“ชื่อเรามาจากยาสีฟันซิกแนล สมัยก่อนดังมาก เขาเลยเอามาตั้งชื่อให้ เรามีชื่อเล่นเยอะ

“ถ้าเรียกชาลี รู้เลยว่าเพื่อนจากลพบุรี เพื่อนสิงห์บุรีจะเรียกโอลีฟ ถ้าแนลคำเดียวเพื่อนจากรามฯ เรียกซิกแนลเป็นเพื่อนจากตาคลี คนบนดอยเรียกเราสมพร ลูกค้าอเมริกาก็เรียกสมพร ส่วนคนญี่ปุ่นเรียกแนลซัง” 

แค่ชื่อเล่นคุณคงเดาไม่ยากว่าชีวิตของ ซิกแนล-สมพร อินทร์ประยงค์ จะแสบสันและสนุกขนาดไหน

สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล

สาวตาคลีคนนี้เธอแหวกขนบมาตั้งแต่เด็ก สวมกางเกงยีนส์สุดจ๊าบ ทรงผมเปิ๊ดสะก๊าด เธอว่านั่นแหละตัวตน เธอโชคดีที่ค้นเจอตัวเองตั้งแต่อายุ 13 เส้นทางชีวิตของเธอขึ้นรถไฟ ปีนท้ายกระบะ โหนรถขยะ นอนบนดอย แม่ค้าจตุจักร จนชีวิตเธอโกอินเตอร์ โอเค นัมเบอร์วันถึงเมืองนอก ด้วยผลงานและฝีเข็มที่เริ่มต้นจากตัวเธอเอง

เธอนิยามตนเองว่าเป็นคนเย็บผ้า ทว่าเราค้าน เธอคือศิลปินโฟล์คอาร์ต-งานเธอมันฟ้อง 

เธอยืนยันคำเดิม เธอคือคนเย็บผ้า-ชีวิตเธอมันฟ้อง

เรียกคุณว่าศิลปินได้หรือเปล่า

เราเป็นศิลปินที่ไหนเล่า เราคิดแต่ว่าเราเป็นคนเย็บผ้า ทุกวันนี้ก็ยังเป็นคนเย็บผ้า

แต่มีคนเรียกคุณว่า Textile Artist นะ

นั่นเรื่องของเขา (หัวเราะ) เขาจะเรียกอะไรก็ได้ แต่เราต้องรู้จักตัวเราก่อนว่าเราเป็นอะไร

แล้วตัวคุณนิยามตัวเองว่าเป็นอะไร

เป็นคนเย็บผ้า เย็บผ้าให้คนอื่นใส่ เย็บผ้าให้ตัวเองใส่

สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล

คนเย็บผ้าคนนี้เติบโตมาแบบไหน

บ้านเราอยู่ตาคลี เป็นลูกคนกลางจากสี่คน เป็นคนเฮี้ยว อยากเด่นตั้งแต่เด็ก สมัยนั้นเป็นยุคสงครามเวียดนาม เจอทหารฝรั่งก็ถามเขา What is my name. อยากอวดเพื่อนว่าเราพูดเป็น ฝรั่งก็ไม่ทักสักที ก็ไปจับมือเขา เขย่ามือเขา เหมือนเด็กเหลือขอ วิ่งระราน เป็นเด็กหัวโจก แล้วก็รู้สึกว่าฉันเก่ง การเป็นคนเก่งทำเราเด่นขึ้นมาได้

คิดถูกมั้ย

ไม่มีผิดไม่มีถูก ถ้าอยู่ถูกที่ถูกเวลาก็ไม่น่าเกลียด ถ้าผิดเวลาก็กลายเป็นเด็กที่พ่อแม่รำคาญ 

จนป้ามาชวนเราไปอยู่ด้วยที่สิงห์บุรี เขาบอกว่ามีจักรยานให้ถีบนะ เอาเข้าจริงจักรยานที่เขาให้ถีบคือจักรยานที่ห่วยที่สุด เป็นสังกะสีก๊องแก๊ง แต่จักรยานที่เขาขายหน้าร้านดีหมดเลยนะ เราก็เลยวางแผน แอบถีบตอนจัดของ เราเลยได้ถีบจักรยานคันใหม่ทุกวันเลย มันก็เป็นการแก้ปัญหาของเด็กยามยากลำบากนะ ทำให้เราเรียนรู้

แล้วชีวิตเดินไปทางไหนต่อ

ป้าก็ฝากเข้าโรงเรียนเรียนประจำจังหวัดสิงห์บุรี เราไม่มีชุดนักเรียนใส่ อาก็ตัดชุดนักเรียนให้

เรามาจากตาคลีพอมาอยู่สิงห์บุรีก็นุ่งกางเกงยีนส์ตั้งแต่เด็ก เพราะพวกทหาร GI เขาให้มา สมัยนั้นเด็กผู้หญิงนุ่งกางเกงยีนส์ถือว่าน่าเกลียด ผิดระเบียบ ดัดจริต อยากเป็นสาวเร็ว คนไม่เรียกสมพรนะ เรียกกะหรี่

เราก็ไม่เข้าใจทำไมต้องเรียกเราแบบนั้น เราไม่ได้เป็น เพราะสมัยนั้นมีโฆษณาที่ผู้หญิงต้องนุ่งกระโปรง ผมก็หวีหน้าบ้านไม่ได้ต้องหวีในห้องนอน ใส่เสื้อชั้นในกับเสื้อไม่ได้ต้องใส่สลิป เรารู้สึกว่าการเป็นผู้หญิงไม่ปลอดภัย

พอช่วงมัธยมหลักสูตร คมส. รุ่น 1 รัฐบาลมีนโยนายให้เด็กไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย เราเรียนสายอาชีพ
มันมีวิชาพละ ก็ต้องใส่เสื้อพละ แต่เราไม่มี เลยยืมเสื้อเพื่อน พอเขาเรียนเสร็จเราก็ยืมเขาใส่ต่อในชั่วโมงที่เราเรียน มันก็มีเหงื่อ เขาก็เกลียดเรา รำคาญเรา เมื่อไหร่จะเลิกยืมของเขา เราเลยไปซื้อผ้ามาเย็บเสื้อพละเอง

สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล
สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล

แสดงว่าการเย็บเสื้อพละคือการจับเข็มครั้งแรก

เคยปะซ่อมผ้า เพราะป้าให้ทำ ‘กางเกงขาดมึงเย็บให้กูที’ เย็บทีก็โดนด่าโดนว่า เราก็น้อยเนื้อต่ำใจ เมื่อไหร่จะเย็บได้ดีสักที แต่มันก็ทำให้เราได้ฝึก ตอนเราเย็บเสื้อตัวแรกก็ทาบจากเสื้อพละของเพื่อน ไม่มีแพตเทิร์น คอไม่เท่ากัน แต่ตัวเรามั่นใจว่ามันเป็นเสื้อ หน้าที่ของเสื้อคือปกปิดร่างกาย เราว่ามันก็ทำหน้าที่ของมันแล้ว

 เราเป็นคนที่คนทั้งโรงเรียนจะสงสัยอยู่เรื่อยว่ายัยคนนี้ทำอะไรของมัน นั่นมันคือการแก้ปัญหาของเรา เพราะเราไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ 

จากตาคลีไปสิงห์บุรี จากสิงห์บุรีแล้วไปไหนต่อ

พอจบมอสามเราสอบเข้าเทคนิคลพบุรี เรียนเลขานุการ ถ้าเรียนรอบเช้าเราไม่ได้ช่วยงานแม่แน่นอน แม่บอกให้ออก ไม่ต้องเรียน เป็นผู้หญิงเดี๋ยวมีผัว ผัวก็เลี้ยง เราบอกแม่ว่าจะไม่มีผัว จะเรียนหนังสือ เลยขอเรียนรอบบ่าย นั่งรถไฟจากตาคลีมาเรียนลพบุรี ตอนเช้านั่งขายเสื้อยืด พอขายเสร็จเอาปลามาขูด ขายทอดมันปลากรายต่อ

ช่วงปิดเทอมตั้งแต่ปอสี่ถึงมอสอสาม เราเคยขายของบน บขส. ขายโอเลี้ยงกับสาคูไส้หมู ตอนเด็กบ้านเราส่งมะม่วงจากตาคลีมาขายที่คลองเตย ออกจากตาคลีห้าทุ่ม ถึงกรุงเทพฯ ตีสาม ขายให้เสร็จก่อนแปดโมงแล้วตีรถกลับ ทุกอย่างเป็นเรื่องการทำมาหากินทั้งหมด ช่วงขายของที่คลองเตยก็เก็บเศษผ้า ตะขอเสื้อใน กระดุม สายโทรศัพท์ 

เราเก็บมาเย็บกระเป๋าขาย ยังจำได้ว่าตอนเรียนพาณิชย์ ถุงก๊อบแก๊บเพิ่งมา เราหิ้วถุงก๊อบแก๊บไปเรียนหนังสือ สมัยนั้นเท่มาก เราเป็นคนเห็นอะไรเร็ว แล้วรู้ว่าอันไหนจะทำให้เราเด่นได้ ของพวกนี้มันมาของมันเองนะ

ชีวิตคุณไม่เคยหยุดอยู่กับที่ 

ช่วง ปวช. ปีสุดท้ายเรามาสมัครเรียนรามฯ ก็อยู่ชมรมถ่ายภาพ เป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย เราถูกเลือกให้ไปแข่งที่เชียงใหม่ เป็นจังหวะที่เจอ พี่เทพศิริ สุขโสภา เขาบอกเราว่าเรียนรามฯ ไม่ต้องเรียนก็ได้ ถึงเวลาค่อยไปสอบเอา 

สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล

อย่าบอกนะว่า

ไม่กลับ แข่งกีฬาเสร็จเราอยู่ที่นั่นเลย

พอดีเจอรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง เป็นคนตาคลี เป็นลูกคนรวยเจ้าของตลาด เขาอยู่ชมรมศิลปะการแสดง เขาก็ชวนไปแสดงหุ่นเชิดมือ ตอนนั้นเราก็เป็นลูกมือเย็บหุ่น ตระเวนสอนตามหมู่บ้านสิบหกจังหวัดภาคเหนือ จน พ.ศ. 2524 ไปออกค่ายที่อ่างขาง เจอคนมูเซอเอาหญ้ามาถักทำสร้อยขาย แต่มันมีสีเดียว เราเลยเอามาจุ่มสีย้อม ถักใหม่ เย็บใหม่ มาขายที่อ่างแก้ว เราได้อาชีพอีกแล้ว แค่ใส่อยู่กับตัวก็มีคนมาขอซื้อกลับบ้าน

หยิบจับอะไรก็กลายเป็นอาชีพไปเสียหมด

ทำหนังด้วยนะ เราเจอ พี่ไพจง ไหลสกุล ชวนเราไปตัดต่อหนัง แต่ทำไม่ไหว อ้วก เพราะแพ้ฟิล์มหนัง

สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล

มีช่วงหนึ่งที่คุณอยู่กับของขยะ ไปทำอะไร

ทำวิจัยแถวอ่อนนุช เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ ต้องพักบ้าน อาจารย์องุ่น มาลิก ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเขาคือใคร

ตอนเช้าเราต้องเกาะรถขยะเข้าอ่อนนุช ไม่นั่งรถเมล์นะ เพราะอยากรู้จักชีวิตคน แล้วกองขยะอ่อนนุชมหึมามาก เวลาขึ้นต้องไต่ขึ้นไป จะกินก็กินบนกองขยะ เหม็นก็ช่างเดี๋ยวอาบน้ำเอา การทำวิจัยของเราก็สัมภาษณ์คน เราไม่จดนะ จดแค่ชื่อคนกับเรื่องที่สำคัญ ถ้าจดเราไม่มีสมาธิ แต่เราอาศัยการฟังและใช้ชีวิตกับเขา กองขยะก็กลายเป็นครูอีก

ชีวิตคุณผ่านงานมาหลายอย่างเหลือเกิน มันสอนอะไรบ้างมั้ย

เราทำงานกับใครก็ตาม ถ้าทำเกินร้อย เขาจะเห็นความสามารถของเรา แล้วเขาจะหยิบเราขึ้นมาทำให้มีศักยภาพ ไปอยู่ที่ไหนเขาก็บอกต่อ เป็นเพราะเขาให้โอกาสด้วย ถ้ามีคนชวนไปไหนเราก็ไป เราไม่รู้หรอกเขาให้ทำอะไร บอกหนูแล้วกัน หนูทำได้ เขาได้เราไปคนเดียว เหมือนได้ทุกอย่าง เพราะเราทำได้ทั้งหมด

ชีวิตเรามันเป็นเรื่องการเอาตัวรอดมาโดยตลอด คนเราล้วนผ่านความยากลำบากมาด้วยการแก้ปัญหา ถ้าแก้ปัญหาชีวิตได้ จะรู้จักฉวยโอกาสเป็น เพราะเราทำเยอะกว่าคนอื่น เราจะรู้ว่าช่องทางไหนเป็นโอกาสของเรา

มีสัญญาณบอกมั้ยว่านี่คือ โอกาส

ไม่มีสัญญาณ มีแต่งาน ทำมันไปเถอะ การหาโอกาสให้ตัวเราคือการสร้างผลงาน 

ไม่ต้องคว้าโอกาสทั้งหมด

ใช่ ยิ่งเราทำงานเยอะก็ยิ่งเลือกโอกาสได้

สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล
สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล

ตอนไหนที่คุณหยุดทุกอย่าง แล้วเริ่มทำงานของตัวเอง

จตุจักร, เราขึ้นเหนือทุกอาทิตย์ ชาวบ้านเอาผ้ามาให้เราเป็นคันรถ เราซื้อนะ คนอื่นเขาก็ว่า เธอจะขายทำไมผ้าเก่า คนใช้เท่านั้นแหละที่ใส่ผ้าถุง แต่ พี่จิตรามณฑน์ เตชะไพบูลย์ กับ ท่านปิ๋ม (ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร) มาซื้อผ้าเรา เราก็เอ๊ะ มันเป็นลู่ทางนะ เราเลยทำเรื่องผ้าเก่ากับเครื่องเงินจนบูมทั้งประเทศ พอคนชอบ พวกสถาปนิก กราฟิก ดีไซเนอร์ ทุกคนมาหาเรา 

วันดีคืนดี พี่ชาลี (ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล) ถามเราว่าเธอเป็นใคร มีของแบบนี้ได้ยังไง เราบอกว่า หนูไม่ได้เป็นใคร หนูมีตังค์หนูก็ซื้อ เขาบอกว่าฉันชอบชีวิตเธอ มาให้ฉันสัมภาษณ์หน่อย พอลงสัมภาษณ์คนทั้งประเทศพูดถึงเรา แล้วร้านเราไม่เคยจัด ลงของปุ๊บขายหมดเลย ดีไม่ดีขอให้เป็นของของคนชื่อแนล ทุกสายอาชีพมาหมด

ถึงขนาดว่าจะเช่าร้านเพิ่มอีกสองห้อง เราไม่มีเงิน แต่มีลูกค้าเอาเงินมาให้ยืม เราไม่เอา

ลูกค้ารัก

มีลูกค้าที่เขารักชอบเราเหมือนน้อง เขาขายของเก่าอยู่อเมริกา เราก็หาของเก่าส่งให้เขาตั้งแต่ลูกเขาห้าขวบ เขาบอกว่าถ้ามาอเมริกาให้ไปดูงานที่เขาทำ เลยเป็นที่มาให้เราได้ไป International Folk Art Market ตลาดที่ให้คนทำงานศิลปะพื้นบ้านเอางานมาขาย เหมือนเป็นงานรวมคนเล่นผ้าระดับโลก มีคนมาออกงานจากร้อยห้าสิบกว่าประเทศ มีอาสาจากทั่วโลกเสียเงินมาทำงาน ตอนแรกเขาถามเราว่าจะไปมั้ย เราบอกเย็บเป็นแต่แบบนี้นะ เขาบอกให้ลอง

ลองแล้วเป็นยังไง

ปีแรกขายหมดทุกอย่าง เกลี้ยงเลย (หัวเราะ) กระทั่งชุดที่ใส่เขาขอซื้อเราก็ถอดขาย พอออกงาน International Folk Art Market ที่ซานตาเฟ่เสร็จก็ไปญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แล้วเวลาเราออกงานเราจะมีสูจิบัตร บอกชื่อคนที่ทำงานกับเรา เงิน 10 เปอร์เซ็นต์ที่ขายของได้เราจะเอาไปบริจาค ให้ทุนการศึกษาเด็กที่ตาคลี เขาจะได้เห็นว่าพ่อแม่เขาทำงานเย็บผ้ากับเรา แล้วเขาได้เรียนหนังสือต่อ แล้วเราก็บอกคนทางนู้นด้วยว่าคุณซื้อเสื้อผ้าเราคุณไม่ได้สนับสนุนเราคนเดียว

คุณสนับสนุนเด็ก คุณสนับสนุนคนปลูกฝ้ายที่อีสาน คุณให้โอกาสคนไทยอีกหลายคน 

สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล

แสดงว่างานที่คุณทำเรียกว่าโฟล์กอาร์ต

เราไม่รู้ว่าโฟล์กอาร์ตคืออะไร 

แต่ทำจากความรู้สึก

ใช่ บางตัวเราเอาไปแสดงงานเขาบอกไม่ได้ อันนี้เป็นอาร์ต ไม่เป็นโฟล์ก งานนั้นเราเอาภาพของคนอื่นที่เราเคยเห็นมาใส่ในความคิดของเรา มันเลยเป็นอาร์ตสำเร็จรูปจากตาเห็น ไม่ใช่โฟล์กอาร์ต เราเลยอ๋อ มันต้องมาจากตัวตนของเรา ต้องมาจากความรู้สึก เราเป็นตัวเรา ไม่ใช่ประดิษฐ์ขึ้นมา คราวนี้เลยรู้แล้วว่ารอบตัวเป็นโฟล์กได้หมด

แรงบันดาลใจของคุณเลยมาจากสิ่งรอบตัว

ประสบการณ์ชีวิต (ตอบทันที) งานเราเลยมีตัวเดียวเสมอ

ทุกอย่างรอบตัวเราปักผ้าได้หมด ปลาหมึกบด ผัดไทย ต้นมะละกอสูงเลยหลังคาบ้านเราก็ปัก เจอแสงเงาที่ชอบเราก็ถ่ายรูปไว้แล้วค่อยเอามาปัก คนรอรถเมล์ก็ปัก อย่างบ้านเราบ้าหวยมาก ก็ทำเสื้อหวยให้คนละตัว ทั้งหมดเป็นกู๊ดลักนัมเบอร์ เคยออกรางวัลมาแล้ว หรือช่วงทุกข์เพราะแม่ป่วยเราก็ปักบทธรรมะให้จำได้ ปักทุกวันจนเป็นบทกวี

ล่าสุดช่วง COVID-19 ข้างบ้านเลี้ยงแมวยี่สิบสองตัว เรานั่งปักแมวยี่สิบสองตัวอยู่เกือบเดือน เหมือนติดเกาะ เราดูทุกวัน จำหน้ามันได้ ทุกอริยาบถเราใส่หมดเลย ดูตรงนี้นะ ดูให้ดีว่ามันคืออะไร (เธอชี้นิ้วบนลายครึ่งวงกลมเรียงต่อกัน)

สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล

ทุ่งนาไม่ก็ภูเขา

นี่คือขี้แมว แมวชอบขี้บนหลังคา งานพวกนี้เราชอบอยู่อย่าง ทำอะไรก็ได้ คนยี่สิบคนดูได้ยี่สิบแบบ

ตอนเราปักมด ไม่มีแพตเทิร์นนะ แต่รู้อยู่อย่างมดมันเดินต่อกัน มีผืนหนึ่งผ้าขาดเป็นรู เราก็ไม่ชุน แต่ปักมดลงไปให้เหมือนมดแทะ พองานเราไม่มีรูปแบบ ไม่มีกรอบ มันจะเป็นอะไรก็ได้ ขนาดเสื้อเราบางตัวยังเป็นกางเกงเลย
(เสื้อเธอพิเศษตรงออกแบบให้ใส่เป็นเสื้อก็ได้ กางเกงก็ได้ ตามแต่คนใส่จะเบื่อแบบไหนก่อน)

ก่อนจะปักผ้าร่างภาพในหัวก่อนมั้ย

เขียนขึ้นมาก่อน แต่เราไม่มีสะดึงนะ ปักมือทั้งหมด ไม้บรรทัดก็ไม่ค่อยได้ใช้ ถ้าจะตัดผ้าก็ดูพื้นบ้าน ทาบกับแผ่นกระดาน คอเสื้อทุกตัวใช้ชามข้าว บางทีก็ถ้วย ทุกอย่างวัดได้หมด สบู่อาบน้ำก็เอามาเขียนผ้าแทนชอล์ก

เราพกเข็มกับด้ายตลอด เจอใครทักเราก็ให้เขาปัก มีพยาบาล คนขายหนังสือพิมพ์ แม่ค้าข้าวไก่ วินมอเตอร์ไซค์ หมอ มีคนหนึ่งเป็นพาร์กินสัน เราปักไม่ได้อย่างเขา เขาปักไปด้วยสั่นไปด้วย แล้วงานของเขาสวยมาก

ได้ยินมาว่า เสื้อคุณใส่ได้ทุกด้าน มันเป็นยังไง

ใส่ได้สี่ด้าน หน้า หลัง นอก ใน คอเสื้อก็ใส่ได้ทั้งสองด้าน สมมติเราใส่เสื้อปกติ พอพลิกกลับเอาด้านในออกมาด้านนอก ลายปักจะเป็นงานอาร์ตทันที เพราะเราเคยเรียนทอผ้า ยากมากกว่าจะได้ เวลาตัดผ้าเราเลยเครียด ตอนหลังเลยตัดทั้งหมด ถ้าเหลือค่อยเอามาทำอย่างอื่น เศษผ้าเราไม่เคยทิ้ง ด้ายเราก็ใช้สีธรรมชาติ เพราะเราแพ้สารเคมี 

อีกอย่างถ้าบอกคนอื่นว่าเราใช้มือเย็บ มันก็ควรจะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของเรา ธรรมชาติของธรรมชาติ เราเลยใช้ทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติ ผ้าก็ไม่ซื้อจากโรงงาน เพราะอยากสนับสนุนเพื่อนสายอาชีพเดียวกัน ตะเข็บเสื้อเราก็ไม่เย็บแต่เราสาน เอาลายกระดูกงูบนกระบุงตะกร้ามาสานบนคอเสื้อ พวกนี้เรารู้เพราะอยู่บ้านนอกมาก่อน 

คนเย็บผ้าทำงานแบบไหน ตามอารมณ์หรือเปล่า

ส่วนใหญ่เราอารมณ์ดีตลอด เพราะเวลาโกรธเราทำงานไม่ได้

อีกอย่างเราชอบเปิดประตูความคิดให้คน คนชอบติดอยู่ในกรอบแล้วหาทางออกไม่ได้ ถ้าเกิดมีไฟไหม้ คุณถูกสอนให้ออกทางประตู เราไม่เป็นแบบนั้น หน้าต่าง หลังคา เราก็ออก ขอให้กูรอด นั่นคือวิธีการทำงานของเรา

เราเชื่อว่าการแก้ปัญหาจะได้งานใหม่ ทุกอาชีพเลยนะ ไม่ใช่เฉพาะเย็บผ้า เพียงแต่เราไม่เคยถูกให้ออกนอกกรอบ คนมักคิดว่ากรอบคือวัฒนธรรมประเพณี เราว่าทุกความคิดคือกรอบ ถ้าติดอยู่ในกรอบก็ไปไหนไม่รอด

แสดงว่าไม่มีผ้าผืนไหนที่ปักด้วยอารมณ์โกรธ

ช่วงแรกมีนะ อย่างแมวที่ปักช่วง COVID-19 มันเหม็น น่ารำคาญ แต่พอมองมันด้วยความเมตตา ความคิดเราก็เปลี่ยน งานปักก็เปลี่ยน เราเปลี่ยนแววตา เสริมบุคลิกให้มัน จากแมวผอมก็เติมให้เป็นแมวอ้วน (หัวเราะ)

เราเน้นเรื่องความสุข เราบอกคนที่เย็บผ้าให้เราว่าอยากทำตอนไหนทำ ทำไปก็นึกถึงเรื่องสนุก ถ้าเครียดอย่าไปทำ วางมันลง เพราะงานมันฟ้อง แล้วคนซื้อเขาไม่ได้ซื้อเพราะมันสวย แต่เขาซื้อเพราะมันมีความรู้สึก 

สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล
สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล

งานของคุณมีสติและสมาธิอยู่ในนั้นเยอะ ตอนทิ่มเข็มขึ้น-ลง มันรู้สึกยังไง

เราไม่รู้อะไรเลย มันไปกับเข็มหมดเลย 

แต่ใจต้องอยู่กับปัจจุบันนะ การเย็บผ้าทำให้เราเห็นธรรมะ โดยเราไม่ได้ตั้งใจจะเห็น มันเกิดขึ้นเอง ช่วงแม่เราป่วยสี่ปีเราทำงานไม่ได้ จิตเราหลุด คำว่าใจหายมันแรงนะ แทบเอาตัวไม่รอด เราดิ่งไปเลย เห็นแค่สีดำ เห็นแค่ใบไม้เหี่ยว มีแต่ความคิดที่น่ากลัว ตอนนั้นทำเครื่องเงิน เราเลยหันมาทำเรื่องผ้า ผ้าทำให้เราจับที่เข็ม จับให้เรายังรู้สึก

สมาธิเราอยู่กับเข็ม จิตไม่แกว่ง เราเย็บผ้าเป็นบ้าเป็นหลัง เย็บจนติดเข็ม พอพะวงกับการเย็บก็ลืมทุกข์

อาการติดเข็มเป็นยังไง

ติดเข็มคือหยุดไม่ได้ ตอนเย็บความรู้สึกจะอยู่ที่มือ เพลินนะ เหมือนกับว่ากำลังหาจุดหมายปลายทาง เมื่อไหร่จะเสร็จ เสร็จแล้วจะเป็นยังไง อยากเห็นภาพรวม ใจจดจ่ออยู่ที่เข็ม สมาธิมันเข้าไป ไม่หิว ไม่อิ่ม ไม่ปวดท้องฉี่

แล้วมีเกณฑ์ของการจบงานมั้ย 

ความพอใจ ถ้ามากกว่านั้นมันล้น ถ้าเรามีความสุข สนุก ชอบ จบ

คนเย็บผ้าต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

ต้องเริ่ม คำแรกคือเริ่มทำ ถ้าไม่ทำก็แค่ความคิด ถ้าทำเราจะรู้ว่าต้องไปทางไหนต่อในแบบของเรา อย่าพยายามเป็นในแบบของคนอื่น งานจะไม่เสร็จ ถ้าเป็นในแบบของเรามันอยู่ในตัวเรา ไม่ว่าจะทำที่ไหนมันก็เสร็จ

ทำไมคุณถึงบอกว่า ต้องเริ่มจากตัวเรา

ทุกอย่างเกิดจากเราทั้งนั้นเลย เสร็จก็เรา ไม่เสร็จก็เรา ดีก็เรา ไม่ดีก็เรา คนอื่นเป็นตัวประกอบที่ทำให้เกิด กลายเป็นว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราเป็นที่พึ่งของตัวเราเอง เรารักหลงงานตัวเองนะ ช้อบชอบ มีความสุข (หัวเราะ) 

ทำแล้วมันมีเรื่องราว มีความทรงจำ มันไม่ได้เกิดจากแพตเทิร์น แต่เกิดจากตัวเราที่ถ่ายทอดออกไป

สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล

ตอนนี้คุณเลยสอนคนอื่นเย็บผ้า

เรามีโรงเรียนข้างถนน สอนข้างทาง ใครมาเรียนก็ได้ แต่เราไม่มีแพตเทิร์น เอาตัวคุณเป็นหลัก ไม่สวยไม่เป็นไร ยิ่งไม่รู้เรื่องเลยยิ่งดี (ทำไม) บริสุทธิ์ไง คุณไม่มีกรอบ ถ้าคุณมีความรู้มาแล้วว่าเสื้อต้องตัดแบบไหน คุณจะไม่กล้าทำอะไรเลย เพราะกลัวผิด พอไม่รู้มันดุ่มหมดเลย ทำไปสักพักเริ่มแตกต่าง เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตต่างกัน

เราสอนวิธีคิดให้เขา ไม่ได้สอนวิธีเย็บผ้า หรือบางทีเรามีสอนพิเศษ เราบอกนักเรียนไม่ต้องเตรียมอะไรมาเลย เตรียมใจมาอย่างเดียว เรามั่นใจว่าคนเรา ถ้ารู้จักตัวเองเมื่อไหร่และเปิดตัวเองเป็น จะได้งานใหม่เสมอ

แล้วคุณก็ใช้บ้านเป็นสตูดิโอเย็บผ้าด้วย

ความจริงงานเราทำได้ทุกที่ ขึ้นรถเมล์ก็เย็บ ขึ้นรถไฟก็เย็บ เครื่องจักรคือตัวเรา 

แต่บ้านเป็นทุกอย่างของเรา เป็นงาน เป็นชีวิต

แค่เสิร์ชชื่อในอินเทอร์เน็ตก็แสดงผลว่าคุณเป็นศิลปินโฟล์กอาร์ต อะไรเป็นเหตุผลให้คุณยังเย็บผ้า

เราต้องการให้คนเห็นคุณค่าของคน เราทำงานเพื่อให้คนทำงานรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า 

มีป้าคนหนึ่งที่ทำงานให้เรา เป็นคนมีความตั้งใจมาก แกเป็นชาวนา ก่อนจะไปนาแกเอาผ้าห่ออย่างดีเลย หิ้วผ้าไปด้วยตลอด เพราะแกเห็นคุณค่าของผ้า แกรักงานของแก แล้วแกไม่เคยมากรุงเทพฯ นะ ไม่รู้กรุงเทพฯ หน้าตาเป็นยังไง แต่เสื้อของแกไปโผล่ที่อเมริกา ที่ฝรั่งเศส ไปมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก เราว่านี่คือคุณค่าของคน

แล้วคุณรักอะไรในงานของคุณ

รักคุณค่า รักเรื่องราว รักที่มาของมัน

สตูดิโอเย็บผ้าของ แนล-สมพร อินทร์ประยงค์ ที่เย็บผ้าจนเป็นศิลปิน Folk Art ระดับสากล

Writers

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Avatar

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้กำกับรายการและโฆษณาที่ช่วงนี้หันมาสนใจงานแนวสารคดี จึงเน้นทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือ รายการ human ride และ เป็น อยู่ คือ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล