คุณผู้อ่านเคยถามคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับชีวิตในอดีตของท่านไหมคะ
ซือคิดว่าเป็นเรื่องดีหากพ่อแม่ลูกคุยกันเรื่องนี้ นอกจากเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวแล้ว เรื่องราวที่พ่อแม่เล่าอาจไม่มีระบุในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มไหน เป็นประวัติศาสตร์สังคมที่สนุกดี
แม่ของซือเกิด พ.ศ. 2499 ปีนี้ก็อายุ 68 ปีพอดี
เป็น 68 ปีที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม่ผ่านวัยเด็กที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ยายก่อเตาถ่านหุงข้าว มีไม้ขัดหม้อ เป็นเจเนอเรชันที่ทันส่งโทรเลข พอทำงานก็ส่งเงินกลับไปให้ยายผ่านทางธนาณัติ ยายเขียนจดหมายมาหา เกิดทันฟังผู้ใหญ่เล่าว่าต้อง ‘ขี่ช้าง’ ไปเยี่ยมเยียนกัน ทันฟังยายเล่าว่าสมัยยายเด็ก ๆ ใต้ถุนบ้านเป็นคลอง ทำครัวอยู่ดี ๆ มีดเกิดหล่นลงน้ำ ต้องดำลงไปควานหาขึ้นมา เห็นจระเข้อยู่ไกล ๆ (คุณพระ!)
แม่เป็นคนจังหวัดสงขลาค่ะ บ้านสมัยเด็กอยู่ถนนนครใน พ่อของแม่ (คือตาของซือ) เสียไปตั้งแต่แม่ยังเด็กมาก แต่ยายก็ทำมาหากินเลี้ยงลูก 4 คนด้วยการเปิดกิจการเล็ก ๆ ที่บ้านบนถนนนครในนี่แหละค่ะ ยายเปิดร้านขายน้ำแข็งขูด (น้ำแข็งไส) ขายขนม
แม่ค้าร้านน้ำแข็งขูดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แม่ของซือเองค่ะ
คนภาคกลางเรียกน้ำแข็งไส คนใต้เรียกน้ำแข็งขูด หน้าตาอุปกรณ์สำหรับขูดหรือไสน้ำแข็งเป็นอย่างนี้ค่ะ

“ยุคต่อมามีเครื่องไสน้ำแข็งแบบหมุน แต่สมัยม้าอายุ 10 ขวบใช้แบบนี้ เวลาไสก็เอาแก้วรองข้างใต้” แม่เล่า
“ไม่ได้เอามือเปล่าจับน้ำแข็งนะ มันเย็น มือต้องจับแผ่นไม้ที่ตอกตะปูเพื่อกดก้อนน้ำแข็งไว้ แล้วขูดไป บนม้าไสจะมีใบมีดอยู่ น้ำแข็งที่ขูดแล้วจะหล่นในแก้วที่รองข้างใต้” แม่เล่าพร้อมวาดภาพประกอบให้ดู
“แล้วใครมาส่งน้ำแข็ง ส่งยังไง เก็บที่ไหนอะ”
“คนส่งชื่อ น้าสาร มาส่งถึงบ้านเลย 9 โมงก็มาละ เป็นก้อน ๆ เก็บไว้ในลังไม้ ในลังเทแกลบไว้ เอาน้ำแข็งวางลงไป มีกระสอบป่านปิด แล้วก็ปิดฝาลัง ลูกค้าสั่งค่อยยกออกมาล้าง แล้วค่อยขูด” แม่อธิบาย พร้อมเดินไปค้นไม้บรรทัดในตู้มาบอกขนาดก้อนน้ำแข็ง
“น้ำแข็งก้อนใหญ่นะ ยาวสักฟุตหนึ่ง กว้าง 1 ฝ่ามือ สูงประมาณเท่านี้” แม่ทำมือให้ดูว่าราว 4 – 5 นิ้ว
นับว่าก้อนใหญ่ทีเดียวสำหรับเด็กผู้หญิง แต่แม่คงยกจนชินแล้ว
แม่ยังเล่าด้วยว่าน้ำแข็งสมัยนั้นมีทั้งแบบเป็นก้อน (สำหรับร้านน้ำแข็งขูดของแม่) และแบบบดแล้ว ร้านที่ต้องการน้ำแข็งแบบนี้คือพวกร้านกาแฟหรือบางบ้านที่ต้องการเอาไปแช่ของ
แม่บอกน้ำแข็งสมัยนั้นก้อนละบาท น้ำแข็งขูดแก้วละสลึงหรือ 25 สตางค์
“โห น้ำแข็งก้อนตั้งใหญ่ ก้อนละบาท ขาย 4 แก้วก็คืนทุนแล้วไหม” ซือว่า “ก้อนหนึ่งน่าจะขายได้สัก 20 แก้วปะ”
“แหม มันก็มีร่วง ๆ ไปบ้าง บางทีก็ละลายไปเฉย ๆ” แม่บอก
นอกจากน้ำแข็งแล้วยังต้องมีเครื่องเครา ซึ่งยายจะทำเตรียมไว้ให้ ยายไปตลาดทุกวันเพราะที่บ้านไม่มีตู้เย็น จ่ายตลาดมาทั้งสำหรับทำกินเองและไว้ขายด้วย
เครื่องที่ยายทำก็มีสับปะรดเชื่อม มันเชื่อม กล้วยเชื่อม ลูกชิด ถั่วคั่ว เหล่านี้คือยืนพื้น เม็ดแมงลักมาแจมบ้างเป็นบางวัน
พอลูกค้าสั่ง แม่จะตักเครื่องใส่แก้ว ขูดน้ำแข็งใส่ ราดน้ำเชื่อม บางทีก็น้ำหวานสีแดงหรือเขียว (ที่ยายทำเองเช่นกัน ยุคนั้นยังไม่มีเฮลซ์บลูบอย) เป็นอันเสร็จพิธี สนนราคาแก้วละ 1 สลึง ใครสั่งเครื่องเยอะก็ 2 สลึง ในยุคที่ก๋วยเตี๋ยวราคาชามละบาท
ยายทำน้ำเชื่อมเอง โดยใส่น้ำตาลทรายในหม้อ เติมน้ำเล็กน้อย ไข่ขาวตามลงไป
“ใส่ไข่ขาวด้วยเหรอ ใส่ทำไม” ซือถาม
“น้ำตาลมันจะมีสิ่งสกปรกอยู่ใช่มั้ย สมัยนั้นไม่มีหรอกน้ำตาลมิตรผงมิตรผล ซื้อน้ำตาลมาจากตลาด ก็ใส่ไข่ขาวลงไปกวน ๆ แป๊บหนึ่งสิ่งสกปรกจะติดไข่ขาวลอยขึ้นมา เราก็ตักออก” แม่บอก
ซือตาสว่าง สมัยเรียนทำอาหารที่โรงเรียนหลักสูตรฝรั่ง เขาสอนทำซุปใสชื่อ Consommé ต้องใส่ไข่ขาวลงไปช่วยดักจับตะกอน จนได้น้ำซุปใสกิ๊ง
ตลอดชีวิตก็นึกว่านั่นคือวิธีของฝรั่ง ปรากฏว่าไม่ใช่ ยายเราทำมาตั้งนานละ เป็นสิ่งที่น่าหาคำตอบอย่างมากว่า นอกจากครัวไทยแล้วมีชาติอื่นอีกไหมที่ใช้เทคนิคนี้ ผู้อ่านท่านใดทราบช่วยบอกกันหน่อยนะคะ
พอน้ำตาลสะอาดดีแล้วค่อยเติมน้ำลงไป ต้มให้เดือด ได้น้ำเชื่อมไว้ตักราดเวลาขาย
อุปกรณ์ตักน้ำเชื่อมของแม่คือ ‘พ้อ’ ภาษาใต้เรียก ‘ผ่อ’ คนภาคกลางก็เรียกกระบวยนั่นเองค่ะ
ที่น่าทึ่งคือแม่ยังเก็บเจ้าสิ่งนี้ไว้ค่ะคุณผู้อ่าน
แม่เดินไปหลังบ้าน หยิบมาให้ดู ซือยกมือไหว้ 1 ทีเพราะสิ่งนี้อายุแก่กว่าเราอีก หน้าตาเป็นแบบนี้ค่ะ

ดูจากวัสดุแล้วน่าจะเป็นทองแดง แม่เล่าว่ามือจับเคยหักไป แล้วพี่ชายของแม่ (ซือเรียกอากู๋) หาเหล็กมาทำมือจับใหม่ให้ตามในภาพ บัดกรีให้เรียบร้อย
“โห ม้าห้ามทิ้งเลยนะสิ่งนี้ ต้องเก็บไว้ เป็นประวัติศาสตร์ครอบครัว” ซือทึ่งมากจริง ๆ ที่เห็นอุปกรณ์ขายขนมของแม่
น้ำแข็งขูด 1 แก้ว แม่จะตักน้ำเชื่อมด้วยอุปกรณ์นี้ราดให้ลูกค้า 1 ตัก
“แต่วันไหนยายเขามัวแต่ทำกับข้าว เชื่อมข้นไปหน่อย เขาจะบอกว่าไม่ต้องตักเต็มมาก เดี๋ยวหวานไป คนเชื่อมเขาจะรู้ เขาจะบอก ไม่ต้องเต็มผ่อ” แม่ว่า
น้ำหวานแดงกับเขียวสำหรับราด ยายก็ทำเอง เอาน้ำเชื่อมที่ทำนั่นแหละมาผสมสีสำหรับทำขนม ทำใส่ขวดไว้เหมือนขวดแม่โขง พอหมดก็ทำเพิ่ม
ราดน้ำเชื่อมแล้วสิ่งสุดท้ายที่โรยคือถั่วคั่ว ซึ่งก็ทำเองอีกนั่นแหละ
แม่อธิบายวิธีทำถั่วคั่วที่คนยุคนี้อาจจะบอกว่ายุ่งยาก เริ่มจากเอาถั่วลิสงที่ยังติดเปลือกอยู่มาคั่วกับทรายให้สุก เสร็จแล้วเอาไปร่อนกระด้งให้ทรายหลุดออก เหลือแต่ถั่ว ใส่ถั่วในถาด (ถาดเคลือบลายดอกไม้สุดคลาสสิกนั่นแหละค่ะ) มีไม้ที่เอาไว้คลึงให้เปลือกถั่วหลุดออก เสร็จแล้วก็ทำการ ‘ฝัด’ คือยกกระด้งขึ้น ๆ ลง ๆ ให้เปลือกถั่วหลุดออก เหลือแต่ถั่วคั่วหอม ๆ
“ถั่วคั่วเนี่ยยายทำแทบทุกวัน ทำไปขายไป วันไหนของพร่องก็ทำเติม” แม่เล่า “เขาไปตลาดตอนเช้า กลับมาก็ทำกับข้าว ทำของขาย ลูกค้าก็มาซื้อเรื่อย ๆ ม้ากลับมาจากโรงเรียนตอนบ่ายถึงมาช่วย” แม่เล่า
นี่คือยายของซือค่ะ 😊 ชื่อ ยายอิ่ม แท่งทอง

“ทั้งชื่อทั้งนามสกุลยายฟังดูดีเนาะ นอกจากอิ่มแล้วยังมีทองด้วย” ซือเคยแซวแม่เช่นนี้ ชื่อคนโบราณก็อย่างนี้นะคะ พยางค์เดียว อ่านง่าย ออกเสียงง่าย ความหมายดี ชอบจัง
เคยถามว่ายายเป็นอะไรกับ พี่แท่ง-ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง แม่บอกไม่ต้องดีใจไป ไม่เกี่ยวอะไรกันเลยเพราะอำเภอเขียนผิด ที่จริงคือ ‘แท่นทอง’ โถ นึกว่าเราจะเป็นญาติกับดารา
วิธีขายของยุคนั้น คือยายไม่ต้องเฝ้าหน้าร้าน
แม่เล่าว่า “ยายเขาวัน ๆ อยู่แต่ในครัว ลูกค้ามาก็เรียกหน้าร้าน ป้าอิ่มมมมมม น้ำแข็งงงงงง บางคนเดินไปเรียกหลังบ้านเลย” เป็นความน่ารักของการค้ายุคนั้นที่แท้ทรู
แม่จะมารับไม้ต่อตอนโรงเรียนเลิก ตอนนั้นอายุสัก 10 ขวบ เลิกเรียนกลับบ้าน อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ถ้าไม่อาบยายก็จะไล่ไปอาบ (เนื่องจากยายเป็นคนสะอาดชนิดว่า ไปตลาดจะซื้อของ เห็นคนขายนั่งกินหมากปากแดง หรือผ้าขี้ริ้วในร้านสกปรก ยายก็จะไม่ซื้อ) แล้วมานั่งขายน้ำแข็งหน้าบ้าน ทำการบ้านไปขายของไป จนเริ่มมืดค่อยเก็บร้าน
ลูกค้าก็คือเด็ก ๆ แถวบ้าน เพื่อน ๆ กัน บางทีลูกค้ากับแม่ค้าก็นั่งเล่นหมากฮอสกันเสียเลย เป็นสาเหตุที่แม่ซือเล่นหมากฮอสเก่งมากค่ะ
“ถ้าลูกค้าเด็ก ๆ เขาจะมานั่งรอ เล่นไปรอไป แต่ลูกค้าผู้ใหญ่เขาจะไม่รอ จะให้ไปส่งที่บ้าน บางบ้านสั่ง 4 – 5 แก้ว ก็ทำใส่พวงไป (คล้ายพวงเครื่องปรุงร้านก๋วยเตี๋ยวสมัยนี้) พวงหนึ่งใส่ได้ 4 แก้ว อีกแก้วก็ถือไป มีช้อนให้” แม่อธิบาย
แก้วที่ว่าเป็นแก้วก้นสอบเหมือนแก้วกาแฟโบราณนั่นแหละค่ะ กินเสร็จลูกค้าก็คืนแก้ว บางทีแม่ไปส่งน้ำแข็งบ้านหนึ่ง ก็แวะรับแก้วคืนของอีกบ้านมาด้วยกันเสียทีเดียว
แม่เล่าว่าบางบ้านแม่ไปส่งน้ำแข็งแล้วก็ขอแวะสักนิด เพราะเป็นบ้านที่จ้างครูมาสอนพิเศษ
“มีบ้านหนึ่งเปิดสอนพิเศษ มีกระดานดำ เด็กที่เรียนก็เพื่อน ๆ กัน แต่เราไม่มีตังค์เรียนไง ไปส่งน้ำแข็งแล้วก็นั่งฟังเขาแป๊บหนึ่ง อีกบ้านมีฝรั่งมาสอนภาษาอังกฤษ เราก็ถือโอกาสนั่งฟัง” แม่เล่า
ไม่ต้องห่วงร้าน เพราะยายก็อยู่หลังบ้านนั่นแล ลูกค้ามาก็เรียกเอา
แม่ยังเล่าถึงบรรยากาศการค้าขายสมัยนั้นว่า ในชุมชนจะมีถนน 3 สายขนานกัน เป็นถนน ‘การค้า’ ของย่าน ได้แก่ ถนนนครนอก นครใน และถนนนางงาม เดินถึงกันได้หมดเพราะไม่ไกลมาก บ้านของยายที่เปิดเป็นร้านน้ำแข็งขูดนี้อยู่ถนนนครในค่ะ
สมัยนั้นหลายบ้านก็เป็นบ้านขายของ แม่บอกว่าไม่มีหรอกเซว่งเซเว่น ร้านชำก็ไม่ค่อยมี
“บางบ้านขายขนมครกตอนเช้า อีกบ้านขายน้ำเต้าหู้ เราก็เอาหม้อเดินไปซื้อ เขาขายอย่างเดียวนี่แหละ บางบ้านขายกล้วยปิ้ง มันปิ้ง ถั่วต้ม ถั่วคั่ว อีกบ้านขายผงพะโล้ ทำเองนะไม่ได้รับมา เขาจะตักใส่กระดาษแล้วพับให้ ห่อละ 50 สตางค์ หรือ 1 บาทก็มี” แม่เล่า
“มีบ้านที่ขายเส้นหมี่ วันไหนยายจะผัดหมี่ก็สั่งม้าให้เดินไปซื้อ (เส้นหมี่เรียกว่า ‘บี่หุ้น’) อีกบ้านขายเกลือ ยายจะสั่งว่า ‘ไปซื้อเกลือบ้าน พี่ไพ มาสักบาท’ บางบ้านขายน้ำส้มโหนด (น้ำส้มสายชูจากตาลโตนด) ขายพุงปลา”
“โห งั้นไม่ต้องไปตลาดก็ได้มั้ย เดินทุกถนนก็ได้กับข้าวครบแล้ว” ซือถาม
“ไม่ขนาดนั้น บางอย่างก็ต้องไปซื้อตลาด”
ส่วนร้านของแม่หรือของยายนี้ เรียกได้ว่าเป็น Monopoly ด้านน้ำแข็งขูดและขนม เพราะไม่มีบ้านไหนที่เปิดขายน้ำแข็งขูดหรือขนมเลย น่ารักดีนะคะ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เขาไม่ขายแข่งกัน
นอกจากน้ำแข็งขูดแล้วยายยังซื้อขนมถุงเล็ก ๆ มาจากตลาด ประเภทบ๊วย ลูกอม ท็อฟฟี่ ขนมถุงเล็ก ๆ มีลวดเย็บกระดาษติดแผงไว้ ลูกค้าเด็ก ๆ ก็จะดึงไปจ่ายเงิน ถุงละสลึงค่ะ
ถึงฤดูมะม่วงเบา ยายจะทำมะม่วงน้ำจิ้มมาขายด้วย ใช้มะม่วงเบาดิบ หาช่ออ่อน ๆ สวย ๆ ยายจะซื้อมาช่อสองช่อ หั่นใส่ชาม ก่อนราดน้ำจิ้มทำเองเช่นกัน ปรุงด้วยน้ำตาลโตนดเคี่ยวในกระทะ เติมเค็มด้วยน้ำปลาดี โรยกุ้งแห้งป่น (ตำเองในครก) เพราะไม่มีเครื่องปั่น ผลไม้อีกอย่างที่ยายซื้อมาทำขายคือกระท้อนค่ะ ราดน้ำจิ้มเหมือนมะม่วง
แม่เล่าว่า พ.ศ. 2502 ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ สงขลา คนมากันมืดฟ้ามัวดิน เป็นวันที่น้ำแข็งและขนมขายดีมาก ขายหมดเกลี้ยง
ตอนนั้นแม่ยังเด็กเกินกว่าจะขายน้ำแข็งขูด อายุเพียง 3 ขวบ คนขายจึงเป็นบรรดาพี่ชายของแม่ (แม่มีพี่ชาย 3 คน) ซึ่งซือเรียกอากู๋ อายุสัก 10 กว่าขวบ ขูดน้ำแข็งกันจนเมื่อยมือ ได้เงินมาก็ใส่ถุงเอาไปให้ยาย สมัยนั้นยังมีแบงก์บาท
เนื่องจากแม่เป็นเด็กผู้หญิงจึงต้องขายของอยู่บ้าน แต่บรรดาพี่ชายจะออกไปขายนอกบ้าน เช้า ๆ ก่อนไปโรงเรียนก็ไปรับปาท่องโก๋ขาย เอากระด้งไปคนละใบนี่ล่ะ คู่ละ 50 สตางค์ รับไป 10 คู่ ไม่หมดก็ยังไม่กลับ แล้วก็ยังมีถั่วต้มกับถั่วคั่ว ยายจะทำใส่กระด้งให้ เอาไปคนละกระด้ง
ถั่วนั้นยายจะห่อด้วยกระดาษขาว พับเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งแม่บอกว่ายายพับสวยมาก เป็นทักษะที่แม่รับมาเต็ม ๆ เพราะแม่จะเก่งเรื่องงานฝีมือมาก (แต่ซือไม่ได้รับมาเลยค่ะ ฮา)
บรรดาอากู๋ของซือจึงรู้จักทุกซอกทุกมุมของชุมชนเป็นอย่างดี เดินกันทั่ว บางทีเหลือถั่ว 2 – 3 ถุง อากู๋อยากจะรีบไปเล่นก็แอบเอาไปใส่ในกระด้งของพี่ชายให้ขายต่อ ซึ่งแกก็จะไม่ว่าอะไรเพราะใจดี อยากให้น้องได้ไปเล่น
แม่จบเรื่องเล่าด้วยการบอกว่า “แต่ละบ้านมีตำนานของตัวเอง หลายบ้านขายกันข้ามรุ่น ลูกหลานรับช่วงต่อ แต่บางบ้านก็ไม่ มีบ้านหนึ่งขายอุปกรณ์พระ สังฆภัณฑ์น่ะ ทุกวันนี้เห็นก็ยังขายอยู่ แต่น่าจะเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว”
ส่วนบ้านที่ขายเกลือ ทุกวันนี้ตัวบ้านพังไปแล้ว เหลือไว้แต่เพียงภาพในความทรงจำของแม่
เด็กผู้หญิงมือขูดน้ำแข็งคนนั้นโตมาเป็นพยาบาลห้องผ่าตัดค่ะ เจอกับพ่อของซือก็ในห้องผ่าตัดนี่เอง โรแมนติกไม่เหมือนอาชีพใดในโลกหล้า
ซือขอรูปแม่ในช่วงอายุที่ขายน้ำแข็งมา รูปถ่ายวัยเด็กของแม่มีน้อยมาก ขุดมาได้ 2 รูปค่ะ


หวังว่าคุณผู้อ่านคงจะได้แรงบันดาลใจไปคุยกับผู้ใหญ่ในบ้านบ้างนะคะว่าชีวิตวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว เป็นอย่างไร ซือคิดว่าคงจะดีถ้าเรามีเรื่องเล่าเหล่านี้มากขึ้น ภาพถ่ายเก่าก็เช่นกันค่ะ มีเรื่องราวหลายอย่างเบื้องหลังภาพเหล่านั้น
เรื่องราวเหล่านั้นคือรากของเรา ครอบครัวของเรา สนุกดีเหมือนกันนะคะ
ทุกวันนี้ซือยังกินน้ำแข็งไสใส่เครื่องกับแม่เป็นประจำแทบทุกวันเสาร์ แม่ไม่ค่อยชอบกินขนมอะไรเพราะไม่ชอบกินหวาน แต่น้ำแข็งไสนี่ขอให้บอกค่ะ
นอกจากหวานเย็นชื่นใจแล้ว ยังได้นึกถึงอดีตเก่า ๆ ที่แสนดีค่ะ : )