ต้อม-สุธารัตน์ สินนอง ฝันอยากมีบ้านตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ ความรู้สึกอยากมีบ้านเป็นของตัวเองทวีความจริงจังมากขึ้นหลังการเดินทางนับครั้งไม่ถ้วนทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยอาชีพนักการละครของเธอ และเมื่อวันหนึ่งขณะต้อมร่วมกระบวนการทำละคร ได้ใกล้ชิดกับละครหุ่นเงา Shadow Puppet เธอก็หลงรักมันจนหัวปักหัวปำ จนอยากใช้เวลาทั้งหมดในชีวิตอยู่กับแสงและเงาเหล่านี้ ความรู้สึกอันเปี่ยมพลังนี้เองที่ทำให้ต้อมมองหาที่ดิน ทำงานเก็บเงิน แล้วลงแรงเป็นลูกมือร่วมสร้างบ้านของเธอกับสล่าหรือช่างชาวบ้านคนหนึ่งในเชียงใหม่
นี่คือเบื้องหลังเรื่องราวของบ้านที่เริ่มต้นด้วยเงิน 80,000 บาท กับเวลา 8 วัน บ้านที่เธอเรียกมันว่า ‘โรงบ่มแสง’ และการทำงานภายใต้ชื่อ Homemade Puppet

“ถ้าเรามีกำลัง ทุกอย่างมันจะง่าย สมมติว่าถ้าต้อมมีเงิน แค่ดีดนิ้วอยากได้อะไรก่อนก็ได้ แต่ว่าพอเรามีน้อย สิ่งสำคัญก็คือว่าต้องอดทน ต้องรอ เพียงแต่จะรอแบบไหน รอแบบว่าวันหนึ่งจะมี หรือรอไปเรื่อย ๆ สำหรับต้อม การรอ เราเห็นภาพว่าวันหนึ่งมันจะเป็นแบบที่เราอยากได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสตางค์เข้ามา เราก็รู้ว่าจะเอาเงินไปไว้ตรงไหน ยังไง”
นักละครคนนี้ทำงานแบบฟรีแลนซ์ รายได้ที่เข้ามาจึงมาเป็นก้อน ๆ มาเป็นช่วง ๆ และต้องจัดสรรการใช้จ่ายให้พอเหมาะพอดีหากต้องการอะไรใหญ่ ๆ อย่างที่ดินหรือบ้าน
เธอเล่าย้อนที่มาว่าจากความสนใจละครในวัยเด็ก ทำให้เธอเข้าร่วมเรียนรู้และทำงานกับกลุ่มละครมะขามป้อมสมัยเป็นนักศึกษารามฯ และต่อเนื่องขยับขยายการงานด้านการละครกว้างออกไป ทั้งละครเพื่อการพัฒนาเยาวชน ละครหุ่น ละครข้างถนน ละครเวที ละครทีวี ภาพยนตร์ จนมาถึงหุ่นเงา
“พอถึงจุดหนึ่งก็คิดว่าอยากทำหุ่นเงาทุกวัน ไม่อยากทำอย่างอื่นแล้ว” ซึ่งช่วงนั้นต้อมกำลังทำโปรเจกต์ละครกับโรงเรียนที่เชียงใหม่ 2 แห่ง คือในเมืองหนึ่ง และในอำเภอเชียงดาวอีกหนึ่ง
ช่วงเวลานั้นเองที่เธอตัดสินใจว่าจะปักหลักที่เชียงใหม่ เริ่มมองหาที่ทางและเชื่อว่า ถ้าวันหนึ่งที่ดินตรงไหนเหมาะ เธอจะพบกับมันเอง จากเชียงดาวเธอได้มาทำโปรเจกต์กับ มานูเอล ลุทเกนฮอสท์ (Manuel Lutgenhorst) ที่ Empty Space แถวน้ำบ่อหลวง และอยู่อาศัยที่นั่นในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะพบที่ดินที่ว่าใช่ แล้วตัดสินใจซื้อโดยมีเพื่อนใจดีให้ยืมเงินมาก่อน ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในช่วงพยายามหาทางใช้เงินคืนเพื่อนให้หมด

“อยากมีบ้าน อยากมีที่ของตัวเอง พอมาได้ที่ดินตรงนี้ก็คิดว่ามันเหมาะกับเรามาก เพราะค่อนข้างเป็นส่วนตัว ไม่ค่อยมีใครเห็น บางช่วงต้อมก็ปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นสูงจนทางเข้าแทบเข้าไม่ได้เลยนะ
“ต้อมไปทำงานแล้วได้เงินมาหนึ่งก้อน 80,000 บาท ก็คิดว่า 80,000 ทำอะไรได้บ้าง เพราะเราอาศัยบ้านเขาอยู่ก็เกรงใจ ลองไปเดินดูตามร้านขายไม้เก่าว่าจะทำอะไรได้บ้าง กะว่าแค่เล็ก ๆ พออยู่ได้ก่อนแล้วกัน ไปเห็นโครงของบ้านไม้ที่ตั้งเสาไว้ 6 เสา มีพื้นไม้ชั้นสอง มีหลังคาสูง มีบันไดด้านนอกบ้าน แต่ยังไม่มีฝาผนัง มีแค่โครงเลย เราก็เฮ้ย นี่มันบ้านของเรานี่!!
“ต้อมถามลุงเจ้าของ เขาไม่ขายเพราะตั้งใจทำเป็นบ้านสำเร็จเสร็จก่อน แล้วค่อยขายยกหลังแบบบ้านน็อกดาวน์ ตั้งโครงไว้กำลังจะทำต่อ เราก็บอกว่า ‘ไม่ได้หรอกลุง นี่มันบ้านหนู ขายให้หนูนะ’ จากนั้นก็ให้เพื่อนขี่มอเตอร์ไซค์พาไปดูทุกเย็นเป็นอาทิตย์ ๆ เลย ไปแล้วก็ขึ้นไปนั่งบนชั้นสอง แล้วก็พูดว่า ลุง นี่มันบ้านหนู ยังไงลุงก็ต้องให้หนู
“ไปจนวันที่ 8 ‘เอาจริง ๆ ใช่ไหม’ ลุงถาม
“เอาจริง ๆ ลุง แต่หนูมีเงินเท่านี้ ลุงขายเท่าไหร่
“จริง ๆ เขาน่าจะขายแพงกว่านั้น แต่เราก็บอกว่ามี 80,000 ลุงให้อะไรต้อมได้มั่ง ลุงก็บอก ‘เอ้า! ขายน้องก็ได้’ แล้วแกก็รื้อบ้านมาติดตั้งบนที่ดินให้ด้วยนะ”
เมื่อโครงบ้านเริ่มมา ก็เป็นจังหวะที่งานเริ่มเข้า เธอค่อย ๆ สะสมเงินซื้อบานหน้าต่าง ประตูเพิ่ม และขอให้ลุงช่างเป็นคนสร้างให้ โดยที่เธอเป็นลูกมือทุกอย่าง ขนดิน ขนปูน ขนไม้ ร่วมทำงานไปด้วย

“ตอนลุงถามว่าหน้าตาบ้านจะเป็นยังไง ต้อมก็วาดบนพื้นให้ดูว่า จะทำแบบนี้ ๆ นะ วิธีอธิบายแบบบ้านของต้อมก็เหมือนเล่นละคร คือแสดงให้ลุงดูว่า นี่นะ ประตูต้องเปิดอย่างนี้ หน้าต่างอย่างนี้ ชั้นบนพื้นไม้เปิดช่องให้โล่งอย่างนี้นะ แล้วก็ถามว่า ลุง ๆ ตรงช่องว่างนี้ ถ้ามเอาผ้ามาห้อยลงมาจากหลังคา ให้ต้อมปีนผ้าขึ้นลงได้ ไม้หลังคาจะรับน้ำหนักได้ไหม ลุงก็จะถามว่าแล้วทำไมต้องปีนผ้า น้องก็ใช้บันไดสิ (หัวเราะ)
“แรก ๆ ลุงงงว่าทำไมเราทำอะไรแปลก ๆ แต่พอทำไปสักสองสามเดือนเขาก็เริ่มสนุกและมีไอเดียมานำเสนอ
“ตอนนั้นเงินก้อนสุดท้ายที่ทำให้บ้านเสร็จได้คือต้อมได้ไปเล่นละครหุ่นเงาที่โปแลนด์ 3 เดือน แสดงอยู่ 40 รอบในโรงละครเล็ก ๆ โดยมีกลุ่มคนดูเป็นเด็ก ๆ คือเงินไม่ได้เยอะนะคะ แต่เรารู้สึกดีมาก สนุกและเป็นสิ่งที่อยากทำ คือแสดงเรื่องเดียว มีคนมาดูได้ต่อเนื่อง แล้วเงินก้อนนี้ก็เกิดเป็นครัวกับห้องน้ำ ซึ่งเป็นส่วนปูนทั้งหมด”
ถามเธอว่าบ้านรูปทรงนี้เหมือนที่เคยฝันถึงไหม เธอตอบว่าคล้าย ๆ อยู่ เพราะตั้งแต่เด็กเธออยากได้บ้านแบบโรงนา (Barn) มีพื้นที่โล่ง ๆ ให้เล่นละครได้ ขึงฉากได้ ลองเงาได้ จัดเวิร์กชอปได้ มีครัวเล็ก ๆ เพราะชอบทำอาหาร-ทำขนม ไม่แพ้กับเล่นละครและทำงานศิลปะ

สร้างบ้านให้เป็นโรงละคร
“อยากทำบ้านให้เป็นที่เล่นละครได้ จะเล่นทุกที่ที่บ้าน เป็นโรงละครแบบเราที่เราทำด้วยตัวเอง ทำให้เป็นแบบที่เราอยากได้ ตอนออกแบบบ้าน ตั้งใจอยู่แล้วว่าอยากให้มีพื้นที่โล่ง เป็นห้องเอาไว้เพื่อทำการแสดง นอนข้างบนแล้วทำงานข้างล่าง หรือนอนข้างบนแล้วลงมาแสดงข้างล่าง”
นอกจากหน้าต่างประตูที่ซื้อมาต่อเติมให้บ้านอยู่ได้อย่างที่ต้องการแล้ว เธอบอกว่าหน้าต่างเหล่านี้ช่วยให้อากาศถ่ายเท มีลมพัดผ่าน ทำให้บ้านไม่ร้อนเกินไปเพราะบ้านนี้ไม่ได้ติดแอร์ แต่เธอก็อยู่ได้แม้กระทั่งตอนช่วงโควิดติดอยู่กับบ้านไม่ได้เดินทางถึง 3 ปี

“มันร้อนมากค่ะ นี่คงเป็นข้อที่ต้องแก้ ต้องปลูกต้นไม้บังแสงบางส่วน ช่วงหน้าร้อนบางวัน ต้อมไปนั่งอยู่มุมหน้าห้องน้ำเลย เพราะเย็นกว่ามุมอื่นที่โดนแสงแดดเต็ม ๆ” เธอหัวเราะ
ในที่ดิน 1 ไร่กับ 1 งาน ด้านหน้าบ้านไม้ทรงสูงคือสระบัวที่ขุดขึ้นก่อนสร้างบ้าน ใกล้ ๆ กันมีอาคารรูปทรงง่าย ๆ อีกหลังหนึ่งที่เธอเพิ่งสร้างขึ้นไม่นานนี้ หลังไปร่วมเป็นนักแสดงสมทบในภาพยนตร์ ‘ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง’ อาคารหลังนี้ตั้งใจให้เป็นพื้นที่เวิร์กชอป จัดแสดงละคร และต่อเติมชั้นลอยให้เพื่อนศิลปินที่ต้องการมาแลกเปลี่ยนหรือทำโปรเจกต์ร่วมกันนอนพักได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาต้อมบอกว่าได้ใช้จริงแล้ว โดยเพื่อนศิลปินญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งสนใจหุ่นเงาสไตล์ของเธอเพื่อร่วมงานกับศิลปะการเต้นของเขา
“บ้านเป็นพื้นที่ของเรา เราทำอะไรก็ได้ และเราก็อยากให้เพื่อนหรือใครก็ตามที่มารู้สึกว่าที่นี่เป็นพื้นที่ของเขาด้วยเหมือนกัน เพื่อนบางคนที่ปกติไม่ค่อยกล้าไปนอนที่อื่น แต่พอมานอนบ้านเราแล้วเขาหลับสบาย แค่นี้ต้อมก็ดีใจแล้ว
“ต้อมเป็นคนเดินทางเยอะ จึงมีเพื่อนจากหลาย ๆ ที่ ช่วงเวลาที่เพื่อนจากญี่ปุ่นมา ด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็มีเพื่อนจากสิงคโปร์มาในเวลาเดียวกัน เพื่อนรุ่นพี่จากกรุงเทพฯ น้องจากเชียงดาวก็มา แล้วคนเหล่านี้ก็ได้มาเจอกันที่บ้านต้อมและทุกคนกลายเป็นเพื่อนกัน ช่วงเวลาที่ทุกคนนั่งคุยกัน ต้อมไปทำอย่างอื่น เป็นบรรยากาศที่เราชอบมาก นี่คือบ้านที่เราอยากให้เป็นมาโดยตลอด”

แม้ในช่วงที่ต้อมไม่ได้เดินทางเนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาด แต่เธอมีโอกาสทำความฝันสร้างบ้านให้เป็นโรงละครจริง ๆ เมื่อได้ร่วมทำโปรเจกต์ละครหุ่นเงาในเทศกาลออนไลน์ BICT Fest 2021 – BICT on(line) the MOVE ซึ่งเป็นเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ 2564 (ชื่อสั้น ๆ คือ BICT on (line)the Move) “โปรเจกต์ออนไลน์ครั้งนั้นทำให้ต้อมได้ลองทำบ้านทั้งหลังให้เป็นโรงละครเลย สนุกมากค่ะ”
น้ำเสียงและถ้อยคำบางช่วงที่เธอเล่าถึงบ้าน ให้ความรู้สึกราวกับกำลังอยู่ในโลกของโรงละครจริง ๆ อย่างเรื่องราวของพระจันทร์ขึ้นหน้าบ้าน หรือหิ่งห้อยที่เรืองรองในความมืด
“บ้านของต้อมอยู่กลางทุ่งนา และตรงนี้นะคะ จะมองเห็นพระจันทร์เต็มดวงที่หน้าบ้าน ห้องนอนต้อมไม่มีม่าน เวลาพระจันทร์เต็มดวงมันสาดแสงเข้ามาถึงที่นอนเลย บางทีเวลาตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนเจอพระจันทร์ เราก็ โห! นี่คือการได้คุยกับพระจันทร์ส่วนตัวมากค่ะ
“หรือบางช่วงหิ่งห้อยเยอะมาก มากจนบางทีก็เข้ามาอยู่ในห้องนอนเป็นสิบ ๆ ตัวเลย”


เงาที่มีสีสันในโรงบ่มแสง
“เงามีสีสันด้วยนะ ไม่ใช่มีแค่สีดำ” ต้อมยืนยันด้วยการหยิบตัวละครหุ่นเงาของเธอมาเล่นกับแสงให้ดู
“ทำเรื่องทำหุ่นเงานั่นแหละ แต่พูดเรื่องข้างใน เงาคือเครื่องมือ ส่วนเนื้อหาเป็นอีกเรื่อง เนื้อหาเป็นสิ่งที่เราอยากพูดอยากสื่อสารออกไป”
เธอพูดขึ้นว่า “ต้อมชอบหุ่นเงามาก มันมีแค่แสงกับเงา แต่สามารถพาคนจินตนาการไปไกล หุ่นเงาของต้อมคือ เราเล่นคนเดียว ทำคนเดียว จึงเลือกเล่นอยู่ด้านหน้าฉาก เพื่อจะได้ปะทะกับความรู้สึกของคนดู อาจเป็นเพราะต้อมชอบละครเวทีด้วย ชอบพลังที่รับส่งระหว่างคนเล่นคือเรากับคนดู พอมาทำหุ่นเงา ต้อมก็อยากได้รับพลังอย่างนั้น เลยเลือกจะไม่เล่นอยู่หลังฉาก อีกอย่างคือการที่เอาตัวเองออกมาด้านหน้าก็เพื่อจะบอกคนอื่นว่า มันง่ายนะ ไม่ได้ยาก เด็ก ๆ ก็ทำได้ ใคร ๆ ก็ทำได้ แค่นั้นเอง”
บ่อยครั้งต้อมเรียกบ้านของเธอว่า โรงบ่มแสง โดยตั้งใจให้เป็นเหมือนโรงบ่มไวน์หรือโรงบ่มเบียร์ ทำหน้าที่สร้างผลผลิตอันน่าหลงใหลและเต็มไปด้วยคุณภาพ
“อยากให้ที่นี่เป็นที่ทดลอง ฝึกฝน และทำงานของคนที่สนใจ ทั้งเพื่อน ศิลปิน หรือคนที่อยากมาเรียนรู้กับทักษะของต้อมหรือของเขาเอง จริง ๆ ต้อมสนใจศิลปะหลากหลายประเภทอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่แสงเงาหรอก เลยอยากชวนกันมาบ่มตัวเองกับสิ่งที่ชอบและอยากทำ แล้วคุณจะมีแสงเป็นของตัวเองค่ะ”


‘Homemade Puppet’ ผสมผสานศิลปะที่ชอบกับรสชาติที่ใช่
Homemade Puppet คือชื่อที่เธอตั้งตอนออกมาจากกลุ่มละครมะขามป้อมเพื่อทำโปรเจกต์ส่วนตัว ต้อมเล่าว่าไม่ได้เป็นชื่อที่ซับซ้อนอะไร เพราะมาจากสิ่งที่เธอชอบ
“ต้อมชอบทำขนมและทำกับข้าวให้คนกิน เรามีรสชาติที่อยากให้เพื่อนหรือให้คนอื่น ๆ กิน ก็เลยกลายมาเป็น Homemade Puppet
“งานของต้อมก็เหมือนเป็นรสชาติที่ชอบ อยากทำให้คนชิม ถ้าชิมแล้วชอบ วันหลังก็มาชิมใหม่อีกได้ และเราชอบทำงานฝีมือ ชอบงานศิลปะ บ้านเราก็ทำเองด้วย ชื่อนี้เลยดูไปด้วยกันได้ดี”

“ต้อมไม่ค่อยเครียดนะคะ คือถ้ามีเรื่องแย่ต้องเอามันออก เราก็ทำงานศิลปะ มาตอนนี้ไม่ใช่แค่งานศิลปะด้วยนะ แต่มันคือชีวิตเลย (หัวเราะ) เช่น ทำสวน เย็บผ้า ทำอาหาร ทำหุ่น ทำการแสดงก็ไม่ค่อยแยกแล้ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอันไหนงาน อันไหนชีวิต ต้อมทำมันทุกวัน พูดเหมือนดูดีเนอะ แต่วันหนึ่งเราจะเข้าใจว่า อ๋อ มันคืออันนี้เองที่เขาบอกว่าใช้ชีวิตเหมือนทำงานศิลปะ ที่พูดคือไม่ได้จะ Cool อะไรหรอกนะคะ แต่เป็นอย่างนี้จริง ๆ และเราก็ทำมันไปเรื่อย ๆ ทำในสิ่งที่เราชอบ
“งานของต้อมทุกชิ้น มีบ้านต้อมอยู่ในนั้นหมดเลย มันเป็นเรื่องของต้อม เพียงแต่ว่าเราเล่าผ่านตัวละคร ถ้าคนรู้จักก็จะรู้ว่านี่คือเรื่องของเรา และบ้านหนังนี้ก็อยู่ในเงาที่เรากำลังแสดง”
