แค่เรารู้ว่าศิลปินร็อกอย่างวง Klear มีโครงการ ‘อีกฝั่ง’ หนังสั้นสะท้อนสังคมกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย แถมยังทำมาจากเพลงในชื่อเดียวกันของพวกเขาที่หลายคนอาจยังไม่เคยได้ยิน แค่นี้ก็น่าสนใจมากพอแล้ว ยิ่งรู้ว่าเป็นผลงานของ ครรชิต สพโชคชัย ผู้กำกับมือทองจากหับ​ โห​ หิ้น มาเป็นผู้กำกับ ยิ่งน่าตื่นเต้นเข้าไปอีก 

อีกฝั่ง หนังสั้นสะท้อนปัญหาการใช้ Social Media ที่สร้างจากเพลงหน้า B ของวง Klear

Klear คือกลุ่มพี่น้องที่ร่วมตัวกันเล่นดนตรีกลางคืนจนกระทั่งได้เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่ ประกอบไปด้วย แพท-รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย ร้องนำ, ณัฐ-ณัฐวัฒน์ แสงวิจิตร มือกีตาร์, คี-คียาภัทร โพธิ์วงศ์ไพรเลิศ มือเบส และมือกลองผู้มีท่าในการหยิบโทรศัพท์ไม่เหมือนใครในโลกนี้ นัฐ-นัฐ นิลวิเชียร ส่วนครรชิตก็ฝากผลงานด้านมิวสิกวิดีโอและโฆษณาไว้มากมาย เช่น Love at First Sip และ Never Change

แพท-รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย ร้องนำ, ณัฐ-ณัฐวัฒน์ แสงวิจิตร มือกีตาร์, คี-คียาภัทร โพธิ์วงศ์ไพรเลิศ มือเบส และมือกลอง  นัฐ-นัฐ นิลวิเชียร

แต่ทำไมไม่เอาเพลงที่ติดชาร์ต? ทำไมต้องเป็นเรื่องโซเชียลมีเดีย? พวกเขาอยากพูดถึงประเด็นนี้ในแง่ไหน? เพราะว่ากันตามตรง เรื่องนี้ได้มีการหยิบมาพูดหลายครั้งจนช้ำเหลือเกิน พวกเขาทุกคนไปไกลถึงขนาดยอมลบรูปในอินสตาแกรมกว่า 20,000 รูป (ที่สมาชิกวงบางคนพึ่งรู้กันวันนี้ว่ามัน Archive เก็บเอาไว้ได้) จนเป็นข่าวให้แฟนเพลงใจเสีย

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้เกิดจากความอยากรู้อยากเห็นของเราที่พยายามจะถามทุกคำถามเกี่ยวกับแรงบันดาลใจของหนังสั้นเรื่องอีกฝั่ง แม้บางครั้งคำตอบจะอยู่ระหว่างบรรทัด และบางคำถามอาจไม่ได้ถูกตอบมาอย่างชัดเจน แต่มีอย่างหนึ่งที่เราขอสปอยล์ไว้ตรงนี้ก่อนเลย​ว่า ขณะที่นั่งคุยกัน​ เราได้สังเกตแววตาและภาษากายของเขาทุกคน​ที่ทำให้รู้ว่า…

นี่ไม่ใช่แค่หนังสั้นตามกระแส แต่พวกเขาอินกับมันจริงๆ

แพท-รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย ร้องนำ, ณัฐ-ณัฐวัฒน์ แสงวิจิตร มือกีตาร์, คี-คียาภัทร โพธิ์วงศ์ไพรเลิศ มือเบส และมือกลอง  นัฐ-นัฐ นิลวิเชียร

01

จากเพลงหน้า B ที่ไม่มีใครรู้จัก

เพลง อีกฝั่ง อยู่ในอัลบั้มล่าสุดของ Klear ชื่อ Silver Lining ที่ถึงแม้จะเป็นเพลงที่ไม่ได้รับการโปรโมตและไม่ค่อยติดหูคนฟังทั่วไปเท่าไหร่ (เพลงหน้า B อย่างที่คนรุ่นผมเรียกกัน) แต่ทั้งวงกลับรักมันมากเหลือเกิน 

เพลงนี้ณัฐอัดเดโม่กีตาร์ส่งให้แพท​เขียนเนื้อร้อง เป็นเหตุบังเอิญที่ในเดโม่นั้นมีเสียงนกเล็ดรอดเข้ามา เสียงนกสะกิดใจแพทถึงประเด็นการ Grow Apart (การเติบโตที่ห่างกันออกไป) ที่คาใจอยากพูดถึงมานาน แต่ยังไม่มีทำนองที่เหมาะสมสักที เธอจึงนึกถึงการใช้ ‘นก’ เป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตออกจากกัน เหมือนนกที่เกิดจากรังเดียวกันแต่ต้องบินไปยังที่ห่างกันออกไป  

แพท-รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย ร้องนำ, ณัฐ-ณัฐวัฒน์ แสงวิจิตร มือกีตาร์, คี-คียาภัทร โพธิ์วงศ์ไพรเลิศ มือเบส และมือกลอง  นัฐ-นัฐ นิลวิเชียร

เพลง อีกฝั่ง จึงไม่ได้เกี่ยวกับการจากลาทางกายเหมือนเพลงรักดังๆ ของพวกเขา แต่เป็นการจากลาทางอารมณ์  (Emotionally Distant) ซึ่งวง Klear มองว่าระยะทางเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจากลาเท่านั้น เพราะมันคือสิ่งที่จับต้องได้มากที่สุด แต่ในหลายๆ ความสัมพันธ์ เมื่อคนสองคนเจอสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน และเริ่มมีความเชื่อที่ไม่ตรงกัน ก็เป็นไปได้ที่จะรู้สึกห่างเหินกันไป แม้จะเจอหน้ากันอยู่บ่อยๆ ก็ตาม

ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ คงเหมือนแฟนคุณไปเรียนต่อเมืองนอก พอกลับมาแม้จะใกล้ชิดกันเหมือนเดิม สุดท้ายความสัมพันธ์ก็ไปไม่รอด เพราะอย่างที่แพทบอก “มันมีหลายเรื่องเกินไปที่เราไม่ได้เล่าให้กันฟัง”

ในฐานะวงดนตรีมหาชนที่มีเพลงติดหูผู้ฟังหลายต่อหลายเพลง การทำเพลงเรียบง่ายที่เต็มไปด้วยสัญญะจึงถือเป็นความสนุกอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะพวกเขาต่างได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ในการตีความหมายของเพลงตามความเข้าใจและประสบการณ์ของตัวเอง เพลงแต่ละเพลงก็มีความตั้งใจที่ต่างกันออกไป อาจจะมีเพลงที่ทำให้คนอินกันทั่วประเทศ เพลงมันๆ ที่ใช้เล่นในคอนเสิร์ต หน้าที่ของเพลง อีกฝั่ง คือการเป็นงานศิลปะ และมันก็ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างสมบูรณ์แบบ

แพท-รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย ร้องนำ, ณัฐ-ณัฐวัฒน์ แสงวิจิตร มือกีตาร์, คี-คียาภัทร โพธิ์วงศ์ไพรเลิศ มือเบส และมือกลอง  นัฐ-นัฐ นิลวิเชียร

02

ทำไมต้องเป็นโซเชียลมีเดีย?

จากเพลงที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อนสู่เรื่องสั้น โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก คุณเสริมสิน สมะลาภา นักธุรกิจผู้อยากเห็นงานศิลปะสะท้อนสังคมออกมาเยอะๆ เขาถูกใจเพลง อีกฝั่ง ของวง Klear และอยากจะทำโปรเจกต์ที่เป็นมากกว่ามิวสิกวิดีโอความยาว 3 นาที โดยได้ครรชิต สพโชคชัย มาเป็นผู้กำกับและทำหน้าที่เป็นพ่อครัวที่จะนำวัตถุดิบจากวง Klear มาปรุงให้กลมกล่อม 

อีกฝั่ง หนังสั้นสะท้อนปัญหาการใช้ Social Media ที่สร้างจากเพลงหน้า B ของวง Klear

พวกเขาระดมสมองกันอยู่นาน เพราะในสังคมมีหลายประเด็นที่น่านำมาพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเยาวชน ยาเสพติด ไปจนถึงการค้ามนุษย์ พวกเขาทำถึงขนาดไปคุยกับนักโทษเยาวชนในสถานพินิจมาแล้ว แต่สุดท้าย สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนคุ้นเคยและจะสื่อสารมันได้อย่างถูกต้อง ทุกคนจึงลงความเห็นกันว่าควรประเด็นที่ใกล้ตัวและทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกับมันอย่างโซเชียลมีเดีย

“แต่เรื่องโซเชียลมีเดียถูกยกมาพูดหลายครั้ง ทำยังไงให้เรื่องราวของ ‘อีกฝั่ง’ ไม่ซ้ำกับที่ผ่านมา” เราถาม

“เพราะพูดกันไปหลายครั้งแล้วนี่แหละ เราถึงอยากพูดอีก” ผู้กำกับตอบ พวกเขาไม่ได้มีเจตนาอยากจะเป็นผู้บุกเบิกในการพูดถึงประเด็นใดเป็นคนแรก แต่อยากจะเน้นย้ำประเด็นที่ยังอยู่กับเราในทุกวัน และทุกๆ คนก็ยังคงรู้สึกถึงความทุกข์ที่มันก่อมากกว่า อยากให้งานชิ้นนี้เป็นเหมือนกระจกสะท้อนที่คอยเตือนสังคมเราว่ายังมีปัญหานี้ที่รอวันได้รับการแก้ไขอยู่

อีกฝั่ง หนังสั้นสะท้อนปัญหาการใช้ Social Media ที่สร้างจากเพลงหน้า B ของวง Klear

03

“สองนกตัวน้อยที่ออกบินด้วยกัน” 

นอกจากการจากลาทางอารมณ์ระหว่างบุคคลแล้ว ครรชิตอยากนำความแปลกแยกในตัวเอง (Alienation) มาเล่าในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย และนี่น่าจะเป็นจุดที่ทำให้หนังสะท้อนเรื่องราวของโซเชียลมีเดียเรื่องนี้แตกต่างออกไป ยกตัวอย่างเช่นการที่คนเราพยายามจะสร้างตัวเองขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับ เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ อย่างสังคมสมัยก่อนที่มีการทำอาหารแบ่งปันกันในชุมชน หรือให้เพื่อนลอกการบ้านตอนเด็กๆ ไปจนถึงการพยายามทำกิจกรรมเพื่อเข้ากลุ่ม แต่สมัยนี้คนเราโพสต์สิ่งที่เราคิดว่าคนอื่นจะชอบ ทั้งๆ ที่อาจจะห่างไกลจากตัวตนที่แท้จริงเลยด้วยซ้ำ

อีกฝั่ง หนังสั้นสะท้อนปัญหาการใช้ Social Media ที่สร้างจากเพลงหน้า B ของวง Klear

“มันไม่ใช่แค่ในแง่ความสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวตนของคนทุกคน ที่เมื่อถึงเวลาหนึ่งความคิดหรือความฝันที่เคยมีก็เติบโตและเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็น Grow apart จากตัวเองได้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่จากคนในครอบครัวหรือคนรอบตัว ดังนั้น ผมคิดว่าเนื้อความของหนังเรื่องนี้ คือการที่คนเราได้หยุดเพื่อมองตัวเองและได้คิดว่ารู้จักตัวตนของเราดีแค่ไหน”

“สองนกตัวน้อยที่ออกบินด้วยกัน” ในบทเพลงจึงกลายมาเป็นเพื่อนผู้หญิงสองคนที่ใช้โซเชียลมีเดียกันคนละแบบ เพื่อสื่อถึงการเติบโตที่แตกต่างกัน จนทำให้ในท้ายที่สุดก็กลายเป็นนก 2 ตัวที่อยู่กันคนละฝั่ง จากนั้นจึงเติมประเด็นเรื่องครอบครัว โดยตัวละคร ‘พ่อ’ เพื่อให้เห็นภาพความห่างไกลของคนใกล้ตัวได้ชัดเจนขึ้น ก่อนจะจบเรื่องด้วยประเด็นการรู้จักตัวตนของตัวเอง

อีกฝั่ง หนังสั้นสะท้อนปัญหาการใช้ Social Media ที่สร้างจากเพลงหน้า B ของวง Klear

จริงๆ แล้วในบทแรกที่ทำขึ้นนั้น พวกเขาตั้งใจจะใส่สัญลักษณ์บนร่างกายของตัวละครหลัก เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน มีกลิ่นอายความเหนือจริง (Surreal) แต่ก็กลัวว่าจะเข้าใจยากเกินไป 

มากไปกว่านั้น ถ้าสังเกตดูดีๆ แล้ว เด็กผู้หญิงที่เป็นตัวละครหลักทั้งสองคนมีโครงหน้าคล้ายกัน และทางทีมงานก็ไม่ได้ปกปิดความคล้ายนี้ เพราะตั้งใจจะสร้างความสับสนให้คนดู สื่อให้เห็นถึงข้อความเรื่องตัวตนที่ถูกลืมซึ่งซ่อนอยู่ และทำให้เราอดคิดถึง Tyler Durden ตัวละครจากหนังคัลท์อย่าง Fight Club ไม่ได้จริงๆ

อีกฝั่ง หนังสั้นสะท้อนปัญหาการใช้ Social Media ที่สร้างจากเพลงหน้า B ของวง Klear

04

ยิ่งอยู่บนเวที แสงไฟก็ยิ่งจ้า

แต่คนทำอาชีพในสปอตไลต์อย่างพวกเขาไม่ใช่หรือที่จะได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้มากที่สุด? เราแอบสงสัยกับตัวเอง ซึ่งก็จริงตามนั้น 

สำหรับครรชิต เขายอมรับว่าเขาต้องใช้โซเชียมีเดียเนื่องจากเรื่องงาน ซึ่งเมื่อต้องทำงานในโทรศัพท์ก็ถูกเบี่ยงความสนใจไปได้ง่ายมาก และมันก็กลายมาเป็นพฤติกรรม ทำให้เขากล้าพูดเรื่องนี้ เพราะเขารู้ตัวว่าไม่ได้ปฏิเสธมันและต้องใช้ชีวิตอยู่กับมันมากพอสมควร จึงต้องการให้หนังสั้นเรื่องนี้กระตุ้นให้ทุกคนกลับมาคิดว่าเราจะสร้างโลกส่วนตัวในสังคมออนไลน์โดยไม่กระทบคนที่อยู่ข้างๆ และไม่ทำให้พวกเขารู้สึกโดนทิ้งได้ยังไง

อีกฝั่ง หนังสั้นสะท้อนปัญหาการใช้ Social Media ที่สร้างจากเพลงหน้า B ของวง Klear

ส่วนวง Klear ไม่ต้องเดาเลย พวกเขาใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้สื่อสารกับแฟนเพลงเป็นช่องทางหลัก มีแฟนเพลงส่งข้อความมาบอกเล่าปัญหาชีวิตส่วนตัวเป็นพันเป็นหมื่นข้อความ แต่พวกเขาก็มีวันเวลาที่โดนโซเชียลมีเดียทำร้ายอย่างหนักจนถึงขั้นเครียด และต้องให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าทำไมรูปบางรูปได้ยอดไลก์น้อย ขณะที่บางรูปยอดไลก์เยอะ แล้วก็ไปจนถึงจุดที่พวกเขารู้แล้วว่าต้องลงรูปอย่างไรให้ได้ยอดไลก์ รูปแบบไหนที่ลงแล้วคนจะนิยม 

เรื่องพวกนี้เราทุกคนก็คงเคยผ่านกันมา เมื่อฟังคำตอบแล้วก็ทำให้เราคิดได้ว่า คนที่ได้ประโยชน์จากมันมากเท่าไหร่ ราคาที่ต้องจ่ายก็แพงขึ้นเท่านั้น

อีกฝั่ง หนังสั้นสะท้อนปัญหาการใช้ Social Media ที่สร้างจากเพลงหน้า B ของวง Klear

“เราเผลอไถโทรศัพท์จนเสียงานเสียการ”

“เราถูกคอมเมนต์ในเรื่องต่างๆ จนทำให้เสีย Self-esteem และหงุดหงิดไปเป็นวันๆ” 

“เราเห็นกีตาร์สวยๆ เด้งขึ้นมาแล้วก็เกิดอยากได้ ทั้งๆ ที่รอบตัวก็เต็มไปด้วยกีตาร์ดีๆ มากมาย”

“หรือผมเห็นเพื่อนบางคนหรือน้องบางคนโพสต์งาน แล้วเราก็รู้สึกว่า โห ดีจังว่ะ โคตรเก่งเลย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องถามว่า งานสไตล์นั้นมันเป็นตัวเราหรือเปล่า”

เมื่อถึงจุดหนึ่ง พวกเขาต่างก็หยุดและมานั่งทบทวนตัวเอง 

“ภาพที่อยู่บนหน้าฟีดบอกพวกเราเสมอว่าเรายังมีไม่พอ มันกำลังพูดเสมอว่า คุณต้องมีสิ่งนี้ถึงจะดี คุณต้องมีสิ่งนั้นถึงจะดี ซึ่งคนขายเขาก็ไม่ผิด แต่ปัญหามันอยู่ที่เรามากกว่า ว่าเราต้องมีสติ จากแต่ก่อนเจอแค่ป้ายโฆษณากับโฆษณาในละคร ทุกวันนี้ถ้าพูดขึ้นมาลอยๆ ว่าอยากได้อะไร สิ่งนั้นก็อาจจะเด้งเข้ามาในหน้าฟีดเราแล้ว เป็นแบบฝึกหัดใจเราเหมือนกัน” 

แพท-รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย ร้องนำ, ณัฐ-ณัฐวัฒน์ แสงวิจิตร มือกีตาร์, คี-คียาภัทร โพธิ์วงศ์ไพรเลิศ มือเบส และมือกลอง  นัฐ-นัฐ นิลวิเชียร

05

เมื่อมองไปยัง ‘อีกฝั่ง’

ถึงแม้จะมีแรงบันดาลใจที่มีน้ำหนักจากชีวิตส่วนตัวมาก ทั้งวงและผู้กำกับต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้ชี้นิ้วไปที่โซเชียลมีเดียเพื่อกล่าวโทษเท่านั้น แต่วิธีการใช้ของคนมากกว่าที่สำคัญ เพราะรู้ว่าเหตุผลของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำให้พวกเขาไม่มีบทสรุปสอนใจให้ทุกคนต้องเดินตาม แต่อยากเตือนใจเอาไว้ว่า สิ่งที่เราโพสต์ลงไปบนนั้น อย่างน้อยก็ต้องไม่ทำร้ายตัวเราเอง

อีกฝั่ง หนังสั้นสะท้อนปัญหาการใช้ Social Media ที่สร้างจากเพลงหน้า B ของวง Klear

“เราอยากให้ผู้คนย้อนไปถามตัวเองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นใช่สิ่งที่ต้องการจริงๆ หรือเปล่า เป็นเหมือนเป็นคู่มือการใช้โซเชียลมีเดีย ณ ห้วงเวลาหนึ่งสำหรับทุกคน และสร้างความตระหนักในขณะนั้นๆ ว่าใช้แบบนี้ดีหรือเปล่า ว่ามันทำให้มีความสุขหรือเปล่า หรือกำลังเบียดเบียนคนอื่นหรือไม่”

หนังสั้นเรื่องนี้สะท้อนตัวของพวกเขาเองมากพอๆ กับการได้สะท้อนสังคม เพราะหลังจากที่ได้ทำ พวกเขาก็รู้สึกดีกับโซเชียลมีเดียมากขึ้น รู้สึกว่ามองมันด้วยความเข้าใจมากขึ้น เห็นภาพว่าในเมื่อเทคโนโลยีกำลังก้าวหน้าไป มนุษย์ก็พยายามเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา พยายามจะเข้าใจและอยู่ร่วมกับมันให้ได้อย่างสมดุลที่สุด ใช้มันให้มีประโยชน์กับตัวเอง ในขณะเดียวกันก็มีความสุขแบบตอนที่ยังไม่มีมันได้ 

อีกฝั่ง หนังสั้นสะท้อนปัญหาการใช้ Social Media ที่สร้างจากเพลงหน้า B ของวง Klear
อีกฝั่ง หนังสั้นสะท้อนปัญหาการใช้ Social Media ที่สร้างจากเพลงหน้า B ของวง Klear

สิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากหนังสั้นเรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก ถ้าใครดูแล้วเห็นว่าดี ก็อยากให้ส่งต่อให้คนที่ตัวเองรักดูเพื่อให้พวกเขารู้ว่ายังมีใครบางคนอยู่ข้างเขาเสมอ 

“หลายคนคิดว่าคนที่อยู่ข้างๆ เรารอได้ แต่เรากลัวตามคนอื่นในโซเชียลมีเดียไม่ทัน เราต้องดูมันเดี๋ยวนี้ คิดว่าเดี๋ยวมองหน้าเมื่อไหร่ก็ได้ สบตาเมื่อไหร่ก็ได้ คุยเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันก็ไปไกล” 

ก่อนจากกัน เราขออนุญาติทำตัวไม่เป็นมืออาชีพด้วยการขอถ่ายรูปกับวง Klear เพื่อที่จะนำไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดียอวดเพื่อนๆ โดยหันไปบอกทางวงอย่างจริงใจว่า อันนี้จะลงเพื่อเรียกยอดไลก์นะ แพทหันมายิ้มให้เราแล้วบอกว่า “นี่แหละ ยอมรับออกมาตรงๆ เลย” ก่อนที่จะแยกย้ายจากกันไป 

เราโบกมือลากันไปโดยที่ผมก็ยังไม่ได้โพสต์รูปสักที (จนถึง ณ ขณะที่พิมพ์อยู่นี้) เพราะอย่างที่พวกเขาบอก ความสุขที่ได้มีบทสนทนาดีๆ กับวงร็อกชั้นนำและผู้กำกับเก่งๆ  ณ ช่วงเวลานั้น อาจจะมีความหมายมากกว่า

Writer

Avatar

นรินทร์ จีนเชื่อม

จบรัฐศาสตร์ ชอบอ่านวรรณกรรมคลาสสิค หลงใหลการโต้เถียงแบบมีอารยะ กินกาแฟดำเหมือนนักเขียนรุ่นใหญ่ แต่ใจจริงชอบแฟรบปูชิโน่คาราเมลเพิ่มไซรัป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ