ร้านขนม Shimizu ก่อตั้งปี 1947 ในเมืองอินะ จังหวัดนากาโนะ คุณปู่ของชินอิจิเริ่มต้นจากการจำหน่ายขนมโมจิไส้ถั่วแดงแล้วตระเวนเดินขายไปทั่วเมือง พอถึงรุ่นพ่อก็เริ่มประยุกต์ทำขนมฝรั่ง เช่น เค้ก คุกกี้ มาขายบ้าง 

ชินอิจิ ชิมิสึ เกิดปี 1975 สมัยเด็ก คุณยายสอนเขาเสมอว่า การที่หลานมีความสุขอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะบรรพบุรุษและตายายทำดีกับผู้อื่น สิ่งดี ๆ จึงเกิดขึ้นกับหลาน อย่าหยิ่งยโส และจงรู้สึกขอบคุณอยู่เสมอ

ชินอิจิได้เรียนรู้จากคุณยายทางอ้อมเสมอ อย่างตอนช่วยงานที่ร้าน มีลูกค้าท่านหนึ่งมาซื้อโมจิแค่ 2 ชิ้น แต่คุณยายก็หยิบเพิ่มให้อีก 4 ชิ้น และบอกลูกค้าท่านนั้นว่าแถมให้ พอลูกค้าท่านนั้นจากไป คุณยายก็หยิบเงินสดจำนวนเท่ากับโมจิ 4 ชิ้นนั้นจากกระเป๋าตนเองใส่ที่เก็บเงินของร้าน คุณยายทำเช่นนั้นเพราะรู้ว่า ลูกค้าท่านนั้นมีครอบครัว 6 คน ทุกคนจะได้ทานโมจิอร่อย ๆ พร้อมหน้าพร้อมตากัน

เมื่อชินอิจิเข้ามาสืบทอดกิจการต่อจากคุณพ่อ กลายมาเป็นเจ้าของร้านขนม Shimizu รุ่น 3 เขาก็ยังคงยึดหลักการสร้างความสุขให้กับผู้อื่นเสมอ ๆ 

“ผมเชื่อว่าความสุขที่แท้จริง คือ ความสุขจากการทำให้ผู้อื่นมีความสุขอยู่เสมอ ๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวตนเอง พนักงาน พาร์ตเนอร์บริษัท หรือลูกค้าที่อยู่ในเมือง การทำงานที่แท้จริงคือการทำให้ผู้อื่นยิ้มได้หรือมีความสุขครับ”​

ร้านขนมที่สร้างความสุขให้ทุกคน

ชินอิจิปรับร้านให้ดูสดใส น่านั่ง เอาดอกไม้มาลง ให้แขกนั่งชมสวนสวย ๆ สบาย ๆ 

Shimizu ร้านขนมอายุ 75 ปี กับ 'เค้กแห่งความฝัน' ที่ชวนเด็กมาเล่าความฝันผ่านหน้าเค้ก
Shimizu ร้านขนมอายุ 75 ปี กับ 'เค้กแห่งความฝัน' ที่ชวนเด็กมาเล่าความฝันผ่านหน้าเค้ก
ภาพ : web-komachi.com

นอกจากนี้ ชินอิจิยังตั้งใจใช้ว้ตถุดิบจากในเมืองอินะเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ไข่ไก่ นม เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตกรท้องถิ่นอีกด้วย

ตอนคุณพ่อคุณแม่ของเขาบริหารกิจการร้านนั้น ทั้งคู่วุ่นวายกับการผลิตและจำหน่ายขนม เป็นวงจรแบบนี้ทุก ๆ วัน 

เมื่อชินอิจิเข้ามาบริหาร เขาต้องการทำให้ลูกค้ารู้สึกสนุกและตื่นเต้นขึ้นอีก เขาเริ่มจากการทำเค้กพิเศษเฉพาะเดือนนั้น ใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลบ้าง สร้างสีสันให้กับร้าน 

เกือบทุกเดือน เขาจะจัดอาหารและขนมแบบ Full Course ตามธีม เช่น ธีม ‘กลิ่น’​ เชฟจะคอยอธิบายกลิ่นของอาหารและขนมแต่ละชนิด ทำให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้นยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ลูกค้ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของบริการ Full Course นี้เป็นลูกค้าประจำ และบัตรมักจะขายหมดทันทีที่ประกาศขายเลยทีเดียว 

ขนมเค้กแห่งความฝัน

วันหนึ่ง มีข่าวเด็ก ม.ต้น แทงพ่อตนเองในย่านแถว ๆ เมืองที่ชินอิจิอยู่ เขาเห็นข่าวและรู้สึกสลดมาก ชินอิจิถามตนเองว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้างไหมในฐานะที่เป็นร้านขนม เขารู้สึกว่าถ้าเด็กคนนั้นมีโอกาสคุยกับพ่อตนเองได้มากขึ้น ข่าวความรุนแรงเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น 

และแล้วเขาก็ปิ๊งไอเดีย ‘เค้กแห่งความฝัน’ เขาชวนเด็ก ๆ มาแต่งหน้าขนมเค้กกับคุณพ่อคุณแม่ โดยเด็ก ๆ เป็นคนปั้นตุ๊กตาหรือประดับเค้กตามความฝันของพวกเขา เด็กบางคนอยากเป็นนักบิน ก็ปั้นแป้งเป็นรูปเครื่องบินและมีตนเองนั่งอยู่บนนั้น เด็กบางคนอยากเป็นเชฟทำขนม บนหน้าขนมเค้ก มีเตาอบ และมีเค้กเล็ก ๆ วางอยู่ 

Shimizu ร้านขนมอายุ 75 ปี กับ 'เค้กแห่งความฝัน' ที่ชวนเด็กมาเล่าความฝันผ่านหน้าเค้ก
เชฟกำลังสาธิตวิธีปั้นตุ๊กตา
ภาพ : www.inadanikankou.jp

ในปีแรก เขาจัดอีเวนต์ทำเค้กแห่งความฝันนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมเพียง 9 คน ปีถัดไปเพิ่มเป็น 50 คน ปีถัด ๆ ไปเพิ่มเป็น 500 คน ปัจจุบันเขาจัดงานทุกวันที่ 8 เดือน 8 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน กลายเป็นอีเวนต์ดังประจำเมือง

กระบวนการทำเค้กแห่งความฝันเริ่มจากการที่เชฟจะสาธิตวิธีการปั้นแป้งให้เป็นรูปตุ๊กตาต่าง ๆ ก่อน จากนั้นเด็ก ๆ จะได้รับกระดาษเขียนความฝัน มีคำถามที่ช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจตนเองมากขึ้น เช่น อยากทำให้ใครมีความสุขอย่างไรบ้าง ฝันอยากทำอะไร โตขึ้นอยากเป็นคนแบบไหน ทำไมถึงคิดเช่นนั้น 

Shimizu ร้านขนมอายุ 75 ปี กับ 'เค้กแห่งความฝัน' ที่ชวนเด็กมาเล่าความฝันผ่านหน้าเค้ก
กระดาษทดความฝัน
ภาพ : www.inadanikankou.jp

เมื่อทดความฝันเสร็จก็เข้าสู่กระบวนการลงมือทำ เด็ก ๆ ก็คอยปั้นแป้งโดยมีคุณพ่อคุณแม่ดูอยู่ห่าง ๆ อาจเข้ามาช่วยเหลือบ้าง ระหว่างทำเค้ก เด็ก ๆ ได้เล่าความฝันของตนเองให้พ่อแม่ฟัง คุณพ่อคุณแม่บางท่านบอกว่า ไม่เคยทราบเลยว่าลูกตนเองคิดแบบนี้หรือฝันแบบนี้ 

Shimizu ร้านขนมอายุ 75 ปี กับ 'เค้กแห่งความฝัน' ที่ชวนเด็กมาเล่าความฝันผ่านหน้าเค้ก
Shimizu ร้านขนมอายุ 75 ปี กับ 'เค้กแห่งความฝัน' ที่ชวนเด็กมาเล่าความฝันผ่านหน้าเค้ก
ภาพ : www.inadanikankou.jp

ตอนท้ายงาน ชินอิจิจะให้เด็ก ๆ กล่าวคำขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ ขอบคุณอะไรก็ได้ เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ เช่น ขอบคุณที่ซักผ้าให้ ขอบคุณที่ทำอาหารให้ หลังจากนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ขอบคุณลูกเช่นกัน เช่น ขอบคุณที่ทำให้ชีวิตพ่อมีสีสันมากขึ้น 

ขั้นตอนสุดท้ายจริง ๆ คือ เด็ก ๆ จะเอาเค้กกลับไปทานกับสมาชิกครอบครัวที่บ้าน ต้องเล่าความฝันตนเองให้สมาชิกที่บ้านที่อาจไม่ได้มาในงานได้ฟังด้วย 

ชินอิจิได้ทำให้เด็ก ๆ ได้คุยกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น และทำให้การเล่าความฝันไม่ใช่เรื่องน่าอาย หรือเรื่องที่ควรเก็บไว้แค่กับตนเองอีกต่อไป 

Shimizu ร้านขนมอายุ 75 ปี กับ 'เค้กแห่งความฝัน' ที่ชวนเด็กมาเล่าความฝันผ่านหน้าเค้ก
ภาพ : www.inadanikankou.jp

กิจกรรมนี้ค่อย ๆ กลายเป็นกิจกรรมดังในเมือง และสร้างชื่อเสียงให้กับร้านขนม Shimizu เป็นอย่างยิ่ง โดยหลัง ๆ มีบริษัท หน่วยงานรัฐบาล ตลอดจนโรงเรียนต่าง ๆ ติดต่อให้ชินอิจิและทีมมาช่วยทำกิจกรรมเค้กแห่งความฝันนี้ เค้กแห่งความฝันเป็นทั้งแหล่งรายได้ใหม่และอยู่ในความสนใจของสื่อเสมอ ๆ 

เมื่อมีผู้สนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ชินอิจิตัดสินใจตั้งหน่วยงานไม่แสงหากำไร (NPO) ชื่อ Dream Cake Project โดยชวนร้านขนมร้านอื่น ๆ มาทำโปรเจกต์นี้ร่วมกัน ทำให้โครงการขนมเค้กแห่งความฝันนี้ จัดขึ้นทั่วประเทศได้ โดยจัดปีละประมาณ 50 ครั้ง (เฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง) 

สำหรับผู้เข้าร่วมนั้น เค้กแห่งความฝันทำให้หัวหน้าแผนกกับลูกน้องได้คุยกันถึงเรื่องส่วนตัวมากขึ้น เด็ก ๆ ในโรงเรียนได้ฟังความฝันของกันและกันยิ่งขึ้น เค้กและตุ๊กตาแต่งหน้าไม่ได้เป็นเพียงแค่ขนมอีกต่อไป แต่กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทำให้ผู้คนได้เปิดใจกัน ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

บทเรียนจากร้านขนม Shimizu

1. คำนึงเสมอว่าจะทำให้ใครมีความสุขได้บ้าง ทั้งเกษตรกรท้องถิ่น ลูกค้า และคนในเมือง 

2. ไอเดียดี ๆ (ในที่นี้คือขนมเค้กแห่งความฝัน) อาจมาจากความตั้งใจช่วยเหลือผู้อื่น ลองคิดว่าธุรกิจเรา พอจะช่วยเหลือสังคมหรือแก้ปัญหาปัจจุบันอย่างไรได้บ้าง  

3. เค้กแห่งความฝัน ทำให้ชินอิจิไม่ได้มองขนมเค้กเป็นแค่ขนมเค้กอีกต่อไป การที่เขาเห็นว่าขนมเค้กช่วยให้คนในครอบครัวพูดคุยกัน สื่อสารกันมากขึ้น ทำให้เขามีไอเดียจัดอีเวนต์ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นได้

4. ไม่เก็บไอเดียดี ๆ ไว้แค่กับตนเอง เขาตั้ง NPO เพื่อหาคนที่คิดร่วมกัน มาช่วยกันเผยแพร่แนวคิดนี้ยิ่งขึ้น หากเขาไม่ทำแล้วหรือจากโลกนี้ไป ก็ยังมีคนสืบทอดกิจกรรมเหล่านี้อยู่

5. ไอเดียดี ๆ ที่ตั้งใจทำเพื่อผู้อื่น อาจนำไปสู่แหล่งรายได้ใหม่ของบริษัทก็เป็นได้

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย