทบกับความเป็นจริง ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเวท เราเชื่อว่าตอนเราอ่านคำออกมา เป็น ‘มันตระ’ คือเป็นเสียงที่ไม่ใช่แค่เป็นสัญลักษณ์ แต่ยังเชื่อมโยงกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความต้องการ ความปรารถนา ความสำเร็จ ชื่อพระพุทธเจ้า สิทธัตถะ ก็แปลว่า ผู้ที่ประสบตามจุดประสงค์ของตน” พงศ์ศิษฏ์กล่าว

พระนามกษัตริย์ นอกจากแสดงถึงพระราชอำนาจในฐานะประมุขของประเทศ ยังประกอบด้วยสิ่งบ่งบอกขัตติยราชสกุล คุณลักษณะต่างๆ ที่จำเป็นต่อหน้าที่ผู้ปกครองประเทศ และพรอันประเสริฐอีกหลายประการ

“พระนามเจ้านายในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระนามเมื่อแรกประสูติก็เรียกเจ้าฟ้าเล็ก เจ้าฟ้าน้อย เจ้าฟ้าใหญ่ พระองค์เจ้าแขก พระองค์เจ้าละมั่ง หรือชื่อสัตว์ต่างๆ” อาจารย์บุญเตือนอธิบายเพิ่มเติมถึงพระนามลำลองที่ใช้เรียกขานเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์

“หลังจากนั้นเมื่อเจ้านายเจริญวัยขึ้น ถ้าเป็นเจ้าฟ้าก็ต้องมีการเฉลิมพระนาม จารึกพระนามลงในพระสุพรรณบัฏ คือแผ่นทอง นี่เป็นเรื่องของพิธีกรรม ชื่อที่บันทึกบนพระสุพรรณบัฏจะตั้งตามตำรา บางครั้งดึงมาจากตำราพิชัยสงคราม ตำราโหราศาสตร์”

พงศ์ศิษฏ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ถ้าเป็นในทางเอเชียใต้ ชื่อของกษัตริย์จะเกี่ยวข้องกับศาสนาที่ท่านยกย่องหรือเป็นองค์อุปัฏฐากอยู่ อย่างกษัตริย์ที่มีชื่อว่า อิศวร หรือมีคำที่เกี่ยวข้องกับพระศิวะในชื่อ เช่น มหาเทพ ก็คือกษัตริย์ที่บูชาพระศิวะ ส่วนกษัตริย์ที่มีคำว่า นาถ ก็คือบูชาพระกฤษณะ พระราม หรือพระนารายณ์ เราเห็นแนวในการตั้งพระนามาภิไธยแบบนี้ในยุคขอมด้วย ในธรรมเนียมไทยก็เริ่มเห็น เช่น สมเด็จพระรามาธิบดี”

พระปรมาภิไธย, วังหน้านฤมิตพระปรมาภิไธย, วังหน้านฤมิต

อาจารย์บุญเตือนระบุว่า พระบรมนามาภิไธยประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

  1. พระนามเดิม เช่น รัชกาลที่ 4 ท่านมีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ ตอนท่านประสูติคนก็ขานพระนามอย่างลำลองว่า เจ้าฟ้าใหญ่ เมื่อสมเด็จพระราชบิดาทรงประกาศเฉลิมพระนามจาก เจ้าฟ้าใหญ่ ก็มาเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ในสุพรรณบัฏใช้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ คือเอาพระนามเดิมมาเป็นส่วนตั้งต้น พระนามรัชกาลที่ 5 ก็เป็นไปตามลักษณะนี้ คือส่วนที่บอกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ เพราะพระนามเดิมของพระองค์คือ สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์
  2. สร้อยพระนาม ที่จะกล่าวถึงว่าทรงเป็นใคร ทรงมีความรู้ความสามารถอย่างไร ทรงใช้ธรรมข้อใดในการปกครอง ทรงมีพระอุปนิสัยที่เยือกเย็นอย่างไร แล้วค่อยขยายความยิ่งใหญ่ของราชสกุลทั้งฝ่ายพระราชบิดาและพระราชมารดา พระราชอัธยาศัย การศึกษา และลักษณะส่วนพระองค์ต่างๆ จะถูกบันทึกลงในสร้อยพระนามนี้
  3. พระนามแผ่นดิน คือส่วนที่มีคำว่า ‘เจ้าอยู่หัว’ ในที่นี้คือส่วนท้ายพระนาม (พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นชื่อที่ใช้ขานเพื่อเรียกระยะเวลาในแผ่นดินนั้นๆ ถ้าสมัยอยุธยาก็คือพระนามอย่างเช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

พงศ์ศิษฏ์อธิบายเพิ่มเติมว่า “พระนามรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เป็นพระนามเหมือนกันทุกพระองค์ และในพระนามก็ไม่มีการเน้นลักษณะส่วนบุคคล แต่จะเน้นความเชื่อมโยงระหว่างกษัตริย์กับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์มากกว่า ไม่มี 3 ส่วนแบบนี้ แม้กระทั่งสร้อยพระนามที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธก็ไม่ค่อยมี” รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงมีพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏคล้ายๆ กัน คือมีเนื้อความเน้นความสำคัญของความเป็นเทวราชา การสืบเชื้อสายจาก ‘สุริยวงศ์’ (ตระกูลพระอาทิตย์) นี่คือโบราณราชประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมา

พ.ศ. 2394 เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จเสวยราชสมบัติและต้องมีการเฉลิมพระนาม พระองค์ทรงเลือกที่จะ ‘แหวกม่านประเพณี’ โดยการใส่ ‘ภาพลักษณ์’ ที่พระองค์มีพระราชประสงค์ลงไปในพระนาม สะท้อนบุคลิก ประสบการณ์ และความเชื่อส่วนพระองค์ และทรงตั้งชื่อให้สมเด็จพระอนุชาธิราช (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ด้วยพระองค์เอง

ต่อไปนี้คือพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏของทั้งสองพระองค์

พระปรมาภิไธย, วังหน้านฤมิต พระปรมาภิไธย, วังหน้านฤมิต

พระปรมาภิไธย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏ สมมุตติเทพยพงษ์ วงษาดิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรกรีบรมนาถร อิศรราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบุลย์ บุรพาดุลยกฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤสดิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคสผุสต์ บาทกมุทยุคลประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมาลมหาบุรุษรัตน์ ศึกษาพิพัทธสรรพโกศล สุวิสุทธวิมลศุภศีลสมาจาร เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุคุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ เอกัคมหาบุรุษ สุตพุทธมหากวี ตรีปิฏกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบุรณคุณสารสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินทร มหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต ปรปักษทศทิศวิชิตไชย สกลมไหสวรรย์มหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราช วโรดมบรมนารถชาติอาชาวไสย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระปรมาภิไธย, วังหน้านฤมิต

พระบวรนามาภิไธย

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระปวเรศทราเมศร์ มหิศเรศรังสรรค์ มหันตวรเดโช ไชยมโหฬารคุณอดุลเดช สรรพเทเวศรานุรักษ์ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราหะณี จักรกรีบรมนารถ อิศรราชรามวรังกูร บรมมกุฏนเรนทรสูรย์โสทรานุชาธิบดินทร์ เสนางคนิกรินทร บวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศรมหิทธิวรนายก สยามาทิโลกยดิลกมหาบุรุษรัตน์ ไพบุลยพิพัฒสรรพศิลปาคม สุนทโรดมกิจโกศล สัปตปดลเสวตรฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบวรราชาภิเศกาภิศิต สรรพทศทิศวิชิตไชย อุดมมไหสวริยมหาสวามินทร์ สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวไศรย ศรีรัตนไตรยสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิ์สกลรัษฎาธิเบนทร์ ปวเรนทรธรรมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

สำหรับสามัญชนอย่างเราๆ อ่านแล้วคงบอกได้แค่ว่า ทั้งสองชื่อนี้ยาวดี แต่ไม่เข้าใจความหมาย แต่แท้จริงแล้วในชื่อทั้งสองมีเรื่องราวแฝงอยู่อีกมาก “นอกจากทรงแตกฉานด้านอักษรศาสตร์ พระพุทธศาสนา อีกด้านที่ทรงพระปรีชาคือดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ การตั้งชื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ด้วย” อาจารย์บุญเตือนกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นเอกด้านการตั้งชื่อ

เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ตามรายนามข้างต้นจึงช่วยกันสรุปข้อสังเกตถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชนิพนธ์พระนามทั้งสองนี้ได้ 3 ข้อ คือ

พระปรมาภิไธย, วังหน้านฤมิต

  1. เป็นครั้งแรกที่ชื่อกษัตริย์แสดงความเป็น ‘คนธรรมดา’ ไม่ใช่สมมติเทพเพียงอย่างเดียว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกทำตามโบราณราชประเพณีบางอย่าง แต่หลายอย่างก็ทรงทำตามพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ เช่น ทรงเลือกคงความเป็น ‘เทวราชา’ ไว้ในพระนามเหมือนรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 แต่สิ่งใหม่ที่ทรงทำคือ ผนวกพระนามเดิม ‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ เข้าไว้ด้วย (ในวรรคที่ว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏ) แสดงให้เห็นว่าแม้ทรงเป็นกษัตริย์ แต่ก็ทรงเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับไพร่ฟ้าประชาชน ไม่ได้แสดงความเป็นเทวราชาเพียงอย่างเดียว

วรรคที่กล่าวว่า อิศรราชรามวรังกูร มีความหมายว่า ‘ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ สืบเชื้อสายมาจาก ‘พระเจ้ามหาสมมติราช’ พระราชาองค์แรกตามคัมภีร์พุทธศาสนา ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเปรียบเสมือนพระสมมติเทพ และทรงเป็นกษัตริย์ในดินแดนมนุษย์โลก

ส่วน มหาชนนิกรสโมสรสมมติ มีความหมายว่า ‘เหล่ามหาชนร่วมประชุมเห็นพร้อมกันถวายสิริราชสมบัติ’ เป็นการแสดงพระราชประสงค์ที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ทรงครองราชสมบัติโดยได้รับความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในพระนามกษัตริย์ในอดีต

เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงตั้งชื่อให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเติมเนื้อความลงไปด้วยว่า นี่คือน้องชายแท้ๆ ของฉันคือวรรคที่ว่า บรมมกุฏนเรนทรสูรย์โสทรานุชาธิบดินทร์ เพราะแปลว่า ทรงเป็นพระอนุชาธิราชร่วมพระอุทรกับรัชกาลที่ 4 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเช่นเดียวกัน

ส่วน มหิศเรศรังสรรค์ เป็นการเล่นคำให้คล้องกับพระนามทรงกรมของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรมขุนอิศเรศรังสรรค์) พระนามวรรคนี้ ในภาษาสันสกฤตแปลว่า รังสรรค์หรือแต่งตั้งโดยพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งอาจหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงตั้งชื่อนี้ให้น้องชายท่านนั่นเอง

พระปรมาภิไธย, วังหน้านฤมิต

ตามที่อาจารย์บุญเตือนอธิบายไว้ว่า ส่วนประกอบสุดท้ายในพระนามคือ พระนามแผ่นดิน ในกรณีนี้ การใช้พระนามแผ่นดินลงท้ายว่า พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังเป็นการแสดงให้เห็นความเป็นคนธรรมดา เพราะ ปิ่นเกล้า มีความหมายตรงกับคำว่า จุฑามณี อันเป็นพระนามเดิม (คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี ก่อนทรงกรมเป็น กรมขุนอิศเรศรังสรรค์)

อาจารย์ประพจน์ให้ความเห็นว่า การใส่ความเป็นตัวตนขององค์พระมหากษัตริย์ลงไปในชื่ออาจเป็นอิทธิพลจากตะวันตก และสิ่งที่ทรงระบุในชื่อก็สัมพันธ์กับสิ่งที่ทรงทำจริงๆ “ก่อนขึ้นเสวยราชย์ ท่านเป็นพระ แล้วก็เสด็จธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ เริ่มความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับราษฎรในลักษณะอีกแบบหนึ่ง ถ้าเป็นสมัยก่อน การเป็นกษัตริย์คือ ลอยอยู่เบื้องบน จะเสด็จมาให้เห็นตอนมีพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น แต่สมัยรัชกาลที่ 4 จะเห็นว่าท่านทรงสื่อสารกับประชาชนจริงๆ” อาจารย์ประพจน์กล่าว

“เวลาท่านจะทำอะไร เช่นท่านจะเปลี่ยนเรื่องเงินตรา เปลี่ยนจากแบบเดิมเป็นเงินเหรียญหรือกระดาษ ท่านจะเขียนอธิบายยืดยาว เงินมาอย่างไร และตอนนี้ท่านจะเปลี่ยนแล้วนะ หรือแม้แต่เรื่องที่คนเจ็บไข้มากเวลาเปลี่ยนฤดูกาล หนาวเป็นร้อน ร้อนเป็นฝน ท่านก็ชี้แจงเยอะว่าเป็นเพราะอะไร จะเห็นว่ามีพระบรมราชาธิบายเยอะมากในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีประกาศต่างๆ ให้ประชาชนได้รู้ว่าจะทำอะไร และเพราะอะไร” อาจารย์ประพจน์กล่าว แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนธรรมดา ที่รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์จะสื่อสารกับพสกนิกร และทรงทำจริงๆ ไม่ใช่ทรงเพียงแต่งพระนามให้ฟังดูเป็นเช่นนั้น

พระปรมาภิไธย, วังหน้านฤมิต

  1. เป็นครั้งแรกที่ชื่อกษัตริย์แสดง “บุคลิกส่วนตัว”

ก่อนเสวยราชสมบัติ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎทรงดำรงสมณเพศอยู่ถึง 27 ปี เป็นโอกาสให้ทรงได้ใกล้ชิดประชาชน และทรงศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎก อย่างแตกฉาน ในพระนามจึงมีวรรคที่ว่า พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ ซึ่งแปลว่า ผู้ปกครองถึงซึ่งที่พึ่งคือพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นอาทิ

วรรคที่ว่า เมตตากรุณาสีตลหฤไทย เป็นการระบุว่าทรงมีพระอุปนิสัยเมตตากรุณา เยือกเย็น เห็นอกเห็นใจ ทรงมีสมาธิและความรู้ตัวทั่วพร้อม มีพระสติปัญญาเฉียบคม ซึ่งเป็นผลจากการเจริญสมาธิตามหลักพุทธศาสนา สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 ว่าทรงต้องการเป็นกษัตริย์ที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ เพื่อทรงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระมหากษัตริย์ และเข้าใจประชาชนได้อย่างถ่องแท้

อาจารย์ประพจน์อธิบายว่า สิ่งนี้ถือว่าเป็นของใหม่ เพราะก่อนรัชสมัยรัชกาลที่ 4 การปกครองยังไม่ค่อยมีลักษณะเป็นแบบรวมเข้าศูนย์กลาง ประมุขของประเทศทรงใช้วิธีแต่งตั้งคนออกไปปกครองท้องถิ่นที่ห่างไกล “แต่รัชกาลที่ 4 ทรงเริ่มมีความคิดที่ว่า ท่านเป็นผู้ปกครองของดินแดนทั้งหมดนี่นะ ลักษณะการรวมศูนย์ยิ่งเด่นชัดมากในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะเริ่มมีแบบเรียนภาษาไทย เอาภาษาให้ได้เหมือนกันก่อน ไม่ต้องพูดคนละภาษา ไม่งั้นหนังสือราชการพูดกันไม่ได้” อาจารย์ประพจน์อธิบาย

เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงยกฐานะน้องชายของท่าน คือเจ้าฟ้าจุฑามณี ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระราชทานพระนามที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถของเจ้าฟ้าจุฑามณีในด้านการทหาร เนื่องจากน้องชายของท่านดำรงตำแหน่งวังหน้า ที่มีหน้าที่ปกป้องแผ่นดินและพระบรมมหาราชวังตามโบราณราชประเพณีตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงทรงตั้งชื่อให้สะท้อนถึงหน้าที่นี้ด้วยวรรคที่ว่า พลพยุหเนตรนเรศรมหิทธิวรนายก แปลความหมายได้ว่า ทรงเป็นพระราชาผู้นำกองทัพ

  1. เป็นครั้งแรกที่ชื่อกษัตริย์บ่งบอกสถานะ ‘หมายเลขหนึ่ง’ และ ‘หมายเลขสอง’ อย่างชัดเจน

แม้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงอยู่ในฐานะพระมหากษัตริย์ แต่พี่ชายของท่าน คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงระบุสถานะเบอร์หนึ่งและเบอร์สองอย่างชัดเจนในพระนามทั้งสองพระองค์ ด้วยการใช้คำว่า บรม กับ บวร

บรม แปลว่า ที่สุด หรือ อย่างยิ่ง ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงใช้กับพระนามของพระองค์เอง เพราะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มีพระราชอำนาจสูงสุด ส่วนน้องท่าน ก็ให้ใช้คำว่า บวร ซึ่งแปลว่า ประเสริฐ และตลอดพระนามยังมีการใช้คำศัพท์ที่ย้ำให้เห็นความเป็น “สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามพระองค์ใหญ่” กับ “สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามพระองค์ที่สอง” นับเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์

อาจารย์ประพจน์กล่าวย้ำว่า “ความจริงคำว่า บวร เกิดก่อนคำว่า บรม แต่ รัชกาลที่ 4 ท่านใช้เพื่อแยกระหว่างวังหลวงกับวังหน้า คำว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่หมายถึงวังหน้า เป็นคำเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา”

พระนามของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีวรรคที่กล่าวว่า บวรจุลจักรพรรดิ มีความหมายว่า พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์น้อยผู้ประเสริฐ และทรงมี สัปตปดลเสวตรฉัตร ฉัตรขาว 7 ชั้นเป็นเป็นประกอบพระราชอิสริยยศ แต่ต่างกับรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระองค์ทรงมี นพปดลเสวตรฉัตราดิฉัตร  ฉัตรขาว 9 ชั้น และที่สำคัญคือ คำขึ้นต้นพระบวรนามาภิไธยไม่มีคำว่า พระบาท ดังที่ปรากฏในพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 4  

การร่วมมือกันของผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาในครั้งนี้อาจนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการ ‘ถอดรหัสพระนามกษัตริย์’ อย่างละเอียด ทำให้เข้าใจว่าพระนามอันแสนยาวนั้น มิใช่เพียงการนำคำไพเราะและคล้องจองมาเรียงต่อๆ กัน แต่แฝงความหมายอันเป็นสิริมงคล สมพระเกียรติยศและระบุพระราชประสงค์ของเจ้าเหนือหัว ที่เมื่อแปลความแล้วทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ช่วงที่เจ้าของพระนามทรงครองราชสมบัติ และเป็นประวัติศาสตร์ช่วงที่สำคัญยิ่งของสยาม

พระปรมาภิไธย, วังหน้านฤมิต

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan