The Cloud X SC Asset

 

The High Line is always a good idea.

หากเปรียบนิวยอร์กเป็นคน The High Line ก็คงเป็นรอยสักบนแขนขวาที่บอกเล่าเรื่องราวความหลากหลาย ความช่างพัฒนาและการให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ ได้ดีพอๆ กับรอยสักที่เจ้าของภูมิใจที่จะเล่าเรื่องราวของรอยสักแต่ละรอยให้คนอื่นฟัง 

The High Line, นิวยอร์ก

 

01

จากเพื่อนสู่ผู้คนมากมาย

The High Line คือ สวนสาธารณะลอยฟ้า (Elevated) ความยาว 2.33 กิโลเมตร ที่ดัดแปลงมาจากทางรถไฟเก่า (The New York Central Railroad Line) ตั้งอยู่ทาง Lower East Side ของแมนฮัตตัน โดยเริ่มต้นจากถนน Gansevoort (ตรงกับช่วงประมาณถนนที่ 10) ในย่าน Meatpacking ทอดผ่านย่าน Chelsea ไปจนถึง West Side Yard (Hudson Yrad) บนถนนที่ 34

ในอดีต ช่วง ค.ศ. 1930 ทางรถไฟสายนี้คือ West Side Line ใช้เป็นเส้นทางส่งอาหารสดมายังย่าน Meatpacking และ Chelsea ซึ่งเป็นย่านอุตสาหกรรมและโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในแมนฮัตตัน ด้วยความที่รางอยู่บนถนนทำให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตจากการถูกรถไฟชนจำนวนมาก จนย่านได้ชื่อเล่นว่าเป็น Death Avenue

ต่อมารัฐบาลเมืองนิวยอร์กจึงมีโครงการปรับปรุงพื้นที่โซนนี้ ชื่อ The West Side Improvement Project รวมถึงยกระดับทางรถไฟขึ้นเหนือพื้นดินเพื่อความปลอดภัยของผู้คนบนท้องถนน ทางรถไฟสายนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่า The High Line ตั้งแต่นั้นมา

The High Line, นิวยอร์ก

ค.ศ. 1980 ทางรถไฟสายนี้ได้ยุติการให้บริการและถูกทิ้งร้างไปกว่า 20 จนกระทั่ง ค.ศ. 1999 มีการตั้งกลุ่ม (Community-based Non-Profit Group) ที่ชื่อว่า Friends of The High Line เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ โดยพวกเขาทำแผนเสนอให้รัฐเห็นว่า หากพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ จะสามารถสร้างรายได้และประโยชน์ต่อเมืองได้คุ้มการลงทุน

หลังต่อสู้และดำเนินการอยู่หลายปี ในที่สุดความพยายามของ Friends of The High Line ก็เป็นผลสำเร็จ กรมทางรถไฟและรัฐบาลเมืองนิวยอร์กได้บริจาคพื้นที่ และเปิดให้มีการประกวดแบบเพื่อสร้างโปรเจกต์แปลงโฉมทางรถไฟสายนี้ เนื่องจากมีสถาปนิกส่งแบบเข้าประกวดจากทั่วโลก ทำให้โครงการเริ่มเป็นที่สนใจและพูดถึงในวงกว้าง ทั้งตัวพื้นที่และแนวคิดในการสร้างพื้นที่สีเขียวสำหรับคนเมือง

ผู้ชนะการประกวดแบบมี 3 กลุ่มด้วยกัน โดยแต่ละกลุ่มดูแลงานออกแบบและก่อสร้างใน 3 ส่วนที่แตกต่างกัน คือ James Corner Field Operations ดูแลงานออกแบบด้านภูมิสถาปัตยกรรม, Diller Scofidio + Renfro ดูแลงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม และ Piet Oudolf ดูแลการจัดสวนและพืชพรรณ

The High Line เริ่มก่อสร้างในปี 2006 และเปิดให้คนขึ้นไปใช้งานครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในปี 2009

The High Line, นิวยอร์ก

 

02

พื้นที่ที่เป็นที่รักของทุกคน

ด้วยความที่เป็นอดีตนักเรียนสถาปัตย์ ทำให้เรารู้จัก The High Line ในฐานะโครงการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ประสบความสำเร็จอย่างมากและเป็นไอคอนของวงการ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ตั้งใจว่าจะต้องมาให้ได้เมื่อมาถึงนิวยอร์ก

ความโชคดีคือโรงเรียนของเราอยู่ใกล้กับ The High Line พอดี เราจึงมีโอกาสมาที่สวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งนี้เป็นประจำ และประสบการณ์ที่ได้กลับไปในแต่ละครั้งก็ไม่เคยซ้ำกันเลย

มีครั้งหนึ่งระหว่างคิดหัวข้อธีสิส ช่วงนั้นทั้งคลาสเครียดมาก เราเลยหาทางออกด้วยการออกกำลังกาย เย็นวันนั้นเราหยิบรองเท้าตั้งใจจะไปวิ่งบน The High Line สวยๆ ผลคือวิ่งไม่ได้ เพราะคนเยอะมากกกกกกกก แต่ถึงจะไม่ได้วิ่ง เราก็มีความสุขกับการได้เดินดูวิวเมืองสลับกับดอกไม้ต้นไม้ ตึกสวยๆ และได้เห็นวิถีชีวิตของคนนิวยอร์ก

ที่นี่ก็เป็นของทุกคนจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่นักท่องเที่ยวที่มาถ่ายรูป ภาพคู่รักที่มานั่งเล่นหลังเลิกงาน คนแก่ที่มาเดินดูต้นไม้ หนุ่มสาวออฟฟิศที่มาออกกำลังกาย ครอบครัวพาลูกๆ มาเดินเล่น กลุ่มเพื่อน คนจูงหมามาเดินเล่น และคนที่นั่งรถเข็น เห็นแล้วก็แอบนึกอิจฉาคนนิวยอร์กที่มีพื้นที่ให้ได้ออกมาพักผ่อนดีๆ แบบนี้

The High Line, นิวยอร์ก

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ The High Line จะกลายเป็นที่รักของทุกคน แทบทุกคนที่เราเจอจะเเนะนำให้มาที่นี่และมีความประทับใจแตกต่างกันออกไป อย่าง ‘แซค’ เพื่อนของเราเล่าให้ฟังว่า แม้แต่ในเกม สไปเดอร์แมนก็ยังชอบมาสวิงตัวอยู่แถว The High Line ได้อย่างไม่มีเบื่อ (คือมันดังและดีขนาดที่เป็นสถานที่หนึ่งในเกมเลย) นอกจากความลงตัวด้านการออกแบบพื้นที่แล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรมให้ทำมากมายสำหรับทุกเพศทุกวัย เปลี่ยนไปในทุกฤดู ทุกเทศกาล เช้ายันดึก เรียกได้ว่าเป็นทุกอย่างให้คนนิวยอร์ก

ตั้งแต่พื้นที่แสดงงานศิลปะ พื้นที่นั่งสมาธิยามเช้า ห้องเรียนไทชิ เบรกฟาสต์คลับ ชมรมบทกวี สวนดอกไม้ ห้องเรียนพฤกษศาสตร์ ทัวร์สถาปัตยกรรม ห้องนั่งเล่นของครอบครัว ที่ที่คุณพ่อแม่พาลูกๆ มาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ เวทีแสดงดนตรี สนามปิกนิก ลู่วิ่ง ไปจนถึงดูดาว ที่หมายถึงตั้งกล้องโทรทรรศน์ดูกันแบบจริงจังเลยนะ

ทุกปีเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม จะมีกิจกรรม Stargazing โดยกลุ่ม The Amateur Astronomers Association of New York ที่ขนเอากล้องโทรทรรศน์ส่วนตัวมาตั้งและเชิญชวนให้ทุกคนมาดูดาวด้วยกัน ใครจะคิดว่าจะได้เห็นวงแหวนดาวเสาร์กลางเมืองนิวยอร์ก โรแมนติกสุดๆ

ประสบการณ์ที่ได้รับในการมา The High Line จึงไม่เคยซ้ำกันเลยสักวัน และเราก็ไม่เคยเบื่อที่จะมาที่นี่เลย

The High Line, นิวยอร์ก

ตลอดทางเดินยาวความยาวกว่า 2 กิโลเมตรที่นี่จึงเหมือนการได้อ่านเรื่องย่อของเมืองนิวยอร์กผ่านผู้คนและสภาพแวดล้อม เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านสถาปัตยกรรม ไล่มาตั้งแต่ตึกสไตล์โรงงานก่ออิฐที่ยังได้รับการรักษาโครงสร้างในอดีตไว้ แต่เปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน ไปจนอพาร์ตเมนต์ทรงแปลกตาเหมือนฉากหนังในโลกอนาคต

วิวที่หลากหลาย ทั้งวิวริมแม่น้ำฮัดสันที่มองไปเห็นเมืองนิวเจอร์ซีย์ ที่นั่งชมเมืองและความวุ่นวายบนถนน ไปจนถึงแผงตึกสูงระฟ้าและตึก Empire state ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนการอยู่ร่วมกันของความหลากหลายที่เป็นหัวใจของเมืองนี้ได้อย่างดี 

The High Line, นิวยอร์ก

 

03

ผลิใบไปพร้อมกับการพัฒนาเมือง

The High Line ไม่ได้เป็นเพียงแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและชาวนิวยอร์กให้ออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งเท่านั้น แต่ยังดึงดูดนักลงทุนและสถาปนิกตัวท็อปของโลกให้อยากมาทิ้งลายเซ็นไว้บนที่ดินย่านนี้เช่นกัน พื้นที่ในย่านนี้จึงได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีร้านอาหาร ร้านค้า อพาร์ตเมนต์หรู และโครงการสร้างตึกใหม่ๆ เกิดขึ้นกว่า 30 โครงการ

เช่น The Whitney Museum of American Art ที่ได้ Renzo Piano มาเป็นผู้ออกแบบ ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าฝั่งถนน Gansevoort, 220 Eleventh Avenue โปรเจกต์คอนโดที่เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่ Zaha Hadid มีส่วนร่วมในการออกแบบก่อนที่เธอจะเสียชีวิต และโครงการอื่นๆ อีกมาก เกิดการแข่งขันอย่างสูง ส่งผลให้ราคาที่ดินสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว

The High Line, นิวยอร์ก

ปัจจุบันมีการสำรวจพบว่าคอนโดและอพาร์ตเมนต์ที่อยู่ติดกับ The High Line นั้นมีราคาสูงกว่าอาคารบนถนนถัดไปกว่าเท่าตัว และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ย่าน Chelsea และ Meatpacking ก็มีการเติบโตที่น่าสนใจเช่นกัน หลังจากโรงงานต่างๆ ย้ายออกจากพื้นที่พร้อมยุติการให้บริการของทางรถไฟ เมื่อ ค.ศ. 1980 ศิลปินสมัยก่อนนิยมมาอยู่แถวนี้เยอะเพราะค่าเช่าถูก หลายสิบปีต่อมา เมื่อ The High Line กลับมาบูมอีกครั้ง จึงมีโครงการปรับปรุงอาคาร Bell Laboratories ให้กลายเป็น Westbeth Artist Community อพาร์ตเมนต์กึ่งสตูดิโอกึ่งที่พักอาศัยสำหรับศิลปินที่ยังมีรายได้ไม่มากนัก ออกแบบโดย Richard Mier อีกหนึ่งสถาปนิกแนวหน้าของโลก

The High Line, นิวยอร์ก

เริ่มมีแกลเลอรี่มากมาย ทำให้ที่นี่กลายเป็นย่านที่อาร์ตที่สุดของเมือง ปัจจุบัน Chelsea ยังคงเป็นย่านศิลปะที่ดังที่สุด เก๋สุดของเมือง มีแกลเลอรี่มากมาย จนเรียกกันว่า เชลซีแกลเลอรี่ เป็นที่ตั้งของสำนักงานกูเกิล ร้านอาหารหรู แหล่งช้อปปิ้ง เชลซีมาร์เก็ต แต่ต่างจากเมื่อก่อนตรงที่ย่านโรงงานมอมแมมถูกแปลงโฉมกลายเป็นย่านที่แพงที่สุดไปแล้ว 

The High Line จึงกลายเป็นพื้นที่ผสานศิลปะ พื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ และวิถีชีวิตของคนเมือง เอาไว้ได้อย่างลงตัว แม้ในยุคปัจจุบันที่คนนิยมไปเที่ยวสถานที่ใหม่ๆ และการเที่ยวแบบเช็กอิน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของ The High Line ที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 แถมดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความช่างคิดและไม่หยุดพัฒนากิจกรรม นำเสนอความเป็นไปได้ในการใช้พื้นที่ออกมาเรื่อยๆ

 

04

เรื่องราวใน 10 ปี ให้หลัง

ล่าสุดที่นี่มีการแสดง The Mile Long Opera ที่เปลี่ยนสวนแห่งนี้เป็นเวทีโอเปร่า พานักร้องประสานเสียงกว่าพันชีวิตออกมาร้องเพลงที่แต่งจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบๆ The High Line และสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของเมืองนิวยอร์ก เป็นอีกกิจกรรมที่ผู้จัด (ทีมสถาปนิกที่ออกแบบและคอมโพสเซอร์) ต้องการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ของการใช้พื้นที่สาธารณะในมุมมองใหม่ๆ การเติบโตและการรับบทบาทใหม่ๆ ของ The High Line

The High Line, นิวยอร์ก

The High Line, นิวยอร์ก

โชว์ได้รับการตอบรับอย่างดีสูงโดยบัตรถูกจองล่วงหน้าหมดอย่างรวดเร็ว มีคนยอมต่อแถวสแตนด์บายมากกว่า 2 ชั่วโมงเพื่อเข้าชม และแม้จะพยายามเปิดให้คนเข้าได้มากที่สุดแล้วก็ยังไม่สามารถรองรับความต้องการ นับเป็นความสำเร็จและการเติบโตก้าวสำคัญของ The High Line ในปีนี้

ก็เพราะอย่างนี้ไง The High Line จึงเป็นที่ที่ควรมาเยือน มากกว่าหนึ่งครั้งในชีวิต เพราะคุณจะได้อะไรกลับไปไม่เหมือนกันเลยสักครั้ง

แต่รู้หรือเปล่าว่ากว่าจะมาเป็น The High Line ที่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ Friend of The High Line มีการจัดกระบวนการมีส่วนร่วม Community Input Forum ร่วมกับ 24 ชุมชนโดยรอบ ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจอย่างเป็นสาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด ทัศนคติ ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู รวมถึงมีการจัดทำการประกวดแบบออนไลน์เพื่อหาทีมออกแบบในการมาทำงานร่วมกับชุมชนผ่าน Open Workshop กว่า 1,000 ครั้ง

ในประเทศไทยเอง มีภาคเอกชนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ริเริ่มนำแนวคิด Participatory Design หรือกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม มาใช้ในการวิจัยและออกแบบโครงการแล้วเช่นกัน อย่าง

‘Neighbourhood Bangkadi’ (เนเบอร์ฮูด บางกะดี) โครงการที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดเป็นโมเดลที่อยู่อาศัยที่ตอบรับการเติบโตของชุมชนเมืองในอนาคต ซึ่งมีแผนเริ่มก่อสร้างภายในปี 2562

โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่าง SC Asset และภาควิชาการอย่าง Redek หรือ ศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในการทำวิจัยเพื่อศึกษาพื้นที่ พฤติกรรม กิจกรรม ความต้องการของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ศึกษา ทั้งในเชิงกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และแนวโน้มการเติบโตของย่าน และมีการลงพื้นที่ สัมภาษณ์ สังเกตพฤติกรรม รวมไปถึงการทำ Workshop กับกลุ่มผู้อยู่อาศัยและคนในย่านบางกะดีกว่า 500 คน เพื่อหาความต้องการในมิติต่างๆ ในด้านที่อยู่อาศัยและการดำเนินชีวิต

แล้วนำไปพัฒนาให้เกิดพื้นที่สาธารณะหรืองานออกแบบอันเป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ทั้งผู้อยู่อาศัยในโครงการและชุมชนในย่าน รวมถึงการระดมความคิดเพื่อหา Solutions เกี่ยวกับการอยู่อาศัยจาก Co-creators ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ผู้อยู่อาศัยในโครงการ รวมถึงชุมชนในย่าน

เราเรียกการกระบวนการและผลลัพธ์ทั้งหมดนี้ว่า Human-centric หรือโมเดลที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มีความต้องการของผู้อยู่อาศัยเป็นหัวใจ

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการ Neighbourhood Bangkadi เพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer

Avatar

ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

บัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังศึกษาต่อสาขา design for social innovation ที่สถาบัน School of Visual Art ในนิวยอร์ก สนใจงานศิลปะ และการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม