2 พฤศจิกายน 2022
2 K

“คนโบราณก็มองเห็นสีนะ ไม่ใช่เห็นแต่ภาพขาวดำ”

ยิ้มละไมฉายอยู่บนดวงหน้าของ ณล-สวพล สุวนิช ระหว่างที่นิ้วชี้ข้างถนัดกดลงยังปุ่มลูกศรเพื่อนำเราทัศนาจรกรุผลงานฝีมือเขา

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

รูปถ่ายอายุร่วมร้อยปีนับสิบ ๆ ภาพ มีตั้งแต่พระฉายาลักษณ์เจ้านาย งานพระราชพิธี ขุนนางมีชื่อ อารามเก่าแก่ จนถึงสามัญชนดำเนินชีวิตปกติสุข ดูประหนึ่งว่าจะฟื้นคืนมาเป็นปัจจุบันอีกครั้ง เมื่อภาพซึ่งดั้งเดิมถูกถ่ายด้วยฟิล์มกระจกปราศจากสี ถูกแต้มแต่งสีสันใหม่โดยมือข้างที่อยู่บนแป้นพิมพ์

“ภาพนี้เป็นภาพพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 8 ท่านสวรรคตไปตั้งหลายปีกว่าจะได้ถวายพระเพลิง เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงได้รับการถวายพระเพลิงพระบรมศพช้าที่สุด” ณลเล่าเรื่องราวข้างหลังภาพทั้งหมดได้อย่างฉาดฉาน แม่นยำ และเปี่ยมสุข “ส่วนภาพนี้ที่เป็นโรงละคร ลงสียากนะ ต้องลงรายละเอียดตัวคนดูไปทีละคนเลย มันก็เลยต้องใช้เวลาเยอะกว่างานอื่น ๆ”

สำหรับคอประวัติศาสตร์ในสังคมออนไลน์ ชื่อเล่น ‘ณล’ ของเจ้าตัวอาจไม่คุ้นหูนักเมื่อเทียบกับนามแฝงในเว็บไซต์พันทิปอันลือกระเดื่องไปทั่วห้องประวัติศาสตร์อย่าง ‘หนุ่มรัตนะ’

ส่วนในเฟซบุ๊ก เขาคนเดียวกันนี้คือผู้ดูแลเพจ ‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจแรก ๆ ที่บุกเบิกการลงสีภาพถ่ายเมืองไทยสมัยโบราณ เสิร์ฟความงามของภาพเก่าพร้อมกับคำอธิบายสั้น กระชับ อ่านง่าย จนมีผู้ติดตามมากกว่า 7 หมื่นคน

คนชอบภาพเก่า

“ในวัยเด็กสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ชอบประวัติศาสตร์เพราะได้อ่านมาเยอะ ที่บ้านก็มีของเก่าบ้าง ก็เริ่มค้นหาประวัติว่าความเป็นมาของมันเป็นยังไง แล้วก็เริ่มซื้อหนังสือตามงานหนังสือมาอ่าน” ณลย้อนความหลังถึงวันเก่าที่จุดประกายตัวตน ‘หนุ่มรัตนะ’ ในตัวเขา

ในตระกูลพ่อค้าชาวจีนของเขา ณลเป็นลูกหลานคนเดียวที่ผ่าเหล่าผ่ากอมาหลงใหลประวัติศาสตร์ชนิดที่จะซื้อหนังสืออ่านกี่ครั้ง ก็ต้องมุ่งไปหยิบตำราประวัติศาสตร์ติดไม้ติดมือมาเสมอ และลงถ้ามีใจรักทางวิชานี้แล้ว อีกสิ่งที่จะต้องรักตามไปด้วยก็คือภาพถ่ายเก่าของผู้คนในอดีต

“พอได้มาเห็นภาพเก่า ก็รู้สึกว่าน่าจะมีเรื่องราวบางอย่างในภาพ ที่บอกเล่าสิ่งที่เราอ่านมาได้” เขาบอก

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

ภาพเก่าที่ณลชื่นชอบมีทั้งภาพถ่ายบุคคล สถานที่ พิธีการในวาระพิเศษ หลายภาพถ่ายมานานเกินศตวรรษ บุคคลในภาพหลายคนก็สิ้นสังขารไปหมดแล้ว ทั้งยังนิยมปั้นหน้าถมึงทึงยามอยู่หน้ากล้อง ทำให้ใครหลายคนรู้สึกหวั่นสะพรึงเมื่อได้เห็น หากณลกลับเห็นเป็นตรงกันข้าม

“ไม่กลัวเลย รู้สึกชอบ” คนรักประวัติศาสตร์ยิ้มขบขัน “เป็นความหลงใหล ประทับใจว่ามันสวย ทุกภาพมีเสน่ห์ในตัว ถ้าดูดี ๆ เวลาผมลงสี ผมจะพยายามเลือกภาพคนคนเดียวกัน ถ่ายกันหลาย ๆ มุม มีสัก 2 – 3 ภาพที่ผมเล็งว่าลงสีแล้วมันสวย องค์ประกอบในภาพสวย มีอะไรไม่รู้ลึก ๆ ที่บอกว่ามุมนี้สวยนะ อะไรแบบนี้ครับ”

แม้นหน้าที่การงานของณลจะเหหันออกจากศาสตร์ว่าด้วยเรื่องราวในอดีตที่เขาหลงรัก จากการเลือกเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์หลังจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เคยทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ แต่ชีวิตส่วนตัวของเขาไม่เคยเลยที่จะออกหากจากสิ่งเหล่านี้ เขายังคงเป็นขาประจำของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (หจช.) อันเป็นศูนย์รวมภาพถ่ายเก่าที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

“ภาพถ่ายเก่าในประเทศไทยมีเยอะครับ ตอนแรกที่ดูก็นึกว่าจะมีน้อย แต่อย่างหอจดหมายเหตุก็มีภาพกระจกเป็นหมื่นภาพโดยประมาณ แต่ว่าที่เอาออกมามีหลักพันกว่า ๆ เท่านั้นเอง ยังมีอีกเยอะ

“กล้องที่ใช้ถ่ายเป็นกล้องฟิล์มกระจก คนโบราณหน่อยก็กระจกแผ่นใหญ่ ยุคสมัยผ่านไปมันลดเล็ก เหลือเป็นกระจกแผ่นเล็กลง ย่อลง แล้วอุปกรณ์ทางเคมีก็ฉาบง่ายขึ้น การถ่ายรูปง่ายขึ้น แต่ก็ยังคงต้องเข้าไปล้างกระจกเหมือนเดิม”

ณลให้ความรู้คร่าว ๆ ถึงเทคโนโลยีการถ่ายรูปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว พลันแจกแจงยุคสมัยของภาพถ่ายเก่าที่เขาค้นเจอจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

“ของไทยเท่าที่สังเกตนะครับ ภาพสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 จะเยอะ ยุครัชกาลที่ 7 มีประปราย แล้วพอช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพน้อยแล้ว บางส่วนไม่ได้ส่งเข้าหอจดหมายเหตุ เป็นลักษณะว่ากลุ่มทหารถ่ายแล้วมาลงหนังสือพิมพ์ ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนั้นมันมีพิมพ์โลหะ พิมพ์หิน ทำให้คุณภาพการพิมพ์ด้อยลง แล้วฟิล์มพวกนี้มันก็หายไปในช่วงสงครามโลก พวกภาพดี ๆ หาได้น้อย หายาก พวกเหตุการณ์ต่าง ๆ ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม แบบนี้ เฟื่องฟูขึ้นมาอีกทียุคประมาณ พ.ศ. 2490 หลังจากนั้นเป็นต้นไปเราเห็นภาพถ่ายมากขึ้นแล้ว”

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

นอกจากหอจดหมายเหตุที่ใช้เป็นหลัก แหล่งรูปภาพในต่างประเทศก็สำคัญไม่แพ้กัน

“ภาพเก่าจากต่างประเทศ จากห้องสมุดต่างประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น British Library แล้วก็ที่ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฮังการี เขาก็มีเหมือนกับชาวต่างประเทศมาบ้านเรา แล้วก็ซื้อก็อปปี้ของบ้านเรากลับไป เสร็จแล้วเขาก็เอามาเผยแพร่ให้ทางเว็บไซต์เพื่อทำสำเนา เราก็ไปได้จากตรงนี้มาด้วย”

มือใหม่หัดลงสี

จากเคยคร่ำหวอดอยู่กับภาพขาวดำไร้ซึ่งสีสันมาทั้งชีวิต อยู่มาวันหนึ่ง ณลก็ได้รู้จักกับกระบวนการสร้างสีให้กับภาพขาวดำของคนตาน้ำข้าว

“ครั้งแรก ๆ เนี่ย ผมเห็นจากในเว็บไซต์ต่างประเทศเมื่อหลัง ค.ศ. 2000” นายช่างวิศวกรเล่าถึงการค้นพบครั้งใหญ่ช่วงปีเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษ “ไปเปิดเว็บไซต์หนึ่งแล้วเห็นภาพจากต่างประเทศ ดูรู้เลยว่าเป็นภาพเก่าลงสี ก็เลยได้เห็นว่า โอ้! ฝรั่งเขาเก่งเนอะ เขาทำกันยังไง

“ก่อนหน้านี้ในเมืองไทยลงสีภาพเก่าแค่งานตกแต่ง รีทัชภาพ อย่างภาพคุณปู่คุณย่า ภาพติดบัตร ภาพขนาด 1 x 2 นิ้ว มีภาพแค่นี้เอง”

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

ดั่งเหมือนโลกของภาพเก่าได้ฉาบทาให้สวยสดใหม่ในความรู้สึกของเขา เผอิญว่าในช่วงเวลาเดียวกัน โปรแกรม Adobe Photoshop ก็เริ่มแพร่หลายเข้ามายังซอฟต์แวร์ประเทศไทย

“ผมลองใช้ Photoshop เป็น Photoshop 3 ยังไม่ใช่ CS ตอนนั้นมีเวอร์ชัน 3, 4, 5, 6 แล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็นซีรีส์ ค.ศ. ตอนนั้นใช้เวอร์ชัน 3 รุ่นนั้นยังพัฒนาเรื่องสีไม่เก่ง พอโปรแกรมมันยังไม่เก่ง เราอยากลงสีแบบนั้นบ้าง ก็ต้องไปศึกษาว่าเขาลงสีกันยังไง มีหลายแบบ วิธีการทำเหมือนเราบวกเลข เราจะเอา 3+1 หรือ 2+2 แต่ผลลัพธ์ออกมาคือ 4 เพราะงั้นการลงสีด้วย Photoshop ก็เหมือนกัน มีวิธี มีไอเท็มหลายแบบ

“ผมก็ไปเลือกมาแบบหนึ่งที่ผมถนัด ซึ่งขั้นตอนประมวลผลค่อนข้างช้า ผมเลือกเป็น Selection แล้วค่อย ๆ ปรับ Adjust สีเอา ทำทีละจุด ๆ ซึ่งภาพแรก ๆ ที่ทำ เท่าที่ผมจำได้คือเป็นภาพคุณยายของผมนุ่งโจงกระเบนภาพหนึ่ง กับภาพมุมสูงของกรุงเทพฯ ถ่ายจากวัดโพธิ์ย้อนขึ้นไปทางถนนสนามไชย ฉายไปทางวัดพระแก้ว นั่นแหละภาพแรก ๆ ที่ทำขึ้นมา”

พูดมาถึงตรงนี้ อดีตวิศวกรของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ถึงกับปรือตาเหมือนยังไม่หายล้าจากความเหน็ดเหนื่อยของการลองผิดลองถูก

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

“หนึ่งภาพก็ใช้เวลานานเป็นอาทิตย์ครับ เพราะมันต้องค่อย ๆ ปรับ Selection ทีละจุด แล้วยังต้องปรับสี เกลี่ยให้เท่า ๆ กัน ก็ลองมือไปเรื่อย ๆ แต่ยังไม่ได้ทำจริงจัง เพราะยังมีหลายอย่างที่ต้องทำ มีทำของจิ๋ว ประกวดของจิ๋ว ทำงานประจำที่บริษัท”

เพราะอย่างนี้ณลจึงเว้นวรรคจากการลงสีที่ทำเป็นงานอดิเรกไปพักใหญ่ ก่อนจะได้รับแรงบันดาลใจระลอกใหม่ที่ทรงพลานุภาพกว่าเก่าเป็นเท่าทวี จากสถานที่ที่เรียกว่า ‘โรงภาพยนตร์’

“จุดเปลี่ยนในชีวิตการลงสีอีกครั้งคือไปดูภาพยนตร์เรื่อง ทวิภพ (The Siam Renaissance) เมื่อ พ.ศ. 2547 ฉากหนึ่งที่เปิดตัวพระนคร เขาเอาภาพมุมสูงมาลงสี จากภาพสีขาวดำแล้วค่อย ๆ เกลี่ยเป็นสีขึ้นมา แล้วมีคนเดินอยู่ ภาพนี้ผมประทับใจมาก”

โดยก่อนหน้านั้นไม่นาน มีงานเปิดตัวผลงานของ อาจารย์พิพัฒน์ พงศ์รพีพร ที่นำเสนอภาพเก่าในมุมพาโนรามาของพระนครสมัยรัชกาลที่ 4 ณลนำภาพส่วนหนึ่งมาทดลองเติมสีบ้าง และฉากใน ทวิภพ ยิ่งกระตุ้นความรู้สึกคลั่งไคล้การลงสีภาพเก่าของเขาให้โลดเร่าไปอีก

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

“ผมก็รู้สึกว่า เอ๊ะ! ภาพนี้เราเคยลงสีมาแล้วนี่ แต่มันมีชีวิตชีวาขึ้นมาบนแผ่นฟิล์มภาพยนตร์ เป็นภาพเคลื่อนไหวด้วย ตื่นเต้น ก็เลยดูไปตั้ง 2 รอบแน่ะ เพราะประทับใจฉากกรุงเทพฯ เปลี่ยนสีนั่นเลย ก็เหมือนที่เราทำสี เพียงแต่ว่าอันนี้เขาใส่ CG เข้าไปให้เคลื่อนไหวได้ เราก็เลยเริ่มลงสีมากขึ้น ๆ แล้วโปรแกรม Photoshop ก็พัฒนาเป็น 4 เป็น 5 แล้ว”

ความชำนาญเริ่มเพิ่มพูนขึ้น พร้อม ๆ กับสายตาที่แลเห็นเทคนิควิธีใหม่ อดีตวิศวกรหนุ่มเริ่มสลับการลงสีภาพขาวดำมาเป็นสิ่งแรก ๆ ที่จะทำเมื่อมีเวลาว่าง แม้อุปกรณ์จะยังไม่เอื้ออำนวยก็ตามที

“เริ่มวางรูปแบบแล้วก็เริ่มลงสีไปเรื่อย ๆ พยายามหาเทคนิคใหม่ ๆ ให้ง่ายต่อตัวเองมากขึ้น เพราะว่าสมัยนั้นยังวาดสีด้วยเมาส์ เพราะไม่มีเมาส์ปากกา ค่อย ๆ เกลี่ย Area Selection แล้วก็ Adjust สี จึงค่อนข้างช้าแล้วก็ยากนิดหนึ่งครับ” ณลว่าด้วยพรายยิ้มที่ดูเย็นใจกว่าก่อน

ดาวเด่นพันทิป

ณลสรรหาภาพเก่ามาลงสีมากขึ้นจนเชี่ยวชาญ เก็บภาพฝีมือตนเองใส่ในอัลบั้มส่วนตัว ผ่านมาได้สักระยะก็บังเกิดความคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาควรจะเผยแพร่พวกมันสู่สายตาสาธารณชน

เมืองไทยในยุคมิลเลนเนียมนั้น น้อยคนนักจะได้รู้จักชื่อโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ แอปพลิเคชันที่ให้ลงรูปภาพโดยเฉพาะเช่นอินสตาแกรมก็ยังไม่ถูกสร้างขึ้นมา

แพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายและได้รับความนิยมสูงสุดเมื่อครั้งกระโน้นคือเว็บบอร์ด ซึ่งคงไม่มีที่ใดเด่นเกินเว็บไซต์พันทิปซึ่งมีกระทู้ทุกหมวดหมู่ แบ่งเป็นห้อง ๆ ให้สมาชิกเลือกเสพข้อมูลได้ตามความสนใจตน ความรักความชอบที่มีให้ประวัติศาสตร์เป็นประตูพาณลไปสู่ห้องประวัติศาสตร์ในที่สุด

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

ข้อกำหนดหนึ่งของพันทิปคือ ชื่อล็อกอินสมาชิกทุกคนต้องไม่มีชื่อจริงโดยเด็ดขาด เหล่าเซเลบคนดังในเว็บบอร์ดทุกคนต่างจำต้องสร้างตัวตนเฉพาะที่นั่น นำมาซึ่งนามแฝงอันเป็นตำนานหลาย ๆ ชื่อ รวมทั้ง ‘หนุ่มรัตนะ’ ของณลด้วย

“ทุกคนต้องมีนามปากกาในพันทิป มันใช้ชื่อเล่นที่ใช้จริง ๆ ของเราไม่ได้” ณลเผยที่มาของฉายาซึ่งติดตัวมาจนบัดนี้ “รัตนะ แปลว่า แก้วงาม อย่างไตรรัตน์แปลว่า แก้วงาม 3 ประการ หนุ่มก็คือตอนนั้นเรายังวัยรุ่น ก็เอาความเป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มเข้ามาบวกกับรัตนะ เป็นเด็กที่ดีทั้ง 3 ประการแบบไตรรัตน์”

‘หนุ่มรัตนะ’ จึงถือกำเนิดขึ้นเพราะเหตุฉะนี้

“ประมาณ พ.ศ. 2550 กว่า ๆ ผมก็เริ่มเข้าไปเขียนให้ความรู้ แทนที่จะตอบกระทู้คนอื่น ผมก็โพสต์กระทู้ให้ความรู้ไปเลย พอโพสต์ไปเรื่อย ๆ ก็มีคนชื่นชอบไปเรื่อย ๆ ผมก็จะโพสต์แนะนำความรู้ต่าง ๆ ที่ Unseen ต่าง ๆ สมัยนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายเหมือนปัจจุบันนี้ครับ”

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

เพื่อเป็นข้อมูลประกอบตัวหนังสือ ณล หรือ หนุ่มรัตนะ ทยอยลงภาพเก่าลงสีที่เคยทำไว้ให้สัมพันธ์กับสิ่งที่เขาเล่า เช่น พระราชพิธี เขาจะหารูปในงานนั้นมาโพสต์ หากไม่เช่นนั้นก็จะนำรายละเอียดประเภทเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากในภาพมาขยายความต่อ พร้อมทั้งนำรูปภาพที่มีสิ่งเหล่านั้นมาครอปตัดให้เห็นรายละเอียดกันชัด ๆ จะเป็นภาพโคม แก้ว แจกัน โต๊ะ เสื้อผ้า ก็แล้วแต่อารมณ์ผู้โพสต์จะดลไป

“พอผมโพสต์พันทิปเรื่อย ๆ ‘หนุ่มรัตนะ’ มันก็เป็นชื่อที่ติดหู ติดกระทู้แนะนำบ่อย ๆ”

ชีวิตบนเว็บบอร์ดพันทิปเป็นห้วงเวลาที่ดีของณลในภาคหนุ่มรัตนะ อย่างไรก็ดี คลื่นลูกใหม่ที่มีชื่อว่า ‘เฟซบุ๊ก’ ก็ทำให้คนรู้จักมักจี่ของเขาต้องขจัดขจายไปคนละทาง

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

“โพสต์ในพันทิปอยู่ 4 – 5 ปีได้ จะมีเพื่อน ๆ กลุ่มหนึ่งที่รู้จักกัน แล้วพอเฟซบุ๊กเริ่มปรับปรุงพัฒนาตัวเองขึ้นมาใหม่ บางคนก็หันไปใช้เฟซบุ๊กกันเยอะขึ้น เพราะเฟซบุ๊กกับพันทิปมันต่างกันตรงที่เฟซบุ๊กเนี่ย พอโพสต์ปุ๊บ เพื่อนจะมาตอบกันทันที แต่พันทิปบางทีโพสต์ไปแล้ว เพื่อนยังไม่มาตอบ ก็ต้องรอ… รอ…

“เฟซบุ๊กก็เลยสนุกกว่า พอโพสต์ไปปุ๊บ มีคนมาไลก์ มาคอมเมนต์เลย มันทันใจกว่า คนก็เริ่มจะเล่นเฟซบุ๊กกันมากกว่าพันทิป ผมก็ออกมาตั้งเฟซบุ๊ก ใช้ชื่อ ‘หนุ่มรัตนะ’ ก็ยังมีคนที่ติดตามมา มีพวกรุ่นน้องเขาติดตามมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เขาก็ตื่นเต้นนะที่ได้มาเจอพี่หนุ่ม ได้มาอินบ็อกซ์คุยกัน บางคนมีแม้กระทั่งมาขอบคุณนะ ว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากพี่หนุ่มในการโพสต์ประวัติศาสตร์ จนทำให้เขาได้เข้าเรียนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ยินดีกับน้องเขาด้วยว่าเรามีส่วนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ก้าวประสบความสำเร็จ หาทางเลือกในชีวิตเขานะ”

แอดมินเพจภาพไทย

เมื่อย้ายแพลตฟอร์มมาอยู่บนเฟซบุ๊ก หนุ่มรัตนะยังรักที่จะลงสีภาพเก่าและนำเสนอความรู้ประกอบผลงานของเขาอยู่เหมือนเคย เขาเรียนรู้ว่าการจะเผยแพร่ผลงานที่ดีควรมีเพจ เลยเป็นที่มาของเพจ ‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ ที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2558

“ตอนแรกผมก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะใช้คำว่าอะไร การลงสีแบบนี้มันชื่อ Colorization ผมไม่อยากจะใช้ชื่ออังกฤษ เพราะชอบชื่อไทย ๆ อย่าง ‘สยาม’ แล้วผมก็รู้ว่าในทางจิตรกรรม เขามีคำว่า ‘เอกรงค์’ อยู่ คือสีเดียว ผมก็คิดเอาว่า ‘เอก’ แปลว่า หนึ่ง ‘พหุ’ แปลว่า หลากหลาย ใช่มั้ย ผมก็เลยเอาคำว่า ‘พหุ’ มาใส่คำว่า ‘รงค์’ แล้วก็เติม ‘สยาม’ เป็น ‘สยามพหุรงค์’ ไปเลย ชื่อมันเพราะดี แปลกดี”

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

ได้ชื่อเพจแล้ว สิ่งสำคัญที่จะสื่อถึงตัวตนของเพจได้ก็คือโลโก้ ซึ่งต้องคิดต่อไป

“ผมไปเห็นพานหมาก ก็เลือกพานหมากเป็นโลโก้ มันเหมือนกับว่าคุณเข้ามาในเพจผม ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ ผมก็เลยมีพานหมากให้” พานหมากนี้ก็ไม่ใช่พานหมากสามัญธรรมดา แต่เป็นพานหมากในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังพระมหาอุปราชที่คนชอบเรียกอย่างลำลองว่า ‘วังหน้า’

“พานหมากนี้เป็นพานหมากวังหน้า เป็นพานกลมซึ่งมีความสวย วังหน้ามีอะไรลึกลับหลายอย่าง อย่างแผนที่วังหน้าก็เพิ่งมาวาดกันสมัยรัชกาลที่ 6 ราว พ.ศ. 2464 นี้เอง ซึ่งไม่มีวังหน้าแล้ว หลักฐานต่าง ๆ เริ่มหายไปเยอะแล้ว เลยยังเป็นที่ที่ลึกลับอยู่ เลือกรูปพานนี้มาก็ใช้ก็ดูมีความลึกลับดี”

และไม่ลืมห้อยท้ายชื่อ ‘หนุ่มรัตนะ’ ที่สร้างความโด่งดังแก่เขาตั้งแต่ครั้งสิงอยู่ในเว็บพันทิป

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

ช่วงที่เพิ่งเปิดเพจใหม่ ๆ นั้น แอดมินณลต้องขยันโปรโมตเพจด้วยการโพสต์รูปทุกวัน ๆ นำเนื้อหามาโพสต์ประกอบ ภาพเก่าในคลังจึงร่อยหรอ ต้องหาภาพใหม่มาเสริมอยู่ไม่ขาด

ครั้นสยามพหุรงค์เริ่มเป็นที่รู้จัก กระบวนพรรคพวกเพื่อนฝูงในห้องประวัติศาสตร์ก็เริ่มคันมืออยากทดลองลงสีกันบ้าง เกิดเป็นเพจลงสีภาพเก่าอีกหลาย ๆ เพจที่ล้วนเป็นคนกันเองทั้งสิ้น

“ที่เป็นเพื่อนผมก็มีเพจ ‘ภาพเก่าเล่าเรื่อง’ เพจของน้องพีท ‘Coloured By Sebastian Peet’ แล้วก็ยังมีเพจเพื่อนผมอีกคน คือ ‘ฉายานิทรรศน์’ เพจนี้ทำกัน 2 คน คนหนึ่งลงสี อีกคนเล่าเรื่อง ส่วนของผมจะแนวให้ความรู้อย่างเดียว ทำคนเดียว”

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

ด้านข้อมูลประกอบรูปภาพ หนุ่มรัตนะยังรักษาไว้ซึ่งสไตล์การเล่าเรื่องแบบเดิมของเขา

“เพื่อนที่สนิทมาก ๆ คนหนึ่งก็แซะผมว่า ชอบเอาลีลาการเล่าเรื่องแบบพันทิป เล่ากั๊ก ๆ มาโพสต์ บางคนก็บอกว่าเล่าเรื่องเป็นปลายเปิดไว้ เพื่อให้คุณไปศึกษาต่อ เหมือนกับผมจงใจเล่าไม่หมด บางทีการเล่าไม่หมดนี่คือเราอยากให้ข้อมูลรู้กันแค่นี้พอ ถ้าอยากรู้ คุณก็ต้องไปหาเพิ่มเติมเอาเอง บางคนอ่านก็จะหงุดหงิดว่าทำไมเล่าแค่นี้ ทำไมไม่เล่าให้หมด มันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในงานเขียนของผม”

เพราะอะไรถึงเล่าแค่นั้น – เรากดความสงสัยไว้ไม่อยู่

“บางทีบางเรื่องมันละเอียดเกินไป บางเรื่องสิ่งที่เป็นความจริงกับที่สังคมเรารู้มันต่างกัน ไม่อยากให้เป็นกระแสก็มี อย่างข้อมูลที่อ่านในหอจดหมายเหตุแห่งชาติกับข้อมูลที่อ่านตามตำรามันไม่เหมือนกัน ก็เลยจะพูดแค่นี้ หยุดไว้แค่นี้ดีกว่าครับ” เขาตอบประสาคนเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้

นักประวัติศาสตร์ภาพถ่าย

ชมภาพลงสีของหนุ่มรัตนะมาหลายชิ้น ใครหลายคนย่อมเกิดคำถามว่า ณลรู้ได้อย่างไรว่าจุดไหนควรลงสีใด ในเมื่อภาพแท้เหล่านี้มีเพียงสีขาว เทา ดำ หรือโทนซีเปีย

คำตอบมีอยู่ว่าเจ้าของเพจสยามพหุรงค์จำเป็นต้องใช้ทักษะนักประวัติศาสตร์ในการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ให้ได้สีที่แม่นยำตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

“อย่างแรกคืออ่าน ถ้าอ่านเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธี บางทีในรายละเอียดของงานเขียนจะบอกรายละเอียดสีไว้ แต่ถ้าไม่ลงก็จะอาศัยข้อมูลบางอย่าง เช่นที่พวกเราเห็นพวกเครื่องราชอิสริยาภรณ์แบบนี้ มันจะมีของจริงให้เทียบ แต่ถ้าเป็นแบบชุดชาววังที่ไม่เคยเห็นเลย ก็จะใส่สีตามวันไปเลย ตัดกันไปเลย เช่น เหลือง-น้ำเงิน ชมพู-เทา เขียว-ส้ม คนโบราณใช้สีตัดกัน แต่ว่าต้องดูโทนของความเทา-ดำของภาพด้วย

“แต่ว่าโทนเทา-ดำมันก็ตอบโจทย์ไม่ได้เหมือนกัน เพราะวัสดุสีเหลืองเดียวกัน สีเหลืองบนเนื้อผ้า กับสีเหลืองบนเครื่องราช เวลาถ่ายออกมา เคมีทำปฏิกิริยากับแสงต่างกัน อย่างสายสะพายนพรัตน์สีเหลือง สายจักรีสีเหลือง พอถ่ายภาพออกมาเป็นสีดำ ในขณะที่สายสีน้ำเงินขอบน้ำเงิน ถ่ายภาพออกมาเป็นสีขาว กางเกงผ้าแพรผ้านุ่ง ชาวสยามนุ่งราชปะแตน เสื้อขาวมันก็ต้องสีขาวอยู่แล้ว สีน้ำเงินของกางเกงถ่ายออกมาเป็นโทนขาวเลย ถ้าคุณไปลงโทนอื่นก็ผิด เพราะมันเป็นสีน้ำเงิน”

การลงสีที่คลาดเคลื่อนเลยเกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งณลก็ยอมรับว่าผลงานของเขาไม่ได้ถูกต้องทุกภาพ ยังมีข้อเท็จจริงที่เขาต้องเปิดใจเรียนรู้เพื่อความสมบูรณ์อยู่ร่ำไป

“วังหน้าพระองค์สุดท้าย กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ จะลงสีผิดพลาดในยุคแรก ๆ ที่เรายังไม่รู้ว่าเครื่องราชที่พระองค์ท่านทรงประดับเป็นเครื่องราชต่างประเทศ มันก็ทำให้ลงสีผิด จนกระทั่งได้คุยกับน้องพีท แอดมินอีกเพจหนึ่ง เขาเก่งเรื่องเครื่องราช ก็ไปหาภาพเครื่องราชมาเปรียบเทียบจนเจอ เราเลยลงสีถูกต้อง แล้วก็เผยแพร่ว่าสีนี้นะที่เป็นสีของเครื่องราชชิ้นนี้จริง ของตระกูลอะไรเราก็บอกไป”

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

บางครั้ง การลงสีของสยามพหุรงค์ก็ช่วยสร้างบรรทัดฐานความเข้าใจใหม่ ๆ แก่สังคมได้ด้วย อย่างภาพลงสี สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 5 เป็นรูปถ่ายบนแผ่นเงิน ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษว่า พอระบายสีลงไปแล้วจะได้ความคมชัดยิ่งขึ้นในระดับหนึ่ง ในภาพนั้นเดิมบนพระเศียรมีแถบเม็ดบางอย่างที่ยากจะดูออก แต่งานของณลได้ทำให้เห็นว่า สิ่งนั้นคือมงกุฎแบบตะวันตกหรือ Tiara แต่มีการสอดสังวาลย์แบบนพรัตน์ขึ้นมา

หรือเครื่องแบบทหารสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 ชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาในสยามได้พรรณนาถึงชุดทหารเรือสมัยนั้นว่า สวมเสื้อสีเหลือง กางเกงสีน้ำเงิน หากภาพใดเป็นทหารเรือในยุคนั้น หนุ่มรัตนะก็จะใส่สีเสื้อให้เหลือง เพิ่มความน้ำเงินให้กางเกงตามบันทึกนั้น พร้อมทั้งให้คำอธิบายด้วย

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

ในส่วนของคำอธิบายประกอบรูปภาพ ณลก็ไม่ปฏิเสธว่าข้อเขียนของเขามีจุดบกพร่อง ซึ่งเขาน้อมรับทุกคำท้วงติงด้วยใจเปิดกว้าง

“ข้อมูลผมก็มีพลาดบ้าง ผมก็จะรับฟังแล้วไปแก้ไขข้อมูลนั้นใหม่ อย่างสมมติว่าผมโพสต์ภาพรถพระที่นั่งหรือขบวนแห่ที่มันคล้าย ๆ กัน ผมก็เล่าไปอีกอย่าง บางทีคนที่เขารู้ลึกกว่าก็เข้ามาแย้งว่าเราผิด ชื่อผิดบ้าง บางทีงานเดียวกัน พิธีเดียวกัน คล้าย ๆ กัน ผมลงชื่อผิดพิธีก็มี เพราะมุมของภาพมันต่างกันนิดเดียว นี่มันก็คือความสนุกของภาพเก่า ได้มีหลาย ๆ คนมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง มาต่อยอดกันได้ครับ”

แอดมินเพจภาพเทศ

ถ้าคุณได้รับสัญลักษณ์แฟนตัวยงของสยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ เราเชื่อว่าที่ผ่านมาคุณคงเห็นภาพที่ไม่ใช่ ‘สยาม’ เป็นต้นว่าพระฉายาลักษณ์ลงสีของ ซูสีไทเฮา แห่งราชวงศ์ชิงผ่านตามาบ้าง

“ผมตั้งชื่อเพจว่า ‘สยามพหุรงค์’ มันก็ควรมีแต่ภาพไทย ๆ ใช่มั้ย ทีนี้พอคิดคำตอบว่าถ้าผมเจอภาพต่างประเทศ เช่น เขมร ลาว เวียดนาม พม่า มาเลเซีย ญี่ปุ่น หรือจีนล่ะ ภาพเขาก็สวยนะ จะทำยังไงดี”

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

หนุ่มรัตนะให้คำตอบกับตัวเองว่า เขาควรแยกเปิดเพจใหม่ร่วมกับมิตรสหายจากชาตินั้นด้วย

“ตอนนั้นผมก็ตั้งเพจ Myanmar Colorization กับ Colorization Cambodia เพราะผมมีเพื่อนพม่า เพื่อนกัมพูชา ก็เลยชวนเขามาเป็นแอดมินด้วยกัน ตอนนี้เพื่อนพม่าเสียชีวิตไปแล้วก็เลยปิดเพจ Myanmar ไป ส่วนทางกัมพูชายังอยู่ ผมยังส่งภาพให้เพื่อนกัมพูชาอยู่

“ส่วนภาพซูสีไทเฮา ผมมีเพจจีน ก็ลงที่นั่นบ้าง แล้วมาลงที่สยามพหุรงค์บ้าง สลับกันไปเพื่อความหลากหลาย เพราะว่าภาพขาวดำของต่างประเทศนี่ลงสีสวย แล้วแต่ภาพนะ ความละเอียดของสีขาวดำ เขาอัดมาจากฟิล์มกระจกมันจะเป็น Grain ขาวดำเหมือนหอจดหมายเหตุ ภาพหอจดหมายเหตุเวลาลงสีจะสวย แต่งออกมาได้สวยมาก ถ้าเป็นภาพถ่ายที่ถ่ายมาจากกระดาษฟิล์มโบราณ ภาพจะเหลือง ซีเปียแบบนี้ ลงสีไม่ค่อยสวย เพราะว่าเนื้อโทนขาวกับเนื้อโทนดำไม่ค่อยชัด อยู่ที่โทนสีขาว-ดำ”

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

แต่ในการลงสีภาพของต่างประเทศไม่ว่าชาติใด นักลงสีภาพพูดได้อย่างเต็มปากว่า จะอย่างไรก็ไม่ยากเย็นแสนเข็ญเท่าทำภาพของไทยเอง

“ภาพไทยเนี่ยมันมีความยากตรงที่ดีเทลของเนื้อผ้า เนื้อผ้ากับรายละเอียดเครื่องประดับครับ พวกนี้ยาก อย่างผ้าดิ้นทอง มันไม่เหมือนการลงสีผ้าของฝรั่ง อย่างเสื้อเชิ้ตก็จะลงเสื้อเชิ้ตสีเดียวกันจบ แต่ของผ้าไทยมันมีลายของผ้า ผ้านุ่งของเจ้าชายาดารารัศมีเป็นผ้าลุนตยา ก็ต้องทำการสอดสี ใส่สี ทำทีละนิด ๆ เลย แล้วข้างล่างยังดิ้นทองอีก ก็ต้องมาเกลี่ยสีดิ้นอีก อันนี้คือความยาก แต่ว่าทำไปแล้วออกมามันก็สวย ผมสนุกที่ได้ลงสีครับ”

ศิลปินลงสีภาพขาวดำ

ในวันนี้ สยามพหุรงค์กำลังเดินทางไปสู่ขวบปีที่ 8 แต่ยังน้อยกว่าชื่อหนุ่มรัตนะที่โลดแล่นในวงการประวัติศาสตร์มาเกิน 10 ปี ในขณะที่ สวพล สุวนิช เดินหน้าลงสีภาพถ่ายเก่ามาจวนจะครบ 20 ปีในไม่ช้า

เมื่อมีกระแสตอบรับทางบวก ก็มีกระแสตอบรับทางลบ ประสบการณ์อันยาวนานของณลทำให้เขาได้รับทราบเสียงสะท้อนจากคนชมผลงานของเขามาทุกแง่

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

“คนไม่ชอบก็มี เพื่อนผมเลย เขามาบอกว่า เฮ้ย! ทำภาพแบบนี้กูไม่ชอบเลย มันดูแปลก ๆ ไป แต่เอาน่ะ มันเป็นงานของมึง กูก็ไม่ว่าอะไร คนมาท้วงว่าลงสีผิดก็เยอะแยะเลย ผมก็คิดว่าให้มองเป็นศิลปะไปนะ มันไม่มีถูกไม่มีผิดหรอก งานพวกนี้บางคนไม่เข้าใจ บางคนก็เอาจริงเอาจังมาก ของแบบนี้มันก็เหมือนคนในสังคม มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีทั้งนั้นแหละ”

คนอยู่หลังตราพานหมากวังหน้ายิ้มอย่างอารมณ์ดี ก่อนประกาศชัดถึงแนวทางลงสีของเขา

“ผมก็พยายามจะทำให้มันสวย กลมกลืน ไม่โดดเกินไป สีไม่จัด ไม่จางไป ให้ดูภาพออกมาโดยรวมที่แบบ ให้มันมีเสน่ห์แบบโทนเก่า ๆ นิด ๆ แต่มันก็แล้วแต่เทรนด์นะ บางทีผมก็อยากให้สีสด ทำออกมาให้สดเลยก็มี แต่คือต้องดูที่โทนสีของภาพด้วย ดูสังคมด้วย ดูอารมณ์ด้วยว่าอยากสีสดมั้ย บางทีภาพสดเกินไป อารมณ์มันก็เปลี่ยนนะ มันจะออกมาเป็นแบบภาพพิมพ์สีโบราณ ยุค พ.ศ. 2510 แป๊ด ๆ”

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

อดีตวิศวกรหัวใจประวัติศาสตร์ผู้เคยง่วนกับการลงสี Photoshop เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว สู่คนดังในเว็บไซต์พันทิปและแอดมินเพจที่มีผู้ติดตามเรือนหมื่น ปัจจุบันผลงานของเขาเป็นที่ประจักษ์แก่วงการลงสีภาพ บางชิ้นได้รับการเผยแพร่และจัดแสดงในวงกว้างกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพลงสีพาโนรามากรุงเทพฯ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง ขุนบันลือ ภาพลงสีดวงตราไปรษณียากรของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือกระทั่งพระบรมฉายาลักษณ์ลงสี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ที่พิมพ์ลงในหนังสือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังไม่รวมคนหรือสื่ออื่น ๆ อีกหลายกรณีที่มาขอภาพฝีมือหนุ่มรัตนะไปประกอบงานของพวกเขาอยู่เนืองนิตย์

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

“ได้ลงสีภาพมันมีความสุขนะ เป็นงานศิลปะแบบหนึ่งที่จะได้ลงสีภาพสวย ๆ สีนั้นสีนี้ หาคอนเทนต์มาเล่าให้คนอ่าน โพสต์ลงในเพจ มันก็เหมือนกับเราได้เผยแพร่องค์ความรู้ลงไป เพจนี้ก็ต้องงามทั้งรูปและงามทั้งองค์ประกอบเนื้อหา พยายามหาเนื้อหาที่ดี ๆ สอดคล้องกันมาไว้ในเพจให้ดูดี ให้ดูมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์” หนุ่มรัตนะ หรือ ณล เอ่ยด้วยท่าทีมีสุข ไม่ผิดจากคำกล่าวของเขาแม้แต่น้อย

“คุณค่าทางประวัติศาสตร์ บางภาพก็มี อย่างเช่นเครื่องแบบทหาร เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ภาพเจ้านาย พระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์ที่เราคอนเฟิร์มสีที่ถูกต้องได้ ผมก็จะหามาลงไว้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานว่าในอดีตก็มีสีนี้นะ เราอยากจะเสนอสิ่งที่ถูกต้องจริง ๆ เพื่อให้รู้ว่าแทนที่จะดูแต่ภาพขาวดำ สมัยก่อนบรรพบุรุษเราแต่งตัวกันแบบนี้ วิวเมืองกรุงเทพฯ เราเป็นแบบนี้ สังคมเราเป็นแบบนี้ มันก็มีอีกมิติหนึ่งในประวัติศาสตร์ว่าสามารถค้นหาได้บางอย่าง อย่างที่บอกว่าเครื่องแบบหรือพระราชพิธีที่เราไม่ค่อยเห็น ผมจะพยายามลงสีให้ถูกต้องมากที่สุด เอามาให้ชมกัน”

‘สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ’ เพจลงสีภาพเก่าที่ช่วยให้เห็นสีสันของเมืองไทยในอดีต

นอกเหนือจากความสุขส่วนตัว จากการพูดคุยกับศิลปินผู้นี้ เราตกตะกอนความคิดได้ว่า การช่วยให้คนยุคปัจจุบันได้เห็นสีในชีวิตของคนในอดีตในแบบที่เราไม่มีวันได้เห็นจากภาพถ่ายยุคนั้น น่าจะเป็นเจตนารมณ์สูงสุดของสยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ

Facebook : สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ