ธุรกิจ : SHOESHOUSE, UPCYDE
ประเภทธุรกิจ : โรงงานผลิตรองเท้าและสินค้าเครื่องหนังส่งออกต่างประเทศ, โรงงานผลิตหนังเทียมจากวัสดุธรรมชาติส่งออกต่างประเทศ
ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2504
อายุ : 61 ปี
ผู้ก่อตั้ง : ณัฐเวศ การุณงามพรรณ
ทายาทรุ่นสอง : เกรียงไกร การุณงามพรรณ
ทายาทรุ่นสาม : มาย การุณงามพรรณ
เราอ่านเรื่องราวของ SHOESHOUSE บนโพสต์สปอนเซอร์ในอินสตาแกรม
โพสต์นั้นเล่าถึงการรับจ้างผลิตของโรงงานแห่งนี้ ที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนเป็นอันดับแรก โดยพยายามแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าที่ในแต่ละปีสร้างขยะจำนวนมหาศาล
หลังจากติดต่อหา มาย การุณงามพรรณ ทางโทรศัพท์ ก็ได้รู้ว่าธุรกิจนี้เป็นผลงานของทายาทรุ่นสามโรงงานรับจ้างผลิตรองเท้า (Original Equipment Manufacturer : OEM) อายุกว่า 60 ปี ผลิตรองเท้าให้แบรนด์ต่างประเทศดัง ๆ หลายเจ้าอย่าง Birkenstock จากประเทศเยอรมนี ต่อยอดมาเป็นธุรกิจ OEM และ ODM (Original Design Manufacturer) ที่มีจุดเด่น 3 เรื่อง
หนึ่ง ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้ การออกแบบ หรือกระบวนการผลิต
สอง สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ ด้วยการรับผลิตขั้นต่ำในจำนวนน้อย ลูกค้าจะได้ไม่ต้องสั่งสินค้าเกินความจำเป็น เกิดเป็นขยะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
สาม มองภาพรวมของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) จนสามารถต่อยอดเป็นอีกธุรกิจ เกิดเป็น UPCYDE สตาร์ทอัพผลิตวัสดุหนังเทียมที่ทำจากวัตถุดิบทางการเกษตร

01
มายทำงานเป็นภูมิสถาปนิกตั้งแต่เรียนจบ เพราะสนใจเรื่องงานออกแบบ ประสบการณ์ของมนุษย์ และความยั่งยืน โดยตั้งใจว่าจะให้สิ่งที่ทำเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย
ทำงานได้สักพักจึงตัดสินใจมองกลับมาที่ธุรกิจครอบครัว

โรงงานรองเท้าของที่บ้านมีอายุเกือบ 60 ปีตอนมายเข้ามารับช่วงต่อ ก่อตั้งโดย อากงณัฐเวศ การุณงามพรรณ ช่างทำรองเท้าฝีมือดี มีจุดเด่นที่งานละเอียด พอเริ่มมีชื่อเสียงก็สร้างทีม มีลูกน้อง จนสุดท้ายเปิดโรงงานรับจ้างผลิตขึ้นมา โดยมีลูกค้าในเป็นแบรนด์ในประเทศทั้งหมด
อากงส่งไม้ต่อให้ คุณพ่อเกรียงไกร การุณงามพรรณ ผู้เริ่มพาโรงงานแห่งนี้ไปโชว์ตัวที่งานแฟร์ในต่างประเทศอย่างน้อย ๆ 2 เดือนครั้งติดต่อกันอยู่หลายปี จนเป็นที่รู้จักในหมู่ลูกค้าทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรป จากที่เคยผลิตให้แบรนด์ไทย ก็เปลี่ยนไปส่งออกให้ต่างชาติร้อยเปอร์เซ็นต์


02
มายเริ่มทำ SHOESHOUSE ในช่วงโควิด-19 เพราะต้องการช่วยธุรกิจครอบครัวอีกแรงหนึ่ง
โรคระบาดทำให้ไม่มีการเดินทางข้ามพรมแดน เศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการส่งออก ออเดอร์จากลูกค้าต่างประเทศลดลงจนกระทบการดำเนินงานของธุรกิจ
เธอใช้เงินก้อนเดียวของที่บ้านสร้างหน้าร้านขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้า และตั้งใจให้ธุรกิจใหม่นี้แก้โจทย์ 3 ข้อ
ข้อแรก เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าในประเทศ โดยเฉพาะแบรนด์ที่เพิ่งเริ่มต้นและมองหาผู้ผลิตที่จะโตไปพร้อมกับเขา การจะขยายไปเป็นแบรนด์ใหญ่ก็ต้องเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ ก่อน มายอยากสนับสนุนผู้ประกอบการหล่านี้ ลูกค้าหลายคนผลิตกับมายตั้งแต่จำนวนแค่ 50 คู่ จนปัจจุบันเป็นหลักหลายพัน
ข้อสอง เมื่อกลุ่มเป้าหมายคือผู้ประกอบการรายย่อย จำนวนขั้นต่ำในการผลิตจึงต้องลดลงไปด้วย จากโรงงานคุณพ่อเกรียงไกรที่เข้าข่ายการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ที่รับขั้นต่ำ 10,000 คู่ให้คุ้มค่ากับต้นทุนที่เสียไป SHOESHOUSE เริ่มต้นที่ 50 คู่เท่านั้น
การผลิตในจำนวนน้อยลงนำมาสู่โจทย์ข้อที่สาม
ปัญหาใหญ่ของการผลิตจำนวนมากคือ วัสดุที่เหลือทิ้งไม่ได้ใช้งานจนหมดอายุไข ทุกครั้งที่มีออเดอร์ลูกค้าต่อเนื่องทุกเดือน โรงงานต้องประมาณการและสั่งวัสดุเผื่อไว้ในกรณีที่ Supplier ส่งของไม่ตรงเวลา ทำให้เกิดเป็นขยะ
เมื่อผลิตจำนวนน้อยได้ แบรนด์เล็ก ๆ ก็ไม่ต้องเจอกับปัญหาจำนวนสินค้าเกินความจำเป็น
และนอกจากการผลิตที่เกินความต้องการแล้ว อีกปัญหาที่มายเห็นจากการทำงานของโรงงานคือ ทรัพยากรเหลือทิ้ง ลองนึกภาพแผ่นหนังหรือ PU ที่นำมาตัดแพตเทิร์น มักมีส่วนเหลือทิ้งที่ไม่ได้ใช้งาน เพราะการตัดด้วยเครื่องจักรไม่ละเอียดเท่าการตัดมือ ต้องเผื่อพื้นที่ เธอจึงนำความรู้ด้านการออกแบบมาช่วยลูกค้าแก้ปัญหาตรงนี้อีกทาง ขณะเดียวกันก็นำเสนอวัสดุ Deadstock จากโรงงานที่บ้านให้เป็นทางเลือกให้ลูกค้า ซึ่งเขานำไปสื่อสารเรื่องความยั่งยืนกับลูกค้าของตัวเองได้อีกที

03
หนังแท้ใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 20 ปี
ส่วนหนัง PU ใช้เวลานานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบ
การขยับตัวของ SHOESHOUSE ทำให้คู่ค้าเริ่มเห็นแนวทางยั่งยืนของตัวเอง โรงงานผลิตหนังที่คุ้นเคยกันดีมาหลายสิบปี ช่วยหาวิธีนำวัสดุเหลือใช้มาเข้ากระบวนการแปรรูปเป็นสิ่งใหม่ แทนที่จะเอาหนังไปเผาหรือฝังกลบ ก็นำมาเปลี่ยนเป็นแผ่นหนังอีกรูปแบบหนึ่งแล้วนำกลับมาใช้ผลิตรองเท้าต่อ นอกจากจะได้วัสดุที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำลายทิ้งด้วยเช่นกัน

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทายาทรุ่นสามคนนี้ต้องทำงานหนักเพื่อแสดงฝีมือให้คนรุ่นก่อนเห็น ว่าสิ่งที่คิดเป็นเรื่องจริง
“ตอนแรกไม่มีใครที่บ้านเห็นด้วยเลย เขาไม่เชื่อว่ามีกลุ่มลูกค้ารายย่อยอยู่ จึงไม่ยอมรับเพราะการผลิตจำนวนน้อยไม่คุ้มกับทรัพยากรและแรงงานที่เสียไป เพราะในการผลิตครั้งหนึ่ง เราต้องทำเกินไว้เผื่อเกิดความผิดพลาดด้วย
“วิธีผลิตจำนวนหมื่นคู่กับ 50 คู่ก็ไม่เหมือนกัน หมื่นคู่เข้าข่ายการผลิตแบบ Mass Production ดังนั้นเขาจะแยกคนทำงาน แต่ละคนทำแต่ละส่วนของตัวเอง คนทำส้นทำส้นไป คนเย็บพื้นก็ทำพื้นไป แยกกันเป็นส่วน ๆ พอผลิตในสเกลเล็กลง เราจึงฝึกให้รองเท้าหนึ่งคู่จบงานได้ด้วยคนคนเดียว
“คุณพ่อมองว่า คนที่เราดึงมาทำ เขาผลิตให้โรงงานเดิมได้ไม่รู้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายเขาก็เริ่มเห็น จากที่เราเข้าไปหาตลาด ไม่ว่าจะในกรุ๊ปที่หาคนผลิต หรือแม้กระทั่งนำโปรดักต์เราไปขายที่โรงงานผลิตวัสดุ ถ้าใครสนใจก็รับนามบัตรไป”
ไม่ใช่แค่ทายาทรุ่นก่อนที่ไม่เข้าใจ พนักงานรุ่นก่อนก็ไม่ยังเห็นภาพ
“ไม่มีใครชอบการเปลี่ยนแปลง จากที่เขาเคยทำหน้าที่เดียว เคยชินกับวิธีแบบนั้น ช่วงแรกท้อมาก ต้องพยายามทำให้เขาเห็นว่าเราหวังดีกับธุรกิจ ให้เข้าใจว่าทำไมบริษัทและพนักงานต้องปรับตัวไปด้วยกัน เราพิสูจน์ตัวเองด้วยการอยู่ทำงานกับเขาทั้งวัน ตั้งแต่เข้างานจนเลิกงาน ให้รู้ว่าเราเป็นทีมเดียวกับเขา
“จากที่เคยผลิตแบบเดิม ๆ เขาก็ต้องเรียนรู้เทคนิคใหม่ แพตเทิร์นใหม่ สำคัญคือต้องให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันมีความต้องการในตลาด และการปรับเปลี่ยนของเขาจะช่วยให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง”


04
หลังจาก SHOESHOUSE เปิดตัว มายก็เจออีกปัญหาใหญ่คือ วัสดุ
โรงงานผลิตวัสดุในประเทศไทยเหลือน้อยมาก ผู้ผลิตส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งเกิดปัญหาบ่อยครั้ง เมื่อผิดพลาดจึงต้องแก้ไข เมื่อแก้ไขก็ทำให้เกิดขยะจากการผลิตเพิ่มขึ้น
“ยังไงอุตสาหกรรมนี้ก็ต้องมีอยู่ แต่จะมีอยู่ยังไงให้สร้างขยะน้อยที่สุด ถ้าเกิดขยะแล้วก็ต้องย่อยสลายได้เร็วที่สุด หรือแม้กระทั่งวิธีการย่อยสลาย ก็ต้องสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเช่นกัน”
เกิดเป็น UPCYDE สตาร์ทอัพผลิตวัสดุหนังเทียมจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่เข้ามาอุดช่องโหว่นี้ มายและเพื่อนนักออกแบบลองผิดลองถูกจนสำเร็จ พวกเขาเริ่มจากมองหาขยะที่ใกล้ตัวที่สุด ไปเจอผลไม้ที่กินทุกวัน วางขายในห้างสรรพสินค้าหรือตลาด อย่างรถขายผลไม้เองก็ทิ้งเศษขยะผลไม้ข้างถนนอยู่ทุกวัน

“จากนั้นเราย้อนกลับไปดูใน Ecosystem พบว่าเกษตรกรต้นน้ำมีขยะเหลือทิ้งจากพืชผลทางการเกษตรเยอะมาก อย่างผลไม้บางชนิดที่เกษตรกรขาย 1 ลูก มีเนื้อที่ขายต่อได้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือต้องทิ้งหมด เขาเลยโดนคนรับซื้อกดราคา เพราะโรงงานแปรรูปต้องมีต้นทุนเพิ่มเพื่อกำจัดขยะตรงนี้
“พอมี UPCYDE เราก็เข้าไปรับซื้อส่วนนั้นมาผลิตต่อเป็นหนังเทียม เกษตรกรก็มีรายได้เพิ่มขึ้น ขยะที่ปกติทิ้งไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็กลับมาใช้ผลิตสินค้าต่าง ๆ อีกที”
มายรับทุนก้อนแรกจากการเข้าโครงการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ก่อนจะร่วมอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานรัฐ อย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จนได้มีโอกาสไปเจอกับนักลงทุนที่สิงคโปร์และได้เงินทุนกลับมาต่อยอด โดยตอนนี้กำลังทำโปรเจกต์ร่วมกับหลาย ๆ บริษัทที่มีอุดมการณ์เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเหมือนกัน ขณะเดียวกันก็สนับสนุน SHOESHOUSE ในด้านวัสดุการผลิตไปด้วย

05
แม้ใคร ๆ จะบอกว่าธุรกิจ OEM กำลังอยู่ในขาลง เริ่มมาตั้งแต่ที่จีนเปิดประเทศและรับผลิตในราคาต่ำ โรงงาน OEM หลายแห่งจากหลายอุตสาหกรรมในไทยต้องปิดตัวลงเพราะสู้ราคาไม่ไหว หลายโรงงานปรับตัวมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดกับราคาผลิตต่อชิ้นที่ลดลงทุกปี
จากการคุยกับมายวันนี้ ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมทั้งโรงงานของคุณพ่อและ SHOESHOUSE ยังดำเนินงานต่อได้
นอกจากหมั่นพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ เพราะถ้ายังทำแบบเดิมก็พัฒนาทั้งคุณภาพและราคาไม่ได้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ผู้บริหาร อีกส่วนขึ้นกับความพร้อมที่จะปรับตัว และยอมรับการเปลี่ยนแปลงของพนักงาน ลูกค้าหลายเจ้าของคุณพ่อเคยย้ายไปลองผลิตที่จีน แต่สุดท้ายก็กลับมาเพราะฝีมือและความละเอียด
ที่สำคัญ ต้องเปิดใจให้กับเทรนด์ธุรกิจใหม่ ๆ ในปัจจุบันที่แบรนด์ต่างชาติให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจทำความเข้าใจความต้องการลูกค้า และหาวิธีการแก้ปัญหาให้ตอบโจทย์นั้น ๆ จนเกิดเป็น UPCYDE ที่อยู่ใน Supply Chain ของธุรกิจขึ้น
ทายาทคนนี้ยังใช้วิธีการคิดแบบสถาปนิกในการบริหารธุรกิจทั้งสอง มองภาพรวมให้ออก แล้วค่อย ๆ ลงลึกในรายละเอียดเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ นำความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบมาแก้ปัญหาให้ลูกค้า พร้อมนำแนวทางในการทำธุรกิจของคุณพ่อ ผู้พยายามเข้าใจลูกค้าและหาจุดกึ่งกลางที่ทุกฝ่ายพอใจ
“โลกของเราเปลี่ยนไปเยอะ อยู่ดี ๆ ไม่กี่วันก่อน อากาศเย็นขึ้นมาทั้งที่ควรจะเข้าหน้าร้อนแล้ว
“SHOESHOUSE จะช่วยอุตสาหกรรมผลิตรองเท้า ส่วน UPCYDE จะไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรมที่ใช้แมททีเรียลหนังเทียม เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากธุรกิจที่มีนี่แหละ”
