ส่งช้า ของหาย ของพัง ยุ่งยาก แพง รอนาน เข้าไม่ถึง ตัวเลือกเยอะจนงง

ปัญหาเรื่องการขนส่งหรือโลจิสติกส์ไม่ใช่เรื่องตลก หลายคนคงเคยเห็นคำวิจารณ์เหล่านี้หรือประสบปัญหาอย่างเจ็บปวดด้วยตัวเอง จากการแข่งขันที่ดุเดือดสอดคล้องไปกับการเติบโตของ E-commerce

แต่การขนส่งไม่จำเป็นต้องยากเสมอไป เมื่อมีผู้คิดแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างธุรกิจบริการออนไลน์ที่เชื่อมโยงขนส่งแทบทุกเจ้ามาไว้ในระบบเดียว และให้ผู้คน ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เลือกสรรขนส่งที่ถูกใจ พร้อมระบบที่อำนวยความสะดวก ประหยัดแรงและเวลา อย่าง SHIPPOP

สตาร์ทอัพอายุ 6 ปีนี้ก่อตั้งโดย โมชิ-สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ หนุ่มผู้เห็นช่องว่างของตลาดและเริ่มธุรกิจจากน้ำพักน้ำแรงตัวเอง จนบริษัทสร้างรายได้กว่า 400 ล้านบาทเมื่อ พ.ศ. 2563 

SHIPPOP ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ด้านโลจิสติกส์กว่า 18 แห่ง มีสาขาแฟรนไชส์รองรับการให้บริการกว่าพันสาขาทั่วประเทศ และส่งพัสดุมามากกว่า 22 ล้านชิ้น ทั้งในไทยและมาเลเซีย และล่าสุด พวกเขาได้รับรางวัล Startup of the Year บนเวที Startup x Innovation Thailand Expo 2021  

แต่กว่าจะเดินทางมาถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการทำงานหนัก รับแรงกดดันจากการแข่งขันและความคาดหวังของผู้คน ยิ่งบริษัทยิ่งโต ผู้นำยิ่งต้องเติบโตตาม เราจึงชวนโมชิมาเล่าประสบการณ์จากวันแรกเริ่มจนถึงจุดนี้ และส่งสารแนวคิดของธุรกิจที่ต้องการ ‘Make Shipping Easy’ 

SHIPPOP สตาร์ทอัพเชื่อมต่อระบบขนส่งที่ทำให้การส่งของสะดวก คุ้มค่า มากกว่า 22 ล้านชิ้น

Day 1

“เราไม่ได้เป็นคนทำสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นจากการมีเงินทุน เป็นคนธรรมดาที่ต้องดิ้นรนจริง ๆ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีเงินกินข้าว” อดีตโปรแกรมเมอร์จากหนองคาย พาย้อนอดีตกลับไปถึง Day 1 ของธุรกิจที่เริ่มต้นจากหอพักในกรุงเทพฯ และวิถีชีวิตที่ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด
แม้ไม่ได้มีต้นทุนสูง แต่สมบัติล้ำค่าที่โมชิมีติดตัวคือ ความเป็นผู้นำและการคิดริเริ่ม ลองผิดลองถูก ทำธุรกิจและสร้างเว็บไซต์ตั้งแต่ยังอายุน้อย แม้ไอเดียจะล้มเหลว แต่เขาก็หาโอกาสใหม่เรื่อย ๆ

หนึ่งในประเภทของเว็บไซต์ที่เขาเคยรับทำคือ E-commerce สร้างให้กับธุรกิจรายย่อย ในวันที่ตลาดการขายของออนไลน์ยังไม่เติบโตเท่าทุกวันนี้ ประสบการณ์นี้ทำให้เขาค้นพบว่า การจ่ายเงินออนไลน์เป็นเรื่องน่าขัดใจ

แต่ช่วง พ.ศ. 2558 ผู้เล่นที่พัฒนาโซลูชันช่องทางการชำระเงินหรือ Payment Gateway มีเยอะพอสมควรแล้ว แต่ปัญหาเรื่องการขนส่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อขายของออนไลน์ กลับยังไม่มีใครแก้ได้อย่างดีเยี่ยมนัก ทั้งส่งล่าช้า ตกหล่น กระบวนการทำงานไม่สะดวก และอีกสารพัดปัญหาที่รอการแก้ไข

SHIPPOP สตาร์ทอัพเชื่อมต่อระบบขนส่งที่ทำให้การส่งของสะดวก คุ้มค่า มากกว่า 22 ล้านชิ้น

“สมัยก่อน โลจิสติกส์เป็นงานที่ทำเยอะ แต่ได้น้อย เมื่อเทียบกับการทำธุรกิจแพลตฟอร์มที่สร้างกำไรจาก Subscription อาจคุ้มค่ากว่า และตอนนั้น ธุรกิจขนส่งดูไม่น่าจะเติบโตได้ขนาดนี้ แต่เราเชื่อว่าธุรกิจนี้จะโตพร้อมกับ E-commerce อยู่แล้ว พอเห็นว่าเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ เราเลยทำ” โมชิเล่า เขาต้องรีบศึกษาโมเดลธุรกิจใหม่ โดยระหว่างทาง เขาได้รับคำแนะนำจาก ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้คร่ำหวอดในวงการ E-commerce และนักลงทุน

ช่วงแรกเส้นทางย่อมขรุขระ SHIPPOP ตั้งใจเป็นศูนย์รวมบริการโลจิสติกส์หรือ Logistics Gateway ที่ให้คนได้เปรียบเทียบราคา เวลา บริการ ทำงานง่ายขึ้น เช่น สร้างรายการขนส่ง จ่ายเงินออนไลน์ และพิมพ์ใบปะหน้าพร้อมบาร์โค้ดจากที่บ้าน รวมพัสดุจำนวนมากส่งต่อให้โลจิสติกส์เจ้าต่าง ๆ แต่การติดต่อหาพาร์ตเนอร์ให้ร่วมมือกันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังขาดความน่าเชื่อถือ โปรดักต์ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง

โมชิจึงอาศัยกลยุทธ์การอาสาทำงานฟรี เข้าไปทำงานให้สมาคมด้าน E-commerce และโลจิสติกส์เพื่อให้คนรู้จักและเห็นศักยภาพ ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ ระหว่างทาง เขาติดต่อพูดคุยกับลูกค้าเพื่อหาความต้องการที่แท้จริงอยู่เรื่อย ๆ 

จนมีโอกาสได้คุยกับไปรษณีย์ไทยที่คนไทยคุ้นเคย ซึ่งเปิดโอกาสทดลองบริการของแพลตฟอร์มเป็นเวลา 3 เดือน พร้อมตั้งจุด Drop-off ในสาขา ให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวและทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ

ปรากฏว่าจากไม่กี่สิบชิ้น ยอดขนส่งพัสดุผ่านทาง SHIPPOP พุ่งขึ้นเป็นกว่า 3,000 ชิ้นในเดือนแรก และทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงหลักแสนต่อเดือน และบริษัทเริ่มกำไรภายในครึ่งปี

SHIPPOP จึงกลายเป็นงานเต็มเวลาของโมชินับแต่นั้น

SHIPPOP สตาร์ทอัพเชื่อมต่อระบบขนส่งที่ทำให้การส่งของสะดวก คุ้มค่า มากกว่า 22 ล้านชิ้น
SHIPPOP สตาร์ทอัพเชื่อมต่อระบบขนส่งที่ทำให้การส่งของสะดวก คุ้มค่า มากกว่า 22 ล้านชิ้น

อยู่รอด

โมเดลการหารายได้หลักในช่วงแรกคือ ใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการการขนส่ง โดยที่มีผู้ใช้งานไม่ต้องเสียค่าบริการเพิ่มสักบาท

เพราะเมื่อดำเนินการรวมพัสดุจากที่ต่าง ๆ เพื่อขนส่งจำนวนมากให้กับพาร์ตเนอร์ พวกเขาจะได้รับโปรโมชันพิเศษ ค่าขนส่งถูกลงกว่าปกติ ทำให้ลดราคาค่าขนส่งส่วนหนึ่งเพื่อให้ลูกค้าได้ราคาที่ดีที่สุด ก่อนจะเก็บส่วนต่างที่เหลือเป็นรายได้ ส่วนพาร์ทเนอร์ก็ได้ช่องทางการตลาดเพิ่มอีกหนึ่งทาง พร้อมเป้าการขนส่งที่ SHIPPOP เสนอ ท่ามกลางสมรภูมิที่ดุเดือด

เมื่อได้รับเสียงตอบรับดี SHIPPOP จึงขยายจับมือกับพาร์ตเนอร์ด้านขนส่งจนครอบคลุมเกือบทั้งตลาดในปีต่อ ๆ มา และขยายบริการให้มีการเข้ารับพัสดุถึงหน้าบ้าน ซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่ที่พาร์ตเนอร์ไม่เข้าไป และมีเวลาบริการที่ยืดหยุ่นกว่าเวลาทำการปกติ 

รวมถึงเปิดบริการเก็บเงินปลายทาง (Cash On Delivery) ระบบติดตามสถานะที่ค่อนข้างครบวงจร และประกันพัสดุ เพิ่มความสะดวกสบาย น่าเชื่อถือ และสร้างช่องทางรายได้ใหม่ให้ธุรกิจ

แต่เมื่อธุรกิจไปได้สวย พวกเขาเริ่มเจอคู่แข่งที่กำลังทรัพย์เยอะกว่าเข้ามาตีตลาดบริการขนส่งออนไลน์ จากทั้งไทยและต่างประเทศ 

สตาร์ทอัพหลายรายไปต่อไม่ได้เพราะเหตุผลนี้ แต่ไม่ใช่สำหรับ SHIPPOP ที่เอาชนะและรักษาฐานของตัวเองไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง

“ตอนแรกเราหวั่นเหมือนกัน เพราะเราตัวเล็ก ในขณะที่ธุรกิจใหญ่มีเงินพร้อมผลาญเพื่อครองตลาด แต่ที่เราอยู่รอด คิดว่าเพราะเข้าใจธรรมชาติของลูกค้าคนไทย

“ธุรกิจส่วนใหญ่จะเน้นตลาด B2C และให้ลูกค้าเติมเงินล่วงหน้าเพื่อใช้บริการ แต่เราเน้นที่ B2B ที่ขายของ และให้เครดิตเทอม ซึ่งกลุ่มนี้มี Volume สูงมาก และเราเข้าใจตลาดจากประสบการณ์ที่เคยทำมาก่อน พวกเขาต้องการอะไรที่มากกว่าแอปพลิเคชัน เช่น การติดตามพัสดุ 

“เราตอบโจทย์ตรงนี้และสร้างฟีเจอร์ใหม่ ๆ ได้เร็ว พอแข่งกันระยะยาว เจ้าใหญ่ ๆ ก็เริ่มหันไปโฟกัสธุรกิจอื่นมากกว่า เลยกลายเป็นเราที่ยืนหยัดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้” โมชิวิเคราะห์สถานการณ์ การเข้าใจลูกค้าอย่างถ่องแท้ ถือเป็นเกราะป้องกันสำคัญให้กับการแข่งขันทางธุรกิจ 

สเกล

นอกจากบริการทางออนไลน์แล้ว แพลตฟอร์มยังเปิดบริการทางออฟไลน์ด้วยโมเดลแฟรนไชส์ SHIPPOP SHOP เพื่อขยายตลาด ซึ่งไอเดียตั้งต้นมาจากการคิดหาทางออกให้ธุรกิจ

“จริง ๆ เราไม่ได้มีความรู้เรื่องการทำแฟรนไชส์เลย ตอนนั้นแค่คิดว่าอยากทำการตลาด ทำทางออนไลน์ไปเยอะแล้ว อยากหาทางอื่น ๆ แต่ค่าใช้จ่ายแพงเป็นล้านต่อเดือนเลย พอคิดว่าจะทำไวนิลดีไหม คำถามคือติดที่ไหนล่ะ ต้องจ่ายค่าเช่าเท่าไร คิดต่อไปเรื่อย ๆ ก็นึกออกว่าไหน ๆ จะหาที่ติดแล้ว เราทำซอฟต์แวร์ให้คนตรงนั้นใช้ช่วยเป็นจุดฝากส่งพัสดุให้เราแทนเลยดีไหม

“หลังทำไม่นาน เกิดโควิด-19 และรัฐบาลแจกคนละครึ่งสามพันบาท เราเลยจัดแคมเปญ ใครไม่ได้เงิน มารับจาก SHIPPOP แทน แลกกับการเป็นร้านรับฝากพัสดุให้เรา (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) กลายเป็นคนกระหน่ำสมัครเข้ามาเยอะมาก 

“แต่พอฟรี ก็มีคนที่ปล่อยปละละเลย ทำงานไม่ดี ทำให้แบรนด์เสีย เราต้องพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาเพื่อดูแลควบคุมการทำงานมากขึ้น กำหนดค่าแฟรนไชส์และคู่มือการทำงานจริงจัง” โมชิอธิบายวิธีคิดและการพัฒนาสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อน

ปัจจุบัน SHIPPOP มีแฟรนไชส์กระจายอยู่กว่าพันสาขาทั่วประเทศ และได้รับรางวัล Best Small Franchise จากงาน Thailand Franchise Award ในปีนี้อีกด้วย ทั้งขยายธุรกิจของตัวเอง และช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 

เติบโต

หลังดำเนินธุรกิจมา 6 ปี โมชิต้องเร่งพัฒนาตัวเองในฐานะผู้นำตามการเติบโตของกิจการด้วยเช่นกัน

“มีคำพูดที่ว่า CEO ต้องปรับตัวตามขนาดขององค์กร ตอนมีพนักงานไม่เกินสิบคน คุณอาจต้องทำเองทุกอย่าง พอมากกว่าก็ต้องเริ่มสอนคนให้เป็น สร้างวัฒนธรรมองค์กร และกำหนดทิศทาง จะ Micromanage เหมือนเดิมไม่ได้ ช่วงแรก ๆ ก็ทำได้ไม่ดี แต่เรียนรู้และค่อย ๆ ปรับไป จัดการให้เป็นระบบมากขึ้น” ผู้นำของพนักงานกว่า 105 ชีวิตกล่าว

ในช่วงแรก การตามหาพนักงานเก่ง ๆ สักคนเป็นเรื่องยาก กว่าจะมีคนยื่นสมัครเข้ามาสักคน แต่ในวันนี้ มีคนยื่นสมัครเข้ามาทำงานอย่างต่อเนื่องแล้ว และทางบริษัทก็พยายามดูแลให้ดี มีสวัสดิการหลายสิบอย่าง และรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

แต่เมื่อ SHIPPOP ยังต้องเดินทางอีกไกล เพื่อพิชิตความฝันการขยายตัวเป็นธุรกิจระดับภูมิภาคพร้อมกับพนักงานเหล่านี้ ความรู้และทุนเป็นสิ่งขับเคลื่อนสำคัญ 

พวกเขาจึงเข้าร่วม LiVE Platform แพลตฟอร์มพัฒนาผู้ประกอบการ SME และสตาร์ทอัพและบ่มเพาะธุรกิจ ช่วยปูทางสู่การเข้าตลาด LiVE Exchange ตลาดทุนใหม่นอกเหนือจาก SET และ mai ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจเล็กสามารถระดมทุนและเติบโต

“เราได้เรียนรู้เรื่องการปรับโครงสร้างพื้นฐานบริษัทและการเข้าตลาดอย่างจริงจัง บางอย่างเมื่อก่อนเราไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เช่น เรื่องจัดการบัญชี การตรวจสอบระบบและมาตรฐานต่าง ๆ ก็ได้เรียนรู้จนเข้าใจมากขึ้นจาก LiVE Platform และระหว่างทาง มีการบ้านให้เราต้องกลับมาเช็กธุรกิจของตัวเองตลอด

“สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือเน็ตเวิร์ก เพื่อน ๆ ในคลาสช่วยเปิดโลกให้เรา และยังได้เจอกับ Financial Adviser และ Auditor เก่ง ๆ ให้เราเลือกได้เลย” โมชิเล่าสิ่งที่เขากำลังพยายามเรียนรู้ เพื่อขยายสตาร์ทอัพนี้ไปให้ไกลกว่าเดิม

“หกปีที่ผ่านมา ยิ่งบริษัทสเกลเท่าไร เราก็ต้องปรับปรุงตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องงาน การใช้ชีวิต การเข้าสังคม ตัวเราเปลี่ยนไปทุกปีเลย” 

Make Shipping Easy

หมุดหมายต่อไปของบริษัทนี้ที่อยากดิสรัปต์วงการโลจิสติกส์ คือ การขยายบริการและพื้นที่ที่ให้บริการ

ตอนนี้ SHIPPOP ปักหมุดอยู่ที่ประเทศมาเลเซียมานานราว 4 ปีแล้ว และคาดหวังว่าจะมีโอกาสขยายต่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนบริการที่กำลังพัฒนาเพิ่มเติมให้ดียิ่งขึ้น คือการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งค่อนข้างท้าทาย เพราะแต่ละประเทศมีเงื่อนไขและข้อจำกัดการขนส่งที่แตกต่างกัน 

“เราเคยสร้างมารอบหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดี ตอนนี้ก็ยังไม่ถึงจุดนั้น ก็รื้อและ Pivot มันไม่มีใครทำให้โดนใจได้ตั้งแต่วันแรกหรอก” หัวเรือของสตาร์ทอัพผู้ผ่านการทดลองและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลายืนยัน

นอกจากนี้ ตลาด E-commerce และโลจิสติกส์จะดุเดือดขึ้น โมชิวิเคราะห์ว่าสงครามราคาคงจะดำเนินต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทเขาด้วย ดังนั้น การอยู่นิ่งเฉยย่อมเป็นภัย

“เราไม่ยึดติดกับเรื่องราคาแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะพัฒนาเป็นบริการที่ทำให้คนรู้สึกว่าต้องใช้ของเราจริง ๆ ใช้แล้วเป็นประโยชน์ เช่น การประยุกต์ใช้ข้อมูลมากขึ้น รวมถึงหาช่องทางใหม่ ๆ เพื่อบริการลูกค้า”

ภารกิจ Make Shipping Easy ของ SHIPPOP ยังต้องเดินหน้าต่อ เพื่อให้การขนส่งไม่เป็นเรื่องน่ารบกวนใจ แต่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย คุ้มค่า และช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างไม่มีสะดุด 

SHIPPOP

โทรศัพท์ : 09 2905 3355

Website : www.shippop.com

Facebook : SHIPPOP

LiVE Platform แพลตฟอร์มเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับ SMEs และ Startups เติบโตและมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน www.live-platforms.com

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ