อ่านเถิดหนา 05 : ที่รักของชั้น ชวนหยิบหนังสือมาอ่านร่วมกันที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 นอกจากมีนักอ่านหยิบหนังสือเล่มโปรดของตัวเองมาเพิ่มปริมาณกองดองให้คนอื่น เรายังชวนบรรณารักษ์จากห้องสมุดอีก 6 แห่งมาแนะนำหนังสือจากห้องสมุดทั้งในและต่างประเทศ ลิสต์หนังสือที่ว่า น่าอ่านขนาดที่คนห่างห้องสมุดมานานอย่างเรา อยากหารูปติดบัตรไปสมัครเป็นสมาชิก และหยิบหนังสือเต็มโควต้าที่ห้องสมุดให้ยืมได้เสียเดี๋ยวนี้


ขอยกตัวอย่างหนังสือน่าอ่านที่เหล่าบรรณารักษ์ภูมิใจนำเสนอสักเล็กน้อย เริ่มจากหนังสือสำหรับนักอ่านอายุ 0 ปี หนังสือโดยชาวต่างชาติฝรั่งที่เล่าถึงต้นคริสมาสต์ต้นแรกของไทยเมื่อกว่า 75 ปีก่อน หนังสือที่อ่านจบปุ๊บอินเทรนด์ปั๊บ หนังสือที่จะพาไปรู้จักศาสตร์และพื้นที่ในไทยที่หลายคนอาจมองข้าม ไปจนถึงนิยายแบบไท้ย ไทย แต่ไปอยู่ไกลถึงห้องสมุดในสหรัฐอเมริกา
ส่วนเจ้าบ้านอย่างบรรณารักษ์จากหอสมุดแห่งชาติก็มาเล่าเรื่องเบื้องหลังหนังสือหายากให้ฟังด้วยนะ ตามอ่านได้ที่นี่
หนังสือทุกเล่มที่ว่าหาอ่านได้จริง เลือกเล่มที่ถูกใจ แล้วพุ่งตัวไปห้องสมุดเจ้าของหนังสือเล่มนั้นได้เลย
01
ดรุณบรรณาลัย ห้องสมุดเด็กปฐมวัย
เริ่มต้นจากแหล่งรวบรวมหนังสือสำหรับผู้อ่านที่มีอายุตั้งแต่ 0 – 7 ปี ซึ่งเป็นห้องสมุดสำหรับเด็กปฐมวัยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย นอกจากจะหยิบนิทานสอนใจที่ไม่ใช่เด็กก็อ่านได้มาฝากแล้ว คัธริน กอประคอง ผู้จัดการสำนักงานห้องสมุด และ สุพรรษา เกาศล เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศจากห้องสมุดดรุณบรรณาลัย ยังฝากความรู้เรื่องการอ่านหนังสือให้เด็กมาบอกด้วย
รู้หรือไม่ว่าช่วง 2,000 วันแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่เซลล์สมองกำลังสร้างความจดจำสำคัญ ทุกเรื่องที่เด็กได้เห็น รับฟัง และเรียนรู้ จะถูกเก็บไว้ในส่วนลึกๆ ของสมอง เมื่อถึงเวลา สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่เขาหยิบมาใช้ได้ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มอ่านหนังสือและปลูกฝังความคิดดีๆ ให้ลูกน้อยได้เลยไม่ต้องรอ อย่างหนังสือ 3 เล่มที่เลือกมาเล่าให้ฟังหลังจากนี้ เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับเป็นนิทานเล่มแรกของเด็กๆ
วัน-เวลา : 10.00 – 17.00 น. ปิดวันจันทร์และอังคาร
Facebook : ดรุณบรรณาลัย ห้องสมุดเด็กปฐมวัย
- ห่านเอ็ดตะโร อยากได้อยากได้
เลขเรียกหนังสือ : 0003280
ผู้เขียน : รัตนา คชนาท
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2553

นิทานทั้งหลายมักจบลงด้วยประโยค “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” แต่นิทานเรื่องนี้มีวิธีให้ข้อคิดที่ต่างออกไป นิทานเล่มนี้จะพาเด็กๆ ไปเรียนรู้พฤติกรรมที่ควรหรือไม่ควรทำผ่านเจ้าห่านที่แสดงความอยากได้อยู่ตลอดเวลา เขาจะได้เห็นว่า เมื่อเจ้าห่านอยากได้แต่ไม่ได้แล้วร้องตะโกนโวยวาย สุดท้ายก็เป็นเพียงความน่ารำคาญ ซึ่งนั่นจะทำให้เขาพิจารณาได้ว่าควรหรือไม่ควรทำตาม
และอีกความน่าสนใจของนิทานที่ไม่มีสรุปจบเรื่องนี้ คือการใช้หนังสือเป็นเครื่องมือชี้แนะแนวทาง เพื่อนำไปสู่การที่เขาจะตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เรียกว่าได้ทั้งอ่านเรื่องสนุกๆ จนตกตะกอนทางความคิด พร้อมกับเรียนรู้พฤติกรรมที่ควรหรือไม่ควรทำไปในคราวเดียว
- เป็ด! กระต่าย!
เลขเรียกหนังสือ : 0002936
ผู้เขียน : เอมี เคราส์ โรซินทาล (Amy Krouse Rosenthal)
ผู้แปล : น้านกฮูก
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2559

เริ่มเรื่องด้วยการอวดหน้าปกหนังสือและตั้งคำถามว่า สัตว์ที่เห็นในภาพเป็นตัวอะไร ใครว่าเป็ด? ใครว่ากระต่าย? และวนซ้ำคำถามนี้ไปจนจบเรื่อง แต่ละหน้าหนังสือที่เปิดผ่าน จะเกิดการถกเถียงและให้เหตุผลสนับสนุนความคิดของตัวเองตลอดเล่ม เมื่อมาถึงหน้าสุดท้าย หากใครต้องการเฉลยว่าสัตว์เจ้าปัญหานี้คือตัวอะไร บอกใบ้ให้เลยว่าหนังสือไม่ได้ให้คำตอบที่ตายตัวเพียงหนึ่งเดียว เพราะวัตถุประสงค์หนังนิทานเรื่องนี้อยู่ที่การฝึกทักษะความคิด ต่อยอดจินตนาการ การรู้จักหาเหตุผลสนับสนุนความคิดของตน ไปจนถึงการยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างของเพื่อนรอบข้าง
แล้วคุณล่ะ คิดว่านี่คือเป็ด! หรือกระต่าย!
- Is that you wolf?
เลขเรียกหนังสือ: 0003343
ผู้เขียน : สตีฟ ค็อก (Steve Cox)
ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 2012

เรื่องราวของเจ้าหมูที่ออกผจญภัยพร้อมเชื่อว่ามีหมาป่าอยู่ในฟาร์ม อาวุธสำคัญที่ต้องใช้ คือสองมือกับความกล้าที่จะผ่านไปในแต่ละหน้า เพื่อหาว่ามีหมาป่าซ่อนอยู่ตรงไหน เด็กๆ จะต้องสอดมือเข้าไปและได้พบกับพื้นผิวที่แตกต่าง นอกจากเพิ่มทักษะการสัมผัส (Sensory) ในทุกครั้งที่สงสัย เขายังต้องรวบรวมความกล้าเพื่อพิสูจน์
เจ้าหน้าที่ห้องสมุดเล่าประสบการณ์ที่เคยใช้งานจริงให้ฟังว่า ในหน้าแรกเด็กทุกคนมักกลัว แต่เมื่อค่อยๆ เปิดไป เขาจะเริ่มกล้าลองผิดลองถูก แต่หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้โลกสวยด้วยการหลอกว่าหมาป่าไม่มีอยู่จริง เพราะปิดหน้าสุดท้ายด้วยการที่หมาป่าตัวโตโผล่ออกมา และก็ถึงเวลาที่เด็กๆ ได้ออกกำลังกาย ด้วยการวิ่งหนีไปไกลอีกฝั่งของสนาม
การปิดท้ายด้วยเซอร์ไพรส์แบบนี้สอนเขาได้เป็นอย่างดีว่าตัวร้ายไม่ได้มีเพียงนิยาย แม้แต่นิทานที่ดูไม่มีพิษภัย แต่ยังทำให้เด็กๆ เชื่อใจและถูกหลอกได้ เรียกว่าเป็นการสอนประสบการณ์ชีวิตฉบับย่อ โดยไม่ต้องรอให้เขาต้องเผชิญความเลวร้ายจริงๆ
02
Olin Library Cornell University
คนต่อไปที่มาร่วมแนะนำหนังสือกับเราส่งวิดีโอข้ามทวีปมาจากสหรัฐอเมริกาคือ อภิกัญญา แมคคาร์ที่ แคตตาล็อกเกอร์แห่งห้องสมุดโอลิน มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Olin Library Cornell University) หนึ่งในมหาวิทยาลัยเอกชนในไอวีลีก เธอรับผิดชอบจากจัดหมวดหนังสือภาษาไทย ลาว เขมร และทำงานในตำแหน่งนี้มากว่า 21 ปี สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักหน้าที่ ‘แคตตาล็อกเกอร์’ เธออธิบายพร้อมเล่าประสบการณ์ทำงานสนุกๆ ไว้แล้ว และหนังสือที่บรรณารักษ์คนไทยในต่างแดนเลือกหยิบมาแนะนำให้พวกเราฟังมีดังนี้
- ชื่อหนังสือ : พล นิกร กิมหงวน
รหัส ISBN : 9786163884312
ผู้เขียน : ป. อินทรปาลิต
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2561

พล นิกร กิมหงวน เป็นหนังสือชุดในดวงใจในวัยเด็กของแคตตาล็อกเกอร์สาวคนนี้ เธอเล่าว่า หนังสือชุดนี้เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เริ่มอ่านและทำให้อ่านหนังสือแตกฉานแม้จะอยู่เพียงชั้น ป.2 ตั้งแต่เด็กจะอ่านไปขำไป ชอบความหล่อของพล ความกะล่อนของนิกร และความขำของกิมหงวน เมื่อก่อนอ่านก็เอาบันเทิงอย่างเดียวไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอตอนนี้ก็แอบคิดในใจว่า ตัวละครแอบมีการ Bully เช่น ล้อเลียนเรื่องหัวล้าน เห็นปมด้อยของคนอื่นเป็นเรื่องตลก ซึ่งในความเป็นจริงไม่ควรส่งเสริมพฤติกรรมแบบนี้ แต่ถึงอย่างไรหนังสือชุดนี้ก็เป็นที่หนึ่งในดวงใจของเธอเสมอ
- ชื่อหนังสือ : เจ้าไล
รหัส ISBN : 9743314709
ผู้เขียน : คึกเดช กันตามระ
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2542

อีกเล่มที่หยิบมาแนะนำเป็นนิยายเรื่อง เจ้าไล ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2542 ตั้งชื่อเรื่องตามพระนามเดิมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์องค์ที่ 22 แห่งกรุงศรีอยุธยา ในนิยายอิงประวัติศาสตร์เล่มนี้ ผู้อ่านจะได้รับทราบพระราชประวัติของพระองค์โดยละเอียด พร้อมกับการดำเนินเรื่องที่ชวนให้ติดตามต่อ ใครถูกใจนิยายแนวนี้ แนะนำให้ไปตามอ่านงานเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ผลงานของ คึกเดช กันตามระ ที่สนุกไม่แพ้กันอีกหลายเรื่อง เช่น ท้าวทองกีบม้า เชงสอบู ตำนานรักศรีปราชญ์
- ชื่อหนังสือ : เกลียวกระซิบ
รหัส ISBN : 978616773595
ผู้เขียน : พงศกร
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2561

ปิดท้ายด้วยนิยายอิงประวัติศาสตร์อีกเล่มกับ เกลียวกระซิบ การเดินทางย้อนเวลาของสาวชาวพม่าที่มีเชื้อสายอยุธยา ซึ่งครอบครัวของเธอเป็นชาวอยุธยาช่วงกรุงแตกที่ถูกพม่ากวาดต้อนมาเป็นเชลย อ่านแล้วได้ทั้งความรู้และความบันเทิงตามสไตล์งานเขียนของคุณหมอพงศกร ที่ค้นคว้าข้อมูลมาสอดแทรกในนิยายได้อย่างละเมียดละไม บรรณารักษ์ไทยในต่างแดนที่เป็นแฟนนิยายอิงประวัติศาสตร์ตัวยงแถมเทคนิคการอ่านงานของคุณหมอพงศกรให้ว่า ควรอ่านคำนำของแต่ละเรื่องด้วย เพราะเป็นส่วนอธิบายที่มาที่ไปของข้อมูลที่ใช้ประกอบการเขียน ซึ่งจะเสริมให้เราอ่านเรื่องข้างในได้สนุกขึ้น
03
ห้องสมุดนิลสัน เฮส์ (Neilson Hays Library)
นอกจากห้องสมุดนิลสัน เฮส์ (Neilson Hays Library) จะโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกที่ได้รับการออกแบบและก่อสร้างอย่างประณีตอยู่คู่ถนนสุรวงศ์มากว่าร้อยปี ที่นี่ยังเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือภาษาอังกฤษหลายแขนง ที่เปิดให้นักอ่านเข้าไปใช้บริการได้ ในคราวนี้ ไพลิน จิตรประเสริฐสุข อดีตกรรมการสมาคมห้องสมุดนิลสัน เฮส์ และปัจจุบันเป็นอาสาสมัครให้กับทางห้องสมุด รับหน้าที่มาแนะนำหนังสือน่าอ่านประจำห้องสมุดนิลสัน เฮส์
วันเวลา : วันอังคาร-วันอาทิตย์ 09.30 – 17.00 น ปิดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เว็บไซต์ : neilsonhayslibrary.org/
Facebook : Neilson Hays Library
- ชื่อหนังสือ : From Siam to Thailand : Backdrop to The Land of Smiles
เลขเรียกหนังสือ : 915.93 O.68
ผู้เขียน : จอร์จ ออร์จิเบต (Jorges Orgibet)
ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 1982

หนังสือรวมบทความจากคอลัมน์ Backdrop ในนิตยสาร Business in Thailand นิตยสารรายเดือนใน ค.ศ. 1982 เนื้อหาในเล่มเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ค.ศ. 1945 ทั้งในเชิงสถานที่ วิถีชีวิตของคนไทยและชาวต่างชาติ ผ่านมุมมองของชาวอเมริกันที่เข้ามาในเมืองไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ชีวิตในประเทศไทยกว่า 40 ปี และผู้เขียนยังเป็นคนเปิดสำนักข่าว AP ประจำประเทศไทยอีกด้วย
หนึ่งบทน่าสนใจที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน คือเรื่องต้นคริสมาสต์ต้นแรกที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ ในหนังสือให้ข้อมูลว่า ใน ค.ศ. 1948 จอร์จร่วมกับเพื่อนที่เป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เปิดคลับชื่อว่าบนถนนสีลมใกล้กับย่านพัฒน์พงศ์ในปัจจุบัน และปลูกต้นสนขนาด 12 ฟุต ซึ่งขนมาไกลจากภาคอีสาน ประดับประดาด้วยลูกบอลจากกระดาษห่อของของคนจีน ส่วนไฟก็ใช้ดวงไฟเล็กๆ ที่ใช้ตกแต่งรถสามล้อ
- ชื่อหนังสือ : Our Garden Was So Fair
เลขเรียกหนังสือ : 926.1 M.143
ผู้เขียน : เบอร์ธา บราวท์ แม็คฟาร์แลนด์ (Bertha Blount McFarland)
ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 1943

ต่อด้วยหนังสือที่เขียนโดยภรรยาของพระอาจวิทยาคม (George Bradley McFarland) และอดีตประธานสมาคมห้องสมุดนิลสัน เฮส์ หนังสือเล่มนี้จึงเปรียบเสมือนประวัติครอบครัวมิชชันนารีชาวอเมริกันที่บุกเบิกศาสตร์หลายแขนงในเมืองไทย ทั้งสร้างโบสถ์ สอนหนังสือ เป็นครูใหญ่โรงเรียนราชแพทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เขียนหนังสือ จัดทำพจนานุกรม ออกแบบแป้นเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย ฯลฯ
Our Garden Was So Fair ตีพิมพ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่เบอร์ธากลับไปที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ส่วนพระอาจวิทยาคมเสียชีวิตที่กรุงเทพฯ ในระหว่างที่เป็นเชลยสงคราม นอกจากประวัติครอบครัว ในเล่มยังเล่าถึงชีวิตของชาวต่างชาติในไทยช่วงก่อนสงคราม และฉายภาพของกรุงเทพฯ เมื่อเกือบร้อยปีก่อน
- ชื่อหนังสือ : For Jennie
ผู้เขียน : โอ๊ต มณเฑียร
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2562

ปิดท้ายด้วยหนังสือทำมือผลงานของโอ๊ต มณเฑียร ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษในงาน Neilson Hays Bangkok Literature Festival เมื่อปีที่ผ่านมา ภายในเล่มประกอบด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสคร์จากเอกสารและข่าวเก่าของห้องสมุดฯ พร้อมด้วยภาพสเกตซ์จากจินตนาการและข้อเขียนของคุณโอ๊ต นอกจากการเรียบเรียงที่ทำให้อ่านได้ต่อเนื่อง เนื้อหาที่เล่าโดยตัวละครเจนนี่ยังอบอวลไปด้วยความโรแมนติก ทั้งความรักที่หมอเฮส์มีต่อเธอ และความรักของเธอที่มีต่อห้องสมุด
คุณไพลินบอกทริกเล็กๆ ขณะอ่านหนังสือ For Jennie ว่า ให้หามุมสงบสักแห่งภายในห้องสมุดนิลสัน เฮส์ และอ่านโดยสลับกับหลับตาจินตานาการตามตัวหนังสือและภาพวาดในเรื่อง แล้วคุณจะพบว่า การอ่านหนังสือก็ทำให้เราเข้าถึงอารมณ์โรแมนติกได้ดีเลยล่ะ ใครอยากสัมผัสประสบการณ์แบบนี้ ถามหา For Jennie กับบรรณารักษ์ได้เลยนะ
04
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือทางด้านมานุษยวิทยาและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น โบราณคดี สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ศิลปะ เห็นชื่อสาขาของการศึกษาทางมนุษยวิทยาแล้ว คงจะรู้ได้ว่า จริงๆ ศาสตร์แขนงนี้เป็นพื้นฐานของการศึกษาสาขาอื่นอีกมากมาย
เหตุที่การศึกษาทางมานุษยวิทยากว้างขวางขนาดนี้ ก็เพื่อสอนให้เราเข้าใจในความต่างของสิ่งมีชีวิตและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ส่วนหนังสือที่ จรรยา ยุทธพลนาวี บรรณารักษ์จากห้องสมุดเฉพาะทางแห่งนี้เลือกมาแนะนำให้นักอ่านทั่วไปก็น่าสนใจ เพราะเป็นหนังสือทางมานุษยวิทยาที่คนทั่วไปอ่านได้ เข้าใจง่าย แถมยังใกล้ตัวเราสุดๆ
วัน-เวลา : 8.30 – 16.30 น.
โทร : 0 2880 9429
Facebook : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC
- ชื่อหนังสือ : หมู่เกาะมาเลย์ : THE MALAY ARCHIPELAGO 1
เลขเรียกหนังสือ : DS592. ว54 2563
ผู้เขียน : อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russel Wallace)
ผู้แปล : นำชัย ชีววิวรรธน์, ศศิวิมล แสวงผล, ต่อศักดิ์ สีลานันท์, ณัฐพล อ่อนปาน
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2563

เปิดเล่มแรกด้วยบันทึกการเดินทางสำรวจเพื่อเก็บตัวอย่างสัตว์ในหมู่เกาะมาเลย์ของนักชีววิทยาและนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษที่เขียนขึ้นจากการสำรวจหมู่เกาะมาเลย์ บอร์เนียว สิงคโปร์ และหมู่เกาะใกล้เคียง โดยก่อนหนังสือเล่มนี้จะได้รับการตีพิมพ์ ผู้เขียนได้ส่งต้นฉบับให้ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ผู้ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการและช่วยผลักดันให้ทฤษฎีนี้ได้รับการรับรอง จนได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ The Origin of Species โดย อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ได้รับยกย่องในภายหลังว่าเป็น ‘ผู้ร่วมค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการ’
หนังสือ หมู่เกาะมาเลย์ : THE MALAY ARCHIPELAGO 1 ไม่ได้เล่าเพียงวิวัฒนาการทางกายภาพของสิ่งมีชีวิต แต่ยังเล่าถึงวิวัฒนาการทางกายภาพของทั้งมนุษย์และสัตว์ ครอบคลุมทั้งชาติพันธุ์ การอพยพย้ายถิ่นฐาน ภาษา วิถีชีวิตผู้คน ซึ่งทั้งหมดคือพื้นฐานของการศึกษาและการทำงานทางมานุษยวิทยา
ไม่แน่ว่า เราอาจจะพบบรรพบุรุษคนไทยอยู่ในภูมิภาคอื่นก็ได้
- ชื่อหนังสือ : คนใน ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย
เลขเรียกหนังสือ : DS592. ว54 2563
ผู้เขียน : ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, นิติ ภวัครพันธุ์, พัฒนา กิติอาษา, ยศ สันตสมบัติ, อานันท์ กาญจนพันธุ์, ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม, ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2555

จะมีใครเล่าเรื่องคนใน ได้ดีกว่าคนในด้วยกัน!
มีคำกล่าวที่ว่า “ถ้าห้องทำงานของนักวิทยาศาสตร์คือห้องแล็บ ห้องทำงานของนักมานุษยวิทยาก็คือชุมชน” แล้วนักมานุษวิทยาเขาทำงานกันอย่างไร หาคำตอบได้ในหนังสือรวมงานเขียนของนักมานุษฯ ชั้นนำทั่วประเทศเล่มนี้ เนื่องด้วยที่ผ่านมา มีตำราวิชาการเกี่ยวกับศาสตร์มานุษยวิทยาน้อยมาก ประกอบกับคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก ทั้งที่ศาสตร์นี้เป็นเครื่องมือชั้นดีที่ทำหน้าที่คล้ายแว่นตา ช่วยให้เรามองมนุษย์ด้วยกันได้โปร่งใส และนำไปสู่การ ‘ขจัด’ ข้ออคติใดๆ ที่เรามีต่อผู้คนในสังคมอื่น รับประกันว่าคุณภาพคับเล่ม จะนำไปเป็นแหล่งอ้างอิงก็ได้ หรืออ่านเพื่อเข้าใจการทำงานของคนกลุ่มนี้ก็ดี
หนังสือเล่มนี้ไม่มีจำหน่ายแล้ว ยืมอ่านได้ที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เท่านั้น
- ชื่อหนังสือ : สายสตรีท : มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา
เลขเรียกหนังสือ : HV4602.57 .บ722 2561
ผู้เขียน : บุญเลิศ วิเศษปรีชา
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2561

อาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา หรือที่ใครๆ รู้จักในนามกูรูเรื่องคนไร้บ้าน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไปใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านในมะนิลา ประเทศฟิลิปินส์ กว่า 14 เดือน จนตกตะกอน เข้าใจ และกลายมาเป็นหนังสือ สายสตรีท : มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา ในเล่มไม่เพียงฉายภาพคนไร้บ้านว่าพวกเขามีชีวิตอยู่อย่างไร แต่ยังเจาะลึกลงไปถึงความคิดเห็น เหตุผล และหัวใจของคนไร้บ้าน อย่างชายคนหนึ่งที่เล่าย้อนไปก่อนกลายมาเป็นคนไร้บ้าน เขาต้องโทษจนถูกคุมขัง เมื่อพ้นโทษออกมา สังคมกลับกีดกันไม่ให้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ การอยู่อย่างคนไร้บ้านจึงกลายเป็นทางออกที่เขาไม่ได้เป็นผู้เลือก แต่ถูกสังคมเลือกให้เป็นต่างหาก
เหตุที่เราควรรู้จักความคิดและชีวิตของคนไร้บ้านก็เพราะพวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรานั่นเอง
05
หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สำนักวิทยบริการ ม.อ. ปัตตานี
พานักอ่านเดินทางไกลลงมาเกือบใต้สุดของประเทศ แวะเข้าหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy Library) สำนักวิทยบริการ ม.อ. ปัตตานี เชื่อว่าหลายคนต้องสงสัย ว่าทำไมห้องสมุดแห่งนี้ถึงใช้ชื่อเดียวกับอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน ในสมัยที่พันเอกถนัด คอมันตร์ เป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านยังดำรงแหน่งเป็นกรรมการมูลนิธิจอห์น เอฟ เคนเนดี้ เมื่อได้สร้างหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จึงนำชื่อมูลนิธิฯ มาใช้เพื่อให้เกียรติสูงสุด
นอกจากใช้ชื่อเดียวกับหอสมุดที่อเมริกา แต่ที่นี่รวบรวมหนังสือด้านมานุษวิทยาทางวัฒนธรรมมลายูเอาไว้มากมาย คนทั่วไปที่อยากเข้าใจมลายูขั้นพื้นฐานต้องเลือกอ่านเล่มไหน ประทุมรัตน์ รัตน์น้อย บรรณารักษ์ชำนาญการของหอสมุดปลายด้ามขวานเลือกมาให้แล้ว
วัน-เวลา : จันทร์-ศุกร์ 08.30 – 17.30 น. เสาร์ 08.30 – 16.30 น. ปิดบริการอาทิตย์
Facebook : สำนักวิทยบริการ ม.อ. ปัตตานี
เว็บไซต์ : tanee.oas.psu.ac.th/index.php
- ชื่อหนังสือ : สี่กษัตริยาแห่งปาตานี : อำนาจ การเมือง การค้า และโจรสลัดบนแผ่นดินใต้สายลม
เลขเรียกหนังสือ : 959.3 ช242ส 2557
ผู้เขียน : ชาดา นนทวัฒน์
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2557

นิยายที่พาไปเยือนเมืองปัตตานีในสมัยที่ปกครองโดยรายาติดต่อกันถึง 4 พระองค์ในราชวงศ์ศรีวังสา ราชวงศ์สำคัญที่นับเป็นยุคทองของปัตตานี ที่ว่าเป็นยุคทอง เพราะมีทั้งการติดต่อค้าขายกับหลายประเทศ ย้ายเมืองลังกาสุกะมาที่ปากแม่น้ำปัตตานี เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นปัตตานีดารุสซาราม ซึ่งมีความหมายว่านครแห่งสันติ และจุดสนุกที่สุดอยู่ตรงที่ราชวงศ์นี้เปลี่ยนการนับถือศาสนาพุทธมาเป็นศาสนาอิสลาม เพื่อแก้ปัญหาโรคผิวหนังที่กำลังระบาดไปทั่วเมือง
เปลี่ยนศาสนาแล้วจะแก้ปัญหาโรคระบาดได้อย่างไร นิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง สี่กษัตริยาแห่งปาตานีฯ มีคำตอบ
- ชื่อหนังสือ : บุหงาปารี
เลขเรียกหนังสือ : น ว35บ 2551
ผู้เขียน : วินทร์ เลียววาริณ
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2551

ขยับจากนิยายอิงประวัติศาสตร์ธรรมดามาเล่าในมุมแฟนตาซี อิงเหตุการณ์ของปัตตานีในยุคที่มีสงครามภายในรัฐและโจรสลัดครองเมือง ปารี ชายหนุ่มผู้กล้าจึงออกศึกษาวิชาเพื่อสำเร็จวิทยายุทธโบราณ ที่จะทำให้เขามีชัยเหนือมนุษย์และสัตว์น้ำทุกชนิด ทั้งการหล่อปืนใหญ่ วิชากริช วิชาซามูไร ถ้าใครจำภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด (พ.ศ. 2551) ได้ ก็มีเค้าโครงมาจากนิยายเรื่องนี้นี่แหละ
ถึงจะอยู่ในหมวดแฟนตาซี แต่นิยายเรื่องนี้ก็หยิบเหตุการณ์และบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์มาพูดถึงมากมาย ยิ่งถ้าได้อ่าน สี่กษัตริยาแห่งปาตานีฯ มาก่อน เนื้อหาจะต่อเนื่องและสนุกจนวางไม่ลง บุหงาปารี มีภาคต่อที่อัปสเกลการต่อสู้ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นในชื่อ บุหงาตานี อ่านเล่มแรกแล้ว ห้ามพลาดเล่ม 2
- ชื่อหนังสือ : ปุลากง
เลขเรียกหนังสือ : น ส86ป 2555
ผู้เขียน : โสภาค สุวรรณ
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2555

ปิดคลาสเรียนวัฒนธรรมมลายูด้วยนิยายเก่าแก่ที่ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาวิชาภาษาไทยในระดับชั้น ม.ปลาย เขียนขึ้นจากเรื่องจริงในช่วง พ.ศ. 2520 เล่าเรื่องของปุลากง ตำบลหนึ่งในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ผ่านตัวละครที่เป็นตำรวจหนุ่มกับพัฒนากรสาว ทั้งสองเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจไปทำงานต่างถิ่น และมุ่งมั่นพัฒนาปุลากงให้เจริญ
แต่เรื่องรักของนักพัฒนาคู่นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีอุปสรรคเป็นทั้งปัญหาภายในชุมชนและความรุนแรงในพื้นที่ปัตตานี ไม่เพียงได้เอาใจช่วยให้ความรักของพวกเขาสมหวัง เรายังได้เห็นภาพความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรม และการใช้ภาษา ของปัตตานีเมื่อ 40 ก่อนผ่านนิยายเรื่องนี้ด้วย
06
ห้องสมุดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
ส่งท้ายด้วยห้องสมุดที่รวมความทันสมัยที่สุดในยุคนี้กับห้องสมุดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ภายใต้องค์การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ห้องสมุดเฉพาะทางด้านการออกแบบและองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ไม่เพียงเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ แต่มุ่งเป็น ‘มหรสพทางปัญญา’ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดในสังคมไทย
ด้วยเหตุนี้ ห้องสมุดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบจึงกระจายตัวในหลายพื้นที่ รอให้นักสร้างสรรค์ทั้งหลายได้ไปใช้บริการ ทั้งที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น สะดวกที่ไหน พุ่งตัวไปหาแรงบันดาลใจได้เลย หรือจะชิมลางจุดประกายไอเดียจากหนังสือน่าอ่าน 3 เล่มที่ ธฤตวัน ไชยวสุ บรรณารักษ์อาวุโส เลือกมาให้ก่อนก็ได้
วัน-เวลา : เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.30 – 21.30 น.
Facebook : Thailand Creative & Design Center (TCDC)
เว็บไซต์ : www.tcdc.or.th
- ชื่อหนังสือ : Thinkertoys : a handbook of creative-thinking techniques
เลขเรียกหนังสือ : HD 53 M621 2006
ผู้เขียน : ไมเคิล มิจัลโก (Michael Michalko)
ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 2006

ใครว่าคิดเรื่องสร้างสรรค์เป็นเรื่องยาก ลองอ่านแบบฝึกหัดพื้นฐานในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เล่มนี้ก่อน นอกจากได้เครื่องมือใหม่ๆ ในการดึงไอเดียออกมาใช้ เรายังจะได้รู้วิธีลำดับการคิดอย่างเป็นขั้นตอน และวิธีคิดอย่างไรให้จินตนาการไปไกลไม่จำกัด
ยกตัวอย่างวิธีคิดสนุกๆ ให้ฟัง อย่างการดึงคำที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นมาเชื่อมโยงกันหรือ Random Words วิธีนี้จะช่วยให้เราแปลงความคิดออกมาในรูปแบบใหม่ จากวัตถุดิบเดิมที่มีอยู่ในสมองได้แบบสนุก น่าสนใจ และใช้ได้จริง
Thinkertoys : a handbook of creative-thinking techniques มีเวอร์ชันภาษาไทยด้วยนะ ชื่อว่า ติ้งกะตอย : ของเล่นนักคิด หาอ่านได้ที่ห้องสมุดนี้เช่นกัน
- ชื่อหนังสือ : Magazine B. และ Magazine F
เลขเรียกหนังสือ : HD 69 .B7 B817 2012 – 2020 และ HD 9000 F686 2019 – 2020

ชวนทำความรู้จักนิตยสารจากเกาหลีใต้ที่จะเติมความทันสมัยให้คุณ ตัว B. บนปกมีที่มาจากคำว่า Brand ชื่อก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเขาเล่าเรื่องแบรนด์ต่างๆ ที่น่าสนใจและครอบคลุมไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แฟชั่น โรงแรม ร้านค้า สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น MUJI, IKEA, LAMY, Google รวมไปถึงเรื่องเมืองและสถานที่ที่คนอินเทรนด์ไม่ควรพลาด ส่วนนิตยสาร F. ก็ทำออกมาเอาใจสาย Food คงคอนเซปต์นำเสนอเทรนด์อาหารของโลกที่น่าจับตา
นอกจากเนื้อหาที่จะพาให้คุณอินเทรนด์สุดๆ แล้ว รับรองว่านักอ่านสายมินิมอลจะต้องถูกใจ เพราะเขาออกแบบรูปเล่มด้วยดีไซน์อ่านง่าย ภาพประกอบสวยคมชัด แปลงข้อมูลยากๆ ให้กลายเป็นอินโฟกราฟิก ปิดท้ายด้วยแหล่งอ้างอิงพร้อมสำหรับหาข้อมูลต่อ อีกอย่างที่ชนะเลิศ คือไม่มีโฆษณามาคั่นให้กวนใจ ไม่รบกวนความลื่นไหลของเนื้อหา
- ชื่อหนังสือ : Trend Book
เลขเรียกหนังสือ : NK 1548 C2821 2020
ผู้เขียน : ห้องสมุดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

ส่งท้ายความทันสมัยด้วย E-book คอลเลกชันพิเศษที่ TCDC จัดทำขึ้นเพื่อให้บริการกับนักออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ รวมถึงนักศึกษา กับหนังสือคาดการณ์แนวโน้มของสี พื้นหลัง พื้นผิว แฟชั่น วัสดุ ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ที่น่าจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ข้อมูลที่ได้มาจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสำรวจพฤติกรรมจากผู้บริโภคทั่วโลก มาพร้อมคำอธิบายของแต่ละแนวคิดทั้งลักษณะ ไอเดียตั้งต้น และตัวอย่างการนำไปสร้างสรรค์เป็นผลงานจริง ละเอียดถึงขั้นมีตัวอย่างวัสดุมาให้ลองสัมผัส จะอ่านไว้ต่อยอดงานตัวเองก็ได้ หรือเอาไว้อัปเดตเทรนด์ให้ตัวเองก็ดี หาอ่าน Trend Book แบบรูปเล่มได้ที่ห้องสมุดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) หรือจะโหลดแบบ E-Book มาอ่านก่อนได้ที่ www.tcdc.or.th/publication