“แต่ก่อนนะ ได้ยินเสียงโยนกระดาษ ตึ้ง ๆๆ ทั้งคืน บ้านหลังนี้แข็งแรงอยู่แล้ว หนูไม่ต้องเป็นห่วง” เสียงยืนยันจากคุณป้าข้างบ้าน ทำให้ทั้งสองสบายใจขึ้นมา

จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก

เราก้าวเท้าเข้าไปในบ้านบรรยากาศน่ารัก มีสเต็ปเล็ก ๆ ค่อย ๆ ขึ้นไปที่สเปซต่าง ๆ เจ้าของบ้านคนแรกง่วนทำอะไรของตัวเองอยู่ในห้องทำงานด้านขวา ส่วนเจ้าของบ้านคนที่สองเลี้ยวซ้ายขึ้นไปนั่งรอเราที่ส่วนทานอาหาร

ปุย-สิรินภา รัตนโกศล ชาวไทย และ เซ็บ-เซบาสเตียน ดูส ชาวฝรั่งเศส เป็นคู่รักที่กำลังวางแผนลงหลักปักฐาน อยากมีบ้านเป็นของตัวเองแต่หาที่เหมาะ ๆ ไม่ได้ กระทั่งได้มาเจอกับโรงงานอายุ 50 กว่าปีที่ร้างนาน 25 ปีแห่งนี้

“ดูนี่สิ” ที่โต๊ะอาหารบนชั้นลอยกลางบ้านที่มีลมธรรมชาติปะทะจากรอบด้าน ปุยยื่นรูปภาพในกูเกิลให้เราดูกลั้วหัวเราะ “บังเอิญว่าวันที่ทำบ้านวันแรก รถกูเกิลผ่านพอดี นี่คือเราทั้งสองคนยืนไหว้เจ้าที่อยู่ ทุกวันนี้ในโลเคชันเป็นยังเป็นตึกโรงงานสีเหลือง คนจะมาก็หาไม่เจอ”

จากโรงพิมพ์ สู่โรงงานเย็บผ้า สู่อาคารร้าง วิทย์-พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล สถาปนิก และ พลอย-หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ มัณฑนากร จาก PHTAA ช่วยสองเจ้าของบ้านเสกให้ที่นี่กลายเป็นบ้านโปร่ง ๆ สมใจผู้อยู่ แต่ยังทิ้งสัจจะโครงสร้าง-วัสดุของโรงงานเดิมได้อย่างไร คอลัมน์ Re-Place คราวนี้ เราไปหาคำตอบกัน

จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก
จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก

แม้ไม่เคยคิดมาก่อน…

ปุยเป็นทนายความ ส่วนเซ็บเป็น Business Process Engineer ทำงานเกี่ยวกับส่วน IT ของบริษัท แต่ตอนนี้เป็นช่วงย้ายบ้าน นี่จึงเป็นช่วงที่เขาไม่ได้ทำงาน

คู่รักกำลังวางแผนสร้างครอบครัว แต่งงาน และมีลูก จากเดิมที่อยู่คอนโดย่านถนนจันทน์ จึงต้องการขยับขยายไปสู่ที่ที่กว้างขึ้นด้วยการไปดูคอนโดในละแวกเดิมที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงมองหาหมู่บ้านต่าง ๆ ที่พอจะเป็นไปได้ แต่แล้วหาก็ไม่ค่อยได้ หากจะไปอยู่หมู่บ้านที่ไกลกว่านี้ก็ดูจะไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เท่าไหร่นัก

“นอกกรุงเทพฯ เราก็ไม่อยากได้ เราใช้เวลา 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่นี่” เซ็บพูดภาษาอังกฤษ

จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก

จนกระทั่งวันหนึ่ง พวกเขาได้ SMS มาจากเว็บไซต์อสังหาฯ ที่เคยให้คอนแทกไว้ ว่ามีที่ดินพร้อมอาคารน่าสนใจ อยู่ไม่ไกลจากคอนโดที่อยู่เดิม เขาจึงได้ย่องเข้ามาดูสถานที่จริงกันสองคน

“สิ่งที่เห็นก็คือมันน่ากลัว เพื่อนบ้านบอกว่ามันเป็นบ้านร้างมามากกว่า 25 ปี” ปุยเล่าด้วยอารมณ์สนุก “ที่นี่เป็นอาคารพาณิชย์ 3 หลังติดกัน ตอนแรกถูกใช้เป็นโรงพิมพ์ก่อน แล้วก็เปลี่ยนเป็นโรงงานเย็บผ้า จากนั้นก็หยุดไป”

เรียกได้ว่าเป็นโรงงานโดยพื้นฐานนั่นแหละ

จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก

แรกเริ่มพวกเขายังไม่มีไอเดียว่าอยากหาอาคารมาปรับปรุง คิดเพียงแต่จะสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ ไม่อย่างนั้นก็เป็นอยู่เป็นคอนโดมิเนียมดังเดิม แต่เมื่อมาที่นี่ก็เปลี่ยนความคิด

“เรารู้สึกเลยว่าบ้านหลังนี้เป็นของเรา เหมือนบ้านถามเราว่าเอาไหม” ปุยหัวเราะลั่น บางสิ่งบางอย่างก็อยู่นอกเหนือการวางแผน และการนอกแผนนั้นก็อาจนำมาซึ่งอะไรดี ๆ ในชีวิต

ด้วยความที่ปุยเป็นเพื่อนกับพลอย จึงลองถามความเห็นจากเพื่อนนักออกแบบดูว่า ฝันที่จะพลิกโฉมที่นี่เป็นบ้านของเธอกับเซ็บนั้นจะเป็นไปได้มากแค่ไหน

“ตอนแรกที่ปุยพามา เราก็เชียร์เลยว่าให้ซื้อตึกนี้ เราคิดว่าถ้าการใช้งานเป็นบ้านก็เหมาะสม เพราะอยู่ท้ายซอยแล้วก็มีความเป็นส่วนตัวระดับหนึ่ง แต่ถ้าลูกค้าพามาดูตึกนี้ แล้วจะทำเป็นอาคารพาณิชย์คงไม่เหมาะ มันค่อนข้างเข้าถึงยาก ซอยเล็ก” พลอยกล่าว เมื่อเพื่อนเชียร์ เจ้าของโปรเจกต์อย่างปุยก็ไม่เบรกอีกต่อไป “แล้วพอตึกเป็นโรงงานมาก่อน สเปซก็ค่อนข้างจะสูง พอเอามาทำบ้านพื้นที่มันก็เลยเหลือเยอะแยะ เราทำอะไรได้ค่อนข้างเยอะ”

จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก

“เราขึ้นไปบนดาดฟ้าแล้วมองไปรอบ ๆ วิวเป็นพาโนรามา ลมก็โฟลว์ดี จุดนั้นเราคิดเลยว่าถ้าทำก็จะเก็บโครงสร้างทั้งหมดไว้ เพราะมันดีพออยู่แล้ว แค่กำแพงของการใช้งานเดิมมันทึบมาก ลมก็เลยไม่ผ่าน ส่วนระยะห่างระหว่างเพื่อนบ้านที่นี่ก็ไม่ติดจนเกินไป มีความเป็นส่วนตัวดี” วิทย์ ผู้เป็นพาร์ตเนอร์กับพลอยพูดขึ้นมาบ้าง

คุณสองคนได้คิดถึงภาพบ้านที่ต้องการไว้ในหัวมั้ย – เราถามคู่รัก

“ไม่เชิงนะ แต่เรารู้จักบุคลิกของตัวเอง ผมเป็นคนที่ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟหน่อย ส่วนปุยเขามีสีสันกว่า ผมเลยคิดว่าบ้านจะต้องเป็นส่วนผสมของเรา ประนีประนอมซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้มีภาพว่ามันจะต้องหน้าตาแบบนั้นแบบนี้” เซ็บตอบ

“เอาจริง ๆ มันไม่ได้มีบ้านที่คิดไว้หรอก แต่เราชอบดูหนังสือบ้าน ตั้งแต่เริ่มดูบ้าน มีบ้าน 10 หลัง อยากอยู่ทั้ง 10 หลังเลย แต่เราไม่รู้ว่าบ้านไหนคือบ้านของเรา” ปุยเสริม “แต่พอมาเจอตรงนี้ เราคิดว่าเราเห็นตัวเองมากกว่า ว่าพื้นที่นี้ ฉันทำอะไรได้บ้าง แล้วก็คิดว่าจริง ๆ เราชอบการใช้งานคล้าย ๆ คอนโดเดิมของเรา แต่ให้มันใหญ่ขึ้น แล้วก็มีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น”

แล้วการเดินทางครั้งใหม่ในชีวิตของทั้งสองก็เริ่มขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น แม้จะพวกเขาจะต้องผ่านการเถียงกับสถาปนิกสิบตลบ เถียงกันเองอีกสิบตลบ แล้วกลับบ้านไปอาเจียนด้วยความเครียด ก็ยังน่าตื่นเต้นอยู่ดี (ใช่ไหมนะ)

จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก

 ทำยังไงกับโรงงานดีนะ

จากที่เคยได้ยินคนรอบตัวที่อยู่บ้านจัดสรรบ่นว่า อยู่ไม่กี่ปีบ้านก็เริ่มทรุด ตอนแรกปุยกับเซ็บจึงมีความกังวลเรื่องการรับน้ำหนักของอาคาร 50 กว่าปีหลังนี้ แต่คุณป้าข้างบ้านที่อยู่มานานก็พูดให้เบาใจว่า ที่นี่เคยเป็นถึงโรงพิมพ์ที่คนโยนกระดาษกันทุกวี่วัน ไม่มีทางที่จะไม่แข็งแรง รวมถึงหลายคนก็บอกมาว่าในสมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องคำนวณ วิศวกรจะใส่เหล็กมาให้เหลือเฟืออยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นดังคาด หลังจากที่เช็กรอบบ้าน โรงงาน 50 กว่าปีแห่งนี้ก็ไม่มีทรุดเลยจริง ๆ

สำหรับการรีโนเวต สิ่งที่สองนักออกแบบทำเป็นอย่างแรก ก็คือเก็บเสาและคานเดิมไว้

“ระบบของ Grid เสาและคานเก่า มันคือการสร้างที่โคตรจะเรียบง่ายในเชิงโครงสร้าง” พลอยบอกว่าที่นี่เป็นโรงงานที่ตัวตึกถูกสร้างให้แข็งแรงมากที่สุด ในงบประมาณถูกที่สุด

หากก่อผนังตาม Grid เสาและคานเดิม ผลลัพธ์ออกมาก็คงบล็อกลมเช่นเคย ทั้งยังดูเป็นโรงงานที่ ไม่ตอบโจทย์ฟังก์ชันของบ้านด้วย พวกเขาจึงตัดสินใจว่าจะวางผังแบบเลื่อนผนังให้หนีจาก Grid เสา เกิดเป็นพื้นที่และทางเดินใหม่ ๆ ที่เหมาะกับเจ้าของบ้าน

ด้วยความที่เป็นคนซีกโลกตะวันตก เซ็บอยากอยู่แบบไม่มีแอร์ ดังนั้น บ้านนี้จึงออกมากึ่ง ๆ ให้สมกับเป็นบ้านคู่รักต่างสัญชาติ คือเป็น Semi-outdoor มีโซนติดแอร์ และมีโซน Open-air โอบล้อมเป็นตัว L

จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก
จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก

ห้องทานข้าวฝ้า Double Height ที่เรานั่งคุยกันอยู่นี่ก็เรียกว่าเป็นโซน Open-air มี Ventilation ดี มีหน้าต่างล้อมรอบ หากฝนตกเมื่อไหร่ จึงค่อยปิดหน้าต่าง ปิดม่าน แล้วเปิดแอร์

“จริง ๆ แล้วทำให้ตึกแถวอากาศถ่ายเทยากมาก เพราะว่าส่วนใหญ่อาคารจะอยู่ติดกัน แต่ข้อดีของตึกแถวหลังนี้คือ ข้างหลังมีบริเวณโล่ง ลมก็เลยเข้าออกได้” วิทย์กล่าว

จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก

ในการเก็บเสาและคานเดิมไว้ นักออกแบบยังเน้นให้คนมองเห็นได้ชัดดัวย

“หน้าต่างที่เอียงอยู่ เอียงเพื่อหลบคานเดิม” วิทย์อธิบายพร้อมชี้ออกไปที่หน้าต่าง “ถ้าดูหน้าบ้านดี ๆ จะมีคานกับเสาโผล่ไปข้างนอก อันนั้นไม่ใช่การตกแต่งนะ เหมือนเราเล่าเรื่องบ้านโดยที่ไม่ต้องพูด โดยผ่านสัจจะของโครงสร้าง

“โครงสร้างบอกว่า เนี่ย ฉันเป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว และฉันจะเป็นอย่างนี้ต่อไป ต่อให้วันนี้มันเปลี่ยนไปเป็นการใช้งานอีกอย่างหนึ่ง แล้วโครงสร้างนี้ยังถูกเก็บไว้อยู่ มันก็ยังอยู่ได้นะ เป็นเหมือนหลักฐานบางอย่าง”

จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก

คานที่อยู่ในบ้าน จะเห็นได้ว่านักออกแบบปล่อยทิ้งไว้แบบไม่ฉาบผิวใหม่ ดูเก่าอย่างไรก็อย่างนั้น วิทย์เรียกว่าเป็น ‘สัจจะวัสดุ’ ซึ่งเป็นเรื่องของความงามในรูปแบบหนึ่ง ตอนแรกเจ้าของบ้านอย่างปุยก็ลังเลที่จะทำแบบนี้เหมือนกัน

“เข้าใจสิ่งที่เขาจะสื่อนะ แต่เรากลัวว่ามันจะมองดูเหมือนบ้านไม่เสร็จรึเปล่า” ปุยพูดยิ้ม ๆ

“เราคิดในใจว่า ถ้าแม่มาเห็นบ้าน แม่ด่าแน่เลย… แต่สรุปแม่มาเห็น แม่ชอบว่ะ” ทุกคนฮาครืนกับจังหวะตลกของเธอ “แม่บอกว่า รู้ว่าเขาตั้งใจ บ้านเสร็จขนาดนี้แล้วทิ้งอันนี้ไว้ ตั้งใจอยู่แล้ว”

“เหมือนกินสเต๊กน่ะ กึ่งสุกกึ่งดิบ Medium Rare” วิทย์ปิดท้าย “เจ้าของบ้านเขาเปิดใจกันนะ ถ้าเขาไม่เปิดใจ ไม่ได้ขนาดนี้หรอก” 

โปรเจกต์ท้าทายในการเปลี่ยนโรงงานเก่าเป็นบ้านโปร่ง ๆ อยู่สบายของคู่รักสมัยใหม่อย่างปุยและเซ็บ

Make yourselves at home

คอนเซ็ปต์หลักของบ้านที่สำคัญคือ Circulation (ทางสัญจร) ที่เชื่อมถึงกัน ตั้งแต่ทางเข้าบ้านไปยังบันได แล้วส่งไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้าน ซึ่งเมื่อบ้านโปร่ง ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าทางเชื่อมถึงกัน นี่เป็นความตั้งใจอย่างยิ่งของสถาปนิก

บันไดที่เห็นไม่ใช่ตำแหน่งเดิม วิทย์บอกว่าเขาไม่อยากให้บันไดเก่าที่กว้าง 80 เซนติเมตรของโรงงานมาบังคับสิ่งที่จะเข้าไปอยู่ใหม่

“คือถ้ารีโนเวตโรงงานเย็บผ้าเป็นร้านกาแฟแสนเก๋ ก็อาจจะคงไว้ได้ เพราะอาจจะไม่อยากใช้งบประมาณเยอะ ทำนิดหน่อยก็สวยแล้ว ถ้าเป็นบ้าน มันซับซ้อนกว่านั้น ก็เลยเอาบันไดเดิมออกดีกว่า” ส่วนชั้น 1 ที่เดิมเป็นชั้นฝ้าสูง ก็ถูกซอยออกเป็นหลาย ๆ ชั้นลอย แบ่งกันไปแต่ละโซนการใช้งาน

จริง ๆ แล้วพื้นที่การใช้งานของบ้านก็คงน้อยกว่าโรงงานเยอะเลยใช่ไหม

“ใช่ พอเราเอาความต้องการทั้งหมดของเจ้าของบ้านมาตีเป็นตารางเมตร มันน้อยกว่าที่ตัวอาคารเดิมมี ก็เลยทุบพื้นได้ ตรงโจทย์ที่เราอยากให้บ้านโปร่ง

“มันค่อนข้างต่างจากโปรเจกต์ทั่วไปที่เคยทำ ถ้าเป็นบ้านในเมือง คอนโด หรืออาคารพาณิชย์ทั่วไป มีแต่คนอยากใช้ประโยชน์จากพื้นที่สูงสุด (Maximize Space) เพราะที่ดินสำหรับปลูกบ้านค่อนข้างแพง แต่อันนี้เหมือนโจทย์มันกลับกัน เป็น Minimize Space”

โปรเจกต์ท้าทายในการเปลี่ยนโรงงานเก่าเป็นบ้านโปร่ง ๆ อยู่สบายของคู่รักสมัยใหม่อย่างปุยและเซ็บ
โปรเจกต์ท้าทายในการเปลี่ยนโรงงานเก่าเป็นบ้านโปร่ง ๆ อยู่สบายของคู่รักสมัยใหม่อย่างปุยและเซ็บ

อีกอย่างที่เราสนใจก็คือความเป็น ‘Compact Living’ ของที่นี่ อย่างที่เราเล่าไปแต่แรกว่า เจ้าของบ้านทั้งสองคุ้นชินกับการอยู่คอนโดมิเนียม เมื่อมีบ้านเป็นของตัวเอง สถาปนิกจึงตีโจทย์นั้นเป็นพื้นที่ของบ้าน ให้ทุกอย่างอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือเดินหากันง่าย อย่างที่เห็นในพื้นที่ชั้นบนสุดของบ้าน ซึ่งวางแปลนให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้าน

นอกจากห้องทานข้าวที่เรานั่งคุยกันอยู่แล้ว ก็มีห้องนอนใหญ่ ห้องนอนลูกในอนาคต ห้องนอนแขก ห้องทำงานของปุยกับเซ็บแยกกันตามที่อยากได้ตอนแรก ห้องสมุด แล้วก็ห้องพิเศษที่เรียกว่า Sunday Room

เจ้า Sunday Room ก็คือคอนโดย่อม ๆ ในนั้นประกอบไปด้วยโซฟา โทรทัศน์ และเคาน์เตอร์ ครัวเล็ก ๆ สำหรับเตรียมอาหาร สำหรับวันอาทิตย์อันแสนขี้เกียจ ทั้งคู่อยู่ในห้องนี้ได้ทั้งวันโดยไม่ต้องลุกไปไหนเลย เราฟังแล้วก็แอบอิจฉาในใจ ถ้ามี Sunday Room เป็นของตัวเองบ้าง จะเข้าไปอยู่จนเป็น Everyday Room เลย

โปรเจกต์ท้าทายในการเปลี่ยนโรงงานเก่าเป็นบ้านโปร่ง ๆ อยู่สบายของคู่รักสมัยใหม่อย่างปุยและเซ็บ

วิทย์บอกว่าสิ่งที่ยากในการปรับปรุงอาคาร คือการทำให้ความไม่เรียบร้อยดูเรียบร้อยขึ้นมา หากปรับปรุงอาคารเป็นบาร์ ก็ยังใช้การออกแบบไฟช่วยได้ แต่หากเป็นบ้านแล้วก็จะสว่าง เห็นชัดเจนทุกอย่าง

“เราต้องเก็บให้ถูก เอาออกให้ถูกด้วยนะ” พลอยเสริมถึงความยาก “เรารู้อยู่แล้วว่าห้องแถว สิ่งที่ไม่ดีคือการไหลเวียนและถ่ายเทของอากาศ ซึ่งสิ่งที่เราจะเก็บก็คือไม่ใช่สิ่งนั้น เราจะทำยังไงให้สิ่งที่ดียังอยู่ แต่ว่าสิ่งที่ไม่ควรจะมีหายไป

“การรีโนเวตต้องทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น”

จากโรงงานยุคเก่ากว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ปัจจุบันกลายเป็นบ้านของคู่รักที่อยู่กันด้วยแนวคิดใหม่ นับว่าที่แห่งนี้เปลี่ยนแปลงมาไกลจากจุดเดิมมาก บ้านท้ายซอยถนนจันทน์หลังนี้ดูผิดหูผิดตาไปเยอะ

ไม่ใช่แค่ปุยและเซ็บ คุณป้าข้างบ้านก็คงสดชื่นกับบรรยากาศนี้เหมือนกัน

จากโรงพิมพ์ โรงงานเย็บผ้า สู่บ้านคู่รักไทย-ฝรั่งเศส ที่มีเสาคานเก่าเป็นที่ระลึก

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล

ช่างภาพที่มีร้านล้างฟิล์มเป็นของตัวเอง แต่นานๆจะถ่ายฟิล์มที เพราะช่วงนี้ฟิล์มมันแพง