4 พฤศจิกายน 2022
17 K

*** บทความนี้มีงูเลื้อยออกมา

“งูเป็นสัตว์ที่น่าสงสารและถูกเข้าใจผิดบ่อยมาก”

แน่นอนว่าคนฟังตั้งคำถามกลับทันที – น่าสงสารอย่างไร

ลองจินตนาการโดยไม่รู้คำตอบว่า สัตว์จากธรรมชาติหลายตัวตายผิดธรรมชาติด้วยท่อนไม้ ท่อนเหล็ก รถยนต์ หรือรองเท้า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ การอาศัยในป่า เดินข้ามภูเขา หรือว่ายข้ามลำธารของพวกเขาดูจะไม่มีอุปสรรคมากเท่าทุกวันนี้

โปรดเก็บความสงสัยไว้อีกครู่เดียว เพราะ มะเดี่ยว-วรพจน์ บุญความดี และ โดม-โดมม์ ลิมปิวัฒน ตัวแทนจากทีม siamensis.org กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่ม LINE ‘สายด่วนงูเข้าบ้าน’ พร้อมมานั่งจิบกาแฟแลปลา สนทนาเรื่องงู ๆ กับเราที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว

เอาล่ะ! ขอเชิญทุกท่านลองมาเข้าใจ (และเอ็นดู) งูกันสักหน่อย

‘งูเข้าบ้าน’ สายด่วนจำแนกชนิดงู โดย siamensis.org ที่อยากให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้

Siamensis
ด้วยรักและห่วงใยในธรรมชาติ

“จริง ๆ เรื่องของสัตว์บางชนิดที่อยู่ร่วมกับคน ควรเป็นความรู้พื้นฐานไม่ต่างจากหัดการว่ายน้ำ เพราะเราป้องกันตัวเองและช่วยชีวิตสัตว์ไปพร้อมกันได้”

โดมคือนักวิทยาศาสตร์ประจำคณะประมงผู้สนใจศึกษาเรื่องงูมาตั้งแต่อายุ 17 เขาทั้งเดินตลาด สำรวจป่า และเพาะเลี้ยงในบ้าน โดยมีครอบครัวเป็นผู้สนับสนุนด้วยความเป็นห่วง ภายใต้ข้อแม้ว่า ‘ขอให้เริ่มเลี้ยงจากชนิดที่ไม่มีพิษก่อน’

ส่วนปัจจุบัน โดมยกตู้ปลาใส่หิน ดิน และกาบไม้อย่างดีออกมาให้ชม เรามองผ่านกระจกใส เห็นงูพังกาหรืองูเขียวหางไหม้ลายเสือ (มีพิษ) นอนอยู่บนบัลลังก์กิ่งไม้ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง โดยมีมะเดี่ยว นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งกลุ่มไลน์ งูเข้าบ้าน จาก Siamensis นั่งอยู่ถัดไป

‘งูเข้าบ้าน’ สายด่วนจำแนกชนิดงู โดย siamensis.org ที่อยากให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้

Siamensis ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 15 ปี ในฐานะศูนย์รวมของผู้คนที่สนใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ทั้งรักและอยากรักษาไว้อย่างยั่งยืน โดยคำว่า Siamensis (สยามเอ็นสิส) เป็นภาษาละตินที่ใช้เพื่อตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับสิ่งมีชีวิตที่พบในประเทศไทย

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด และท่านอื่น ๆ คือผู้ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมา พี่นณณ์ขยายฐานสู่เว็บบอร์ด ให้คนที่สนใจมาแชร์ภาพหรือเขียนเป็นบทความ เรามี นอต-มนตรี สุมณฑา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูมาคอยสอนสมาชิกว่าตัวไหนน่าสนใจอย่างไร กลายเป็นว่าทุกคนเริ่มสนใจขึ้นมา” มะเดี่ยวเล่า

หลังจากที่คนรอบตัวทราบว่าเขามีความรู้พอแยกได้ว่า อสรพิษตัวไหนมีพิษจริง คำถามมากมายก็หลั่งไหลเข้ามาไม่หยุด

“พอเกิดเหตุ คนไม่รู้ว่าต้องไปถามใคร บางทีเราตอบไม่ทัน ไม่ว่าง เหตุการณ์เลยผ่านไป แทนที่จะช่วยแก้ไขได้ทันท่วงที งูกลับถูกตีตาย คนโดนกัด เลยคิดว่าถ้ามีช่องทางตรงกลางให้ทุกคนมาช่วยกันมันจะดีมาก”

แรกเริ่มคนในทีมยังไม่ได้นึกถึงบทบาทในการเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่แพทย์ เพราะพวกเขามุ่งมั่นไปที่การช่วยงูและช่วยคน

“หลายคนสงสัยว่าจะช่วยทำไม แต่มันน่าสงสารนะ” มะเดี่ยวยิ้มบาง ๆ เขาเข้าใจว่าคนไม่เข้าใจ 

‘งูเข้าบ้าน’ สายด่วนจำแนกชนิดงู โดย siamensis.org ที่อยากให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้

เพราะฉะนั้น คนที่เข้าใจจึงมีหน้าที่อธิบาย – เราหันไปหาโดม

“โดยปกติเขาจะมีนิสัยกลัวคนเป็นพื้นฐาน พยายามเลื้อยหนีหรือหลบ ยกเว้นเราไปบุกรุกเขตปลอดภัยของเขาทำให้เขารู้สึกจวนตัว เขาจึงตอบโต้กลับ แต่จริง ๆ เขาไม่ต้องการกัดเราเลย จะเห็นได้จากเวลางูมีพิษกัดคน บางครั้งเขาก็ไม่ได้ปล่อยน้ำพิษออกมา (กัดแห้ง) เนื่องจากต้องการเก็บพิษไว้ใช้ยามจำเป็น เราตัวใหญ่ กัดไปก็กินไม่ได้ การฉกคนจึงถือเป็นการสูญเสียพลังงานและพิษโดยเปล่าประโยชน์แทนที่จะได้ใช้ล่าเหยื่อ” โดมเสริม

เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่เข้าใจว่า ‘งูมีพิษ’ การกระทำต่อมาจึงหนีไม่พ้นการหันหน้าเข้าต่อสู้ ก่อนจะจบลงด้วยความสูญเสียที่ยักษ์ใหญ่เป็นผู้ชนะ

“เราบอกคนว่าตัวนี้ไม่มีพิษ ไม่ต้องทำร้าย เขามีประโยชน์ในการจับหนู จิ้งจก ตุ๊กแก แมลง ปล่อยไว้ในบ้านได้ ทำให้เขาไม่ต้องตาย แล้วคนก็ปลอดภัย เพราะการตีคือการเพิ่มความเสี่ยงที่จะโดนงูกัด การโทรตามกู้ภัยมาจับไปปล่อยจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า” มะเดี่ยวแนะนำ

จากฐานที่มั่นของชาว Siamensis บนเว็บบอร์ด ต่อมาขยับขยายเข้าสู่กลุ่มเฟซบุ๊ก siamensis.org ใน พ.ศ. 2553 ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 53,000 คน ต้อนรับทั้งคนที่มีความสนใจเป็นทุนเดิม และคนที่มาหาทุนความรู้เพิ่มเติม กระทั่ง พ.ศ. 2559 ช่องทางใหม่ที่มุ่งหวังให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้ก็ถือกำเนิดขึ้น

‘งูเข้าบ้าน’ สายด่วนจำแนกชนิดงู โดย siamensis.org ที่อยากให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้

There’s a snake in my house
งูเข้าบ้าน โปรดอ่านทางนี้

LINE official เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากเพื่อนจำนวน 48,669 คน และผู้ติดตามอีก 40,350 คน ใน พ.ศ. 2563 ปัจจุบันมีคนกดเพิ่มเพื่อนมากขึ้นเป็นเท่าตัว ก้าวสู่ 84,241 คน และผู้ติดตาม 47,131 คน (และขยับขึ้นอีกในทุกวัน)

ทั้งหมดคือผลของความร่วมมือระหว่างทีมงานอาสาสมัคที่ทำงานผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก สื่อสารผ่านแชทกลุ่มและตอบสายด่วนผ่าน LINE โดยมีแอดมิน 5 คน และทีมงานหลังบ้านอีก 23 คน อาศัยและอาสาว่าใครว่างค่อยเข้าไปช่วยตอบ เพราะทุกคนมีความรู้ขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว

มะเดี่ยวเล่าว่า พวกเขาเริ่มปฏิบัติการครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559 เพื่อให้บริการปรึกษาชนิดงูสำหรับบุคคลทั่วไป จนถึงบุคลากรทางการแพทย์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายภาพตัวเจ้าปัญหาแบบเห็นทั้งตัว ด้านหลัง ท้อง และหัว แต่ก็มีบางครั้งที่ส่งมาเป็นหลักฐานของการถูกทำร้าย

“บางครั้งคนร้ายไม่ใช่งู เราจึงมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เช่น นักกีฏวิทยา (ศึกษาเรื่องแมลง) เพราะบางทีแผลเหมือนแมงมุมกัด อาจเป็นแมงมุมแม่ม่าย หรือบางทีเป็นตะขาบ เราก็ต้องถามผู้รู้ เช่น อาจารย์หมอที่เป็นนักพิษวิทยา” ทีมงานหลังบ้านเล่า

“อีกหน่อยอาจจะต้องเปลี่ยนชื่อเป็น LINE สัตว์มีพิษเข้าบ้าน” เราแซว, อีกฝ่ายหัวเราะ

‘งูเข้าบ้าน’ สายด่วนจำแนกชนิดงู โดย siamensis.org ที่อยากให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้

จากสถิติที่ช่วยกันเก็บ แค่เพียง 4 ปีที่เปิดให้บริการมีเคสเข้ามามากเกือบ 15,000 เคส เฉลี่ยเดือนละ 300 เคส แบ่งการทำงานได้ 2 ลักษณะอย่างละครึ่ง ๆ คือช่วยให้คำปรึกษาเรื่องงูเข้าบ้าน และช่วยจำแนกชนิดเมื่อถูกกัด

จำนวนกรณีที่เกิดขึ้นถือว่าเยอะมาก แม้ขณะกำลังสัมภาษณ์ โดมและมะเดี่ยวก็ผลัดกันหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาตอบข้อความที่ส่งมาขอความช่วยเหลือ

“ตอนนี้วันละ 100 เคสก็ถึงครับ ช่วงน้ำท่วม คนหนีน้ำ งูก็หนีน้ำเหมือนกัน” โดมตอบ แต่สายตาไม่อาจละจากโทรศัพท์ เพราะคาดว่ามีเคสคนถูกกัดส่งมาพอดี

‘งูเข้าบ้าน’ สายด่วนจำแนกชนิดงู โดย siamensis.org ที่อยากให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้

ประสบการณ์ 6 ปีของทีมไม่ได้เพียงช่วยงานประชาชนหรือทีมแพทย์เท่านั้น แต่ความรู้ของพวกเขายังช่วยชีวิตสัตว์ไว้มากมาย ทั้งสัตว์เลื้อยคลานเองและสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมวที่พุ่งกอดรัดฟัดงูอย่างตื่นเต้น

“LINE ของเราได้รับการบอกต่อเยอะมาก ตั้งแต่แพทย์ห้องฉุกเฉิน สัตวแพทย์ ประชาชน นักวิชาการ อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ เรารู้ว่าทุกวินาทีคือชีวิตจึงรีบตอบให้เร็วที่สุด เพราะไม่อยากให้เกิดการสูญเสียไม่ว่าจะฝ่ายไหน” 

ทีมงานทุกคนเป็นอาสาสมัครที่มีงานประจำทั้งหมด แม้จะเป็นเคสยาก แต่ทุกคนก็ตั้งใจสละเวลาเพื่อนำข้อมูลมาปรึกษากันหลังบ้านก่อนลงความเห็นให้ต้นทาง และท่ามกลางกองข้อความขอความช่วยเหลือ พวกเขาก็ได้ฐานข้อมูลสำคัญจำนวนมาก

มากพอให้เราตระหนักถึงความเข้าใจผิด ๆ ที่บางข้อเห็นสมควรให้ถูกงูจับปรับทัศนคติบ้าง

‘งูเข้าบ้าน’ สายด่วนจำแนกชนิดงู โดย siamensis.org ที่อยากให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้

Don’t get me wrong
รวมเรื่องงู ๆ ที่คน ๆ ควรรู้

***อ้างอิงจากข้อมูลสถิติของสายด่วนงูเข้าบ้านใน พ.ศ. 2563

01 งูที่เข้าบ้านส่วนใหญ่ ‘ไม่มีพิษ’

งูพิษในไทยที่พบเจอบ่อยแบ่งได้ราว 6 กลุ่ม ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูกะปะ และงูสามเหลี่ยม หากท่องจำลักษณะได้จะทำให้จำแนกได้เร็ว โดยหนึ่งในงูที่ถูกเข้าใจผิดบ่อยคืองูเขียวพระอินทร์ เจ้าของตำนานงูเขียวกินตับตุ๊กแก ซึ่งแท้จริงแล้วมีพิษอ่อน แตกต่างจากงูเขียวหางไหม้ ส่วน 5 อันดับงูชอบเข้าบ้าน เป็นชนิดไม่มีพิษทั้งหมด ได้แก่ กลุ่มงูงอด-ปี่แก้ว งูเขียวพระอินทร์ งูสิง งูปล้องฉนวน และงูทางมะพร้าว

‘งูเข้าบ้าน’ สายด่วนจำแนกชนิดงู โดย siamensis.org ที่อยากให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้
‘งูเข้าบ้าน’ สายด่วนจำแนกชนิดงู โดย siamensis.org ที่อยากให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้

02 ดูลักษณะหัว จำแนกชนิดไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์

บางชนิดไม่มีพิษ แต่เลียนแบบลักษณะของตัวที่มีเพื่อป้องกันตนเอง เช่นเดียวกับการดูรอยแผล มีโอกาสผิดพลาดเช่นกัน

03 โดยทั่วไป งูไม่เลื้อยเข้ามา ‘เพื่อกัด’

งูบางชนิดเลือกพรางตัวอยู่กับที่ เพราะเข้าใจว่าคนมองไม่เห็น หากมีการลุกล้ำอาณาเขต งูอาจป้องกันตัวด้วยการกัด แต่หลายชนิดมีพฤติกรรมเลื้อยหนี

04 ตีงูตาย ‘ไม่มีเพื่อนมาแก้แค้น’

หากตีงูตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์ โอกาสที่ฟีโรโมนฟุ้งกระจายจะมีมาก เมื่อกระจายจึงกลายเป็นตัวดึงดูดตัวผู้เข้ามาในบริเวณนั้น

05 งูแสงอาทิตย์ ‘ไม่มีพิษ’ ออกไปตากแดด คนก็ไม่ตาย

คนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า หากโดนงูแสงอาทิตย์กัด แล้วไปโดนแสงอาทิตย์ คนที่ถูกกัดจะตาย ณ ตอนนั้น แต่ในความเป็นจริง การทำงานของพิษจะแสดงอาการทันที ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแสง โดยกลุ่มงูที่กัดแล้วทำให้คนไทยไปโรงพยาบาลมากที่สุดแบ่งกว้าง ๆ ได้ทั้งหมด 5 กลุ่ม คือ กลุ่มงูงอด-ปี่แก้ว (ไม่มีพิษ) งูหัวกะโหลก (พิษอ่อน ไม่อันตราย) งูเห่า (พิษอันตราย) งูกะปะ (พิษอันตราย) และงูลายสอ (ไม่มีพิษ)

‘งูเข้าบ้าน’ สายด่วนจำแนกชนิดงู โดย siamensis.org ที่อยากให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้

06 ถูกงูกัด ‘ห้ามขันชะเนาะ’

เรื่องเล่าจากวิทยากรที่สถานเสาวภา เหตุคือ ชาวบ้านถูกงูกัดและกลัวพิษเข้ากระแสเลือดจึงขันชะเนาะที่แขน 3 ชั้น พร้อมตีงูมาให้แพทย์ดู แต่ปรากฏว่าเป็น งูสิง ซึ่งไม่มีพิษ สุดท้ายต้องตัดแขน เพราะเลือดไม่เดินและเนื้อตาย

วิธีการใหม่ ขอย้ำว่า ไม่ต้องขันชะเนาะ เพราะนอกจากจะทำให้เสี่ยงถูกตัดอวัยวะทิ้งแล้ว ยังไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของพิษได้ ควรทำเหมือนเข้าเฝือกอ่อน ใช้ไม้และผ้ายืดพันแขนขาที่ถูกกัดให้ขยับน้อยที่สุด ป้องกันการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่จะทำให้พิษเดินหรือแพร่กระจายได้เร็วขึ้น พยายามอย่าให้อัตราการเต้นของหัวใจขยับสูงกว่าเดิม

07 ดูดพิษด้วยปาก ‘ไม่มีหลักฐานว่าช่วยได้จริง’

มีการคิดค้นเครื่องดูดพิษงูกำลังสูงขึ้นมาแทนการดูดด้วยปาก แต่มีงานวิจัยเครื่องดูดพิษออกมาว่า พิษที่ถูกดูดออกมาคิดเป็นร้อยละ 2 ของปริมาตรที่ฉีดเข้าไป สิ่งที่อันตรายคือ การที่พิษเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางบาดแผลในช่องปาก หรือแผลระบบทางเดินอาหาร จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่ดูดพิษ

‘งูเข้าบ้าน’ สายด่วนจำแนกชนิดงู โดย siamensis.org ที่อยากให้คนและงูอยู่ร่วมกันได้

08 มีหลายกรณีที่ ‘ตีคนร้ายผิดตัว’

ตัวเลขไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์สะท้อนว่า การตีคนร้ายผิดตัวมาโรงพยาบาลมีอยู่จริง โดยหลายเคสมีความเป็นไปไม่ได้ที่จะฉกคนจนต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะสรีระปากกัดไม่ได้ นอกจากนี้ แพะรับบาปหลายตัวยังไม่ใช่งู แต่เป็นเขียดงู จิ้งเหลนเรียว และงูยาง

09 งูส่วนใหญ่แม้ ‘ไม่กัดก็ถูกตี’

กลุ่มงูงอด-ปี่แก้ว ไม่กัด แต่โดนตีมากกว่า 2,200 เคส ฉกคนราว 1,770 เคส และไม่กัด-ไม่โดนตีราว 770 เคส ขณะที่งูกะปะ ถูกตีโดยไม่ทันกัดราว 640 เคส กัดคน 616 เคส และไม่กัด-ไม่โดนตีเฉลี่ย 40 เคส ส่วนงูเขียวพระอินทร์ เคสไม่กัดและไม่โดนตีสูงถึง 912 เคส ขณะที่ไม่กัดแต่โดนตีจำนวน 580 เคส และกัดคนอยู่ที่ 328 เคส เป็นไปได้ว่า คนคุ้นเคยและจดจำงูเขียวพระอินทร์ได้จึงอยู่ร่วมกันได้ดีกว่ากลุ่มอื่น

Everything happens for a reason
สู่โลกที่เราอยู่ร่วมกัน

“ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นทำให้เรามีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ชนิดงูจึงเยอะกว่าประเทศในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว แต่ความหนาแน่นของประชากรขึ้นอยู่กับพื้นที่ บางชนิดปรับตัวให้เหมาะกับการอาศัยในชุมชน มีโอกาสเจอเยอะ หรือพบบ่อยในบริเวณที่มีอาหาร เช่น ตรงที่มีกบ เขียด หนูอยู่กันชุกชุม” โดมอธิบายให้เราเห็นภาพรวม

เพราะฉะนั้น หากบ้านของคุณไม่ต้อนรับสัตว์เลื้อยคลาน เราขอแนะนำเบื้องต้นให้กำจัดแหล่งอาหารที่กล่าวไป ส่วนเบื้องลึกกว่านั้นคือการทำความเข้าใจว่า ‘ทุกชีวิตมีคุณค่าและเหตุผลที่เกิดขึ้นมาในระบบนิเวศของโลก และไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็มีโอกาสเจอ’

คุยกับ siamensis.org กลุ่มคนรักธรรมชาติผู้ก่อตั้ง LINE งูเข้าบ้าน เพื่อช่วยประชาชนและทีมแพทย์จำแนกชนิดได้ทันเวลา

“ไม่เว้นแม้แต่ตึกสูง 13 ชั้น งูเขียวพระอินทร์เป็นนักไต่ก็ขึ้นไปได้ เขาชอบกินจิ้งจก ตุ๊กแก พอกินหมดเดี๋ยวเขาไปบ้านอื่นต่อ” – ขอยกตำแหน่งนักกำจัดตุ๊กแกให้อีกรางวัล

“ผมมองว่า เราจำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เมืองที่เราตั้งก็เป็นพื้นที่ของงูไม่ต่างจากนกหรือกระรอก เพียงแต่เขาเป็นสัตว์ที่รู้จักป้องกันตัว ไม่ผิดที่กลัว แต่ถ้าจะอยู่ร่วมกันก็ต้องรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร

“ความรู้ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้แม้ปัจจุบันจะมีระยะห่าง เราทำฐานข้อมูลเอาไว้ หลายองค์กรมาขอใช้เพื่อพัฒนาต่อยอดสิ่งดี ๆ ให้แก่สังคม ที่ผ่านมาเรามีส่วนช่วยสนับสนุนข้อมูลแก่นักวิจัยจนเกิดการค้นพบงูชนิดใหม่ของโลกชื่อว่า งูเกอะลออมก๋อย เพราะมีครูถูกกัดที่อำเภออมก๋อย นอกจากนี้ยังได้รู้อีกว่า พวกพันธุ์หายากบางตัวยังคงมีชีวิตอยู่ในธรรมชาติ” มะเดี่ยวเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญ เพราะปลายทางของพวกเขายังอีกยาวไกล 

“ผมดีใจทุกครั้งที่ได้บอกกับคนทางบ้านว่า ชนิดนี้ไม่มีพิษ เป็นเจ้าที่จับจิ้งจก ตุ๊กแก แล้วปลายทางเขาตอบกลับมาว่า โอเค ถ้าอย่างนั้นจะปล่อยให้อยู่ในบ้าน ผมจะแคปไปอวดเพื่อน ๆ ในแชท เห็นไหม ถ้าเราเข้าใจกัน เราอยู่ร่วมกันได้” มะเดี่ยวยิ้มกว้างและโดมพยักหน้ารับ

คุยกับ siamensis.org กลุ่มคนรักธรรมชาติผู้ก่อตั้ง LINE งูเข้าบ้าน เพื่อช่วยประชาชนและทีมแพทย์จำแนกชนิดได้ทันเวลา

พวกเขาทิ้งท้ายด้วยอนาคตอันใกล้ที่อยากให้เป็น คือรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารเรื่องงู และลงมือให้คำปรึกษาแบบเรียลไทม์ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงสมาชิกระบบนิเวศในประเทศไทย และแน่นอนว่าควรสอดแทรกความรู้ลงในตำราเรียนด้วย

“เรากำจัดงูให้หมดประเทศไม่ได้ การมีสัตว์ชนิดหนึ่งสูญหายไปจากธรรมชาติย่อมกระทบต่อเราแน่นอนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม มากหรือน้อย เพราะบางตัวช่วยควบคุมประชากรงูที่มีพิษ ยังไงก็ต้องอยู่ด้วยกัน เราควรสอนให้คนปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เพราะงูมีสิทธิ์อยู่ร่วมกับเราเช่นกัน”

เป้าหมายอันยิ่งใหญ่เริ่มด้วยการขยายความเข้าใจในตัวเพื่อนร่วมโลก – เรามาเริ่มกันเลย

หลังอ่านบทความชิ้นนี้จบแล้ว เราขอขอบคุณล่วงหน้าหากในอนาคต ไม่ว่างูเข้าบ้านคุณเป็นครั้งแรกหรือเข้าบ้านอีกครั้ง เราจะหยุดตีและให้โอกาสพวกเขาได้ใช้ชีวิตต่อไป

คุยกับ siamensis.org กลุ่มคนรักธรรมชาติผู้ก่อตั้ง LINE งูเข้าบ้าน เพื่อช่วยประชาชนและทีมแพทย์จำแนกชนิดได้ทันเวลา

สมาชิกผู้ร่วมอุดมการณ์สายด่วน

ศิริวัฒน์ แดงศรี, มนตรี สุมณฑา, อัจฉ​ริยา​ ช​ลิต​พัฒ​นัง​กูร, วัทธิกร โสภณรัตน์, นณณ์ ผาณิตวงศ์, กีรติ กันยา, ธิติ เรืองสุวรรณ, บัลลังค์ ศิริพิพัฒน์, ปณิธิ ละอองบัว, นิรุทธ์ ชมงาม, ภราดร ดอกจันทร์, ภาวิตา เลาหกุล, ธนาวุธ วรนุช และเสฎฐวุฒิ วิเศษบุปผา

สอบถามเรื่องงู

  • ถ่ายภาพงูเจ้าปัญหา
  • เพิ่มเพื่อนใน LINE ID : @sde5284v
  • ส่งภาพที่เห็นชัดเจน พร้อมรายละเอียดจังหวัด และลักษณะพื้นที่ เช่น บ้าน ทุ่งนา ป่า หรือหนองน้ำ

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์