ผมเพิ่งมีประสบการณ์ได้ออกเรือไปหาปลากับชาวประมงที่กุยบุรี ในใจคิดอยู่ตลอดเวลาว่ามาถึงถิ่นขนาดนี้แถมยังได้ดูการล้อมอวนจับปลา ทริปนี้จะต้องได้กินอาหารทะเลสดๆ อย่างกุ้ง หอย ปู ปลา จนหนำใจแน่

แต่ความเป็นจริง ตลอด 5 – 6 ชั่วโมงที่โคลงเคลงอยู่บนเรือ ประคองตัวให้ไม่เมาเรือไปมากกว่านี้ ได้แต่นั่งดูชาวประมงดึงอวนเปล่าอวนแล้วอวนเล่าขึ้นมาจากน้ำ ติดปลาขึ้นมาน้อยอย่างผิดคาด ไม่ได้เหมือนความคิดแรกที่ผมคิดว่าอวนจะต้องหนักอึ้งและผมจะต้องไปออกแรงช่วยดึงเลยแม้แต่น้อย

เรือประมง เรือประมง เรือประมง

เป็นความจริงที่น่าตกใจเมื่อมาเห็นด้วยตา เพราะใครจะเชื่อว่าปัญหาเรื่องสัตวน้ำกำลังจะหมดไปจากทะเลไทยจะเกิดขึ้นจริง เพราะทุกวันนี้เราก็ยังเห็นปลามีขายกันเต็มซูเปอร์มาร์เก็ต

พี่ปิยะ เทศแย้ม ชาวประมงและนักต่อสู้เพื่อทะเล พยายามบอกปัญหานี้ให้ทุกคนรับรู้มานาน เพราะปัญหาสัตว์น้ำหมดจากทะเลนี้ ชาวประมงที่เป็นคนที่ออกหาปลาโดยตรงเป็นคนแรกๆ ที่รู้ แต่เรื่องนี้ไม่เคยถูกเล่าให้คนกินอย่างเราฟัง

ปัญหาสัตว์น้ำกำลังจะหมดทะเลเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องที่ใหญ่เกินแก้ไขอย่างสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจนทำให้สัตว์น้ำเปลี่ยนที่อยู่อาศัย หรือกฎหมายที่ยังไม่เอื้อต่อการรักษาทรัพยากร ซึ่งพี่ปิยะและเครือข่ายกำลังต่อสู้เพื่อปรับแก้กฎหมายอยู่ แต่อีกปัญหาหนึ่งคือการจับปลาแบบไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของชาวประมง ซึ่งเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวที่สุดที่พี่ปิยะจะเริ่มแก้ไขได้

“ที่จริงชาวประมงรู้ดีว่าสัตว์น้ำกำลังจะหมด เขาเองก็เริ่มปรับตัว แต่เขาปรับตัวผิดวิธี คิดแค่ว่าถ้าปลาจะหมดก็ต้องหาวิธีจับให้ได้เยอะๆ คิดแค่วันนี้พรุ่งนี้จนไม่คิดถึงอนาคตว่ามันจะหมดไปตลอดกาล เพิ่มอุปกรณ์ หรือใช้อุปกรณ์อย่างเรือคราดหอย อวนตาถี่ มาลากโดยไม่สนว่าจะทำลายอะไรไปบ้าง อุปกรณ์พวกนี้ทำลายหน้าดิน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก สิ่งที่ติดมากับเรืออวนลากไม่ใช่แค่ปลาจำนวนมาก แต่มันยังมีลูกปลา ลูกปู ที่ยังไม่ถึงวัย ปะการัง เต่าทะเล สัตว์น้ำอื่นๆ หรือแม้แต่อุปกรณ์จับปลาของชาวประมงคนอื่นก็ติดมาด้วย” พี่ปิยะเล่าเรื่องปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

แล้วถ้าปลาใกล้หมด เราจะยังกินปลาได้อยู่ไหม?

อาหาร อาหาร

คำตอบคือ ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรากินปลามากเกินไป แต่เป็นการจับปลาที่ไม่มีสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม

การต่อสู้ของพี่ปิยะและชาวบ้านต่อเรืออวนลากและเรือคราดหอย กระทบกระทั่งจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายเพื่อเอาชีวิตก็เคยมาแล้ว การต่อสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันยังคงมีอยู่เพื่อปกป้องทะเลไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้

‘ร้านคนทะเล’ เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของพี่ปิยะและชาวประมงในหมู่บ้านทุ่งน้อย อำเภอกุยบุรี  ที่ตั้งใจเริ่มแก้ไขปัญหาจากตัวเองและชุมชน ร้านนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อขายอาหารทะเลที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ที่เป็นธรรมให้กับชาวประมง และใช้กำไรส่วนหนึ่งคืนกำไรสู่ทะเลด้วยการสร้างธนาคารปูและบ้านปลา

รูปแบบการจับปลาของร้านคนทะเลเป็นไปตามวิถีชาวประมงดั้งเดิม คือจะจับสัตว์อะไรก็เอาอุปกรณ์สำหรับจับสัตว์ชนิดนั้นๆ ไปจับ อยากจับปลาทูก็เอาอวนจับปลาทูไปจับ อยากได้ปูก็ใช้อวนปู ไม่ใช่ใช้อวนตาถี่ลากกวาดทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา เรือประมงของเครือข่ายร้านคนทะเลติดตั้ง GPS ทุกลำ เพื่ออำนวยต่อการตรวจสอบว่าปลาที่เรากำลังกินนั้นจับโดยใคร จับโดยเรือลำไหน และจับมาจากตรงไหน เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอาหารทะเลของไทย

เรือประมง เรือประมง ปลา

ในยุคที่การกินอาหารแบบรู้ถึงแหล่งที่มาเป็นสิ่งที่คนกินกำลังให้ความสนใจ เหตุผลก็เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพตัวเอง แต่การระบบการตรวจสอบย้อนกลับแบบที่ร้านคนทะเลกำลังสร้างขึ้นมานั้นก็เพื่อความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมด้วยอีกทางหนึ่ง

เชฟโจ-ณพล จันทรเกตุ จากร้าน 80/20 และลุงรีย์-ชารีย์ บุญญวินิจ จาก Uncleree farm ที่ใช้วัตถุดิบจากร้านคนทะเล มีโอกาสไปลงพื้นที่เพื่อดูแหล่งที่มาและวิธีการจับสัตว์ทะเลที่จะนำมาใช้ทำอาหาร แต่สิ่งที่ได้พบกลับเป็นปัญหาเหล่านี้ จึงเกิดเป็นไอเดียการสื่อสารเรื่องปัญหาสัตว์น้ำจะหมดทะเลผ่านมื้อค่ำ ซึ่งวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารมาจากร้านคนทะเล ในงาน SOS (Sustainability of Seafood) ที่ร้าน 80/20 โดยพี่ปิยะและผองเพื่อน เพื่อให้คนกินได้รับรู้เรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นกับทะเลไทยทุกวันนี้ รวมถึงการต่อสู้เพื่ออาหารทะเลที่ปลอดภัยต่อทั้งคนกินและสิ่งแวดล้อม

ปิยะ เทศแย้ม

ในฐานะที่เป็นเชฟซึ่งอยู่ระหว่างคนจับปลาและคนกิน เชฟโจเลยใช้โอกาสนี้ในการเป็นอีกช่องทางให้พี่ปิยะเล่าปัญหาที่เกิดขึ้น เชฟโจเล่าอีกหนึ่งปัญหาที่สังเกตได้ให้ผมฟังว่าตอนนี้ทั้งชาวประมงและผู้บริโภคเชื่อมไม่ถึงกัน ปลา ปู หรือหอยบางประเภท ไม่ได้ถูกนำมาทำเป็นอาหาร เพราะไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทำให้เกิดความต้องการในปลาชนิดเดิมๆ ซ้ำๆ และเกิดการจับจนเกินความต้องการ ทั้งที่ปลาพื้นบ้านอย่างปลาอกแร้ ปลาสาก ปลาช้างเหยียบ หอยหนาม หอยกระโจงโดง ล้วนแต่มีรสชาติที่ดี เชฟโจเลยนำมาแทรกอยู่ในมื้ออาหารที่จัดขึ้นด้วย โดยใช้ความสดและรสแท้ของวัตถุดิบแบบไม่ต้องปรุงอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้ปลาพื้นบ้านเหล่านี้เป็นที่ยอมรับของคนกิน โดยหวังว่าวันหนึ่งความต้องการของปลาท้องถิ่นจะมีมากกว่าปลาแซลมอนที่ต้องนำเข้ามา

อาหารทะเล อาหาร อาหารทะเล

ว่ากันตามตรง คนที่ชอบกินอาหารทะเลอย่างผมไม่มีทางรู้ว่าสัตว์น้ำกำลังจะหมด เพราะอยากกินเมื่อไหร่ พอเดินเข้าร้านอาหารก็มีให้กินอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ต้องการจากอาหารทะเลก็แค่อาหารที่สด สะอาด และปลอดภัยจากสารฟอร์มาลีนเท่านั้น ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าปลานั้นถูกจับมาด้วยวิธีไหน และทำลายอะไรไปบ้าง

“ถ้าคนกินบอกว่าต้องการแค่สด สะอาด ปลอดภัย ไม่มีฟอร์มาลีน แบบนั้นผมก็ทำให้ได้ ผมไประเบิดปลา ขโมยอวนคนอื่น หรือจะใช้อวนลากทุกอย่างมาก็ได้ แต่สุดท้ายก็หมดทะเลอยู่ดี ตามกฎหมายเรือประมงเล็กทุกลำในกลุ่มพวกเราไม่จำเป็นต้องติดเครื่องตรวจจับสัญญาณเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่พวกผมทำเป็นการเริ่มสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับทั้งคนจับปลาและคนกิน เพื่อให้ตรวจสอบได้อย่างบริสุทธิ์ใจ

“ผมเชื่อว่าทะเลยังฟื้นตัวได้ แค่เราต้องให้เวลามันฟื้นตัวเองบ้าง” นักต่อสู้เพื่อท้องทะเลพูดทิ้งท้าย

Writer & Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2