บ้านประตูสีเขียวมะกอก สุดตรอกเล็กๆ ที่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่เพียงชั่วเวลาเดินไม่กี่นาที คือโรงงานรองเท้าที่แปลงโฉมเป็นโฮสเทลกะทัดรัดขนาด 3 ห้อง

ภาพถ่ายครอบครัวขาวดำบนผนังล็อบบี้ เต็มไปด้วยสมาชิกในตระกูลที่ส่งยิ้มในชุดสวยสด อากุงและอาผ่อวัยหนุ่มสาวยืนเคียงกัน เด็กๆ ตัวเล็กเรียงแถวจ้องมองกล้องอย่างไร้เดียงสา เมื่อหันกลับมามองสมาชิกรุ่นปัจจุบัน เราแอบคิดว่าเวลาหมุนย้อนกลับ เพราะสาวๆ ทายาทรุ่นสอง สาม และสี่ของบ้านกิจยิ่งโสภณ มีรอยยิ้มพิมพ์ใจไม่ต่างจากในภาพถ่ายเก่า

Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่
Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่
Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่
Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่

โกวหวาน-มนเพ็ญ และ โกวเล็ก-มนทิพย์ กิจยิ่งโสภณ คือเด็กหญิงตัวเล็กสุดสองคนในรูป ผู้รับหน้าที่ดูแล Shoes Maker Home ในปัจจุบัน ร่วมกับหลานสาว เก๋-ปลิณี, ชิง-อรปวีณ์ กิจยิ่งโสภณ และสมาชิกคนอื่นๆ ในตระกูลเชื้อสายจีนแคะ

อาคารพาณิชย์สุดตรอกทองใบ เดิมเป็นโรงงานรองเท้าของครอบครัวกิจยิ่งโสภณ เป็นอาคารหลังแรกที่อากุงซื้อและสร้างโรงงานรองเท้า ต่อมาจึงซื้ออาคารอีก 2 คูหาฝั่งตรงข้ามเป็นที่พักอาศัย และปัจจุบันทั้งครอบครัวก็ยังพักอยู่ที่เดิม เมื่อกิจการรองเท้าปิดตัวลง โรงงานที่ว่างลงนี้ได้รับการรีโนเวตใหม่เป็น Shoes Maker Home 

เท้าความ

ก่อนรถไฟฟ้ามาถึง อาโกวทั้งคู่เล่าว่าย่านนี้เต็มไปด้วยตึกแถวสองชั้น เมื่อความเจริญมาถึง มีการพัฒนาที่ดิน สร้างคอนโดฯ ต่างๆ มากมายอย่างคาดไม่ถึง แต่ธุรกิจเดิมของย่านนี้คือโรงงานรองเท้าและกระเป๋า เนื่องจากอยู่ใกล้ถนนเจริญรัถ ซึ่งเป็นแหล่งค้าหนังและอุปกรณ์ทำกระเป๋ารองเท้า แค่ในตรอกทองใบก็มีธุรกิจรองเท้านับสิบบ้าน รองเท้าเด็กบ้าง รองเท้าแตะบ้าง รองเท้าคัชชูบ้าง ปัจจุบันเหลือแค่สองบ้านในตรอกที่ยังสืบทอดกิจการขายส่งรองเท้าอยู่ 

Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่
Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่

“บ้านนี้ทำรองเท้าแตะใส่เล่นของผู้หญิง ส้นรองเท้าหนาทรงแตงโม มีสายคีบเส้นกลมๆ คล้ายเกี๊ยะญี่ปุ่น และรองเท้าหนังเทียม เป็นกิจการรองเท้าที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า อากุงมาจากเมืองจีน มาเป็นลูกจ้างร้านรองเท้าในเมืองไทย หัดทำรองเท้าจนตอนหลังออกมาเปิดร้านชื่อสีฟ้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ที่ตรอกอาเหนียว หรือตากสินซอยห้า เยื้องสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ส่วนตรงนี้เป็นโรงงานผลิต”

เก๋อธิบายประวัติครอบครัวซึ่งถ่ายทอดผ่านภาพวาดรองเท้าและเรื่องราวบนฝาผนังล็อบบี้ ในยุครุ่งเรือง รองเท้าของอากุงได้รับความนิยมจนนำไปขายส่งที่สำเพ็ง โรงงานคึกคัก คนงานมากถึง 20 – 30 คนทั้งทำงานและพักอยู่ในอาคารแห่งนี้ ต่อมาเมื่อกิจการซบเซาเพราะออเดอร์ลดน้อยลง โดยเฉพาะหลังยุค พ.ศ. 2540 พนักงานน้อยลงไปมาก แยกย้ายไปเปิดร้านตัวเองบ้าง ทำงานอื่นบ้าง ธุรกิจรองเท้าเริ่มไม่ใช่ธุรกิจหลักของครอบครัวร

“แต่ก่อนแบบรองเท้าไม่มีอะไรมาก แต่พอแฟชั่นไปไวมากขึ้น เราตามตลาดไม่ไหว จากที่สำเพ็งสั่งเป็นร้อยๆ เหลือหลักสิบคู่ ก็ทำเลี้ยงคนงานไปเรื่อยๆ พอรุ่นหลานโตขึ้นแยกย้ายไปทำงานอื่น อาโกวก็อายุมากแล้ว พอการค้าออนไลน์และโรงงานจีนเข้ามาตีตลาด เหลือลูกจ้างแค่คนเดียวที่มาเป็นแม่บ้าน เราก็เลยปิดร้านโดยสิ้นเชิงใน พ.ศ. 2559”

ก้าวใหม่

Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่
Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่

“เรามาคิดกันว่าทำอะไรกันต่อดี ตอนแรกทั้งครอบครัวก็คุยกันว่าเราทำห้องพักรายเดือนกันมั้ย แต่พอคุยกับสถาปนิก เขาเห็นโครงสร้างเก่าก็แนะนำว่าสิ่งที่เราเป็นน่าสนใจ ทำเป็นที่พักที่เล่าเรื่องบ้านรองเท้าดีกว่า ห้องพักทั่วไปใครๆ ก็ทำ เขาช่วยเราออกแบบหลายอย่าง สมาชิกในบ้านเลยช่วยกันเก็บของเดิมให้มากที่สุด ชั้นวางหุ่นรองเท้าก็คงไว้ กำแพงเลอะรอยกาวก็เก็บไว้ หุ่นไม้ทำรองเท้าก็เอามาตกแต่งเป็นที่ระลึก ช่วยกันหารูปเก่าๆ ของพ่อแม่ในลิ้นชักก็เอาออกมาโชว์ ดูแล้วแตกต่างจากโฮสเทลทั่วไป” 

อาโกวเล็กเล่าจุดเริ่มต้นของการสร้างธุรกิจใหม่ของตระกูล บ้านเก่าที่ปิดประตูไว้เฉยๆ จึงเริ่มมีชีวิตขึ้นอีกครั้งมาเกือบ 2 ปีแล้ว

“ช่วงที่โฮสเทลบูม คนนิยมทำที่พักแบบเตียงสองชั้น ขายเป็นเตียงจะได้จุคนได้เยอะ คิดราคาถูกๆ เราก็เคยคิดแบบนั้น แต่ทำไปทำมาเราคิดว่าขายเป็นห้องดีกว่า แล้วตอนหลังก็ให้เหมาทั้งบ้านไปเลย เพราะถ้าเลือกแบบใดแบบหนึ่งจะเสียโอกาส” ปลิณีช่วยอธิบายกิจการเสริมของครอบครัว ซึ่งเหมาะเจาะกับกลุ่มครอบครัวหรือเพื่อนฝูง 6 – 10 คน สนนราคาตกคืนละ 2 พันกว่าบาทเท่านั้น 

Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่

“ผลตอบรับดีกว่าที่คิด โชคดีที่บ้านเราพูดภาษาจีนได้ แขกจีนเลยเยอะ แล้วเขาก็ชอบมาอยู่กันยาวๆ หลายคืนเพราะเดินทางสะดวก แต่ถ้าเป็นฝรั่ง เขาจะชอบมาพักเพราะตื่นเต้นกับเรื่องราวของบ้าน

“พอต้องปิดเพราะ COVID-19 ขนาดไม่ใช่ธุรกิจหลักของครอบครัวก็กระทบเหมือนกัน ยิ่งพวกที่ทำที่พักเป็นหลักคงได้รับผลกระทบหนักมาก” หลานสาวคนโตของตระกูลกิจยิ่งโสภณเปรย พร้อมเล่าว่าช่วงก่อน COVID-19 Shoes Maker Home มีแขกเข้าพักราว 20 คืนต่อเดือน แต่ปิดรับแขกไปตั้งแต่เดือนเมษายนเพื่อดูแลความปลอดภัยในสถานการณ์โรคระบาด แต่ปัจจุบันกลับมาเปิดประตูต้อนรับผู้เข้าพักอีกครั้ง โดยเฉพาะชาวไทยที่อยากมาเปลี่ยนบรรยากาศ สัมผัสเรื่องราวของครอบครัวเชื้อสายจีน ในพื้นที่ที่เดินทางสะดวกแบบสุดๆ ของย่านธนบุรี

ห้องหมายเลข 42 44 และ 46

ชั้นแรกของบ้านที่เคยเป็นพื้นที่โรงงาน แปลงโฉมเป็นล็อบบี้และห้องนั่งเล่น ส่วนลานขัดพื้นรองเท้าหลังบ้าน เป็นจุดที่มักมีฝุ่นหรือเปียกเลอะเทอะ กลายเป็นห้องครัวเย็น สำหรับประกอบอาหารแบบไม่ใช้เตาและอุ่นอาหารจากไมโครเวฟ 

ชั้นบนมีห้องพัก 3 ห้อง ชื่อหมายเลข 42 44 และ 46 ตามเบอร์รองเท้า ซึ่งกั้นห้องใหม่ แต่ยังเก็บพื้นไม้แบบเดิม คราบกาวสีน้ำตาลบนผนัง และเฟอร์นิเจอร์เก่าไว้ ธีมรองเท้าแอบแฝงอยู่ทั่วไปในการตกแต่ง ทั้งโคมไฟใหญ่และโคมไฟหัวเตียง ประดับด้วยหุ่นรองเท้าไม้เก่าที่หาไม่ได้แล้ว เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมใช้หุ่นพลาสติก 

“รองเท้าแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนพื้นรองเท้ากับตัวรองเท้า ผู้ชายรับหน้าที่ทากาวพื้นรองเท้าที่ชั้นสอง เวลาทาไปกาวจะข้นขึ้นเรื่อยๆ ต้องปาดทิ้งก่อนจุ่มใหม่ รอยบนกำแพงคือรอยที่คนงานปาดแปรงที่เลอะบ้าง แปะปฏิทินหรือโปสเตอร์ที่ชอบบ้าง” โกวหวานชี้กำแพงซึ่งเคยจะทาสีขาวทับทั้งหมด แต่ก็เว้นไว้ให้โชว์ร่องรอยอดีตที่บอกประวัติศาสตร์ครอบครัว

Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่
Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่

ห้องนอนแรกนี้ขนาดใหญ่ที่สุด มีชั้นลอยเล็กๆ เดิมเป็นที่นอนพักของคนงาน ซึ่งปรับปรุงใหม่ให้เป็นเวิ้งนอนเล่น จะปูฟูกเป็นเตียงเสริมก็ได้ เด็กๆ ที่เข้าพักมักจะชอบมุมนี้เป็นพิเศษเพราะรู้สึกเหมือนมานอนปิกนิก 

เมื่อขึ้นมาชั้นบน อดีตเป็นพื้นที่ทำตัวรองเท้าที่ต้องเย็บประกบ พนักงานหญิงรับหน้าที่ดูแล กำแพงจึงดูเรียบร้อยสะอาดกว่า แต่ยังตกแต่งให้ได้กลิ่นอายโรงงาน

“เราใช้เวลารีโนเวตเกือบปี สถาปนิกก็ช่วยไกด์เรื่องการตกแต่ง เราช่วยกันหาของมาประดับลง โชคดีที่ญาติรู้จักคนทำโคมไฟและไม้แกะสลัก เราใช้หน้าต่างเก่าบ้าง เฟอร์นิเจอร์เดิมบ้าง ซื้อจากร้านมือสองบ้าง มาประยุกต์ตกแต่งให้ได้บรรยากาศ” 

Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่
Shoes Maker Home อดีตโรงงานรองเท้าที่กลายเป็นโรงแรมเล็กย่านวงเวียนใหญ่

เจ้าบ้านเล่าว่า ห้องชั้นบนสุดเคยกั้นเป็นมุมโรงงานและดาดฟ้า ทั้งยังเคยเป็นห้องพักของอากุง เมื่อปรับปรุงใหม่ก็ใช้ประตูสูง ทำให้ห้องดูโปร่งโล่งน่านอน แถมยังต่อเติมระเบียงให้กว้างขึ้น ออกไปนั่งพักชมวิวตรอกช่างทำรองเท้าแห่งวงเวียนใหญ่ได้ถนัดถนี่

“จากตอนแรกที่คิดจะทำบ้านเช่าธรรมดา กลายเป็นว่ามันไม่ใช่แค่ธุรกิจเสริมของครอบครัว แต่ทำให้เราไม่ลืมเรื่องราวของตระกูล เราไม่ต้องทิ้งหุ่นรองเท้าไม้ ซึ่งเดิมจะเอาไปขายร้านของเก่าแล้ว (หัวเราะ) โชคดีจริงๆ นะคะ” เก๋กล่าวยิ้มๆ ขณะอุ้มลูกสาวตัวน้อยในอ้อมแขน 

60 ปีผ่านไป ประวัติศาสตร์เล็กๆ ของโรงงานช่างทำรองเท้า ณ วงเวียนใหญ่ เปลี่ยนจากผลิตสิ่งรองรับบาทาผู้คนมากมาย กลายเป็นรังน้อยๆ ที่รองรับนักเดินทางที่ก้าวย่างมาสำรวจกรุงเทพมหานคร 

Facebook : Shoes Maker Home

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan