ชายฝั่งทะเลติดมหามหาสมุทรอินเดียยาวกว่า 2,500 กิโลเมตร เลียบแผ่นดินของประเทศโมซัมบิกตลอดแนวทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออก อาจบอกเป็นนัยถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรจากท้องทะเล ที่เราคงหวังว่าประชาชนของเขาคงจะอิ่มหนำและสมบูรณ์พูนสุข เต็มท้องไปด้วยอาหารทะเลอันมหาศาล
ไม่ว่าจะกุ้งมังกรตัวเขื่องที่อาศัยอยู่ในกองหินริมชายฝั่ง ปูทะเลดำมะเมื่อมในโคลนที่ปากแม่น้ำจรดทะเล หรือกุ้งแม่น้ำตัวยักษ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำกร่อยที่น้ำจืดจากแม่น้ำสายใหญ่ผสมกับน้ำทะเลก่อนที่จะไหลออก
อีกทั้งกุ้งหอยปูปลาสารพัดสารพัน ที่เราอาจจะพอจินตนาการได้ในพื้นที่ริมฝั่งทะเลแบบนี้
ในช่วงแรกที่เราไปถึงที่กรุงมาปูโต เมืองหลวงของประเทศโมซัมบิกที่สถานทูตไทยเพิ่งเปิดใหม่เป็นครั้งแรก พี่ๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศมักจะสอบถามข่าวคราวถึงชีวิตความเป็นอยู่และอาหารการกิน
ใครๆ ก็ย่อมคิดว่าการไปอยู่ในแอฟริกา โดยเฉพาะในประเทศโมซัมบิก ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอับดับความจนที่สุดใน 5 อันดับท้ายของโลกคงจะไม่สู้ดีแน่
ผมไม่ตอบอะไร แม้จะรู้สึกขอบคุณและซึ้งใจพี่ๆ ที่กรุงเทพฯ ถึงความเป็นห่วงเป็นใยที่มีให้ผมและครอบครัว
จนกระทั่งพวกพี่ๆ ได้เดินทางมาราชการที่กรุงมาปูโต
“อ๋อ เอ็งกินมาม่า…กับล็อบสเตอร์ นี่เอง”
แล้วความลับทั้งหมดก็ถูกเปิดเผยบนโต๊ะอาหารที่เพียบพร้อมไปด้วยอาหารทะเลนานาชนิดในมื้อเย็นวันนั้น
ทรัพยากรจากท้องทะเลอันอุดม
แวบแรกที่เราเห็นตลาดสดที่ขายเฉพาะอาหารทะเลก็พาให้เราตื่นใจแล้ว
รัฐบาลญี่ปุ่นได้มาช่วยสร้างตลาดขายของทะเลให้ใหม่ที่เขตชานเมือง พร้อมห้องแช่เย็นและลานขายของทันสมัย ในตลาดเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งจากท้องทะเล กุ้งมังกรหรือล็อบสเตอร์หินตัวใหญ่สุดๆ วางขายกันเกลื่อน ไม่นับปูทะเลกระบุงใหญ่ที่ยังโผล่ตามาเมียงมองวิบๆ กุ้งหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งกุ้งขาว กุ้งลายเสือ หรือกุ้งตะกาด ที่บ้านเราเรียกกันที่เพิ่งจับสดๆ แล้วก็ยังมีกุ้งก้ามกรามหรือกุ้งแม่น้ำที่มีมาขายเป็นระยะๆ ด้วย
เมื่อเราเดินเข้าไปในตลาด หน้าตาจีนๆ แบบนี้เป็นที่ต้องตาของพ่อค้าแม่ค้านัก คงเพราะชื่อเสียงของคนเอเชียที่ไม่เป็นรองใครเรื่องการบริโภค พวกเขามักเชื้อเชิญด้วยความสดใหม่ของอาหารทะเลที่เขาวางขาย หอยตลับแช่อยู่ในอ่างน้ำพลาสติกพากันพ่นน้ำกระเด็นออกมาต่อหน้าต่อตา ปูทะเลสดๆ ถูกจับกระดองหงายขึ้นให้เห็นจับปิ้งว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย พร้อมกับขาทั้งแปดที่ยังขยับไปขยับมา ทว่าก้ามใหญ่ของมันถูกมัดไว้แน่นด้วยเชือกกล้วย มิใช่เชือกฟางพลาสติกสีแดงแบบบ้านเรา
อีกทางหนึ่ง เสียงพอค้าโหวกเหวกตะโกนเสียงเพียงเพื่อจะชี้ชวนให้เราหันไปดูปลาเก๋า ปลากะพง ปลานกแก้ว ปลาจาระเม็ด และอีกสารพัดปลาที่เขาวางเรียงรายอยู่บนแผง เมื่อเราชายตาหันไปดู ก็เห็นมือของเขาแหวกเหงือกสีแดงสดและชี้มือไปที่ดวงตาใสๆ ของปลาได้แล้ว อีกทางหนึ่ง เสียงแม่ค้าเจื้อยแจ้วเรียกให้เราเข้าไปดูกุ้งที่เขาวางขายอยู่ บางครั้งเราก็เห็นกุ้งยังสดๆ ขยับกลุ่มขาไปด้านหน้าหลังที่แม่ค้าอยากให้เราเห็นว่ามันยังมีชีวิตอยู่
ในกรุงมาปูโต มีหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ อยู่สองสามแห่ง เช้าตรู่ ชาวบ้านออกเรือไม้ขนาดเล็กขนาดไม่กี่ฟุตออกไปจับปลาตามแนวชายฝั่ง มีเพียงเบ็ด ลอบดักปู และอวนจับกุ้ง ปลาและกุ้งไม่มีตู้น้ำแข็ง ตกเย็นกลับมา ก่อนที่แม่ค้าคนกลางจะมาซื้อเหมาไปขายในตลาดในเมือง เรือประมงขนาดใหญ่เป็นของบริษัทข้ามชาติ ล่าสุดบริษัทในจีนก็เพิ่งมาร่วมทุนกับรัฐบาลทำการประมงจับปลาในเขตน้ำลึกที่ประมาณกันว่ามีทรัพยากรมหาศาล
เราได้กินอาหารทะเล แต่คนของเขาได้กินแต่ข้าวโพด
ผมอายที่จะบอกว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของผมและครอบครัวตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ประเทศโมซัมบิกดีขนาดไหน (แม้จะต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายแพงลิบลิ่ว จนไม่สามารถมีเงินเก็บเงินออมก็ตาม)
อาหารทะเลที่นำมาปรุงแบบไทย มีทั้งปูนึ่ง ปูดอง ปลาทอด ผัดรวมมิตรทะเล และอีกสารพัดเมนู
ในขณะที่ทรัพยากรจากท้องทะเลอันอุดม แต่คนโมซัมบิกทั่วไป ซึ่งหมายถึงคนส่วนใหญ่ของประชากรเกือบ 30 ล้านคน ก็ไม่อาจได้กินอาหารแบบที่พวกเราได้กินแบบนี้
อาหารหลักๆ ของพวกเขาที่อาจจะได้กินแบบอดมื้อกินมื้อ เห็นจะไม่พ้นข้าวโพด
พวกเขากินกันแต่ข้าวโพดกันจริงๆ ข้าวโพดกินกับถั่วลิสงเพื่อให้ได้โปรตีน และผักต้มผสมผงชูรสซองๆ เพื่อให้ได้รสชาติ
คนแอฟริกันส่วนใหญ่กินข้าวโพดประทังชีวิต
ข้าวโพดแต่ดั้งเดิมมาจากอเมริกาใต้ แต่เดินทางมาถึงแอฟริกาพร้อมกับเจ้าอาณานิคมโปรตุเกสที่ไปครอบครองดินแดนแถบนั้นเป็นเจ้าแรก ข้าวโพดมาแทนที่ข้าวฟ่าง ซึ่งคนพื้นเมืองส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวกินมาแต่เดิม ข้าวโพดครองใจคนแอฟริกันแทบทั้งทวีป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้าวโพดปลูกง่าย ทนแดด ทนฝน และทนแล้ง สามารถขึ้นโดยพึ่งเพียงฟ้าฝนและไม่ต้องการเทคโนโลยีหรือความรู้ขั้นสูง แถมยังให้ผลผลิตในจำนวนมากเมื่อเทียบกับอาหารหลัก หรือที่เรียกกันว่า Staple Food ชนิดอื่นๆ
ชาวบ้านใช้จอบด้ามเก่าเซาะตะกุยดินแห้งให้ร่วนซุย แล้วฝังเมล็ดข้าวโพดไว้ในดิน ฝนที่ตกมาโปรยปรายก็ปลุกให้เมล็ดข้าวโพดที่หลับใหลลุกขึ้นมาผลิใบอ่อน ฟ้าฝนตามฤดูกาลประคองต้นข้าวโพดจนเติบโตและออกฝักในอีกเพียงแค่ 3 – 4 เดือนต่อมา ชาวบ้านทยอยเก็บเกี่ยวมาใช้เพียงเท่าที่ต้องการในครัวเรือน
อาหารหลักที่เป็นแป้งข้าวโพดนี้อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต แม้มีวิตามินและโปรตีนเล็กน้อย แต่มีคุณสมบัติให้พลังงานและอิ่มท้องเมื่อเทียบกับธัญพืชชนิดอื่น อีกทั้งมีราคาถูกและปลูกเองได้ง่าย เพราะข้าวโพดเป็นพืชที่ทนทานต่ออากาศและโรค
หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวโพดสีขาว ไม่ใช่ข้าวโพดหวานสีเหลืองแล้ว ข้าวโพดก็จะถูกนำมาผึ่งลมพอให้แห้ง คนในครอบครัวช่วยกันแกะเมล็ดข้าวโพดออกจากฝัก และนำมาบดตำในครกไม้หรือครกดินเผาทรงสูง โดยใช้สากที่ทำจากท่อนไม้ท่อนยาวให้ละเอียดเป็นแป้งผง แล้วจึงตั้งไฟต้มน้ำในหม้อใหญ่ แล้วนำแป้งที่โม่บดได้กวนในน้ำร้อนจนเป็นก้อนแป้งที่จับตัวกัน
ในขณะที่ข้าว ซึ่งเป็นธัญพืชชนิดเดียวที่ไม่เปลี่ยนรูปร่างเมื่อมนุษย์นำมารับประทาน เม็ดข้าวยาวเรียวนำมาหุงกับน้ำ แต่เมล็ดธัญพืชชนิดๆ อื่นที่ผู้คนในที่อื่นกินเป็นอาหารหลัก ไม่ว่าจะเป็นข้าวฟ่าง ข้าวสาลี หรือไม่เว้นแม่แต่ข้าวโพดที่คนแอฟริกากินนั้นจะเปลี่ยนรูปเป็นแป้งละเอียดก่อนนำมากิน ไม่นับอาหารหลักจำพวกหัวพืช เช่น หัวมัน มันสำปะหลัง หรือกล้วยที่มักถูกนำมาบดบี้ให้ละเอียดก่อนนำมากิน
คนแอฟริกาเรียกชื่ออาหารหลักที่เป็นแป้งข้าวโพดไปต่างกันตามแต่ละท้องที่ เคนยาและแทนซาเนียเรียกอูกาลี (Ugali) โมซัมบิกเรียกชีมา (Chima) แอฟริกาใต้เรียกปั๊บ (Pap) หรือประเทศในแอฟริกาตะวันตกอย่างเช่นกานา เบนิน โตโก ไลบีเรีย เรียกว่าโฟโฟ หรือไม่ก็ออกเสียงเป็นฟูฟู (Foofoo, Foufou, Fufu)
ภาพหญิงแอฟริกาที่กำลังสาละวนอยู่กับการเตรียมโม่แป้งข้าวโพด อาจเป็นภาพที่หลายคนจดจำหรือชวนให้นึกถึงแอฟริกา การทำอาหารถือเป็นหน้าที่ของพวกเธอในครอบครัว ตอนเช้าตรู่ ผู้ชายออกไปทำไร่ทำสวนหรือออกไปทำงาน ผู้หญิงจะตื่นมาเตรียมแป้งข้าวโพดผสมกวนกับน้ำเป็นก้อนนี้แต่เช้า และมักกินคู่กับถั่วต้มกับผัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผักเขียวใบแข็งจำพวกคะน้าสับเป็นชิ้นเล็กยาวละเอียด พร้อมกับหัวหอม มะเขือเทศสับ และผักอื่นๆ ที่พอจะหาได้
แป้งข้าวโพดต้มแล้วกวนจนเหนียวเป็นก้อน กินเคียงกับถั่วและผักต้ม วันละ 2 มื้อเช้ากับเย็น ถือเป็นอาหารของคนแอฟริกา ยุคสมัยใหม่ทำให้พวกเขาได้รู้จักผงชูรสที่ขายเป็นซองๆ ช่วยสร้างกลิ่นของน้ำต้มกระดูก ซึ่งถือเป็นเครื่องปรุงสำคัญที่แทบจะขาดไม่ได้ หากไม่ได้ยากจนค้นแค้นถึงสุดขั้น
แป้งข้าวโพดกวนกับน้ำนี่สิ ผมเคยลองกินแป้งข้าวโพดที่ชาวบ้านกินกันนี้อยู่บ่อยๆ แต่ไม่เคยทำใจให้ชอบได้สักที เพราะนอกจากจืดชืดไม่มีรสชาติใดๆ ผิดกับข้าวที่ยิ่งเคี้ยวยิ่งหวานแล้ว ยังมีกลิ่นคล้ายแป้งเปียกและกินแล้วสากลิ้นมาก
จนทำให้คิดว่า บางทีคนเราก็น่าเห็นใจเหมือนกัน ที่เราอาจไม่สามารถเลือกกินอะไรได้ตามที่ใจต้องการ
อาหารทะเลเป็นของหรูหรา เนื้อสัตว์ถือเป็นของวิเศษ
สำหรับคนท้องถิ่นในโมซัมบิกและในแอฟริกาส่วนใหญ่ เนื้อสัตว์ถือเป็นอาหารเฉพาะในวันสำคัญหรือเทศกาลพิเศษเท่านั้น
ชาวบ้านในชนบทแทบทุกบ้านมักเลี้ยงไก่หรือเป็ด โดยปล่อยไว้ให้หากินเอง หรือไม่ก็อาจมีกระต่ายที่เลี้ยงไว้ในเล้าที่ทำจากไม้สานเป็นกรงรูปร่างกลมๆ ยกให้สูงจากพื้นราว 1 – 2 เมตร เพื่อไม่ให้หนีออก บ้านในต่างจังหวัดที่พอลืมตาอ้าปากได้หน่อยก็มีหมูหรือวัวเลี้ยงไว้ เมื่อมีโอกาสดีๆ ก็จะเชือดหมูเชือดวัวมาเฉลิมฉลองกัน ไม่ต่างจากชาวบ้านในต่างจังหวัดของเมืองไทย
ส่วนผู้คนในเมืองก็ซื้อเนื้อไก่ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ราคาถูกที่สุด เพราะผลิตได้ในลักษณะอุตสาหกรรม เนื้อหมูและเนื้อวัวถือเป็นเนื้อสัตว์ราคาแพง
อาหารทะเลในโมซัมบิกอาจมีไว้เพียงส่งออก และมีเพียงไว้สำหรับให้คนมีสตางค์ในเมืองกิน อาจมีเพียงปลาตัวเล็กหรือกุ้งใกล้หมดสภาพที่แม่ค้าอาจเลหลังนำมาขายให้คนรายได้น้อยในเมืองกินบ้าง
การที่จะคงสภาพความสดใหม่ของอาหารทะเลเป็นเรื่องที่มีค่าโสหุ้ยมหาศาล ไหนจะค่าเรือจับปลาที่มีอุปกรณ์ครบครัน ไหนจะห้องเย็นหรือน้ำแข็งที่ต้องใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยี ไหนจะถนนหนทางที่จะนำอาหารทะเลไปสู่ผู้บริโภคได้เร็วที่สุด ไหนจะตลาดที่มีตู้แช่สำหรับวางขาย
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเหนือความเป็นจริงในประเทศส่วนใหญ่ที่ยากจนในทวีปแอฟริกา
เราอาจเห็นกุ้งแช่แข็งสดๆ ตัวใหญ่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรป เราอาจเคยกินกุ้งซาชิมิที่มาจากท้องทะเลในมหาสมุทรอินเดียจากโมซัมบิก เราอาจเคยกินซุบหอยแบบญี่ปุ่นที่หอยตลับอิมพอร์ตเข้ามาจากโมซัมบิก
แต่เราคงไม่ได้เห็นชาวบ้านในโมซัมบิกมานั่งแกะกุ้ง แทะกุ้ง ต้มหอย เลาะก้างปลากินกันหมึบหมับ
เหมือนกับพวกเรา