The Cloud x สภาพัฒน์
ประเทศไทยมีคนแก่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด 1 ใน 3 ของโลก นโยบายรองรับสังคมสูงวัยจึงเป็นหัวข้อยอดฮิต แต่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่คุณผู้อ่านกำลังจะร่วมติดตามไปกับเราในตอนนี้ รับรองว่าไม่เหมือนที่เคยได้ยินได้ฟังมา มีคำเตือนเล็กน้อยสำหรับผู้อ่านอายุเกิน 60 ปี โปรดใช้ความเข้าใจลูกหลานในการอ่าน
หากเราตั้งต้นคำถามว่า ประเทศไทยจะดูแลผู้สูงอายุให้ดีขึ้นได้อย่างไร ก็จะมีคำถามโลกแตกตามมาทันทีว่า แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเบี้ยคนชรา ค่ารักษา และอื่น ๆ
ทว่าครั้งนี้ มาเริ่มตั้งต้นถามใหม่ว่า เราจะดูแลทุกคนไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร ในสังคมที่มีผู้สูงวัยอยู่ร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก
คำตอบพร้อมคำแนะนำที่ผ่านการวิจัยมาอย่างโชกโชนจากผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้นำเราไปสู่ทางออกที่น่าสนใจ ตรงไปตรงมา ตรงจนหยดสุดท้ายของบทสรุป
“ที่พูดมาทั้งหมดเหมือนดูใจร้ายกับผู้สูงอายุนะ แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด อีก 6 ปีข้างหน้าเราก็จะวนอยู่ที่เดิม มานั่งคุยกันแบบนี้เหมือนเดิม แล้วรัฐบาลใหม่ในอนาคตก็จะบอกว่า ฉันทำอะไรไม่ได้เลย”
ไทยอยู่ตรงไหนของสังคมสูงวัย
ในภาษาไทยเราใช้คำศัพท์คำเดียว คือสังคมสูงวัย แต่ในภาษาอังกฤษมี 2 คำ คือ Aging Society หมายถึงระยะที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย มีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปที่ 10% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งไทยเกินระยะนี้ไปแล้ว
เราอยู่ใน Aged Society หรือระยะที่เข้าสู่สังคมสูงวัยไปแล้ว และมีคำศัพท์ที่แบ่งความเข้มข้นขึ้นไปอีก อย่าง Complete Aged Society หรือสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรสูงวัยเกินกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด เป็นความน่าตื่นเต้นมากที่ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ปี 2023 ที่ผ่านมา
ความน่ากลัว คือพอปี 2030 ไทยจะเข้าสู่ Super Aged Society หรือสังคมสูงวัยแบบเข้มข้นมาก ประชากรสูงวัยทะลุ 30% เราจะเป็นประเทศที่มีคนแก่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด 1 ใน 3 ของโลก
แต่แม้เราอยู่ใน Super Aged Society เราก็ยังมีคนที่ไม่ได้อยู่ในวัยสูงอายุในตั้ง 70% ต้องพึงระลึกเสมอว่าในสังคมที่มีคนอายุเฉลี่ยในสังคมอายุมากนั้น ยังมีคนอายุน้อยอยู่ด้วย
เราน่าจะคำนวณได้ตั้งนานแล้วว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเข้มข้นปีไหน แต่ทำไมนโยบายยังไม่พร้อม
พอเราใช้คำว่าสังคมสูงวัย ฝ่ายนโยบายก็จะพูดกันว่า เราต้องไปจัดการผู้สูงอายุซะ นี่เป็นการคิดที่ง่ายเกินไป แล้วพอถามหาทรัพยากรที่ต้องไปดูแล เราก็บอกว่าคนต้องมีลูกเยอะ ๆ เพื่อไปดูแลผู้สูงอายุ
เรียกว่าคิดแบบโบราณก็ได้ เพราะสังคมไทยมีวิวัฒนาการมาแบบนั้น สมัยก่อนที่เรายังเป็นประเทศเกษตรกรรมตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 เราอยากมีผลิตภาพเยอะ ๆ ก็ใช้วิธีสนับสนุนให้คนมีลูก ใครมีลูกก็เอาไปแลกนู่นแลกนี่ได้เต็มไปหมด
พอมาถึงช่วงหนึ่ง ผู้หญิง 1 คนมีลูกเฉลี่ย 6 คน แย่แล้ว ลูกเยอะเกินไป ดูแลไม่ไหว จึงมีนโยบายวางแผนครอบครัวเกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2513
การวางแผนครอบครัว คุมกำเนิด และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ตัวเลข Total Fertility Rate ของประเทศปรับตัวลงอย่างมาก ตัวเลขนี้ชี้ว่าผู้หญิง 1 คน ไม่ว่าแต่งงานหรือไม่แต่งงานในประเทศหนึ่ง ๆ รับผิดชอบผลิตลูกขึ้นมาเพื่อทดแทนคนได้กี่คน เมื่อไม่นานมานี้ไทยมีอัตราทดแทนอยู่ที่ 2.1 แต่หลังโควิดตัวเลขอยู่ที่ 1.4 ซึ่งต่ำมากเลยนะ
การวางแผนของเราคิดแต่เชิงตัวเลข แต่ลืมคิดไปถึงอีกปัญหาใหญ่ตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือเรื่องภาระทางภาษี เมื่อรัฐบาลบอกว่าต้องดูแลผู้สูงอายุ ก็เอาเงินก้อนใหญ่มากไปจัดการกับผู้สูงอายุ พอรัฐบาลอยากให้เพิ่มประชากร ก็เอาเงินก้อนใหญ่มากไปสนับสนุนให้คนมีลูกหรือไม่ก็ใช้ภาษีในการจูงใจ
แต่เมื่อไปถามทุกคนในวัยเจริญพันธุ์หรือคนในวัย 15 – 49 ปีว่าอยากมีลูกไหม ก็คงรู้คำตอบกันอยู่
มีการศึกษาทางด้านประชากรศาสตร์จากตัวอย่างทั่วโลก มาตรการทางภาษีเพื่อชวนคนมีลูกไม่เคยประสบความสำเร็จเลย ไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรือเอเชีย ไม่มีเลยค่ะ
แนวโน้มคนไทยมีลูกน้อยลง โครงสร้างประชากรเราจะเป็นอย่างไรต่อ
พูดถึงเรื่องไดนามิกของประชากร ต้องเข้าใจก่อนว่าผู้สูงอายมีอัตราตายสูงมาก เราจะไปห้ามธรรมชาติก็ไม่ได้ อาจจะฟังดูโหดเหี้ยม แต่เมื่อเรามีประชากรเสียชีวิตมากขึ้น จากประเทศที่เคยมีคนหนุ่มสาวเยอะ ลักษณะโครงสร้างประชากรเป็นรูปพีระมิด ตอนนี้ของไทยเริ่มอ้วน ๆ โค้ง ๆ แล้ว ถึงจุดหนึ่งเราจะมีฐานที่น้อยลง เปลี่ยนไปสู่รูปทรงกระบอก ไม่เกิน 10 – 20 ปีข้างหน้าเราจะมีประชากรคงที่อยู่ประมาณ 70 ล้าน
ต้องอยู่ที่นโยบายด้วย ถ้าทำให้คนอยากมีลูกมากขึ้น ก็จะเป็นทรงกระบอกที่สมดุลพอดี แต่เราเป็นประเทศกำลังพัฒนา กำลังต้องใช้วัยแรงงาน แต่อายุเฉลี่ยประชากรของไทยปาเข้าไป 40 ปี ส่วนเวียดนามประมาณ 23 ปี เพราะฉะนั้นเราอาจเสียเปรียบในแง่ของผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน แต่ถ้าเราพอใจตรงนี้ว่าเรามีคนเท่านี้ เราทำคนให้โอเค มันก็จะโอเคค่ะ
อยากให้อธิบายคำว่าผลิตภาพเพิ่มเติม แบบไหนถึงจะโอเค
Productivity หรือ ผลิตภาพแรงงาน เป็นคำศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ เราวัดว่าวัยแรงงาน 1 คน เมื่อใส่แรงหรือการทำงานเข้าไป จะออกมาเป็นผลิตภาพซึ่งวัดได้ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน
เราไม่ต้องการผลิตภาพเหมือนสมัยก่อนที่ใส่เข้าไป 1 แล้วได้ออกมา 1 เช่น อยากมีคนไปทําไร่ทำนาเยอะขึ้น เราก็ใช้วิธีมีลูกเพิ่มขึ้น สมัยนี้ลูก 1 คนต้องทำได้หลายอย่าง เราต้องสอนให้เขาคิดวางแผน ผสมปุ๋ยได้เก่งขึ้น ทำไร่ทำนาได้ผลผลิตมากขึ้น อย่างนี้ถึงเรียกว่าได้ผลิตภาพที่ดีขึ้น
แต่การไปคาดหวังผลิตภาพของผู้สูงอายุให้ยังสูงเหมือนวัยแรงงานเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะในภาคเอกชน จะเอาผู้สูงวัยกลับมาทำงาน คุณต้องให้ค่าจ้างเขาเยอะนะ ผลิตภาพเขาเยอะไหมเมื่อเทียบกับคนอายุน้อย
ขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในวัยแรงงานเขาก็อยากมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เมื่อเขามองไปว่าคนแก่กลุ่มนี้ไม่ไปเสียที พอเขาไม่เห็นการเติบโต แรงจูงใจในการทำงานก็จะหดหายไปด้วย
แต่นโยบายประเทศไทยกลับมองว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีคุณค่ามากในสังคม เราจะต้องใช้เขาให้เกิดประโยชน์ให้มาก เช่น ขยายอายุเกษียณราชการให้อยู่ต่ออีก 5 ปี โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เต็มไปหมด ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่แฮปปี้ เรื่องนี้พูดได้ยาวอีกหลายชั่วโมง
เห็นหลายประเทศที่เอาผู้สูงอายุกลับเข้ามาทำงาน เขาทำสำเร็จไหม
แทบไม่สำเร็จหรอกค่ะ
บางประเทศทำได้ แต่เขาก็ไม่ได้เอากลับมาทำในภาคอุตสาหกรรม โดยมากจะเอามาทำภาคบริการ เช่น ทำงานในแหล่งท่องเที่ยว ศูนย์เด็กเล็กที่ไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมากมาย ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสูงหรือไม่ต้องเท่ากับเงินเดือนขั้นสุดท้าย
แต่ถ้าเป็นเรื่องงานเชิงเทคนิค หลายประเทศพยายามทำแต่ทำไม่ได้ แล้วก็ไม่ได้มีระบบแรงจูงใจให้ภาคเอกชนอยากจ้าง
ส่วนในประเทศไทย วัยแรงงานตอนนี้มีอยู่ประมาณ 40 ล้านคน สมัยก่อนมีราว 37 ล้านคน แสดงว่าในเชิงปริมาณมันดีขึ้น แต่ในเชิงคุณภาพของการทำงานเลี้ยงประเทศเป็นอีกเรื่อง บางคนบอกว่าเอาผู้สูงอายุกลับเข้ามาในตลาดแรงงานเพื่อเพิ่มตัวเลข 40 ล้านคนนี้ จะไหวหรือ คุ้มไหมที่เอากลับเข้ามา เมื่อเราหยุดความแก่ชราไม่ได้ ผู้สูงอายุควรอยู่ด้วยความคาดหวังที่จะมีชีวิตบั้นปลายที่มั่นคง อยู่อย่างสงบและมีศักดิ์ศรี เราควรจะดูแลเรื่องสวัสดิการ สาธารณสุข สภาพจิตใจให้ดีมากกว่า แต่จะทำแบบนั้นได้ ต้องอาศัยเงินภาษีที่สูงมาก อันนี้ต้องมาดึงจาก 40 ล้านคนให้ได้
ทุกคนที่เป็นวัยแรงงาน เขากลัวมากนะตอนนี้ ในอนาคตเราจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นอีกกี่เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะคนอายุ 30 – 40 ที่เขาเรียกตัวเองว่าเป็น Sandwich Generation พ่อแม่ก็ต้องเลี้ยง ลูกก็ต้องเลี้ยง
พูดแบบภาษาชาวบ้านเลย เราจะต้องไม่รีดเลือดจากปู
อาจารย์เสนอทางออกเรื่องนี้อย่างไร
อันดับแรกเลยอยากให้ปรับแนวคิด สำหรับการพัฒนาทั้งหมด มีการพัฒนาที่เราเรียกว่า 3P
Protection แก้ปัญหา
Prevention ป้องกันปัญหา
Promotion ส่งเสริมให้ดีขึ้น
เราไม่ควรไปทุ่มงบประมาณชาติมากจนเกินไปในการทำ Protection หรือการแก้ปัญหากับวัยสูงอายุ เช่น เห็นผู้สูงอายุมีปัญหาตามวัย เราก็ให้นู่นให้นี่เต็มไปหมด ควรจะลดได้แล้ว เพราะงบประมาณส่วนนี้จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตามเทรนด์การสูงอายุ และควรไปเพิ่ม Protection ในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับวัยแรงงาน เพราะเราเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อยและมีโอกาสเพิ่มรายได้ค่อนข้างต่ำ ต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง โดยมองไปในระยะยาวด้วยว่าเราจะดูแลคนทุกกลุ่มวัยได้
ส่วน Prevention เป็นเรื่องใหญ่ เรารู้ว่าผลิตภาพแรงงานเราไม่ไหวแล้ว เขาทำงานหนักมากขึ้น แต่ผลลัพธ์ก็ไม่เพียงพอเลี้ยงทั้งประเทศ เราจึงต้องไปจัดการในกลุ่มเด็ก ให้เขากลายเป็นทุนมนุษย์ที่ดีที่ให้ผลผลิตสูงได้ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาสังคมสูงวัยบานปลายเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะการสูงวัยของประชากรจะเร็วขึ้นมาก
เรื่องของ Promotion ต้องสนับสนุนทั้ง 2 กลุ่ม คือวัยเด็กและวัยแรงงาน ให้มีทุนมนุษย์ที่ดีขึ้น โตไปมีความสุข มีผลิตภาพแรงงานขั้นสูง และมีความเต็มใจในการทำงาน ทุกวันนี้เด็กประถม-มัธยม แทบจะมองอนาคตตัวเองไม่ออกว่าจะเรียนไปทำไม ทำงานไปก็เจอความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก ต้องปรับระบบตรงนี้และส่งเสริมให้เกิดผลิตภาพและความสุขไปพร้อม ๆ กันให้ได้
ก่อนถึงปี 2030 อาจารย์อยากเห็นอะไร
ในอีก 6 ปีนี้ก่อนจะเข้าสู่เป้าหมาย SDGs ในปี 2030 เด็กที่ขึ้น ม.1 กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย เด็ก ม.4 ตอนนี้จะจบมหาวิทยาลัย เราเริ่มเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยไปจนถึงการจัดการสวัสดิการได้ และต้องเลิกแนวคิดการชวนคนมีลูก งดเว้นภาษี มันจะได้แต่เพิ่มจำนวน ไม่ได้เพิ่มคุณภาพ
มี 2 แนวทางที่จะทำให้เราไปต่อได้
อันดับแรก ทำให้วัยแรงงานมีผลิตภาพสูงขึ้น จะต้องให้มีการ Upskill หรือ Reskill ให้ได้ ประเทศไทยเรามีแรงงานที่ไม่ค่อยมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยจะต้องคิดหนัก รอรับเด็กอย่างเดียวไม่ได้แล้ว
ยกตัวอย่างเช่น ให้เรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัยไปเลย และเรียนฟรีในสาขาที่เราอยากให้เขาพัฒนา โดยเฉพาะสาขาที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์และใช้เทคโนโลยี ถ้าติดขัดเรื่องใช้เงินมากเกินไป ก็ต้องให้มหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับภาคเอกชน เมื่อเขามีทักษะที่ดี ผลลัพธ์การทำงานออกมาคุ้มค่า เงินเดือนก็สูงขึ้นตามความสามารถ
ข้อสอง ต้องทำให้วัยแรงงานทำงานได้อย่างมีความสุขและทำงานอย่างเต็มใจ การทํางานในวัยแรงงานนี่ไม่ใช่แค่ก้มหน้าก้มตาทำงานนะ ในขณะที่เขาทํางาน เขามีลูกมีคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแล เราต้องมีโครงสร้างทางสังคมที่ให้พวกเขาไปทำงานได้แบบไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ต้องอำนวยความสะดวกอย่างเป็นระบบ เช่น จัดทำศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพหรือมีกลไกภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ อาจจะต้องมีมาตรการทางภาษีที่บอกว่า คุณไปทำงานซะ ไม่ต้องห่วงคนที่บ้าน รัฐบาลช่วยได้ เอาภาษีเงินได้ของคุณมาช่วยโดยตรง
โครงการเหล่านี้จะต้องไม่ใช่โครงการฟรี ต้องไปผูกกับการทำงานของคนคนนั้น แต่หากวัยแรงงานคนไหนไม่มีลูกไม่มีผู้สูงอายุที่ต้องดูแลก็ไม่ต้องมาเสียภาษีส่วนนี้ ตอนนี้ที่คนทำงานเจนฯ X, Y, Z รู้สึกไม่ยุติธรรม เพราะเกิดความเหลื่อมล้ำในการจ่ายภาษี กลายเป็นว่าจ่ายภาษีเท่ากันทุกคน แล้วเอาภาษีก่อนนี้ไปดูแลผู้สูงอายุซะหมด
อีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศเราไม่ค่อยพูดกันเท่าไร คือการเพิ่มสวัสดิการของวัยแรงงาน เพิ่มวันหยุด วันสันทนาการไปเลย เช่น คุณพ่อควรได้วันลาเพิ่มไปเลี้ยงลูก
อ้าว เมื่อมีวันหยุดเพิ่ม เท่ากับทำงานได้น้อยลง
ไม่จริงค่ะ เพราะถ้าเราทำเรื่องข้างต้นที่ผ่านมาสำเร็จ คนมีผลิตภาพสูงขึ้นมากแล้ว เราก็ต้องให้เขาหยุดนะ เมื่อเขาทํางานเพิ่มขึ้น เขาควรจะได้รับสวัสดิการให้มากขึ้น อันนี้ต้องคิดแบบแฟร์ ๆ นโยบายตอนนี้กำลังมีข้อสมมติที่ผิดทาง คือทำอย่างไรให้ 40 ล้านคนเลี้ยงคนสูงวัยให้ได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
จะเห็นว่าที่พูดมาไม่มีเรื่องการดูแลผู้สูงอายุเลย เหมือนจะดูใจร้ายกับผู้สูงอายุนะ แต่งบประมาณที่เราลงไปกับกลุ่มสังคมสูงวัยเยอะเกินไปสำหรับสถานการณ์ทุกวันนี้ เราอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้มีเงินเยอะขนาดนั้น ต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ หากเราเอาเงินไปประคับประคองคนแก่ เขาก็มีชีวิตที่ดีขึ้นมาบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่กําลังเลื่อนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กหรือวัยแรงงาน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย วันหนึ่งเขาก็จะแก่ขึ้นมากองรวมกันอีก แล้วรัฐบาลใหม่ก็จะบอกว่า ฉันทำอะไรไม่ได้เลย
มีคำแนะนำสำหรับคนที่อยู่ในวัยแรงงานที่อยากเอาตัวเองให้รอดไหม
คำแนะนำส่วนตัวเลยนะคะ คนที่อยู่ในวัยแรงงานตอนนี้ ขอให้พยายาม Reskill-Upskill ตัวเองให้ได้มากที่สุด ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง คนที่มีผลิตภาพแรงงานสูงมาก เขาจะเอาตัวรอด แล้วเขาจะทดแทนสิ่งที่รัฐบาลให้ไม่ได้ เช่น สวัสดิการทางสังคมทั้งหลายที่ต้องเอาไปเลี้ยงลูกเลี้ยงคุณพ่อคุณแม่
แต่ถ้ารัฐบาลเข้ามาช่วยตรงนี้ จะเป็นเครื่องจักรใหญ่มากที่ทำให้คนกลุ่มนี้ทำงานอย่างมีความสุข มีผลิตภาพสูง และจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ด้วย เมื่อมองไปข้างหน้ายามเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้วเห็นชีวิตที่ดีขึ้น
เผลอ ๆ เขาอยากมีลูกนะ โดยที่เราไม่ต้องบังคับหรือออกมาตรการส่งเสริมให้คนมีลูกด้วยซ้ำไป