ต้อม-สุธารัตน์ สินนอง ฝันอยากมีบ้านตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ ความรู้สึกอยากมีบ้านเป็นของตัวเองทวีความจริงจังมากขึ้นหลังการเดินทางนับครั้งไม่ถ้วนทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยอาชีพนักการละครของเธอ และเมื่อวันหนึ่งขณะต้อมร่วมกระบวนการทำละคร ได้ใกล้ชิดกับละครหุ่นเงา Shadow Puppet เธอก็หลงรักมันจนหัวปักหัวปำ จนอยากใช้เวลาทั้งหมดในชีวิตอยู่กับแสงและเงาเหล่านี้ ความรู้สึกอันเปี่ยมพลังนี้เองที่ทำให้ต้อมมองหาที่ดิน ทำงานเก็บเงิน แล้วลงแรงเป็นลูกมือร่วมสร้างบ้านของเธอกับสล่าหรือช่างชาวบ้านคนหนึ่งในเชียงใหม่

นี่คือเบื้องหลังเรื่องราวของบ้านที่เริ่มต้นด้วยเงิน 80,000 บาท กับเวลา 8 วัน บ้านที่เธอเรียกมันว่า ‘โรงบ่มแสง’ และการทำงานภายใต้ชื่อ Homemade Puppet

เงิน 80,000 บาท เวลา 8 วัน สู่ ‘บ้านบ่มแสง’ บ้านที่เล่นละครได้ทุกมุมของศิลปินหุ่นเงา

“ถ้าเรามีกำลัง ทุกอย่างมันจะง่าย สมมติว่าถ้าต้อมมีเงิน แค่ดีดนิ้วอยากได้อะไรก่อนก็ได้ แต่ว่าพอเรามีน้อย สิ่งสำคัญก็คือว่าต้องอดทน ต้องรอ เพียงแต่จะรอแบบไหน รอแบบว่าวันหนึ่งจะมี หรือรอไปเรื่อย ๆ สำหรับต้อม การรอ เราเห็นภาพว่าวันหนึ่งมันจะเป็นแบบที่เราอยากได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสตางค์เข้ามา เราก็รู้ว่าจะเอาเงินไปไว้ตรงไหน ยังไง” 

นักละครคนนี้ทำงานแบบฟรีแลนซ์ รายได้ที่เข้ามาจึงมาเป็นก้อน ๆ มาเป็นช่วง ๆ และต้องจัดสรรการใช้จ่ายให้พอเหมาะพอดีหากต้องการอะไรใหญ่ ๆ อย่างที่ดินหรือบ้าน

เธอเล่าย้อนที่มาว่าจากความสนใจละครในวัยเด็ก ทำให้เธอเข้าร่วมเรียนรู้และทำงานกับกลุ่มละครมะขามป้อมสมัยเป็นนักศึกษารามฯ และต่อเนื่องขยับขยายการงานด้านการละครกว้างออกไป ทั้งละครเพื่อการพัฒนาเยาวชน ละครหุ่น ละครข้างถนน ละครเวที ละครทีวี ภาพยนตร์ จนมาถึงหุ่นเงา 

“พอถึงจุดหนึ่งก็คิดว่าอยากทำหุ่นเงาทุกวัน ไม่อยากทำอย่างอื่นแล้ว” ซึ่งช่วงนั้นต้อมกำลังทำโปรเจกต์ละครกับโรงเรียนที่เชียงใหม่ 2 แห่ง คือในเมืองหนึ่ง และในอำเภอเชียงดาวอีกหนึ่ง

ช่วงเวลานั้นเองที่เธอตัดสินใจว่าจะปักหลักที่เชียงใหม่ เริ่มมองหาที่ทางและเชื่อว่า ถ้าวันหนึ่งที่ดินตรงไหนเหมาะ เธอจะพบกับมันเอง จากเชียงดาวเธอได้มาทำโปรเจกต์กับ มานูเอล ลุทเกนฮอสท์ (Manuel Lutgenhorst) ที่ Empty Space แถวน้ำบ่อหลวง และอยู่อาศัยที่นั่นในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะพบที่ดินที่ว่าใช่ แล้วตัดสินใจซื้อโดยมีเพื่อนใจดีให้ยืมเงินมาก่อน ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในช่วงพยายามหาทางใช้เงินคืนเพื่อนให้หมด

เงิน 80,000 บาท เวลา 8 วัน สู่ ‘บ้านบ่มแสง’ บ้านที่เล่นละครได้ทุกมุมของศิลปินหุ่นเงา

“อยากมีบ้าน อยากมีที่ของตัวเอง พอมาได้ที่ดินตรงนี้ก็คิดว่ามันเหมาะกับเรามาก เพราะค่อนข้างเป็นส่วนตัว ไม่ค่อยมีใครเห็น บางช่วงต้อมก็ปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นสูงจนทางเข้าแทบเข้าไม่ได้เลยนะ

“ต้อมไปทำงานแล้วได้เงินมาหนึ่งก้อน 80,000 บาท ก็คิดว่า 80,000 ทำอะไรได้บ้าง เพราะเราอาศัยบ้านเขาอยู่ก็เกรงใจ ลองไปเดินดูตามร้านขายไม้เก่าว่าจะทำอะไรได้บ้าง กะว่าแค่เล็ก ๆ พออยู่ได้ก่อนแล้วกัน ไปเห็นโครงของบ้านไม้ที่ตั้งเสาไว้ 6 เสา มีพื้นไม้ชั้นสอง มีหลังคาสูง มีบันไดด้านนอกบ้าน แต่ยังไม่มีฝาผนัง มีแค่โครงเลย เราก็เฮ้ย นี่มันบ้านของเรานี่!!

“ต้อมถามลุงเจ้าของ เขาไม่ขายเพราะตั้งใจทำเป็นบ้านสำเร็จเสร็จก่อน แล้วค่อยขายยกหลังแบบบ้านน็อกดาวน์ ตั้งโครงไว้กำลังจะทำต่อ เราก็บอกว่า ‘ไม่ได้หรอกลุง นี่มันบ้านหนู ขายให้หนูนะ’ จากนั้นก็ให้เพื่อนขี่มอเตอร์ไซค์พาไปดูทุกเย็นเป็นอาทิตย์ ๆ เลย ไปแล้วก็ขึ้นไปนั่งบนชั้นสอง แล้วก็พูดว่า ลุง นี่มันบ้านหนู ยังไงลุงก็ต้องให้หนู

“ไปจนวันที่ 8 ‘เอาจริง ๆ ใช่ไหม’ ลุงถาม

“เอาจริง ๆ ลุง แต่หนูมีเงินเท่านี้ ลุงขายเท่าไหร่

“จริง ๆ เขาน่าจะขายแพงกว่านั้น แต่เราก็บอกว่ามี 80,000 ลุงให้อะไรต้อมได้มั่ง ลุงก็บอก ‘เอ้า! ขายน้องก็ได้’ แล้วแกก็รื้อบ้านมาติดตั้งบนที่ดินให้ด้วยนะ”

เมื่อโครงบ้านเริ่มมา ก็เป็นจังหวะที่งานเริ่มเข้า เธอค่อย ๆ สะสมเงินซื้อบานหน้าต่าง ประตูเพิ่ม และขอให้ลุงช่างเป็นคนสร้างให้ โดยที่เธอเป็นลูกมือทุกอย่าง ขนดิน ขนปูน ขนไม้ ร่วมทำงานไปด้วย

เงิน 80,000 บาท เวลา 8 วัน สู่ ‘บ้านบ่มแสง’ บ้านที่เล่นละครได้ทุกมุมของศิลปินหุ่นเงา

“ตอนลุงถามว่าหน้าตาบ้านจะเป็นยังไง ต้อมก็วาดบนพื้นให้ดูว่า จะทำแบบนี้ ๆ นะ วิธีอธิบายแบบบ้านของต้อมก็เหมือนเล่นละคร คือแสดงให้ลุงดูว่า นี่นะ ประตูต้องเปิดอย่างนี้ หน้าต่างอย่างนี้ ชั้นบนพื้นไม้เปิดช่องให้โล่งอย่างนี้นะ แล้วก็ถามว่า ลุง ๆ ตรงช่องว่างนี้ ถ้ามเอาผ้ามาห้อยลงมาจากหลังคา ให้ต้อมปีนผ้าขึ้นลงได้ ไม้หลังคาจะรับน้ำหนักได้ไหม ลุงก็จะถามว่าแล้วทำไมต้องปีนผ้า น้องก็ใช้บันไดสิ (หัวเราะ) 

“แรก ๆ ลุงงงว่าทำไมเราทำอะไรแปลก ๆ แต่พอทำไปสักสองสามเดือนเขาก็เริ่มสนุกและมีไอเดียมานำเสนอ

“ตอนนั้นเงินก้อนสุดท้ายที่ทำให้บ้านเสร็จได้คือต้อมได้ไปเล่นละครหุ่นเงาที่โปแลนด์ 3 เดือน แสดงอยู่ 40 รอบในโรงละครเล็ก ๆ โดยมีกลุ่มคนดูเป็นเด็ก ๆ คือเงินไม่ได้เยอะนะคะ แต่เรารู้สึกดีมาก สนุกและเป็นสิ่งที่อยากทำ คือแสดงเรื่องเดียว มีคนมาดูได้ต่อเนื่อง แล้วเงินก้อนนี้ก็เกิดเป็นครัวกับห้องน้ำ ซึ่งเป็นส่วนปูนทั้งหมด”

ถามเธอว่าบ้านรูปทรงนี้เหมือนที่เคยฝันถึงไหม เธอตอบว่าคล้าย ๆ อยู่ เพราะตั้งแต่เด็กเธออยากได้บ้านแบบโรงนา (Barn) มีพื้นที่โล่ง ๆ ให้เล่นละครได้ ขึงฉากได้ ลองเงาได้ จัดเวิร์กชอปได้ มีครัวเล็ก ๆ เพราะชอบทำอาหาร-ทำขนม ไม่แพ้กับเล่นละครและทำงานศิลปะ

เงิน 80,000 บาท เวลา 8 วัน สู่ ‘บ้านบ่มแสง’ บ้านที่เล่นละครได้ทุกมุมของศิลปินหุ่นเงา

สร้างบ้านให้เป็นโรงละคร

“อยากทำบ้านให้เป็นที่เล่นละครได้ จะเล่นทุกที่ที่บ้าน เป็นโรงละครแบบเราที่เราทำด้วยตัวเอง ทำให้เป็นแบบที่เราอยากได้ ตอนออกแบบบ้าน ตั้งใจอยู่แล้วว่าอยากให้มีพื้นที่โล่ง เป็นห้องเอาไว้เพื่อทำการแสดง นอนข้างบนแล้วทำงานข้างล่าง หรือนอนข้างบนแล้วลงมาแสดงข้างล่าง”

นอกจากหน้าต่างประตูที่ซื้อมาต่อเติมให้บ้านอยู่ได้อย่างที่ต้องการแล้ว เธอบอกว่าหน้าต่างเหล่านี้ช่วยให้อากาศถ่ายเท มีลมพัดผ่าน ทำให้บ้านไม่ร้อนเกินไปเพราะบ้านนี้ไม่ได้ติดแอร์ แต่เธอก็อยู่ได้แม้กระทั่งตอนช่วงโควิดติดอยู่กับบ้านไม่ได้เดินทางถึง 3 ปี 

เงิน 80,000 บาท เวลา 8 วัน สู่ ‘บ้านบ่มแสง’ บ้านที่เล่นละครได้ทุกมุมของศิลปินหุ่นเงา

“มันร้อนมากค่ะ นี่คงเป็นข้อที่ต้องแก้ ต้องปลูกต้นไม้บังแสงบางส่วน ช่วงหน้าร้อนบางวัน ต้อมไปนั่งอยู่มุมหน้าห้องน้ำเลย เพราะเย็นกว่ามุมอื่นที่โดนแสงแดดเต็ม ๆ” เธอหัวเราะ

ในที่ดิน 1 ไร่กับ 1 งาน ด้านหน้าบ้านไม้ทรงสูงคือสระบัวที่ขุดขึ้นก่อนสร้างบ้าน ใกล้ ๆ กันมีอาคารรูปทรงง่าย ๆ อีกหลังหนึ่งที่เธอเพิ่งสร้างขึ้นไม่นานนี้ หลังไปร่วมเป็นนักแสดงสมทบในภาพยนตร์ ‘ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง’ อาคารหลังนี้ตั้งใจให้เป็นพื้นที่เวิร์กชอป จัดแสดงละคร และต่อเติมชั้นลอยให้เพื่อนศิลปินที่ต้องการมาแลกเปลี่ยนหรือทำโปรเจกต์ร่วมกันนอนพักได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาต้อมบอกว่าได้ใช้จริงแล้ว โดยเพื่อนศิลปินญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งสนใจหุ่นเงาสไตล์ของเธอเพื่อร่วมงานกับศิลปะการเต้นของเขา

“บ้านเป็นพื้นที่ของเรา เราทำอะไรก็ได้ และเราก็อยากให้เพื่อนหรือใครก็ตามที่มารู้สึกว่าที่นี่เป็นพื้นที่ของเขาด้วยเหมือนกัน เพื่อนบางคนที่ปกติไม่ค่อยกล้าไปนอนที่อื่น แต่พอมานอนบ้านเราแล้วเขาหลับสบาย แค่นี้ต้อมก็ดีใจแล้ว

“ต้อมเป็นคนเดินทางเยอะ จึงมีเพื่อนจากหลาย ๆ ที่ ช่วงเวลาที่เพื่อนจากญี่ปุ่นมา ด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็มีเพื่อนจากสิงคโปร์มาในเวลาเดียวกัน เพื่อนรุ่นพี่จากกรุงเทพฯ น้องจากเชียงดาวก็มา แล้วคนเหล่านี้ก็ได้มาเจอกันที่บ้านต้อมและทุกคนกลายเป็นเพื่อนกัน ช่วงเวลาที่ทุกคนนั่งคุยกัน ต้อมไปทำอย่างอื่น เป็นบรรยากาศที่เราชอบมาก นี่คือบ้านที่เราอยากให้เป็นมาโดยตลอด”  

เงิน 80,000 บาท เวลา 8 วัน สู่ ‘บ้านบ่มแสง’ บ้านที่เล่นละครได้ทุกมุมของศิลปินหุ่นเงา

แม้ในช่วงที่ต้อมไม่ได้เดินทางเนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาด แต่เธอมีโอกาสทำความฝันสร้างบ้านให้เป็นโรงละครจริง ๆ เมื่อได้ร่วมทำโปรเจกต์ละครหุ่นเงาในเทศกาลออนไลน์ BICT Fest 2021 – BICT on(line) the MOVE ซึ่งเป็นเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ 2564 (ชื่อสั้น ๆ คือ BICT on (line)the Move) “โปรเจกต์ออนไลน์ครั้งนั้นทำให้ต้อมได้ลองทำบ้านทั้งหลังให้เป็นโรงละครเลย สนุกมากค่ะ”  

น้ำเสียงและถ้อยคำบางช่วงที่เธอเล่าถึงบ้าน ให้ความรู้สึกราวกับกำลังอยู่ในโลกของโรงละครจริง ๆ อย่างเรื่องราวของพระจันทร์ขึ้นหน้าบ้าน หรือหิ่งห้อยที่เรืองรองในความมืด  

“บ้านของต้อมอยู่กลางทุ่งนา และตรงนี้นะคะ จะมองเห็นพระจันทร์เต็มดวงที่หน้าบ้าน ห้องนอนต้อมไม่มีม่าน เวลาพระจันทร์เต็มดวงมันสาดแสงเข้ามาถึงที่นอนเลย บางทีเวลาตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนเจอพระจันทร์ เราก็ โห! นี่คือการได้คุยกับพระจันทร์ส่วนตัวมากค่ะ

“หรือบางช่วงหิ่งห้อยเยอะมาก มากจนบางทีก็เข้ามาอยู่ในห้องนอนเป็นสิบ ๆ ตัวเลย” 

เยี่ยมบ้านนักละครหุ่นเงาเปี่ยมแพสชัน ที่ตั้งใจทำบ้านให้เป็นพื้นที่ทดลองของตัวเองและเหล่าเพื่อนศิลปิน
เยี่ยมบ้านนักละครหุ่นเงาเปี่ยมแพสชัน ที่ตั้งใจทำบ้านให้เป็นพื้นที่ทดลองของตัวเองและเหล่าเพื่อนศิลปิน

เงาที่มีสีสันในโรงบ่มแสง

“เงามีสีสันด้วยนะ ไม่ใช่มีแค่สีดำ” ต้อมยืนยันด้วยการหยิบตัวละครหุ่นเงาของเธอมาเล่นกับแสงให้ดู  

“ทำเรื่องทำหุ่นเงานั่นแหละ แต่พูดเรื่องข้างใน เงาคือเครื่องมือ ส่วนเนื้อหาเป็นอีกเรื่อง เนื้อหาเป็นสิ่งที่เราอยากพูดอยากสื่อสารออกไป”

 เธอพูดขึ้นว่า “ต้อมชอบหุ่นเงามาก มันมีแค่แสงกับเงา แต่สามารถพาคนจินตนาการไปไกล หุ่นเงาของต้อมคือ เราเล่นคนเดียว ทำคนเดียว จึงเลือกเล่นอยู่ด้านหน้าฉาก เพื่อจะได้ปะทะกับความรู้สึกของคนดู อาจเป็นเพราะต้อมชอบละครเวทีด้วย ชอบพลังที่รับส่งระหว่างคนเล่นคือเรากับคนดู พอมาทำหุ่นเงา ต้อมก็อยากได้รับพลังอย่างนั้น เลยเลือกจะไม่เล่นอยู่หลังฉาก อีกอย่างคือการที่เอาตัวเองออกมาด้านหน้าก็เพื่อจะบอกคนอื่นว่า มันง่ายนะ ไม่ได้ยาก เด็ก ๆ ก็ทำได้ ใคร ๆ ก็ทำได้ แค่นั้นเอง”

บ่อยครั้งต้อมเรียกบ้านของเธอว่า โรงบ่มแสง โดยตั้งใจให้เป็นเหมือนโรงบ่มไวน์หรือโรงบ่มเบียร์ ทำหน้าที่สร้างผลผลิตอันน่าหลงใหลและเต็มไปด้วยคุณภาพ

อยากให้ที่นี่เป็นที่ทดลอง ฝึกฝน และทำงานของคนที่สนใจ ทั้งเพื่อน ศิลปิน หรือคนที่อยากมาเรียนรู้กับทักษะของต้อมหรือของเขาเอง จริง ๆ ต้อมสนใจศิลปะหลากหลายประเภทอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่แสงเงาหรอก เลยอยากชวนกันมาบ่มตัวเองกับสิ่งที่ชอบและอยากทำ แล้วคุณจะมีแสงเป็นของตัวเองค่ะ”

เยี่ยมบ้านนักละครหุ่นเงาเปี่ยมแพสชัน ที่ตั้งใจทำบ้านให้เป็นพื้นที่ทดลองของตัวเองและเหล่าเพื่อนศิลปิน
เยี่ยมบ้านนักละครหุ่นเงาเปี่ยมแพสชัน ที่ตั้งใจทำบ้านให้เป็นพื้นที่ทดลองของตัวเองและเหล่าเพื่อนศิลปิน

‘Homemade Puppet’ ผสมผสานศิลปะที่ชอบกับรสชาติที่ใช่  

Homemade Puppet คือชื่อที่เธอตั้งตอนออกมาจากกลุ่มละครมะขามป้อมเพื่อทำโปรเจกต์ส่วนตัว ต้อมเล่าว่าไม่ได้เป็นชื่อที่ซับซ้อนอะไร เพราะมาจากสิ่งที่เธอชอบ

“ต้อมชอบทำขนมและทำกับข้าวให้คนกิน เรามีรสชาติที่อยากให้เพื่อนหรือให้คนอื่น ๆ กิน ก็เลยกลายมาเป็น Homemade Puppet 

“งานของต้อมก็เหมือนเป็นรสชาติที่ชอบ อยากทำให้คนชิม ถ้าชิมแล้วชอบ วันหลังก็มาชิมใหม่อีกได้ และเราชอบทำงานฝีมือ ชอบงานศิลปะ บ้านเราก็ทำเองด้วย ชื่อนี้เลยดูไปด้วยกันได้ดี”  

เยี่ยมบ้านนักละครหุ่นเงาเปี่ยมแพสชัน ที่ตั้งใจทำบ้านให้เป็นพื้นที่ทดลองของตัวเองและเหล่าเพื่อนศิลปิน

“ต้อมไม่ค่อยเครียดนะคะ คือถ้ามีเรื่องแย่ต้องเอามันออก เราก็ทำงานศิลปะ มาตอนนี้ไม่ใช่แค่งานศิลปะด้วยนะ แต่มันคือชีวิตเลย (หัวเราะ) เช่น ทำสวน เย็บผ้า ทำอาหาร ทำหุ่น ทำการแสดงก็ไม่ค่อยแยกแล้ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอันไหนงาน อันไหนชีวิต ต้อมทำมันทุกวัน พูดเหมือนดูดีเนอะ แต่วันหนึ่งเราจะเข้าใจว่า อ๋อ มันคืออันนี้เองที่เขาบอกว่าใช้ชีวิตเหมือนทำงานศิลปะ ที่พูดคือไม่ได้จะ Cool อะไรหรอกนะคะ แต่เป็นอย่างนี้จริง ๆ และเราก็ทำมันไปเรื่อย ๆ ทำในสิ่งที่เราชอบ

“งานของต้อมทุกชิ้น มีบ้านต้อมอยู่ในนั้นหมดเลย มันเป็นเรื่องของต้อม เพียงแต่ว่าเราเล่าผ่านตัวละคร ถ้าคนรู้จักก็จะรู้ว่านี่คือเรื่องของเรา และบ้านหนังนี้ก็อยู่ในเงาที่เรากำลังแสดง”

เยี่ยมบ้านนักละครหุ่นเงาเปี่ยมแพสชัน ที่ตั้งใจทำบ้านให้เป็นพื้นที่ทดลองของตัวเองและเหล่าเพื่อนศิลปิน

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ