15 พฤศจิกายน 2019
4 K

The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

ในชีวิตประจำวันที่ปกติสุข คุณคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องไกลตัวไหม

“คนส่วนใหญ่คิดว่าความรุนแรงต้องเป็นเรื่องทางกายภาพเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายด้วยการกระทำ หรือการด่าทอเสียดสี ทำร้ายจิตใจด้วยคำพูด ล้วนเป็นพฤติกรรมความรุนแรงที่สร้างบาดแผลต่อผู้ถูกกระทำทั้งสิ้น” เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์ นักกฎหมายรุ่นใหม่ ผู้ก่อตั้ง SHero เอ่ยขึ้นในช่วงหนึ่งของบทสนทนา

เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์  SHero นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อความรุนแรง ผู้บอกให้ทุกคน Speak Up!

SHero คือพื้นที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่เหยื่อความรุนแรงทุกรูปแบบในสังคม โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) ซึ่งถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่มีความรุนแรงหลายระดับ ตั้งแต่ด่าทอ ทุบตี ไปจนถึงการขืนใจ และเหยื่อมักไม่กล้าไปแจ้งตำรวจ หรือแม้แต่จะเอ่ยปากเล่าให้ใครฟัง

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เบสรับฟัง ให้คำปรึกษาถึงการรับมือเพื่อหาทางออกจากความรุนแรง รวมถึงจัดอบรมให้องค์ความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำ รวมถึงวิธีป้องกัน ยับยั้งความรุนแรงทุกรูปแบบ และทำกระบวนการ Empowerment เสริมพลังความแข็งแกร่งให้เหยื่อความรุนแรงไปแล้วมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศไทย ถือเป็นการให้ความสนับสนุนเหยื่อความรุนแรงทั้งทางกฎหมาย และ Psychosocial Support

เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์  SHero นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อความรุนแรง ผู้บอกให้ทุกคน Speak Up!

ภารกิจที่เธอกำลังผลักดัน คือการสร้างความตระหนักรู้ออกไปในวงกว้าง ว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติ แม้คุณจะไม่ใช่เหยื่อ เพียงแค่พบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น คุณก็ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อหยุดความรุนแรงนั้นได้ ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลบนโลกออนไลน์ และการจัดกิจกรรม Shero Youth Forum กับนักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ และเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อขยายแรงกระเพื่อมออกไปให้กว้างไกลที่สุด

จากหญิงสาวผู้เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากคนใกล้ชิด (Intimate Partner Violence) สู่การเป็นแรงบันดาลใจและพลังให้อีกหลายๆ คนที่อยู่ในวังวนความรุนแรงอย่างที่เธอเคยประสบ 

Hero คือวีรบุรุษ แต่ SHero จะเป็นใครในเพศสภาพใดก็ได้ เพราะทุกคนล้วนมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และแข็งแกร่งพอที่จะขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้กันทั้งนั้น 

“แรงงานข้ามชาติ เขาอยู่ในฐานะ Migrant ทำงานในไทย ต่างจากผู้ลี้ภัยหรือ Refugee ที่ออกมาจากค่ายไม่ได้

01

ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

หลังเรียนจบ เบสทำงานที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยได้พักใหญ่ จึงตัดสินใจย้ายไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพราะอยากทำงานเรื่องกลุ่มคนเปราะบาง อย่างคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เพราะที่นั่นมีค่ายผู้ลี้ภัยตั้งอยู่

เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์  SHero นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อความรุนแรง ผู้บอกให้ทุกคน Speak Up!

“ที่แม่สอด เราทำงานกับมูลนิธิสุวรรณนิมิต องค์กรเล็กๆ ที่ดูเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน โดยเน้นด้านสาธารณสุข ความเป็นอยู่ และสุขภาพ งานของเรามีทั้ง Passive และ Active เช่นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อะไรไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมายหรือนโยบายที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเราควรเปลี่ยน และจะเปลี่ยนอย่างไร

“แรงงานข้ามชาติ เขาอยู่ในฐานะ Migrant ทำงานในไทย ต่างจากผู้ลี้ภัยหรือ Refugee ที่ออกมาจากค่ายไม่ได้”

เบสทำงานอยู่ที่แม่สอดกับแฟนเก่าซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ทำงานด้านสิทธิเช่นกัน จากความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ค่อยๆ ก่อตัวเป็นความรุนแรง 

“แฟนเก่าเราตอนนั้น ด้วยความที่เขาเป็นคนเมืองมาตลอด พอย้ายมาอยู่ต่างจังหวัดเขาเลยเกิดความเครียด และความเครียดนั้นก็ถูกระบายออกมาที่เรา ช่วงแรกเขาไม่เคยตีเราเลย อย่างมากก็ขว้างปาของใส่ เหตุการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้นจนถึงจุดที่เขาบีบคอเราเป็นครั้งแรก และจากนั้นอย่างน้อยเดือนละสองครั้ง เราจะโดนทำร้ายร่างกายจนฟกช้ำไปหมด

“จนครั้งสุดท้ายเราโดนซ้อมจนเลือดไหล เลยตัดสินใจไปแจ้งความครั้งที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ไม่ได้ช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัยขึ้น เขาให้เรียกแฟนเก่ามาไกล่เกลี่ย เราไม่ได้อยากเจอเขา เรากลัว สุดท้ายเราถอดใจจากการแจ้งความในครั้งนั้น และเป็นครั้งแรกที่เราเข้าใจเหยื่อความรุนแรงคนอื่นๆ เลยว่ามันยากแค่ไหนกับการเดินออกมาให้พ้นวังวนความรุนแรงนั้น 

“ตอนนั้นสถานการณ์เราย่ำแย่มาก อยู่ไกลบ้าน ไม่กล้าบอกใคร ถ้าเล่าให้ครอบครัวฟัง เขาต้องให้กลับกรุงเทพฯ แน่ๆ แต่เรายังอยากอยู่ที่นี่ ทำงานช่วยเหลือแรงงานต่อ

“จนในที่สุดเราก็ตัดสินใจบอกเพื่อน Expat ชาวต่างชาติคนหนึ่งในกลุ่ม ซึ่งไม่ได้สนิทอะไรกับเขาขนาดนั้น แค่เคยไปงานวันเกิดเลยรู้ที่อยู่บ้านเขา เราเปิดแผลให้เขาดูและเล่าไปร้องไห้ไปว่าฉันไม่รู้จะไปที่ไหนดี ที่มาหาเพราะคุณเป็นคนเดียวที่ฉันรู้จักบ้าน

เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์  SHero นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อความรุนแรง ผู้บอกให้ทุกคน Speak Up!

“เพื่อนคนนี้ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความรุนแรงแบบนี้เป็นเรื่องร้ายแรงที่ยอมรับกันไม่ได้ เขาบอกให้เราไปแจ้งความใหม่อีกรอบ และเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนที่เขาไว้ใจฟัง ทำให้มีเพื่อนผู้หญิงอีกหลายคนที่เข้ามาทักทาย ชวนเราไปกินข้าว และเสนอให้เราไปอยู่ด้วยที่บ้านเพื่อความปลอดภัย รวมถึงช่วยกันรีพอร์ตให้เรารู้ว่าแฟนเก่าเราอยู่ตรงไหน เพื่อให้เราหลบหลีกที่จะเจอเขาได้ 

“ทั้งหมดคือการกระทำที่บอกว่า I’m on your side. มันคือเซนส์ของ Women Empowerment ที่สร้างพลังให้เรากล้าเดินหน้าต่อ”

เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์  SHero นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อความรุนแรง ผู้บอกให้ทุกคน Speak Up!

เบสตัดสินใจใช้กฎหมาย องค์ความรู้ที่มี อาศัยถามจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คน เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้ศาลตัดสิน และชนะคดีในที่สุด 

“เขารับสารภาพทุกอย่าง เพราะเราถ่ายรูปและมีหลักฐานเก็บไว้หมด ศาลสั่งให้เขาจ่ายค่าปรับหนึ่งพันห้าร้อยบาทและรอลงอาญาหนึ่งปี จำคุกหนึ่งเดือน ซึ่งหมายความว่าถ้าภายในหนึ่งปีนี้ เขาทำอย่างนั้นกับเราอีกเขาจะติดคุก สุดท้ายเขาจ่ายค่าปรับและเดินทางออกนอกประเทศไทยไปเลย”

03

ความรุนแรงและเรื่องราวหลังจากนั้น

หลังชนะคดี นอกจากงานประจำด้านสิทธิแรงงานที่ยังทำอยู่ เบสเริ่มลงพื้นที่ไปสอนเรื่อง Domestic Violence และ Women Empowerment ในห้องเรียนภาษาอังกฤษของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพราะเธอประสบมากับตัวเอง และเห็นแล้วว่าการเสริมสร้างพลังนั้นสำคัญแค่ไหนในการเอาตัวเองออกมาจากพฤติกรรมความรุนแรง

“สิ่งที่เห็นเวลาสอนเรื่องความรุนแรง คือแต่ละคนก็พยักหน้าตั้งใจฟัง แต่พอเราปลุกให้เขาเล่าเรื่องตัวเองออกมา เขาไม่ยอมพูด จนเราเริ่มเล่าเรื่องของตัวเองทั้งหมด เล่าจนคนแปลร้องไห้ตามไปด้วย เราพยายามจะบอกให้เขารู้ว่าโลกนี้ไม่มีใครเป็น Perfect Victim นะ อย่างเราเอง แม้จะยังเด็ก ดูเข้มแข็ง มีความมั่นใจ แต่เราก็เจอแบบนี้เหมือนกัน การบอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดออกมามันเสริมสร้างพลังให้ตัวคุณได้”

เบสบอกว่า พอเธอเล่าจบ ผู้หญิงในห้องเรียนทยอยยกมือกัน 4 – 5 คน บางคนเจอความรุนแรงมาเป็น 20 ปี บางคนเจอมาจนสามีตายไปแล้ว แต่บาดแผลที่เขาทิ้งร่องรอยไว้ยังคงอยู่ และนั่นเป็นครั้งแรกที่พวกเธอได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นออกมา

เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์  SHero นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อความรุนแรง ผู้บอกให้ทุกคน Speak Up!

“จริงๆ ตอนนั้นเรายังคิดถึงแฟนเก่าอยู่ ยังเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้มันจะผ่านมาพักใหญ่แล้ว การได้ช่วยคนอื่นมันเหมือนเป็นการเยียวยาตัวเองรูปแบบหนึ่ง เราเลยจริงจังกับมันมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มไปเป็นอาสาสมัครกับสถานีตำรวจ ช่วยให้คำปรึกษาทั้งในแง่การเป็นนักกฎหมายและเป็นเพื่อนรับฟัง เราช่วยไปหลายคดีมาก ทำจนคนจำได้ว่าเราทำอะไรอยู่”

จนวันหนึ่ง เพื่อน Expat ชาวเดนมาร์กเดินมาบอกเบสว่า “จากสิ่งที่คุณประสบมาจนถึงสิ่งที่คุณกำลังผลักดัน คุณคือ SHero ของใครหลายคน เราคิดว่าคำนี้มันเป็นคำที่เจ๋งมาก เลยเอามาตั้งเป็นชื่อโปรเจกต์เสียเลย”

04

ความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ

จริงๆ เราไม่เคยวางแผนจะทำโปรเจกต์อะไรเลย ชีวิตจับพลัดจับผลูให้เดินมาเส้นทางนี้ เราแค่ทำเพราะอยากช่วยคนอื่น และอยากขยายวงความช่วยเหลือนั้นให้มันกว้างขึ้น ลึกขึ้น จากที่ตอนแรกแค่เป็นอาสาสมัครไปสอนและช่วยให้คำปรึกษา เลยเป็นที่มาของโปรเจกต์ SHero ซึ่งเปิดเป็นพื้นที่ให้คำปรึกษาเรื่องความรุนแรงทุกรูปแบบ”

#ithappenedtometoo คือแฮชแท็กที่เบสใช้สื่อสารเรื่องความรุนแรงกับคนในโลกโซเชียล 

เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์  SHero นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อความรุนแรง ผู้บอกให้ทุกคน Speak Up!
เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์  SHero นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อความรุนแรง ผู้บอกให้ทุกคน Speak Up!
เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์  SHero นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อความรุนแรง ผู้บอกให้ทุกคน Speak Up!

“เหยื่อความรุนแรงที่กล้ามาขอคำปรึกษาจากเราผ่าน SHero โดยตรง เขาผ่าน Stage of Change บางอย่างมาแล้ว แต่เราเชื่อว่ายังมีคนอีกมากมายที่อยากคุย อยากปรึกษา แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง เราเลยทำแฮชแท็กนี้ขึ้นให้เป็นความเคลื่อนไหว และบอกว่าวันนี้ เวลานี้ ถ้าคุณอยากส่งเสียงบอกใครสักคนเรื่องความรุนแรง ติดแฮชแท็กนี้ในเฟซบุ๊ก เราจะทักไปหาคุณเอง

“เราใช้เวลาหลายชั่วโมงนั่งทักเขาไป รับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น บางคนพอคุยกันเสร็จ เขาก็ลบโพสต์ทันที คือเขาอยากคุยแต่ไม่อยากให้ใครเห็น สิ่งที่เราได้จากการใช้แฮชแท็กนี้มาเป็นเครื่องมือ อย่างแรกคือได้ Reach Out ถึงคนที่อยากคุยกับเราแต่ไม่กล้า และสอง มันเป็นไวรัลขึ้นมา ให้คนกล้าที่จะเล่าเรื่องราวของตัวเองออกมามากขึ้น”

เบสอธิบายต่อว่า ความรุนแรงมีหลายรูปแบบ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) การถูกคุกคามทางเพศ (Sexual Harrasment) หรือการถูกเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ล้วนเป็นความรุนแรงทั้งสิ้น และไม่เพียงแค่การกระทำเท่านั้น คำพูดเสียดสีด่าทอก็ถือเป็นอีกรูปแบบของความรุนแรงเช่นกัน

เบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์  SHero นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อความรุนแรง ผู้บอกให้ทุกคน Speak Up!

“นอกจากเหยื่อของความรุนแรงมาบอกเล่าเรื่องของเขาเองแล้ว ยังมีอีกกรณี คือเราไปพบเห็นหรือสัมผัสกับเรื่องความรุนแรงของคนรอบตัว เช่นเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมา สังคมจะบอกว่า ‘เรื่องของผัวเมีย อย่าไปยุ่งเลย’ หรือเห็นเพื่อนถูกรังแก (Bullying) ที่มหาวิทยาลัย ซึ่งจริงๆ แล้ว การเพิกเฉยก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงเช่นกันนะ

“ทุกคดี ทุกกรณี ที่เราให้คำปรึกษามาทั้งหมด ล้วนมีเรื่องทางจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการทำร้ายสร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเราก็จะออกตัวไว้ก่อนเลยว่าเราไม่ใช่นักจิตวิทยานะ แม้เราจะมีสกิลล์ในการพูดคุยเพื่อสร้าง Basic Response แต่เราจะย้ำกับผู้มาปรึกษาเสมอว่าเราเป็นนักกฎหมาย เราแนะนำเรื่องทางกฎหมายได้ แต่ในเชิงจิตใจ คุณต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จริงๆ เพื่อเยียวยารักษา“

05

ความรุนแรงและ Self-esteem

เราถามเบสว่า จากประสบการณ์ที่ได้พบปะพูดคุยและช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในกระบวนการทางกฎหมาย ในพื้นที่ชนบทอย่างแม่สอดกับในกรุงเทพฯ นั้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร 

เบสบอกว่า “สิ่งที่เหมือนกันในทุกพื้นที่คือความรู้สึกไม่ปลอดภัยพอที่จะเอ่ยถึงเรื่องราวความรุนแรงเหล่านั้น แต่ที่มาของความรู้สึกนั้นต่างกัน ที่แม่สอด ถ้าเป็นกลุ่มแรงงานเขากลัวไม่มีเงินเลี้ยงลูก เพราะชีวิตยังต้องพึ่งพาผู้กระทำ ถ้าหนีออกมาหรือเลิกกันไป เขาไม่รู้จะใช้ชีวิตยังไง อย่างนี้ถือเป็น Financial Violence อย่างหนึ่งที่ทำให้เขาต้องติดอยู่กับพฤติกรรมความรุนแรงนั้น

บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้เปลี่ยนบาดแผลจากความรุนแรงเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมแห่งความปลอดภัย ด้วยการผลักดันให้ทุกคนรักและเห็นคุณค่าตัวเอง

“ในขณะที่คนเมืองอย่างเราๆ มีหลายกรณีมากที่ผู้หญิงเป็น Working Women ทำงานเก่ง หาเงินเองได้ จริงๆ คือมีปัญญาจะเดินออกมานั่นแหละ แต่อาจจะด้วยกรอบทางสังคมแบบเดิมๆ ที่ทำให้เขาต้องการอยู่ในภาพลักษณ์สมบูรณ์แบบ หรืออาจจะกลัวว่าถ้าพูดออกไป จะถูกตราหน้า ถูกตัดสินจากสังคม 

“และอีกอย่างที่เหมือนกันเลย ถ้าเป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว คือผู้ถูกกระทำมักจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ ซึ่งมันคือการมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ทำให้ไม่มีพลังพอที่จะต่อสู้ เราจึงให้ความสำคัญกับ Empowerment มาก เพราะมันคือสิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองให้คุณรักและเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น 

“ดังนั้น ไม่เกี่ยวกับว่าคุณเป็นคนที่ Privilege หรือ Underprivilege เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นได้กับทุกคนในสังคม”

เราจะสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองได้อย่างไร 

บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้เปลี่ยนบาดแผลจากความรุนแรงเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมแห่งความปลอดภัย ด้วยการผลักดันให้ทุกคนรักและเห็นคุณค่าตัวเอง

“จริงๆ เราช่วยเสริมพลังบวกให้คนรอบตัวกันได้ง่ายๆ ไม่ยากเลย อย่าเก็บมันไว้คนเดียว เล่าให้เพื่อนสนิทหรือใครสักคนฟัง เพื่อปลดปล่อยความตึงเครียดของคุณออกไปบ้าง ในขณะเดียวกัน เราทุกคนต้องช่วยกันสะท้อนด้านดีๆ ให้แก่กันและกัน บางคนเก่งมากที่จะบอกคนอื่นว่าเธอเก่ง เธอเข้มแข็ง อย่างนั้นอย่างนี้นะ แต่ลืมส่องกระจกแล้วโอบกอดตัวเอง ดังนั้น เพื่อนจะเป็นคนที่ช่วยสะท้อนจุดดีของเรากลับมา ให้เรามีพลังบวกกับตัวเองมากขึ้น

“อย่างตัวเราเอง พอฟังเรื่องความรุนแรงจากคนมากมายที่หลั่งไหลเข้ามามากเข้า สภาพจิตใจก็เริ่มไม่ไหว ต้องพบจิตแพทย์เลย เพราะเราร้องไห้ตลอดเวลา รู้สึกเจ็บปวดไปหมด ทุกครั้งที่ไปช่วยคนอื่นก็นึกถึงเรื่องของตัวเองไปด้วย เหมือนเราถือว่าการให้คำปรึกษาและช่วยเขาให้ถึงที่สุดมันคือหน้าที่ของเราไปแล้ว บางทีมีคดีตอนสี่ห้าทุ่ม เราก็ออกไปช่วยเขา เราโทษตัวเองทุกครั้งที่รู้สึกอ่อนแอ ไม่ได้นะ ฉันต้องเข้มแข็งเพื่อคนอื่นๆ 

“จนได้พบจิตแพทย์และเพื่อนก็มาดึงสติว่า ‘เบส ถ้ามึงตาย มึงก็ช่วยใครไม่ได้อีกต่อไปนะ’ เราเลยเริ่มหาบาลานซ์ และรับเฉพาะคดีหรือกรณีที่ต้องทำเองจริงๆ อันไหนส่งต่อได้ก็ส่งให้คนอื่น เหมือนถ่ายงานออกไป”

06

ความรุนแรงและบูรณาการศาสตร์

SHero Youth Forum เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องความรุนแรงในสังคม

“พูดง่ายๆ คือเหมือนคายตะขาบ” เบสเล่าติดตลก

“เราตั้งใจเทรนเด็กรุ่นใหม่ให้เขาได้รู้จักกระบวนการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนผ่านการลงศึกษาพื้นที่จริง เขาได้คุยกับผู้ที่เคยเป็นเหยื่อความรุนแรง ได้สัมผัสบาดแผลที่ยังคงอยู่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ได้ทำความเข้าใจรากที่แท้จริงของปัญหาว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาในสังคมเรานั้นเกิดขึ้นจากอะไร และพวกเขาได้ช่วยกันระดมความคิดว่าเราจะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ยังไงบ้าง

บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้เปลี่ยนบาดแผลจากความรุนแรงเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมแห่งความปลอดภัย ด้วยการผลักดันให้ทุกคนรักและเห็นคุณค่าตัวเอง

“อย่างครั้งที่ลงพื้นที่แม่สอด น้องๆ ได้ร่วมกันอภิปรายเรื่อง พ.ร.บ. ส่งเสริมสวัสดิภาพครอบครัวฯ ตัวใหม่ที่จะมาแทน พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ ซึ่งเน้นการไกล่เกลี่ยให้ยอมความเพื่อรักษาสถานภาพของครอบครัว อันประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และลูก ที่อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ ความกังวลที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ. นี้คือการที่ลูกๆ ของครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงจะกลายเป็นผู้กระทำเสียเองเมื่อโตขึ้น

“ตอนแรกที่คิดจะทำ Youth Forum เราตั้งใจเจาะกลุ่มเยาวชนนักกฎหมาย แต่สุดท้ายคือมีน้องๆ จากหลากหลายสาขาให้ความสนใจ ทั้งสายมานุษยวิทยา สายกฎหมาย สายสังคมสงเคราะห์ ไปจนถึงสายวิทยาศาสตร์เลย ซึ่งความหลากหลายนี้ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะในการดีลกับแต่ละคดีและกรณี มันต้องใช้หลากหลายวิชาชีพแบบนี้แหละมาบูรณาการกัน”

07

ความรุนแรงและสังคมในอนาคต

HeForShe คือแคมเปญของ UN Women ที่ SHero ได้ไปร่วมในการทำ University Tour เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องความรุนแรงออกไปสู่คนรุ่นใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย

“กิจกรรมที่เกิดขึ้นมีทั้ง Talk, Panel Discussion และ Ideation ซึ่งเป็นการเอา Design Thinking มาทำเป็นเวิร์กช็อป เราให้น้องๆ เขียน Problem Tree กระจายปัญหาเรื่องความรุนแรงออกมาให้เห็นภาพ

“ต้นตอของเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ เราเคยมองกลับไปไหมว่าจริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นจากอะไร เวลามีกรณีข่มขืน โซเชียลมีเดียก็ตื่นตัวกันเดี๋ยวเดียวกระแสก็ซาไป เราไม่ได้ย้อนมองไปในชีวิตประจำวันว่าเราปฏิบัติกับคนอื่นอย่างไร เรายัง Gender Stereotype ว่าผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้ ผู้ชายต้องเป็นแบบนี้หรือเปล่า มายาคติเหล่านั้นหรือเปล่าที่เป็นต้นตอของการทำให้ Power Imbalance มันเกิดขึ้น

บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้เปลี่ยนบาดแผลจากความรุนแรงเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมแห่งความปลอดภัย ด้วยการผลักดันให้ทุกคนรักและเห็นคุณค่าตัวเอง

“มายาคติหรือทัศนคติของเมื่อร้อยปีก่อน เช่นวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ทำไมเรายังต้องอยู่ใต้ร่มนี้ ทั้งๆ ที่บริบททางสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว ประชากรส่วนใหญ่ของโลกคือกลุ่มคนรุนใหม่แล้วทำไมเราจึงยังอยู่ในกรอบสังคมที่ คนรุ่นเก่าสร้างไว้ล่ะ ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติ ค่านิยมใหม่ๆ จะต้องเริ่มที่รุ่นเรา”

เบสกล่าวทิ้งท้ายว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้ผ่านความรุนแรงในวันนั้น ที่เล่ามานี่ไม่ได้อยากให้สงสาร คือถ้าเงื่อนไขในการจะเห็นอกเห็นใจมาจากคำว่าสงสาร จะทำให้ผู้ถูกกระทำไม่ได้รับความยุติธรรม ความถูกต้อง หลักการ เหตุผล กฎหมาย สิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นคน คุณค่า จรรยา ต่างหากที่ควรเป็นสิ่งที่ต้องยึดเหนี่ยว 

บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้เปลี่ยนบาดแผลจากความรุนแรงเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมแห่งความปลอดภัย ด้วยการผลักดันให้ทุกคนรักและเห็นคุณค่าตัวเอง

“กลายเป็นว่าพอเจอคนที่ดูไม่น่าสงสารเท่าไหร่ แต่เขาคือเหยื่อ มาขอความช่วยเหลือ คุณไม่อยากช่วย เพราะดูไม่ด่วน ไม่น่าสงสาร ไม่ใช่ Perfect Victim แบบนี้ไม่ใช่ มันคือการปิดปากเหยื่อคนอื่นๆ และทำให้คนที่ถูกกระทำไม่ได้รับความเป็นธรรม 

“ความรุนแรงระหว่างคู่รักไม่ใช่เรื่องของใครของมัน มันคือเรื่องของทุกคน เพราะมันกระทบสังคม ระบบ คุณค่า ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ที่ทำมาทุกวันนี้ไม่ได้ทำในฐานะเหยื่อ แต่ทำเพื่อแชร์พลังให้อีกหลายๆ คนที่ยังอยู่ในวังวนความรุนแรงที่เราก็เคยติดกับมันมา”

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน