ลูกศิษย์คนหนึ่งมาปรึกษาผมเมื่อไม่นานมานี้ว่า มีรุ่นพี่คนหนึ่งชวนไปจัดเทศกาลตามเมืองรอง เขาลิสต์รายชื่อจังหวัดแล้วบอกว่าเพิ่งได้งบมา เธอถามผมว่าจัดเทศกาลเขาเริ่มกันแบบนี้เลยหรือคะ ผมอึ้งไป 17 นาทีตามเนื้อเพลง

ถึงแม้ว่าเทศกาล (Festival) จะเป็น 1 ใน 5F ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมอย่างหนักหน่วงในการพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเทศกาลขนาดใหญ่หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า

อภิมหาโคตรเทศกาล (Mega Festival) พร้อม ๆ ไปกับพยายามสนับสนุนให้เมืองรองเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาล แต่ก็ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่าเทศกาลเหล่านั้นไม่ได้เป็นเพียงจานบินที่มาลงจอดพร้อมมนุษย์ต่างดาวสุดล้ำ ที่พอจบเทศกาลแล้วก็เหินฟ้ากลับดาวของพวกเขาไป

การใช้งบประมาณหรือภาษีของประชาชนไม่ควรเป็นเพียงการลงทุนกับเทศกาลไม่กี่วัน แต่ต้องคำนึงถึงเหตุผล ที่มา ความเชื่อมโยง และประโยชน์ที่เมืองและชาวเมืองนั้น ๆ จะได้รับหลังจบเทศกาล รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะจัดเทศกาลนั้นต่อไปในอนาคตด้วย มาลองดูตัวอย่างจากทรานซิลเวเนีย ดินแดนผีดูดเลือดกัน

Sibiu International Theatre Festival
Sibiu International Theatre Festival

เมืองเล็ก ๆ ที่มีประวัติความเป็นมาและคอนเนกชัน

ซีบิว (Sibiu) เป็นเมืองทางตอนกลางของประเทศโรมาเนีย ปัจจุบันมีประชากรอยู่ไม่ถึง 2 แสนคน รายล้อมด้วยภูเขา ตามประวัติก่อตั้งขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยชาวเยอรมัน ซึ่งเรียกเมืองนี้ว่า Hermannstadt ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของโรมาเนียก็เคยเป็นนายกเทศมนตรีซีบิวหลายสมัยและมีเชื้อสายเยอรมันด้วย

ผู้สนับสนุนหลักของเทศกาล Sibiu International Theatre Festival (Sib Fest) หรือที่ภาษาโรมาเนียเรียกว่า Festivalul International de Teatru de la Sibiu (FITS) ปีนี้จึงมีทั้งรัฐบาลโรมาเนียและเยอรมนี การแสดงจากเยอรมนีมีมากกว่าทุกปี และสปอนเซอร์สัญชาติเยอรมัน ทั้งสายการบิน ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ ก็ตามมา สูจิบัตรเทศกาลก็มีสาส์นจากประธานาธิบดีทั้งสองประเทศ รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหมโรมาเนีย และนายกเทศมนตรีซีบิว นั่นคืองบประมาณมาจากหลายภาคส่วน เพราะไม่ได้มองว่าเป็นงานศิลปวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว

รากฐานสำคัญของเมืองที่ต้องขอบคุณวัฒนธรรมเยอรมันอีกประการหนึ่ง ก็คือโรงละคร Radu Stanca National Theatre ซึ่งเป็นโรงละครถาวรแห่งแรกที่สร้างขึ้นในโรมาเนียมาตั้งแต่ปี 1788 แม้จะไฟไหม้จนต้องบูรณะหลายครั้ง เปลี่ยนไปฉายภาพยนตร์อยู่หลายปี แต่เมื่อ ราดู สตังกา (Radu Stanca) กวี นักเขียนบทละคร ผู้กำกับ และนักวิจารณ์ละคร เข้ามาบริหารเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 20 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ละครเวทีก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง ทุกวันนี้มีอนุสาวรีย์ของเขาตั้งอยู่ในสวนสาธารณะหันหน้าเข้าหาโรงละคร ราวกับจะได้ชื่นชมผลงานที่เขาช่วยสานต่อให้คนรุ่นหลัง

เมื่อปี 1993 ศิลปินของโรงละครนี้ นำโดยนักแสดงชื่อ คอนสตันติน ชีริอัค (Constantin Chiriac) ริเริ่มจัดเทศกาลละครนานาชาติ ด้วยความมุ่งมั่นและแข็งขัน ตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตและองค์กรวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ Sib Fest ก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปี 2005 มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม 68 ประเทศ ไม่น่าแปลกใจแต่น่าปรบมือให้ที่เมืองรองแห่งนี้ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในเมืองหลวงทางวัฒนธรรมแห่งยุโรป (European Capitals of Culture) มาตั้งแต่ปี 2007 ปัจจุบันนี้นอกจากเทศกาลละครนานาชาติ ซีบิวยังจัดเทศกาลดนตรีแจ๊สและเทศกาลกวีนิพนธ์เป็นประจำทุกปีอีกด้วย

เพื่อนอาจารย์ชาวโรมาเนียเล่าให้ฟังว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงสนใจการอนุรักษ์ธรรมชาติและอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ที่แคว้นทรานซิลเวเนีย และทรงมีพระตำหนักที่เสด็จฯ มาประทับอยู่บ่อยครั้ง เมื่อ 4 ปีที่แล้วก็ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ Sib Fest ร่วมกับประธานาธิบดีโรมาเนีย

เมื่อดูตามปฏิทินเทศกาลละครขนาดใหญ่ของยุโรป Sib Fest จัด 10 วันช่วงปลายเดือนมิถุนายนของทุกปี แปลว่านักชมละครต่อไปอาวียง (Avignon) ที่ฝรั่งเศสได้เกือบตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม และเอดินบะระ (Edinburgh) ที่สกอตแลนด์เกือบทั้งเดือนสิงหาคมได้โดยสะดวก เรียกว่ากลับบ้านอีกทีสุนัขคงจำกลิ่นไม่ได้แล้ว

Sibiu International Theatre Festival
Sibiu International Theatre Festival สำรวจเทศกาลศิลปะการแสดงที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางและตะวันออก ในเมืองเล็กของโรมาเนีย

เทศกาลละครที่ไม่ได้มีแต่ละคร

แน่นอนว่าความหลากหลายเป็นคำสำคัญของการจัดเทศกาลส่วนใหญ่ อย่างที่บอกกันว่า “There’s something for everyone.” และถึงแม้จะมีแต่คำว่า Theatre อยู่ในชื่อเทศกาล แต่ในโปรแกรมของ Sib Fest ก็มีนาฏศิลป์ร่วมสมัย กายกรรม โอเปร่า ดนตรี ทัศนศิลป์ ฯลฯ รวมอยู่ไม่น้อย ทั้งที่ชมฟรีและจ่ายค่าบัตร ซึ่งราคาสูงสุดคือ 150 เลอิ หรือประมาณ 1,100 บาท

ทั้งแบบที่จัดแสดงในโรงละคร สถานที่ที่ดัดแปลงเป็นโรงละครชั่วคราวอย่างโรงยิม โกดัง และโบสถ์ รวมทั้งถนนคนเดิน จัตุรัสกลางเมืองเก่าที่รายล้อมด้วยร้านอาหาร ร้านกาแฟ และเต็นท์ขายอาหารที่ผู้ชมจะมารวมตัวกันทุกเย็น และชมการแสดงยาวไปจนถึงดึก หรือระหว่างที่เดินจากโรงละครหนึ่งไปอีกโรง ก็มาแวะทานอาหารพร้อมชมการแสดงกลางแจ้งกลางจัตุรัสได้ ด้วยความที่ฤดูร้อนพระอาทิตย์ตกประมาณ 4 ทุ่ม เที่ยงคืนแล้วก็ยังรู้สึกเหมือนไม่ดึกมาก

ความแตกต่างที่สำคัญของ Sib Fest จากเทศกาลที่เทียบเคียงกันได้อย่างที่อาวียงและเอดินบะระก็คือ เทศกาลที่นี่มีการคัดสรร (Curate) ผลงานที่นำเสนอทั้งหมด ในขณะที่อีก 2 เมืองมีทั้งส่วนที่คัดสรร (Festival d’Avignon และ Edinburgh Art Festival) และส่วนที่เปิดให้สมัครเข้าร่วมได้อย่างอิสระ (Le Off และ Ed Fringe) ตัวอย่างแนวทางการคัดสรรที่น่าสนใจ อาทิ การเลือกละครเรื่องเดียวกันที่จัดแสดงและตีความโดยคนละคณะ คนละประเทศ อย่างในปีนี้มีทั้ง Three Sisters ของโปแลนด์และโรมาเนีย Macbeth ของอิตาลีและโรมาเนีย เป็นต้น

งานส่วนใหญ่เป็นงานที่จัดแสดงครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วหรือปีนี้ ถ้าพูดภาษาโรมาเนีย ก็จะฉายคำแปลภาษาอังกฤษ ถ้าพูดภาษาอื่น ๆ ก็จะมีทั้งคำแปลภาษาโรมาเนียและอังกฤษ เรียกว่าไม่ทิ้งผู้ชมท่านใดไว้เบื้องหลังให้นั่งดูแบบงง ๆ มีการแสดงบางชิ้นที่เขียนกำกับว่า ไม่แนะนำให้ผู้ชมอายุต่ำกว่า 16 ปีดู แต่ก็ไม่ได้ห้ามและไม่มีเรตติ้งที่แรงกว่านี้ เทศกาลปีนี้ยังคงความไฮบริดต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรง คือมีทั้งที่มาแสดงให้เห็นต่อหน้าต่อตา (In Presence) และแบบออนไลน์

Sibiu International Theatre Festival สำรวจเทศกาลศิลปะการแสดงที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางและตะวันออก ในเมืองเล็กของโรมาเนีย
Sibiu International Theatre Festival สำรวจเทศกาลศิลปะการแสดงที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางและตะวันออก ในเมืองเล็กของโรมาเนีย
Sibiu International Theatre Festival สำรวจเทศกาลศิลปะการแสดงที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางและตะวันออก ในเมืองเล็กของโรมาเนีย

โอกาสด้านการศึกษา

นอกจากการที่โรงแรมเต็มทุกห้องทุกแห่ง ตั้งแต่ 1 วันก่อนเทศกาลเริ่ม จะเป็นสัญญาณให้เห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองแล้ว Sib Fest ยังให้ความสำคัญกับการศึกษา เปิดโอกาสให้นักศึกษาสาขาศิลปะการแสดงจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของโรมาเนียมาจัดการแสดง ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยซีบิวในการจัดการประชุมนานาชาติ ในหัวข้อเดียวกับแก่นความคิดหลักประจำปีของเทศกาล ซึ่งปีนี้ได้แก่ความงาม (Beauty) นอกจากนั้น ยังมีการเสวนากับศิลปินนานาชาติในหัวข้อต่าง ๆ ให้เข้าฟังกันได้ตั้งแต่สาย ๆ ถึงบ่ายแก่ ๆ ของทุกวัน ก่อนจะเริ่มชมการแสดงกันตอนเย็น ๆ

นักศึกษาที่ไม่ได้มาแสดง หลายคนก็เป็นอาสาสมัครช่วยงานด้านต่าง ๆ ของเทศกาล เช่น ดูแลศิลปิน เดินตั๋ว มีหนุ่มน้อยอาสาสมัครเดินตั๋วคนหนึ่งเห็นหน้าผม ก็มั่นมากว่าพูดโรมาเนียไม่ได้แน่ ๆ เลยพูดภาษาอังกฤษใส่ พร้อมแนะนำชื่อเสร็จสรรพแล้วถามชื่อผม บอกว่ายินดีที่ได้พบแล้วจับมือ เป็นประสบการณ์ครั้งแรกตั้งแต่ดูละครต่างประเทศมาเกือบ 30 ปี

Sibiu International Theatre Festival สำรวจเทศกาลศิลปะการแสดงที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางและตะวันออก ในเมืองเล็กของโรมาเนีย

เอเชียน้อย แต่ 29 ปีมีงานจากประเทศญี่ปุ่นทุกครั้ง

ด้วยความห่างไกลของซีบิวที่ต้องใช้เวลาจากบูคาเรสต์ทั้งทางรถยนต์และรถไฟกว่า 4 ชั่วโมง สนามบินก็เล็ก มีเที่ยวบินมาวันละไม่กี่เที่ยว เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่การแสดงจากเอเชียจะมาจัดแสดงที่นี่ แต่เทศกาลก็มุมานะเชิญการแสดงจากญี่ปุ่นมาได้ทุกปี ขนาดที่ชีริอัคได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์จากองค์พระจักรพรรดิของญี่ปุ่น

น่าสังเกตว่ามีทั้งการแสดงที่เป็นขนบประเพณีและร่วมสมัย อย่างปีนี้ก็มีทั้งละครพูดที่นำบทละครของเชกสเปียร์ทุกเรื่องมาเรียบเรียงใหม่แล้วจัดแสดงแบบต่อหน้าต่อตา และการแสดงละครโนที่มาแบบออนไลน์ นั่นคือการแสดงให้เห็นภาพรวมที่แท้จริงของศิลปะการแสดงในปัจจุบัน ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตานำวัฒนธรรมประเพณีไปเผยแพร่

ถอดบทเรียนการจัดเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในเมืองเล็ก ๆ จากเทศกาลการแสดงในโรมาเนีย กาแฟนานาชาติ และซี่โครงแดร็กคูลา

ร้านกาแฟนานาชาติกับร้านซี่โครงแดร็กคูลา

สิ่งแรกที่ Google Maps แนะนำให้ผมหลังจากต่อ WiFi ที่โรงแรมเล็ก ๆ ในชานเมืองได้ ก็คือร้านกาแฟเล็ก ๆ ชื่อ Stravagante Caffe ที่มีเมล็ดกาแฟ Single Origin ให้เลือกหลายสิบชนิดจากทั่วโลก และเอสเปรสโซราคาเท่ากับ French Press ซึ่งมาพร้อมกับแยมผลไม้และน้ำเปล่า รวมทั้งบาริสต้าหนุ่มร่างใหญ่ใจดีมาบรรยายสรรพคุณกาแฟถ้วยละ 10 เลอิ หรือ 75 บาทให้ฟังทุกครั้ง

อีกร้านที่ Google Maps ปักหมุดมาอยู่ในเขตเมืองเก่าแบบหลบมุม ชื่อ Ribs and Beer ตรงตามชื่อคือทำเบียร์เอง และมีเมนูเด็ดคือ Spicy Dracula Ribs ซี่โครงหมูย่างหมักซอสกลิ่นกระเทียมรสชาติกลมกล่อม และปักธงแดร็กคูลามาเหมือนกับจะถามว่า มาถึงทรานซิลเวเนียแล้วจะต่อไปปราสาทท่านวลาด จอมเสียบ (Vlad the Impaler) ต้นแรงบันดาลใจให้ แบรม สโตกเกอร์ (Bram Stoker) หน่อยไหม

นอกจาก 2 ร้านนี้จะแสดงความเป็นพหุวัฒนธรรมของเมืองแล้ว ยังสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ แบบเดียวกับ Sib Fest นั่นเอง

Sib Fest 2022 จัดแสดงถึงวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม มีงานหลายชิ้นที่ซื้อบัตรชมออนไลน์ได้ทั้งแบบสดและแห้ง (บันทึกไว้ก่อนล่วงหน้า) แว่วมาว่าปีหน้าในเทศกาลฉลองครบรอบ 30 ปี จะมีการแสดงจากประเทศไทย (เสียที) เป็น Thailand Showcase ให้เห็นว่า ศิลปะการแสดงของประเทศไทยเป็นอย่างไร เพราะแม้ชาวยุโรปตะวันออกจะนิยมมาเที่ยวกัน แต่ก็ยังไม่ค่อยรู้จัก

แล้วร้าน Stravagante Caffe ก็อาจจะเริ่มมีกาแฟแม่จันใต้จำหน่ายบ้าง

ถอดบทเรียนการจัดเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในเมืองเล็ก ๆ จากเทศกาลการแสดงในโรมาเนีย กาแฟนานาชาติ และซี่โครงแดร็กคูลา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sibfest.ro

ขอขอบคุณ Prof. Octavian Saiu และ Prof. Oana Marin, Universitatea Lucian Blaga din Sibiu ที่สนับสนุนการเดินทางไป Sib Fest 2022 ครั้งนี้ 

ภาพ : Sib Fest

Writer

Avatar

ปวิตร มหาสารินันทน์

กรรมการบริหารสมาคมนักวิจารณ์ละครเวทีนานาชาติ (International Association of Theatre Critics) ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรก อาจารย์พิเศษหลักสูตรบูรณาการข้ามศาสตราจารย์ทางศิลปะการแสดงและการบริหารจัดการวัฒนธรรม จุฬาฯ ผู้รักการเดินทาง อาหารและประสบการณ์ศิลปะใหม่ ๆ