ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน สยามสแควร์ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหวของวัยรุ่น

บนที่ดินทั้งหมดของจุฬาฯ ตั้งแต่สามย่าน-สวนหลวง มาจนถึงสี่แยกปทุมวัน และจากถนนบรรทัดทองมาถึงถนนอังรีดูนังต์ แบ่งการใช้งานออกเป็น 3 ประเภทคือ หนึ่ง พื้นที่สำหรับการศึกษา สอง พื้นที่ให้หน่วยงานราชการมาใช้ และ สาม พื้นที่สำหรับจัดหาผลประโยชน์บำรุงมหาวิทยาลัย พื้นที่ประเภทหลังมีทั้งหมด 3 แปลง คือ บริเวณสามย่าน-สวนหลวง บริเวณจามจุรีสแควร์ และพื้นที่ 63 ไร่ครึ่งของสยามสแควร์ ที่เริ่มต้นจากอาคารพาณิชย์สูง 3 ชั้นครึ่ง จำนวน 596 คูหา เมื่อ พ.ศ. 2507

เวลาเปลี่ยน วัยรุ่นเปลี่ยน สยามสแควร์ก็เปลี่ยน

เมื่อคนนิยมเดินห้างติดแอร์มากขึ้น เปลี่ยนไปซื้อของออนไลน์ และเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนต้องเรียนและทำงานออนไลน์ สยามสแควร์ซบเซาลงถนัดตา จนหลายคนสงสัยว่า สยามฯ จะกลับมาทวงสถานะพื้นที่อันดับหนึ่งของวัยรุ่นคืนได้จริงหรือ

แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สยามฯ มีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพครั้งใหญ่ มีการนำสายไฟลงดิน ปรับพื้นที่ใหม่ เปิดตึก SiamScape ตามด้วย Walking Street และตึกที่ดูโฉบเฉี่ยวมากมาย รวมถึงทุกสุดสัปดาห์จะมีคนจำนวนมหาศาลมายืนรอดูวงดนตรีของน้อง ๆ ที่กระจายตัวเล่นอยู่ทั่ว

คนกลับคืนสู่สยามฯ และชื่อของสยามฯ ถูกพูดถึงอีกครั้ง

58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป

น่าสนใจว่า ตอนนี้สยามฯ มองตัวเองว่าเป็นพื้นที่ประเภทไหน พื้นที่พาณิชย์หรือพื้นที่สาธารณะ สยามฯ โกงความตายกลับมาได้อย่างไร แล้วเราจะได้เห็นอะไรต่อไปอีก

รวมถึงคำถามที่หลายคนยังคาใจ ทำไมต้องทุบสกาล่า

The Cloud นัดคุยกับ รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ผู้รับผิดชอบดูแลสยามสแควร์โดยตรง

แต่ก่อนจะเริ่มบทสนทนา ดร.จิตติศักดิ์ ออกตัวว่า ภาพสยามฯ โฉมใหม่ที่เราเห็นในวันนี้ต้องให้เครดิตกับ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล อดีตรองอธิการบดี ที่ปลุกปั้นมาก่อนจะลาออกไปรับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.

58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป

01
บ้านเพื่อนผมอยู่ในสยามสแควร์

“ตึกแถวในพื้นที่จุฬาฯ เติบโตมาแบบผสมผสาน คือเป็นที่อยู่อาศัยข้างบน เป็นร้านค้าข้างล่าง สยามสแควร์ก็เป็นแบบนั้น สมัยเรียนเพื่อนผมพ่อเขาเปิดร้านขายแอร์ในสยามฯ ชั้นล่างเป็นร้าน ชั้นสามชั้นสี่เขาอยู่เป็นบ้านเลย จุดเริ่มต้นของสยามสแควร์คือพื้นที่พาณิชยกรรม มีลักษณะที่ชัดเจนตรงเป็นร้านตึกแถวแบบ Shophouse เทียบกับพื้นที่ยุคเดียวกันก็เพลินจิตอาเขต ยุคก่อนก็นางเลิ้ง เวิ้งนาครเกษม หรือในเยาวราช หลังสยามฯ ก็ไม่มีพื้นที่แบบนี้แล้ว เพราะต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ และเข้าสู่ยุคห้างติดแอร์”

02
สยามสแควร์ไม่ใช่พื้นที่ที่แพงที่สุด

“ยุคปัจจุบัน สี่แยกปทุมวันถือเป็นย่านสำนักงาน CBD (Central Business District) ที่เริ่มบางลง แล้วมีความเป็น Commercial มากขึ้นทั้งสี่ด้าน ทำเลของสยามสแควร์ไม่ใช่พื้นที่ที่มีราคาแพงที่สุด ที่แพงคือฝั่งที่ไหล ๆ ไปทางราชประสงค์ สยามฯ แพงเพราะไดนามิกของกิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงเติบโตตลอดเวลา พื้นที่ CBD ทั่วไปพอเต็มแล้ว แสดงคาแรกเตอร์ของมันแล้ว จะนิ่งแบบนั้น แต่สยามฯ ไม่ใช่ เริ่มจากตึกแถว มีอาคารขนาดกลาง จนขึ้นเป็นตึกสูง มีการปรับคาแรกเตอร์ตลอด อาจจะเป็นเสน่ห์หนึ่งที่ทำให้ตัวสยามยังอยู่ได้”

58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป

03
สยามฯ เป็นตึกแถว 3 ชั้นยุคแรก

สยามฯ ยุคแรกจุฬาฯ ใช้วิธีสร้างตึกแถวแล้วปล่อยเช่า เป็นตึกแถวยุคแรกที่สร้าง 3 ชั้น ถือว่าเก๋ไก๋มาก เพราะมีอาจารย์คณะวิศวะ สถาปัตย์ ช่วยออกแบบ ตึกหน้าตาแบบดั้งเดิมอยู่ตรงซอยมารีน่า ด้านหน้ามีแผ่นปูนรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเป็นแถบ ๆ กั้นอยู่ ช่วงแรกจุฬาฯ ไม่ได้จริงจังกับการหารายได้ จนกระทั่งรัฐลดงบประมาณสนับสนุนลง ตอนนี้ช่วยไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องให้ความสำคัญกับการหาเงินมาช่วยในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย

58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป
อาคารยุคแรก

04
เลิกเก็บค่าเช่าแบบคาดกระเป๋าหน้าท้อง

“พอต้องเน้นการหารายได้ บทบาทของการเป็นคนเก็บค่าเช่าแบบคาดกระเป๋าหน้าท้องต้องเปลี่ยนไป จุฬาฯ เริ่มก้าวมาเป็น Developer โครงการแรกคือ จัตุรัสจามจุรี เมื่อลักษณะของย่านเปลี่ยนไป มีห้างเกิดขึ้นโดยรอบ พื้นที่สยามฯ ดูค่อนข้างโทรมเมื่อเทียบกับรอบข้าง จึงเกิดการสร้างอาคารสยามกิตติ์ ข้างล่างเป็นร้านค้า ข้างบนเป็นโรงแรม ทำให้เกิด Business Unit ใหม่ที่ไม่ใช่การบริหารพื้นที่ทางราบ แต่เป็นการบริหารอาคารทางตั้ง ก็ต้องการความรู้ความสามารถในการบริหารอีกรูปแบบหนึ่ง

“จากการที่เคยเคาะประตูบ้านเก็บค่าเช่า ต้องเปลี่ยนมาวิ่งหาคนที่จะมาอยู่กับเรา คัดเลือกประเภทกิจการที่จะทำให้โครงการมีชีวิตชีวา รวมถึงคิดภาพที่จะสะท้อนถึงตัวย่าน และสะท้อนไปถึงตัวมหาวิทยาลัย เริ่มมีรายละเอียดมากกว่าเดิม แต่สยามกิตติ์ไม่ซับซ้อนมาก เพราะจบลงตรงเปิดให้เช่าเป็นโรงเรียนติว คลินิกความงาม ข้างล่างก็เป็นร้านอาหาร ที่ยากคือ SQ1”

05
ถ้าย้อนกลับไปทำใหม่ได้ SQ1 อาจไม่เป็นแบบนี้

จุดเปลี่ยนแรง ๆ ครั้งหนึ่งของสยามฯ คือช่วงที่ไฟไหม้โรงหนังสยาม จุฬาฯ สร้างเป็น SQ1 ขึ้นมา หลายคนถามว่า พื้นที่ติด BTS ริมถนนพระรามหนึ่ง ทำตึก 4 – 5 ชั้นเองเหรอ คือเราไม่มีทางเลือก เราต้องรีบสร้าง รีบเปิดให้เร็วที่สุด เพื่อรับผิดชอบต่อผู้เช่าเดิมที่ได้รับผลกระทบ เราไม่สามารถให้เขารอ 3 – 4 ปีเพื่อขึ้นตึกสูงได้ ถ้ามีเวลา เราคงทำเป็นอาคาร Mixed-use ความสูงเต็มที่เท่าที่กฎหมายอนุญาต

58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป

06
โรงเรียนกวดวิชาที่หายไป

“โบนันซ่าเป็นตึกของเรา สร้างคล้ายตึกแถวซ้อนไปซ้อนมา ปรับปรุงซ่อมแซมมาหลายครั้ง ถึงจุดหนึ่งเราก็ไม่เอาแล้ว จะทุบเขาลง ช่วงนั้นมีความต้องการพื้นที่สำนักงานและร้านค้าอยู่ เราคิดว่าระหว่างที่สยามกิตติ์สร้างทาวเวอร์ที่เป็นโรงแรม ผู้เช่าที่เป็นโรงเรียนติวในอาคารเดิมจะทำอย่างไร ก็จะย้ายเขามาที่ SiamScape

“เมื่อก่อนในสยามฯ มีโรงเรียนกวดวิชากระจายอยู่ตามตึกแถว แต่พอมีระเบียบเรื่องจำนวนขนาดพื้นที่ต่อคน บางโรงเรียนก็อยู่ไม่ได้ บางโรงเรียนก็ต้องไปอยู่บนตึก และอีกหลาย ๆ ปัจจัย เราก็เลยตัดสินใจสร้าง SiamScape ขึ้นมาเพื่อรองรับโรงเรียนกวดวิชาด้วย”

58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป
58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป

07
ไม่อยากให้รถเข้า ก็ต้องสร้างตึกจอดรถตั้งแต่ทางเข้า

“ตึกสยามกิตติ์มีฟังก์ชันหลักอีกอย่างคือเป็นที่จอดรถ ถ้าคุณเข้ามาทางถนนอังรีดูนังต์ ไม่คิดอะไรมากก็เลี้ยวขึ้นตึกไปจอด ถ้าอยากใกล้เข้ามาหน่อยก็ขับมาจอดที่วิทยกิตติ์ ซึ่งเป็นตึกสำนักงานของฝั่งมหาวิทยาลัย ส่วนฝั่งพญาไทไม่มีตึกจอดรถ ถ้าจะทำให้สยามสแควร์เป็น Walking Street ฝั่งนี้ก็ควรมีที่จอดรถด้วย SiamScape จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นออฟฟิศ รองรับผู้เช่าที่เป็นโรงเรียนกวดวิชา คลินิกเสริมความงาม ชั้น 8 ชั้น 9 ก็ยืดหยุ่นให้อาจารย์นิสิตมาใช้จัดเลกเชอร์ ทำกิจกรรมเรียนรู้ได้ แล้วก็เป็นที่จอดรถในอีกมุมของสยามฯ ด้วย”

58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป

08
เราไม่ได้เล็งตาเป็นมันว่า อยากได้สกาล่าคืน

“เราไม่ได้เล็งตาเป็นมันว่าอยากได้สกาล่าคืน เราไม่ได้ขึ้นค่าเช่า แต่กิจกรรมที่เขาทำมันไม่สร้างรายได้มาตั้งนานแล้ว สุดท้ายเขาก็ชำระค่าเช่าที่ค้างอยู่ไม่ได้ ช่วงที่ใกล้จะหมดสัญญาเช่า เราก็ช่วยเจรจาหาหลายคนมาช่วยเขา ทั้งนายกสมาคมภาพยนตร์ไทย ชมรมคนรักสกาล่า สมาคมสถาปนิกสยามฯ นายทุนต่าง ๆ เราคุยหมด แนะนำให้รู้จักเจ้าของ ให้ลองไปหารือกันว่าจะทำอย่างไร แต่สุดท้ายมันก็ไปไม่ไหวด้วยสเกล จำนวนพนักงาน ค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าเช่าของเราด้วย ก็เลยไปต่อไม่ได้”

09
ถ้าจะเก็บสกาล่าไว้ ก็ต้องมีการใช้งานที่ชัดเจน

“เราไม่ได้ต้องการเก็บสกาล่าไว้แบบโบราณสถาน ถ้าจะเก็บก็ต้องมีการใช้งานที่ชัดเจน ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นพื้นที่รกร้าง ไม่ได้ใช้งาน ถ้าจะใช้เป็นหอประชุม คณะศิลปกรรม คณะนิเทศ ก็หากิจกรรมมาลงต่อเนื่องไม่ได้ เพราะเรามีหอประชุมสเกลนี้อยู่ในหลายคณะ สกาล่าจึงเป็นอาคารที่เกินจากการความต้องการใช้งาน แล้วมันก็ไปไม่ไหวจริง ๆ ในแง่การดูแล มันติดที่ค่าดำเนินการ เมื่อก่อนเรามีบ้านหลังคาสูง ๆ ไม่ติดแอร์เพราะอยากได้ลม ก็ใช้เสาสูง เพดานสูง อะไรก็ใหญ่โตไปหมด แต่ยุคนี้คุณต้องเสียค่าแอร์เยอะมาก มันไม่ไหวในเชิงค่าดูแลบำรุงรักษาในระยะยาว เราอยากหาเจ้าภาพมาดูแลต่อ แต่ทุกคนปฏิเสธ เราก็ไม่อาจหาญจะรับมาดูแล เพราะเราไม่เก่งขนาดนั้น ก็เลยถึงจุดที่เรายอมแล้ว จึงเปิดประมูลพื้นที่ ซึ่งทาง CPN ได้ไป เขาจะทำเป็น Mixed-use มีทั้งรีเทล ออฟฟิศ แล้วก็น่าจะมีโรงแรมด้วย”

10
โควิด-19 มา จนสยามฯ เกือบไป

“ประตูหลักที่เราใช้นับจำนวนคนมาสยามฯ คือ SQ1 ช่วงก่อนโควิด เคยมีคนมาวันละ 2 แสน

“พอมีโควิด พร้อมกับกระแสซื้อสินค้าออนไลน์ เหลือคนมาไม่ถึง 2 หมื่น เราไม่ลังเลเลยที่จะลดค่าเช่า เพราะเห็นว่าเขาเดือดร้อนจริง ๆ กิจการที่โดนประกาศห้ามจากรัฐตรง ๆ อย่างร้านตัดผม ร้านนวด เราไม่เก็บค่าเช่าพักหนึ่ง เรากลัวกันมากว่าสยามฯ จะไม่กลับมาแล้ว แต่ในที่สุดมันก็กลับมา ไม่ใช่เพราะการซื้อของ แต่เป็นการมาใช้พื้นที่ มาเจอคน มาเดินเล่น”

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ เล่าประวัติศาสตร์สยามสแควร์ จากตึกแถวสู่ย่านวัยรุ่น การปิดถนนให้คนเดิน และทำไมถึงไม่เก็บสกาล่า

11
ขับรถเข้ามาไม่สะดวกเลย ใช่ครับ ผมไม่ต้องการให้คุณขับรถเข้ามา

“ช่วงโควิดสยามฯ นิ่งอยู่พักหนึ่ง เราเองก็มีปัญหาน้ำท่วมในสยามฯ มาโดยตลอด แล้วก็มีความฝันในเชิงมาสเตอร์แปลนว่า อยากปรับอะไรหลาย ๆ อย่าง ก็เลยใช้จังหวะนี้สังคายนาใหญ่ วางระบบท่อใหม่ ต้องทำผิวถนนใหม่ เลยคุยกับคนออกแบบให้ปรับถนนเส้นกลางตั้งแต่ซอยสองถึง SQ1 ให้การจราจรที่วุ่นวายดีขึ้น รถที่อยู่ในสยามคือรถที่จะมาสยามฯ ไม่ใช่มาผ่านสยามฯ แล้วก็ไม่ให้มีรถสาธารณะจอดแช่

“เลยเกิดเป็นถนนคนเดินที่รถทำความเร็วไม่ได้ เป็นถนนที่คนไม่ได้มาเพื่อเรียกรถสาธารณะ รถเหล่านี้ก็ไม่เข้ามาโดยปริยาย ทำเสร็จคนก็บ่นว่า ตัวชะลอรถแหลมมาก ขับแล้วรถจะพัง ใช่ครับ ถ้าคุณขับไม่ถึง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถคุณจะไม่สะเทือนเลย รถติดมากเลยครับอาจารย์ ใช่ครับ ผมไม่ต้องการให้รถเข้ามา”

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ เล่าประวัติศาสตร์สยามสแควร์ จากตึกแถวสู่ย่านวัยรุ่น การปิดถนนให้คนเดิน และทำไมถึงไม่เก็บสกาล่า

12
ลานหน้าฮาร์ดร็อก

“ช่วงใกล้ ๆ SiamScape จะเปิดตัว ที่เรากำลังทำ Walking Street Hard Rock Cafe ก็หมดสัญญาเช่าพอดี ด้วยพิษโควิดเขาเลยไม่ต่อสัญญา เราก็เลยรื้อตัวตึกแถวเซ็ตนี้ออก ทำเป็นลานโล่งเชื่อมกับ SiamScape แล้วทำโปรเจกต์ Block I ที่ล้อคาแรกเตอร์ของตึกแถว ตามมาสเตอร์แปลนตึกสูงจะเกาะอยู่ที่ขอบถนนใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นของจราจร ข้างในพยายามทำให้เป็นพื้นที่ของคนเดิน จึงเป็นสเกลไล่เลี่ยกับตึกแถว แต่การเช่าจะมีลีลามากขึ้น เราพยายามเลือก Flagship Store แบรนด์ไทย หรือเติบโตมาในพื้นที่ของเรา ถ้าเป็นแบรนด์นอกก็ต้องมีอะไรพิเศษไม่ซ้ำกับสาขาอื่น Block I จึงเป็นเหมือนแลนด์มาร์กหัวถนนเริ่มต้นถนนคนเดิน”

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ เล่าประวัติศาสตร์สยามสแควร์ จากตึกแถวสู่ย่านวัยรุ่น การปิดถนนให้คนเดิน และทำไมถึงไม่เก็บสกาล่า
รศ.ดร.จิตติศักดิ์ เล่าประวัติศาสตร์สยามสแควร์ จากตึกแถวสู่ย่านวัยรุ่น การปิดถนนให้คนเดิน และทำไมถึงไม่เก็บสกาล่า

13
ถ้าคุณไม่ปรับ หมดสัญญาผมไม่ต่อนะ

“เราให้โจทย์ตึกที่จะสร้างในฝั่งสยามฯ และฝั่งมหาวิทยาลัยต่อไปว่า ต้องอยู่ในธีม Smart City ต้องได้ Green Certificate ในตึกต้องมีเรื่องประหยัดพลังงาน มี EV Charger มีเรื่องแอร์ เรื่องการรีไซเคิล อย่าง KLOUD by KBank เขาก็เปลี่ยนพื้นที่ธนาคารให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เด็กเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ มีคอนเซ็ปต์ที่เป็น Smart และยั่งยืน

“ส่วนร้านริมถนน Walking Street เราเน้นความเป็นอนาคต เพราะพื้นที่บางส่วนของ SiamScape เราให้เด็กมานั่งทำงานได้จนรถไฟฟ้าหยุดวิ่ง ก็เลยเป็นคอนเซ็ปต์สยามไม่หลับ พอเป็นชีวิตภาคกลางคืน อาคารทั้งหลายเลยตกแต่งด้วยแสงสีจัดเต็มไม่ให้น้อยหน้ากัน ก็ยิ่งสวยขึ้นเรื่อย ๆ เราบอกทุกร้านว่า ถ้าคุณไม่ปรับปรุง หมดสัญญาผมไม่ต่อนะ ผมจะเอาเจ้าใหม่มาลง เราไม่ได้ไล่คุณออกจากสยาม แต่คุณต้องไปอยู่ตึกนู้นตึกนี้แทน เราคุยกันแบบนั้น วันนี้คนบอกว่าสยามฯ สวยเหมือนอยู่เมืองนอก เราก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องตบตีกันเยอะมากกว่าจะเห็นภาพเดียวกัน”

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ เล่าประวัติศาสตร์สยามสแควร์ จากตึกแถวสู่ย่านวัยรุ่น การปิดถนนให้คนเดิน และทำไมถึงไม่เก็บสกาล่า

14
สยามฯ เปลี่ยนไปแล้ว

“วันที่ 27 พ.ค. 65 เราอยากทำอีเวนต์เปิดตัวสยามฯ โฉมใหม่ซะหน่อย อยากปิดถนนให้คนได้เดินเล่นกันวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีการแสดงเปิดหมวกเล็ก ๆ น้อย ๆ วันนั้นคนไม่เยอะนะ แต่แรงกระเพื่อมจริง ๆ คือมีเด็กเข้ามาถ่ายรูปโพสต์ลงไอจีว่าสยามฯ เป็นแบบนี้แล้ว เป็นจังหวะที่ SiamScape เสร็จแล้ว เปิดสวนดาดฟ้าด้วย คนเห็นก็เริ่มมากันเยอะขึ้น เป็นอิทธิพลของโซเชียลจริง ๆ ที่ช่วยเรา

58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป

15
Yes Indeed

“Yes Indeed เป็นวงที่มาเล่นกับเราตั้งแต่งานสวนหลวงสแควร์ เราอยากปลุกพื้นที่สวนหลวงสแควร์ที่ค่อนข้างเงียบให้มีชีวิตชีวิต ก็จัดตลาดนัด Flea Market ให้น้องๆ นิสิตจุฬาฯ มาขายของโดยไม่คิดค่าเช่า เราอยากหาวงดนตรีมาเล่น แต่ไม่มีเงินจ้าง Yes Indeed เป็นหนึ่งในวงที่ยินดีมาเล่น วันนั้นมีคนดูเขาไม่ถึง 10 คน พอมีงานวันเปิดสยามฯ เราก็ติดต่อเขาไป คราวนี้คนตามมาดูเขาเป็นร้อยเลย เพราะเขาไปเล่นมาหลายเวที สะสมฐานแฟนคลับมาเรื่อย ๆ

“ตอนนี้เขาไม่ได้เล่นแล้ว เพราะเราไม่อยากให้ใครเป็นเจ้าของเวที อยากให้หลาย ๆ คนมีโอกาสได้เล่น มีคนรอเล่นอยู่ 300 กว่าวง ถ้าเราเลือกแต่วงดัง ๆ อีก 200 กว่าวงที่เหลือ เมื่อไหร่จะได้เล่นล่ะ”

58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป

16
เราเป็นพื้นที่ให้วงดนตรีทุกประเภท

“ที่สยามฯ เรามีเวที 4 จุด แต่ละเวทีเล่นวันละ 3 วง เล่นสัปดาห์ละ 3 วัน เท่ากับเล่นได้สัปดาห์ละ 36 วง เรามีลิสต์วงที่สมัครมา 300 กว่าวง ได้เล่นไปแล้ว 50 กว่าวง ตั้งแต่เด็กน้อยมาเล่นขำ ๆ พ่อแม่มานั่งตบมือ ร้องผิด ๆ ถูก ๆ จนถึงมืออาชีพมาก ๆ ทุกวงเล่นฟรีหมด เราเตรียมไฟให้ แต่เขาต้องเอาอุปกรณ์มาเอง เราพยายามจัดโปรแกรมช่วยน้อง ๆ วงที่ยังไม่มั่นใจก็ให้เล่นก่อนช่วง 5 – 6 โมง คนยังไม่เยอะ จะได้ไม่ตื่นเวที ช่วงที่คนเยอะก็เอาวงที่มีประสบการณ์หน่อย พอศิลปินอาชีพเห็นว่าสยามฯ มีอะไรแบบนี้ เขาก็ขอมาแจม วงที่จะเล่นกันศิลปินก็ต้องเตี๊ยมกันก่อนซะหน่อย ป้องกันไม่ให้หน้าแหก”

58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป
58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา และตึกที่หน้าตาเปลี่ยนไป

17
ถ้าชมรมเพาะกายอยากมาโชว์ ก็ยินดีต้อนรับ

ผมไม่ได้มองว่าประสบความสำเร็จแล้ว คนติดแล้วก็จัดต่อไปเรื่อย ๆ ผมเฉย ๆ กับการจัดกิจกรรมที่ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ คาดเดาได้ โอเคมันอาจจะการันตีว่า ถ้าคุณมา คุณจะเอนจอยกับสิ่งนี้ แต่มันต้องหลากหลายกว่านั้น เพราะมีอีกหลายคนที่อยากแสดงออก แต่เขาไม่ถนัดเล่นดนตรี เขาอยากเต้น เล่นมายากล มีชมรมเพาะกายในจุฬาฯ ติดต่อมาขอโชว์ ถ้าคุณรู้สึกว่าวงการเพาะกายของคุณยังแคบอยู่ แล้วพื้นที่ของผมช่วยคุณได้ คุณกล้ามาถอดเสื้อโชว์ที่นี่ก็มา ผมยินดีต้อนรับ สิ่งที่ผมคาดหวังคือความหลากหลายและการเปิดโอกาสให้หลาย ๆ กิจกรรม”

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ เล่าประวัติศาสตร์สยามสแควร์ จากตึกแถวสู่ย่านวัยรุ่น การปิดถนนให้คนเดิน และทำไมถึงไม่เก็บสกาล่า

18
ถ้าจัดการดี ๆ มันจะนำมาซึ่งกิจกรรมที่ให้คุณค่ามากกว่าเงิน

“พอเราปิดถนนแล้วคนมาเยอะ ก็มีออแกไนเซอร์ติดต่อมาว่า คิดค่าเช่ายังไง มีพื้นที่ไหนบ้าง ตอนนี้ผมพยายามทำให้คนเห็นว่า ถ้าคุณมีพื้นที่กลางแจ้งในเมือง โดยเฉพาะพื้นที่พาณิชย์ คุณไม่จำเป็นต้องทำให้มันเป็น Commercial แบบฮาร์ดคอร์ก็ได้ แบบปล่อยเช่าเก็บเงินอย่างเดียว แต่ถ้าจัดการดี ๆ มันจะนำมาซึ่งกิจกรรมที่ให้คุณค่ามากกว่าเงิน นั่นคือสิ่งที่ทีมผมพยายามคิดทุกสัปดาห์ 

“ถ้าคุณอยากเช่าก็มาได้ แต่ต้องคุยกันก่อนว่าจะมาทำอะไร ไม่ใช่มาเปิดตัวน้ำ แล้วมีขวดม็อกอัปอันเบ้อเริ่มมาตั้งกลางถนน หรือมีโลโก้ใหญ่ ๆ มาแปะ ผมไม่เอา คุณทำธีมให้ทั้งสยามฯ กลายเป็นน้ำได้ไหม ทำให้คนพูดถึงอีเวนต์ที่คุณจัดไม่ใช่แบรนด์ของคุณ แต่เมื่อคนเข้ามาในพื้นที่แล้วเขาจะนึกถึงอย่างอื่นไม่ได้นอกจากแบรนด์คุณ คุณมีกึ๋นพอไหม มันเป็นงานที่เหนื่อยหลายต่อมากนะ แต่ผมว่าคุ้ม”

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ เล่าประวัติศาสตร์สยามสแควร์ จากตึกแถวสู่ย่านวัยรุ่น การปิดถนนให้คนเดิน และทำไมถึงไม่เก็บสกาล่า

19
เราหวังว่าจะได้ปิดถนนในสยามฯ ทุกวันเร็ว ๆ นี้

“พอมี Walking Street ทุกทิศก็เป็นหน้าบ้านหมด ตอนนี้คนมองว่าฝั่งอังรีดูนังต์เป็นหลังบ้าน ซึ่งจะไม่ใช่แล้ว ทุกส่วนสำคัญ และมีบทบาทที่ไม่เหมือนกัน SiamScape เป็นตัวเริ่มต้นฝั่งพญาไท สยามกิตติ์เป็นตัวปิดที่สง่างามก่อนที่จะจากพื้นที่ไป สยามกิตติ์กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาตึกด้านนอก เสริมพื้นที่การค้าด้านใน แล้วก็มีการสร้างโรงแรมแบบฮิป ๆ ด้านบนที่ตอบโจทย์คนที่อยู่ในพื้นที่ย่านเรา

“เราหวังว่าจะได้ปิดถนนในสยามทุกวันเร็ว ๆ นี้ โจทย์ใหญ่คงกลับมาที่ทีมผม คงไม่ใช่การปิดเพื่อเดินเล่น เพราะเราเลยจุดนั้นมาแล้ว คำถามใหญ่คือ ถ้าเราปิดถนนอีก 4 วัน คุณจะทำอะไรกับมัน เราพยายามจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคน และความเข้าใจในการใช้พื้นที่ ไม่งั้นเราก็จะอวยแต่ต่างประเทศตลอดเวลา สิงคโปร์ดีจัง ญี่ปุ่นดีจัง เมืองไทยแย่ เราหวังว่าสยามฯ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

20
ผู้เช่าในอนาคตต้องพัฒนาไปด้วยกันกับเรา

“ผู้เช่าสยามฯ ในอนาคตต้องพัฒนาไปด้วยกันกับเรา ต่อไปคงมีกติกาการใช้พื้นที่ในแต่ละซอย สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ไม่อยากบอกให้คุณออกไป แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงวัฏจักรของการค้า ของสังคม บางครั้งสิ่งที่คุณเป็นมันก็ไปต่อไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นเราก็จะเข้าไปคุย ไปหารือกัน เราจะหาทางช่วย 

“จุฬาฯ ไม่ได้ใจร้าย จุฬาฯ ไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดชี้ว่าคุณต้องออกไป ในการจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราต้องผ่านบอร์ด ผ่านกรรมการ ผ่านขั้นตอนมากมาย เราไม่ได้ชี้เป็นชี้ตายคนง่ายขนาดนั้น เราใจร้ายกับใครไม่ได้เลย เพราะเรามีตราพระเกี้ยวค้ำอยู่ข้างหลังเสมอ”

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ เล่าประวัติศาสตร์สยามสแควร์ จากตึกแถวสู่ย่านวัยรุ่น การปิดถนนให้คนเดิน และทำไมถึงไม่เก็บสกาล่า

21
คำพูดหล่อ ๆ มันจับต้องไม่ได้

“ถ้าพูดแบบหล่อ ๆ สยามฯ คือพื้นที่แห่งโอกาส แต่คำพูดหล่อ ๆ มันจับต้องไม่ได้ สยามฯ คือพื้นที่ Commercial Public ที่เราอยากให้เป็นตัวแทนการใช้พื้นที่สาธารณะเชิงพาณิชย์ที่ชี้นำสังคมในบ้านเรา ไม่ต้องยัดเยียด Commercial แบบฮาร์ดเซลล์ก็ได้ มันควรมีอิสรภาพให้คนที่เข้ามา ไม่เสียเงินซื้อของ คุณก็มาเจอคนที่ใช่ก็ได้

“จุฬาฯ ถูกมองว่ารวย หน้าเลือด เราอยากจะตอบกลับด้วยการทำพื้นที่แบบนี้ นี่ไงพื้นที่ Commercial ที่ฉันไม่ Commercial อะไรทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าต้องตอบแทนสังคมด้วยการทำสวนเสมอไป ที่ที่ฉันให้ทำมาหากินนี่แหละ ที่จะให้โอกาสเด็กๆ มาใช้ ให้คนมาใช้ แล้วไม่คิดเงิน แล้วก็ไม่ใช่ CSR เราไม่ต้องการประชาสัมพันธ์ ไม่มีวาระแอบแฝง แล้วจุฬาฯ ได้อะไรจากสิ่งนี้ เราฉลาดขึ้น เราเรียนรู้จากน้องที่เข้ามาใช้พื้นที่ คนที่มาใช้พื้นที่ เราเปิดพื้นที่ คนมาแสดงออก เราจะเห็นเทรนด์ตลอดเวลา แล้วจะค่อย ๆ พัฒนาตัวเองขึ้น”

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ