The Cloud x Designer of the Year

แม้ว่าคำเพียงไม่กี่คำจะอธิบายตัวตน การทำงาน หรือชีวิตของคนหนึ่งได้ไม่ครบถ้วน แต่ถ้อยคำที่ตกตะกอนในความคิดของเราจากการสนทนากับ สยาม อัตตะริยะ นักออกแบบกราฟิกชื่อดังและรุ่นใหญ่ของวงการ มีทั้ง ลูกบ้า ความคลั่ง อารมณ์ขัน และเต็มไปด้วยเซอร์ไพรส์

สยาม อัตตะริยะ กราฟิกดีไซเนอร์อันดับที่ 69 ของโลกชาวไทยผู้คิดงานออกแบบด้วยอารมณ์ขัน

ถามว่าชื่อของสยามโลดแล่นในวงการออกแบบไทยมานานแค่ไหน เขาเคยทำงานกับบริษัทออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์สัญชาติไทยระดับตำนานอย่าง Propaganda (ถ้าคุณยังจำเด็กยืนฉี่ที่มีโคมไฟสวมหัวอย่าง Mr.P ได้) ก่อนจะออกมาทำงานในฐานะ Design Director ร่วมกับ วิเชียร โต๋ว ที่บริษัท Pink Blue Black & Orange มาจนถึงวันนี้

นอกจากร่วมก่อตั้งและอยู่ฉากหลังของ สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (ThaiGa) ตั้งแต่ปี 2546 เขายังถูกจัดอันดับให้เป็น Graphic Designer อันดับที่ 69 ของโลก ในกลุ่ม Graphic Design ที่จัดโดย A’ Design Award and Competition ซึ่งถือเป็นงานประกวดรางวัลออกแบบที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก 

สยาม อัตตะริยะ กราฟิกดีไซเนอร์อันดับที่ 69 ของโลกชาวไทยผู้คิดงานออกแบบด้วยอารมณ์ขัน

และเขาก็ยังเป็นนักออกแบบไทย 2 คนแรก (อีกคนคือ มิญชญา ชโยสัมฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง The Archivist) ที่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มนักออกแบบระดับโลกอย่าง Alliance Graphique Internationale (AGI) ตามคำชักชวนจาก Kenya Hara นักออกแบบชั้นนำและอาร์ตไดเรกเตอร์แห่ง MUJI นอกจากนี้ ยังเพิ่งได้รับรางวัล Designer of the Year 2019 ในสาขา Graphic Design อีกด้วย

แต่ชายที่นั่งอยู่ตรงหน้าเรากลับสารภาพว่าสมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ เขาอยากลาออกทุกวัน ด้วยความที่เขาไม่ได้เรียนสายออกแบบโดยตรง แต่จบการศึกษาจากสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านยุควาดเลย์เอาต์ด้วยมือ ฝึกใช้คอมพิวเตอร์เอง มาจนถึงปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย

สยามย้ำว่า แม้ตอนนี้เขาก็ไม่เก่งอยู่วันยังค่ำ

มวยวัดกับความหมกมุ่น

“ช่วงทำงานสามปีแรกเราอยากลาออกทุกวัน เพราะเครียดมาก คิดว่าทำงานไม่ได้” สยามเล่าให้ฟังถึงชีวิตการทำงานที่แรก นั่นคือ Propaganda ซึ่งก่อตั้งโดย สาธิต กาลวันตวานิช, ปุณลาภ ปุณโณทก และวิเชียร โต๋ว

“แต่ความซวยคือช่วงสามปีแรกแม่งได้รางวัลโคตรเยอะ งานเราทำกันเป็นทีม แต่นักออกแบบได้เครดิตไง เราเลยรู้สึกว่าเราไม่สมควรได้รับสิ่งนี้ เราคิดมาตลอดว่าเราไม่เหมาะกับสิ่งที่ทุกคนยกย่องเชิดชู เพราะงานเรามันเป็นงานของทีม ช่วงนั้นเราทุกข์นะ”

จะด้วย ‘ความซวย’ ตามที่เขานิยาม หรือบรรยากาศการทำงานที่เต็มไปด้วยไฟฝัน ทุกคนอยากเก่งกันหมด ทำให้เขาหมกมุ่นกับการศึกษารายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนั่งเปิดหนังสือออกแบบดูกับเพื่อน ไปจนถึงทายชื่อฟอนต์และคนออกแบบ พอเริ่มจับแนวทางและพัฒนาฝีมือได้ไม่นาน ก็เข้าสู่ช่วงการมาถึงของคอมพิวเตอร์ที่ผลักให้เขาต้องฝึกทักษะใหม่ประหนึ่งการศึกษาภาคบังคับ สยามค้นพบว่าสิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา โดยเฉพาะความต้องการของลูกค้า

สยาม อัตตะริยะ กราฟิกดีไซเนอร์อันดับที่ 69 ของโลกชาวไทยผู้คิดงานออกแบบด้วยอารมณ์ขัน

หลังจากย้ายมาทำงานที่บริษัท Pink Blue Black & Orange เขาไม่เคยลาออกอีกเลย

“เราเรียนจบครูมา ทำออกมามั่วๆ งานมวยวัดมากๆ แต่เราก็ทำมัน เหมือนการปั่นจักรยาน ตอนแรกเราไม่รู้ว่าต้องปั่นยังไง วันหนึ่งเราก็ปั่นได้โดยไม่รู้ตัว”

แต่พอทำงานมาสักระยะ เขากลับพบว่าไม่มีใครพูดถึงงานของเขาอีกเลย นับตั้งแต่นั้นมาเขาจึงเปลี่ยนวิธีคิด หันมาทำงานที่แตกต่างไปจากงานอื่นๆ โดยถือคติว่า “ใครทำแบบไหน เราจะไม่ทำแบบนั้น”

“เราต้องหาจุดที่เหมือนกวักมือเรียกหรือสะกิดให้เขาใช้เวลากับเรามากขึ้นอีกนิด ถ้ามันมีค่าพอ เขาน่าจะชอบมัน ดีกว่านั้น เขาน่าจะจดจำ ถ้าเลยเถิดไปกว่านั้น เขาน่าจะแนะนำให้คนอื่นมาดูงานนี้ ที่เป็นเป้าหมายแบบอุดมคติเลยคือ เราโน้มน้าวใจให้เขาเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนพฤติกรรมได้ เช่น เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้ตัวเอง ให้คนอื่น ใส่ใจผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม พูดง่ายๆ ว่าอยากมีความสามารถในการเปลี่ยน Miindset คนด้ยการให้เขาได้สัมผัสงานเรา เราจึงยิ่งสนใจว่าจะทำยังไงให้คนมอง วิธีการเล่าเรื่องควรจะเป็นแบบไหน คนคาดหวังอะไร แล้วเราจะเซอร์ไพรส์เขาได้ยังไง”

สยาม อัตตะริยะ กราฟิกดีไซเนอร์อันดับที่ 69 ของโลกชาวไทยผู้คิดงานออกแบบด้วยอารมณ์ขัน
สยาม อัตตะริยะ กราฟิกดีไซเนอร์อันดับที่ 69 ของโลกชาวไทยผู้คิดงานออกแบบด้วยอารมณ์ขัน

ลูกบ้าของคนที่นิยามตัวเองว่า ‘โง่’

ผลงานของสยาม อัตตะริยะ และชาว Pink Blue Black & Orange เต็มไปด้วยความหลากหลาย เพราะไม่ได้จำกัดแค่งานออกแบบกราฟิก แต่ยังลงลึกไปถึงการออกแบบระบบ Visual Design ให้งานนิทรรศการ หนังสือแบบเรียน รายงานประจำปี หรือแม้แต่การออกแบบบริการให้ตอบโจทย์ธุรกิจของลูกค้า แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียดของแต่ละงานก็คือ ส่วนผสมของอารมณ์ขัน ความประหลาดใจ ไปจนถึงเหนือความคาดหมาย ที่สำคัญ กระบวนการทำงานของเขามักเริ่มต้นจากการตั้งคำถามเสมอ เช่น เป้าหมายของงานนี้คืออะไร งานนี้คุยกับใครบ้าง แล้วโยนไอเดียกับทีมงานจนลงตัว

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47

ถ้ายังจำกันได้ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 ซึ่งจัดขึ้นในคอนเซปต์ ‘รักคนอ่าน’ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่โปสเตอร์และสื่อประชาสัมพันธ์ของงานสัปดาห์หนังสือไม่ได้มีแบบเดียว แต่มีถึง 22 แบบ! ไอเดียบ้าพลังนี้มาจากการตั้งคำถามว่า “งานนี้คุยกับใคร” ตอนนั้นทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) อธิบายว่า มีหนังสือขายดีประมาณ 22 หมวดหลัก เขาจึงพูดติดตลกว่าจะทำภาพ Key Visual ออกมา 22 แบบ และกลับมาพร้อมกับรูป 22 แบบจริงๆ

“Key Visual คือการประชาสัมพันธ์ให้คนเห็น เข้าใจบุคลิกงาน พื้นที่ ข้อมูลต่างๆ แต่ถามว่ารูปรูปเดียวจะแทนคนอ่านทั้งหมดได้ไหม คนอ่านหนังสือเรียน คนอ่านนิยายวาย กับคนอ่านวรรณกรรม เขาไม่รู้สึกตอบสนองต่อภาพภาพเดียวได้เท่ากันหรอก เราเลยมองว่างานสัปดาห์หนังสือเป็นงานที่คนรักหนังสือมารวมตัวกัน เหมือนงานเทศกาลดนตรี ซึ่งเต็มไปด้วยวัฒนธรรมย่อย (Subculture) สำนักพิมพ์เป็นเหมือนลัทธิ ศาสดา ของเขาคือนักเขียน ทุกคนมีสาวก เราจะทำยังไงให้คนอ่านรู้สึกว่างานนี้เป็นงานของคนทุกกลุ่ม”

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47

“การมี Key Visual มากถึง 22 แบบ ทำให้พลังการสื่อสารลดลงไปไหม” เราถาม

เขาแย้งว่าวิธีคิดแบบนั้นไม่ต่างอะไรจากเมื่อ 30 – 40 ปีที่แล้ว

“เราเลยสร้างระบบขึ้นมาไง ถึงแม้แต่ละรูปไม่เหมือนกัน แต่องค์ประกอบ การเลือกใช้รูปแบบของตัวอักษร (Typeface) และสีสันต่างๆ นั้นเป็นระบบเดียวกัน ถ้ามองผ่านตาเขาจะเห็นทันทีว่านี่คืองานสัปดาห์หนังสือฯ แล้วถ้าตั้งใจมองให้ชัดขึ้นก็จะเห็นว่ารูปนี้คุยกับเขา เราต้องสื่อสารให้คนเขาเชื่อมโยงถึงสิ่งที่เราอยากพูด ด้วยบุคลิก อารมณ์ขัน และรายละเอียดบางอย่างในภาพ เราเลยรู้สึกว่าความสวยสำหรับเรามันไม่มีค่า”

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47

ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 เขายังอยู่เบื้องหลังการออกแบบนิทรรศการวิวัฒน์หนังสือไทย และสูจิบัตรงาน ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ

“เราว่าเราโง่นะ” เขาเอ่ยขึ้น ก่อนเล่าถึงเบื้องหลังของนิทรรศการดังกล่าว

นิทรรศการนี้ไม่มีฉากไม้แปะแผ่นอิงค์เจ็ต แต่เป็นหน้ากระดาษขนาดยักษ์ที่ซ้อนเรียงรายเป็นหนังสือ เปิดทางให้คนเดินเข้าไปอ่านเนื้อหาความเป็นมาของหนังสือในคลังของหอสมุดแห่งชาติ เรียกได้ว่าเป็นนิทรรศการที่ออกแบบประสบการณ์ได้น่าสนใจ

นิทรรศการวิวัฒน์หนังสือไทย
นิทรรศการวิวัฒน์หนังสือไทย

“ถ้าคนที่เคยทำมาก่อน เขาคงไม่ทำอะไรแบบนี้หรอก แม่งโง่อะ เหนื่อยฉิบหาย ทำไม่ทัน (หัวเราะ) แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่าเราไม่เคยเห็นใครทำแบบนี้ในสเกลนี้ ไม่ต้องมาทำผนังเฉียงๆ แบบที่คนอื่นชอบทำกันหรอก เราอยากให้คนเดินเข้าไปในหนังสือเหมือนเป็นหนอนหนังสือ แล้วทำความรู้จักกับหนังสือในคลังของหอสมุดแห่งชาติกัน”

นักออกแบบที่มองความสวยเป็นสิ่งไร้ค่า

เขาเล่าย้อนว่า สมัยเรียนจบใหม่ๆ เขานำงานที่ภาคภูมิใจใน ‘ความสวย’ ไปขายลูกค้า แต่เรื่องดันมาหักมุมตรงที่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ

“พวกนักออกแบบอย่างเราๆ จะกรี๊ดงานแบบนี้ แต่คนที่เขาจ่ายเงินให้เราไม่ได้สนใจ เขารู้สึกว่างานมันไม่ดี ตัวหนังสือมันเล็ก แล้วเราต้องแคร์ใคร เราไม่แคร์ดีไซเนอร์อยู่แล้ว ถูกไหม เพราะเขาไม่ได้ให้เงินเรา (หัวเราะ) เราก็ต้องแคร์ลูกค้า หลังจากนั้นเราก็เริ่มเรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ เช่น การตลาด ธุรกิจ ข่าวสาร การลงทุน เราก็ค่อยๆ เริ่มสนใจว่ารูปแบบงานของเขาเป็นยังไง ธุรกิจคู่แข่งคือใคร อุตสาหกรรมเขาทำงานกันแบบไหน”

ไม่ใช่แค่นั้น สยามยังมองว่าความสวยเป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล เขาจึงสนใจการสื่อสารที่เชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึกของคนมากกว่า

สยาม อัตตะริยะ กราฟิกดีไซเนอร์อันดับที่ 69 ของโลกชาวไทยผู้คิดงานออกแบบด้วยอารมณ์ขัน

“เราจะสื่อสารให้คนเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราต้องการได้อย่างไร มันก็ต้องไปเรื่องอารมณ์ความรู้สึก บุคลิกที่ลึกซึ้งมากขึ้น เรื่องที่จับใจ คน หรือการสร้างเซอร์ไพรส์บางอย่างที่คนมองแล้ว ‘เอ๊ะ’ หรือ ‘เฮ้ย’ ท้ายที่สุดแล้วมันต้องจับใจ เราต้องทำในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้

อย่างเดี๋ยวนี้มี Template ที่ออกแบบโลโก้ได้เป็นพันๆ รูป แค่พิมพ์คีย์เวิร์ดลงไป ถ้าลูกค้าแฮปปี้ที่จะใช้โลโก้แบบนั้น เราก็โอเค ฟรีด้วย ทำไมลูกค้าต้องจ่ายเงินเราเยอะๆ แล้วได้งานที่มีคุณภาพเทียบเท่ากันล่ะ”

สยามยืนกรานว่าถ้าตอบคำถามนี้กับลูกค้า หรือกระทั่งตอบตัวเองไม่ได้ ก็คงไม่กล้าคิดเงินแน่ๆ ในเมื่อลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น นักออกแบบจึงต้องคิดในสิ่งที่ลูกค้าหาจากที่อื่นไม่ได้ และรู้สึกว่าคุ้มค่าจริงๆ

สร้างคุณค่าผ่านอารมณ์ขัน สีสัน และเซอร์ไพรส์

เมื่อความสวยไม่มีค่า แล้วอะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเขา

อีกโปรเจกต์ที่สร้างเซอร์ไพรส์แก่ทั้งลูกค้าและคนที่มาชมงาน คือการออกแบบบูทธนาคารไทยพาณิชย์ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 ซึ่งจัดแสดงวันเดียวที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยงบจำกัดสำหรับการจัดงานวันเดียว บวกกับระยะเวลาที่กระชั้นชิด ทีมงานคาดว่าธนาคารอื่นๆ น่าจะนำบูทที่เคยจัดแสดงแล้วมาใช้ซ้ำ จึงเสนอทางเลือกที่ต่างไปเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

“เราชอบเล่นกับความคาดหวังของคน ชอบเซอร์ไพรส์ ดังนั้น เราจะคิดว่าลูกค้าคาดหวังอะไร ธนาคารอื่นๆ คิดยังไง คนที่มางานคาดหวังอะไร แล้วพยายามตอบแต่ละโจทย์ให้ได้ ตอนนั้นลูกค้าคิดว่างานวันเดียวจะไปลงทุนอะไรนักหนา แล้วแบบนี้มันยั่งยืนเหรอ ทำแค่วันเดียวก็รื้อทิ้งแล้ว โดยที่คุณคิดว่าใช้งบน้อยๆ ก็ได้ เราเลยบอกว่าคิดแบบนี้ได้ไหม เราทำให้มันเต็มที่ไปเลย ถ้าจะยั่งยืน ทำให้ดี แล้วใช้มันบ่อยๆ ซ้ำๆ เราจะไม่ยอมให้เสียของ 

“ซึ่งภายหลังลูกค้าเห็นด้วยและอนุมัติ เพราะเขาเป็นหน่วยงานที่พูดเรื่องความยั่งยืน มันตรงกับมายด์เซ็ต วิธีคิด และการทำธุรกิจของเขา ปรากฏว่าวันงานบูทแทบแตก เพราะทุกธนาคารก็ทำตามสเกลงานวันเดียว หลังจากนั้นเราก็ย้ายไปจัดแสดงที่ขอนแก่น ไปสำนักงานใหญ่ ใช้ 3 – 4 รอบ เทียบกันแล้วมันคุ้มค่านะ แทนที่เขาจะต้องไปเสียเงินทำบูทแล้วทิ้งไป กลายเป็นว่าวินวินกันทุกฝ่าย

สยาม อัตตะริยะ กราฟิกดีไซเนอร์อันดับที่ 69 ของโลกชาวไทยผู้คิดงานออกแบบด้วยอารมณ์ขัน

“ถามว่าความคลั่งระดับนี้จะไม่ส่งผลกระทบอะไรกับลูกค้าเลยเหรอ พอเขาเห็นว่าเราปรารถนาดีต่อเขา เราละเอียดรอบคอบและเต็มที่กับงานตลอด 2 สัปดาห์ มันไม่มีใครเชื่อด้วยซ้ำว่าเราจะทำได้ ทุกคนได้โจทย์เท่ากัน แต่ผลลัพธ์ออกมาต่างกันจริงๆ” สยามเล่าถึงเสียงตอบรับหลังจบงาน

พอกระแสตอบรับดีเกินคาด ปีนี้ลูกค้ากลับมาหาพวกเขาอีกครั้งพร้อมกับความกดดันหลายเท่า

“เราก็ทำให้เขาผิดหวังสิครับ” สยามหัวเราะ แล้วเฉลยว่าทีมงานตั้งใจออกแบบบูทปีนี้ให้เรียบง่าย เพราะรู้ดีว่าธนาคารอื่นๆ จะจัดเต็มแน่นอน บูท SCB จึงมีแค่หนังสือ 1 เล่ม วางบนขาตั้ง ด้านหลังเป็นฉากเรียบ โดยซ่อนระบบอินเทอร์แอ็กทีฟไว้อีกชั้น

“แวบแรกที่คนเดินผ่านเขาจะรู้สึกว่าไม่มีอะไร แล้วเราค่อยเซอร์ไพรส์ว่ามันมีอะไรตื่นเต้นในอีกสองสามสเต็ป พอเขาอ่านหนังสือแล้วจะมีไฟกะพริบ มีหนังขึ้นบนจอ เราคิดว่ามันดีกว่าคนเดินมาแล้วเห็นทันทีว่างานน่าตื่นเต้น นี่คือวิธีขุดหลุมพรางเอาไว้มันเหมือนการ์ตูนขายหัวเราะ เขาปูเรื่องมาแบบนี้ มันไม่มีทางจบแบบที่คุณคิดหรอก มันต้องถีบคุณไปอีกทางเลย นี่คือสิ่งที่จะบอกว่างานนี้ดีพอแล้วหรือยัง ถ้าดีพอ มันจะกระทบใจคน”

นอกจากงานออกแบบที่มีลูกค้าเป็นบริษัทเอกชน แม้แต่หนังสือเรียนสำหรับเด็กไทย สยามก็ไม่รีรอที่จะงัดเอาเซอร์ไพรส์กับอารมณ์ขันมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการออกแบบด้วย แม้ในวันที่ระบบการศึกษาไทยยังติดอยู่ในกรอบเดิมๆ

สยาม อัตตะริยะ กราฟิกดีไซเนอร์อันดับที่ 69 ของโลกชาวไทยผู้คิดงานออกแบบด้วยอารมณ์ขัน

สยามหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนเล่าถึงเบื้องหลังโครงการออกแบบระบบอัตลักษณ์ของหนังสือเรียนร่วมกับ สสวท. ที่ตั้งใจว่าอย่างน้อยจะทำให้เด็กมองหนังสือเปลี่ยนไปจาก ‘ของขม’ ให้น่าสนุกและเป็นมิตรมากขึ้น ไม่ว่าจะหยอดความสนุก ยกตัวอย่างโจทย์ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวกับชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่การออกแบบภาพประกอบก็ต้องเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย และเปิดช่องว่างให้เด็กได้จินตนาการเอง องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าถึงแต่ละก้าวจะขม แต่ปลายทางของการเรียนรู้มีผลลัพธ์ที่หอมหวานรออยู่

นอกจากนี้ ทีมงานยังจัดทำคู่มือเอกลักษณ์ของโครงการแบบเรียนนี้ เพื่อเป็นแนวทางให้นักออกแบบรับไม้ต่อไปทำงานได้ง่ายขึ้นและเป็นระบบ เช่น แนวทางของภาพ การออกแบบเลย์เอาต์ ชุดสีที่ใช้ในการออกแบบ แม้กระทั่งงานที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับอาชีพนักออกแบบกราฟฟิก สยามก็ลงมือไปจัดการ อย่างเช่นการติดต่อให้ผู้ออกแบบฟอนต์มาตรฐาน TH Saraban ปรับขนาดฟอนต์ภาษาไทยและอังกฤษให้ใกล้เคียงกัน และเพิ่มเติมเครื่องหมายคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ลงไปในฟอนต์เพื่อให้ผู้ออกแบบคนอื่นๆ ใช้ฟอนต์เดียวในการจัดวางรูปเล่มทั้งเนื้อหาและโจทย์สมการได้ด้วย ไปจนถึงการออกแบบฟอร์แมตหน้าโปรแกรมพิมพ์เอกสาร เพื่อให้ครูอาจารย์คนแต่งตำรา ได้เห็นหน้ากระดาษแบบเดียวกับคนวางเลย์เอาต์ เพื่อที่จะสื่อสารและทำความเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งจริงๆเป็นสิ่งที่สยามไม่ต้องทำก็ได้

ก็เพื่อให้งานมันราบรื่นขึ้น-เขาตอบ

“เราอยู่ในประเทศที่ทุกคนนั่งด่าเรื่องระบบการศึกษา แต่ถามว่าเราเรียนไปติวไปกันมาเยอะขนาดนี้แล้ว มันควรจะครองโลกไปแล้วอะ แต่เราก็ไม่ครองโลก แล้วเราก็ไม่มีความสุขด้วย เราก็เริ่มจากคำถามว่าเรียนไปทำไม แล้วค้นพบว่าเราไม่ได้เชื่อมั่นสิ่งที่เป็นอยู่ บ้านเมืองเราให้ความสำคัญกับรูปแบบ (Form) มากกว่ากระบวนการ (Process) 

เวลาเรียนคุณต้องเป็นเด็กดี คือเชื่อฟัง นั่งเงียบ ตั้งใจเรียน ซึ่งเราชอบเรียนนะ แต่เราไม่เคยเป็นเด็กดี เราจะถาม เราจะป่วน จนหลายๆ ครั้งเราต้องเลิกถาม เพราะว่าโดนดุ โดนตี เรารู้สึกว่าหนังสือมันควรจะท้าทาย…อย่างน้อยแค่ถามแล้ว ไม่ถูกมองว่าเป็นเด็กก้าวร้าวแบบที่ผู้ใหญ่เขามอง ไม่ใช่แค่หยิบหนังสือมาก็ขมปากแล้ว” สยามเล่าถึงคำถามที่เค้าตั้งไว้ตอนที่จะไปออกแบบหนังสือเรียน

หน้าที่ของนักออกแบบ

จากคำบอกเล่าถึงวิธีคิดและกระบวนการทำงานที่ต้องคอยเซอร์ไพรส์ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า หรือกระทั่งเข้าไปช่วยแบรนด์แก้ปัญหาบางอย่าง ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าหน้าที่ของนักออกแบบคืออะไรกันแน่

สำหรับคนที่ทำงานสายอาชีพนี้มาเกือบทั้งชีวิตอย่างสยามนั้น อาชีพนักออกแบบมีหน้าที่ทำให้ทุกอย่าง ‘ดีขึ้น’ หรือ ‘มีค่ามากขึ้น’ แน่นอนว่าดีขึ้นในแบบฉบับของเขาไม่ใช่เรื่อง ‘ความสวย’ แต่คือการทำสิ่งที่เหนือความคาดหมาย โดยเริ่มจากพยายามเข้าใจความคิดความคาดหวังของคนแต่ละกลุ่ม แล้วจึงเริ่มเล่นแร่แปรธาตุกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ไม่ว่าจะหยอกแกล้ง หรือทำให้ลูกค้าตกตะลึง โดยที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์และความเป็นแบรนด์ของลูกค้าเอาไว้

ทว่าปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน และเป็นรากฐานที่ทำให้ Pink Blue Black & Orange ยืนระยะมานานหลายสิบปี ก็คือ ความไว้วางใจที่คอยหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างลูกค้ากับบริษัท ส่วนหนึ่งเพราะทีมงานจะส่งมอบงานก็ต่อเมื่องานได้คุณภาพตามความต้องการและคุ้มค่าสำหรับลูกค้าแล้ว 

“เรามองว่าความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับบริษัทออกแบบก็เหมือนกับความสัมพันธ์ของเพื่อน คู่รัก ครอบครัว เราจำเป็นต้องเคารพซึ่งกันและกัน เราคิดมาโดยตลอดว่าเราไม่ใช่คนเก่ง และตอนนี้ก็ยังไม่เก่ง แต่เราคิดว่าเราเรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา 

“อย่างน้อยเรารู้ว่าอะไรดี อะไรห่วย เราต้องแก้ไขจนได้คุณภาพแล้วค่อยส่งมอบ ลูกค้าเขาอยากได้คนที่เป็นเหมือนที่ปรึกษาทางธุรกิจมากกว่า เราก็ต้องรู้เรื่องกลุ่มเป้าหมาย การตลาด หรือรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เราจึงค่อนข้างเป็นมิตรกับความล้มเหลว ถ้าเรารู้สึกว่าไอเดียไม่เวิร์กก็ต้องรื้อใหม่ คิดใหม่ ค่อยๆ เรียนรู้ไป เพียงแต่ว่าความล้มเหลวต้องไม่อยู่ในงานที่เอาไปให้ลูกค้า” สยามทิ้งท้าย

สยาม อัตตะริยะ กราฟิกดีไซเนอร์อันดับที่ 69 ของโลกชาวไทยผู้คิดงานออกแบบด้วยอารมณ์ขัน

pinkblueblack.com/

www.facebook.com/pinkblueblackorange/

Writer

Avatar

ปิยพร อรุณเกรียงไกร

Deadline Warrior ผู้รักๆ เลิกๆ กับงานประจำ ชอบสัมภาษณ์คน บางช่วงก็หนีไปทำพอดแคสต์ แต่ไม่ค่อยดัง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan