เมื่อพูดถึงความท้าทายของสังคมทุกวันนี้ หนึ่งในคำที่เราได้ยินกันบ่อยคือ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ประเทศไทยก็เช่นกัน ในปี 2022 เรามีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 18.3 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนประชากรทั้งหมดแล้ว

เมื่อคนในสังคมเข้าสู่วัยสูงอายุมากกว่าเดิม ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือ การที่คุณตาคุณยายต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและสุขภาพไม่แข็งแรง

คำถามสำคัญที่ตามมาคือ เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ที่เจอความท้าทายไม่แพ้กัน จึงริเริ่มโปรเจกต์ที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมพลังชื่อว่า ‘Share a Pot’ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัย

ซุปร้อน ๆ 1 หม้อ จะมีพลังช่วยแก้ปัญหาที่คุณตาคุณยายต้องเจอได้อย่างไร ลองมาเรียนรู้ไปด้วยกันค่ะ

Share a Pot โปรเจกต์ดูแลกายใจผู้สูงวัยโดดเดี่ยวในสิงคโปร์ด้วยการกินซุปร้อน ๆ ร่วมกัน

ปัญหาใหญ่เริ่มแก้ได้จากหม้อซุปเล็ก ๆ

สิงคโปร์กำลังจะมีประชากร 1 ใน 4 มีอายุเกิน 65 ปี ในปี 2030 ด้วยเหตุนี้ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจึงให้ความสนใจกับความท้าทายนี้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ทีมงานจากโรงพยาบาล Khoo Teck Puat 

พวกเขาคิดจะช่วยให้คุณตาคุณยายมีความเป็นอยู่ที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ผ่านโปรเจกต์ที่ออกแบบโดยเริ่มต้นจากความทรงจำในอดีต นั่นคือการล้อมวงกินข้าว 

สิงค์โปร์ไม่ต่างจากเมืองไทยที่ครอบครัวจะมารวมตัวกินข้าวด้วยกัน เพียงแต่บ้านเราอาจมีกับข้าวหลากหลายวางอยู่พร้อมจานข้าว สิงคโปร์อาจเป็นการล้อมวงกินซุปร้อน ๆ หม้อใหญ่

ทีมงานของโรงพยาบาลได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ทำกันมาแต่เดิมนั้น และคิดจะนำบรรยากาศการล้อมวงกินข้าวเย็นด้วยกันกลับมา 

ในปี 2014 โปรเจกต์เล็ก ๆ ชื่อ Share a Pot จึงเกิดขึ้นที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ St. Luke ในรูปแบบ Community-based เพื่อให้คุณตาคุณยายที่อาจไม่เชื่อมโยงจากสังคมและสุขภาพไม่แข็งแรง ได้เจอ ‘บ้าน’ ของตัวเองอีกครั้ง

Share a Pot การแก้ปัญหาผู้สูงอายุโดดเดี่ยวด้วยการชวนมากินอาหารดี ๆ และออกกำลังกายร่วมกัน โดยอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้สูงวัยเช่นกัน
Share a Pot การแก้ปัญหาผู้สูงอายุโดดเดี่ยวด้วยการชวนมากินอาหารดี ๆ และออกกำลังกายร่วมกัน โดยอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้สูงวัยเช่นกัน

อิ่มท้อง อุ่นใจ

หม้อหุงข้าวขนาดใหญ่ถูกวางลงกลางโต๊ะกินข้าว ในหม้อนั้นมีซุปร้อน ๆ ที่เต็มไปด้วยผักและวัตถุดิบดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซุปถูกตักแจกจ่ายรอบโต๊ะที่มีคนวัยคุณตาคุณยายนั่งอยู่ พวกเขาตักซุปเข้าปากพร้อมพูดคุยสนทนากัน บรรยากาศอบอุ่นน่าสบายเหมือนยามเย็นที่เรากับครอบครัวได้นั่งล้อมวงกินข้าว

ซุปร้อน ๆ ของ Share a Pot ไม่เพียงให้สารอาหารที่มีประโยชน์ แต่ช่วยให้คุณตาคุณยายได้กลับมาปฏิสัมพันธ์กับสังคม คลายความเหงาที่มีรายงานระบุว่า อันตรายต่อสุขภาพเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน 

“ผู้สูงอายุมักจะพบกับ ‘รังที่ว่างเปล่า’ หลังพวกเขาเกษียณ” Tan Shi Hui ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโปรเจกต์ Share a Pot อธิบาย “เมื่อไม่มีคนนั่งกินข้าวด้วย ผู้สูงอายุหลายคนก็ขาดแรงจูงใจที่จะทำอาหารกิน และเลือกกินเมนูง่าย ๆ ซ้ำ ๆ อย่างบิสกิตหรือขนมปังแทน”

นอกจากรวมตัวกินข้าวด้วยกัน คุณตาคุณยายที่มาเจอกันในโปรเจกต์ซึ่งเกิดขึ้นเป็นรายสัปดาห์นี้ยังได้มาออกกำลังกายด้วยกัน และเมื่อกลับบ้าน ก็จะให้พวกเขาคอยวัดจำนวนก้าวที่เดินในแต่ละวันเพื่อนำมาแลกรางวัลได้ 

Share a Pot การแก้ปัญหาผู้สูงอายุโดดเดี่ยวด้วยการชวนมากินอาหารดี ๆ และออกกำลังกายร่วมกัน โดยอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้สูงวัยเช่นกัน

ที่สำคัญ สิ่งที่ทำให้ Share a Pot ไม่เหมือนใคร คือโปรเจกต์เรียบง่ายนี้ดำเนินงานโดยอาสาสมัครที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุนั่นเอง

“อาสาสมัครส่วนใหญ่ก็คือผู้สูงอายุ” Tan Shi Hui อธิบาย “บทบาทของผู้ร่วมกิจกรรมและอาสาสมัครค่อนข้างลื่นไหล เพราะแม้แต่ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมก็ช่วยกันล้างจาน และจัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมด้วย” 

Share a Pot จึงเป็นโปรเจกต์ที่ช่วยเยียวยาปัญหาของสังคมผู้สูงอายุในหลากหลายมิติ พร้อมกับที่ชวนให้คุณตาคุณยาย Active อย่างเต็มความหมายในเวลาเดียวกัน

การเติบโตของซุป 1 หม้อ

จากช่วงทดลองจัดที่มีอาสาสมัครแค่ 6 คน Share a Pot เติบโตไปได้อย่างสวยงาม ในปี 2019 หม้อซุปแสนอบอุ่นนี้ได้มีโอกาสวางลงบนโต๊ะกินข้าวในมากกว่า 30 พื้นที่ทั่วสิงคโปร์ มีผู้เข้าร่วมรวมมากกว่า 1,700 คน รวมถึงมีอาสาสมัครที่เป็นผู้สูงอายุเกือบ 180 คน (แม้หลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงโควิด-19 ซึ่งจัดกิจกรรมในสถานที่จริงยาก ก็ยังมีการเปลี่ยนมานัดพบกันแบบออนไลน์)

ทั้งนี้ ขณะที่ก้าวไปข้างหน้า Share a Pot ก็ยังคงรักษาหัวใจความเป็น Community-based ไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งการมีอาสาสมัครหลากหลาย เช่น พ่อค้าแม่ค้าขายอาหาร รวมถึงเด็กนักเรียนที่ทำให้ Share a Pot กลายเป็นพื้นที่สานสัมพันธ์ของคนต่างวัย และการที่หม้อใบนี้เปิดโอกาสให้แต่ละชุมชนได้ร่วมออกแบบ 

“โครงสร้างของโปรแกรมนี้ไม่ได้เป็นแบบโครงสร้างเดียวสำหรับทุกชุมชน และไม่ได้สมบูรณ์แบบมาแต่ต้น” Tan Shi Hui กล่าว “ชุมชนมีส่วนร่วมในการเติมเต็มช่องที่ว่างอยู่ เช่น จะทำเมนูอะไรกินกันในแต่ละสัปดาห์ จะออกกำลังกายอะไรกันดี และจะเล่นเกมหรือจัดกิจกรรมอะไร ทั้งหมดนี้ช่วยให้คนในชุมชนเป็นเจ้าของโปรแกรมนี้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของพวกเขา”

ด้วยเหตุนี้ หม้อซุป Share a Pot ที่ดูเรียบง่าย เข้าใจง่าย ไม่หวือหวาใบนี้ จึงหมายถึงโปรเจกต์อบอุ่นที่แก้ปัญหาตรงจุด และมีศักยภาพให้ทุกชุมชนนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

ซึ่งนั่นรวมถึงชุมชนที่คุณอยู่ด้วยค่ะ

Share a Pot การแก้ปัญหาผู้สูงอายุโดดเดี่ยวด้วยการชวนมากินอาหารดี ๆ และออกกำลังกายร่วมกัน โดยอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้สูงวัยเช่นกัน
อ้างอิง

 

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN