ซามูไรที่ถือดาบฟาดฟันกับผู้คนและผู้ทรงศีลในศาสนาพุทธนิกายเซนอาจฟังดูเป็น 2 เส้นทางที่ขัดแย้งกัน แต่แท้จริงแล้วการฝึกฝนของทั้ง 2 ศาสตร์นี้คาบเกี่ยวกันไม่น้อย สำหรับซามูไรแล้ว การผสานรวมจิตเป็นส่วนหนึ่งกับดาบจนถึงภาวะไร้จิตและไม่ยึดถือความตายนั้น เป็นข้อพึงปฏิบัติพื้นฐานในการเป็นผู้แสวงหามรรคาดาบ การเข้ามาของศาสนาพุทธจากแผ่นดินจีนจึงมีการผสานวัฒธรรมมาสู่นิกายเซน เน้นความสมถะ ละทิ้งความเป็นตัวตนเข้าสู่สุญญตา โดยการฝึกจิตเข้าสู่สภาวะนี้นอกจากการปฏิบัติธรรมที่เราคุ้นชินแล้ว ยังเข้าถึงได้จากมรรคาของการจัดดอกไม้ ชงชา เขียนอักษร และศาสตร์การต่อสู้แขนงต่างๆ เช่นกัน 

อิชิคาวะ โจซัน ซามูไรในสังกัดของโชกุนโทคุกาวะนับเป็นหนึ่งในผู้เดินทางสายนี้ เขาลาออกจากการเป็นนักรบ มุ่งสู่เส้นทางนักปราชญ์ที่มีความเชี่ยวชาญโคลงกลอนควบคู่ไปกับการชงชา จนสุดท้ายได้กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่เขตอิชิโจจิทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกียวโต โดยออกแบบบ้านพักและสวนด้วยตนเองทั้งหมด ชิเซ็นโดจึงนับเป็นผลลัพธ์ของการผสมศาสตร์ทุกแขนงที่โจซันได้ฝึกฝนร่ำเรียนจนเชี่ยวชาญมาทั้งชีวิต แปลงเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความละมุมละม่อมของกวีและความเด็ดเดี่ยวอย่างนักรบ 

Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด

การใช้ทางเดินพาผู้คนเข้าไปสู่ภายในจิตของตนเองเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบ โจซันอาศัยการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ประกอบกับจังหวะหักเลี้ยวเป็นเครื่องมือ ตลอดทางเดินในวัดนั้นประกอบขึ้นด้วยการหักเลี้ยวทั้งหมด 8 ครั้ง นำเสนอการฉุกคิดแตกต่างกันไป

พื้นที่ภายในของชิเซนโดแบ่งโดยคร่าวได้ 4 ส่วน คือ ส่วนทางเข้าชั้นนอก ส่วนลานหน้าวัด ภายในอาคาร และพื้นที่หลังอาคาร มีสวนทั้งหมด 2 แห่ง คือสวนหินสไตล์เซนอิทธิพลจีน (คะระโย-คะเระซันซุย) เป็นสวนหลักของอาคาร และสวนเดินชมด้านหลัง ซึ่งต่อขยายขึ้นมาภายหลังจากยุคของโจซันที่เปลี่ยนจากเรือนพักอาศัยเป็นวัดเซนสังกัดนิกายโซโต

เมื่อเดินขึ้นเนินเข้าสู่เขตแดนของภูเขา ประตูเล็กขนาดพอดีตัวที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางแมกไม้ทำให้เราต้องก้มตัวเล็กน้อยเพื่อเข้าไปในบริเวณวัด จึงให้ความรู้สึกคล้ายกับการต้อนรับผู้มาเยือนด้วยประตูแบบห้องชงชาที่นับเป็นจุดเชื่อมต่อของโลกอันสงบภายในและโลกภายนอก ในทางเดียวกันก็นับเป็นอุบายให้ผู้มาเยือนก้มตัวลงเพื่อแสดงความหมายเชิงสัญลักษณ์ตามศาสตร์ของการชงชา คือละทิ้งตัวตนลงให้เท่าเทียมกันทั้งหมดและเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งที่อยู่ภายใน 

Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด

หลังจากลอดผ่านประตูชั้นแรกมาแล้ว เราจะเห็นทางเดินตรงยาวสุดสายตาและทิวไผ่ขนาบข้างเป็นอุโมงค์ต้นไม้ แสงแดดจ้าลอดผ่านใบของต้นไม้ได้เพียงเล็กน้อยทำให้แสงสว่างบริเวณนั้นคอนทราสต์กับบริบทภายนอกอย่างมีชั้นเชิง

การออกแบบทางเดินยาวโดยไม่มีจุดหมายและมีสิ่งรบกวนจากรอบข้างเพียงเล็กน้อย อาจทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เป็นอีกหนึ่งอุบายที่โจซันจงใจให้เกิด เพื่อโน้มน้าวให้เรากลับมาจดจ่อกับจังหวะฝีเท้าจนจิตใจเริ่มสงบลงทีละนิด จากนั้นทางเดินสิ้นสุดลงพร้อมการหักเลี้ยวอย่างกะทันหัน ทำให้เราที่เริ่มจมลงกับตัวเองต้องหยุดชะงัก ก่อนนำไปสู่บันไดที่เปลี่ยนมุมมอง เผยให้เห็นประตูทางเข้าอีกบานหนึ่ง 

Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด
Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด
Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด

การเดินเข้าประตูเหมือนกันด้วยจิตใจที่ต่างกัน ทำให้จังหวะก้าวที่พาเราเข้าไปเจอกับตัวอาคารนั้นเชื่องช้าลงไปกว่าครึ่งจากจังหวะที่เราใช้ก้าวเข้าสู่บริเวณนั้นครั้งแรก จากนั้นทางเดินจึงนำเราหักเลี้ยวอีกครั้งเพื่อเข้าสู่ตัวอาคาร โดยเปลี่ยนจากทางเดินตรงยาวเป็นทางเดินเฉียง ก่อนจะจบเส้นทางด้วยหินก้อนใหญ่ขรุขระเรียงห่างกัน สมาธิและการรับรู้ของเราจึงกลับมาจดจ่ออยู่ที่ปลายเท้าด้วยความระมัดระวังอีกครั้ง

เส้นทางเดินบนก้อนหินสั้นๆ นี้กลับสะท้อนให้เห็นหลักการวางผังสวนแบบห้องชงชาที่ออกแบบมาให้ใช้เวลานานที่สุดในระยะทางที่สั้นที่สุด นับเป็นพื้นที่กรองความเร่งรีบและความกระจัดกระจายของอารมณ์ภายในจิตใจให้กลับมารวมอยู่กับตัวเองอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น การก้าวเข้าสู่ประตูครั้งที่ 3 จึงเกิดขึ้นพร้อมภาวะจิตที่แตกต่างกันอีกขั้นหนึ่ง

Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด

ความพิเศษของทางเข้าตัวอาคารคือการยกพื้นทางเข้า การก้าวขึ้นเพียงหนึ่งขั้นทำให้การรับรู้พื้นที่กว้างขวางและปลอดโปร่งกว่าเดิม เมื่อเราเงยหน้าขึ้นอีกครั้งถึงจะพบหิ้งบูชาที่อยู่ปลายตา ห้องนี้มีชื่อว่า ‘ชิเซ็น โนะ มะ’ (ห้องของนักปราชญ์) ประดับด้วยภาพเขียนนักปราชญ์ 36 ภาพเรียงรายรอบบริเวณ โดยภาพทั้งหมดเป็นฝีมือของคาโน ทันยู ผู้สืบทอดโรงเรียนวิจิตรศิลป์อันเลื่องชื่อของเกียวโต กำกับด้วยบทกลอนที่โจซันเขียนขึ้นเองในแต่ภาพ ห้องนี้นับเป็นพื้นที่แสดงความชื่นชอบของโจซันที่มีต่อปรัชญา รวมถึงสอดคล้องกับชื่อ ชิเซ็นโด แปลว่า ‘อาศรมของนักปราชญ์’ อีกด้วย

จากห้องนักปราชญ์ เมื่อหักเลี้ยวไปตามทางเดินอีกครั้งจะพบกับพุ่มอาซาเลียโอบล้อมพื้นที่สวนไว้บนกรวดสีขาว มุมมองแบบพาโนรามาของสวนในส่วนนี้เป็นเทคนิคขยายมุมมองของพื้นที่หรือการระเบิดสเปซที่น่าชื่นชม ทั้งขยายการรับรู้ด้วยแสงสว่างจากภายนอกที่คอนทราสต์กับความมืดสลัวของพื้นที่ภายใน จำกัดมุมมองที่มองไปยังสวนผ่านชายคากดต่ำ ทำให้มีลักษณะเหมาะสมกับการนั่งชมจากภายในอาคาร และตัวสถาปัตยกรรมก็ทำหน้าที่ขับความงดงามของสวนได้ดี สมกับเป็นพื้นที่ โชเก็ทสึโร (ห้องชมจันทร์) ที่โจซันได้ให้ชื่อไว้อย่างลงตัว 

Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด

สำหรับการวางผังสวน โจซันจงใจเปิดระยะหน้าให้เป็นลานกรวดโล่ง ดันพุ่มอาซาเลียให้โอบล้อมพื้นที่ไว้เป็นระยะกลาง และเมเปิลทำหน้าที่เป็นระยะหลังของภาพ ทำให้การชมสวนมีเอกลักษณ์แตกต่างกันในแต่ละฤดู
ฤดูร้อนอาซาเลียออกดอกในระยะหน้าทิ้งระยะหลังเป็นสีเขียวชอุ่มตัดกัน ในฤดูใบไม้ร่วงที่ดอกไม้ร่วงโรยแล้ว พุ่มอาซาเลียที่เหลือเพียงสีเขียวจะตัดกับสีส้มของใบเมเปิลแน่นขนัดด้านหลัง แม้แต่ฤดูหนาว หิมะจะร่วงหล่นบนพุ่มไม้เป็นพรมสีขาวโพลน

การทิ้งระยะหน้าแบ่งออกเป็นหลายเลเยอร์ทำให้สวนที่แต่เดิมมีพื้นที่เพียงเล็กน้อยดูต่อเนื่องไปถึงด้านหลัง นอกจากลวงสายตาแล้วยังมีการขยายการรับรู้พื้นที่ผ่านการได้ยิน โดยออกแบบ ‘ชิชิโอโดชิ’ ปล้องไม้ไผ่ที่อาศัยแรงจากมวลน้ำกระดกลงกระทบก้อนหินทำให้เกิดเสียงเคาะเป็นจังหวะ โจซันวางไม้ไผ่นี้ไว้ติดธารน้ำในสวนเดินชมด้านหลังทำให้มองเห็นไม่ได้จากในตัวอาคาร จึงเกิดการได้ยินเสียงแว่วโดยไม่เห็นจุดกำเนิด ชักชวนให้เรารับรู้ว่าพื้นที่ขนาดเล็กแห่งนี้กว้างไกลออกไปกว่าเดิม 

Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด

ถัดจากโชเก็ทสึโรมีทางเชื่อมเพื่อไปยังสวนเดินชมหรือส่วนต่อขยายด้านหลัง พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะโอบล้อมตัวสวนหลักไว้อีกชั้นหนึ่ง แต่อยู่ในระดับพื้นดินที่ต่างกัน วางพุ่มไม้และทางเดินแบบค่อยๆ เปิดไปทีละมุมมองไม่ให้เห็นทั้งหมดในทีเดียว มีลักษณะเป็นทางเดินคดเคี้ยวนำไปสู่สระน้ำที่เป็นใจกลางของสวน เมื่อเดินลงมาถึงตำแหน่งด้านหลังพุ่มอาซาเลียของสวนหลัก จะได้เห็นที่ตั้งของชิชิโอโดชิซึ่งเราได้ยินตั้งแต่ในตัวอาคาร โจซันได้ออกแบบไม้ไผ่กระทบหินไว้เป็นครั้งแรกที่สวนแห่งนี้ก่อนจะแพร่หลายจนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของสวนญี่ปุ่น

เมื่อเดินชมสวนเรียบร้อยแล้วเราเลี้ยวขึ้นกลับมาในตำแหน่งเดิม เป็นอันจบการเดินทางภายในเรือนชิเซนโด

Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด
Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด

ตั้งแต่เข้ามาในอาณาเขตของวัด แสงสว่างนับเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการออกแบบ จากแสงแดดจัดของด้านนอกบริเวณลอดประตูเข้าสู่อุโมงค์ต้นไม้ที่กรองแสงจนครึ้มลง ปรับความสนใจของผู้มาเยือนให้อยู่ภายในตนเอง ผ่านประตูที่สองเข้าสู่ลานโล่งสว่างจ้า ตามด้วยทางเดินหินที่ชะลอความเร็วลงตัดเข้าภายในตัวอาคารที่มืดอีกครั้ง ความมืดในตัวอาคารคราวนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างโฟกัสกับตนเองเหมือนในอุโมงค์ต้นไม้ แต่เป็นไปเพื่อขับคอนทราสต์ของสวนหลักกลางแดดจัดให้เด่นขึ้นหากมองจากห้องโชเก็ทสึโร และปิดท้ายด้วยสวนด้านหลังที่สลับระหว่างความสว่างทางเดินใต้ต้นไม้ พุ่มไม้ จนมาสว่างที่สุดบริเวณลานโล่งล้อมสระน้ำ ก่อนจะพาย้อนกลับไปยังต้นที่อุโมงค์ต้นไม้ดังเดิม

Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด

การเล่าเรื่องผ่านทางเดินในงานของโจซันชิ้นนี้เหมือนการเตรียมจิตใจให้สงบนิ่ง สุขุมเยือกเย็น โดยมีการหยุดและเปลี่ยนอารมณ์เป็นช่วงๆ ให้จิตได้หยุดสังเกตตัวเองเป็นระยะจนสงบนิ่งอย่างมั่นคง ก่อนจะระเบิดมุมมองเหมือนการผลิบานจากภายใน หยั่งรู้เห็นแจ้ง และจบลงด้วยความสงบอันปลอดโปร่ง เดินทอดน่องในสวนอัดคดเคี้ยว และกลับไปสู่จุดเริ่มต้น ให้ผู้มาเยือนได้ก้าวออกจากอาณาเขตของวัดที่แม้จะใช้ประตูเดิม แต่กระทำด้วยจิตใจที่แตกต่างจากตอนก้าวเข้ามาครั้งแรกโดยสิ้นเชิง

Shisendo วัดในเกียวโตของอดีตซามูไรที่ออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมเองทั้งหมด

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

พิมพ์ชนก ณ พัทลุง

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่สนใจวัฒนธรรมตะวันออกโดยเฉพาะเรื่องเซนและวิถีดาบ อ่านหนังสือหลายประเภทเลยเป็นติ่งซามูไรไปพร้อมกันนักเขียนฝั่งตะวันตก ชื่นชอบการไปนั่งชุบตัวชมสวนในวัดรอบเมืองเกียวโต สิ่งที่ทำในช่วงนี้คือพยายามแสวงหามรรคาจากการเขียนแบบและศึกษาเรื่องวัดให้ลึกกว่าเดิม