แม้ทางเราจะอยู่ในช่วง Soft Launch ที่อาจจะมีบางอย่างที่ยังต้องรอให้พร้อมเต็มที่ แต่ส่วนที่พร้อม 100% แล้วคือ ความตั้งใจของพนักงานทุกคน สมาชิก Sela ทุกคนจะทำให้มั่นใจว่า คุณทรงกลด และผู้ร่วมเดินทางครั้งนี้จะได้รับประสบการณ์ที่ดี และเป็นที่จดจำครับ – นิติวัฒน์ Director

Sela (เสล) โรงแรม และบ้านของคู่รักที่อยากอยู่ในตึกโคโลเนียลกลางธรรมชาติที่เชียงใหม่
Sela (เสล) โรงแรม และบ้านของคู่รักที่อยากอยู่ในตึกโคโลเนียลกลางธรรมชาติที่เชียงใหม่

ถัดจาก Welcome Drink, โรงแรม Sela หรือ เสล (อ่านว่า เส-ละ) แปลว่า ภูเขาหิน ก็ต้อนรับผมด้วยการ์ดที่เขียนด้วยลายมือเจ้าของโรงแรม ทิ้งท้ายด้วยเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว วางรออยู่บนโต๊ะในห้องพัก

ที่นี่คือโรงแรม 3 ชั้น 14 ห้อง ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ผมมาพักแล้ว ‘รู้สึก’ เหมือนไปเที่ยวยุโรปแล้วได้นอนค้างในอพาร์ตเมนต์เพื่อน – ขอเพิ่มเป็นเพื่อนกันตรงนี้เลย

ที่นี่คือโรงแรม แต่พื้นที่เกือบครึ่งคือบ้าน เป็นอาคารสร้างใหม่ในอำเภอหางดง แต่ให้ความรู้สึกแบบอาคารเก่าในยุโรปที่เจ้าของบ้านไปใช้ชีวิตมาสิบกว่าปี พอกลับมาเมืองไทย พวกเขาอยากให้ที่นี่เป็นชีวิต คือเป็นบ้านและที่ทำงาน เลยตัดสินใจเปิดเป็นโรงแรม

แต่จะบอกว่าเป็นโรงแรมก็ไม่ถูกนัก มันดูคล้ายโฮมสเตย์ หรือ Airbnb ที่มีเจ้าของบ้านมารอต้อนรับมากกว่า

ดังนั้น ถ้าอยากรู้จักที่นี่ ต้องเริ่มจากการทำความรู้จักเจ้าของบ้านก่อน

บ้าน

เหมือนผมได้อัปเกรดสถานะจาก ‘แขก’ กลายเป็น ‘เพื่อน’ เมื่อ นัต-นิติวัฒน์ สัตยาประเสริฐ เจ้าของบ้านวัย 43 ปี เปิดประตูบ้านของเขาให้ผมเข้าไปเยี่ยม

Sela (เสล) โรงแรม และบ้านของคู่รักที่อยากอยู่ในตึกโคโลเนียลกลางธรรมชาติที่เชียงใหม่

เขาอาศัยอยู่ในปีกด้านหนึ่งของโรงแรม เป็นห้องแบบ Duplex ที่เชื่อมระหว่างชั้น 2 และ 3 มองจากด้านนอกไม่เห็นความแตกต่างใด ๆ กับห้องอื่น แต่พอก้าวเท้าเข้าไป เดินผ่านแมวตัวอ้วนที่ตามกันมาจากยุโรป ผมก็พบว่าสัดส่วนของห้อง ผนัง พื้น เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงแสง ช่างดูคล้ายอพาร์ตเมนต์เก่าในยุโรปที่อบอุ่นมาก นัตบอกว่านี่คือฝีมือการตกแต่งของ มิ้น-มนสิชา วงศ์มณี ภรรยาวัย 39 ปี ของเขา

Sela (เสล) โรงแรม และบ้านของคู่รักที่อยากอยู่ในตึกโคโลเนียลกลางธรรมชาติที่เชียงใหม่

นัตเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ฝรั่งเศส จากนั้นก็ทำงานเป็นนักวิชาการในองค์การสหประชาชาติที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนมิ้นเป็นคนเชียงใหม่ เรียนจบด้านวรรณคดีฝรั่งเศสจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วไปเรียนต่อโทด้านละครเวทีที่ฝรั่งเศส มิ้นสนใจเรื่องการตกแต่งภายใน ชอบศิลปะ ภาพวาดบนผนังโรงแรม บนตู้ไม้ในห้องพักแขก บนเฟรมผ้าใบในบ้านของพวกเขา และบนชุดน้ำชาในตู้ เป็นฝีมือของมิ้น พวกเขาเจอกันที่ฝรั่งเศส แต่งงานกัน และติดตามกันไปที่สวิตเซอร์แลนด์

Sela (เสล) โรงแรม และบ้านของคู่รักที่อยากอยู่ในตึกโคโลเนียลกลางธรรมชาติที่เชียงใหม่

ช่วงที่อยู่ยุโรปนัตชอบเขียนบันทึกคุยกับตัวเอง พอ ๆ กับชวนมิ้นคุยเรื่องต่าง ๆ สะท้อนความคิดกันไปมา เรื่องหนึ่งที่พวกเขาคุยกันบ่อย ๆ คือ ‘อนาคต’

“ผมจะหมดสัญญากับที่ทำงานตอนอายุ 34 ปี ถ้าต่อสัญญาก็ต้องอยู่อีก 4 – 5 ปี จะกลับมาเริ่มอะไรตอนนั้นก็ลำบาก ตามประสาคน Gen X ที่ไม่ได้กล้าแบบคนรุ่นใหม่ ถ้าต่อสัญญาก็ต้องอยู่ยาวเลย ถึงจะชอบชีวิตทางนั้น แต่มันไม่ใช่รากของเรา ถ้าจะกลับก็ต้องกลับตอนที่ยังมีแรงพอจะทำอะไรใหม่ได้ เลยคิดว่ากลับเมืองไทยดีกว่า” นัตเล่าถึงการสิ้นสุดชีวิต 12 ปี ในยุโรปของเขาเมื่อปี 2013

Sela (เสล) โรงแรม และบ้านของคู่รักที่อยากอยู่ในตึกโคโลเนียลกลางธรรมชาติที่เชียงใหม่
Sela (เสล) โรงแรม และบ้านของคู่รักที่อยากอยู่ในตึกโคโลเนียลกลางธรรมชาติที่เชียงใหม่

มิ้นชอบชีวิตที่เงียบสงบของเจนีวา ซึ่งเกิดจากความห่างไกลผู้คน ใกล้ชิดธรรมชาติ และความรู้สึกที่มาจากบรรยากาศในบ้าน แล้วทั้งคู่ก็ยังชอบไปพักตามโรงแรมที่เป็นบ้านเก่าในป่า พวกเขาคิดว่า ถ้ากลับเมืองไทย ก็อยากอยู่ในบ้านที่ให้ความรู้สึกแบบนี้ เมื่อคิดต่อว่า แล้วจะหาเลี้ยงชีพอย่างไร ความคิดในการทำโรงแรมจึงเริ่มต้นขึ้น

ช่วง 3 – 4 ปีแรกที่กลับเมืองไทย นัตเลือกทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ในกรุงเทพฯ ก่อน เพื่อยืนยันกับตัวเองให้ชัดว่า อยากใช้ชีวิตแบบที่ฝันไว้จริงหรือ ระหว่างนั้นพวกเขาก็ขับรถตระเวนหาที่ดินในฝันทั่วเชียงใหม่ทุกสุดสัปดาห์ จนมาได้พื้นที่ขนาด 6 ไร่ ซึ่งไม่ไกลจากตัวเมือง แต่ใกล้ธรรมชาติ อยู่ติดอุทยานแห่งชาติออบขาน มีพื้นที่รอบ ๆ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นบริเวณที่คนต่างชาติมาอยู่เยอะ

พอนัตเล่าความคิดเรื่องทำโรงแรมให้ครอบครัวและเพื่อนฟัง หลายคนก็ขอร่วมลงทุนด้วย บ้านของพวกเขาก็เลยใหญ่กว่าที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก

โรงแรม

คู่สามีภรรยาเจ้าของบ้านพาผมมานั่งคุยที่ห้องสมุดของโรงแรมเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

การทำธุรกิจโรงแรมในเชียงใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อดีตนักเศรษฐศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติมองว่า รอดได้แน่ ถ้า 

หนึ่ง ใช้เงินเย็น ไม่คิดแบบไร้เหตุผลจนเกินไป และไม่ใช้เงินเกินตัว 

สอง เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนให้ได้ 

สาม ถ้าธุรกิจหลักลงตัวแล้ว ก็จัดการเรื่องร้านอาหารให้ดี เพราะการทำโรงแรมต้องอาศัยรายได้จาก 3 ทาง คือ ห้องพัก ร้านอาหาร และอีเวนต์ ทั้งสามอย่างนี้ต้องมีกลยุทธ์ที่สอดรับกันทั้งช่วงท่องเที่ยวและช่วงเงียบเหงา

โรงแรมเน้นนักท่องเที่ยวจากต่างเมือง ร้านอาหารเน้นคนเชียงใหม่ ทำยังไงก็ได้ให้คนเชียงใหม่นึกถึงร้านเขาเป็นชื่อแรก ๆ ส่วนอีเวนต์ก็มีทั้งงานแต่งไปจนถึงเวิร์กชอปเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ

Sela (เสล) โรงแรม และบ้านของคู่รักที่อยากอยู่ในตึกโคโลเนียลกลางธรรมชาติที่เชียงใหม่
Sela (เสล) โรงแรม และบ้านของคู่รักที่อยากอยู่ในตึกโคโลเนียลกลางธรรมชาติที่เชียงใหม่

ตึกเก่า

“ในเชียงใหม่มีโรงแรมสองสามพันแห่ง มีทุกรูปแบบ ผมไม่ได้อยากวิเคราะห์ว่าตลาดต้องการอะไรแล้วทำ เราใช้ประสบการณ์ของเราตอนอยู่ยุโรป มีโรงแรมหลายแห่งเป็นบ้านเก่าที่เจ้าของทำอย่างที่เขาอยากทำ ไม่ได้ตามตลาด ทำโมเดลไหนก็ได้ อยู่ไกลแค่ไหนเราก็อยากไป เราก็เลยทำแบบนั้น ไม่ได้คิดว่ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นใคร ถ้ามีรสนิยมต้องกับเราก็มาแล้วกัน ซึ่งผมเชื่อว่ามันมีความสากลอยู่ประมาณหนึ่ง” นักเศรษฐศาสตร์เล่าถึงการตัดสินใจที่ใช้สมองทั้งสองฝั่ง

Sela (เสล) โรงแรม และบ้านของคู่รักที่อยากอยู่ในตึกโคโลเนียลกลางธรรมชาติที่เชียงใหม่

พวกเขาเลือกทำแค่ 14 ห้อง เพราะไม่ต้องการความวุ่นวาย เน้นตลาดบนที่มีคู่แข่งน้อย และไม่ต้องปวดหัวกับบริษัททัวร์และการแข่งราคา ไม่สร้างกระจายเป็นหลัง ๆ แต่รวบทุกห้องมาอยู่ในตึกเดียว และไม่ได้อยากให้แขกมาใช้บริการแค่ 8 – 10 ชั่วโมงเหมือนโรงแรมอื่น แต่อยากให้แขกอยู่ที่นี่ 16 ชั่วโมง 18 ชั่วโมง ไปจนถึง 24 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมีแขกที่อยู่ที่นี่ทั้งวันทั้งคืน ไม่ออกไปไหนจริง ๆ

“เราเป็นโรงแรมสร้างใหม่ แต่อยากเป็นโรงแรมประเภทที่อยู่ในอาคารประวัติศาสตร์ ในเชียงใหม่มีโรงแรมที่อยู่ในอาคารโคโลเนียลไม่กี่แห่งเท่านั้น” มิ้นเสริมจุดขายของโรงแรมที่ทำให้เหลือคู่แข่งไม่มาก

การสร้างอาคารใหม่ด้วยสไตล์เก่านั้นไม่ง่าย ถ้าทำไม่ถึงก็อาจกลายเป็นแค่ฉากถ่ายรูป

Sela (เสล) โรงแรม และบ้านของคู่รักที่อยากอยู่ในตึกโคโลเนียลกลางธรรมชาติที่เชียงใหม่

ทั้งคู่มีภาพในหัวชัดมากว่าอยากได้อาคารแบบโคโลเนียลที่มีส่วนผสมของล้านนา แต่พอบรีฟโจทย์ให้บริษัทสถาปนิกชื่อดัง ก็พบว่าวิธีการทำงานแบบออกแบบมาแล้วแก้ได้ 3 ครั้ง ไม่น่าจะเหมาะ เพราะเขาต้องการคนที่จะมาขลุกอยู่ด้วยกันยาว ๆ ค่อย ๆ ลงรายละเอียดไปด้วยกัน สุดท้ายก็เลยใช้บริการของบริษัทสถาปนิกในเชียงใหม่อย่าง นิวัตร อาร์คิเทค ซึ่งมี อาร์ต-ปวรรธน์ ตันตยานุสรณ์ เป็นหัวเรือใหญ่

คงเป็นโชคชะตา เพราะในบริษัทนี้มี อาเธอร์ แวร์ญ (Arthur Vergne) สถาปนิกชาวฝรั่งเศส เจ้าของร้านหนังสือเด็กบากะ-นก อยู่ด้วย อาเธอร์เลยเข้ามาช่วยอาร์ตทำงานนี้ พวกเขาไปทำการบ้านอย่างหนักหน่วง จนค้นพบว่าสิ่งที่ให้ความรู้สึกว่าเหมือนอาคารเก่าในยุโรปคือ ‘สัดส่วน’ ของทุกอย่าง โดยเฉพาะประตูหน้าต่างในห้อง

Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่
Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่

“โจทย์ของเราคือ ข้างนอกเป็นกล่องสี่เหลี่ยมธรรมดา ๆ มีรายละเอียดนิดหน่อย แต่ข้างในอยากให้เลย์เอาต์มีลูกเล่น เซอร์ไพรส์ การเอาตึกเก่ามาทำโรงแรมจะมีข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้มีเลย์เอาต์แบบเข้าห้องไปแล้วต้องเฉียงบ้าง มีทางเดินยาว ๆ บ้าง เราเป็นตึกสร้างใหม่ แต่เลย์เอาต์ข้างในอยากให้รู้สึกเหมือนห้องเหล่านี้ดัดแปลงมา ไม่ได้เป็นบล็อก ๆ” นัตเล่าโจทย์

“หลายโรงแรมออกแบบโดยเอาห้องพักเป็นตัวตั้ง คือ หน้าต่างกว้าง มีระเบียงใหญ่ ๆ แต่เราคิดสลับทาง ทำให้เหมือนเป็นบ้านมาก่อน แล้วโรงแรมมาทีหลัง ความยากก็คือ ทำผังแต่ละห้องให้ไม่เหมือนกันแล้ว ต้องแบ่งช่องหน้าต่างด้านนอกให้เท่ากัน และขนาดทางเดินที่เป็นข้อจำกัดของโรงแรมยังต้องได้ด้วย” มิ้นเสริมความยากที่ทำให้อาร์ตและอาเธอร์ต้องใช้เวลาหนึ่งปีเต็ม ๆ กว่าจะวางเลย์เอาต์เสร็จ

โถง

“โจทย์ในการออกแบบที่เราให้อาเธอร์อีกอย่างคือ หนึ่ง เข้ามาแล้วไม่อยากให้จำเลย์เอาต์ได้ทันทีว่าไปทางไหน อยู่ 2 วันจะได้ไม่เบื่อ” นัตชวนผมเดินไปดูโถงกลางโรงแรมที่เป็นช่องแสงขนาดใหญ่

Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่
Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่

“สอง อยากให้มีเลเยอร์ เข้ามาที่ล็อบบี้จะเจอแค่ห้องเล็ก ๆ มีประตูกั้น เพื่อไม่ให้คนเห็นทุกอย่างแล้วจบ ไม่มีอะไรให้ค้นหา เปิดประตูเข้ามาเจอโถง ข้างหลังก็ยังมีอีก ออกไปข้างนอกก็ยังมีสวน หลักนี้ใช้กับการออกแบบห้องด้วย เข้ามาในห้องจะเจอทางเดิน แล้วเจอห้องที่ใหญ่ขึ้น

Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่

“สาม ด้านหลังสวยกว่าด้านหน้า เราอยากเก็บวิวนี้ไว้ให้เป็นพิเศษกับแขกของเรา ผมเอาไอเดียนี้มาจากยุโรป เขาชอบหันหลังอาคารติดถนน ดูแล้วไม่รู้เลยว่าอะไร พอเข้ามาแล้วถึงเห็นด้านหน้าตึก เห็นสวน” นัตเล่าต่อว่า สวนด้านหลังเพิ่งลงต้นกล้าพันธุ์ไม้ท้องถิ่นไว้รอบสนาม เพื่อสร้างป่าของตัวเอง คนที่คัดสรรพันธุ์ไม้ให้ก็คือ อาจารย์จุลพร นันทพานิช สถาปนิกนักปลูกป่าชื่อดังนั่นเอง

ตกแต่งภายใน

นัตบอกว่า เขาเห็นฝีไม้ลายมือของมิ้นในการตกแต่งอพาร์ตเมนต์ที่เจนีวา และรีโนเวตคอนโดเก่าย่านอารีย์ ก็รู้ว่า โรงแรมนี้เธอทำเองได้สบาย ๆ โดยมีมัณฑนากรช่วยเป็นมือไม้เปลี่ยนจินตนาการให้เป็นภาพที่นำไปทำงานต่อได้

เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดเรียกว่าสไตล์ อินโดไชน่า เป็นยุคเดียวกับตึกโคโลเนียล ยุคนั้นบ้านเจ้านายหรือบ้านฝรั่งใช้สถาปนิกฝรั่งทำ ส่วนของตกแต่งก็มาจากอินเดีย พม่า จีน และไทย ปนกันไป มิ้นเลือกของเก่าจากยุคนี้ บางชิ้นก็เลือกที่มีสไตล์ล้านนาผสม มีทั้งของเก่าและของที่เธอสั่งทำขึ้นมาใหม่

Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่
Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่

“เราอาจจะทำอะไรไม่คล่องหรือรวดเร็วแบบคนที่ทำอาชีพนี้โดยตรง เลยใช้เวลาเยอะ เราต้องทำห้องให้เสร็จทุกอย่าง ทาสีให้เสร็จ แล้วจินตนาการว่าอยากได้แบบไหน ถึงจะไปหาของมาวาง เหมือนทำบ้านเสร็จแล้วซื้อของเข้าบ้าน แตกต่างจากการออกแบบที่เน้นทำเฟอร์นิเจอร์บิลด์อินเป็นหลัก” มิ้นเล่าถึงวิธีการทำงานของเธอ

ร้านอาหาร

เราย้ายไปคุยกันต่อในร้านอาหาร Windows Cafe and Restuarant ด้านหน้าโรงแรม 

นัตเล่าว่า ร้านนี้ดูแลโดย เชฟพิ้งค์-โชษิตา วงศ์มณี น้องสาวของมิ้น เธอเคยทำงานเป็นเชฟในอิตาลี ออสเตรเลีย เคยอยู่โฟร์ซีซั่น แล้วก็มาเปิดร้าน Le Brunch (เลอ บรันช์) ของตัวเองที่เชียงใหม่ เป็นร้านเล็ก ๆ ที่เปิดมาแล้ว 5 ปี อยู่ใต้คอนโด ขายแค่อาหารเช้าและเที่ยง ขายดีมากเพราะมีลูกค้าประจำเป็นคนในตึก เนื่องจากอาหารเช้าเป็นมื้อที่เรากินซ้ำ ๆ ได้ ร้านจึงเต็มทุกวันโดยไม่ต้องโปรโมต และไม่ต้องขายคนข้างนอกเลย 

เมื่อพี่สาวเปิดโรงแรม พิ้งค์ก็ตัดสินใจย้ายมาเปิดร้านอาหารที่นี่ด้วยวิธีคิดชุดเดิม

Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่

Windows Cafe and Restuarant เป็นร้านอาหารยุโรปที่มีอาหารฝรั่งเศส มีพาสต้า รับประทานได้ทั้งวัน แล้วก็มีบาร์ด้วย ลูกค้า 80 เปอร์เซ็นต์คือชาวต่างชาติที่อยู่ละแวกนี้ เปรียบได้กับร้านอาหารหน้าปากซอยของคนต่างชาติ

“ทำไมร้านอาหารหน้าปากซอยถึงไม่เจ๊ง เพราะเขาขายคนในหมู่บ้าน ร้านอาหารที่จะอยู่รอดได้ต้องเป็นแบบนั้น อาหารต้องกินง่าย ราคาเข้าถึงได้ และมีเสน่ห์อะไรบางอย่าง” นัตอธิบายแบบเห็นภาพ

“ร้านศิลปินกับเชฟเทเบิ้ลมีเยอะ แต่เราเห็นว่าร้านที่ขายอาหารง่าย ๆ แต่พิถีพิถัน ดูเป็นทางเลือกที่เหมาะกับเรามากกว่า เราอยากเป็นร้าน Corner Restaurant ที่คนกินทุกวัน ทำอาหารง่าย ๆ อย่างสเต๊กให้คุณภาพดี ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ กับอาหารทั่ว ๆ ไป” มิ้นเล่าเสร็จแล้วก็กางเมนูอธิบายรายละเอียดแต่ละจานให้ฟัง

Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่

เขียน

นัตกับมิ้นอยู่ในบ้านหลังนี้มาแล้วครึ่งปี และเปิดโรงแรมได้เดือนกว่า ๆ

ชีวิตของพวกเขายังไม่เข้าที่เข้าทางนัก ยังเหลืออะไรให้ต้องจัดการอีกมากมาย แต่ก็ยังได้ออกไปใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติออบขาน ถ้าขับรถไปก็ 15 นาที ถ้าเดินตามทางชาวบ้านจากหลังโรงแรมก็ไปถึงได้เช่นกัน แต่ใช้เวลาหลายชั่วโมงหน่อย

พวกเขามีชาวบ้านละแวกนั้นเป็นเพื่อนบ้าน พนักงานโรงแรมส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น เป็นชีวิตที่ดูจะใกล้กับที่ฝันไว้เข้าไปเรื่อย ๆ

Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่

ระหว่างรออาหาร ผมถามคำถามสุดท้ายว่า อยากให้แขกที่มาพักได้อะไรกลับไป

คำตอบของพวกเขาทั้งคู่เหนือความคาดหมาย เหมือนเป็นคำตอบของนักเดินทางตัวยงที่วันหนึ่งตัดสินใจเปิดบ้านตัวเองให้เพื่อนใหม่แวะมาพัก มากกว่าจะเป็นคำตอบจากผู้ประกอบการโรงแรม

“มิ้นจะดีใจมากถ้าคนที่มาพักประทับใจกับอะไรบางอย่างจนอยากเขียนอะไรสักอย่าง เขียนอะไรก็ได้ เขียนถึงใครก็ได้ เขียนจดหมายถึงเพื่อน เขียนโปสการ์ดถึงใครสักคน หรือเขียนหนังสือได้สักเล่มจากการมาพักที่นี่ เราอยากให้แขกได้ค้นพบอะไรบางอย่างภายในจากการพักที่นี่” มิ้นตอบพร้อมรอยยิ้ม

“ผมยังคุยกับมิ้นเลยว่า ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าจะทำให้ที่นี่เป็น Museum Hotel, Artist Hotel หรือ Traveler Hotel พอทำเสร็จแล้วเราจะมีความสุขมากถ้าที่นี่จะเป็น Writer Hotel มิ้นมีไอเดียว่าอยากให้คนมาแล้วเขียนโปสการ์ดถึงใครสักคน ทุกห้องก็เลยมีโต๊ะเขียนหนังสือ ดินสอ ปากกา กระดาษเขียนจดหมาย กระดาษวาดรูป ซองจดหมาย โปสการ์ด แสตมป์ พร้อม”

Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่

นัตบอกว่า ผมคือนักเขียนคนแรกที่มาเยือน Writer Hotel แห่งนี้ พวกเขาจะดีใจมากถ้าผม ‘รู้สึก’ อะไรบางอย่างกับที่นี่จนอยากเขียนเรื่องราวออกมาสักเรื่อง

ดูจากขนาดของกระดาษที่เขาเตรียมไว้ คงไม่พอจะบรรจุความประทับใจ

ผมเลยขอพิมพ์บันทึกนี้ไว้บนก้อนเมฆแทนก็แล้วกัน

Sela เสล (เส-ละ) โรงแรมในตึกโคโลเนียลล้านนาที่อำเภอหางดง ของคู่รักที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตจากเจนีวามาอยู่ที่นี่

Sela

ที่ตั้ง : 519 ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)

โทรศัพท์ : 053 111 831

Facebook : Sela

Instagram : selachiangmai

www.selachiangmai.com

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป