ปฐมบท 

อยุธยา – แวร์ซาย – อัมสเตอร์ดัม 

ขณะกำลังทำเอกสารเพื่อสมัครเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านพิพิธภัณฑ์ หนึ่งในโจทย์ที่ได้รับคือการเขียนรีวิวนิทรรศการระหว่างนั้นภาพของ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เอกอัครราชทูตสมัยกรุงศรีอยุธยาผู้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซาย ปรากฏในโปสเตอร์นิทรรศการ Visitors to Versailles ที่เห็นผ่านตาจากทวิตเตอช่วงต้น พ.ศ. 2561 ก็ดึงดูดความสนใจเราอยู่หมัด เราตัดสินใจเขียนรีวิวนิทรรศการดังกล่าว ซึ่งจัดแสดง ณ พระราชวังแวร์ซายในฝรั่งเศส โดยการเข้าชมแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์จากบ้านในอยุธยา มีเสียงละครอิงประวัติศาสตร์สุดฮิตในขณะนั้นอย่าง บุพเพสันนิวาส เปิดไว้เป็นแบกกราวด์ 

ผลคือเราผ่านการคัดเลือกและได้เรียนต่อ ณ University of Amsterdam เมื่อมองย้อนกลับไปก็อดทึ่งไม่ได้ว่า ความเป็นอยุธยาเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนการไปเรียนต่อเสียอีก เราแทบไม่ได้คาดคิดเลยว่าอยุธยาจะเป็นโปรเจกต์ฝึกงาน ซึ่งสุดท้ายได้จัดแสดงเป็นนิทรรศการเล็กๆ ในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ อย่าง Rijksmuseum Amsterdam พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และศิลปะแห่งชาติเนเธอร์แลนด์

บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
โปสเตอร์นิทรรศการ Visitors to Versailles จัดแสดง ณ พระราชวังแวร์ซาย
นิทรรศการเล่าถึงผู้ที่เคยเดินทางมายังพระราชวังแวร์ซายในอดีต มี ออกขุนศรีวิสารวาจา เป็นหนึ่งในตัวละครหลัก
ภาพ : Palace of Versailles
บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
Rijksmuseum Amsterdam พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์
มีผลงานสะสมกว่าหนึ่งล้านชิ้นและผู้เข้าชมเฉลี่ยราวปีละ 2.5 ล้านคน

บทที่ 1 : ยูเดีย

อยุธยาคือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ทุกตารางนิ้ว หากเอ่ยถึงอดีตเมืองหลวงเก่าที่เคยรุ่งเรืองถึง 417 ปีแห่งนี้ ภาพแผนที่กรุงศรีอยุธยาด้านล่างคงเป็นภาพคุ้นตาสำหรับชาวไทย เพราะคงเคยเห็นกันผ่านหนังสือเรียนและสื่อต่างๆ มานับครั้งไม่ถ้วน แต่น้อยคนจะทราบว่าภาพแท้ดั้งเดิมของแผนที่นี้ยังคงถูกจัดเก็บและจัดแสดง ณ Gallery 2.9 ของพิพิธภัณฑ์ Rijksmuseum Amsterdam รวมถึงเราเองก็เพิ่งทราบเกี่ยวกับภาพนี้ ในช่วงการค้นคว้าเพื่อเขียนเปเปอร์ในวิชาหนึ่งระหว่างเรียน

บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
Johannes Vinckboons, View of Judea, the Capital of Siam พ.ศ. 2205 – 2206 สีน้ำมันบนผ้าใบ 97 x 140 ซม.
ภาพ : Rijksmuseum Amsterdam

การเดินทางเพื่อตามหาภาพแผนที่ (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า ‘ยูเดีย’ ตามชื่อภาพที่เรียกโดยชาวดัตช์ที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยอยุธยา ชื่อคงเพี้ยนมาจากคำว่าอยุธยา) เริ่มขึ้นในบ่ายของสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 แม้จะทราบพิกัดแน่ชัดว่าอยู่ในห้อง 2.9 แต่ก็ใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะหาภาพยูเดียพบ เพราะภาพถูกแขวนไว้เกือบติดเพดานห้องจัดแสดง ในฐานะคนอยุธยา เมื่อเห็นตำแหน่งจัดแสดงของภาพก็รู้สึกประหลาดใจไม่น้อย ภาพสำคัญระดับประวัติศาสตร์ชาติไทยนี้เมื่อมาอยู่ในบริบทของประวัติศาสตร์เนเธอร์แลนด์ ก็กลายเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ในการเล่าเรื่องความรุ่งเรืองของบริษัทอินเดียตะวันออก (Dutch East India Company หรือ ภาษาดัตช์เรียกย่อว่า VOC) ที่เข้ามาทำการค้าขายในแถบเอเชียระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 – 18 และเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างเนเธอร์แลนด์กลายเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของโลก ในช่วงก่อนสมัยใหม่ผ่านการเดินเรือและค้าขายนั่นเอง

ภาพยูเดียแสดงแผนที่กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วาดโดยช่างวาดแผนที่ชาวดัตช์นาม โยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ในภาพจะเห็นวัดวาอาราม วัง ตลอดจนถนนและคูคลอง ดังสมญานาม ‘เวนิสตะวันออก’

วิงโบนส์ผู้วาดแผนที่นี้ไม่เคยเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา เขาต้องอาศัยการอ่านบันทึกและคำบอกเล่าเพื่อสร้างสรรค์ผลงานนี้ ภาพที่ออกมาจึงเป็นภาพกรุงศรีอยุธยาที่มีกลิ่นอายธรรมเนียมการวาดภาพทิวทัศน์แบบยุโรป เช่น การวาดท้องฟ้าที่กินเนื้อที่กว่าครึ่งหนึ่งของภาพ การใส่ทิวเขาเป็นพื้นหลัง ซึ่งมองไม่เห็นจากพื้นที่ราบลุ่มของกรุงศรีอยุธยา โดยยูเดียเป็นหนึ่งในภาพแผนที่ 10 เมืองในเอเชียที่มีการติดต่อค้าขายกับบริษัท VOC ปัจจุบันหลงเหลือจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Rijksmuseum Amsterdam 7 ภาพ เช่น เมือง Canton หรือกวางตุ้งของจีน กรุงละแวกในกัมพูชา และเมือง Batavia หรือจาการ์ตาในอินโดนีเซีย เป็นต้น

การตามหาภาพยูเดียเป็นแรงบันดาลใจให้เราสมัครฝึกงาน ณ Rijksmuseum Amsterdam โดยเสนอโปรเจกต์ศึกษาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาจากคอลเลกชันผลงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งพบว่ามีภาพพิมพ์เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาจำนวนหนึ่งที่ใช้ประกอบหนังสือบันทึกการเดินทางของชาวยุโรป อายุเฉลี่ยกว่า 350 ปี เก็บอยู่ในคลังภาพพิมพ์ของพิพิธภัณฑ์และแทบไม่ได้นำออกมาจัดแสดง จากการค้นคว้าเพิ่มเติมจึงคัดเลือกภาพพิมพ์ที่มีคุณค่า เกร็ดประวัติศาสตร์น่าสนใจจำนวน 15 ภาพ มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการเล็กๆ ในส่วนห้องจัดแสดงศิลปะเอเชีย หรือ Asian Pavilion ของพิพิธภัณฑ์ Rijksmuseum Amsterdam ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม พ.ศ.​2563 ถึงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2564

น่าเสียดายว่าช่วงจัดแสดงนิทรรศการมีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้พิพิธภัณฑ์ต้องปิดการเข้าชมเป็นระยะ แต่ชมบรรยากาศของนิทรรศการแบบสั้นๆ ทางออนไลน์ได้ ราวนาทีที่ 10.50 เป็นต้นไป ตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้ชมนิทรรศการนี้ด้วยตนเอง เพราะเดินทางกลับประเทศไทยก่อนการจัดแสดง ต้องขอขอบคุณภาพนิทรรศการจาก ศุจีภรณ์ ตันติพงษ์ เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ที่ดั้นด้นฝ่าวิกฤต COVID-19 จากเมืองไลเด้นไปอัมสเตอร์ดัมเพื่อถ่ายภาพมาให้ชม

บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
ภาพจากนิทรรศการ Siam Through the Eyes of European Travellers: 1600 – 1800
จัดแสดง ณ Asian Pavilion, Rijksmuseum Amsterdam ระหว่างเดือนตุลาคม 2563 – เมษายน 2564
เนื่องจากภาพพิมพ์เหล่านี้เป็นงานบนกระดาษที่มีอายุเก่าแก่กว่า 350 ปี จึงต้องควบคุมแสงที่จัดแสดงให้มีความเหมาะสม ไม่ทำลายผลงาน
บทที่ 2

อยุธยาในสายตายุโรป 

นิทรรศการ Siam Through the Eyes of European Travellers: 1600 – 1800 นำเสนอสยาม (กรุงศรีอยุธยา) ในมุมมองของนักเดินทางชาวยุโรประหว่าง ค.ศ. 1600 – 1800 ผ่านมิติด้านศาสนา การเมืองการปกครองและสังคมวัฒนธรรม 

ด้านศาสนาพบเกร็ดน่าสนใจ เช่น ภาพประกอบหนังสือเกี่ยวกับศาสนาต่างๆ ทั่วโลก ตีพิมพ์ พ.ศ. 2271 ด้านล่างแสดงวัดของพระคลัง (ในภาพสะกดว่า BARKALAM) ประกอบด้วยวิหาร สถูป เจดีย์ กุฏิ ใบเสมาและหอระฆัง ส่วนด้านบนแสดงภาพพระพุทธรูปในวิหาร พระพุทธบาท และรูปปั้นประดับตกแต่ง 

ภาพนี้พิเศษตรงที่เป็นภาพพิมพ์จากภาพสเก็ตช์ของ นายแพทย์เอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) ผู้เดินทางมากับบริษัท VOC และแวะพักกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2233 ถ้าสังเกตรายละเอียดด้านสถาปัตยกรรม จะพบความสมจริงพอสมควรเมื่อเทียบกับภาพยูเดีย เนื่องจากสร้างภาพสเก็ตช์จากประจักษ์พยานของผู้ที่เคยเดินทางมากรุงศรีอยุธยาจริงๆ และพบการใช้คำว่า ‘สมณโคดม – SOMMONACODOM’ ใต้ภาพพระพุทธรูป ทำให้ทราบว่าสมัยอยุธยาใช้คำนี้แทนคำว่าพระพุทธเจ้าที่เราใช้กันในปัจจุบัน ภาพพระพุทธรูปและรูปเคารพในวิหารลักษณะบิดเบี้ยวและมีสัดส่วนผิดปกติ ก็สะท้อนมุมมองของชาวยุโรปในสมัยนั้นที่มองว่า ศาสนาอื่นนอกจากคริสต์ศาสนาเป็นเพียงการบูชารูปเคารพหรือไอดอล และผิดจากความจริงเพียงหนึ่งเดียวแห่งพระเจ้า 

บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
Bernard Picart, Representations related to religion of the Siamese พ.ศ. 2271 ภาพพิมพ์กัดกรด (Etching)
30.9 x 39.8 ซม.
ภาพ : Rijksmuseum Amsterdam 

อีกภาพหนึ่งเกี่ยวกับศาสนา ผู้วาดตั้งใจให้แสดงอาณาบริเวณวัดแบบสยาม แต่จะเห็นว่าหน้าตาสถาปัตยกรรมดูจะออกไปทางจีน ซึ่งอธิบายได้จากการที่ชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เดินทางมาถึงทวีปเอเชียได้ใช้คำว่า Pagoda (เจดีย์ทรงจีน) เรียกศาสนสถานของพุทธและฮินดู และภาพนี้ยังเป็นภาพประกอบบันทึกของ กี ตาชาร์ (Guy Tachard) บาทหลวงผู้ร่วมเดินทางมากับคณะทูตฝรั่งเศสคณะแรกที่เดินทางมาถึงอยุธยาใน พ.ศ. 2228 ภายใต้การนำของราชทูต เชอวาลีเย เดอ โชมง (Chevalier de Chaumont) นับเป็นหนังสือเล่มแรกที่นำเสนอภาพของดินแดนอันห่างไกลอย่างกรุงศรีอยุธยาที่เต็มไปด้วยความแปลกตาน่าพิศวงสำหรับชาวยุโรป ตาชาร์ได้บันทึกว่า ในสยามมีเจดีย์หรือ Pagoda มากกว่า 14,000 แห่ง ซึ่งแสดงถึงความรุ่งเรืองด้านสถาปัตยกรรมของสยามที่ไ่ด้รับการยอมรับและชื่นชมจากชาวยุโรปที่เข้ามาติดต่อค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตในขณะนั้น

บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
Jan Luyken, Pagodes in Siam พ.ศ. 2230 ภาพพิมพ์กัดกรด 14.3 x 15.8 ซม.
ภาพ : Rijksmuseum Amsterdam 

ส่วนที่สองของนิทรรศการกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกรุงศรีอยุธยาและฝรั่งเศส แม้เป็นชาติยุโรปสุดท้ายที่เดินทางมาถึงอยุธยาใน พ.ศ. 2205 ตามหลังโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ แต่ฝรั่งเศสกลับมีความมุ่งมั่นในการแทรกแซงทางการเมืองการปกครอง โดยมุ่งหมายให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก อยุธยาเองก็ต้องการใช้ฝรั่งเศสเพื่อคานอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นของชาวดัตช์และอังกฤษในแถบเอเชีย ในช่วงระยะเวลาเพียง 8 ปีระหว่าง พ.ศ. 2223 – 2231 จึงเกิดการแลกเปลี่ยนคณะทูตระหว่างกรุงศรีอยุธยาและฝรั่งเศสรวม 6 ครั้ง นำไปสู่การตีพิมพ์บันทึกการเดินทางสู่สยามพร้อมภาพประกอบหลายต่อหลายเล่ม หนึ่งในภาพที่น่าสนใจคือ ภาพเหมือนสมเด็จพระนารายณ์ ดูแล้วไม่น่าจะเหมือนสักเท่าไหร่ เพราะเป็นภาพที่ศิลปินสร้างขึ้นจากจินตนาการ พระนารายณ์จึงมีลักษณะแขกตามสไตล์ของ Oriental King หรือราชาจากโลกตะวันออกในสายตาชาวยุโรป ณ ขณะนั้น

บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
Nicolas de Larmessin (I), Portrait of Narai พ.ศ. 2216 – 2221 ภาพพิมพ์กัดกรด 23.2 x 16.4 ซม.
ภาพ : Rijksmuseum Amsterdam

ภาพที่คุ้นตาชาวไทยมากที่สุดในนิทรรศการคงจะเป็นภาพแสดงการเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ของเชอวาลีเย เดอ โชมง เพื่อถวายราชสาสน์จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2228 เป็นฉากสำคัญในละครดังอย่าง บุพเพสันนิวาส ตามธรรมเนียมแล้ว ผู้เข้าเฝ้ากษัตริย์อยุธยาจะต้องหมอบกราบ และมองหรือถวายสิ่งของโดยตรงต่อกษัตริย์ไม่ได้ 

เดอ โชมง มองว่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น จึงยืนยันที่จะ ‘ยืน’ เข้าเฝ้าตามแบบยุโรป ด้วยเหตุนี้ คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulkon) หรือ พระยาวิไชเยนทร์ สมุหนายกชาวกรีก จึงจัดเตรียมการเข้าเฝ้าโดยการประนีประนอมระหว่างสองธรรมเนียม เดอ โชมง จะได้สวมหมวกและรองเท้าเข้าเฝ้า และต้องยื่นราชสาสน์ใส่พานถวายพระนารายณ์ซึ่งประทับอยู่สูงกว่า เมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้าจริง เขากลับท้าทายอำนาจกษัตริย์อยุธยาโดยการไม่ยกพานขึ้น พระนารายณ์จึงต้องโน้มพระองค์ลงมารับราชสาสน์ เป็นที่ตื่นตกใจของเหล่าขุนนางที่แสดงอาการหวาดกลัวต่อการท้าทายธรรมเนียมนี้ อย่างไรก็ดี พระนารายณ์ทรงมิได้ถือสา เดอ โชมง จึงเดินทางกลับฝรั่งเศสได้โดยสวัสดี

บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
Jan Luyken, Envoy in audience with the King of Siam พ.ศ. 2230 ภาพพิมพ์กัดกรด 17.7 x 14 ซม.
ภาพ Rijksmuseum Amsterdam 

อีกภาพหนึ่งที่น่าสนใจคือ ภาพประกอบบันทึกของตาชาร์แสดงการทอดพระเนตรจันทรุปราคาในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ณ วังลพบุรี โดยกลุ่มนักบวชฝรั่งเศสคณะเยสุอิต (Jesuit) เป็นผู้ถวายอุปกรณ์ดูดาวใหม่ล่าสุดที่นำมาจากฝรั่งเศส เนื่องจากทราบว่าพระนารายณ์โปรดการดูดาว จึงคิดจะใช้เป็นสิ่งจูงใจให้พระองค์ทรงเปลี่ยนศาสนา แต่สุดท้ายไม่สำเร็จ ภาพนี้ยังสะท้อนความเชื่อของชาวคริสต์คาทอลิกในยุคนั้นที่เชื่อว่า การศึกษาดาราศาสตร์ให้แตกฉาน จะช่วยนำไปสู่ความจริงแห่งพระเจ้าอันอยู่เหนือลัทธิ ‘นอกรีต’ ต่างๆ รวมถึงพุทธศาสนาที่นับถือกันในอยุธยา

บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
Jan Luyken, King of Siam observes the lunar eclipse from his palace พ.ศ. 2230 ภาพพิมพ์กัดกรด
14.2 x 15.9 ซม.
ภาพ : Rijksmuseum Amsterdam

นอกจากสถาปัตยกรรมแล้ว สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ เรือพระที่นั่งและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่มีการบรรยายถึงความวิจิตรงดงามของการตกแต่งเรือและริ้วขบวนซึ่งยาวสุดลูกหูลูกตาตลอดคุ้งน้ำเจ้าพระยา (ซึ่งตามบันทึก ในยุคนั้นจะเรียกเพียง ‘แม่น้ำ’ หรือ Menam) ดังปรากฏในภาพ คล้ายกันจะพบภาพพิมพ์ระบายสีน้ำ (ภาพถัดไป) แม้จะสร้างขึ้นหลังจากภาพก่อนหน้าเกือบ 100 ปี แต่ก็ยังคงแสดงภาพกระบวนเรือที่สวยงามและมีรายละเอียดอันสื่อถึงสยาม เช่น รูปแบบและรายละเอียดการประดับเรือ แม้ว่าองค์ประกอบด้านภูมิสถาปัตย์ เช่น ตึก โบสถ์ และป้อมปราการบนฝั่งขวาของแม่น้ำจะมีลักษณะแบบยุโรปปนจีน สองภาพนี้แสดงให้เห็นว่า กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคเป็นหนึ่งในสิ่งที่ชาวยุโรปชื่นชมสยาม และยังคงเป็นสิ่งที่งดงามน่าทึ่งสำหรับชาวต่างชาติมาจนถึงปัจจุบัน

บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
Jan Luyken, Landscape in Siam with boats พ.ศ. 2230 ภาพพิมพ์กัดกรด 16.8 x 29.5 ซม.
ภาพ : Rijksmuseum Amsterdam
บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
Franz Xaver Habermann, View of Siam, พ.ศ. 2298 – 2322 ภาพพิมพ์กัดกรดระบายสีน้ำ 33.4 x 43.4 ซม.
ภาพ : Rijksmuseum Amsterdam

ภาพสุดท้าย เล่าถึงยุคเปลี่ยนผ่านที่เกี่ยวพันกับการยุติสัมพันธไมตรีทางการทูตระหว่างกรุงศรีอยุธยากับชาติยุโรป และเป็นภาพที่ไม่ค่อยคุ้นตาสำหรับชาวไทยนัก หลังจากการต้อนรับคณะเอกอัครราชทูตสยามของเจ้าพระยาโกษาปาน ณ พระราชวังแวร์ซาย ใน พ.ศ. 2229 อย่างยิ่งใหญ่ และนำไปสู่การจัดตั้งคณะราชทูตฝรั่งเศสนำโดย ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) เดินทางสู่อยุธยาในปีถัดมา ก็เป็นที่แน่ชัดว่าความหวังที่จะนำพระนารายณ์เข้ารีตนั้นริบหรี่ อีกทั้งการค้าขายกับอยุธยาก็ไม่ได้ทำกำไรเท่าที่ควร พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงล้มเลิกความสนใจในอยุธยา ประจวบกับการส่งคณะทูตอยุธยาคณะสุดท้ายไปยังฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2231 

เมื่อเดินทางถึงปารีส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไม่ทรงปรารถนาจะต้อนรับ จึงทรงส่งคณะทูตสยามนี้ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 (Innocent XI) ยังนครวาติกันแทน ภาพสุดท้ายได้บันทึกภาพการเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2231 ขณะที่บาทหลวงตาชาร์กำลังอ่านพระราชสาสน์จากสมเด็จพระนารายณ์ และราชทูตสยาม 3 คนกำลังถวายเครื่องบรรณาการ 

ภาพนี้แสดงถึงเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาการ ‘ฟีเวอร์’ ทูตสยามหลังจากการเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ของเจ้าพระยาโกษาปาน ทูตสยามถือเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปทั่วฝรั่งเศสและยุโรปเนื่องจาก ‘ความแปลก’ ทั้งด้านรูปร่างหน้าตา โดยเฉพาะการแต่งกายที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยเครื่องประดับศีรษะทรงสูงหรือลอมพอก ซึ่งทำให้ราชทูตสยามเป็นที่จดจำราวกับเป็นแฟชั่นไอคอนของยุคนั้น เมื่อมีข่าวว่าราชทูตสยามจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาจึงเกิดเหตุการณ์ ‘ยุโรปมุง’ เพราะผู้คนต่างก็พากันมาดูชาวสยามกันอย่างล้นหลาม กระทั่งการ์ดประจำวาติกันหรือสวิสการ์ดต้องออกมาป้องกัน ดังที่เห็นในมุมขวาของภาพ 

ในช่วงหนึ่งปีของเหตุการณ์ที่บันทึกในภาพพิมพ์นี้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายนับจากวันที่คณะทูตนี้ออกเดินทางจากอยุธยาในเดือนมกราคม กระทั่งการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 และการปราบดาภิเษกของสมเด็จพระเพทราชา ผู้ทรงขับไล่ชาวยุโรป (เว้นแต่ชาวดัตช์) ออกจากกรุงศรีอยุธยาหลังขึ้นครองราชย์ กว่ายุโรปจะทราบข่าวการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดกินเวลาจนถึงช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2232 

ชะตากรรมของคณะทูตสยามนี้ไม่ปรากฏแน่ชัด บ้างก็ว่าพวกเขาถูกเปลี่ยนศาสนาในวาติกัน บ้างก็ว่าเรือแตกระหว่างเดินทางกลับอยุธยา ซึ่งสะท้อนถึงการยุติความสัมพันธ์กับชาติยุโรปเป็นเวลากว่า 200 ปีก่อนที่ชาวยุโรปจะกลับมาเยือนสยามอีกครั้งราว พ.ศ. 2400 ท่ามกลางบรรยากาศการล่าอาณานิยมเข้มข้น และเริ่มบันทึกความเป็นไปของสยามผ่านเทคโนโลยีแห่งยุคสมัยใหม่อย่างภาพถ่าย ภาพพิมพ์เช่นในนิทรรศการนี้จึงกลายเป็นสื่อยุคเก่า และค่อยๆ จางหายจากความทรงจำ 

บันทึกฝึกงานของสาวอยุธยา จัดนิทรรศการภาพพิมพ์อยุธยาฝีมือยุโรป ที่ Rijksmuseum อัมสเตอร์ดัม
Johann Christoph Boecklin, Pope Innocent XI receives the embassy of the king of Siam on 23 December 1688 พ.ศ. 2231 – 2252 ภาพพิมพ์กัดกรด 23.5 x 32.2 ซม.
ภาพ : Rijksmuseum Amsterdam

บทส่งท้าย

จากโปสเตอร์นิทรรศการที่แวร์ซาย ละคร บุพเพสันนิวาส ภาพแผนที่ยูเดีย จนถึงภาพพิมพ์ที่ถูกเก็บไว้ในคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และศิลปะแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ เราจะพบอยุธยาในฐานะบันทึกภาพความทรงจำทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เดินทางข้ามพรมแดนและมิติแห่งกาลเวลา และยังคงมนต์เสน่ห์ต่อผู้มาเยือนเสมอ พิสูจน์ได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวและการจราจรในเกาะเมืองอยุธยาที่หนาแน่นคับคั่งทุกวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดเทศกาล หาก COVID- 19 หมดไป อยุธยาเมืองมรดกโลกแห่งนี้ก็จะยังคงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลกดังที่เคยเป็นมาตลอดระยะเวลากว่า 600 ปี

Travel Tips – เคล็ดลับการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในอัมสเตอร์ดัม

สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือการซื้อบัตร Museumkaart สำหรับผู้ใหญ่ (อายุ 19 ปีขึ้นไป) ราคา 64.90 ยูโร ซื้อได้ที่เคาน์เตอร์ขายตั๋วของพิพิธภัณฑ์เกือบทุกแห่ง ปกติตั๋วนี้จะมีอายุ 1 ปีสำหรับผู้ที่อาศัยในเนเธอร์แลนด์ สำหรับนักท่องเที่ยวใช้ Museumkaart แบบชั่วคราวเข้าพิพิธภัณฑ์ได้ 5 แห่ง ซึ่งหากมีแผนจะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ 3 แห่งขึ้นไปก็จะคุ้มค่า Museumkaart แล้วล่ะ

ในอัมสเตอร์ดัมมีจตุรัสพิพิธภัณฑ์เรียกว่า Museumplein ประกอบด้วย Rijksmuseum, Van Gogh Museum (พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมผลงานของศิลปินดังชาวดัตช์ Vincent van Gogh ไว้มากที่สุดในโลก), Stedelijk Museum Amsterdam (พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัย), MOCO Museum (พิพิธภัณฑ์เอกชนด้านสตรีทอาร์ต สะสมผลงานของศิลปินดัง เช่น Banksy) และ Concertgebouw (สถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ต ออร์เคสตร้า บัลเลต์ และศิลปะการแสดงอื่นๆ) โดยมีสวนสาธารณะอยู่ตรงกลางสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองและนักท่องเที่ยว 

หากมีเวลาน้อย แนะนำให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ Top 3 ของอัมสเตอร์ดัม ได้แก่ Rijksmuseum, Van Gogh Museum และ Anne Frank House ซึ่งเป็นบ้านที่ Anne Frank ใช้ซ่อนตัวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับ Anne Frank House จะต้องจองวันเวลาเข้าชมล่วงหน้าออนไลน์เท่านั้น หากเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวหรือไฮซีซันอาจต้องจองล่วงหน้ากว่า 2 เดือน

หากมีเวลาเหลือไปไหนดี 

Royal Palace Amsterdam สายเที่ยววังห้ามพลาดวังของราชวงศ์ดัตช์ที่ตั้งอยู่กลางกรุงแห่งนี้ ตัวตึกเดิมสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาลาว่าการเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ยุคที่มีการติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา) ก่อนจะกลายเป็นวังตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ นโปเลียน ใน ค.ศ. 1806 ในปัจจุบันวังยังคงใช้งานอยู่ ภายในจึงมีการประดับตกแต่งแบบจัดเต็มหรูหราสำหรับรองรับราชวงศ์และพระราชอาคันตุกะ รวมถึงนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ การเข้าชมอาจต้องเช็กล่วงหน้าจากเว็บไซต์สักนิด เพราะบางวันจะปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมหากมีการใช้งานของราชวงศ์

Our Lord in the Attic Museum (Museum Ons’ Lieve Heer op Solder) พิพิธภัณฑ์ลับแห่งอัมสเตอร์ดัมที่เราว้าวที่สุด มองจากด้านนอกก็ดูเป็นบ้านริมคลองหรือ Canal House ที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมดัตช์ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทั่วไป แต่ชั้นบนกลับมีโบสถ์คาทอลิกซ่อนอยู่ เนื่องจากการปฏิวัติศาสนาในเนเธอร์แลนด์ในยุคนั้นทำให้ชาวคาทอลิกไม่ประกอบพิธีทางศาสนาในที่สาธารณะไม่ได้ จึงต้องสร้างโบสถ์ลับไว้ในบ้านนั่นเอง  

National Maritime Museum (Nederlands Scheepvaartmuseum) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การเดินเรือของเนเธอร์แลนด์ กิจการที่ก่อให้เกิด ‘ยุคทอง’ ของดัตช์ เพราะนำไปสู่การเป็นมหาอำนาจและหนึ่งในประเทศเจ้าอาณานิคมในยุคก่อนสมัยใหม่ ที่นี่เหมาะกับครอบครัวที่มีเด็กๆ มาด้วย โดยเฉพาะส่วนจัดแสดงเรือเดินสมุทรจำลอง Stad Amsterdam ที่ผู้ชมขึ้นไปชมวิถีชีวิตของชาวเรือได้

EYE Filmmuseum พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับภาพยนตร์และสื่อมัลติมีเดีย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ IJ โดยสารเรือเฟอรี่ข้ามฟากได้ฟรีจากสถานีรถไฟ Amsterdam Centraal นอกจากการจัดแสดงแล้ว ตัวพิพิธภัณฑ์มีวิวและสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เหมาะแก่การหลีกหนีจากความวุ่นวายของอัมสเตอร์ดัมสู่ย่านที่เงียบสงบกว่าใน Noord district

สุดท้ายขอนำเสนอ Hermitage Amsterdam ซึ่งเป็นสาขาของ Hermitage Museum ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมวัตถุและงานศิลปะสะสมของราชวงศ์รัสเซีย ที่นี่จะหมุนเวียนผลงานจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมาจัดแสดงอยู่เสมอ รวมถึงห้อง Portrait Gallery of the 17th Century ที่จัดแสดงภาพเหมือนรูปหมู่ของชาวดัตช์ที่แสดงถึงวิถีชีวิตอันรุ่งเรืองในช่วงยุคทอง

ภาพ : ศุจีภรณ์ ตันติพงษ์

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

พชรพร ตัณฑะตะนัย

บ้านอยู่อยุธยา รักหมา และจบปริญญาโทด้านพิพิธภัณฑ์จากอัมสเตอร์ดัม ใฝ่ฝันอยากทำนิทรรศการสนุกๆ อย่างน้อยปีละครั้ง และหวังให้วัฒนธรรมการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ผลิบานในเมืองไทย