01

CEO ของ CMO

ด้านหน้าอาณาจักร CMO Group ในซอยนวลจันทร์ มีป้ายบอกทางชี้ไปยังตึกต่างๆ ของบริษัทในเครือ ผู้มาเยือนส่วนใหญ่น่าจะมองหาป้ายศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ ไม่ก็สตูดิโอต่างๆ

ไม่มีป้ายชี้ไปห้องทำงาน CEO ของ CMO ผมมองหาตึกหน้าสุด ผมมีนัดกับเขาที่ตึกนี้

ถ้าวานผู้คนในวงการศิลปะให้แนะนำตัว คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์ คงได้คำบรรยายว่า เขาเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ และเปิดบ้านของตัวเองเป็น ‘บ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์’ เขาทำโครงการเกี่ยวกับงานศิลปะที่น่าสนใจมากมาย แล้วก็ยังเป็นช่างภาพที่เคยแสดงงานภาพถ่ายหลายครั้ง รวมทั้งเป็น 1 ใน 7 ช่างภาพหลักที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เรื่องสุดท้ายที่ใครๆ ก็น่าจะรู้ เขาเป็นเจ้าของคอลเลกชันงานศิลปะร่วมสมัย งานศิลปะเก่า โบราณวัตถุ และเฟอร์นิเจอร์โบราณ ราว 700 ชิ้น

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย

ส่วนคนในวงการอีเวนต์น่าจะพูดถึงชายวัย 60 ปี คนนี้ว่า เป็นผู้ปลูกปั้นบริษัทอีเวนต์ยักษ์ใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีสไตล์งานที่ชัดเจน จนเป็นบริษัทออแกไนเซอร์แห่งแรกที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI เมื่อ พ.ศ. 2547

อีกมุม เขาเปรียบได้กับครูใหญ่คนหนึ่งของวงการอีเวนต์ เพราะน้องๆ ในทีมของเขาแยกตัวออกมาตั้งบริษัทสร้างความคึกคักให้กับวงการอย่างน้อยๆ ก็ 10 บริษัท

บางคนก็ป้องปากกระซิบกันว่า เขาเป็นปลาใหญ่ที่ชอบเข้าไปร่วมทุนกับปลาเล็ก

พนักงานรีเซฟชันให้ข้อมูลเพิ่มว่า ห้องทำงานของเจ้านายเธออยู่ที่ชั้นสาม แต่ก่อนจะเดินเข้าตึกกรุณาไปยืนหน้าจุดตรวจวัดอุณหภูมิด้วยตนเอง ยืนตรงจุดที่กำหนด จะมีแสงอินฟาเรดยิงเข้าใบหน้า แล้วรายงานผลเป็นตัวเลขอุณหภูมิที่หน้าจอ ถ้าไฟขึ้นสีเขียวแปลว่า เราไม่มีไข้ เดินเข้าตึกได้

ลิฟต์ที่นี่ไม่ต้องใช้มือกด หน้าลิฟต์มีปุ่มให้ใช้เท้าเหยียบเพื่อเรียกลิฟต์ เข้าไปก็ใช้เท้าเหยียบปุ่มเพื่อเลือกชั้น หรือจะเอานิ้วยื่นไปสัมผัสระบบเซ็นเซอร์ตรงเลขชั้นก็ได้

ทั้งหมดนั้นเป็นเทคโนโลยีไทยประดิษฐ์ที่ทำกันเองในบริษัทช่วง COVID-19

อันที่จริง ลิฟต์ตัวนี้พวกเขาก็ซื้อมาแค่โครง แล้วดัดแปลงใหม่จนกลายเป็นลิฟต์แก้วที่เข้ากับตึกแบบพอเหมาะพอเจาะ

ความเป็นนักทดลองและนักประดิษฐ์ของชาว CMO นั้นขึ้นชื่อมาเนิ่นนาน พวกเขาออกแบบน้ำพุเต้นระบำครั้งแรกของประเทศไทยในงานอีเวนต์หนึ่งที่จัดในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ช่วงที่ศูนย์เพิ่งเปิดได้ไม่นาน ทำหนังสามมิติเป็นเรื่องแรกของประเทศไทย และทำระบบล้ำๆ อีกมากมาย ถ้าเห็นต่างชาติทำอะไรได้ แทนที่จะซื้อเทคโนโลยีนั้นมาในราคาแสนแพง พวกเขาจะหาทางพัฒนาด้วยตัวเอง

02

ถ้าผมไม่มีภาพลักษณ์พวกนี้ ซีเอ็มโออาจจะเจริญกว่านี้นะ

“ซีเอ็มโอถูกหน่วงด้วยภาพลักษณ์ของผมนี่แหละ” คุณเสริมคุณเริ่มต้นบทสนทนาหลังจากผมชื่นชมเทคโนโลยีไทยประดิษฐ์มากมายของบริษัทเขา “บริษัทเราไม่ได้โบราณ เรามีนวัตกรรมมาโดยตลอด แล้วเราก็มีภาพลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวังๆ วัดๆ ด้วย ภาพลักษณ์ของผมเองก็ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี ทั้งที่เทคโนโลยีทั้งหมดก็มาจากผม ถ้าผมไม่มีภาพลักษณ์พวกนี้ ซีเอ็มโออาจจะเจริญกว่านี้นะ” เจ้าของบริษัทนักสะสมงานศิลปะหัวเราะ แล้วชวนไปดู PM Live Studio ที่อยู่ด้านในสุดของของบริษัท

ภาพลักษณ์ของคุณเสริมคุณกับสิ่งที่เขาเป็นดูจะไม่ตรงกันนัก อีกมุมหนึ่งเขาเป็นคนสนใจเทคโนโลยีมาก และบริษัทของเขาก็เคยเข้าไปถือหุ้นในบริษัทออนไลน์เอเจนซี่ Thoth Media บริษัทไลฟ์สไตล์อีเวนต์ Momentum S บริษัทอีเวนต์ด้านดนตรี Muse และบริษัทเทคโนโลยีออนไลน์ Varp Event

ปีที่แล้ว CMO จัดงานประชุมด้านการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุด ทำแบบครบวงจร มีแพทย์เดินทางมาประชุมจากทั่วโลก 3,000 กว่าคน เป็นคนไทยราว 500 คน มีห้องประชุมย่อย 12 ห้อง แต่ละห้องมี 4 ช่วง มีวิทยากรทั้งหมดราว 800 คน

“คนพูดแปดร้อยคน ทุกคนมีสไลด์ เราต้องมีห้องโหลดสไลด์ ตั้งเซิร์ฟเวอร์แล้วต่อสายไฟเบอร์ออฟติกไปที่สิบสองห้อง ให้สแตนด์บายในเวลาที่กำหนด แค่ระบบนี้ก็ซูเปอร์ไฮเทคแล้ว เราก็ทำกันเอง”

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย

เขาเล่าต่อว่า ในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่อีเวนต์ทั้งหลายถูกยกเลิก บริษัทของเขาเอาสตูดิโอที่มีอยู่มาติดตั้งอุปกรณ์ทั้งระบบเสียง แสง จอ แล้วให้เช่าในราคาที่เป็นมิตรมาก เพื่อใช้จัดงานอีเวนต์แบบสตรีมมิ่ง ซึ่งจัดไปแล้วราว 25 งาน ทั้งงานเปิดตัวโทรศัพท์มือถือ จัดประชุมนานาชาติ งานประชุมดีลเลอร์แบบที่ห้องเห็นหน้าและมีระบบสั่งจองสินค้าได้ งานแฟนมีตที่ดารามาเจอแฟนคลับแบบออนไลน์ และคอนเสิร์ตออนไลน์ วันนี้ก็มีคนมากมายเดินเข้าออกสตูดิโอ เพราะง่วนกับการเตรียมจัดงาน ELLE Fashion Week 2020 แบบดิจิทัล

“ส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าเราอยู่แล้ว อีกส่วนราวสามสิบสี่สิบเปอร์เซ็นต์เพิ่งรู้จักเราตอนที่ทำออนไลน์ ขนาดเราอยู่ตรงนี้มาสามสิบกว่าปี ให้เช่าอุปกรณ์ขนาดนี้ ยังมีคนที่ไม่รู้จักเราเลย เพราะคนมีหลายแวดวง ใครที่บอกว่า ตัวเองเป็นที่รู้จักของทุกคนในโลก เขาคิดผิด” คนทำอีเวนต์ชื่อดังของประเทศหัวเราะเสียงดัง

03

อันนี้ชัดเจนเลย ผมไม่มีความสามารถด้านธุรกิจ

ห้องทำงานของคุณเสริมคุณอยู่ชั้นสามตึกหน้าสุด เดินจากลิฟต์มาถึงห้องทำงานเขาเท้าก้าวไม่กี่ทีก็ถึง แต่ระหว่างทางก็จะผ่านงานศิลปะนานาชนิดของศิลปินชื่อดังมากมาย ชิ้นที่อยู่ข้างประตูห้องทำงานของเขาเป็นงานภาพถ่ายหญิงชายเปลือยกายท่อนบนซ้อนทับกันอยู่ มันคืองานของเขาเอง เขาบอกว่า ไม่มีกล้องถ่ายรูปมาสิบปีแล้ว จะใช้งานทีก็ใช้วิธีเช่า ส่วนภาพถ่ายในชีวิตประจำวันก็ถ่ายด้วยโทรศัพท์

ภายในห้องทำงานของเขาเต็มไปด้วยงานศิลปะซึ่งเขาบอกว่าเป็นคอลเลกชันกลางๆ ชิ้นเด็ดอยู่ที่พิพิธภัณฑ์และที่บ้าน ชิ้นที่เตะตาที่สุดคือ รูปหล่อสำริดของตัวเขาเอง ฝีมือของ มานพ สุวรรณปินฑะ เขาตั้งใจว่า ถึงวันที่เขาจากไป จะใช้รูปนี้วางไว้หน้าพิพิธภัณฑ์ เขาออกตัวว่ารูปนี้ทำมานานจนบุคลิกเขาเปลี่ยนไปหมดแล้ว ทั้งทรงผม แว่น หนวด และเขาไม่ได้ใส่เสื้อคอจีนแล้ว

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย

หลังโต๊ะทำงานของเขามีตู้พระทรงไทยยุครัชกาลที่ 3 มีพระพุทธรูป 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง พระพุทธรูปสมัยอยุธยา และพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย

เขาเชิญให้ผมนั่งบนเก้าอี้โบราณจากฝรั่งเศสซึ่งสร้างราว ค.ศ. 1890 เป็นยุคที่สไตล์แบบเอเชียไปเป็นที่นิยมในฝรั่งเศส ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับตู้พระ โต๊ะไม้ที่อยู่ด้านข้างก็มาจากฝรั่งเศสในยุคเดียวกัน เป็นเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดังสมัยนั้น มีลายเซ็นของนักออกแบบอยู่ในลิ้นชักด้วย

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย

เราเริ่มคำถามแรกกันที่ เขาคิดว่าตัวเองเป็นนักสร้างสรรค์หรือนักธุรกิจ

“อันนี้ชัดเจนเลย ผมไม่มีความสามารถด้านธุรกิจ ถ้าผมมีความสามารถด้านธุรกิจนะ ผมต้องทำบริษัทให้รวยกว่านี้เยอะมาก” เจ้าของบริษัทมูลค่าหลักพันล้านตอบทันทีพร้อมเสียงหัวเราะ “ผมเป็นนักธุรกิจที่ห่วย ไม่ค่อยไปสมาคมกับใคร กลับบ้านเร็ว ไม่ก็นั่งอยู่ในห้องทำงานคนเดียว อาหารเย็นของผมคือ ซาลาเปาหนึ่งลูก หรือพิซซ่าหนึ่งชิ้น ไม่ก็แซนด์วิชเซเว่นหนึ่งซีก นั่งกินคนเดียวที่นี่ แล้วค่อยกลับบ้าน”

“การขายงานอีเวนต์จำนวนมาก มักจะไปขายงานกับลูกค้าในร้านอาหารตอนเย็นหรือตอนค่ำ แต่บริษัทเราไม่เคยทำ เราขายงานในห้องประชุม แล้วก็ไม่ค่อยไปกินข้าวกับลูกค้าด้วย ผมไม่ใช่คนทำอีเวนต์เป็นธุรกิจที่ดีนัก” เขาหัวเราะอีกรอบ

หลักในการทำงานอีเวนต์ของเขาไม่มีอะไรซับซ้อน Creative Management Organization ตามชื่อบริษัท ที่นี่คือองค์กรบริหารความคิดสร้างสรรค์ เมื่อตกตะกอนภาพฝันออกมาได้แล้ว ก็จะทำไปบริหารจัดการลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงซึ่งใช้ทักษะอีกแบบ

ผู้คร่ำหวอดในวงการอีเวนต์มา 30 กว่าปี วิเคราะห์จุดแข็งของบริษัทอีเวนต์ยักษ์ใหญ่ในประเทศให้ฟังทีละรายด้วยความชื่นชม ทั้งความสด ความคมในการขายงาน และการรักษาความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับลูกค้า แล้วก็วิเคราะห์จุดแข็งของบริษัทตัวเองว่า เป็นบริษัทที่ถนัดงานครีเอทีฟและโปรดักชันซึ่งมีลักษณะเฉพาะ มีลูกค้าระยะยาวที่ทำงานด้วยกันมาเนิ่นนานประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขาย

เมื่อพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ เขาชี้ให้ดูโต๊ะทำงานที่ตั้งใจออกแบบมาพร้อมตึก เพื่อให้คนที่เดินเข้ามาในห้องแล้วเห็นว่าโต๊ะทำงานของเขาลอยอยู่

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย

“ผมออกแบบโต๊ะตัวนี้เอง มันมีแค่ขาเดียว ถ้าเดินเข้ามาจะไม่เห็นขาโต๊ะ เหมือนโต๊ะลอยได้ ขาโต๊ะนี่ก็เชื่อมติดกับโครงสร้างตึกเลย โต๊ะทำจากเหล็กไอบีม เพราะผมต้องนั่งบนโต๊ะได้ แล้วก็ต้องมีลิ้นชัก มันจะได้หนา จะได้บังขาโต๊ะได้ เรื่องทำธุรกิจกับทำงานสร้างสรรค์ งานสร้างสรรค์นี่ผมทำไปไกลกว่ามาก” เขาหัวเราะ แล้วลุกไปนั่งบนโต๊ะให้ดู

04

เก็บไว้เตือนความจำ

บนโต๊ะทำงานลอยได้ของเขา มีโทรศัพท์สำนักงานวางอยู่หนึ่งเครื่อง คาดว่าเขาน่าจะยังใช้งานอยู่ ส่วนเครื่องฉายสไลด์แบบถาดกลม แค่วางประดับ

“มันเป็นธุรกิจแรกที่ผมทำ เก็บไว้เตือนความจำ ผมเป็นคนชอบเก็บของเก่า ของเก่าของตัวเองก็เก็บ รูปอากงอาม่าเก็บหมด”

คุณเสริมคุณเป็นลูกชายคนเล็ก เขามีพี่ชายอีก 4 คน บ้านของเขาทำห้างเล็กๆ ที่จังหวัดนครสวรรค์ (ห้างแฟรี่แลนด์ในปัจจุบัน) เขาเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนมัธยมที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และจบปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

ทีแรกเขาอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์เพราะสนใจในเหตุบ้านการเมือง แต่เมื่อได้ถ่ายภาพจึงเปลี่ยนไปเรียนสาขาภาพยนตร์แทน เขาเริ่มถ่ายภาพ Photo Essay ตั้งแต่เรียนปีสอง เริ่มถ่าย Street Photo ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 ซึ่งเมืองไทยยังไม่ค่อยมีคนถ่ายนัก

หนุ่มหน้าตี๋จากนครสวรรค์ได้ทำงานเป็นช่างภาพอาชีพตั้งแต่ยังเป็นนิสิต มีลูกบ้าใช้ได้ มีงานหนึ่งเขาต้องหามุมถ่ายสะพานพระราม 7 มุมที่เขาเลือกคือ การปีนเสาไฟฟ้าที่บางกรวย เขาได้รับอนุญาตจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และมีช่างไฟฟ้าปีนตามขึ้นไปด้วย พอมีเมฆฝนตั้งเค้า ช่างไฟฟ้าขอปีนลงเพราะไม่อยากเป็นสายล่อฟ้า แต่เขาไม่ลงจนกว่าจะได้รูปที่พอใจ

ก่อนเรียนจบมีรุ่นพี่มาชวนร่วมหุ้นเปิดบริษัท รับถ่ายโปสเตอร์ โบรชัวร์ ปฏิทิน และปฏิทินนู้ด เขารับหน้าที่คิดคอนเซปต์และถ่ายภาพ ช่วงนั้นเขามีโอกาสได้ถ่ายภาพงานสำคัญอย่างการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และได้ถ่ายภาพโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ทำงานภาพนิ่งมาได้พักใหญ่ เขาก็สนใจงานมัลติมีเดียจนเปิดบริษัท บริษัท ดิอายส์ จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2529 เพื่อรับผลิตสื่อมัลติมีเดียและมัลติวิชัน ซึ่งถือว่าแปลกใหม่และทันสมัยมากในช่วงนั้น

จากนั้นก็ให้เช่าอุปกรณ์เกี่ยวกับแสงสีเสียงสำหรับจัดอีเวนต์และคอนเสิร์ต จนกลายมาเป็น CMO บริษัทออแกไนเซอร์ที่ให้บริการด้านงานสร้างสรรค์และบริหารอีเวนต์แบบครบวงจรเป็นรายแรกของประเทศ

05

ถ้าเราเอางานมารวมกัน มันก็จะเป็นห้องรับแขกของพวกเขา

เดินออกจากห้องทำงานของเขาตรงต่อเข้าไปในตึก จะเป็นทางเข้าศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมงานประติมากรรมที่ครบเครื่องที่สุดในประเทศ ตัวงานตั้งอยู่บนชั้นสองของโกดังขนาดใหญ่ ชั้นล่างเป็นสำนักงานยุคใหม่ที่มีเปียโน โต๊ะปิงปอง มีห้องประชุมหลายแนว และงานประติมากรรมของ Alex Face ตัวเบ้อเริ่ม

เขาตั้งใจออกแบบที่ทำงานให้มีบรรยากาศผ่อนคลาย พนักงานจะได้รู้สึกว่ามาทำงานเหมือนมาเล่น ความสร้างสรรค์จะได้เกิด

“ประมาณปีสามศูนย์กว่าๆ ผมไปดูงานที่บริติชมิวเซียม ผมชอบงานหน้ากากผู้หญิงของศิลปินยุโรปตะวันออกท่านหนึ่งมาก อยากซื้อหนังสือรวมผลงานของเขา เล่มละสองหมื่นห้า แต่แถมงานประติมากรรมหนึ่งในร้อยเอดิชันให้ด้วยหนึ่งชิ้น” เขาเล่าถึงงานศิลปะชิ้นแรกในชีวิตที่ซื้อ หลังจากนั้นช่วงที่ห้างเกษรพลาซ่าเปิดตัวใหม่ๆ เขาก็ได้ดูงานของภาพวาดของ อนันต์ ปาณินท์ (ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2562) ก็เลยได้เริ่มซื้องานศิลปินไทย

พอมีงานศิลปะได้จำนวนหนึ่งเขาก็มีทิศทางในการเก็บงานที่ชัดเจน ไม่ได้เก็บจากความชอบ ไม่ได้เก็บเพราะจะเก็งราคา แต่เก็บเพื่อจะสร้างพิพิธภัณฑ์

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย

“ผมเก็บงานตามประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยเลย เรามีงานในยุคนั้นยุคนี้หรือยัง ตอนแรกผมจะชวนอาจารย์ด้านศิลปะมาตั้งเป็นคณะกรรมการ แต่อาจารย์บอกว่า อย่าเลย ให้ผม Curate เองดีกว่า จะได้เป็นคาแรกเตอร์ของผมเอง ผมก็ต้องศึกษาด้วยตัวเอง อ่านหนังสือเยอะๆ”

นักสะสมศิลปะรายใหญ่คนหนึ่งของประเทศเล่าต่อว่า งานของศิลปินยุคใหม่ที่ยังไม่ดังเขาก็เก็บ เก็บโดยไม่คิดว่าในอนาคตจะเป็นไร ไม่ว่าจะเป็นงานของ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ซึ่งเขาซื้อตั้งแต่นิทรรศการแรก หรือเมื่อต้นปีเขาก็เพิ่งไปซื้องานของ นักรบ มูลมานัส ถึงบ้าน

“ผมไม่รู้หรอกว่าตัวเขาจะไปถึงไหน งานชิ้นต่อๆ ไปจะเป็นยังไง แต่ผมรู้ว่าวันนี้เขาทำได้ดี ชิ้นที่ผมซื้อมันดีแล้ว มันก็จบแล้วสำหรับผม” พูดจบเขาก็หยิบกาแฟขึ้นจิบ

การเปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมื่อ พ.ศ. 2547 ทำให้นักทำอีเวนต์คนนี้ได้ทำอะไรมากมายที่ไม่เคยทำ อย่างเช่น โครงการอนุรักษ์งานของ อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ซึ่งเขาอยากรู้ว่าถ้ามีเอกชนรายหนึ่งตั้งใจจริงในขับเคลื่อนวงการศิลปะไทย จะทำได้ไหม เขาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อปั้นงานของอาจารย์เขียนขึ้นมาใหม่ เป็นงานรีโปรดักชันที่ปั้นโดยมานพ สุวรรณปินฑะ และตรวจโดยเหล่าอาจารย์ที่เคยเห็นงานชิ้นจริง

ด้วยความที่เขาทำพิพิธภัณฑ์และทำโครงการเหล่านี้เพื่อการศึกษา โดยไม่ได้มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงได้รับความร่วมมือจากผู้คนมากมาย จนเขาได้ทำงานรีโปรดักชันรูปปั้นครุฑของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี หน้าไปรษณีย์กลาง และรูปหล่อสิงโตสำริด ผลงานของ ช่วง มูลพินิจ ที่เคยอยู่หน้าธนาคารกสิกรไทยสำนักงานใหญ่

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย

“เราเป็นเอกชนคนหนึ่ง แต่เราสัญญาว่าจะไม่เอาไปขาย จะเอาไปทำประโยชน์ต่อสาธารณะ พอเราตั้งใจทำจริงๆ ก็มีคนเชื่อเหมือนเราให้การสนับสนุน แต่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์”

คุณเสริมคุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า การทำพิพิธภัณฑ์แบบนี้ต้องเป็นคนที่รวยมาก เขาไม่ได้รวยขนาดนั้น แต่ก็อยากทำ

“มันเริ่มจากเราสงสารงานที่ถูกทิ้งขว้าง เราดูมิวเซียมมาเยอะ เราเห็นว่าศิลปินไทยก็มีความสามารถ ถ้าเราเอางานมารวมกัน มันก็จะเป็นห้องรับแขกของพวกเขา ทุกวันนี้ผมยังทำรายงานส่งศิลปินทุกคนว่า ปีที่แล้วมีใครมาเยี่ยมชมบ้าง กี่กลุ่ม ตอนที่พิพิธภัณฑ์ในสิงคโปร์จะทำคอลเลกชันเขาก็มาฟังบรรยายที่นี่ แล้วเราก็ให้คอนแทกไปซื้องานจากศิลปินเพื่อไปแสดงที่สิงคโปร์ เราช่วยส่งเสริมศิลปินเท่าที่จะช่วยได้” เจ้าของพิพิธภัณฑ์ศิลปะย้ำว่า เขาเน้นเก็บงานของศิลปินไทย

“ศิลปินต่างชาติมีคนเก็บเยอะแล้ว มันเป็นหน้าที่ของคนไทยหรือเปล่าที่จะแสดงศักยภาพของศิลปินไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่า ศิลปินไทยก็มีฝีมือเหมือนกันนะ”

นักสะสมงานศิลปะคนนี้มีงานประติมากรรมในครอบครองอยู่ราว 200 ชิ้น แล้วก็ยังมีงานศิลปะที่อายุเกิน 100 ปี งานศิลปะร่วมสมัยทั้งงานประติมากรรม จิตรกรรม ภาพพิมพ์ สีฝุ่น สีน้ำ งานจัดวาง และเฟอร์นิเจอร์ รวมกันทั้งหมดประมาณ 750 ชิ้น

ส่วนใหญ่จัดแสดงอยู่ในบ้านของเขา

06

ผมให้คุณดูเลย เข้าได้หมด ถึงห้องนอนผมเลย

คนระดับเสริมคุณ คุณาวงศ์ ถ้าอยากทำพิพิธภัณฑ์สักแห่ง เขาจะเลือกทำที่ไหนก็ได้ แต่เขากลับเลือกทำในบ้านตัวเอง ให้ผู้มาเยี่ยมชม เดินเข้ามาชมทุกซอกทุกมุมในบ้านตัวเอง เข้าไปถึงห้องนอน ถ้าวันไหนมีคนมาดูงาน เขาก็ต้องออกจากบ้าน

ทำไม

“ผมประทับใจ Sir John Soane’s Museum ในอังกฤษมาก พาลูกไปดูหลายครั้งเลย ไปมากว่าสิบปี เขาเป็นสถาปนิกที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่หนุ่ม เพราะชนะประกวดแบบรัฐสภาอังกฤษ เลยเป็นคนที่มีฐานะ เพราะมีคนมาจ้างเยอะ ยุคนั้นเป็นยุคที่อังกฤษไปล่าอาณานิคม ไปขุดสมบัติจากอียิปต์ เขาเลยมีหีบศพมัมมี่ที่เป็นหินควอตซ์ มีของอียิปต์จำนวนหนึ่ง มี Replica ของกรีกด้วย” เขาเล่าที่มาของแรงบันดาลใจในการเปิดบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์

“หนึ่ง ผมชอบบรรยากาศ สอง มันเป็นวิธีที่ง่ายในการให้ลูกๆ สืบทอด เก็บรวบรวมไว้เป็นแกลเลอรี่มันจะจัดการง่ายกว่า เก็บไว้แบบนี้” เขาชี้มือไปที่งานศิลปะที่วางอยู่รอบห้องทำงาน “มันเป็นวิธีเก็บที่ผมชอบ”

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย

เขาเปิดบ้านในซอยลาดพร้าว 50 เป็น ‘บ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์’ เพื่อแสดงศิลปวัตถุโบราณ ศิลปะร่วมสมัย เฟอร์นิเจอร์เก่ากว่า 300 ชิ้น ซึ่งเขาสะสมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535

บ้าน 3 ชั้น บนพื้นที่ 800 ตารางเมตร จัดแสดงงานทั้งภายในและภายนอก มี 12 โซนย่อย มีงานหุ่นหลวงของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต งานของศิลปินอย่าง ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประกิต (จิตร) บัวบุศย์, ช่วง มูลพินิจ, เขียน ยิ้มศิริ, ชำเรือง วิเชียรเขตต์, เพชร วิริยะ, ประทีป คชบัว, พิชัย นิรันต์ และ ปรีชา เถาทอง

“ผมเก็บทุกอย่างที่เป็นความหลงใหลของผม เฟอร์เนิเจอร์ก็เยอะ เก้าอี้ โต๊ะ ตู้ หีบ เยอะแยะ บ้านหลังนี้สร้างมายี่สิบปีแล้ว ตอนที่ปรับปรุงบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ ภารกิจหลักคือ การใส่เฟอร์นิเจอร์เข้าไป มิวเซียมเฮาส์ในโลกนี้ ไม่มีใครให้ไปดูขณะมีชีวิตนะ ส่วนมากเป็นบ้านยุคปีหนึ่งพันแปดร้อย แต่บ้านผมนี่ยุคสองพัน ผมให้คุณดูเลย เข้าได้หมด ถึงห้องนอนผมเลย วันที่คนมาดูงานผมต้องออกจากบ้านนะ หรือไปอยู่ในห้องลูกคนเล็ก ซึ่งเขาไม่ให้นำห้องนอนมาจัดแสดง เราเปิดบ้านวันเสาร์ เดือนละครั้ง แต่ถ้าตายแล้วจะให้เดินทุกวัน” แต่ช่วงนี้หลังจากสถานการณ์ COVID-19 บ้านพิพิธภัณฑ์หลังนี้ก็งดรับแขกชั่วคราว

แล้วเขาได้อะไรจากการเปิดบ้านให้ใครก็ไม่รู้เข้ามาเดินชม การเปิดบ้านเดือนละวัน วันละ 3 รอบ รอบละ 10 คน ค่าเข้าชมคนละ 300 บาท คงไม่ได้ทำให้เขาร่ำรวย

“หนึ่ง ผมได้อยู่ในบ้านที่สวยจนผมตาย สอง ผมสร้างแรงบันดาลใจให้คนกลับไปทำบ้านสวยๆ ไปเก็บงานศิลปะ มันไม่เหมือนดูงานในแกลอรี่นะ เพราะคนที่มาดูเขาจะกลับไปทำบ้านกันหมด หลังจากที่เราทำมาปีหนึ่ง ก็พบว่ามันดี ไม่ได้ดีด้วยจำนวนคนมานะ เพราะคนไม่ได้เยอะ แต่มันดีกับคนที่ได้มา แรงบันดาลใจที่เขาได้กลับไป ผมว่ามันคุ้มมากๆ เหมือนคุณทำอะไรดีๆ อย่างหนึ่ง มีคนมาดูร้อยคน มีคนได้แรงบันดาลใจสิบคน เอาแรงบันดาลใจนี้ไปทำอะไรต่อสองคน นั่นก็สุดยอดแล้ว แค่นี้ผมก็รู้สึกว่ามันดีแล้ว”

และการเปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ส่งผลกับตัวเขาเองด้วย

“ความฝันที่อยากมีคอลเลกชันที่สุดยอดในด้านใดด้านหนึ่งมันลดลง กลายเป็นสนใจองค์รวมมากกว่า เดินเข้ามาดูแล้วกลมกล่อม แต่เราต้องชอบมันเป็นหลักนะ เพราะเราต้องอยู่กับมัน ถ้าคนมาดูแล้วไม่ชอบก็ไม่เป็นไร”

คุณเสริมคุณพูดถึงเคล็ดลับในการจัดบ้านของเขาว่า “ผมเป็นคนที่เพลิดเพลินกับวิชวล วิธีจัดบ้านของผมง่ายนิดเดียว ไม่ว่าจะนั่งตรงไหน คุณต้องเห็นอะไรดีๆ เก้าตัวนี้จะเห็นอะไร เก้าอี้ตัวนั้นจะเห็นอะไร ทางเดินนั้นเดินมาแล้วจะเห็นอะไร ผมวางองค์ประกอบไว้หมด”

07

น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์สุดท้ายในชีวิตผม

ตอนเรียนนิเทศ ความฝันอย่างเดียวของเขาคือ มีสตูดิโอ แล้วโชคชะตาก็พาเขาทำมัลติวิชัน เขาไม่ได้มองอะไรไกลมาก มองแค่ก้าวต่อไปที่จะเดิน เป้าหมายตอนนี้มีแค่สองเรื่อง คือ พาธุรกิจผ่านโควิดไปโดยที่บอบช้ำน้อยที่สุด และเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์เฟสสอง เพื่อให้ลูกจัดการงานศิลปะทั้งหมดได้ง่ายที่สุดในวันที่เขาไม่อยู่แล้ว

“น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์สุดท้ายในชีวิตผม ถัดจากนี้คงไม่มีแรงสร้างแล้ว ตัวอาคารก็เป็นทรงสไตล์บ้านที่ผมอยู่ตอนนี้ แต่ว่าใหญ่เลย พื้นที่พันสามร้อยตารางเมตร บ้านเก่าแค่สามสี่ร้อยตารางเมตร มีหอพระแยกออกมาต่างหากด้วย มีห้อง Dining Room ขนาดใหญ่ มีห้องน้ำชา ห้องเวิร์กช็อป ห้องนั่งทำงานได้ มีมุมของเก่าของบรรพบุรุษเรา เพราะคุณปู่ผมทำอะไรไว้เยอะมากที่นครสวรรค์ ทำเยอะกว่าผมอีกนะ สร้างมูลนิธิ ให้ทุนอุดหนุนโรงพยาบาล อายุสี่สิบกว่าเขาก็ไม่ทำงานแล้ว มาทำอะไรพวกนี้

“แล้วก็เป็นบ้านที่มีระบบอำนวยความสะดวกในบั้นปลายชีวิต เช่น สระออกกำลังกายในน้ำ เตรียมให้เราอยู่ที่นี่จนตาย” คุณเสริมคุณหยิบสมุดสเก็ตช์มาเปิดให้ดู พี่ชายของเขา ดร.ชเล คุณาวงศ์ ผู้ออกแบบบ้านของเขาและบ้านหลังใหม่ อยากให้เขามีส่วนร่วมในการออกแบบเยอะๆ อยากเห็นอาคารออกมาเป็นยังไง ก็สเก็ตช์ออกมาเลย แล้วสถาปนิกมืออาชีพจะเอาไปทำให้มันเป็นแบบจริงๆ

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย
เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย
เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย

นอกจากภาพสเก็ตช์อาคารแล้ว เขาก็ยังบันทึกบางความคิดไว้ด้วยตัวหนังสือ บางหน้าก็ใช้เป็นที่ซ้อมมือวาดภาพ Figure ของคน ท้ายภาพทุกภาพ เขาจะเซ็นชื่อและลงวันนี้ไว้ เขาได้นิสัยนี้มาจากคุณพ่อที่จะเขียนปี พ.ศ. ไว้ที่ด้านล่างของภาพถ่ายทุกใบ เขามีสมุดแบบนี้อีก 20 กว่าเล่ม

คุณเสริมคุณพูดถึงพิพิธภัณฑ์แห่งสุดท้ายที่จะสร้างเสร็จในอีก 2 ปีครึ่งว่า “ประวัติศาสตร์สอนว่า ไม่มีคอลเลกชันไหนที่อยู่ได้ตลอดไป หวังว่าคอลเลกชันนี้จะยังอยู่ตอนที่เรายังอยู่ ถ้าจะเมตตาไม่ให้เราเจ็บปวดมาก รอให้เราตายก่อนแล้วคอลเลกชันค่อยพังก็แล้วกัน ถ้าลูกทำได้ดี ก็อาจจะรักษาคอลเลกชันนี้ไปได้อีกสักหนึ่งหรือสองรุ่น ที่พิพิธภัณฑ์เซอร์ จอห์น โชน ของร้อยห้าสิบปี สองร้อยปี ก็ยังโชว์อยู่ แต่ก็อาจจะมีของที่ไม่อยู่แล้วบ้าง เราก็บอกลูกว่า ถ้าจำเป็นต้องขายงานชิ้นสำคัญไปบ้างเพื่อดูแลให้คอลเลกชันทั้งหมดอยู่ได้นานขึ้น ก็ทำได้ แต่ผมจัดการเรื่องหุ้นในบริษัทให้ลูก เป็นเงินเพื่อดูแลตัวเอง จะได้ไม่ต้องเอาคอลเลกชันไปขาย”

08

เป็นความบังเอิญ หรืออะไรก็ไม่รู้

“เรื่องการหย่าและการมีชีวิตใหม่” เขาตอบทันที เมื่อผมถามว่า มีเรื่องอะไรที่อยากเล่าอีกบ้าง งานแต่งงานครั้งใหม่ของเขากับ คุณยุพเรศ เกษสาคร ซึ่งจัดในศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ เมื่อปลาย พ.ศ. 2561 ถือเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงสังคมที่ใครๆ ต่างพูดถึง

“ผมใช้เวลายี่สิบห้าปีอยู่กับคุณสุรีย์ ภรรยาคนแรก มันมีช่วงเวลาที่ดีมากๆ อยู่ยี่สิบปี เราควรคิดว่าเรามีเวลาดีๆ กันตั้งยี่สิบปี เวลาดีๆ นั้น ความทรงจำนั้นมันงดงาม เกิดมาเป็นลูกเราสองคน ซึ่งก็ยังเป็นลูกเราสองคนตลอดไป เราไม่ควรคิดว่า อยู่กันมาตั้งยี่สิบห้าปี ไม่น่าเลิกกันเลย ผมก็ตั้งคำถามว่า เรามีห้าปีที่ไม่ดี แล้วจะเราจะอยู่แบบไม่ดีไปอีกสี่สิบกว่าปีหรือ ครอบครัวผมตายตอนอายุเก้าสิบกว่ากันหมด ผมเดาว่าตัวเองก็น่าจะเป็นแบบนั้น

“แทนที่จะเราจะอยู่กับความรู้สึกที่ไม่ดี เราไปมีช่วงที่สองของชีวิตดีกว่า จะมีชีวิตคู่ครั้งใหม่ก็ได้ หรือไม่ต้องอยู่กับใครก็ได้ อย่ามองว่าการหย่าเป็นเรื่องไม่ดี อาจจะดีกว่าตอนอยู่ด้วยกันก็ได้

“สังคมไทยเปิดกว้างกับหลายๆ เรื่อง LGBT ก็ได้หมดแล้ว แต่ยังไม่ค่อยเปิดกว้างเกี่ยวกับการหย่าและการเริ่มต้นใหม่ ทำไมคุณไม่ให้โอกาสตัวเองเรื่องนี้ สังคมไทยจำนวนมากยังอยู่กันแบบไม่ได้เป็นชีวิตคู่แล้ว แต่อยู่กันไปเพื่อลูก เพื่อเศรษฐกิจ อยู่กันไปอย่างนั้น ต่างคนก็ต่างไปมีคนรักต่างหาก โดยไม่เปิดเผย ซึ่งสำหรับผมไม่ได้ ถือว่ามันไม่ให้เกียรติคนใหม่ ผมไม่ได้หย่ากับคุณเพราะมีคนใหม่ แต่พอหย่าแล้ว ผมจะไปหา ผมทำงั้นจริงๆ นะ หย่าแล้วผมสแกนหาเลยปีนึง ผมไม่อยากให้คนนั้นเป็นเหยื่อของการเลิกรา” คุณเสริมคุณตอบอย่างออกรส

ชั้นบนผนังในห้องทำงานมีภาพแกะไม้รูปภรรยาคนปัจจุบันของเขา เคียงข้างงานศิลปะของศิลปินดังๆ ผมสงสัยว่า ใครเป็นคนเลือกภาพนี้มาวางไว้ตรงนี้

เสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ผู้เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของศิลปินไทย

“นี่ไม่ใช่ภาพภรรยาผม” เขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะ “สามปีสุดท้ายของการใช้ชีวิตคู่กับภรรยาคนแรก ผมทำภาพพิมพ์เป็นงานแกะไม้ ผมเขียนสดบนไม้ แล้วก็แกะเอง วิธีการคือ เปิดนิตยสาร ชอบรูปไหนก็เอามาแกะ แต่ไม่ว่าผมจะแกะภาพผู้หญิงคนไหน หน้าตาก็จะออกมาคล้ายๆ กัน ลูกสาวถามผมอยู่สามทีว่า แอบคบกับพี่จิ๊บ (ยุพเรศ เกษสาคร) ก่อนหรือเปล่า เพราะเขาก็คิดว่าเป็นรูปภรรยาผม ผมจะไปคบได้ยังไงล่ะ ผมจดไว้หมดว่าเจอกันวันแรกวันไหน เปิดดูได้เลย”

คุณเสริมคุณให้เลขาไปหยิบของชำร่วยวันแต่งงานมาให้ เป็นสมุดบันทึกที่ด้านในมีภาพแกะไม้ฝีมือของเขาแทรกอยู่ ก็เป็นอย่างที่เขาว่า ผู้หญิงในภาพไหนๆ ก็หน้าตาก็คล้ายกัน

“จะเป็นความบังเอิญ หรืออะไรก็ไม่รู้” เขาบอกแบบนั้น

09

ได้กินพิซซ่าชิ้นหนึ่งกับไดเอตโค้กตอนเย็นของวันหนึ่ง ก็มีความสุขแล้ว

ชายวัย 60 ปี คนนี้ยังไม่คิดเรื่องเกษียณ เขายังสนุกกับการทำงาน ยังอยากทำงานไปเรื่อยๆ เพียงแต่อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบและบทบาทไปตามความสนใจ

เขาทำงานอีเวนต์มาก็มากมาย ยังมีงานประเภทไหนอีกไหมที่เขายังค้างคาใจ อยากทำให้สำเร็จก่อนวางมือ

“งานที่ผมทำมันแล้วแต่จังหวะโอกาส แต่เราก็มีความตั้งใจนะ งาน Mapping กำแพงวัง เราคิดก่อนจะได้ทำจริงเป็นสิบปี คิดแล้วก็เสนอไปเรื่อยๆ เจอใครก็เสนอ เสนอจนได้ทำ ตอนนี้ผมอยากทำเทศกาลแสงที่อยุธยา ทำทั้งเมือง ให้คนได้ไปเที่ยวอยุธยาตอนกลางคืน แต่ละวัดใช้เทคนิคไม่เหมือนกัน ซื้อตั๋วทีเดียวไปดูได้หมด จ่ายเงินสามร้อย มีบริการรถชัตเทิลบัสพานั่งวนไปวนมา ของก็ให้ชาวบ้านขาย กระจายเศรษฐกิจ การปิดเมืองแบบทำให้เนี้ยบ น่าทำ ควรทำด้วย ทำสามเดือน อาจจะใช้เงินสักสองร้อยล้าน แต่ได้เงินกลับมาหลายพันล้าน คุ้มนะ” เขาพูดเหมือนเดิมว่า เจอใครก็จะเล่าไอเดียนี้ให้ฟัง จนกว่ามันจะเป็นจริง

ถ้าให้ลองนึกย้อนกลับไป งานทั้งหมดที่เคยทำมา งานชิ้นไหนทำให้เขามีความสุขที่สุด

“ความสุขของผมมันไม่ได้มาจากงานชิ้นใหญ่หรือเล็ก ความสุขตอนได้งานศิลปะมาใหม่ๆ สักพักมันก็ค่อยๆ หายไป ตอนนี้ผมมองความสุขเป็นเรื่องง่ายมาก ผมโชคดีตรงที่ได้รับความสุขแบบที่เขาอวยพรกัน ขอให้มีความสุขความสำเร็จ ผมได้มาง่ายมาก บางครั้งก็แค่ได้กินพิซซ่าชิ้นหนึ่งกับไดเอตโค้กตอนเย็นของวันหนึ่ง ก็มีความสุขแล้ว เท่านี้เอง” นักสร้างสรรค์ยิ้ม แล้วหยิบบิสกิตอีกชิ้นเข้าปาก

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)