3 พฤศจิกายน 2022
2 K

อายุบวร! ผู้อ่านทุกท่าน 

คอลัมน์ The Embassy ฉบับนี้มีเรื่องพิเศษ 2 อย่าง 

ข้อแรก เรื่องนี้ส่งตรงจากใจกลางกรุงโคลัมโบ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของศรีลังกา หลังจากห่างหายการเล่าเรื่องสถานทูตไทยในต่างแดนไปนาน สถานเอกอัครราชทูตไทยในศรีลังกาได้พาชาวก้อนเมฆ มาเยือนไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย 

ข้อสอง แทนที่จะเล่าเรื่องสถานเอกอัครราชทูตหรือทำเนียบเอกอัครราชทูตตามขนบที่เคยเขียนมา เราพามาเปิด ‘สยามนิวาส’ บ้านแห่งวัฒนธรรมของชาวไทย ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงที่ทำการสถานทูตไทยหลังเก่า ฟื้นชีวิตบ้านโมเดิร์นเขตร้อนมาใช้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

ท่านทูตพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ให้เกียรติพาชมบ้านหลังนี้ พร้อมเจาะลึกเรื่องราวของประเทศศรีลังกา เกาะในเอเชียใต้ที่อยู่ใกล้อินเดียและมัลดีฟส์

ก่อนหน้าพาทัวร์บ้าน ขอเริ่มด้วยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสักเล็กน้อย

สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ

Buddhist Diplomacy

คนไทยได้ยินชื่อศรีลังกา เป็นอันต้องนึกถึงศาสนาพุทธเป็นอันดับแรก ๆ ประชากรกว่า 70% ของประเทศนี้นับถือศาสนาพุทธนิการเถรวาทเหมือนคนไทย นักท่องเที่ยวไทยนิยมเดินทางมาไหว้พระธาตุเขี้ยวแก้วที่วัดพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ และคนศรีลังกาก็ชอบเที่ยวเมืองไทยตลอดมา

เรื่องราวความเกี่ยวข้องระหว่างสองประเทศนี้ผ่านศาสนาเป็นอย่างไร เราสรุปข้อมูลจากหนังสือ ‘กัลยาณมิตร’ โดย ฐากูร พานิช อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคลัมโบ มาสั้น ๆ ดังนี้ 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและศรีลังกามีเอกลักษณ์ที่ยากจะหาประเทศไหนมาเทียบเคียง ไทยและศรีลังกาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 1955 แต่ก่อนหน้านั้น ไทยได้รับเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาจากศรีลังกา เกิดเป็นนิกายลังกาวงศ์ในเมืองไทยเมื่อ 700 กว่าปีก่อน โดยพระราหุล พระสงฆ์ชาวลังกาได้จาริกจากพุกาม มาตั้งลังกาวงศ์ที่นครศรีธรรมราช 

หลังจากนั้นสองดินแดนก็มีสัมพันธ์ทางศาสนาต่อกันโดยตลอด เช่น การอาราธนาพระสงฆ์จากลังกามาเยือนสยาม การส่งสงฆ์จากหัวเมืองต่าง ๆ ไปบวชแปลงที่ศรีลังกา การรับพุทธศิลปะและปฏิมากรรมแบบศรีลังกามาปรับใช้กับท้องถิ่น การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากลังกามาประดิษฐานในสยาม รวมถึงการศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ จากลังกา 

ซิมอง เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตหนึ่งในคณะราชทูตฝรั่งเศสจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 บันทึกไว้ว่า ชาวสยามเชื่อว่าเมืองฝางหรือเมืองฟัน มีพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ 

ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาในศรีลังกาเสื่อมถอยลง ทั้งด้วยปัจจัยทางการเมือง การรุกรานจากภายนอก และการตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของชาติยุโรปที่เผยแผ่คริสต์ศาสนา พระเจ้าศรีวิชัยราชสิงห์ ทรงมีพระราชหฤทัยตั้งมั่นในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมา พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ ก็เช่นกัน ทั้งสองรัชกาลได้ทรงแต่งตั้งคณะทูตมาขอพระสงฆ์จากพระเจ้ากรุงสยาม ไปอุปสมบทพระที่ศรีลังกา ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา หรือช่วงประมาณ 270 ปีที่แล้ว 

สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ
สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ
ชาวศรีลังกามาร่วมกิจกรรมแสดงดนตรีและหุ่นกระบอกไทย ที่จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลา วัดศรีปรมานันทะราชมหาวิหาร

การเดินทางโดยเรือสมัยนั้นยาวนานและอันตรายมาก คณะสงฆ์นำโดยพระอุบาลีเถระ ต้องเดินทางจากสยามด้วยเรือของชาวดัตช์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเสากระโดงหัก เรือไปเกยตื้นที่นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2 ต้องเดินทางเกินกว่า 5 เดือนกว่าจะถึงจุดหมายที่เมืองแคนดี้ 

คณะสงฆ์สยามชุดพระอุบาลีเถระได้บรรพชาอุปสมบทชาวลังกาเป็นพระภิกษุ 600 รูป เป็นสามเณร 3,000 รูป เกิดเป็นคณะสงฆ์นิกาย ‘สยามวงศ์’ หรือ ‘สยามนิกาย’ ที่สืบทอดมาถึงทุกวันนี้ และมีวัดศรีลังกาภายใต้สยามวงศ์ถึง 5,500 แห่ง 

ในยุครัตนโกสินทร์ มีการส่งสมณทูตไปศรีลังกาอีก 4 ครั้ง เหตุการณ์สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงรู้จักคุ้นเคยกับพระลังกาตั้งแต่สมัยพระองค์ทรงผนวชอยู่ จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์สั่งเครื่องพิมพ์จากอังกฤษ ส่งให้สงฆ์ลังกาพิมพ์หนังสือ ลังกาโลกา เป็นภาษาสิงหล ออกเผยแพร่เรื่องพุทธศาสนา และปัจจุบันเครื่องพิมพ์นี้ยังเก็บรักษาไว้อย่างดี

แม้ไม่ใช่ประเทศที่มีพรมแดนติดกัน แต่ชาวไทยที่เดินทางไปศรีลังกาต่างก็รู้สึกคุ้นเคย ไม่แปลกแยกแตกต่างนัก เพราะมีวัฒนธรรมศาสนาใกล้เคียงกัน Buddhist Diplomacy ดำเนินมากว่า 700 ปี และจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างแข็งแรง 

การกระชับความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมสาขาอื่น ๆ และการดูแลความสัมพันธ์ระดับประชาชนก็สำคัญเช่นกัน โดยสถานทูตไทยได้ปักหมุดหมายใหม่ ณ สยามนิวาส อดีตที่ทำการสถานทูตไทย 

สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ
สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ

จากคลินิกหมอทมิฬ สู่ที่ทำการสถานทูตไทย

เอกสารที่สถานทูตไทยในศรีลังกาเก็บไว้ ระบุว่าเดิมพื้นที่สยามนิวาสเป็นของ Frederick Charles Loos เศรษฐีนักกฎหมายชาวเบอร์เกอร์ (ชาวศรีลังกาเชื้อสายยุโรป) ซึ่งเรียกที่ดินแปลงหัวมุมถนนนี้เรียกว่า Peak View ต่อมาเมื่อเสียชีวิตลง ลูกหลานได้แบ่งที่ดินแปลงใหญ่ออกเป็น 6 แปลงย่อย โดย Dr. L.G. Arumugum แพทย์หญิงชาวทมิฬศรีลังกาได้ครอบครองที่ดินผืนนี้ โดยปลูกบ้านในราวปลายยุค 50 ถึงต้นยุค 60 และเปิดเป็นคลินิกรักษาคนไข้หลากหลายเชื้อชาติ 

บ้านหลังใหญ่ขนาด 2 ชั้น มี 9 ห้องด้านบน และห้องโถงใหญ่ตรงกลาง ด้านล่างมี 7 ห้อง หน้าตาละม้ายบ้านโมเดิร์นในสุขุมวิทหรือย่านอารีย์-สะพานควาย ยุค 60 – 70 หลังคาลาด เป็นบ้านเขตร้อนชื้นที่ออกแบบให้ลมผ่านบางส่วน ไม่ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 

สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ
สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ
สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ

ที่ดินเปลี่ยนมือเจ้าของ เมื่อสงครามกลางเมืองระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬทวีความรุนแรงขึ้น ชาวสิงหลต้องการขับไล่ชาวทมิฬซึ่งเดิมมาจากอินเดียตอนใต้ออกไป มีการก่อจลาจลเผาทำลายทรัพย์สินของคนทมิฬ บ้านหลังนี้ก็เคยเป็นเป้าหมาย แต่รอดพ้นมาได้เพราะบรรดาเพื่อนบ้านและคนไข้ชาวสิงหลของคุณหมอได้ช่วยห้ามไว้ 

ในที่สุด คุณหมอซึ่งเป็นแพทย์ประจำคนไทยในกรุงโคลัมโบมานาน จึงตัดสินใจย้ายบ้าน และรีบติดต่อขายบ้านหลังนี้ให้รัฐบาลไทยในปี 1984 สำหรับใช้เป็นที่ทำการสถานทูต โดยเธอและลูกสาวอพยพไปออสเตรเลีย

รัฐบาลไทยรับซื้อและที่ดินขนาด 159 ตารางวา ด้วยงบประมาณที่เหลือจากการซื้อสถานทูตไทยในสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี ด้วยสนนราคา 6 ล้านรูปีศรีลังกา หรือราว ๆ เกือบ 6 ล้านบาทไทย ตามค่าแลกเปลี่ยนเงินตราในยุคนั้น (1 รูปี = 1.09 บาท ในปี 1984, 1 รูปี = 10 สตางค์ ในปี 2022) 

เมื่อได้บ้านหลังนี้มา กระทรวงการต่างประเทศก็ปรับปรุงเป็นที่ทำการสถานทูตไทย ด้านล่างเป็นที่ทำวีซ่า ด้านบนเป็นออฟฟิศ โดยไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างเดิมของบ้าน ทำเลที่ตั้งนับว่างดงามลงตัวมาก อยู่บนถนน Dr. C.W.W. Kannangara Mawatha ตรงข้ามสวนสาธารณะใหญ่ เยื้อง ๆ กับ Town Hall หรือศาลาเทศบาลเมืองโคลัมโบพอดิบพอดี ทั้งยังรายล้อมด้วยอาคารสำนักงานสำคัญ ๆ ของทั้งรัฐบาลและเอกชน 

เวลาผ่านไปสิบกว่าปี เกิดเหตุระเบิดจากความไม่สงบบริเวณศาลาเทศบาล เพื่อความปลอดภัย สถานทูตไทยจึงย้ายที่ทำการออกจากอาคารในปี 2001 บ้านหลังนี้จึงปิดไว้ ไม่ได้ใช้งานนับแต่นั้น

ตัดภาพมาปี 2022 ย่านนี้ไร้เหตุก่อการร้าย มิหนำซ้ำนอกจากเป็นแหล่งราชการ ถนนเส้นนี้ยกระดับเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ก็กำลังจะเปิดใกล้ ๆ ถ้าให้เปรียบเทียบทำเลกับกรุงเทพฯ อาจบอกได้ว่าเป็นทำเลทองเสมือนเส้นถนนวิทยุ 

ท่านทูตพจน์และชาวนักการทูตไทยในศรีลังกา เห็นพ้องตรงกันว่าอาคารเก่าสมบัติของชาติไทยนี้มีคุณค่า ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งทรุดโทรมเสียหาย จึงตัดสินใจซ่อมแซมและใช้งานบ้านหลังนี้อีกครั้ง 

สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ

“เราจัดการทำความสะอาดครั้งใหญ่ รื้อจุดที่เสียหาย ทาสี ติดไฟใหม่ ทำห้องน้ำใหม่ ติดเสาธงไทยอีกครั้ง แล้วพบว่าโครงสร้างบ้านแข็งแรงดีมาก ระบบท่อน้ำทิ้ง ท่อปฏิกูลที่เชื่อมต่อไปถนนเป็นเหล็กหล่ออย่างดี ใช้งานได้ดีถึงทุกวันนี้ ข้างในกลายเป็นดินปุ๋ยหมัก 21 ปี ที่เราเอามาปลูกต้นไม้ที่รอบบ้านนี้ต่อได้ เราทำใหม่แค่ระบบน้ำดีและระบบไฟฟ้าเท่านั้น” อาทิตย์ ประสาทกุล อัครราชทูตที่ปรึกษา ผู้ร่วมดูแลการรีโนเวตบ้าน อธิบายอย่างละเอียด

“วิศวกรที่มาประเมินตึกบอกว่าผนังหนา 1 ฟุต ไม่มีรอยร้าวที่ไหนเลย เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุค 50 – 60 ใจกลางเมืองที่สภาพดี เขาบอกว่าอาคารแบบนี้ในโคลัมโบก็น้อยลงไปเรื่อย ๆ แล้วนะ ซึ่งผมว่าก็ไม่ใช่แค่ในโคลัมโบหรอก บ้านแบบนี้ในไทยก็หายไปเยอะมาก ๆ แล้วเหมือนกัน

“ครั้นจะย้ายกลับมาเป็นออฟฟิศคงต้องใช้เงินมหาศาล วิธีที่ง่าย เร็ว และคุ้มค่าที่สุด คือใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมของสถานทูตไทย และรวมไปถึงชาวอาเซียนด้วยนะ พวกเราทุกคนที่สถานทูตเชื่อว่าถ้าเราทำสเปซให้ดี เดี๋ยวกิจกรรมก็ตามมาเอง” 

สยามนิวาส

ท่านทูตพจน์ หาญพล เป็นผู้ตั้งชื่อ สยามนิวาส หรือ Siam Nivasa ในภาษาสิงหล

“คำว่า สยาม เป็นที่รู้จักในศรีลังกาอยู่แล้วว่าหมายถึงเมืองไทย ส่วนคำว่า Nivasa ก็คือนิวาสหรือบ้าน ชื่อสยามนิวาสจึงหมายถึง House of Siam

“เราอยู่ในที่ศูนย์กลางของเมือง อยากให้ใครผ่านไปผ่านมาได้รู้ว่ามีความเป็นไทยอยู่ตรงนี้ เนื่องจากบ้านปิดไปนาน เราก็อยากเอาชีพจรไปใส่ในบ้านให้เคลื่อนไหวตลอดเวลา จัดกิจกรรมต่อเนื่อง ไม่ใช่ปล่อยไว้นิ่งเฉย ๆ อย่างงานเปิดตัวบ้านด้วยการแสดงหุ่นกระบอก ทูตอาเซียนมาทุกคน แล้วชอบกันมาก เป็นกิจกรรมที่ดี ต่อไปก็จะมีกิจกรรมหลากหลายอีกเรื่อย ๆ ”

สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ
สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ
สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ
สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ

ภายในงานเปิดตัวสยามนิวาส มีการแสดงหุ่นกระบอกและเวิร์กชอปทำหุ่นกระบอกเล็ก ๆ ของตัวเองโดยบ้านตุ๊กกะตุ่นหุ่นกระบอกไทย นำโดย นิเวศ แววสมณะ และคณะ ทำให้เด็ก ๆ ลูกครึ่งไทย-ศรีลังกาสนุกกันมาก การแสดงดนตรีเครื่องสายของนักดนตรี ณัฐพันธุ์ นุชอำพันธุ์ และ กมล บูรณกุล เสียงขิมผสานไวโอลินบรรเลงดนตรีไทยอ่อนหวาน ผสานด้วยซอของท่านทูตพจน์ที่รื้อฟื้นทักษะตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย มาร่วมแจมให้บรรยากาศบ้านสดชื่นมีชีวิตชีวา เป็นกันเอง 

และยิ่งมีขนมไทยอร่อย ๆ และเวิร์กชอปทำขนมไทยจากวัตถุดิบศรีลังกาของ พาฝัน ศุภวานิช Culinary Artist เจ้าของหวานนวล คิทเช่น สตูดิโอ การมาเยือนสยามนิวาสยิ่งสนุกสนาน เอร็ดอร่อย น่าจดจำและมาเยือนซ้ำอีกครั้ง 

สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ
สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ

โดยปกติ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงวัฒนธรรมส่งออกการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปประเทศต่าง ๆ อยู่แล้ว คณะบ้านตุ๊กกะตุ่นหุ่นกระบอกไทยเคยไปจัดการแสดงในหลายประเทศ ซึ่งมักจัดในพื้นที่ของเจ้าบ้านประเทศนั้น ๆ การมาเยือนศรีลังกาครั้งนี้ ได้จัดทัวร์แสดงในเมืองต่าง ๆ ทั้งศาลากลางโคลัมโบ โรงแรม โรงเรียน ศูนย์การค้า ตลอดจนวัดศรีปรมานันทะราชมหาวิหาร แต่การแสดงในสยามนิวาส เป็นครั้งแรกที่คณะศิลปินไทยได้แสดงผลงานใน Cultural Center ไทยในต่างแดน 

เอกอัครราชทูตอธิบายว่าประเทศไทยมีมูลนิธิไทย (Thailand Foundation) ที่ดูแลการถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยมานาน แต่ไม่ได้มีการลงทุนสร้างศูนย์เผยแพร่วัฒนธรรมในประเทศต่าง ๆ แบบที่ประเทศมหาอำนาจทำกัน เหมือนที่จีนมีสถาบันขงจื่อ ญี่ปุ่นมี Japan Foundation เยอรมนีมี Goethe-Institut ฝรั่งเศสมี Alliance Francaise หรืออังกฤษมี British Council 

ท่านทูตพจน์หยิบภาพถ่ายเก่าของสยามนิวาสมาให้ดู

“ตอนนี้หน้าบ้านมีต้นไม้ใหญ่ แต่ดูภาพนี้สิ แต่ก่อนมันต้นเล็กนิดเดียวเท่านั้น มันเล่าเรื่องอดีตที่ผ่านมาของที่ทำการสถานทูตไทย และตอนนี้เรากำลังจะมีศูนย์วัฒนธรรมไทยของเราเอง เป็นการเริ่มต้นแบบเล็ก ๆ เรียบง่าย ใช้อาคารที่มีอยู่เดิม ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณน้อยที่สุด”

สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ
สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ

การใช้งานสยามนิวาสในอนาคต ในฐานะ Cultural Center มีได้หลากหลาย เช่น ใช้บ้านจัดงานวันชาติแทนที่จะไปเช่าโรงแรม ใช้เป็นที่ชุมนุมของคนไทยในโคลัมโบ หรือชุมนุมนักเรียนศรีลังกาในไทย เปิดเป็นตลาดให้คนมาขายของ ใช้จัดกิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมไทย จัดเวิร์กชอป จัดสอนภาษาไทยให้เด็ก ๆ ลูกหลานคนไทยในศรีลังกา หรือสอนนักธุรกิจที่ทำงานติดต่อกับเมืองไทย 

ผนังบ้านหลายห้องก็ใช้จัดนิทรรศการหมุนเวียนได้ ที่สำคัญคือกำลังจะมีโครงการ Artist in Residence เชิญศิลปินจากไทยมาพำนักและทำงานศิลปะที่นี่ หรือเปิดให้อาสาสมัครส่งโครงการที่น่าสนใจสำหรับคนไทยและคนศรีลังกาเข้ามา แลกกับการได้ที่พักฟรี รวมถึงอาจจะมีห้องพักสำหรับคนไทยตกทุกข์ได้ยากให้มาพักชั่วคราว ใคร ๆ ที่มาใช้งานจะได้รู้สึกดี รู้สึกใกล้ชิดกับประเทศไทย

ท่านทูตพจน์ตอกย้ำความสำคัญของบ้านหลังนี้ 

“ศรีลังกากำลังประสบความลำบากหลายอย่าง แต่ทางการที่นี่ก็ให้เกียรติคณะทูตมาตลอด ยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องตอบแทนความปรารถนาดีที่มีต่อเรา เป็นเพื่อนกันก็ไม่ควรทอดทิ้ง บ้านที่แสดงความเป็นไทยจะเปิดต้อนรับ ให้เกิดความสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชน ว่าเราเป็นกัลยาณมิตรกันมาตลอด ตั้งแต่หยั่งรากที่นี่ และไม่เคยทิ้งไปไหน” 

สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ

คุยกับทูต

ปิดท้ายเรื่องนี้ด้วยบทสนทนากับเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคลัมโบ เพื่อทำความเข้าใจศรีลังกาให้มากขึ้น และอาจทำให้เราอยากไปเยือนกรุงลงกา อาณาจักรของทศกัณฐ์ที่มีอยู่จริง เพื่อพิสูจน์ว่าดินแดนแห่งชาซีลอนนี้น่าสนใจเหมือนที่ท่านทูตพูดจริงไหม

สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ

ท่านทูตดื่มชาซีลอนวันละกี่แก้ว

ไม่เยอะ เพราะชาเขาเข้มมาก คนไทยเรานิยมดื่มชาแบบจีน คือดื่มเปล่า ๆ หลังอาหาร แต่ที่นี่เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษ รับวัฒนธรรมทั้งอังกฤษและอินเดียด้วย เขาชงชาซีลอนแบบเข้มข้น แล้วใส่นม ใส่น้ำตาล บางทีมีใส่มาซาล่าด้วย ดื่มให้พลังงานเป็นอาหารเช้า 

จริง ๆ ศรีลังกาเคยปลูกกาแฟด้วยนะ แต่ในอดีตเกิดโรคพืชก็เลยหายไป กลายเป็นปลูกชาเป็นหลัก เหลือกาแฟไม่มากและเป็นของเอกชน อย่างร้าน The Cricket Club Café ข้างทำเนียบทูต เจ้าของเป็นสามีภรรยาชาวออสเตรเลีย เขามีไร่กาแฟบนภูเขา ได้คุยกันตอนตัดกิ่งต้นไม้ริมทำเนียบ ทางเราตกแต่งไม่ให้ไปรุกล้ำบ้านเขา แล้วเขาก็เอากาแฟมาให้ ซึ่งเป็นเรื่องดีมากที่เราผูกสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เพราะหลังจากนั้นที่มีวิกฤตหน้าบ้าน ก็คุยกันตลอด

‘วิกฤติหน้าบ้าน’ คืออะไร

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ศรีลังกาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะนำเข้าน้ำมัน น้ำมันจึงขาดแคลนอย่างหนักและแพงมาก คนต้องมาเข้าคิวเติมน้ำมัน แล้วปั๊มน้ำมันหนึ่งอยู่ใกล้ทำเนียบ (ราว ๆ 200 เมตร) คนก็เอารถมาต่อแถวยาวเป็นกิโลเมตร คิวยาวปิดหน้าบ้าน ซึ่งจริง ๆ เขาจอดรถไม่ได้ แต่ที่สุดแล้วก็คงไม่ไหว เราก็เข้าใจว่าเขาเดือดร้อน ขอความร่วมมือแค่ว่าให้เว้นทางเข้า-ออกให้หน่อย ไม่อยากให้เกิดความไม่พอใจกัน 

ช่วงที่หนักหนาที่สุด คิวเติมน้ำมันคือ 24 ชั่วโมง คนเอารถมาจอดไว้ กลับบ้านไป แล้วขี่จักรยานกลับมาขยับคิวเรื่อย ๆ ซึ่งช่วงนั้นมีคนเป็นลมเสียชีวิต กลายเป็นข่าวดังไปทั่วว่าคนศรีลังการอคิวน้ำมันจนตาย 

ข่าวศรีลังกาที่คนไทยได้เห็นในปีนี้ดูน่ากลัวทีเดียว ท่านทูตช่วยอธิบายได้ไหมว่า เกิดอะไรขึ้นกับศรีลังกา

ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจศรีลังการุมเร้า เข้า IMF มาแล้ว 16 ครั้ง เกิดจากการบริหารบ้านเมืองที่ผิดพลาดมาหลายปี งบขาดดุล ทั้งจากนโยบายลดภาษีเอาใจประชาชน การพึ่งพาการนำเข้า การไม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ และก่อนหน้านี้มีนโยบายงดการนำเข้าปุ๋ยเคมีแบบรวดเร็วเกินไป ผลผลิตชา ข้าว พืชพันธุ์ต่าง ๆ ก็ลดลงทันที เกษตรกรก็ขาดทุนเดือดร้อน ยิ่งมีโควิดต่อด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน รายได้การท่องเที่ยวก็หดลง เงินตราต่างประเทศที่เข้าถึงคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 4 ล้านคนก็หายไป 

ประชาชนก็เริ่มไม่พอใจและเริ่มประท้วง จากที่ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายปลายปี 2019 แล้วก็พาลไม่พอใจตระกูลราชปักษาที่ครองอำนาจการเมืองมาตลอด และดำเนินโครงการอย่างการสร้างสนามบินที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน หรือท่าเรือที่ลงเอยเป็นกรรมสิทธิ์ประเทศจีน 99 ปี คนศรีลังการู้สึกว่าตระกูลราชปักษาร่ำรวยขึ้นมาก ได้ผลประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว ขณะที่คนส่วนใหญ่ลำบาก 

กลายเป็นมีกลุ่มเรียกร้องให้ประธานาธิบดีแก้ปัญหา ถ้าแก้ไม่ได้ก็ให้ออกจากตำแหน่งไป มีคำกล่าวว่า ‘Gota go home’ โกตาหมายถึงประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา ซึ่งสุดท้ายก็ลาออก และปัจจุบันก็มีรัฐบาลชุดใหม่ ความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้น แต่ปัญหาเศรษฐกิจยังคงอยู่ 

ถ้าเราไปตลาด ดูเผิน ๆ เห็นการซื้อขายของปกติ แต่ในความเป็นจริง อัตราเงินเฟ้อในช่วงปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นแทบร้อยเปอร์เซ็นต์ ข้าวของแพงขึ้น แต่เงินเดือนไม่ได้ขึ้นตาม และมีการเก็บภาษีมากขึ้น ถึงศรีลังกามีความอุดมสมบูรณ์ แต่คนไม่มีเงินซื้ออาหาร คนทำงานรายวันได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง จากประชากรทั้งหมด 22 ล้านคน มี 3 ล้านคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน (Poverty Line) รัฐบาลปัจจุบันต้องจัดสรรงบประมาณใหม่ ระงับงบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นเงินกู้ มาช่วยเหลือประชาชนที่ทุกข์ยากเปราะบางที่สุดก่อน ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจน่าจะยังคงมีอีกพักใหญ่ ตอนนี้หลาย ๆ ประเทศและหน่วยงานก็เข้ามาช่วยแล้ว 

สยามนิวาส : ฟื้นอดีตอาคารสถานทูตไทยในศรีลังกา เป็น Cultural Center กลางกรุงโคลัมโบ

ประเทศไทยช่วยอะไรศรีลังกาบ้าง

เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขศรีลังกาติดต่อมาว่าเขาขาดแคลนยาจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเขารู้ว่าประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตยา ในฐานะที่เราเป็นประเทศขนาดกลาง นี่ก็เป็นสิ่งที่เราช่วยได้ และองค์กรพุทธศาสนาในไทยก็ร่วมบริจาคเงินและข้าวสารอาหารให้คนที่ลำบาก ซึ่งเราก็แบ่งให้คนทุกศาสนา ไม่ใช่แค่คนพุทธ 

นอกจากเป็นพุทธเถรวาทเหมือนกัน ไทยกับศรีลังกามีอะไรคล้ายกันอีกบ้าง

การต้อนรับขับสู้ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยิ้มแย้มแจ่มใส คนศรีลังกาเป็นคนนุ่มนวล ใจดี มีน้ำใจ มีสัมมาคารวะ แล้วก็เป็นคนง่าย ๆ ไม่เป็นไรเหมือนคนไทย วัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างเขาไม่ได้ถูกกลืนไปโดยชาวต่างชาติ ขนาดเคยตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ เขาก็ยังถอดรองเท้าในบ้าน ชีวิตในบ้านแบบเอเชีย คล้าย ๆ คนไทย

สิ่งที่ท่านทูตชอบในโคลัมโบคืออะไร

ต้นไม้เขียวดี สิ่งหนึ่งที่อาจดีกว่าบ้านเราคือเขาดูแลต้นไม้ใหญ่ได้ดีมาก ชอบปลูกต้นไม้ตามบ้านตามถนนหนทาง คนชอบสวนป่ามากกว่าสวนตกแต่ง ที่นี่ร้อนชื้น แต่ไม่ร้อนหัวแตกเพราะมีต้นไม้ร่มรื่นทุกที่ เป็นเมืองหลวงเขตร้อนที่เขียวครึ้ม ถ้าไปดูสวนของบาวา (Lunuganga สวนของ เจฟฟรีย์ บาวา สถาปนิกดังของศรีลังกา) จะเห็นการออกแบบพื้นที่สีเขียวของศรีลังกา ออกไปนอกเมืองจะเห็นว่าธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก ถนนหนทางอาจยังไม่ดีมากนัก แต่เขายังไม่สูญเสียสิ่งแวดล้อมไป และคนศรีลังกาก็ตระหนักว่าเขามีทรัพยากรธรรมชาติรุ่มรวย 

อีกอย่างที่ชอบคือมีความสบายใจในการเดินท้องถนน ไม่มีคนล้วงกระเป๋า ฉกชิงวิ่งราว คนไม่น่ากลัวหรือท่าทีคุกคาม ค่อนข้างปลอดภัย และสุดท้ายคือมีสินค้าพื้นเมืองมากมาย ราคาน่าสนใจมาก มีส่าหรี โสร่ง เสื้อผ้าลินิน งานคราฟต์ต่าง ๆ ตอนนี้ศรีลังกามาเที่ยวได้แล้ว คนไทยก็น่ามาทำความรู้จักศรีลังกาให้มากขึ้น

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล