01

รื้อถอนการเรียนรู้ (Unlearning Your Education) 

มานิช เจน (Manish Jain) คือนักการศึกษาทางเลือกที่เรารู้จักเป็นคนแรกๆ ในอินเดีย เขาเป็นปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในอินเดียที่ได้รับการศึกษาอย่างดีที่อเมริกา เคยได้ทำงานในองค์กรระดับชาติมาหลายองค์กร แต่วันหนึ่งเมื่อเขากลับมาบ้านเกิดที่ราชสถาน เขาพบว่าการศึกษาที่เขาได้รับไม่ได้กินได้อยู่ได้จริงในบ้านของเขาเลย 

Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน

นั่นเป็นจุดเริ่มที่ทำให้มานิชเริ่มทำบ้านและชุมชนรอบตัวเขาให้เป็นเส้นขนานของการศึกษากับการเรียนรู้ จุดเริ่มอยู่ที่การรื้อถอนสิ่งที่ได้รับจากการศึกษามาให้หมดก่อน แล้วค่อยๆ กลับมาเรียนรู้จากชีวิตจากประสบการณ์ของผู้คน 

โครงการพื้นที่เรียนรู้ของมานิชชื่อว่า Shikshantar – The People’s Institute for Re-thinking Education and Development เขาเชื่อและตระหนักว่า การศึกษานั่นแหละเป็นตัวปัญหาก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งที่ทำให้โลกเป็นอย่างนี้ กว่า 20 ปีที่เขากลับมาบ้านเกิด เขารื้อถอนสิ่งที่เขาได้รับจากการศึกษา สร้างการเรียนรู้ที่ทำให้โลกเป็นอยู่อย่างยั่งยืน สร้างสรรค์ด้วยการละและการให้ที่เขาเรียกว่า Gift Culture และเริ่มสร้างมหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า Swaraj University ที่เชื่อในการเรียนรู้จากวิถีชุมชน Localization 

Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน
Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน

02

มารู้จักกันบนหลังอาน 

 เช้ามืดวันนั้น คนไม่รู้จักกัน 30 กว่าคนมาพร้อมกันที่ลานนัดพบหน้าวิทยาลัยในเมืองอินดอร์ ราชาสถาน อินเดีย 

ทุกคนมาพร้อมกับจักรยานคู่ใจ ส่วนเราได้จักรยานที่มีคนยืมเอาไว้ให้ในฐานะอาคันตุกะจากต่างแดน ทริป 2 วัน 1 คืน คนที่ไม่เคยรู้จักกันเลย 30 คนจะร่วมปั่นจักรยานออกจากเมือง มุ่งสู่หมู่บ้าน โดยไม่มีการกำหนดเส้นทาง จะพักที่ไหน จะกินอย่างไร จะนอนตรงไหน ประเด็นไม่ได้อยู่แค่นั้น ที่สำคัญคือ พวกเราทุกคนไม่มีใครพกเงินไป ไม่เอาเครื่องมือติดต่อสื่อสารไป ไม่พกยาประจำตัว การเดินทางปั่นสองล้อครั้งนี้ เราเรียกว่า Cycle Yatra การปั่นสองล้อเพื่อค้นหาอิสรภาพและศรัทธา 

โปรแกรมนี้เริ่มโดย มานิช เจน นั่นล่ะ เขาแนะนำว่า ถ้าอยากรู้จักว่าการ Unlearning รื้อถอนการเรียนรู้ ที่เขาพูดนักพูดหนา ให้ออกมาปั่นไปกับแก๊งนี้ 

โครงการ ‘ปั่นเพื่ออิสรภาพ’ (Cycle Yatra) จะพาเราก้าวออกจากความกลัวไปสู่เส้นทางที่เราไม่รู้จัก รื้อถอนสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสถาบันการศึกษากระแสหลัก จากสังคมที่รู้สึกว่าไม่เป็นของเรา เพราะเราเสพติดวัตถุนิยม จากครอบครัวที่บางครั้งก็ไม่ได้เข้าใจตัวตนที่แท้จริงของเรา เดินทางกับคนแปลกหน้า ไม่พกพาเงินทอง อาหาร เครื่องมือสื่อสาร ยารักษาโรค ไม่นำเสื้อผ้าไปเปลี่ยน ด้วยความเชื่อที่ว่า บนเส้นทางจะมีสายสัมพันธ์แห่งชีวิตให้ค้นหาโดยปราศจากวัตถุ

Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน
Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน

03

ตั้งกระบวนท่า 

คนไม่รู้จักกันเลยกว่า 30 ชีวิตมาพบกัน เพราะประกาศจากเฟซบุ๊กของอาจารย์ชื่อ อังคณา เธอเป็นศาตราจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยอินดอร์ที่รู้สึกหมดไฟกับระบบราชการในการศึกษา เธอได้ยินเรื่องราวของ Cycle Yatra ที่โครงการ Shikshantar จัดเป็นประจำ ครั้งนี้เธอขอเป็นตัวตั้งตัวตีจากเครือข่ายรอบๆ ตัวเธอเอง ตอนนั้นอาจารย์อังคณาอายุ 40 กว่า ยังเล่นเฟซบุ๊กไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่เธอเริ่มหัดเล่นและโพสต์ประกาศเรื่องกิจกรรมครั้งนี้ มีผู้คนหลากหลาย ทั้งนักศึกษา คนทำงานเกษียณ อาจารย์ด้วยกัน ที่ร่วมออกเดินทางด้วยกันบนหลังอานครั้งนี้ 

ในขบวนการเดินทางครั้งนี้ มีข้อตกลงกันว่าไม่มีใครเป็นผู้นำ เราจะไปด้วยกันแบบเป็นทีมที่คอยช่วยดูแลกันและกัน ใครไม่ไหวหรือมีปัญหาอะไร ให้เชื่อว่าเราจะช่วยเหลือกัน ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ละคนจะปั่นไปในจังหวะของตัวเอง แต่ก็ต้องตระหนักไว้เสมอว่า เรามีเพื่อนร่วมขบวนไปด้วยกัน ใครไปได้เร็วก็อย่าลืมผ่อนพักให้คนข้างหลังตามทัน 

04

นักเร่ร่อนเดินทาง

เราเริ่มปั่นเมื่อฟ้าสาง หลังจากตกลงกันได้ว่าเราจะไปทางทิศเหนือ ปั่นไปเรื่อยๆ เหลียวมองข้างทาง ถ้าเจออะไรที่น่าสนใจสำหรับกลุ่ม ก็ให้ส่งสัญญาณหยุดศึกษาเรียนรู้ไปด้วยกัน เราไม่รู้หรอกว่าจะเจออะไรข้างหน้า จะกินอะไรที่ไหน ตรงไหน ใช่ว่าจะหยุดซื้อออะไรกินได้ เพราะเราไม่ได้พกเงินไปสักรูปี 

ปั่นไปจนตะวันอยู่ตรงหัว เราเจอขบวนยิปซีกางเต็นท์อยู่ริมทาง ใครสักคนส่งสัญญาณให้เราเข้าไปพูดคุยกับพวกเขา 

เราได้คุยกับหัวหน้ายิปซีถึงเรื่องราวการเดินทางของพวกเขา ยิปซีกลุ่มนี้ไม่ได้เดินทางข้ามทะเลทรายอีกต่อไปแล้ว พวกเขาเดินทางข้ามระหว่างหมู่บ้าน เป็นคนแปลกหน้าของคนอื่นอยู่ร่ำไป 

Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน
Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน

พวกเราก็เช่นกัน เป็นคาราวานบนหลังอานของคนแปลกหน้าที่กำลังต้องหาข้าวกลางวันกินด้วยกัน เพราะท้องเริ่มหิว

บ่าย 2 ได้กระมังที่เราปั่นออกมาจากคาราวานของยิปซี บางคนได้กินโรตีที่ชาวยิปซีแบ่งให้ พวกเราบางคนเริ่มเหนื่อยและหิว เราแบกกล้องวิดีโอตัวใหญ่อยู่บนหลังอานด้วย 

พวกเราเริ่มปั่นออกมาจากเขตเมืองและชุมชน สองข้างทางเป็นทุ่งกว้าง ไร่นา พวกเราแวะไร่ถั่วข้างทาง ใครบางคนในคณะเดินลงไปแกะถั่วของชาวนากิน แล้วก็บอกว่าอร่อยดี ชวนพวกเราลงไปกินด้วย ไม่มีใครลังเล พุ่งเข้าไปแกะถั่วกินกันประทังหิว สัก 10 นาทีต่อมามีคนในขบวนคนหนึ่งบอกว่า เขาเจอชาวนาที่กำลังเก็บมันเทศอยู่ในทุ่ง พวกเราอาจจะไปช่วยเขาได้เพื่อแลกกับอาหาร 

นั่นคือข้อตกลงของเรา เราจะไม่ร้องขออาหารจากใคร ถ้าเราไม่ได้ใช้แรงแลกมันมา พวกเราปั่นไปช่วยครอบครัวชาวนาเก็บมันเทศเสร็จในเวลาเย็นพอดี ชาวนาให้มันเทศเราหอบใหญ่ แต่เราจะเอามันเทศไปทำไม กินหัวสดๆ ไม่ได้สักหน่อย พระอาทิตย์คล้อยต่ำลงมาทุกที อาหารกลางวันยังไม่ตกถึงท้อง เราเริ่มสังเกตเห็นความหิวและความกังวลของกันและกัน 

แล้วก็มีคนในขบวนกลับมาบอกว่าเขาเจอโรงนาเก่าๆ อยู่กลางทุ่งที่เราอาจใช้นอนคืนนี้ได้ และก็พบคุณตาชาวนาที่บอกว่า เขาจะทำอาหารให้เรากิน ถ้าเราช่วยทำความสะอาดโรงนา 

05

เมื่อศิษย์พร้อม ครูคุณตาก็ปรากฏ 

Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน
Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน
Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน

คุณตาชาวนาคนนั้นอายุ 75 เดินข้ามทุ่งมาหาพวกเราอย่างกระฉับกระเฉง คุณตายิ้มด้วยดวงตา พูดภาษาถิ่นที่เพื่อนในกลุ่มบอกว่าไม่ใช่ภาษาฮินดี แล้วสักพักก็มีชาวนาอีกหลายคนเดินข้ามทุ่งมาที่โรงนาเก่าพร้อมกับข้าวของในมือ ทั้งแป้งทำจาปาตี เครื่องเทศหุงหาอาหาร ถั่วมาทำแกงดาล ซุปถั่ว บางคนมีก้อนขี้วัวแห้งมาก่อฟืนให้เรากันหนาวระหว่างคืน และฝ่ายแม่บ้านก็เอาผ้าห่มมาให้กันบ้านละผืนสองผืน 

เรารู้สึกว่าเหมือนฉากในหนังมากๆ อยู่ดีๆ ก็มีชาวนาเดินข้ามทุ่ง เอาอาหาร ผ้าห่มมาให้พวกเรา คนแปลกหน้าจากเมืองที่ไม่พกเงินสักบาทเข้ามาด้วย 

ใครสักคนในกลุ่มเล่าให้คุณตาฟังถึงความคิดเบื้องหลังในการปั่นครั้งนี้ คุณตาได้แต่หัวเราะชอบใจ พวกเราขอให้คุณตาเล่าเรื่องของแกให้ฟัง คุณตาเล่าชีวิตให้ฟังว่า เขาเป็นคนแรกๆ ที่อพยพมาก่อร่างสร้างฐานในหมู่บ้านนี้ เพราะคิดว่าหมู่บ้านนี้มีตาน้ำใต้ดิน คุณตาขุดหาตาน้ำด้วยมืออยู่หลายปี จนพบตาน้ำในที่สุด มีน้ำก็มีชีวิต จากนั้นก็เริ่มมีครอบครัวอพยพเข้าตั้งถิ่นฐานด้วยกันจนเป็นหมู่บ้านนี้ขึ้นมา 

คุณตาวัย 75 บอกว่าไม่เคยไปโรงหมอเลย เราถามว่าอะไรคือเคล็ดลับ คุณตาบอกว่ากินกล้วยทุกวัน กินอาหารที่ปลูกเอง ไม่กินอาหารซื้อมาจากตลาด อยู่ในไร่ในสวนทั้งวัน มีลูกมีหลานทันใช้

ว่าแล้วคุณตาก็บอกว่าแต่คุณตาก็แก่แล้ว มีลูกหลานดูแล นวดให้บ้างก็ดี แล้วคุณตาก็หันหลังให้เรา บอกว่านวดให้หน่อย เขาว่าคนไทยนวดเป็น เรารีบวางกล้อง นวดให้คุณตาอย่างรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูง ไม่ถึง 10 นาที คุณตาหลับนอนลงไปบนดินตรงหน้านั่นล่ะ 

กลุ่มชายชาวนาลูกหลานคุณตาที่มาช่วยกันหุงหาอาหารให้เรา ทำจาปาตี แกงถั่ว หุงหาอาหารให้เราอย่างขมีขมัน 

พระอาทิตย์ตกพอดีที่อาหารพร้อม อาหารมื้อแรกของวันเป็นมื้อที่พิเศษที่สุด เหมือนงานเลี้ยงที่โรงหน้ากลางทุ่งที่ไหนก็ไม่รู้ในโลกนี้ 

ผู้หญิงได้นอนในโรงนาบนกระสอบข้าวเก่าๆ พวกเรามีถุงนอนให้ซุกคลายอุ่น แต่ดึกๆ อากาศเย็น ผู้หญิงหลายคนรวมทั้งเราก็ต้องย้ายออกมานอนข้างๆ กองไฟกับผู้ชายที่นอนอยู่ข้างนอก 

06

เส้นทางกลับบ้าน 

Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน
Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน

มื้อเช้าเราบอกกับคุณตาและชาวบ้านคนอื่นๆ ว่า อย่าเดือดร้อนเป็นธุระเรื่องอาหารเช้าให้เรา พวกเรามีมันเทศที่ได้มาจากชาวนาอีกหมู่บ้านหนึ่ง เราจะเอามาเผากินเป็นอาหารเช้ากันเอง 

หลังจากปิ้งมันเผาเป็นอาหารเช้า พวกเราเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อช่วยงานแลกอาหารเมื่อคืน พวกเราไปช่วยงานในไร่เล็กๆ น้อยๆ พอน่าเอ็นดู เพราะดูว่าจริงๆ แล้ว ชาวบ้านก็ไม่ได้มีงานอะไรให้เราช่วยกันจริงจังขนาดนั้น 

เราร่ำลาชาวบ้านอย่างอาลัยอาวรณ์ ขอบคุณพวกเขาครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเย็นวานนี้ เป็นความหมายของการออกเดินทางของพวกเรา เราแน่ใจว่าคุณตาแสนฉลาดผ่านชีวิตมามากมายขนาดนั้น เข้าใจว่าคนหนุ่มสาวอย่างพวกเรากำลังออกตามหาอะไร 

ระหว่างทางกลับบ้าน เราหยุดพักกันระหว่างทาง กินมันเผาที่ยังเหลือจากมื้อเช้าประทังไปพลาง เราได้คุยกับนักศึกษาหลายคน ชรุติ นักศึกษาปีสองบอกว่าเธอสับสนกับชีวิตในมหาวิทยาลัยมาก ไม่ได้เรียนสิ่งที่ชอบ และมั่นใจว่าจะได้ออกไปทำงานที่ไม่รักเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำมันไปทำไม 

การออกมาเดินทางครั้งนี้เพียงวันเดียวเท่านั้น ทำให้เธอรู้ว่าเธอใช้ชีวิตแบบที่ใช้มาเพราะความกลัวตัวเดียวเท่านั้น เธอกลัวว่าถ้าเธอไม่ทำตามที่สังคมบอก ตามที่ครอบครัวต้องการ เธออาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังคนเดียว การเดินทางครั้งนี้ทำให้เธอพบกับความกล้าที่จะศรัทธาในอะไรบางอย่างอีกครั้ง

นักศึกษาสาวปริญญาโทอีกคนที่เราได้คุยด้วย ปรียา บอกว่าเธอเรียนปริญญาโทที่ไม่ได้ชอบเลย แต่เรียนก็เพราะว่าหนีการถูกจับคลุมถุงชนแต่งงาน เธอหวังลึกๆ ว่าจะซื้อเวลาด้วยปริญญาไปได้เรื่อยๆ และหวังว่าใบปริญญาหลายๆ ใบของเธอจะทำให้เธอมีภาษีสังคม ได้รับการยอมรับ และมีสิทธิ์เลือกคู่ครองที่เธอต้องการ การเดินทางครั้งนี้ทำให้เธอพบว่าเธออาจไม่ต้องรอ หากเธอมีความกล้าพอที่จะเลือกและปฏิเสธชายที่พ่อแม่เลือกให้ได้ 

07

การเรียนรู้ที่กลับไปเชื่อในหัวใจของผู้คนและตัวเอง

การมาปั่นบนหลังอานในอินเดียครั้งนี้ไม่ได้อยู่ในแผนการใดๆ ทั้งสิ้นก่อนมา แต่มันก็อยู่ในแผนการหลวมๆ ของการเดินทางในอินเดียอยู่แล้วว่า “ไม่มีอะไรที่วางแผนไว้ก่อนได้ในอินเดีย”

คาราวานยิปซี คุณตาเจ้าของโรงนาวัย 75 ที่ไม่เคยไปโรงหมอปรากฏตัวออกมาเป็นครูให้เรา เมื่อศิษย์พร้อม เดินทางไปหาถึงที่ ใครจะรู้ว่าเราจะได้พบกันในวันนั้น และเราจะได้พบกันอีกหรือเปล่า

Unlearn รื้อถอนสิ่งที่เรียนรู้ เป็นสิ่งที่การเดินทางครั้งนี้มอบบทเรียนให้ผ่านประสบการณ์ เราไม่อาจออกเดินทางใหม่ใหม่ๆ ในชีวิตได้เลย ถ้าความกลัวยังเป็นสนิมเกาะอยู่บนปีกของเรา ความกลัวของเราเกาะแนบสนิทแน่นกับเงินทอง อาหาร เทคโนโลยีเครื่องมือสื่อสาร แฟชั่น ยารักษาโรคประจำตัว เสื้อผ้าที่สะอาดทันสมัย

Cycle Yatra ปั่นสองล้อในอินเดียเพื่อออกค้นหาอิสรภาพ รื้อถอนความรู้เดิมที่เคยชิน

Writer & Photographer

Avatar

เสาวนีย์ สังขาระ

Film Maker, Farmer, Facilitator ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีอิสระ บินสิ! โปรดักส์ชั่นเฮาส์ และรายการบินสิ! ผู้ก่อตั้งและอำนวยการเรียนการสอน ที่สวนศิลป์บินสิ Films Farm School