The Cloud x สภาพัฒน์
เมื่อเราพบเห็นปัญหาในสังคม หากเราไม่อยากเพิกเฉย มันก็ทำได้ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการให้กำลังใจ ให้เงินบริจาค สละเวลาว่างไปช่วยเป็นบางครั้ง ไปจนถึงการพาตัวเองลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาที่ต้นตอกับคนในพื้นที่ น่าดีใจที่ประเทศไทยมีธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนมากที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากการอยากแก้ไขปัญหาและเลี้ยงตัวเองให้รอดด้วยโมเดลทางธุรกิจ จะรอดไหม ใครจะรู้
บทสนทนานี้อาจเป็นเหมือนกระจกสะท้อนเรื่องราวคล้ายคลึงกับคนทำธุรกิจเพื่อสังคมที่เริ่มมาจากการเป็นคนตัวเล็ก ไร้เดียงสา ฟุ้งฝัน เริ่มจากศูนย์ ทำไปแก้ไป บางอย่างเลือกทำแต่ไม่ได้เงิน บางอย่างเลือกไม่ทำเพราะขัดหลักการ ไม่เคยคิดเผื่อขาดทุน ถามตัวเองว่าไปต่อดีไหม
เช่นเดียวกัน คำเหล่านี้วนเวียนอยู่กับ เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ผู้ก่อตั้งแบรนด์สิริไท มาจนเข้าปีที่ 4 ของการทำธุรกิจเพื่อสังคม แต่การเป็นนักแก้ปัญหาสู้ไม่ถอย ทำให้ The Cloud ได้มานั่งถอดบทเรียนกับเธออีกครั้ง ท่ามกลางปัญหาโลกร้อนที่กำลังสั่นคลอนภาคการเกษตรที่เธอทำอยู่ แต่คุณค่าในใจยังหนักแน่นและเป็นหลักให้ยึดเดินหน้าต่อ
เธอออกตัวก่อนเลยว่า “การเป็นนักแสดงมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ทำให้คนหันมาสนใจเหมือนตีฆ้องร้องป่าวได้ง่าย แต่การทำให้คนเชื่อว่ามีความสามารถหรือจริงใจแค่ไหน มันก็ต้องพิสูจน์”
เล่าจุดเริ่มต้นบนเส้นทางใหม่
เริ่มจากการเห็นปัญหาภัยแล้งตอน พ.ศ. 2559 เราได้ลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานต่าง ๆ พอได้เห็นด้วยตัวเองก็เกิดตั้งคำถามขึ้นมาว่า ในฐานะคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราจะแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้งนี้ได้ยังไงบ้าง เพราะภาพที่เห็นมีผลต่อใจเชอรี่ตอนนั้นมากเลย แม่น้ำทั้งสายที่เราเคยเห็นกลายเป็นผืนดินแห้งผาก โชคดีที่ตอนนั้นมีคนชวนให้ไปเรียนรู้เรื่องภูเขาหัวโล้นที่จังหวัดน่าน แล้วเราก็อยากหาความเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องยังไงกับภัยแล้ง ถึงเราจะเคยรู้ว่าการตัดไม้ทำลายป่าทำให้ฝนไม่ตก น้ำท่วม แต่เราก็อยากไปเห็นด้วยตา เรียนรู้ด้วยตัวเอง
พอลงพื้นที่ ได้ไปเจอปราชญ์ชาวบ้านที่เขาใช้ภูมิปัญญาในการแก้ปัญหา ก็เลยไฟจุดติด กลับมาตั้งโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของตัวเองขึ้นมากับรุ่นพี่ ชื่อ ‘Little Forest ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ’ เป็นโครงการที่ทำให้พื้นที่ป่ากลับคืนมาแบบยั่งยืน ปิดจุดอ่อนประเด็นการปลูกแล้วใครดูแลต่อ เราก็ทำโครงการต่อเนื่อง 3 ปี มีการปลูกต้นไม้ ดูอัตราการรอดตาย ปลูกซ่อมทดแทน ทำแท็กต้นไม้ เหมือนได้ทดลองทำโครงการที่เราดูแลเองจริง ๆ ทั้งการประสานงานกับพันธมิตรและเรียนรู้การทำงานกับชุมชน เมื่อเราได้ทำงานกับคนในชุมชนก็ยิ่งอยากให้เขามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เช่น เขาทำสวนส้มแล้วมีปัญหาอะไรก็ดึงเอานักวิชาการเข้ามาช่วย ต่อยอดไปถึงการสร้างฝายที่ต้องระดมทุนทั้งจากการบริจาคหรือทำของขึ้นมาขาย
ทำให้เราเห็นว่าการจะให้โครงการ Non-profit ไปต่อยั่งยืนจริง ๆ มันขึ้นกับคนข้างนอกเยอะมากเลย ไม่ว่าจะหาสตางค์หรือหาคนทำงาน ทุกคนเป็นอาสาสมัครหมด ช่วงแรกอาจจะมีคนทำงานเยอะ พอโครงการกินระยะเวลาไปนาน คนทำงานก็เหลือน้อยลง เราเลยมองต่อว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ให้ยั่งยืนก็ต้องเป็นธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้
หยิบเรื่องอะไรมาต่อยอดทำเป็นธุรกิจ
ด้วยความใสซื่อไร้เดียงสาของเราในการคิดอะไรไม่ได้ซับซ้อน เราอยากเอา 2 เรื่องมารวมกันให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่เลี้ยงตัวเองได้ คือต้องการช่วยเหลือชาวนาที่ตอนนั้นขายผลผลิตไม่ได้ช่วงโควิด และต้องการแก้ปัญหาป่าไม้ที่ลดลงจากการทำการเกษตร เราอยากสนับสนุนการทำการเกษตรฟื้นฟู แต่พอเข้ามาเป็นผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ ก็มีความยากไปอีกแบบ
ตอนแรกคิดใหญ่ว่าอยากเปลี่ยนคนที่ไม่ทำเกษตรอินทรีย์เลยให้มาทําอินทรีย์แล้วฟื้นฟูผืนป่าด้วย นั่นคือความฟุ้งฝัน พอในความเป็นจริง ด้วยความเร่งรีบจากโควิด เราจึงเลือกกลุ่มเกษตรกรที่เขาทําอยู่แล้ว เป็นการขยายตลาดแทน แล้วก็เปิดโอกาสให้ตัวเราเองได้เรียนรู้การทำการเกษตรอย่างรับผิดชอบ ซึ่งมีรายละเอียดเยอะมาก นอกจากนั้นยังต้องเรียนรู้การทำธุรกิจให้ไปได้จริง ซึ่งเชอรี่เป็นคนที่เรียนรู้จากการลงมือทำหมดทุกอย่างเลย รู้ไปทีละอย่างสองอย่าง เวลาเจออุปสรรคทำให้เราหาทางผ่านตรงนั้นไปให้ได้ ถามว่าสนุกไหม มันสนุกนะคะ แต่ก็เป็นความท้าทายพอสมควรสำหรับจิตใจของเราที่เราจะไปต่อไหม
แม้จะเป็นผู้ประกอบการตัวเล็ก แต่เสียงในฐานะนักแสดงช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ใหญ่ขึ้นได้ไหม
การทำให้คนรู้จักโครงการมันก็ส่วนหนึ่ง แต่การให้คนเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการก็อีกเรื่องหนึ่ง
คนอาจฟังผ่าน ๆ รู้ว่าเชอรี่มาทำอะไร แต่ว่าคนที่จะมาทุ่มเทไปกับเราเป็นเรื่องไม่ง่าย ความเป็นนักแสดงมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย คือทำให้คนหันมาสนใจเหมือนตีฆ้องร้องป่าวได้ง่าย แต่การทำให้คนเชื่อว่าคุณมีความสามารถอะไรหรือมีความจริงใจแค่ไหน เวลาเราเจอปัญหาเราทิ้งเลยไหม ต้องพิสูจน์จากความตั้งใจและระยะเวลาในการทำสิ่งนี้ การจะเลือกพื้นที่ในการทำงานก็เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะต้องมีความพร้อมหลายทาง ไม่ว่าจะเรื่องพันธมิตรในพื้นที่-นอกพื้นที่ คนในชุมชนที่เห็นด้วยแล้วอยากจะมาพร้อมกัน
การขายของแบบรับผิดชอบขายยากกว่าปกติยังไง
หนึ่ง เราต้องมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนว่าธุรกิจนี้เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์อะไร เราต้องการสนับสนุนชาวนาด้วยการขยายตลาด และต้องการแก้ปัญหาด้านป่าไม้ที่ลดลงจากการทำการเกษตร 2 อย่างนี้อยู่ใน Core Value ของเชอรี่
สอง เราดูไปถึงกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์ทุกขั้นตอน และความเป็นธรรมในการรับซื้อจากเกษตรกร เอาความสบายใจของเขาเป็นหลัก ซึ่งต้องบอกว่าทำให้ต้นทุนสูงกว่าการทำธุรกิจแบบทั่วไปมาก ไหนจะอยากทดลองเป็นผู้ประกอบการที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ตั้งแต่แพ็กเกจจิง ฉลาก กระดาษ วิธีการแพ็กการส่ง ปรากฏว่าทุกอย่างทำให้ต้นทุนสูงไปหมด ถ้าเป็นธุรกิจทั่วไปอาจต้องขายแพงไปกว่านี้อีกหรือกดต้นทุนให้ต่ำลง ลดเรื่องของสิ่งแวดล้อมลง เชอรี่ก็เลือกที่จะไม่ทำ เพราะว่าไม่ใช่คุณค่าหลักของเราตั้งแต่แรกที่เราอยากจะทำสิ่งนี้
อย่างขวดใส่ข้าวแทนการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยความที่เราไม่เคยเผื่ออะไรไว้เลย ราคาเท่านี้ก็พอเลี้ยงตัวเองได้ แต่พอดำเนินการมาสักพัก ราคาน้ำมันขึ้นทั่วโลกจากสงคราม มีผลต่อราคาพลาสติก ทำให้ราคาขวดขึ้นแบบสูงลิ่ว แต่เราก็ยังยึดมั่นที่จะไม่เปลี่ยน เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็น Core Value ของแบรนด์สิริไท ทำให้เรามีข้อจำกัดหลายอย่างถ้าเทียบกับธุรกิจทั่วไป
อะไรคือความหวังในใจว่าจะไปต่อ
เราคิดอยู่ตลอดว่าจะทำยังไงให้ไปต่อได้ เพราะยังอยากเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนแรกต้องบอกว่า เชอรี่ไม่ได้คิดยาวเลย แต่การเอาเงินไปซื้อข้าวเขาทีเดียวมันช่วยแค่ครั้งเดียว ถ้ามีคนอื่นมาช่วยเราซื้อต่อ ก็จะช่วยเขาได้เยอะขึ้น แล้วก็ไม่ได้คิดว่าธุรกิจนี้ต้องอยู่ไปอีก 20 – 30 ปี พอทำไปสักพักจึงเกิดความผูกพันที่อยากพาธุรกิจนี้ไปต่อ เลยเป็นที่มาของการแปรรูป เริ่มจากชาข้าวคั่ว คั่วโดยคนในชุมชนที่สกลนคร หลังจากนั้นก็ทำสบู่จากน้ำมันรำข้าวกับอีกชุมชนที่ใหญ่ขึ้นมาที่ยโสธร
ในทุกกระบวนการคิด มีการทดลอง แก้ไข เปลี่ยนมุม เช่น การเพิ่มมูลค่าน้ำมันรำข้าวเป็น Artisan Liquid Soap ปัญหาที่เจอ คือทำเอง กวนเอง ใช้เวลานานกว่า 7 – 14 วันในการผลิต พอเจอคนที่อยากได้เลยก็เสียโอกาสในการขาย ต้องมาปรับหลังบ้านว่าจะทำยังไงให้เร็วขึ้น แต่ยังอยากรักษาความเป็น Artisan อยู่ก็แก้ปัญหาแต่ละจุดไป แม้จะขยายตลาดให้ใหญ่มากแบบเอาไปวางทุกที่ไม่ได้ ก็มาคิดใหม่ว่าแปรรูปข้าวเป็นอะไรได้อีก ตอนนี้มีไอศกรีมจากข้าวส่งแบบ OEM เพื่อขายได้ในปริมาณที่มากขึ้น จึงเริ่มไปคุยกับโรงแรม ร้านอาหาร เป็นช่องทางในการปล่อยของ
ภูมิปัญญาเพิ่มมูลค่าได้จริงไหม หรือต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่ม
มันก็ได้ทั้ง 2 แบบ ยกตัวอย่างเช่น การเกษตรที่สกลนคร ด้วยความที่เป็นนาโคก นาลุ่ม นาดอน เขาทำนาตามวิธีที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี มีป่าล้อมนา เรื่องน้ำไม่เป็นปัญหา ไม่มีมีเทนในนาข้าว ซึ่งเพิ่มมูลค่าจากเกษตรธรรมดามาเป็นเกษตรอินทรีย์ และยังเพิ่มต่อไปเรื่องเกษตรฟื้นฟูที่ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น การแปรรูปง่าย ๆ เช่น การทําข้าวฮางก็เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่น อีสานสมัยก่อนแห้งแล้ง ต้องเกี่ยวข้าวเร็วขึ้นกว่าปกติ แต่ยังต้องการสารอาหารจากข้าวให้ได้เท่าเดิม เขาจะเอาข้าวเปลือกไปแช่น้ำให้งอก 24 ชั่วโมง คล้าย ๆ ถั่ว เพื่อเพิ่มสารอาหาร แล้วเอาไปนึ่งให้สุก ตากแห้ง พอจะรับประทานก็เอามาสี วิธีนี้พบว่ามีสารอาหารอย่างกาบาสูงกว่าข้าวปกติถึง 15 เท่า
หลายครั้งที่เราพยายามคิดผลิตภัณฑ์แต่ในเมืองไทยไม่มี เราต้องนำเข้าสารสกัดเข้ามา โห ราคาสูงมาก ทั้ง ๆ ที่เราส่งออกวัตถุดิบไปกิโลกรัมละ 5 – 10 บาท ซื้อสารสกัดกลับมากิโลกรัมละหลายร้อย ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าไม่มีเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีในการทำให้ได้คุณภาพสูงขนาดนั้น ตามมาด้วยปัญหาอีกข้อ คือต้องใช้องค์ความรู้ที่มาพร้อมกับเงิน พอเป็นบริษัทเล็ก ๆ ก็ส่งไปทํา R&D หรือไปขอผลการวิจัยได้ มีช่องทางให้เข้าถึงผ่านหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่สนับสนุนบริษัทเล็ก ๆ แต่ถ้าเทียบกับจำนวนความต้องการอาจจะยังไม่เพียงพอ
ถอดบทเรียนตัวเองกับการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม
เชอรี่มั่นใจมากว่าคนที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมส่วนใหญ่เริ่มจากการอยากแก้ปัญหาอะไรบางอย่างขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันดีนะ เพราะคือเป้าประสงค์ที่ชัดเจนมากกว่าแค่ทำเงิน พอคิดอะไรที่ใหญ่ไปกว่าตัวเอง ทำให้เราไม่เคยหยุดทำ แต่ต้องคิดเลยว่าความยั่งยืนจะเกิดไม่ได้ถ้ายังขาดเรื่องเงินที่จะหล่อเลี้ยง พอเราเข้ามาทำธุรกิจเพื่อสังคม จะได้ยินเยอะมากเลยว่าบริษัทเหล่านี้เปิดมาได้ปีสองปีก็ทยอยปิดตัวลง เพราะไปต่อไม่ได้ ยิ่งถ้าคนทำงานประจำไปด้วยแล้วมาทำสิ่งนี้ พอต้องแบ่งเวลาแล้วเลี้ยงบริษัทหรือเลี้ยงดูตัวเองไม่ได้ ก็อาจจะต้องเลิกไป อยากให้คิดเรื่องความยั่งยืนทางด้านการเงิน
ตอนนี้เชอรี่อาจไม่ใช่คนที่ดีที่สุดที่จะมาบอกได้ เชอรี่ก็กำลังเป็นคนที่ทดลองทำอยู่ ทดลองด้วยตัวเอง จะทำให้รู้ในทุกรายละเอียดว่าสิ่งที่ขาดหายไปในภาพนี้คืออะไร แล้วเราต้องเติมอะไรเข้าไปเพื่อให้ไปต่อได้
ผู้ผลิตที่รับผิดชอบกับผู้บริโภคที่รับผิดชอบ อะไรควรมาก่อนเพื่อให้กลไกตลาดเกิดขึ้น
ต้องไปพร้อมกัน มันไก่กับไข่มากเลย ไม่งั้นจะเกี่ยงกันไปว่าควรจะเริ่มต้นที่ใคร ถ้ามี Demand ก็มีจะ Supply ถ้าเกิดว่ามีทางเลือกให้กับผู้บริโภคในราคาที่ไม่ต้องแพงกว่า แน่นอนว่าไม่มีใครเขาอยากจะทำร้ายโลก ถ้าผู้ผลิตมีทางเลือกให้ เขาก็เลือกอยู่แล้ว
แบรนด์สิริไทมีความต้องการจากตลาดมากน้อยแค่ไหน
มีหลายแบบ ตอนแรกที่เข้ามาทำธุรกิจเพื่อสังคม พอคนเห็นว่าเรามาทำก็อยากสนับสนุน ทำให้เราไม่อยู่บนโลกความเป็นจริง มองการขายหรือการตลาดแบบโรแมนติกที่ทุกคนอยากจะช่วย พอ 4 ปีผ่านไป ทำให้เราเห็นความจริงมากขึ้น บางองค์กรเข้ามาเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีในการสนับสนุนสินค้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน แต่เขาก็ต้องหาแบรนด์ใหม่ตลอด เราจะคิดว่านี่คือยอดขายจริงทุกปีไม่ได้แล้ว
ต้องกลับมาอยู่บนพื้นดินว่ากลุ่มลูกค้าหลักของเราเป็นใคร มีการซื้อซ้ำไหม เพราะเราเน้นเรื่องความไว้วางใจ แบรนด์สิริไทมาในทุกทางเรื่องความปลอดภัย เราไม่ได้มีสัญลักษณ์ในการรองรับสักอย่างว่าเป็นออร์แกนิก มีแต่ รรร. ‘เรารับรอง’ ลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำด้วยความเชื่อใจคือสิ่งที่มีค่ามากสำหรับแบรนด์เรา ต้องรักษากลุ่มลูกค้านี้ให้ดี แต่ถ้าจะขยายตลาดไปต่างประเทศหรือขึ้นห้าง ก็จำเป็นต้องมีการขอการรับรองมาตรฐานมากขึ้น
ปรับตัวอย่างไรกับ Climate Change เมื่อทำธุรกิจเกษตร
เชอรี่ไม่ได้กังวลว่าจะกระทบกับแค่ธุรกิจ แต่กระทบกับชีวิตเราทุกคน อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลต่อสินค้าเกษตรแน่นอนอยู่แล้ว มันไม่มีตรงกลาง ทุกอย่างจะสุดโต่ง แห้งก็แห้งหนัก ท่วมก็ท่วมมาก แล้วเราจะไม่มีความสามารถที่ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ในอนาคต อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะกระทบกับทั้งความมั่นคงทางอาหาร น้ำจืด น้ำสะอาด แหล่งที่อยู่อาศัยอากาศหายใจ โรคภัยต่าง ๆ
เชอรี่ชอบนึกถึงเรื่อง Climate Justice ความยุติธรรมต่อการเผชิญกับสภาพภูมิอากาศ มันครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งความเท่าเทียม ความยากจน โอกาสการเข้าถึงการศึกษา น้ำสะอาด หรือความเป็นอยู่ที่ดี มีมิติที่กว้างมากในการทำเรื่องนี้
การเป็นคนตัวเล็กต้องรู้ตัวเองว่าจะทำอะไรแล้วสร้างผลกระทบแบบไหน กลุ่มที่เป็นเอกชนบริษัทใหญ่ก็ต้องคิดแก้ปัญหาเรื่องนี้ตั้งแต่ภายในการผลิตของตัวเอง โดยเฉพาะด้านพลังงานและการเกษตร ในแง่ของนโยบายก็ต้องมี เอาแค่สมัครใจหรือขอความร่วมมือได้อีกต่อไปแล้ว มันเป็นอะไรที่เร่งด่วน ต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เดียวกันอย่างชัดเจนทั้งประเทศ
ในปี 2030 อยากเห็นอะไร
ตอนนี้เทรนด์ความยั่งยืนถูกพูดถึงมาสัก 2 ปีแบบเยอะมากขึ้น เพราะเห็นชัดเจนว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่สร้างมลพิษ ทุกอย่างแย่ลงไวกว่าที่เราจะฟื้นฟู ความยั่งยืนเลยถูกหยิบมาเป็นประเด็นในทุกแวดวง อีก 6 ปีนี้มันน้อยมาก แต่ถ้าเทรนด์มาแบบก้าวกระโดดก็อาจจะมีความหวัง เราแก้ปัญหาทุกอย่างไม่ได้ในทันที แต่เชอรี่เชื่อว่าต้องเป็นความพยายามของทุกฝ่ายในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจริง ๆ วันนี้ถ้าเราแค่พูดถึงเรื่องความยากจน เราแก้ได้ครอบคลุมทั้งประเทศหรือยัง
ถ้าถามว่าปี 2030 อยากเห็นอะไร เราอยากเห็นความรับผิดชอบจากคนที่สร้างผลกระทบ
คนกลุ่มนี้อาจจะต้องแสดงความรับผิดชอบที่มากกว่าสิ่งกำลังทำอยู่ ปัจจุบันอาจจะยังเป็นกิจกรรม CSR แต่ถ้ามองว่าทำเรื่องนี้กับคนในกลุ่มกว้างขึ้นได้เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม มันก็เกิดการทำงานเข้าไปในทุกกระบวนการของภาคธุรกิจ ไม่ใช่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบก่อนแล้วค่อยมาแก้ปัญหาภายหลัง สําหรับเชอรี่รู้สึกว่าไม่ใช่การแก้ปัญหา ถ้าไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุจริง ๆ
ถ้าเราพูดถึงปี 2030 มันต้องทำทั้งโลกและทุกคน ทุกหน่วยตั้งแต่เล็กไปใหญ่สุด แต่ตอนนี้ที่เรากำลังพูดถึงในปี 2024 จากความกว้างทั้งหมดนี้ (ชี้ไปที่โต๊ะสีขาวขนาดใหญ่ที่กำลังคุยกัน) อาจจะมีจุดเดียวที่กำลังทำอยู่