7 กุมภาพันธ์ 2022
4 K

เจ้าเฟิร์นสีฟ้า!

ไม่นึกว่าจะได้เจอเจ้าอีก

ผมพบมันครั้งแรกตอนขับรถมั่ว ๆ ไปแวะที่ฟาร์มแห่งหนึ่งแถวจังหวัดจันทบุรี ตอนนั้นเป็นช่วงชีวิตที่เพิ่งเริ่มมีงานอดิเรกปลูกต้นไม้ และดังเช่นการเริ่มงอกของงานอดิเรกหลาย ๆ อย่าง มันมักจะเกิดจากการพยายามหนีงานหลัก ในขณะนั้นสำหรับผมก็คืองานวิจัยหิ่งห้อย อันเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ซึ่งไม่ค่อยคืบหน้าเท่าใดนัก 

ในพื้นที่วิจัยที่อำเภอขลุง ก่อนค่ำคืนที่จะต้องเข้าป่าชายเลนไปนับหิ่งห้อย ผมมักจะขับรถตระเวนเที่ยวสำรวจไปเรื่อย เจอฟาร์มต้นไม้ข้างทางก็แวะลงไปดูสักหน่อย วันนั้นเดินเข้าฟาร์มคุณลุงคนหนึ่ง แล้วก็เหลือบไปสะดุดตากอเฟิร์นตรงโคนต้นมะม่วง เฮ้ย นี่มันพืชอะไรวะ ทำไมใบสีฟ้า แถมไม่ใช่ฟ้าแบบทั่วไป แต่เป็นฟ้าเหลือบเขียว อมคราม ปุแล่มเทา แบบยังไงก็ไม่รู้บรรยายไม่ถูก รู้แต่สวยลี้ลับประทับใจมาก ตกหลุมรัก

ลุงบอกลุงไม่ได้กะปลูกไว้ขายนะ มันขึ้นเอง แต่แบ่งให้ได้ ที่น่าสนใจคือมันไม่ได้ฟ้าทุกใบด้วย แต่ฟ้าเฉพาะใบที่อยู่ล่าง ๆ แล้วค่อย ๆ ไล่เฉดขึ้นมาเป็นเขียวสดตรงใบบน ลุงบอกมันเป็นเฟิร์นที่เปลี่ยนสีตามแดด ใบไหนอยู่ในร่มจะเป็นสีฟ้า ใบไหนโดนแดดจะกลายเป็นสีเขียว ไอ้เชี่ย เท่สัตว์! เอ้ย เท่พืช! 

ในที่สุด ผมก็ได้น้องมาอยู่ด้วยที่บ้าน ไม่คิดเลยว่าจากต้นเล็ก ๆ กระถางเดียว น้องจะค่อย ๆ เลื้อยออกมาแล้วขึ้นต้นใหม่ เลื้อยออกมาแล้วขึ้นต้นใหม่ ขยายไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นดงเต็มสวน และเนื่องจากสวนผมอยู่บนดาดฟ้า แสงส่องค่อนข้างเยอะ น้องก็เลยยิ่งขึ้นเฉดสีสารพัดกว่าตอนที่เห็นในสวนลุงอีก นอกจากใบล่าง ๆ สีฟ้ากับใบกลาง ๆ ที่สีเขียวสดแล้ว ใบที่โดนแดดจัด ๆ ยังกลายเป็นสีทอง และบางใบก็มิกซ์ออกมาซะกลายเป็นสีม่วงบ้างอะไรบ้าง มหัศจรรย์มาก (แต่แน่นอน ทั้งบ้านมีผมชอบอยู่คนเดียวแหละ คนอื่น ๆ ก็มองว่ารก 555) 

เฟิร์นสีฟ้าที่เปลี่ยนสีตามแดด กับความฟ้าที่ยังเป็นปริศนา

ไม่เคยคิดเลยว่าตลอดช่วงวัย 30 – 40 ปี ดงเฟิร์นที่เปลี่ยนสีได้ตามแสงแดดบนดาดฟ้าดงนี้แหละ จะคอยอยู่เป็นเพื่อนผมในยามที่ท้อแท้หมดหวังกับความฝันต่าง ๆ ในชีวิต 

ช่วงที่ท้อใจเรียนไม่จบสักที 

ช่วงที่เสียใจกับความรัก 

ช่วงที่หลายสิ่งพังทลาย ผมก็มานั่งร้องไห้ที่นี่ 

ในยามที่รู้สึกไร้ค่า ไม่มีใครเข้าใจ ผมก็หนีหน้าทุกคนมานั่งเยียวยาที่นี่

ดูเฟิร์นสีฟ้า ดูฝนตก สูดกลิ่นดิน ฟังเพลง Alone in Kyoto ของวง Air 

ไม่นาน รอยยิ้มก็กลับมา

มันคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพักใจ

สิบปีผ่านไป ที่บ้านมีมติร่วมกันว่าจะปรับปรุงดาดฟ้าใหม่ (ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าเฟิร์นนี่มันงอกเยอะไป จนน้ำซึมพื้นนี่แหละ)

เฟิร์นสีฟ้าที่เปลี่ยนสีตามแดด กับความฟ้าที่ยังเป็นปริศนา

ระหว่างงานก่อสร้าง ผมพยายามค่อย ๆ ย้ายน้องเฟิร์นออกอย่างระมัดระวัง แต่ก็ยากเหลือเกิน ไม่ว่าจะแซะรากแล้วย้ายไปลงใหม่ตรงไหน ไม่กี่วันมันก็แห้งตายหมด 

ผมพยายามค่อย ๆ แบ่งมันออกทีละหย่อม ใส่ตะกร้าบ้าง ใส่กระถางบ้าง แล้วกระจายเอาไปซุกไว้มุมนู้นมุมนี้ของบ้าน อย่างน้อยก็ต้องมีสักมุมที่มันชอบบ้างสิ แต่ปรากฏว่าไม่มีเลย น้องตายหมด 

สุดท้ายเหลืออยู่แค่กิ่งเดียวที่ยังหายใจรวยริน ผมก็พยายามประคับประคองให้น้องรอดจนถึงที่สุด ซึ่งก็รอดต่อมาได้อีกหลายเดือน แต่ปรากฏว่าพอถึงช่วงงานยุ่ง ผมก็ลืมดูมันไปสักพัก ฤดูร้อนอากาศเปลี่ยน แดดเผา จากเฟิร์นสีฟ้ากลายเป็นฟางแห้งๆ 

ผมเศร้า แต่ก็ทำใจ

ขอบคุณที่ครั้งหนึ่งมันเคยอยู่กับเรา

ทำใจ แต่ก็ยังเศร้า ความรู้สึกผิดในใจคือเราไม่สามารถช่วยมันได้

เราได้ปล่อยให้สิ่งที่สวยงามตายไป

เฟิร์นสีฟ้าที่เปลี่ยนสีตามแดด กับความฟ้าที่ยังเป็นปริศนา
เฟิร์นสีฟ้าที่เปลี่ยนสีตามแดด กับความฟ้าที่ยังเป็นปริศนา

ตลอดช่วงสิบปีที่มันอยู่กับผม ผมไม่เคยไปเดินตลาดต้นไม้ที่ไหนแล้วเห็นเฟิร์นชนิดนี้ขายตามร้านเลย มีแต่พันธุ์ใกล้เคียงแต่ก็ไม่เหมือน ผมก็คิดว่าชาตินี้คงไม่ได้เจอมันอีกแล้ว เว้นแต่ว่าไม่แน่สักวันอาจจะขับไปจันทบุรีเพื่อตามหาฟาร์มลุงอีกรอบ บางวันผมตั้งปณิธานมุ่งมั่นว่าจะต้องทำแบบนั้นให้ได้ แต่ก็เช่นเดียวกับปณิธานส่วนใหญ่ เรามักตั้งมันไว้แต่ก็ไม่ได้ทำเสียที

ผ่านไปแรมปี

จนกระทั่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมลงไปเที่ยวจังหวัดหนึ่งทางใต้ 

ผมจอดรถข้างทาง 

เฟิร์นสีฟ้าขึ้นเป็นดงอยู่ตรงหน้ารถเลย

เจ้าเฟิร์นสีฟ้า!

ไม่นึกว่าจะได้เจอเจ้าอีก

ผมวนรถไปหาซื้อกล่องพลาสติกมาหนึ่งกล่อง เด็ดเฟิร์นกิ่งเล็ก ๆ มาใส่ลงไป พรมน้ำ ปิดฝาอย่างดี แล้วใส่กระเป๋าเอากลับกรุงเทพฯ ตอนนี้มันตั้งพักฟื้นอยู่หลังโถส้วมในห้องน้ำผม (ตำแหน่งที่แสงและความชื้นกำลังพอดี) 

ระหว่างแปรงฟัน ผมลุ้นทุกวัน ว่ามันจะรอดหรือไม่ 

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ได้น้องเฟิร์นกลับคืนมา ผมมีโอกาสได้ขึ้นไปมองวิวจากมุมสูง ผมมองข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปที่โบสถ์อัสสัมชัญ เคยมีดอกไม้บานอยู่ที่นั่น แต่วันนี้มันแห้งเหี่ยวไปแล้ว 

เฟิร์นสีฟ้าที่เปลี่ยนสีตามแดด กับความฟ้าที่ยังเป็นปริศนา

ผมเห็นไอ้หนุ่มคนหนึ่งที่เคยเป็นครูสอนชีววิทยาอยู่ในโรงเรียนข้างโบสถ์

เห็นมันเดินออกมาซื้อลูกชิ้นกินพร้อมเด็ก ๆ นักเรียน นึกถึงความตั้งใจในการเป็นอาจารย์ของมันในตอนนั้น

เมฆรูปขี้ลอยผ่านไปหนึ่งก้อน

ผมนึกย้อนไปถึงงานสัปดาห์หนังสือปีไหนสักปี มีนักเขียนนมกลิ๊วคนหนึ่งมานั่งข้างผมแล้วถามว่า “แทนคิดว่าจะเป็นอาจารย์แบบนี้ เหมือนเดิมไปตลอดมั้ย”

คำถามนี้ค้างคาใจผมมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน 

อาจจะไม่ได้คาใจที่คำถาม แต่คาใจที่คำตอบ

“เหมือนเดิมสิ แน่นอนอยู่แล้ว!” ผมตอบไปอย่างไม่ลังเลเลยแม้แต่เสี้ยววิ

สิ่งที่คาใจคือ ทำไมผมถึงตอบผิดได้อย่างมั่นใจขนาดนั้น

กี่สิ่งแล้วที่เปลี่ยนไปนับจากวันนั้น

ผมเคยย้อมหัวทองไปสอน เคยใช้สรรพนามคุยกับเด็กว่าข้ากับเจ้า

ถ้ามาถามตอนนี้ ผมกล้าตอบเลย ว่าผมไม่กล้าทั้งสองอย่าง

ตอนนั้นเรามั่นใจในความบ้า ไม่ยี่หระ ไม่กลัวอะไรง่าย ๆ

แต่พอชีวิตผ่านบาดแผลมา ก็พบความบอบบางในใจ 

แต่ก็อีกนั่นแหละ หรือสีผมกับสรรพนามจะเป็นแค่สิ่งผิวเผิน 

เป็นไปได้มั้ยว่าลึก ๆ แล้วมันอาจจะมีบางสิ่งที่เหมือนเดิม 

ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ไปตลอดกาล 

แต่ก็ (แอบหวังว่า) ไม่มีสิ่งใดหายไปตลอดกาลเช่นกัน 

ผมรดน้ำเจ้าเฟิร์นสีฟ้าที่เปลี่ยนสีตามแสง 

แล้วขับรถออกจากบ้านไปทำงานวันแรกในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย

เฟิร์นสีฟ้าที่เปลี่ยนสีตามแดด กับความฟ้าที่ยังเป็นปริศนา

หมายเหตุเชิงวิชาการเล็ก ๆ น้อย ๆ

  • จริงๆ แล้วน้องฟ้าไม่ใช่เฟิร์นเสียทีเดียว แต่เป็นพืชโบราณที่ไม่มีดอกเหมือนกับเฟิร์น ภาษาชีวะเรียกพวกไลโคไฟต์ (Lycophyte) เจาะจงขึ้นอีกก็สกุล Selaginella ซึ่งบ้านเราก็เรียกกันสามัญทั่วไปว่ากนกนารี เจาะจงขึ้นอีกก็เป็นกนกนารีสปีซีส์ที่ชื่อว่า Selaginella willdenowii แต่ไม่รู้ล่ะ เพื่อความง่าย ผมจะเรียกน้องว่าเฟิร์นสีฟ้าไปก่อนละกัน 
  • วิชาการอีกอย่างที่น่าสนใจ คือ แม้กลไกการกำเนิดสีฟ้าของน้องเฟิร์นจะเป็นที่เข้าใจดีแล้ว ว่าคล้ายกับการเกิดสีเหลือบ ๆ ของปีกผีเสื้อ แมลงทับ หรือนกฮัมมิงเบิร์ด แต่ ‘หน้าที่’ หรือเหตุผลว่าเป็นสีฟ้าแล้วน้องเฟิร์นได้ประโยชน์อะไร ยังคงเป็นปริศนาที่ทุกวันนี้ยังไม่มีใครเคยพิสูจน์ได้จริงจังเลย รู้แต่ว่ามันน่าจะเป็นวิวัฒนาการปรับตัวบางอย่างเพื่ออยู่รอดในที่ร่ม เพราะนอกจากน้องจากน้องเฟิร์นชนิดนี้แล้ว ก็ยังมีพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่มีสีเหลือบฟ้าบนใบ แล้วโตในที่ร่มเหมือนกัน

Writer & Photographer

Avatar

แทนไท ประเสริฐกุล

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ผู้เคยผ่านทั้งช่วงอ้วนและช่วงผอมของชีวิต ชอบเรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าจะผ่านงานเขียน งานแปล และงานคุยในรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า WiTcast