แล้วโบสถ์คริสต์สีขาวหลังนั้นก็โผล่ออกมาให้เห็นเต็มตาทันทีที่รถของเราเลี้ยวขึ้นเนินผ่านแนวต้นไม้มาได้ เป็นโบสถ์ไม้หลังกะทัดรัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แสงแดดยามเย็นที่ส่องทแยงมาจากทางด้านหลังช่วยให้เกิดแสงเงาที่ดูงามแปลกตา มองจากด้านข้างจะเห็นว่ามีเพียงส่วนยอดของโบสถ์ที่มีลักษณะเป็นหอสูงเท่านั้นที่ได้รับแสงสว่าง หากยืนอยู่ที่ด้านหน้าแล้วมองฝ่าเงาของตัวอาคารเข้าไป ก็จะเห็นโครงร่างเต็มๆ ของโบสถ์ตัดกับท้องฟ้าเบื้องหลัง โดยมีแสงเรืองๆ ที่เกิดจากประกายแดดห่อหุ้มโครงร่างนั้นไว้อีกชั้นหนึ่ง 

ใช่แน่แล้ว ที่นี่… White Plains Baptist Church แห่งเมืองเมาต์แอรี่ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ที่สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1856 บนที่ดินบริจาคของ อินและจัน บังเกอร์ หรือแฝดสยามอินจันนั่นเอง

อ่าน Duet for Lifetime ตามรอยอิน-จัน แฝดสยามเซเลบริตี้ของสหรัฐฯ ยุค 19 ที่เมือง Mount Airy

1 ทุ่มกว่าแล้ว แต่โชคดีที่ในฤดูร้อนอย่างนี้ เวลากลางวันยาวนานกว่ากลางคืนมาก กว่าดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้าก็ 2 ทุ่มกว่าไปแล้วโน่นแน่ะ ฉันจึงแจ้งกับเพื่อนร่วมทางว่าจะขอใช้เวลาอยู่ที่นี่ให้นานสมใจก่อนออกเดินทางต่อ เพื่อนร่วมทางใจดีบอกว่าอยากอยู่ก็อยู่ไป แต่ขู่นิดหน่อยว่าหากความมืดมาเยือนแล้วยังไม่กลับมารถจะออกตามตัวทันที เพราะว่าแถวนี้เงียบและดูเปลี่ยวมาก

ฉันจึงเดินกึ่งเอ้อระเหยกึ่งทำเวลา เอ๊ะ! ยังไงกัน ลัดเลาะดูความงามของโบสถ์ที่ตัวอาคารสร้างอย่างประณีตด้วยไม้แผ่นที่วางเรียงต่อกันในแนวนอนเหมือนบ้านไม้สมัยก่อน ความเงียบและแสงแดดอ่อนยามเย็นทำให้อดคิดถึงเรื่องราวชีวิตบางตอนของฝาแฝดทั้งสองไม่ได้ แต่ก่อนที่จะดำดิ่งไปกว่านี้ ก็สังเกตเห็นแผ่นป้ายที่ตั้งห่างออกไปที่ด้านหน้าของโบสถ์เข้าเสียก่อน บนแผ่นป้ายมีข้อความจารึกไว้ดังนี้ 

Eng and Chang Bunker

1811-1874

“Conjoined twins born in Siam. Toured widely in the U.S. before settling nearby to farm, 1839. Grave is 100 yards W.”

(อินและจัน บังเกอร์ ค.ศ.1811 – 1874 ฝาแฝดตัวติดกัน เกิดที่สยาม เดินสายแสดงทั่วสหรัฐอเมริกาก่อนตั้งถิ่นฐานทำไร่ที่อยู่ไม่ไกลจากตรงนี้ เมื่อ ค.ศ. 1839 หลุมฝังศพตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตก 100 หลา)

จุดเริ่มต้นของการตามรอยแฝดสยาม

เมื่อก่อนเวลาได้ยินคำว่าแฝดสยาม ฉันมักจะนึกถึง ‘อิน-จัน’ คู่แฝดตัวติดกันที่มีอนุสาวรีย์อยู่ที่จังหวัดสมุทรสงครามอยู่บ่อยๆ เพราะได้ยินชื่อนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าถามว่ารู้อะไรเกี่ยวกับอิน-จันบ้าง ฉันบอกได้แค่ว่ามีฝรั่งมานำตัวออกจากสยามไปเดินสายหาเงินเท่านั้น ทว่าไปอยู่ที่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไรนั้นไม่รู้เลย เพราะไม่มีใครเล่าขาน ไม่มีบันทึกให้ได้อ่าน แถมไม่ช่างสงสัยจึงไม่เคยคิดจะค้นคว้าหาข้อมูล จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่อเมริกา ประเทศที่เป็นเรือนตายของแฝดทั้งสอง จึงเริ่มอยากรู้จักตัวตนจริงๆ ของอิน-จัน แฝดสยามชื่อดังที่เป็นต้นแบบของคำว่า ‘แฝดสยาม’ หรือ Siamese Twins คู่นี้ขึ้นมา โดยมีที่มาจากหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Duet for a Lifetime ที่เขียนโดย เคย์ ฮันเตอร์

แฝดสยาม, อิน จัน
แฝดสยาม, อิน จัน

ชื่อหนังสือ ถ้าแปลเป็นไทยคงประมาณ ‘คู่กันนิรันดร์กาล’ พิมพ์เมื่อ ค.ศ.1964 เป็นเรื่องราวของแฝดอิน-จันตั้งแต่ลืมตาดูโลกที่บ้านเรือนแพริมแม่น้ำแม่กลอง ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่เมืองเมาต์แอรี่ รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา อ่านแล้ววางไม่ลง เพราะหนึ่ง เขียนดีมีหลักฐานประกอบเยอะมาก และสอง เรื่องราวของอิน-จันนั้นมีสีสันสุดๆ เป็นการผจญภัยของคนธรรมดาที่มีความหมายและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เคย์ ฮันเตอร์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ หรือ หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช พ่อค้าชาวสกอตที่เข้ามาค้าขายอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ที่คนไทยในยุคนั้นเรียกกันติดปากว่า นายหันแตร คนนี้เองเป็นผู้มาเจอตัวอิน-จันเข้า และพาแฝดทั้งสองออกจากสยามไปเปิดการแสดงในโลกตะวันตกจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ผู้เขียนแต่งหนังสือเล่มนี้ขึ้นจากความสงสัยที่เคยได้ยินคนในครอบครัวพูดถึงแฝดสยาม เธอจึงเริ่มหาข้อมูลทั้งจากหลักฐานที่ตระกูลของเธอเป็นเจ้าของ จากทายาทตระกูลบังเกอร์ที่เป็นลูกหลานของอิน-จัน จากทายาทของ กัปตันเอเบล คอฟฟิน (Abel Coffin) เจ้าของเรือที่อิน-จันโดยสารไปอเมริกา และเป็นผู้จัดการของแฝดสยามในช่วง 2 ปีแรก ร่วมกับหลักฐานอื่นๆ ที่เธอค้นคว้าหามาได้

อ่าน Duet for a Lifetime จบ ความอยากรู้ของฉันแทนที่จะลดลงกลับเพิ่มขึ้น การตามล่าหาอ่านจึงเกิดขึ้น ต้องบอกว่าฝรั่งนั้นช่างบันทึกจริงๆ เรื่องราวเกี่ยวกับอิน-จันนั้นจึงพอหาได้ไม่ยาก เพราะมีคนเขียนออกมาแล้วมากมาย ทั้งในช่วงที่ฝาแฝดยังมีชีวิตอยู่และในเวลาต่อมา มาร์ก ทเวน (Mark Twain) นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันที่เกิดในยุคเดียวกับอิน-จันยังเคยเขียนถึงคนทั้งสองมาแล้ว นิตยสาร Life หนังสือพิมพ์ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติต่างเคยตีพิมพ์เรื่องราวของแฝดทั้งสองมาก่อน เพราะอะไร เพราะแฝดสยามอินจันเป็น ‘เซเลบริตี้’ ของยุคนั้นเลยน่ะสิ

แฝดสยาม, อิน จัน

เมื่อฤดูแห่งการพักร้อนของครอบครัวเราที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก มาถึง ปีนี้เราตั้งใจว่าจะขับรถเที่ยวไปตามเมืองต่างๆ ทางแถบตะวันออกของสหรัฐฯ โดยมีพ่อเป็นคนวางแผนเพราะรู้ดีกว่าใคร ก่อนจบการวางแผน คนเป็นแม่คือตัวอิฉันเอง แจ้งความจำนงว่ามีเรื่องสำคัญจะบอก คือจะขอให้บรรจุเมืองเมาต์แอรี่เข้าไว้ด้วย แม้จะออกนอกเส้นทางอยู่บ้าง แต่หัวหน้าทัวร์ก็ไม่ขัดใจ จัดให้ แต่บอกว่าเราจะแวะเมืองนี้ตอนขากลับ เพราะแผนคือจากฟลอริด้าเราจะเลาะชายฝั่งขึ้นไปจนถึงรัฐเมนที่อยู่เหนือสุดของประเทศ ก่อนจะวกกลับลงใต้ ซึ่งเมืองเมาต์แอรี่นั้นอยู่ห่างจากเส้นทางขาไปของเรามาก แต่ตอนขากลับเราลัดเลาะมาตามแนวเทือกเขาแอปพาเลเชียน (Appalachian Mountains) ได้ เมื่อแผนการทุกอย่างลงตัวจึงปิดดีล รอเพียงวันเดินทางเท่านั้น 

ช่วงที่รอนั้นฉันมีโอกาสได้อ่านคอลัมน์ของ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่เขียนเกี่ยวกับแฝดสยามอิน-จันลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ มติชน เข้า (รวม 20 กว่าตอน สนุกมาก) ทำเอาใจร้อนรุ่มเพราะมีสถานที่ที่อยากไปเพิ่มเข้ามาอีก 2 แห่ง คือพิพิธภัณฑ์มุตเตอร์ เมืองฟิลาเดลเฟีย กับพิพิธภัณฑ์บาร์นัม เมืองบริดจ์พอร์ต แต่ตอนนี้ขอพูดถึงการเดินทางของแฝดสยามอิน-จันก่อน

เกิดที่แม่กลอง 

อินและจันเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ.1811 พ่อชื่อนายตีอาย แม่ชื่อนางนก มีพี่น้องรวมทั้งหมด 9 คน ความพิเศษของคนทั้งสองคือเป็นแฝดตัวติดกันโดยมีมัดเนื้อที่มีลักษณะเป็นท่อนเชื่อมต่อกันตรงช่วงอก สมัยนี้อาจไม่ใช่เรื่องยากที่จะผ่าตัดแยกร่างกาย แต่ในสมัยนั้น อย่าว่าแต่เมืองไทยเลย วิทยาการทั่วโลกก็ยังไม่ก้าวหน้าถึงขั้นนั้น ทั้งสองจึงต้องฝึกใช้ชีวิตร่วมกันไป ตอนที่นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พบอิน-จันครั้งแรกนั้น ทั้งสองอายุ 14 ปี พ่อเสียชีวิตด้วยโรคระบาดไปหลายปีแล้ว แฝดทั้งสองคนหารายได้ช่วยครอบครัวด้วยการเลี้ยงเป็ดและขายไข่เป็ด 

ออกเดินทางท่องโลกกว้าง

การเดินทางไปอเมริกากับนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ มิใช่การเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของอินกับจัน เพราะก่อนหน้านี้ทั้งสองเคยเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ร่วมเดินทางพร้อมคณะทูตที่ไปเจริญสัมพันธ์กับโคชินไชน่า หรือเวียดนาม มาก่อน

เมื่ออินกับจันอายุครบ 18 ปี นายโรเบิร์ตที่สานสัมพันธ์กับครอบครัวมาตั้งแต่เจอคู่แฝดครั้งแรก ได้ทำสัญญากับแม่ของอิน-จัน นำตัวคนทั้งสองเดินทางออกจากสยามไปเปิดการแสดงเป็นเวลา 2 ปีกว่า โดยติดต่อกัปตันเอเบล คอฟฟิน เจ้าของเรือซาเคมที่นำแฝดสยามเดินทางออกนอกประเทศ ให้มาเป็นหุ้นส่วนด้วย ก่อนขายหุ้นทั้งหมดให้ในภายหลัง เนื่องจากนายโรเบิร์ตมีกิจการมากมายที่ต้องดูแลในซีกโลกตะวันออก จึงไม่อาจเดินทางไปกับแฝดสยามได้ตลอดเวลา 

แฝดสยาม, อิน จัน
แฝดสยาม, อิน จัน

เรือซาเคมออกจากสยามวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1829 ใช้เวลาเดินทาง 4 เดือนครึ่งจึงไปถึงเมืองบอสตัน การเดินทางมาถึงของแฝดสยามเป็นที่สนใจมาก เพราะโฆษณาที่ประโคมไว้ล่วงหน้า ใครๆ ก็อยากดูของแปลกที่เรียกกันว่า Freak Show การแสดงของอิน-จันมีชื่อในใบปิดว่า The United Brothers เปิดแสดงตามเมืองใหญ่ในอเมริกาได้ 2 เดือนก็มุ่งหน้าไปเดินสายในอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ 

จากบันทึกของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอิน-จัน รวมทั้งจากข่าวและบทความทั่วไปมักพูดตรงกันว่าแฝดทั้งสองเป็นคนฉลาด เรียนรู้เร็ว มีอารมณ์ขัน เข้ากับคนง่าย การแสดงของคนทั้งสองจึงเป็นที่นิยมและกล่าวขานกันมาก เวลาปีกว่าที่อยู่ในยุโรปทั้งสองใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ดี หลังจากสัญญาที่ทำไว้สิ้นสุดลง อิน-จันที่อายุครบ 21 ปีพอดีขอแยกทางกับกัปตันเอเบล เพื่อออกมาบริหารกิจการด้วยตัวเอง โดยมีการว่าจ้างผู้จัดการคนใหม่มาดูแลความสะดวกในเรื่องต่างๆ

ช่วง ค.ศ. 1832 – 1839 อิน-จันเดินทางไปแสดงเกือบทั่วทุกรัฐในอเมริกาที่ตอนนั้นก่อตั้งประเทศมาได้เพียงห้าสิบกว่าปีเท่านั้น และยังเดินทางไปแสดงตามเมืองต่างๆ ในยุโรป เช่น อังกฤษ รัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส ไปจนถึงเมืองฮาวานา ประเทศคิวบา รัฐนิวบรันสวิกและรัฐโนวาสโกเชีย ประเทศแคนาดาด้วย 

เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1937 อินจันไปเปิดการแสดงในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อว่าวิลก์สโบโร (Wilkesboro) ในรัฐนอร์ทแคโรไลนาที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองเมาต์แอรี่ แล้วเกิดความประทับใจในชนบทอันงดงาม ตอนนั้นทั้งสองเริ่มอิ่มตัวกับการแสดงและชีวิตแบบค่ำไหนนอนนั่นแล้ว 2 ปีต่อมาคู่แฝดจึงทำเรื่องขอเป็นพลเมืองอเมริกัน โดยมีชื่อในทะเบียนว่า อิน-จัน บังเกอร์ แล้วนามสกุลบังเกอร์นี้ท่านได้แต่ใดมา 

ประเทศสยามตอนนั้นยังไม่เริ่มใช้นามสกุล ข้อมูลจากหนังสือบางเล่มบอกว่าคนที่อิน-จันเจอที่สำนักงานขอสัญชาติเสนอให้คู่แฝดใช้นามสกุลของเขา แต่บ้างก็ว่าเป็นนามสกุลของเพื่อนที่เป็นนายธนาคาร หลังจากได้เป็นพลเมืองอเมริกันแล้ว ในปีเดียวกันนั้นเอง อิน-จันก็กลับมาที่เมืองวิลก์สโบโรอีกครั้งเพื่อซื้อที่ดิน 110 เอเคอร์ และปักหลักใช้ชีวิตที่นั่น

พรหมลิขิต

ฉันได้อ่านจดหมายฉบับหนึ่งที่อิน-จันเขียนถึงโรเบิร์ต ฮันเตอร์ แล้วรู้สึกว่ามันน่ารักดีเลยอยากเอ่ยถึงสักหน่อย เป็นจดหมายที่อิน-จันเขียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1842 หลังจากมาตั้งรกรากที่เมืองวิลก์สโบโรได้ 3 ปีกว่าแล้ว แฝดทั้งสองขอบคุณนายโรเบิร์ตที่ส่งข่าวเรื่องแม่ที่สยาม จากนั้นเล่าว่าได้ซื้อที่ดินที่อาจเรียกว่าอยู่ในป่าดงหลังเขา 

(ภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มอรรถรสดังนี้ “you will form a good idea of how much we are in the back woods when we tell you that we are upwards of 300 miles from the seaport town and 180 miles from any railroad.”

“ปลูกข้าวโพด เลี้ยงหมู มีความสุขดี และยังไม่ได้แต่งงาน แต่ความรักของเราเบ่งบานก้าวหน้าไปมาก และเมื่อไรที่เราหาหญิงสาวแสนดีสัก 2 คนมาเป็นภรรยาของเราได้ เราจะบอกให้คุณทราบแน่นอน” (“We enjoy ourselves pretty well, but have not as yet got married. But we are making love pretty fast, and if we get a couple of nice wives we will be sure to let you know about it.”

แฝดสยาม, อิน จัน

ภาพถ่ายอิน-จันกับภรรยาและลูกชาย ทางซ้ายสุดของภาพคือซาราห์ภรรยาของอิน ทางขวาสุดคืออะเดเลดภรรยาของจัน โดยมีแพทริก (ลูกชายของอินกับซาราห์) และอัลเบิร์ต (ลูกชายของจันกับอะเดเลด)นั่งอยู่ข้างหน้า

หญิงสาวที่แสนดีทั้งสองมีชื่อว่า ซาราห์ กับ อะเดเลด เยตส์ ทั้งสองเป็นพี่น้องกัน มาจากครอบครัวชาวไร่ที่เคร่งศาสนาและเป็นเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกับอินและจัน ทั้งคู่ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองพอสมควรกว่าจะเป็นที่ยอมรับของครอบครัวเยตส์และเพื่อนบ้าน งานแต่งงานของอินกับซาราห์และจันกับอะเดเลดในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ.1843 นั้นเป็นที่สนอกสนใจมาก

 หนังสือพิมพ์หลายฉบับทั้งในและต่างประเทศลงข่าวงานวิวาห์ของบ่าวสาวสองคู่นี้ ตอนนั้นอินกับจันอายุ 32 ปีแล้ว ขณะที่ซาราห์อายุ 20 ปี และอะเดเลดอายุ 19 ปี ผ่านไปไม่ถึงปี ทั้งซาราห์และอะเดเลดคลอดลูกคนแรกเป็นหญิงทั้งคู่ สองครอบครัวมีลูกรวมกันทั้งหมด 21คน โดยเกิดจากอินกับซาราห์จำนวน 11 คน จากจันกับอะเดเลดจำนวน 10 คน 

ครอบครัวบังเกอร์จัดว่ามีฐานะดี มีที่ดินทำกินและทาสรับใช้จำนวนมาก แต่เพราะทั้งสองมีลูกเยอะ จึงต้องกลับไปเปิดการแสดงอยู่เป็นพักๆ ยิ่งช่วงสงครามกลางเมืองครอบครัวยิ่งลำบาก เพราะสงครามสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายใต้ที่ครอบครัวบังเกอร์เข้าร่วมอยู่มาก หลังสิ้นสุดสงครามโดยที่สหพันธรัฐฝ่ายใต้พ่ายแพ้ อิน-จันต้องปล่อยแรงงานทาสทั้งหมดให้เป็นอิสระ ทำให้ครอบครัวมีรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

เกิดพร้อมกันตายตามกัน

ทั้งคนในครอบครัว เพื่อนฝูง และแพทย์ที่เคยตรวจอิน-จัน ต่างบอกว่าคู่แฝดมีนิสัยและความชอบที่ไม่เหมือนกัน พวกเขาเห็นตรงกันว่าอินเป็นคนใจเย็น พูดน้อย ในขณะที่จันนั้นโมโหง่ายและชอบดื่มเหล้า ทั้งสองจึงทะเลาะถกเถียงกันอยู่บ้าง หรือถึงขั้นชกต่อยกันเองก็เคยมาแล้ว คอลัมน์การ์ตูนในหนังสือพิมพ์สมัยนั้นชอบวาดล้อเลียนอิน-จันอยู่บ่อยๆ เป็นรูปอินผอมจันอ้วนบ้าง หรืออินกำลังเล่นไพ่ ในขณะที่จันหลับพับอยู่ข้างๆ บ้าง เมื่ออายุมากขึ้นทั้งสองจึงมีความคิดอยากผ่าตัดแยกร่าง โดยหาโอกาสปรึกษาแพทย์อยู่บ่อยๆ แต่แพทย์ทุกคนลงความเห็นว่าเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แต่ก็เป็นไปได้ว่าถ้าใครคนใดคนหนึ่งตายก่อนแล้วผ่าตัดทันที โอกาสที่อีกคนจะมีชีวิตอยู่ต่อก็มีมาก อินนั้นกังวลตลอดว่าจันจะตายก่อน และอาจทำให้เขาต้องตายตามไปด้วย

แฝดสยาม, อิน จัน

การเดินทางไปโชว์ตัวครั้งสุดท้ายที่ยุโรปเมื่อ ค.ศ. 1870 เป็นเวลา 6 เดือนนั้น ขากลับจันเกิดภาวะสมองขาดเลือด หรือสโตรก ทำให้มีอาการอัมพาตอ่อนๆ ตั้งแต่นั้นมาสุขภาพของจันก็ทรุดลง ช่วงยี่สิบกว่าปีก่อนหน้านี้แฝดทั้งสองซื้อที่ดินสร้างบ้านใหม่เพื่อจัดให้ 2 ครอบครัวอยู่แยกกันในระยะที่ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร โดยอินและจันตั้งกฎว่าจะเดินทางสลับไปมาอยู่บ้านละ 3 วัน 

ช่วงต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1874 จันไม่สบายด้วยโรคหลอดลมอักเสบ แต่ก็ยังเดินทางตามกฎบ้านละ 3 วันอย่างเคร่งครัด จนครั้งสุดท้ายเมื่อทั้งสองอยู่ที่บ้านของอิน อาการหลอดลมอักเสบของจันทรุดลง ล่วงเข้าคืนวันที่ 17 มกราคม อินตื่นขึ้นมาพบว่าจันเสียชีวิตขณะนอนหลับก็เกิดอาการตกใจกลัวสุดขีด ช่วงที่รอให้หมอฮอลลิงเวิร์ดมาผ่าตัดแยกร่างตามที่เคยตกลงกันไว้ คนในครอบครัวได้ปลอบประโลมใจให้อินสงบลง แต่ 2 ชั่วโมงหลังจากที่จันเสียชีวิต อินก็เสียชีวิตตามไปอย่างสงบ ปิดฉากชีวิตอันโลดแล่นของแฝดสยามอินจันลงด้วยวัย 63 ปี

แฝดสยาม, อิน จัน

พิพิธภัณฑ์มุตเตอร์ เมืองฟิลาเดลเฟีย 

ฉันเดินวนไปมาแถวรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ของคนคู่นั้นอยู่หลายรอบแล้ว อยากถ่ายรูปแต่ต้องตัดใจเพราะเขามีกฎว่าห้ามถ่ายรูป

แฝดสยาม, อิน จัน

ตลอดชีวิตของอินและจัน ทั้งสองได้รับความสนใจจากวงการแพทย์เป็นอย่างมาก แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีแฝดตัวติดกันเกิดมาก่อน แต่ไม่มีรายไหนมีอายุยืนยาวเลย จนถึงยุคสมัยของอิน-จันที่ได้ไปใช้ชีวิตในโลกตะวันตก แพทย์ทั้งหลายทั้งในยุโรปและอเมริกาจึงให้ความสนใจใคร่ศึกษากันมาก จนแทบจะพูดได้ว่าไม่ว่าเรือที่แฝดสยามคู่นี้โดยสารไปเทียบท่าที่ใดก็ตาม ก็มักจะมีกลุ่มแพทย์ไปรอสังเกตการณ์เกือบทุกครั้ง บ้างก็ขอทำวิจัย ทดสอบพฤติกรรม ตั้งข้อสังเกตสารพัด ซึ่งอิน-จันก็ให้ความร่วมมือเสมอ แม้แพทย์ทุกคนจะฟันธงว่าการผ่าตัดแยกร่างกายฝาแฝดขณะยังมีชีวิตนั้นทำไม่ได้ แต่บรรดาหมอๆ เหล่านั้นก็ไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัดว่าเพราะอะไร ได้แต่คาดเดาและให้ความสนใจมัดเนื้อที่เชื่อมคนทั้งสองไว้ด้วยกันเป็นพิเศษ 

ทันทีที่อิน-จันเสียชีวิต นายแพทย์แพนโคสต์ (William Pancoast) จากพิพิธภัณฑ์มุตเตอร์ หรือชื่อเต็มว่า พิพิธภัณฑ์มุตเตอร์แห่งวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ฟิลาเดลเฟีย (The Mutter Museum of the College of Physicians of Philadelphia) ประสานงานกับแพทย์ประจำตัวของอินจัน ทำเรื่องขออนุญาตครอบครัวบังเกอร์นำร่างของแฝดสยามมาผ่าวิเคราะห์ ผลจากการผ่าสรุปออกมาว่าบริเวณตับของคนทั้งสองมีเนื้อเยื่อเชื่อมต่อถึงกันอยู่ ซึ่งเท่ากับว่าทั้งสองใช้ตับร่วมกัน แต่จากการทดสอบพบว่าการไหลเวียนของเลือดที่ส่งถึงกันในบริเวณนั้นมีน้อยมาก จนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีผลกระทบต่อกัน 

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ ภายใต้มัดเนื้อที่เชื่อมคนทั้งสองไว้ด้วยกันนั้น นายแพทย์แพนโคสต์ผ่าดูแล้วพบว่า มีเส้นเลือดแดงใหญ่เชื่อมต่อกันอยู่ เป็นการยืนยันความเห็นที่มีมาตลอดว่าการผ่าตัดแยกร่างในขณะที่อิน-จันมีชีวิตอยู่นั้นทำไม่ได้ เพราะจะทำให้เสียชีวิตจากการเสียเลือด แพทย์ยังสรุปไว้ด้วยว่าจันเสียชีวิตเพราะเส้นเลือดในสมองอุดตัน ในขณะที่อินนั้นเสียชีวิตจากอาการช็อก

การศึกษาร่างกายของอิน-จันถือว่ามีคุณค่าต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก อิน-จันจึงเป็นที่มาของคำว่าแฝดสยาม ที่โดยทั่วไปหมายถึงฝาแฝดที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายติดกัน หลังส่งร่างของอิน-จันคืนให้ครอบครัวแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ท่อนบนขนาดเท่าตัวจริงของอิน-จันคู่กับตับของคนทั้งสองไว้ให้ผู้สนใจได้ศึกษา ร่วมกับอุปกรณ์ทางการแพทย์และชิ้นส่วนอวัยวะที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่นกะโหลกมนุษย์จำนวนร้อยกว่ากะโหลกที่กินพื้นที่ผนังทั้งแถบ ชิ้นส่วนมันสมองของอัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ มือที่เป็นเกาต์ เขาที่งอกจากหน้าผากของหญิงชรา ทารกแฝด 2 หัว ดวงตาที่มีความผิดปกติสารพัดชนิด ฯลฯ ฉันกล้าบอกได้อย่างเต็มปากเลยว่าช่วงใดที่ปลอดคนเข้าชม ช่วงนั้นบรรยากาศก็ค่อนข้างจะวังเวงอยู่พอสมควร 

ออกจากห้องแสดงอวัยวะ มาต่อที่แกลเลอรี่ที่กำลังแสดงงานศิลปะจากการถักโครเชต์ชื่อ Tracing the Remains ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะไม่ใช่งานโครเชต์ที่เคยเห็นทั่วไป แต่ถักเป็นรูปอวัยวะของมนุษย์ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ทั้ง ซาบริน่า สมอล (Sabrina Small) และ เคทลิน แมคคอร์แม็ก (Caitlin McCormack) สร้างงานออกมาได้อย่างน่าทึ่งจริงๆ งานที่ฉันชอบที่สุดมีชื่อว่า Morgellons เป็นงานโครเชต์รูปโครงกระดูกของฝาแฝดตัวติดกัน

แฝดสยาม, อิน จัน

ฉันเดินออกจากห้องแสดงงานมาด้วยโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ไม่เคยรู้เลยว่ามีงานศิลปะแบบนี้อยู่ในโลก นี่ถ้าไม่ได้มาคงเสียดายแย่ อันที่จริงก็เกือบไม่ได้มาแล้วเพราะเมืองฟิลาเดลเฟียไม่อยู่ในแผนการเดินทาง แต่พอดีว่าบ้านพ่อแม่ของสามีอยู่ไม่ไกลจากเมืองนี้ เรามีนัดรวมญาติที่นั่นในช่วงวันหยุดยาว ฉันจึงถือโอกาสแวบมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในระหว่างที่รอให้ทุกคนมาพร้อมหน้ากัน…เท่านั้นเอง

พิพิธภัณฑ์บาร์นัม เมืองบริดจ์พอร์ต 

หลังวันชาติอเมริกาที่เป็นวันหยุดยาวผ่านไป เราออกเดินทางกันต่อ ระหว่างทางเราจะผ่านเมืองบริดจ์พอร์ต รัฐคอนเนตทิคัตกันอยู่แล้ว ฉันจึงโน้มน้าวให้ทุกคนเห็นด้วยว่าเราควรแวะชมพิพิธภัณฑ์บาร์นัมกันสักหน่อย ลูกชายตัวน้อยเคยดูละครสัตว์คณะ Ringling Bros and Barnum & Bailey (ที่ชื่อยาวเหยียดขนาดนี้เพราะควบรวมกิจการมาหลายรอบ) มาแล้ว 2 ครั้งจึงเห็นดีด้วย

แฝดสยาม, อิน จัน

พี ที บาร์นัม หรือ Phineas T. Barnum เริ่มก่อตั้งคณะละครสัตว์ที่รวมคนแปลกๆ และสัตว์ไว้ด้วยกัน เมื่อ ค.ศ. 1835 ซึ่งช่วงนั้นแฝดสยามอิน-จันกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง เมื่อเส้นทางมาบรรจบทั้งสองฝ่ายจึงตกลงใจร่วมงานกัน โดยทำสัญญาว่าในช่วงที่ทำงานร่วมกันนั้น นายบาร์นัมจะเป็นผู้จัดการของแฝดสยามแต่เพียงผู้เดียว 

ว่ากันว่าตลอดเวลาที่ทำงานร่วมกันราวๆ 2 ปีนั้น ทั้งสองฝ่ายคือนายบาร์นัมกับอิน-จันไม่ชอบขี้หน้ากันเท่าไร เพราะจากมุมมองของนายบาร์นัม อินจันนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดเห็นมากเกินไป แถมยังมีอารมณ์ขันที่เขาไม่ขำตามไปด้วย ถ้ามองจากมุมมองของอิน-จัน แฝดทั้งสองคิดว่านายบาร์นัมใจดำ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น และไม่เห็นความสำคัญของเขา เพราะตลอดเวลาที่อยู่ร่วมกับคณะของนายบาร์นัม อิน-จันเป็นเพียงตัวประกอบร่วมกับสัตว์และนักแสดงคนอื่นๆ เท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้การแสดงของแฝดทั้งสองนั้นโดดเด่นและเล่นกับคนดูเป็นหลัก แต่ถึงแม้จะไม่ชอบใจทั้งสองก็อยู่ร่วมคณะจนสิ้นสุดสัญญา 

พิพิธภัณฑ์บาร์นัม

พิพิธภัณฑ์บาร์นัมตั้งอยู่ในอาคารหลังใหญ่ที่สร้างด้วยหินและอิฐสีน้ำตาลแดง เป็นสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์ผสมโรมันที่มีเอกลักษณ์เฉพาะคือดูหนักแน่นด้วยอิฐก้อนใหญ่ เสาค้ำ ซุ้มประตูที่มีลักษณะโค้งมน และยอดโดม อาคารมีสามชั้นแต่ช่วงที่เราไปนั้นเป็นช่วงบูรณะ ชิ้นงานส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บไว้ในคลัง ที่เราได้เข้าชมจึงเป็นเพียงห้องโถงห้องเดียวที่เขาเลือกชิ้นงานมาจัดแสดงให้ดู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแผ่นภาพบอกเรื่องราวของพี ที บาร์นัม กับ เครื่องใช้ของ นายพลทอม ทัมบ์ (General Tom Thumb) หรือคนแคระผู้เป็นนักแสดงสุดรักสุดหวงของนายบาร์นัมที่เขารับเข้ามาอยู่ในคณะตั้งแต่ทอม ทัมบ์ มีอายุเพียง 5 ขวบและอยู่ร่วมในคณะละครสัตว์ของบาร์นัมตลอดชั่วอายุขัยของเขา 

แม้จะเป็นชาวคอนเนตทิคัต แต่เขาออกข่าวว่าทอม ทัมบ์ เป็นนายพลชาวอังกฤษ เรื่องโฆษณาเกินจริงนี่เป็นจุดเด่นของนายบาร์นัมเลยก็ว่าได้ ซึ่งสร้างความสนใจและรายได้ให้เขามากจริงๆ เพราะก่อนหน้าที่จะทำคณะละครสัตว์เขาเคยมีชื่อเสียงจากการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อเมริกันในเมืองนิวยอร์กมาก่อน และก็ใช้วิธีดึงดูดความสนใจแบบนี้แหละ 

จริงๆ ฉันตั้งใจมาหาดูรูปปั้นเซรามิกของอิน-จันโดยเฉพาะ เพราะค้นเจอจากอินเทอร์เน็ตมาก่อนหน้านี้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีไว้ในครอบครอง เป็นรูปปั้นเก่าแก่ของฝาแฝดที่มีช่วงอกติดกันที่ทำขึ้นในศตวรรษที่ 19 สูงประมาณ 3 นิ้ว ระบุว่าเป็นแฝดสยามโดยเฉพาะ แต่ว่าหาไม่เจอเพราะชิ้นงานส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บไว้ในคลังรอบูรณะอาคารเสร็จ จึงเดินดูส่วนที่เขาจัดให้ชมไป สุดท้ายมาเจอหนังสือเก่าแก่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์วงการละครสัตว์ที่ชื่อว่า Circus 1870-1950 เปิดดูเจอรูปวาดของอิน-จันเลยขออนุญาตภัณฑารักษ์ถ่ายรูปเก็บไว้ดู 

แฝดสยาม, อิน จัน

แม้จะไม่ชอบขี้หน้ากัน แต่อินจันกับบาร์นัมก็กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองอเมริกา โดยอิน-จันตัดสินใจขอเข้าร่วมกับคณะของนายบาร์นัมเอง ชื่อของแฝดสยามนั้นเรียกคนดูได้เสมอ นายบาร์นัมจึงไม่ปฏิเสธ โดยครั้งนี้นายบาร์นัมจัดให้แฝดสยามไปแสดงในยุโรปเป็นเวลาปีกว่า ซึ่งอิน-จันได้พาลูกสาวสองคนวัย 24 กับ 21 ปี เดินทางไปกับเขาด้วย โดยตั้งใจว่าจะหาหมอรักษาอาการของแคทเธอรีน ลูกสาววัย 24 ปีของอินที่ป่วยเรื้อรังมานานหนึ่งล่ะ และปรึกษาแพทย์เรื่องการผ่าตัดแยกร่างกายของตัวเองอีกหนึ่ง 

จากศตวรรษที่ 19 ล่วงเข้าศตวรรษที่ 20 และ 21 ชื่อพี ที บาร์นัม อยู่คู่กับคณะละครสัตว์ที่เรียกกันว่า The Greatest Show on Earth มาโดยตลอด แม้จะเหลือแต่ชื่อเพราะควบรวมกิจการและถูกขายต่อกันมาหลายทอดแล้วก็ตาม เจ้าของกิจการคนสุดท้ายคือตระกูลเฟลด์ที่ซื้อต่อมาจากตระกูลริงกิ้งตั้งแต่ ค.ศ.1967 อีกต่อหนึ่ง ดำเนินกิจการมาถึง ค.ศ.2017 ตระกูลเฟลด์ก็ประกาศปิดกิจการคณะละครสัตว์ The Greatest Show on Earth ลง เพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหวเนื่องด้วยยุคสมัยเปลี่ยน ผู้คนไม่ตั้งตารอชมคณะละครสัตว์เหมือนอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป เป็นการปิดฉากคณะละครสัตว์แบบเคลื่อนที่เต็มรูปแบบของอเมริกาที่อยู่มานานเกือบ 2 ศตวรรษลง 

โชคดีที่ฉันกับลูกชายทันได้เห็นความยิ่งใหญ่อลังการของละครสัตว์คณะนี้ด้วยกันเป็นครั้งแรก เราต่างตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน กลับถึงบ้านยังมาสลับกันแสดงเป็นช้างกับเสือให้อีกคนได้ทำท่าเป็นผู้ฝึกเหมือนที่เพิ่งได้ดูมาด้วย

ออกจากพิพิธภัณฑ์บาร์นัม เราเดินทางกันไปเที่ยวต่อและพักผ่อนอยู่ในเขตนิวอิงแลนด์ ก่อนจะเริ่มเดินทางวกลงใต้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เมืองเมาต์แอรี่ รัฐนอร์ทแคโลไรนา

Siamese Connection

คุณๆ เคยเห็นหัวรับน้ำดับเพลิงที่ติดอยู่กับผนังด้านนอกของตัวอาคารกันไหมคะ ที่มีท่อยื่นออกมาเพียงท่อเดียวก่อนจะแยกออกเป็น 2 ทาง มีฝาปิด-เปิดได้เพื่อต่อเข้ากับสายส่งน้ำดับเพลิง นั่นล่ะค่ะเรียกว่า ‘สยามมิส คอนเนกชัน’ หรือหัวรับน้ำดับเพลิง ฉันสังเกตเห็นชื่อนี้ครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เห็นปุ๊บนึกสงสัยทันทีว่าทำไมจึงใช้ชื่อนี้ คิดไปคิดมาก็สรุปเอาเองจากรูปร่างลักษณะของมันว่าคงมีที่มาจากแฝดสยามหรือแฝดตัวติดกันแน่นอน จากนั้นก็ไม่ได้ติดใจคิดถึงมันอีก แต่เวลาที่ฉันเห็นอุปกรณ์ชิ้นนี้ที่ไหนเป็นไม่ได้ ต้องแวะเข้าไปดู เอ๊ะ! หรือว่ายังติดอยู่ในใจ แต่แวะดูทีไรก็ไม่เคยเจอเจ้าอุปกรณ์นี้ในชื่อนี้อีกเลย เจอแต่คำว่า FDC หรือ Fire Department Connection กำกับอยู่แทน 

แฝดสยาม, อิน จัน

จอช กิ๊บสัน (Josh Gibson) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Siamese Connection ที่เกี่ยวกับแฝดสยามอิน-จันเปิดฉากหนังของเขาด้วยการเอ่ยถึงอุปกรณ์ชิ้นนี้ เขาบอกว่าตอนเด็กๆ เดินผ่านหัวรับน้ำดับเพลิงบ่อยๆ นึกสงสัยว่าทำไมมันจึงมีชื่อว่า Siamese Connection สรุปว่าที่ผ่านมาฉันไม่ได้ตาฝาดไป เพราะหัวรับน้ำดับเพลิงในอดีตมีชื่อเรียกอย่างนั้นจริงๆ เพียงแต่เดี๋ยวนี้หาดูแทบไม่ได้อีกแล้ว เพราะรุ่นใหม่เปลี่ยนมาเรียกว่า FDC กันหมดแล้ว 

แฝดสยาม, อิน จัน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกในงานเทศกาลภาพยนตร์ฟูลเฟรมเมื่อ ค.ศ.2008 แต่ฉันเพิ่งได้ดูที่พิพิธภัณฑ์แฝดสยามที่เมืองเมาต์แอรี่นี่เอง จริงๆ เรียกว่าพิพิธภัณฑ์คงไม่ถูกนักเพราะเขาใช้คำว่า Exhibit ซึ่งหมายถึงนิทรรศการแต่เป็นนิทรรศการที่มีพื้นที่จัดแสดงถาวร ตัวหนังสือ ‘Siamese Twins Exhibit’ ตัวโตๆ ที่ติดอยู่ข้างอาคารบอกเราว่ามาถูกที่แล้ว ภายในห้องนิทรรศการห้องเล็กๆ นั้นอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวของแฝดสยามอิน-จันมากมายเต็มไปหมด เริ่มจากผนังทั้ง 4 ด้านที่จัดแสดงภาพถ่าย ใบปิด สำเนาเอกสารต่างๆ บทความ และข่าวจากหนังสือพิมพ์ ต่อไปยังตู้โชว์หนังสือและของใช้บางชิ้นของอินและจัน 

แฝดสยาม, อิน จัน

รูปปั้น โอ้… ใช่แล้ว รูปปั้นเซรามิกที่ฉันดั้นด้นไปหาดูที่พิพิธภัณฑ์บาร์นัมแต่ไม่ได้เห็น ก็ได้มาเห็นที่นี่ บนผนังด้านหนึ่งมีจอโทรทัศน์ที่ฉายภาพยนตร์เรื่อง Siamese Connection ให้ดูอย่างต่อเนื่องแบบจบแล้วฉายซ้ำอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งวัน ผู้คนเบาบาง มาเดินแป๊บๆ แล้วก็ไป ไม่อยู่นาน แต่สำหรับฉันดูท่าว่าจะยืดเยื้อ จึงต้องจัดระเบียบการเยี่ยมชมก่อน เริ่มจากดูหนังสารคดี และสำรวจแฟ้มเอกสารที่วางอยู่บนโต๊ะตรงกลางห้อง ที่หน้าปกของแฟ้มเหล่านั้นมีรูปภาพและข้อความบอกคร่าวๆ ว่าเป็นแฟ้มรียูเนียนของตระกูลบังเกอร์ โดยระบุปีที่รวมตัวกันไว้ด้วย

การรวมตัวของทายาทตระกูลบังเกอร์เพิ่งมีขึ้นราว ค.ศ.1989 – 1990 นี่เอง อ่านบทความที่เขียนโดยลูกหลานบังเกอร์ในแฟ้มเหล่านี้จะเห็นว่าหลายคนเติบโตมาโดยที่ไม่ทราบเรื่องราวของอิน-จันเท่าใดนัก เพราะคนในครอบครัวไม่เล่าหรือไม่เอ่ยถึง ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาการสืบค้นประวัติบรรพบุรุษ (Genealogy) ในอเมริกามีความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทายาทอิน-จันหลายคนสนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น ทั้งยังภูมิใจกับการสืบเชื้อสายมาจากแฝดทั้งสองจนถึงขั้นประกาศตัว เช่น นางอเล็ก ซิงก์ (Alex Sink) ที่เคยลงสมัครชิงผู้ว่าการรัฐฟลอริด้า เธอเป็นเหลนของจันกับอะเดเลด เติบโตมาในบ้านที่จันเคยอาศัยอยู่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว 

ฉันเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของเธอ เธอยังเอ่ยถึงดวงตาที่มีรูปลักษณ์แบบชาวเอเชียของเธอด้วยว่าได้มาจากต้นตระกูล การรวมญาติตระกูลบังเกอร์เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ จากนั้นขยายใหญ่ขึ้น จนปัจจุบันมีการจัดงานรวมญาติอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปีในช่วงสุดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 

แฝดสยาม, อิน จัน
แฝดสยาม, อิน จัน

ข้อมูลใหม่ๆ ที่ต่างนำมาแลกเปลี่ยนกัน ร่วมกับความรู้ที่ได้จากวิทยากรพิเศษที่มาบรรยายในงาน เช่น นักเขียน นักวิชาการ ได้รับการจัดเก็บไว้ในแฟ้มเหล่านี้เพื่อแบ่งปันให้คนทั่วไปได้อ่านกัน ส่วนเอกสารและเครื่องใช้ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการส่วนใหญ่เป็นการให้ยืมแบบถาวรจากศูนย์เอเชียประจำมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา และจากทายาทตระกูลบังเกอร์ 

แฝดสยาม, อิน จัน

ถ้านับรุ่นทายาทของอิน-จันในปัจจุบันก็อยู่ในรุ่นที่ 4 ที่ 5 แล้ว สายสาแหรกตระกูลบังเกอร์รวมแล้วมีประมาณ 1,500 คน มีเรื่องหนึ่งที่ฉันรู้มาและคิดว่ามันเก๋มากคือ ทายาทแต่ละคนมีรหัสประจำตัวที่เริ่มด้วยอักษร E หรือ C อันเป็นสัญลักษณ์แทนคำว่าอินหรือจัน ตามด้วยตัวเลขที่เรียงลำดับรุ่นมาจนถึงตัวเอง โดยบอกได้ว่าสืบสายตรงมาจากใครในรุ่นก่อนหน้า ดังนี้ E-7-2-4-3 หนังสือ The Connected Bunkers ที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2001 โดยเจซซี่ บังเกอร์ บรายอันส์ ผู้เป็นเหลนของอินกับซาราห์ ระบุว่ามีทายาทตระกูลบังเกอร์ที่เป็นฝาแฝดรวมแล้วห้าคู่ มาถึง ค.ศ.2006 นิตยสาร National Geography ที่ลงสารคดีเรื่องของอินจันให้ข้อมูลว่ามีเพิ่มเป็น 11 คู่ อ่านแล้วฉันรู้สึกอยากให้มีการค้นคว้าสืบหาญาติพี่น้องทางฝั่งไทยของอินจันบ้างจัง 

สะพานอินจัน บังเกอร์รำลึก

ถ้าเราหันหน้าเข้าหาแฝดสยาม อินคือคนที่อยู่ทางซ้าย ส่วนจันคือคนที่อยู่ทางขวา นี่กระมังเวลาที่คนไทยเราเรียกแฝดสยามคู่นี้เราจึงพูดว่า อิน-จัน คือเอ่ยถึงอินก่อนจัน แต่ชาวต่างชาติทั้งจากเอกสารและหนังสือส่วนใหญ่มักเอ่ยถึงจันก่อนอิน ก็ไม่รู้ว่าทำไม แถมเรียกเพี้ยนเป็นชางเอ็ง (Chang Eng) ไปอีกแน่ะ อาจเพราะสะดวกปากเหมือนที่คนไทยเรียกชื่อชาวต่างชาติเพี้ยนเป็น นายหันแตร นายกาละฟัด ปลัดเล อะไรอย่างนั้นมั้ง 

แฝดสยาม, อิน จัน, สะพานอินจัน

Eng and Chang Bunker Memorial Bridge ครั้งนี้จึงเป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่ฉันเห็นฝรั่งเรียกชื่ออินก่อนจัน ค.ศ.2001 อินและจันได้รับเกียรติจากทางการรัฐนอร์ทแคโรไลนานำชื่อคนทั้งสองมาตั้งชื่อสะพานข้ามลำน้ำสจ๊วตที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเมาต์แอรี่ออกไปไม่ไกล แต่ด้วยความที่เราไม่มีพิกัดใดๆ นอกจากชื่อลำน้ำเท่านั้น เราจึงขับรถวนหาสะพานแห่งนี้กันอยู่พักใหญ่ เมื่อเจอแล้วก็ยังลงไปดูไม่ได้เพราะหาที่จอดรถไม่ได้

สุดท้ายพลขับคู่ใจของฉันแนะนำว่าฉันควรลงไปดูคนเดียว ส่วนเขาและเด็กจะรออยู่ในรถที่จอดอยู่ข้างทาง เผื่อกีดขวางทางสัญจรจะได้เคลื่อนย้ายทัน สะพานอินจัน บังเกอร์ เป็นสะพานคู่ขนาน มีช่องว่างตรงกลางที่กันพื้นที่ไว้ให้ปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ สองข้างทางร่มครึ้ม ช่วงบ่ายแก่ๆ ที่ดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำแบบนี้ เงาของต้นไม้เริ่มพาดยาวออกมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันเดินไปที่ช่วงกลางของสะพานเพื่อจะดูลำน้ำสจ๊วต แต่ปรากฏว่าช่วงนี้เป็นหน้าร้อน น้ำแห้งขอดจนหญ้าขึ้นสูง เรายังมีสถานที่ต้องไปต่อฉันจึงเดินกลับมาขึ้นรถที่จอดรออยู่บนพื้นที่ที่เหมือนปากทางเข้าบ้านคน ซึ่งก็ใช่จริงๆ 

แฝดสยาม, อิน จัน, สะพานอินจัน

เมื่อมองข้ามหัวพลขับของฉันไป สายตาก็ปะเข้ากับป้ายถนนที่มีชื่อว่า ถนนสก็อตต์ บังเกอร์ (Scott Bunker) มองเลยเข้าไปในซอยเห็นมีป้ายบอกว่าเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ‘คงเป็นลูกหลานคนหนึ่งของอินหรือไม่ก็จันนะ’ ฉันคิด เคยได้ยินมาว่าปัจจุบันนี้บ้านที่จันเคยอยู่ยังใช้เป็นที่อยู่อาศัยของทายาท ในขณะที่บ้านของอินถูกไฟไหม้ไปตั้งแต่ ค.ศ.1956 แล้ว

บ้านหลังสุดท้าย เรือนตายของแฝดสยาม 

โบสถ์ไม้สีขาวขนาดกะทัดรัดหลังนั้นตั้งอยู่บนเนิน เป็นโบสถ์เก่าแก่ที่ตั้งมานานเกินร้อยกว่าปีแล้ว ว่ากันว่าเจ้าของที่ดินตั้งใจบริจาคพื้นที่ให้เป็นสาธารณประโยชน์ เป็นโรงเรียน และด้วยความมีฝีมือ ทั้งสองยังช่วยลงแรงสร้างโบสถ์หลังนี้ด้วยตัวเองอีกด้วย ปัจจุบันโบสถ์ White Plains Baptist Church ยังเปิดให้บริการกับคนในชุมชนตามภารกิจแม้การเรียนการสอนจะย้ายไปทำในอาคารหลังใหม่ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันนานแล้วก็ตาม ฉันเดินตามแนวต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นสูงเป็นกำแพงขนานกับตัวอาคารโบสถ์ไปยังสุสานที่ตั้งอยู่ด้านหลัง รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้จัดหาช่อดอกไม้ติดมือมาด้วย พื้นที่สุสานตั้งอยู่บนเนินที่อยู่ในระดับเดียวกับโบสถ์ ป้ายหินเหนือหลุมฝังศพส่วนใหญ่หันหน้าไปทางโบสถ์ 

แฝดสยาม, อิน จัน, สะพานอินจัน

แสงตะวันส่องหน้าทำเอาฉันต้องหรี่ตาเล็กน้อยเพื่ออ่านชื่อบนแผ่นป้ายเหล่านั้น แต่ใช้เวลาไม่นานก็เจอแท่นหินขนาดใหญ่มีข้อความจารึกบอกว่าเป็นสถานที่ฝังร่างของอินและจัน ด้านบนสุดของแท่นสลักอักษร B ตัวใหญ่โดยมีชื่อสกุล Bunker จารึกอยู่ที่ด้านล่างสุด ตรงกลางของแท่นหินเป็นรายละเอียดวันชาตะและมรณะของอินกับจัน ซาราห์ และอะเดเลด โดยมีข้อความบอกว่าอินกับจันเกิดที่สยามกำกับอยู่ด้วย ในบริเวณใกล้เคียงกันนั้นยังเป็นที่ฝังศพของคนในตระกูลบังเกอร์อีกหลายคน

ตะวันรอนอ่อนแสง จุดที่ฉันยืนอยู่นั้นเป็นที่สูงทำให้มองออกไปได้ไกลมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า มีบ้านเรือนกระจายให้เห็นเพียงไม่กี่หลัง มองเลยออกไปเห็นเทือกเขาแอปพาเลเซียนพาดผ่านยาวเหยียดอยู่ไกลลิบ หากร้อยกว่าปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก ทิวทัศน์ที่ฉันเห็นอยู่ตรงหน้านี้คงใกล้เคียงกับที่แฝดสยามอินจันผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองนี้นานถึง 35 ปีเห็นจนชินตา 

ช่วงเวลาที่เราอยู่ที่เมืองเมาต์แอรี่แห่งนี้มักมีคำถามหนึ่งโผล่มาในหัวของฉันบ่อยๆ ‘แฝดทั้งสองจะคิดถึงบ้านเกิดที่จากมาไหมนะ’ ทำไมไม่รู้หรือจิตใต้สำนึกอาจบอกฉันว่าคนอยู่ไกลบ้านมักมีวันที่คิดถึงบ้านเป็นพิเศษ แม้ว่าทั้งสองจะมีครอบครัวเป็นของตัวเองและเลือกเมืองเมาต์แอรี่แห่งนี้เป็นบ้านของเขาแล้วก็ตาม บ้านหลังสุดท้ายที่เป็นเสมือนเรือนตายของแฝดสยามอิน-จันผู้เดินทางมาแล้วค่อนโลก

ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะลาลับและผู้ร่วมเดินทางของฉันจะเริ่มออกตามหาตัว ฉันยกมือไหว้ลาพร้อมส่งจิตระลึกถึงแฝดสยามนักผจญภัยทั้งสองก่อนจะเดินจากมา รู้สึกดีใจที่ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นลงตัว ได้เรียนรู้เรื่องราวของคนทั้งสอง ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งสอง ต่อจากนี้เราคงมุ่งหน้ากลับบ้านของเราโดยไม่มีแผนแวะเที่ยวที่ไหนอีกแล้ว แต่ถ้าถามว่ายังมีที่ไหนอีกที่อยากไป ฉันตอบได้ทันทีว่ามีแต่อยู่ที่เมืองไทย ก็ฉันยังไม่เคยไปเที่ยวบ้านเกิดของอิน-จันที่จังหวัดสมุทรสงครามเลยน่ะสิ นั่นล่ะสถานที่ที่อยากไป ซึ่งคงต้องเป็นโอกาสต่อไป 

Writer & Photographer

Avatar

พิมพมาศ ยี

แม่เต็มเวลาที่สนุกกับงานขีดเขียนและค้นคว้า โดยเฉพาะกับเรื่องที่ตัวเองกำลังสนใจ รู้แล้วชอบบอกต่อจึงมักจะชอบเล่าเกร็ดความรู้ที่เพิ่งอ่านหรือดูมาให้คนใกล้ตัวฟังจนบางครั้งคนฟังบ่นว่าเมื่อยหู ทำให้เกิดกิจกรรมที่ทำแล้วชอบเพิ่มมาอีกหนึ่งคือทำหนังสือบันทึกเรื่องราวต่างๆ เก็บไว้ให้คนใกล้ตัวได้อ่านแทน