“ฉันตัดสินใจตั้งแต่อายุ 20 ปีว่าจะตามฝันการเป็นนักแสดงบนเวที และหวังว่าสักวันจะได้แสดงให้ Cirque Du Soleil”

Elizabeth Brown Gagnon เอ่ยในวันที่ฝันของเธอเป็นจริง สำหรับนักกายกรรมสาวจากเท็กซัสและศิลปินมากมายทุกทวีป การได้ทำงานกับคณะละครสัตว์แห่งดวงอาทิตย์ (Cirque Du Soleil – เซิร์ก ดู โซเลย์) คือความฝันอันสูงส่ง ปัจจุบันมีศิลปินทั่วโลกเพียง 1,300 คนเท่านั้นที่สำเร็จ

จากคณะละครเล็กๆ ในแคนาดาที่ก่อตั้งในปี 1984 Cirque Du Soleil ประสบความสำเร็จมหาศาล ด้วยการแสดงที่สื่อสารด้วยภาษากายและความสนุกผาดโผน จนกลายเป็นกลุ่มละครที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกทั้งหมดกว่า 4,000 คน และตระเวนสั่นสะเทือนความรู้สึกคนดูทั่วโลกมาแล้วมากกว่า 180 ล้านคน

ในวาระที่คณะละครสุดร้อนแรงจะเดินทางมาแสดงละครเรื่อง Cirque Du Soleil TORUK The First Flight ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Avatar ของ James Cameron ที่เมืองไทย เราได้โอกาสพูดคุยกับสมาชิกจากคณะละครสัตว์แห่งดวงอาทิตย์ Janie Mallet นักประชาสัมพันธ์ และ Elizabeth Brown Gagnon นักแสดงกายกรรม ถึงเบื้องหลังโปรดักชันอลังการงานช้าง ก่อนการแสดงแสงสีเสียง 18 รอบในเดือนมิถุนายนจะเริ่มต้นขึ้น

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

Avatar x Cirque Du Soleil

ปี 2009 ภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง Avatar ออกฉาย เรื่องราวของนายทหารหนุ่มที่เข้าไปพบชีวิตที่สองบนดาวแพนโดร่าใช้ทุนสร้างมหาศาลจนมีการคาดการณ์ว่าคงขาดทุน ผลปรากฏว่า ‘อวตาร’ ทำรายได้ถล่มทลาย แถมยังกวาดคะแนนนักวิจารณ์กับรางวัลออสการ์ไป 3 รางวัล เจมส์ คาเมรอน สร้างโลกสมมติขึ้นมาใหม่ทั้งใบ และพิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้กำกับมือฉมังของโลก

ความสำเร็จยิ่งใหญ่ทำให้โลกขยายกลายเป็นจักรวาล ทีมงาน อวตาร ตกลงกับ Cirque Du Soleil ยักษ์ใหญ่ฝั่งละครเวทีว่าจะทำละครภาคต่อจากหนังไซไฟที่ใช้ CG ทั้งเรื่อง! เมื่อการแสดงสดไม่มี CG สิ่งที่ตามมาคืองานดีไซน์ละเอียดยิบมหาศาลคุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

“ตั้งแต่หนังออกมา Cirque Du Soleil ได้คุยเรื่องนี้กับเจมส์ คาเมรอน และทีมงานของเขาแล้ว โปรดักชันที่ใหญ่ขนาดนี้ต้องใช้เวลาสร้างราว 5 ปี สำหรับกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่เขียนบท หานักแสดง ออกแบบและสร้างฉาก และฝึกซ้อมร่วมกันจนเปิดตัวเล่นครั้งแรกที่มอนทรีอัล แคนาดา ในปี 2015 หลังจากนั้นเราก็ออกทัวร์รอบโลกมา 2 ปีครึ่งแล้ว”

เจนี่ นักประชาสัมพันธ์แห่งคณะละครเสริมต่อว่าแม้ละครจะออกมาช้ากว่าหนังหลายปี แต่ผู้คนยังรักและจดจำ อวตาร ได้

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 11 ที่เรามาเล่น ทุกอย่างยังสดใหม่และเรายังพัฒนากันอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างในจักรวาลอวตารสมเหตุสมผล”

สร้างโลกใหม่

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

Cirque Du Soleil TORUK The First Flight เริ่มต้นเรื่องเมื่อ 3,000 ปีก่อนมนุษย์ย่างเท้าลงบนดวงจันทร์แพนโดร่า ก่อนเรื่องราวในหนังจะเกิดขึ้น หนึ่งในเหตุผลแรกที่ภาคใหม่ของ อวตาร เป็นเรื่องของชาวนาวีล้วนๆ ไม่มีมนุษย์มาข้องเกี่ยว เพราะการแสดงให้เห็นความต่างระหว่างขนาดตัวชาวนาวีตัวยักษ์และมนุษย์บนเวทีเป็นเรื่องยากมาก การสร้างเรื่องราว prequel เปิดโอกาสให้ทีมงานสร้างเรื่องราวใหม่ได้ง่ายกว่า

Michel Lemieux และ Victor Pilon ผู้กำกับละครและผู้กำกับมัลติมีเดียร่วมเขียนบทเรื่องวัยรุ่นชาวนาวี 3 คนที่พยายามต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิดจากภัยธรรมชาติ ด้วยการเดินทางออกตามหาโทรุค สัตว์ปีกเจ้าแห่งน่านฟ้าแพนโดร่า ระหว่างทางทั้งสามได้พบชาวนาวีหลายเผ่าและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มากมายจนถึงภูเขาลอยฟ้า

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

“ตอนที่ลงมือทำเรื่องนี้ มันเป็น Touring Show ที่ใหญ่ที่สุด Cirque Du Soleil เคยทำมา เราต้องออกเดินทางไปเล่นในที่ใหม่ทุก 1 – 2 สัปดาห์ แต่เรามีโปรเจกเตอร์ 4 ตัวฉายกลางอากาศ มีเทคนิคพิเศษสร้างแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ผืนน้ำที่ดูเหมือนจริง และเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบไฟติดตามคนอัติโนมัติ มีการทดลองและใช้เวลาเยอะมากเพื่อทำให้แพนโดร่ามีชีวิตขึ้นมา และทำให้คนดูรู้สึกเหมือนอยู่ในแพนโดร่าจริงๆ”

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

พื้นที่ฉายภาพมัลติมีเดียของละครเรื่องนี้ใหญ่กว่าจอ IMAX 5 เท่า มีฉากและอุปกรณ์ที่ดูเหมือนมาจากโลกอื่น มีการเชิดหุ่นสัตว์ประหลาดยักษ์ โดยเฉพาะโทรุคที่หนักถึง 115 กิโลกรัม และมีความกว้างถึง 12 เมตร เสื้อผ้าเครื่องประดับของนักแสดง 35 ชีวิต ออกแบบให้ดูเหมือนทำจากพืชนอกโลก และประกอบด้วยมือชาวนาวี เครื่องแต่งกายเหล่านี้มีจำนวนนับพันชิ้น เนื่องจากพวกเขาต้องสลับเล่นหลายบทบาท และสิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างความแตกต่างระหว่างชาวนาวีทั้ง 5 เผ่าออกจากกัน

 คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

ประชากรชาวนาวี

“เส้นทางของทุกคนที่มาที่นี่แตกต่างกันออกไป”

เอลิซาเบ็ธผู้รับบทชาวนาวีถึง 4 ตัวละครเอ่ย ก่อนอธิบายเส้นทางนักแสดงก่อนกลายร่างเป็นสิ่งมีชีวิตตัวสีฟ้า “Cirque Du Soleil มองหานักแสดงที่แตกต่างกันในแต่ละเรื่อง เรื่องนี้ต้องการนักกายกรรมที่มีพื้นฐานยิมนาสติก การเต้น และการแสดง ที่ทำให้พัฒนาตัวละครและแสดงได้เต็มที่ เราต้องออดิชันหลายขั้นตอน นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันทำงานกับ Cirque Du Soleil แต่ก่อนหน้านี้ทำงานกับโชว์อื่นมา 9 ปี บางคนเคยเล่นเรื่องอื่นของ Cirque Du Soleil มาแล้วและอยากเปลี่ยนมาเล่นเรื่องใหม่ ประวัติแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

คณะละครนี้มีทีมแคสติ้งที่มอนทรีอัลและทีมงานที่มองหานักยิมนาสติกและนักแสดงจากทั่วโลก รวมถึงเปิดรับสมัครศิลปินทางออนไลน์ ศิลปินที่คณะละครสัตว์แห่งดวงอาทิตย์ต้องการมีหลากหลาย ทั้งนักแสดงกายกรรม นักร้อง นักเชิดหุ่น และสารพัดช่าง ที่จะสร้างเวทมนต์บนเวทีให้สะกดคนดู

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

“เราต้องใช้เวลาในการพัฒนาตัวละครชาวนาวี เรียนรู้การเดินเหมือนนาวี คลานเหมือนนาวี พูดภาษานาวี และเข้าใจแนวคิดของชาวนาวี คือเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจักรวาล เราคือส่วนหนึ่งของดวงจันทร์แพนโดร่า และต้องเข้าใจปรัชญาของเจมส์ คาเมรอน ที่อยู่ในหนัง แล้วแสดงให้เห็นว่ามนุษย์อย่างเรากลายเป็นชาวนาวีเมื่ออยู่บนเวที”

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

“ฉันเล่นเป็น 4 ตัวละคร จาก 4 เผ่า และแต่ละเผ่าเคลื่อนไหวต่างกัน เผ่าหนึ่งมีความสุขสนุกสนาน พวกเขาจะเคลื่อนไหวแบบนั้น แต่อีกเผ่าเป็นนักรบดุดัน ก็จะเคลื่อนไหวอีกแบบ ดังนั้น มันจึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชุด แต่ต้องเปลี่ยนการเคลื่อนไหวเพื่อสะท้อนตัวละครด้วย”

นอกจากฝึกซ้อมการแสดง พวกเขาต้องเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปโดยสิ้นเชิง นักกายกรรมส่วนใหญ่มีกล้ามเนื้อมากและไม่มีโครงสร้างผอมสูงแบบชาวนาวี นักแสดงทั้งหมดต้องเรียนแต่งหน้าแต่งตัวเอง ก่อนการแสดงเธอจะเพนต์ตัวเองด้วยครีมสีฟ้า และลงแป้งสีฟ้าทับอีกชั้นก่อนแต่งตัว รวมถึงติดหางเข้าไปด้วย การแต่งตัวนี้ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง และทิ้งร่องรอยสีฟ้าติดตัวหลังแสดงจบเสมอ

“การแต่งตัวช่วยให้ฉันมีสมาธิและเข้าถึงตัวละครมากขึ้น เราต้องใช้พลังเยอะมากเพื่อเป็นตัวละครบนเวทีตลอดเวลา มันไม่เหมือนการเล่นกายกรรม ฉันฝึกกายกรรมมาตลอดชีวิต แต่การแสดงเป็นชาวนาวีเรื่องใหม่ การเป็นและคงความเป็นตัวละครไว้ตลอด 2 ชั่วโมง หรือบางทีก็ 2 รอบต่อคืน เป็นหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุุด แต่มันก็ทำให้โชว์พิเศษ”

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

สู่สายตาผู้ชม

ตั้งแต่ออกทัวร์ TORUK – The First Flight ได้รับเสียงตอบรับท่วมท้นล้นหลาม การแสดงของ Cirque Du Soleil มีเนื้อหาเป็นสากลและเปิดกว้างต่อการตีความของผู้ชม ความพยายามบากบั่นของชาวนาวีที่รวมตัวกันเพื่อเอาชนะเป้าหมาย สร้างความเปลี่ยนแปลงและความฮึกเหิมในใจผู้ชม

“สิ่งที่ดีที่สุดของงานนี้คือการได้แสดงละครกับ Cirque Du Soleil และสิ่งต่อมาคือการเป็นครอบครัวใหญ่ ละครเรื่องนี้เล่าเรื่องมิตรภาพ ความสามัคคีกลมเกลียวเพื่อเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเราจริงๆ” นักกายกรรมสาวกล่าวอย่างจริงใจ

“ผู้ชมมีผลตอบรับแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ฉันคุ้นเคยกับผู้ชมจากอเมริกาเหนือและแคนาดา แต่พอเราไปเม็กซิโก พวกเขาตื่นเต้น เสียงดัง สนใจการแสดง บางประเทศผู้ชมจะเรียบร้อยกว่า แค่ตบมือ แต่ตอนจบเราจะรู้สึกถึงความชื่นชมของพวกเขาเสมอ”
คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

 

นอกจากคุยกับนักแสดง เรายังได้ไปชมเบื้องหลังเวที TORUK The First Flight ฉากแสนสวยน่าอัศจรรย์นี้ใช้เวลาติดตั้งเพียง 10 – 12 ชั่วโมงเท่านั้น โดยอุปกรณ์และเครื่องแต่งกายทั้งหมดกว่าพันชิ้น บรรจุในคอนเทนเนอร์ 39 ตู้ และขนย้ายมาทางเครื่องบิน 4 ลำ

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

นักแสดงทั้ง 40 คนเรียนการแต่งหน้าเป็นชาวนาวีที่ควิเบก โดยสไตลิสต์ออกแบบการแต่งหน้าให้แต่ละคนต่างกัน กระทั่งชุดสีฟ้าแนบเนื้อที่ออกแบบมาอย่างละเอียดมี 4 สี เหมือนสีผิวคนเราที่ไม่เท่ากัน ส่วนงานของคนเชิดหุ่น 6 คนก็สนุกใช่เล่น พวกเขาต้องเชิดหุ่นสัตว์ 16 ตัวที่ซับซ้อน ตั้งแต่เชิดเดี่ยว เชิดคู่ ไปจนถึงเชิดโทรุกเจ้าเวหาพร้อมกันทั้ง 6 คน เห็นการทำงานเบื้องหลังแล้วยิ่งประทับใจกับ Cirque Du Soleil เข้าไปอีก

คุยกับนักกายกรรมถึงเบื้องหลังการแสดง Avatar ทั่วโลก

 

Cirque Du Soleil TORUK The First Flight จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 14 – 24 มิถุนายนนี้ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี จองบัตรได้ที่นี่

ภาพ: TORUK-The First Flight

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง