การจัดการขยะควรเป็นอีกหนึ่งทักษะชีวิตที่ควรเสริมสร้างแก่กัน

โจทย์ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติในขณะนี้ คือการรับมือและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจคือองค์ประกอบหลักที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสมดุลของระบบนิเวศทั่วโลก รัฐบาลไปจนถึงภาคเอกชนก็ประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืนพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้น้ำหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งจะนำไปสู่บริบทใหม่ของโลกธุรกิจ

ไม่ทำไม่ได้

ศูนย์การค้าคือสถานที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้คนในเมืองใหญ่ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การบริโภคที่เกิดขึ้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างขยะสารพัดประเภท ยิ่งเป็นกรุงเทพมหานครที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนติดอันดับโลกด้วยแล้ว เรื่องการจัดการขยะถือเป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาและออกแรงลงมือทำอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

The Cloud มีโอกาสคุยกับ คุณนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด องค์กรค้าปลีกที่ทำธุรกิจมากกว่า 6 ทศวรรษ เพื่อคุยกันเรื่องวิธีคิดในการจัดการขยะและการส่งต่อคุณค่าสู่ผู้บริโภค สยามพิวรรธน์ยังตั้งใจสร้างประสบการณ์ที่ดีแบบ 360 องศาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเป็นเพื่อน เป็นพวกเดียวกันกับลูกค้า ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม

อ่านความคิดและคุณค่าของขยะได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษนี้

คุณนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด องค์กรค้าปลีกที่ทำธุรกิจมากกว่า 6 ทศวรรษ

การจัดการขยะแบบ 360 องศาของสยามพิวรรธน์เป็นอย่างไร 

เราพูดเรื่องขยะกันเยอะมาก การทำแบบ 360 องศาคือต้องทำให้ครบทุกกระบวนการ ถ้าทำไม่ครบมันจะไม่จบ เราเริ่มคิดกันว่าจะจัดเก็บขยะให้ถูกต้องได้อย่างไรบ้าง เริ่มต้นจากการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะก่อน เพราะมั่นใจว่าถ้าคนมีความรู้ที่ถูกต้อง จะมีพฤติกรรมที่ถูกต้องตามมา จากนั้นก็สนับสนุนสถานที่ เพื่อส่งเสริมให้การจัดเก็บและคัดแยกขยะถูกต้อง พอต้นทางที่เราเริ่มทำถูกต้อง กลางทางเราก็ไปทำต่อว่าคนที่เก็บขยะแล้วทิ้งบ้าง เก็บไปขายหรือทิ้งฝังกลบบ้าง เราจะร่วมสร้างคุณค่าได้อย่างไร นอกจากนี้ก็ไปคุยกับผู้ผลิตต้นทางด้วยเพื่อให้เข้าใจกันทั้งหมดขยะที่เราคัดแยกมาแต่ละประเภท สามารถส่งเข้ากระบวนการใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะหรืออัพไซคลิ่ง (Upcycling)

ทีนี้จะมีขยะที่ไม่สามารถเอากลับไปรีไซเคิลได้ เราเรียกว่าขยะกำพร้า เราก็ยังบริหารจัดการด้วยโดยดูว่าจะเอาไปทำเป็นขยะเชื้อเพลิงต่อได้หรือเปล่า คือทำแบบครบวงจรเลย เรามีอีโคโทเปียที่เป็นชุมชนของคนรักษ์โลก ทำศูนย์การค้าของเราให้กลายเป็นที่นัดพบของคนรักษ์โลกด้วยกัน มีพฤติกรรมคล้ายกันเช่น คนที่ชอบใช้บรรจุภัณฑ์แบบเติม ใช้หมดแล้วก็เอาขวดมาเติมได้ในพื้นที่ของเรา

ขยะมันมีเส้นทางของมัน ไม่ว่าจะอยู่ตรงเส้นทางไหนเราก็มีส่วนร่วมได้ เราช่วยกันลดขยะได้ ไม่ต้องซื้อขยะเพิ่ม เลือกของที่มีของเสียน้อยลง ลดการใช้งานของที่นำไปรีไซเคิลไม่ได้ ทำให้ทุกคนเห็นภาพของตัวเองในแต่ละขั้นตอนของวงจร เราทำตรงไหนได้ก็ทำตรงนั้นเลย และหากจำเป็นต้องสร้างขยะ เราจะสร้างอย่างไรให้มีผลต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เช่น เลือกวัสดุที่ย่อยสลายได้ ใช้ปริมาณลดลง เป็นต้น

ขยะที่เกิดขึ้นในศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์มีเยอะแค่ไหน

ขยะวันหนึ่งก็มีมากค่ะ สยามพิวรรธน์แบ่งขยะเป็น 2 – 3 ประเภท ประเภทแรกคือขยะที่เกิดจากตัวเราเอง จากร้านค้าต่าง ๆ หรือพนักงานเป็นผู้ผลิตขยะ ส่วนนี้เราควบคุมได้มากที่สุดคือเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกคนต้องคัดแยกขยะ จากนั้นก็เอามาบริหารจัดการต่อ ส่วนที่สองคือลูกค้าที่มาใช้บริการ อันนี้คุมไม่ง่ายเพราะว่ามีคนมาใช้บริการที่เราวันละหลายแสนคน คนที่เข้ามาก็มีพฤติกรรมแตกต่างกัน ทั้งคนไทยและต่างประเทศ ส่วนนี้จะเป็นปริมาณหลักที่เกิดในศูนย์การค้าวันละ 30 – 40 ตัน เราก็บริหารจัดการโดยคัดแยกขยะได้ถึง 8 ชนิด เราร่วมกับสถาบันพลาสติกและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานวิจัยการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ภายในงานวิจัยก็มีโจทย์ย่อยลงไปอีกว่า การไม่แยกขยะเกิดจากอะไร พนักงานเราที่มีหน้าที่ในการคัดแยกขยะ เขามีทัศนคติต่อเรื่องนี้ ก็ไปสัมภาษณ์กันตลอดทั้งกระบวนการ ไปจนถึงซาเล้งและคนรับซื้อขยะเลย เพื่อให้งานวิจัยได้ข้อมูลที่ชัดเจนและครอบคลุม นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข พฤติกรรมของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับขยะ ตอนนี้ขยะได้แยกทิ้งอย่างถูกต้องมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เริ่มต้นจากต้นแบบ ‘สยามพิวรรธน์’ องค์กรที่เปลี่ยนขยะให้มีคุณค่าเพื่อโลกที่น่าอยู่

จูงใจลูกค้าเรื่องการคัดแยกขยะอย่างไร

ชื่อ ‘สยามพิวรรธน์’ แปลว่าการพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จากการทำวิจัยของเรา จะเห็นได้ว่าเมื่อมีความรู้ที่ถูกต้อง เห็นว่าเรานำขยะไปบริหารจัดการอย่างจริงจัง พฤติกรรมก็เปลี่ยน เราปรับเปลี่ยนไปตามผู้บริโภคเสมอ คิดว่าต้องเป็นเพื่อนที่ดีของผู้บริโภค เป็นพวกเดียวกันกับพวกเขา คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ใกล้ชิดดิจิทัล ชอบเรื่องแอปพลิเคชันและเงินดิจิทัล เราก็มีทำ ONESIAM SuperApp แล้วแจก VIZ Coins สำหรับคนที่รักษ์โลก ถ้าคัดแยกขยะเองที่บ้านแล้วเอามาทิ้งที่เราผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง เรามีบริการจุดคัดแยกขยะแบบ Drive Thru สามารถมาร่วมกิจกรรมโดยการนำขยะมาแลกเป็น VIZ Coins ที่จะคำนวณตามมูลค่าตลาดของขยะแต่ละประเภท มันทำให้พวกเขาสนุกและมีส่วนร่วม จนนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม ที่บอกว่าจะเป็นองค์กรขยะเป็นศูนย์คือ เราจะไม่ทิ้งขยะที่เป็นภาระกลับเข้าไปในระบบและสิ่งแวดล้อม จัดเก็บถูกต้องและนำกลับมาใช้อย่างถูกวิธี เป็นศูนย์ของเราคือ ไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำร้ายโลกอีกต่อไป ขยะที่เป็นประโยชน์ก็นำเข้ากระบวนการ ขยะที่ไม่เป็นประโยชน์ก็เอาไปทำเชื้อเพลิง

Recycle Collection Center คืออะไร ตั้งอยู่ตรงจุดใด

เราเริ่มจากการที่คนบ่นว่า ทำไมต้องแยกขยะ แยกแล้วปลายทางก็เอาไปรวมกันอยู่ดี บางคนก็ไม่มีที่ให้ทิ้ง เราก็จัดจุดบริการให้ ซึ่งสังเกตเห็นได้ง่าย ขนใส่รถมาหรือนั่งรถไฟฟ้าถือคนละถุงสองถุงก็เอามาได้ เรามี 2 จุดหลัก ๆ ที่สยามพารากอนซึ่งมีลูกค้ามาใช้บริการเยอะ จุดแรกคือจุดจอดรถทัวร์ตรงด้านหลังห้าง อยู่หน้าโรงเรียนวัดปทุมวนาราม เป็นจุดใหญ่ จอดรถได้ มีพนักงานคอยช่วยเหลือ อีกจุดคือทางออกจากสยามพารากอนไปถนนอังรีดูนังต์ เราทำไว้ให้เด่นชัด สีสันสดใส และให้ความรู้เรื่องการแยกขยะออกเป็น 8 ประเภท จากนั้นพนักงานเราก็จะคัดแยกขยะให้และส่งต่อเข้ากระบวนการต่อไป นอกจากนี้เราก็มีโครงการกับทั้งโรงเรียน วัด และชุมชนโดยรอบด้วย

ดูเหมือนทักษะการจัดการขยะควรเป็นทักษะชีวิต

ใช่ค่ะ พอพูดถึงขยะ เราก็จะคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องทิ้ง ทั้งที่เราเอามาบริหารจัดการได้หลายขั้นตอนมาก เริ่มจากการลดการใช้ก่อน ทำให้เกิดขยะน้อย การลดการใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว เปลี่ยนเป็นใช้พลาสติกซ้ำเอากลับมาใช้ใหม่ได้ พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว ใช้ถุงผ้า ใช้ถุงรียูสมากขึ้น มันเริ่มต้นได้ที่ตัวเราเอง ต่อมาคือการเลือก เลือกของที่เอามารียูสได้ จริง ๆ พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย หลายอย่างเราต้องใช้พลาสติก เพียงแต่ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และไม่เป็นภาระต่อสำหรับคนที่เขาคัดแยกและจัดการในกระบวนการถัดไป

คุณนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด องค์กรค้าปลีกที่ทำธุรกิจมากกว่า 6 ทศวรรษ
เริ่มต้นจากต้นแบบ ‘สยามพิวรรธน์’ องค์กรที่เปลี่ยนขยะให้มีคุณค่าเพื่อโลกที่น่าอยู่

ร่วมมือกับภาคส่วนอื่นนอกองค์กรอย่างไรบ้าง

เราร่วมมือกับทั้งสถาบันพลาสติก จุฬาฯ และเอกชนอีกหลายแห่ง ให้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยน การบริหารจัดการขยะโดยการคัดแยกอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้าอย่าง ยูนิลีเวอร์ คาโออินดัสเตรียล เต็ดตรา แพ้ค หรือกลุ่ม ปตท. ที่มาตั้งจุดรับขยะกับเรา 

ธุรกิจเราเป็นสถานที่ที่มีคนเข้ามาเยอะ ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในวงกว้างได้มาก ลูกค้าก็จะเห็นว่าเราทำจริงนะ ไม่ใช่ทำผิวเผินแล้วเลิก เดี๋ยวนี้ลูกค้าเขารู้จริง เก่งกว่าเรา เราก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำจริง ตั้งใจจริง นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รับการยอมรับ เรายินดีจับมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ให้มาดูงานว่าเราคัดแยกและจัดการขยะอย่างไรบ้าง อยากจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ก็ทำด้วยกันได้ เราไม่ใช่แค่สถานที่ขายของ แต่เป็นที่ที่ให้ความรู้กับคนที่เดินเข้ามาด้วย เราไม่ได้ทำแต่เรื่องค้าขาย สยามพิวรรธน์อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมคนส่วนใหญ่ในสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร

เรามีกลยุทธ์ในการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี (ESG) มาตลอด เราเป็นคนแรก ๆ ที่ทำเรื่องนี้ สิ่งที่เรายึดมั่นคือความอยู่รอดของธุรกิจต้องคำนึงถึง 3P คือ ผลประกอบการที่ดีขององค์กร (Profit) การทำธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Planet) รวมทั้งการพัฒนาผู้คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราสู่ความยั่งยืน (People) เรายึดมั่นเรื่องคุณค่าที่แชร์ร่วมกันในการบริหารจัดการ ปลูกฝังเข้าไปในทุกกระบวนการของการทำธุรกิจ มีความร่วมมือกับทุกส่วนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำกันแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะ เรามีพื้นที่อีโคโทเปีย (Ecotopia) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รวมคนรักษ์โลกให้มาเจอกัน มีกิจกรรมทั้งการรีไซเคิล (Recycle) และอัพไซคลิ่ง (Upcycling) ใครอยากหาของขวัญเก๋ ๆ ไอเดียไม่เหมือนใคร แถมยังดีต่อสิ่งแวดล้อม ก็ต้องมาหาที่นี่ 

ถ้าเราพูดถึงคุณค่าของธุรกิจนี้คืออะไร จะมองแต่ผลกำไรมันไม่เพียงพอ สิ่งที่เราได้คือการทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น คนของเราเข้าใจเรื่องนี้กันมากขึ้น เรามีทั้งของแต่งบ้าน ของใช้ อาหารคุณภาพดี สินค้าออร์แกนิกที่เบียดเบียนโลกน้อยที่สุด กระทั่งสินค้าแบบเติมอย่างสบู่ แชมพู ก็ช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์ หรือที่ไอคอนสยามเราก็มีไอคอนคราฟต์ เป็นการดูแลสังคมให้ชุนชนมีหน้าบ้านในการนำเสนอสินค้า เจอของดี ๆ ที่ไม่ถนัดขายในห้างค้าปลีก เราก็เอามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แล้วเอามาวางขายที่ร้าน เป็นสิ่งที่เราภูมิใจว่าเราได้สนับสนุนคนไทยจริง ๆ

คิดอย่างไรเวลาคนบอกว่าของประเภทรักษ์โลกราคาแพง 

เราต้องเทียบให้ถูกต้องค่ะ อย่างขวดพลาสติก 1 ขวด เรามองเป็นภาระ ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ทราบหรือไม่ว่าแก้วที่ท่านใช้ ขั้นตอนการผลิต มูลค่ามันมหาศาลกว่าพลาสติกมาก หลาย ๆ อย่างที่ผลิตไม่ถูกต้อง จริง ๆ ราคามันสูงกว่าอีก ต้องบอกว่าคุณค่าของการอยู่บนโลกใบนี้มันต้องทำ ต้องลงทุน เหมือนสุขภาพ ถ้าเราไม่ลงทุนเราก็จะมีสุขภาพที่ดีได้ยาก มันไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ แต่ก็ไม่ได้ยากขนาดที่คุณทำไม่ได้ ในอนาคตการทำของแบบนี้อาจแพงกว่านี้อีกถ้าเราดูแลโลกไม่ดีพอ เช่น ค่าไฟฟ้าอาจจะแพงกว่านี้ก็ได้ วันนี้เราจึงต้องช่วยกัน ลงทุนในวันนี้เพื่อวันข้างหน้า

ได้อะไรจากการผลักดันเรื่องนี้

เราคิดว่าสยามพิวรรธน์เป็นต้นแบบให้คนอื่นได้ สิ่งที่เราทำ ทำเพื่อลูกหลานในอนาคต โลกเราร้อนมากขึ้นทุกวัน ดังนั้น เราเองก็ต้องคิดว่าจะมีส่วนในการดูแลโลกให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าเรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน เราเริ่มทำจากภายในองค์กร พนักงานกลับไปที่ครอบครัวก็ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมครอบครัวของเขา ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในพื้นที่ของเราได้รับความรู้ มีแรงบันดาลใจที่จะกลับไปช่วยกัน เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของเราทุกคน

เริ่มต้นจากต้นแบบ ‘สยามพิวรรธน์’ องค์กรที่เปลี่ยนขยะให้มีคุณค่าเพื่อโลกที่น่าอยู่
‘สยามพิวรรธน์’ ผู้พัฒนากับการเป็นองค์กรต้นแบบสร้างองค์ความรู้และเครือข่ายการบริหารจัดการขยะเพื่อโลกที่สวยงามขึ้น

Questions answered by COO of Siam Piwat

1. ปกติตื่นนอนกี่โมง

ตื่นเช้าค่ะ ตี 5 ครึ่งก็ตื่นแล้ว

2. ชอบดื่มชาหรือกาแฟ

กาแฟค่ะ ขอเป็นกาแฟดำนะคะ

3 ยังใช้แก้วพลาสติกอยู่หรือเปล่า

ไม่ใช้แก้วพลาสติกแล้วค่ะ จะใช้แก้วตัวเองตลอด

4. ปกติชอบไปเที่ยวทะเลหรือภูเขา

  ทะเลค่ะ มีโอโซน และคิดว่าไม่ต้องไปทำร้ายใคร

5. พกถุงผ้าไหม

  พกค่ะ ในกระเป๋ามีถุงผ้า 2 ใบ เอามาเผื่อเพื่อนด้วย พกแบบนี้ตลอดเวลา เพราะว่าบางคนจะลืม เรื่องถุงผ้านี่ต้องบอกว่าที่ผ่านมา บริษัทห้างร้านหลายแห่งแจกกันเยอะมาก คือถุงผ้าหนึ่งใบถ้าจะใช้ให้คุ้ม อย่างน้อยต้อง 500 ครั้ง ถึงจะคุ้มค่ากับพลังงานที่ผลิตขึ้นมา เพราะมันต้องใช้วัสดุ กระบวนการทอเส้นใยผ้า การเย็บ และพลังงานในการผลิต ใช้ให้คุ้มเถอะค่ะ ใช้ยิ่งเก่ายิ่งดี แสดงว่าผ่านการใช้งานมาเยอะ เราจะทำการบริจาคถุงผ้า เชื่อว่าแต่ละคนมีถุงผ้าเยอะมาก กลับไปดูที่บ้านอาจมีคนละหลายสิบถุง เราเอาพวกนี้มาบริจาคแล้วเอาไปแจกจ่ายกันดีมั้ย จะได้ไม่สร้างภาระให้โลก เป็นการแบ่งปันคนอื่นด้วย

6. ชอบไปห้างไหน 

ไปสยามพารากอน เพราะมาทำงานที่นี่ทุกวัน เราชอบร้านอาหาร เดินแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นคนทำอาหารและทานเก่งด้วยค่ะ (หัวเราะ)

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน