ภาคอีสานวันนี้ นอกจากต้องสู้กับโรคระบาด COVID-19 แล้ว ปัญหาภัยแล้งก็ดูจะหนักหนาแสนสาหัสจริงๆ ในขณะเดียวกัน หลายคนเริ่มออกมาทำนายว่า หลังจากวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งนี้ผ่านพ้นไป การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตครั้งใหญ่ในสังคมอาจจะเกิดขึ้น 

ชีวิตในเมืองใหญ่ที่มีผู้คนหนาแน่น มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับความสุขอันยั่งยืนอีกต่อไป แต่ชุมชนในท้องถิ่นที่พึ่งตนเองได้จริงจัง ผลิตอาหารเอง อากาศดี เข้าถึงเทคโนโลยีได้สะดวก มีป่าและมีแหล่งน้ำเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาจเป็นคำตอบของผู้คนในสังคมยุคใหม่

บางทีชุมชนตำบลหนองบัวสะอาด อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา อาจตอบโจทย์อะไรบางอย่าง

ก่อน COVID-19 จะกระจายออกจากกรุงเทพมหานครไม่นาน ผู้เขียนมีโอกาสไปเดินสำรวจป่าโคกโสกบก ป่าชุมชนที่ชาวตำบลหนองบัวสะอาดช่วยกันปกป้องไม่ให้ถูกบุกรุกทำลายมานาน

ป่าแห่งนี้มีขนาดพื้นที่หกร้อยกว่าไร่ มีความอุดมสมบูรณ์มาก ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำซับโป่งหวาย มีน้ำผุดตลอดทั้งปีและเป็นต้นน้ำของลำห้วยหวาย ลำน้ำสำคัญของตำบลหนองบัวสะอาดที่หล่อเลี้ยงชุมชนหลายหมู่บ้าน

ชาวบ้านที่พาไป ชี้ให้ดูพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด ทั้งสมุนไพรและเป็นแหล่งอาหารจากป่า เช่น อีรอก ดอกกระเจียว ผักหวานป่า หน่อไม้ เห็ดชนิดต่างๆ และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เช่น กระรอก กระแต กระต่าย และหมาจิ้งจอก

“ตำบลหนองบัวสะอาด มีป่าชุมชนกระจายอยู่รอบๆ ตำบลอีกห้าป่า รวมพื้นที่แล้วประมาณสองพันไร่ เป็นหลักประกันความยั่งยืนของความเป็นป่าต้นน้ำที่มีน้ำซึมออกมาสู่หนองน้ำเบื้องล่าง”

ทางออกของปัญหาวิกฤตชีวิตหลัง COVID-19 และภัยแล้งที่หาได้จากตำบลหนองบัวสะอาด โคราช

ไม่ไกลจากป่า ผมเห็นหนองน้ำขนาดใหญ่ยังมีปริมาณน้ำเกินครึ่ง ชาวบ้านจะมีน้ำประปา น้ำใช้ รวมไปถึงการกระจายน้ำไปสู่พื้นที่เกษตรอย่างพอเพียงไปตลอด และยังมีการฟื้นฟูลำห้วย ขุดลอกคูคลองอีกหลายแห่ง เป็นหลักประกันว่า หน้าแล้งนี้พวกเขามีน้ำกินน้ำใช้แน่นอน โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอกเลย แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ชาวตำบลหนองบัวสะอาดผ่านร้อนผ่านหนาวมานานแล้ว

พวกเขามีความเชื่อตลอดว่า “ไม่มีป่า ก็ไม่มีน้ำ”

พวกเขาทราบดีว่า หากป่าไม้ชุมชนถูกทำลาย จะส่งผลกระทบต่อดินและแหล่งน้ำ เพราะเมื่อเผาหรือถางป่าไปแล้ว พื้นดินจะโล่ง ขาดพืชปกคลุม เมื่อฝนตกลงมาก็จะชะล้างหน้าดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินไป นอกจากนั้น เมื่อขาดต้นไม้คอยดูดซับน้ำไว้ ยามหน้าฝนน้ำก็จะไหลบ่าท่วมบ้านเรือนและที่ลุ่ม เมื่อถึงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำซึมใต้ดินไว้หล่อเลี้ยงต้นน้ำลำธาร ทำให้แม่น้ำมีปริมาณน้ำน้อย พวกเขาจึงปกป้องป่าไม่ให้ถูกบุกรุกมาโดยตลอด โดยเฉพาะการถูกบุกรุกให้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของนายทุนจากภายนอก

พ.ศ. 2549 พระครูกิตติศีลโสภณ ผู้นำสำคัญของตำบลได้ริเริ่มโครงการบวชป่าขึ้น ร่วมมือกับผู้นำชุมชนออกระเบียบการใช้ป่าชุมชน ใช้มาตรการเข้มงวดสำหรับผู้ลักลอบตัดไม้ ทั้งปรับและส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังจากนั้นจึงเริ่มปลูกป่าในพื้นที่สาธารณะทั่วไป เริ่มจากวัด โรงเรียน ริมถนน ส่งเสริมให้ประชาชนนำไม้ไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ไร ที่นา หรือที่อยู่อาศัย

“อาตมามีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาให้ตำบลหนองบัวสะอาดเป็นปอดให้กับคนบัวใหญ่และเป็นพื้นที่ปลอดขยะอย่างถาวร”

ทุกวันนี้หากใครแวะผ่านไปตำบลหนองบัวสะอาด ภาพแรกที่เห็นคือต้นไม้ใหญ่สองข้างทาง และชาวบ้านมาวิ่งออกกำลังกายจนเป็นภาพชินตา

จากนั้นท่านพระครูกิตติศีลโสภณก็เริ่มรณรงค์ให้กำจัดขยะในพื้นที่สาธารณะ โดยท่านได้เริ่มเก็บขยะและนำไปเผาด้วยตัวเองพร้อมกับนำพระสงฆ์ไปช่วยเก็บขยะ 

เมื่อพระสงฆ์ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองอย่างจริงจัง ความร่วมมือของทุกฝ่ายในตำบลก็เกิดขึ้นตามมา พ.ศ. 2552 มีการจัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ป่าและแหล่งน้ำสาธารณะ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวสะอาด มีรูปแบบชัดเจนมากขึ้น มีการปลูกป่าทดแทนมากขึ้น ระดมอาสาสมัครมาขุดลอกหนองคูคลองเป็นประจำ และกลายเป็นหมู่บ้านปลอดขยะในเวลาต่อมา

หมู่บ้านแห่งนี้มีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มีกฎกติกา การให้ความรู้ การลดขยะต้นทาง และทำข้อตกลงการบริหารจัดการขยะร่วมกันของชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น 

เมื่อมีน้ำสมบูรณ์แล้ว ชาวชุมชนหนองบัวสะอาดจึงหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น จนทำให้การปลูกข้าวอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเอง

ทางออกของปัญหาวิกฤตชีวิตหลัง COVID-19 และภัยแล้งที่หาได้จากตำบลหนองบัวสะอาด โคราช

“เรื่องของเรื่องคือ มีลูกบ้านคนหนึ่งเป็นพนักงานของสถานีโทรทัศน์ดังช่องหนึ่ง ตอนแรกลูกบ้านก็เอาข้าวอินทรีย์ปลอดสารไปทดลองขายในบริษัท ปรากฏว่าคนซื้อไปกินแล้วติดใจ มีการบอกต่อๆ กัน ทั้งดารา นักร้องในช่องมาซื้อกันมากมาย แทบจะผลิตไม่ทันขาย” กำนันเล่าให้ผู้เขียนฟัง

เมื่อมีตลาดชัดเจน มีผู้ซื้อแน่นอน ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาสนใจปลูกข้าวอินทรีย์แทนข้าวที่ใช้สารเคมี ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกลุ่มจำนวน 369 ครัวเรือน จากทั้งหมด 1,687 ครัวเรือนของตำบล คิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มาก

หากคิดว่าเกษตรอินทรีย์คือคำตอบระยะยาวสำหรับอนาคตของเกษตรไทย ในฐานะแหล่งผลิตอาหารของโลก ตำบลหนองบัวสะอาดน่าจะเป็นโมเดลที่ยอดเยี่ยมแห่งหนึ่ง

“ปลูกข้าวอินทรีย์สอนให้พวกผมอดทนและรอคอย เพราะปลูกปีแรกๆ ไม่ค่อยได้ผลหรอก แต่สองสามปีต่อมา ผลิตผลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบเท่ากับนาที่ใช้ยา คือได้ข้าวไร่ละสามร้อยถึงสี่ร้อยกิโลกรัม แต่ขายได้ราคาแพงกว่า และที่สำคัญคือไม่มีรายจ่ายค่ายา ค่าปุ๋ย” ชาวบ้านคนหนึ่งที่ผมนั่งล้อมวงคุยในเย็นวันนั้นพูดจบ อีกคนหนึ่งก็เล่าให้ฟังต่อว่า

“สิ่งที่ได้กลับคืนมาอีกอย่าง คือสุขภาพของพวกเรา ตั้งแต่เลิกใช้ยา สุขภาพดีขึ้นจริงๆ และทุกวันนี้ ลูกหลานเรายังมีเวลาไปวิ่งออกกำลังกาย ไม่ต้องทนกลิ่นเหม็นจากการสูดดมยาเหมือนเมื่อก่อน”

เย็นนั้น หลังจากนั่งสนทนากับผู้คนหลากหลาย ทั้งพระ ผู้ใหญ่ และเยาวชน ผมรู้สึกได้ว่าหนองบัวสะอาดเป็นชุมชนที่มีความสามัคคี เป็นตัวอย่างที่ดีของเครือข่ายระดับตำบลที่หาได้ยาก มีการเชื่อมโยงหลายหมู่บ้านมาเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยกันรักษาป่าในทุกกลุ่ม เช่น ชาวบ้าน พระ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู นักเรียน อบต. กรมป่าไม้ ซึ่งต่างมาด้วยความเข้าใจ ทำให้ไม่มีผู้นำที่โดดเด่น แต่มีความหลากหลายขององค์ความรู้ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้ใหญ่สู่เด็กรุ่นใหม่ ทำให้มีตัวแทนระดับเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน 

การทำเกษตรอินทรีย์กลายเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งของชาวบ้านในอนาคต และหมายถึงอาหารที่คนในชุมชนผลิตเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาจากภายนอก และยังไม่นับรวมสุขภาพของผู้คนที่ดีขึ้นโดยถ้วนหน้า 

คำตอบของวิถีชีวิตสมัยใหม่จึงอาจจะอยู่ในท้องถิ่น อยู่ที่ว่าคนในชุมนุมจะร่วมมือกันสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

ทางออกของปัญหาวิกฤตชีวิตหลัง COVID-19 และภัยแล้งที่หาได้จากตำบลหนองบัวสะอาด โคราช

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว