“คุณคือใคร” ประโยคแรกที่เราได้ยินในซีรีส์ และ “เมื่อไหร่ชีวิตวันนี้ในออฟฟิศจะจบลงสักที” คือ 2 คำถามเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง (Life) ของนักแสดงที่ผันมาอำนวยการสร้างซีรีส์อย่าง เบน สติลเลอร์ (Ben Stiller) และชีวิตการทำงาน (Work) ของผู้สร้าง แดน อิริกสัน (Dan Erickson) ที่เป็นสสารตั้งต้นให้เกิดเป็น Severance หนึ่งในซีรีส์ระดับ Top Tier ของ Apple TV+ ที่ใคร ๆ ต่างแนะนำให้ดู เมื่อพูดถึงค่ายสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ที่กำลังมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ เจ้านี้ครับ

เรื่องราวของซีรีส์เกี่ยวกับ Mark ชายผู้ทำงานในบริษัท Lumon ที่ผ่าตัดแยกสมองพนักงาน เพื่อแยกชีวิตส่วนตัวและการทำงานออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เมื่ออยู่ข้างนอกพนักงานบริษัทนี้จะจำอะไรเกี่ยวกับข้างในไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ขณะทำงาน พวกเขาก็จะไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตข้างนอกเช่นกัน ทุกอย่างเป็นไปอย่างปกติสุขจนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนร่วมงานคนสนิทหายตัวไปอย่างปริศนา Mark จึงออกตามหาเพื่อน และค้นพบความจริงบางอย่างเกี่ยวกับการผ่าตัดแยกโลก (Severance) และบริษัทนี้

ความน่าสนใจของ Severance ไม่ได้มีแค่นั้นครับ เพราะในองค์ประกอบทั้งเนื้อหาแนวคิด (Concept) และด้าน Physical ทุกอย่าง ทั้งการออกแบบ แสง สี ฉากออฟฟิศ และโลเคชันในเรื่อง ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นงานคราฟต์ที่ผ่านกระบวนคิดอย่างซับซ้อนมาแล้ว และดัดแปลงจากคอนเซ็ปต์ (Conceptualized) สู่รูปธรรมได้อย่างสอดคล้องกับเนื้อเรื่องและประเด็นที่ซีรีส์ต้องการสื่อ เลยอยากมานำเสนอแง่มุมทั้งสองของซีรีส์เรื่องนี้ให้อ่าน และสนใจตามไปดูกันโดยที่ไม่เปิดเผยรายละเอียดสำคัญอะไรมากครับ

Severance ซีรีส์เรื่องบริษัทรับผ่าตัดสมองพนักงาน แยกชีaวิตส่วนตัวและการทำงานออกจากกัน

ว่าด้วยคำนิยามซีรีส์กันก่อน เป็นเรื่องยากพอ ๆ กับการแยก Work-Life Balance ในชีวิตทุกวันนี้เลยครับ เพราะหากไม่นับเรื่องย่อที่ชัดเจนด้านบน Severance เป็นซีรีส์ที่ค่อนข้างผสมปนเปทั้งไซไฟดิสโทเปีย เสียดสีต่อโลกแห่งความเป็นจริงเกี่ยวกับประเด็นนี้ และยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งความ Psychological Thriller หรือความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจจากความมืดบอดด้วย ‘ความไม่รู้’ ที่ผสมไปด้วยความลุ้นระทึกปนตลกร้าย และขับเน้นประเด็นเรื่องจิตใจ ตัวตน และความหมายชีวิตในเชิงปรัชญาได้น่าสนใจพร้อม ๆ กัน จนกล่าวได้ว่า ถ้าหากนิยามของหนังหรือซีรีส์ที่ดีคือท่อลำเลียงสารในรูปแบบความบันเทิง มีคุณสมบัติทำให้เราได้ฉุกคิดเรื่องบางอย่างอย่างจริงจังและเติบโตทางจิตวิญญาณโดยไม่รู้ตัว Severance คือเรื่องนั้นครับ

ผู้สร้าง Dan Erickson เล่าว่า ตัวเขาเคยเป็นพนักงานออฟฟิศมาก่อน ในทีแรกมันไม่ได้แย่ซะทีเดียว เพราะหาความสุขกับการใช้ชีวิตนอกเวลางานได้ เช่น หลังเลิกงานหรือพักผ่อนในวันหยุด แต่ก็เหมือนทุกคนที่อยากให้เวลาทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่มีความท้าทายน้อย หรืองานที่ทำแล้วคนคนนั้นไม่ได้รู้สึกว่าเกิดการพัฒนา (งานของ Dan ที่ตัวเขานิยามว่าเป็น Meaningless Job) งานที่เจอเพื่อนร่วมงานไม่ดี เจ้านายแย่ ๆ หรืองานที่ทำเพราะเงิน แต่ไม่ได้มีแพสชันอยากจะทำ ผ่านไปไว ๆ หรืออยากให้ถึงเวลาตอกบัตรออก ราวกับเวลาถูกกด Skip เหมือนหนังเรื่อง Click (2006) ของ Adam Sandler จึงต่อยอดมาเป็นคอนเซ็ปต์ “งั้นก็แยกการทำงานกับชีวิตออกกันเลยสิ”

Severance ซีรีส์เรื่องบริษัทรับผ่าตัดสมองพนักงาน แยกชีaวิตส่วนตัวและการทำงานออกจากกัน

การแยกชีวิตอย่างสิ้นเชิงใน Severance ต่อยอดไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่าคือ ‘แล้วอะไรคือชีวิตและตัวตน’ ในเมื่อในซีรีส์เรื่องนี้ พนักงาน 1 คนมีตัวตน 2 เวอร์ชัน และเวอร์ชันหนึ่งไม่ได้รู้จักตัวตนของตัวเองข้างนอก/ข้างใน นั่นถึงขนาดต้องมาเล่นเกมนั่งเดาชีวิตเพื่อนร่วมงานกันเองแบบนี้ เท่ากับว่า 1 ร่างมี 2 คนหรือไม่ ในเมื่อเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าบุคลิกไหนคือบุคลิกจริงของเรา แต่ที่แน่ ๆ กระบวนการนี้ก่อให้เกิด ‘กระบวนการผลักภาระ’ ขึ้น จากการที่เวอร์ชันหนึ่งของจิตต้องรับภาระในการทำงานงก ๆ มีชีวิตอยู่แค่ที่ทำงาน (ซึ่งรู้เกี่ยวกับบริษัททั้งหมด) และไม่รู้จักการพักผ่อน ในขณะที่อีกร่างได้ภาระในการพักผ่อน ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและสนุกเพียงอย่างเดียว จนรู้สึก Lost กับความหมายของชีวิตไม่แพ้กัน

การเสียดสีตรงนี้ที่เป็นไปไม่ได้ในโลกความจริง แต่ลึก ๆ แล้วทุกคนปรารถนาไม่น้อยที่จะ Skip แม้ต้องแลกมากับการรู้สึกด้อยคุณค่า ทำให้กลับมามองโลกความเป็นจริงว่า แท้จริงแล้วควรเปลี่ยนที่ตัวเรา ต้องปรับโหมดตัวเองเพื่อรองรับกับชีวิตทั้งสองด้านอย่างเท่า ๆ กัน และต้องหาสมดุลให้ตลอด (ชีวิตในยุคนี้ค่อนข้างรีบเร่งและมีความสังคมปลาใหญ่กินปลาเล็ก พลาดโอกาสแล้วพลาดเลย คนอื่นพร้อมมาเสียบแทนได้เสมอ) หรือแท้จริงแล้ว ควรเป็นที่ตัวระบบ ตั้งแต่ร้านเล็ก ๆ บริษัทย่อม ๆ จนถึงองค์กรใหญ่โตกันแน่ ที่ควรให้ความสำคัญกับสมดุลชีวิตของพนักงาน ตั้งแต่ถามไถ่สุขภาพจิต เวลาพักผ่อน สวัสดิการ และกำหนดนโยบายให้พนักงานอยากมาทำงานที่สุด

แต่นั่นก็คงจะเป็นแค่คำถาม เพราะในความเป็นจริงที่ดาร์กกว่านั้นคือ มันแทรกอยู่ในชีวิตเราทุกอณูจนแยกไม่ได้อีกต่อไป ด้วยความจำเป็น การแข่งขัน และการเพิ่มจำนวนประชากรกับเด็กจบใหม่ จึงกลายเป็นชีวิตแนว Whatever it takes ที่มนุษผู้หนึ่งสละได้ทั้งความสัมพันธ์ ความรัก มิตรภาพ เพื่อแลกมาซึ่งโอกาส เป้าหมาย การมีชีวิตรอด และความรุ่งโรจน์ เกิดเป็นสังคมปัจเจกมากขึ้น ทำไปทำมาก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันนะครับ ว่ากระบวนการ Severance ในซีรีส์ ไม่ต่างจากกลไกป้องกันตัว ร่างกายปฏิเสธความรู้สึกทรมานที่เต็มไปด้วยความขาดและโหยหา จนกระทั่ง Split ตัวเองออกเป็น 2 ซีกที่ตัดขาดจากกันและไม่รับรู้กันและกัน เหมือน DID (Dissociative Identity Disorder)

Severance ซีรีส์เรื่องบริษัทรับผ่าตัดสมองพนักงาน แยกชีaวิตส่วนตัวและการทำงานออกจากกัน

อันที่จริงในแง่หนึ่ง แม้การเสียดสีด้วยโลกโทเปียคือการผลักความประชดประชันออกไปให้สุดทาง หรือทำให้ระบบบางอย่างที่เบ็ดเสร็จดูทรงพลังซะจนคนที่อยู่ภายใต้ระบบสิ้นหวังเพียงไหน ก็เป็นเรื่องน่าคิดหากจะพูดว่า Severance เป็นซีรีส์ที่มีความเป็น ‘ยูโทเปีย’ ซ้อนอยู่ เพราะใครบ้างไม่อยากแยกตัวตนตอนใช้เวลาว่างกับการทำงาน แถมยังมีการแบ่งโซนที่ชัดเจน จึงไม่แปลกที่ถึงจะมีคนต่อต้านการล้างสมองแบบนี้ แต่ก็ยังมีคนที่สนใจในตัวบริษัท และดูกระเหี้ยนกระหือรืออยากมาทำงานที่บริษัท Lumon

แต่ถึงจะบอกว่าเป็นทั้งยูและดิส ชีวิตที่ปราศจากการควบคุมโดยสมบูรณ์ของตัวเราเอง หรือขาดเจตจำนงเสรี (Free Will) และขาดความสามารถในการตรวจสอบตัวเอง ซึ่งเข้าข่ายคำพูดของนักปราชญ์ชาวกรีกอย่าง Socrates ว่า “คนที่ไม่ตรวจสอบตัวเอง ไม่ควรค่าแก่การมีชีวิตอยู่” แบบนี้ไม่รู้จะเรียกว่าชีวิตได้หรือไม่ เพราะถ้าไม่นับเวลานอน 6 – 8 ชั่วโมงแล้ว เราใช้เวลาชีวิตไปกับการทำงานมากกว่า และร่างที่ใช้ชีวิตด้านนอกมีหน้าที่เพียงพักผ่อนตามอัธยาศัย และนำพาร่างตัวเองกลับเข้าไปทำงานใหม่เท่านั้น ตามที่ตัวละคร Mark กล่าวไว้ว่า “เราจะรู้ได้ว่าเราอยากทำงานที่นี่ เพราะเรายังทำงานอยู่ที่นี่ไงล่ะ” 

หลังจากได้ยินคำถามที่ว่า บางทีเราอาจไม่ต้องการชีวิตแบบนี้ก็ได้ ชีวิตแบบนี้จึงไม่ต่างกับการใช้ชีวิตแบบกึ่งเปิดระบบอัตโนมัติ และเสียสิ่งสำคัญที่สุดไปอย่างเวลา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันครับว่าในอีกแง่ นอกจากเสียเวลาคุณภาพแล้ว เวลาที่ไม่แย่ อย่างการทำงานแค่ตามหน้าที่ แต่ในใจทุกข์ทรมานยิ่งนัก ความเหนื่อยล้า เครียด ปวดหัว แถมยังไม่ชอบสิ่งแวดล้อมที่ทำงาน ปัญหาทุกอย่างจะหมดไปอย่างสิ้นเชิงเลย

แต่เมื่อมองดูดี ๆ นี่ก็เป็นเพียงอีกหนึ่งระบบในโลกทุนนิยม ที่ทำให้เราโอบรับและเปลี่ยนให้คนกลายเป็น Working Machine (คำที่ผู้สร้างใช้) อย่างเต็มใจและโดยดีเท่านั้นเอง แบบที่เมื่อมาคิด ๆ ดู มีแนวโน้มที่เราอาจแปลกใจไม่น้อยกับอัตราตัวเลขถ้าบริษัทนี้มีอยู่จริงและการผ่าตัดนี้ทำได้จริง หรือแม้แต่กับระบบการทำงานแบบฟรีแลนซ์ที่ทำเท่าที่มีและแสวงหางานเสมอก็เช่นกันครับ ในบางครั้ง คงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้ Skip ช่วงเวลาที่ต้องผ่านงานยาก ๆ หนัก ๆ หรือเดดไลน์กระชั้นชิด ให้เป็นภาระของตัวเราในอีกเวอร์ชัน ส่วนเราคือเวอร์ชันที่งานเสร็จ เงินมาแล้ว

Severance ซีรีส์ของ Ben Stiller เรื่องบริษัทรับผ่าตัaดสมองให้พนักงานมี 2 ตัวตน แยก Work กับ Life ออกจากกัน

พูดถึงปัจจัยภายในไปแล้ว อีกเรื่องที่อยากพูดถึงและนำเสนอมาก ๆ คือการกำหนดโทนเรื่องและการใช้องค์ประกอบด้านนอกที่เอื้อกับประเด็นภายในอย่างชาญฉลาดครับ การออกแบบภายใน เริ่มจากการออกแบบฉากและพร็อพ ทุกอย่างในซีรีส์เรื่องนี้คิดมาอย่างดีและมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ กับจงใจกำหนดทิศทางความรู้สึกคนดูในแง่สุนทรียศาสตร์ทั้งสิ้น

เริ่มจากแรงบันดาลใจของการออกโทนซีรีส์ที่มีความ Twisted-mind และ Mind trip นิด ๆ (จริง ๆ ก็ไม่นิด) ในตำนานอย่าง Twin Peaks ของ David Lynch โทนการเสียดสีรูปแบบการจัดเรียงตำแหน่งวัตถุในฉากและการจัดออฟฟิศ ได้แรงบันดาลใจมาจากหนัง Play Time (1967) ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศสชื่อ Jacques Tatai กับโฆษณาร้านสเต๊ก Sizzler ปี 1001 โทนตลกร้ายได้มาจากหนังสองพี่น้อง Coen อย่าง Fargo และซีรีส์ The Office ส่วนความจิตวิทยาเรื่องตัวตนได้มาจาก Being John Malkovich เขียนบทโดย Charlie Kaufman, Black Mirror: White Chrisman และหนัง Dark City โดยทั้งหมดถูกเจียระไนด้วย ‘ไอเดีย’ ตั้งต้นที่ได้พูดถึงไปในบรรทัดแรกของบทความนี้

การออกแบบฉากนั้น โปรดักชันดีไซเนอร์ที่ชื่อ Jeremy Hindle พูดไว้ว่า จงใจออกแบบให้หลาย ๆ อย่างสมมาตร แต่ก็มีบางอย่างผิดเพี้ยน ซึ่งทั้งสมมาตรและสมมาตรแต่ผิดเพี้ยนเล็กน้อยต่างให้ความรู้สึกไม่สบายใจบางอย่าง เหมือนอาการ OCD กำเริบ รวมไปถึงตัว ‘O’ ในโลโก้บริษัท Lumon ก็เช่นเดียวกัน ได้แรงบันดาลใจมาจากบริษัทยา ซึ่งการที่ชื่อ Lumon อยู่ด้านใน Jereny บอกว่า Lumon = พนักงาน และพนักงานอยู่ด้านในวงกลมที่เหมือนโลกทั้งใบของพวกเขา มันคือการสื่อสารธีมเรื่องทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งถึงความสัมพันธ์แบบบริษัทยักษ์ใหญ่ที่รวยระดับ Elon Musk และจะทำอะไรก็ได้ โดยการที่เสื้อผ้าของพนักงานมี Dress Code ชัดเจน ก็เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นเจ้าของในตัวมนุษย์ของบริษัทยักษ์ใหญ่เช่นเดียวกัน

Severance ซีรีส์เรื่องบริษัทรับผ่าตัดสมองพนักงาน แยกชีaวิตส่วนตัวและการทำงานออกจากกัน

ต่อมาเรื่องการออกแบบออฟฟิศ การเลือกและจัดโต๊ะเก้าอี้ที่ตัวละคร Helley พนักงานใหม่ ตื่นขึ้นมาในฉากแรกที่มีลักษณะเหมือนช่องคลอด เพื่อบ่งบอกว่าชีวิตการทำงานของ Helly และซีรีส์เรื่องนี้ได้เริ่มต้นแล้ว ไปจนถึงสิ่งที่เห็นได้ชัดคือการคุมโทนด้วยสีขาว ที่ทีมพร็อพเอาสีขาวต่างกัน 50 เฉดเพื่อขัดเหลือแค่ 3 – 4 สีมาใช้ โดยมีพื้นสีเขียวค่อนไปทางสีเบจ ทำหน้าที่บ่งบอกถึงความรู้สึกสงบ สัมผัสถึงธรรมชาติ ความอิสระเหมือนวิ่งในทุกหญ้า แต่เสียดสีว่าไม่ต่างกับหญ้าเทียม (เราเหมือนเป็นวัวในฟาร์ม) และพลังที่เพนต์ท้องฟ้าและภาพวิว ให้ความรู้สึกผิดประหลาด (Eerie) น่ากลัวแบบเซอร์เรียลและไม่ปกติ และยังมีการใช้แสงสีขาวที่สว่างแบบ Soft Light แต่มีอยู่ทั่วทุกซอกทุกมุมอาคารจนแทบไม่เกิดเงา เพื่อให้รู้สึกผิดธรรมชาติ (Unnatural) กับการให้มีของน้อยชิ้นและตั้งห่าง ๆ เน้นพื้นที่โล่ง ๆ ทั้งหมดก็เพื่อนัยยะที่บ่งบอกว่า ทุกความคิดและการกระทำของพนักงาน อยู่ในที่โล่งแจ้งและถูกจับตาดูอยู่ตลอด ไม่ต่างจากในเรื่อง 1984 ที่รัฐเผด็จการมีสโลแกน “Big Brother is Watching You”

นอกจากนี้ ยังใช้โถงทางเดินยาว ๆ ทำให้เกิดอาการกลัวที่แคบ (Claustrophobia) และรู้สึกอึดอัดแทน กับอีกสิ่งที่แสดงถึงความผิดเพี้ยนและหลอกลวงทั้งตัวละครและคนดู คือการจัดโซนโต๊ะทำงาน ที่หากจัดเป็นบล็อก ๆ หรือ Compartment แบบในหนัง The Matrix จะให้ความรู้สึกที่อึดอัด อยู่ในกรอบ และรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในระบบที่อาจก่อให้เกิดการต่อต้าน บริษัทจึงจัดโต๊ะแบบหันหน้าชนกัน และกั้นด้วยแผ่นกั้นแค่ 4 แผ่น แต่มีเพื้นที่ด้านหลังอีกเยอะและชะโงกหน้าคุยกันได้ ซึ่งหากมองดูดี ๆ นั่นไม่ต่างอะไรไปกับแบบ Compartment เลยสักนิดครับ เพียงแต่ทุกคนอยู่ในกรอบที่ใหญ่กว่าเท่านั้นเอง คือกรอบของจิตใจและการควบคุมจิตใจ > ร่างกาย (Mind Over Body)

ส่วนตัวโต๊ะทำงานและคอมพิวเตอร์ กับอุปกรณ์ทำงานเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงกลางศตวรรษครับ ยุค 50, 60, 70, 90 เป็นยุคที่คนจัดโต๊ะทำงานแบบคลาสสิก โลกยังไม่ไปไกลมาก และอุปกรณ์ยังน้อยชิ้นอยู่ การนำอะไรที่เรโทรแบบนี้มาออกแบบให้ดู Retro-future ให้ความรู้สึกเช่นกันว่าที่ทำงานนี้ส่งผลต่อ Space & Time ให้ตัวละคร Lost in Time ไม่รู้วันเวลา เดือน ปี และสนแต่ผลลัพธ์ที่ทำแบบวกวนไปเรื่อย ๆ แม้จะมีนาฬิกากับปฏิทินให้ดู และมันยังสร้างความรู้สึกโล่งอย่างอึดอัดได้ดีอีกด้วยครับ เพราะไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าคุกที่มองผนังไม่เห็น พันธนาการที่มองไม่เห็นโซ่ล่าม และคุกที่ผู้คุมขังรู้สึกว่ามัน ‘น่าอยู่’ อีกแล้วล่ะครับ มันคือการมองคุกแบบ “Cold, but comfortable and beautiful”

ไม่รู้ว่าสังเกตหรือไม่ แต่ผมจงใจใช้รูปที่อยู่ในออฟฟิศทั้งหมดเพื่อแสดงถึงความอึดอัดและมองเห็นชีวิตด้านเดียว เพื่อที่จะได้เข้าใจความรู้สึกของการถูก Severance หรือผ่าตัดแยกโลก และเพื่อให้เห็นถึง Work ที่ ไร้ Balance ในด้านนี้ และความบาลานซ์สร้างได้ ง่าย ๆ แค่ ‘เข้าห้องผ่าตัดสมอง แต่คำถามคือมันดีต่อใครกันแน่ พนักงาน บริษัท หรือผลประโยชน์ร่วมกันล่ะ แล้วถ้าทำได้จริง คุณจะทำไหม เป็นคำถามที่ซีรีส์ฝากไว้ให้คิด จากซีรีส์ที่ดูสนุก ๆ ก็ได้ อยู่เอาความ Mind-blowing กับจิตวิทยา และตลกร้ายเสียดสีทุนนิยม บริษัทยักษ์ใหญ่ และปรัชญาการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ก็ดี เรื่องนี้ครับ

ใครอ่านถึงตรงนี้แล้วสนใจตามไปดู สามารถรับชม Severance ได้ทาง Apple TV+ ครับ มีทั้งหมด 9 Episode รับประกันความสนุกและพิศวงน่าติดตาม

ข้อมูลอ้างอิง

www.thrillist.com/entertainment/nation/severance-apple-tv-plus-set-design

www.nytimes.com/2022/04/26/arts/severance-apple-tv.html

https://variety.com/2022/artisans/production/apple-tv-plus-series-severance-lighting-1235225563/

www.nytimes.com/2022/04/26/arts/severance-apple-tv.html

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ