ชีวิตเหมือนฝัน 

ฝันที่ว่าคือ ‘American Dream’ 

สองหนุ่มแฝดสยามอิน-จันตัวติดกันแต่กำเนิด ฟ้าลิขิตให้ฝรั่งพาไปอเมริกาเมื่ออายุเต็ม 18 ล่องเรือกลางทะเล 138 วันกว่าจะถึงฝั่ง ไปเป็นนักแสดงในคณะละครสัตว์ทั่วอเมริกาและยุโรป เก็บเงินเก็บทองจนร่ำรวย มีเงินซื้อที่ดินเกือบ 300 ไร่ แต่งงานมีลูกรวมกันถึง 21 คน

เป็นคนไทยคนแรกเอ่อ…คู่แรกที่บรรลุ ‘อเมริกันดรีม’ อย่างสมบูรณ์

หลังสงครามกลางเมืองเงินทองและที่ดินหายไปพร้อมไฟสงคราม คู่แฝดจึงต้องออกแสดงเพื่อหาเงินอีกครั้ง 

เพราะเป็นแฝดคู่แรกของโลกที่ตัวติดกันทำให้คำว่า Siamese Twins เป็นที่รู้จักของชาวโลก 

11 พฤษภาคม 2561 เราไปร่วมงานทำบุญวันเกิดคู่แฝดที่จังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมทายาทรุ่นสามถึงห้าและผู้ติดตามจำนวนทั้งหมด 14 คน ที่บินตรงมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่มาเยือนถิ่นกำเนิดของปู่ทวดเป็นครั้งแรก  

ความเท่ประจำครอบครัวคือ ทุกคนมีเลขรหัสประจำตัว เช่น E-11-2-1-2 หมายถึงเป็นสายแฝดอิน (Eng) ตัวเลขที่ตามหลังหมายถึงเป็นลูกคนที่เท่าไรของรุ่นนั้นๆ รหัส E-11-2-1-2  เป็นเลขประจำตัวของทายาทที่สืบเชื้อสายจากลูกคนที่ 11 ของแฝดอิน และไล่ไปเรื่อยๆ

มองเผินๆ ทายาททุกคนดูเป็นฝรั่ง แต่ถ้าสังเกตให้ดีรุ่นสามหรือสี่บางคนยังมีดวงตาและลักษณะบนใบหน้าที่บ่งบอกความเป็นเอเชียสายเลือดของอินกับจันฝาแฝดผู้โด่งดังจากสมุทรสงคราม

รู้จักอินจัน

ถามหลานและเหลนว่าแฝดสยามอิน-จันเป็นคนอย่างไร?

เขาชอบผู้หญิงสวย Homer Bunker ตอบแบบไม่ต้องคิด พร้อมหัวเราะเสียงดัง  

โฮเมอร์เป็นทายาทรุ่นสามฝั่งแฝดอิน เขาเป็นคนเดียวในบรรดา 14 คนของทริปนี้ที่ใช้นามสกุล ‘บังเกอร์’ (Bunker) ตามอย่างแฝดอิน-จันที่ฝรั่งรู้จักในนาม Eng and Chang Bunker ส่วนคนอื่นๆ ใช้นามสกุลอื่นกันหมดแล้วเพราะลูกสาวเปลี่ยนนามสกุลหลังแต่งงาน

“สมัยหนุ่มๆ ตอนออกทัวร์ไปกับคณะละครสัตว์ เขาชอบสาวสวยๆ ก็มีแฟนบ้าง แต่พอคู่แฝดแต่งงานกับซาราห์และอะเดเลด (Sarah & Adelaide) สองพี่น้องตระกูลเยทส์ (Yates) เขาก็รักเดียวใจเดียวนะ” โฮเมอร์ยืนยัน 

แซ็ค (Zack Worrell Blackmon Jr.) ทายาทรุ่นสี่ฝั่งแฝดอินเล่าไปยิ้มไปว่า มีคนถามเขาเยอะว่า “ชัวร์เหรอว่าเป็นทายาทสายแฝดอิน เพราะตอนนั้นจันก็อยู่ด้วย” อืม ก็ไม่รู้สินะ เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ ที่คนจะสงสัยว่าแฝดตัวติดกันจะใช้ชีวิตและมีครอบครัวอย่างคนปกติได้อย่างไร แถมมีลูกรวมกันตั้ง 21 คน 

เสน่ห์อีกข้อของแฝดหนุ่มคือ ร่ำรวยอารมณ์ขัน

ทายาทแฝดสยามอิน-จัน
แฝดสยามอิน-จัน

“ในครอบครัวเรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอารมณ์ขันของคู่แฝดเยอะมาก มีครั้งหนึ่งที่ผู้ชมชมโชว์จบแล้วเดินมาถามว่า นี่อายุเท่ากันหรือเปล่า อินตอบหน้าตาเฉยว่า ‘เปล่า จันเกิดทีหลัง 2 ปี’ ผู้ชมคนนั้นก็เดินกลับไปแบบงงๆ ก็จะไปเกิดทีหลัง 2 ปีได้ยังไง ออกจากท้องแม่พร้อมกันนี่แหละ” โฮเมอร์เล่า 

“เวลาขึ้นรถไฟ คู่แฝดจะแกล้งยื่นตั๋วใบเดียวให้นายตรวจ นายตรวจบอกว่าต้องมีตั๋วคนละใบ ไม่งั้นคนไม่มีตั๋วต้องลงจากรถ คู่แฝดที่มีตั๋วแล้วก็บอกว่าผมซื้อตั๋วแล้ว ไม่ลง แต่อีกประเดี๋ยวเขาก็จะหัวเราะ แล้วยื่นตั๋วอีกใบให้นายตรวจ เป็นซะอย่างนี้  

“บางทีขับรถม้าไปด้วยกัน พอทะเลาะกันปุ๊บก็จะมีคนหนึ่งขู่ว่าเดี๋ยวฉันจะต่อยแกให้คว่ำตกรถไปเลย พอคิดไปคิดมาก็คงขำกันทั้งคู่ เพราะถ้าแกตกฉันก็ตกด้วยน่ะสิ” แซ็คหัวเราะ พร้อมกับย้ำว่านี่เป็นเรื่องที่พวกเขาได้ฟังหรืออ่านต่อๆ กันมาในครอบครัว เพราะทายาททั้งหมดที่มาครั้งนี้ไม่มีใครทันเจอปู่อินกับจันเลยสักคน เลยไม่ทันได้เห็นความขี้เล่นของคุณปู่ฝาแฝด 

โฮเมอร์บอกว่าแฝดทั้งคู่เป็นคริสเตียนที่เข้าโบสถ์บ่อยครั้งและบริจาคเงินสร้างโบสถ์ให้แก่ชุมชนด้วย แม้เป็นแฝดแต่นิสัยใจคอของทั้งคู่ไม่เหมือนกัน จันมีนิสัยค่อนข้างแข็งกร้าวกว่าและอารมณ์ร้อน ในขณะที่อินสงบเยือกเย็นและมักเป็นฝ่ายยอมก่อนถ้าคู่แฝดเกิดทะเลาะกันขึ้นมา 

เครื่องหมายการค้าประจำครอบครัว

ทายาทตระกูลบังเกอร์จำนวนไม่น้อยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในแวดวงการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ หรือในวงการธุรกิจ คนหนึ่งเป็นประธานบริษัท Union Pacific Railroad อีกคนเป็นนายพลกองทัพอากาศสหรัฐฯ และมีลูกหลานที่สร้างชื่อในสาขาอื่นๆ เช่น ดนตรีและศิลปะ เมื่อไม่นานมานี้ หลานสาวคนหนึ่งชื่อ Caroline Shaw เป็นเด็กอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลทรงเกียรติอย่างรางวัลพูลิตเซอร์ในสาขาประพันธ์ดนตรี

เหตุผลหนึ่งที่ลูกๆ หลานๆ ต่างได้ดิบได้ดีน่าจะเป็นเพราะการศึกษา กลุ่มทายาทที่เราสัมภาษณ์ในครั้งนี้บอกว่านิสัยอย่างหนึ่งของแฝดอิน-จันคือรักลูกมาก และเน้นให้ลูกทุกคนมีการศึกษาที่ดี

“อินกับจันพยายามให้ลูกได้เรียนหนังสือ ขนาดมีลูกคนหนึ่งเกิดมาเป็นใบ้ก็ยังส่งไปโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ ลูกๆ หลานๆ ส่วนใหญ่ในครอบครัวของเราก็จะเข้าวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย เป็นค่านิยมประจำบ้านไปแล้ว คิดว่าที่อินกับจันให้ความสำคัญกับการเรียนของลูกก็เพราะตัวเขาเองมีชีวิตพลิกผันมาก จากที่เป็นนักแสดงจนร่ำรวย พอเกิดสงครามกลางเมืองปุ๊บฐานะเปลี่ยนทันที เพราะเขาอยู่ฝ่ายใต้ที่เป็นฝ่ายแพ้สงคราม สูญเสียทุกอย่าง จนต้องออกแสดงอีกครั้งเพื่อหาเงิน” โฮเมอร์ให้ความเห็น

Adelaide Alexander Sink หรืออเล็กซ์ ทายาทรุ่นสามฝั่งแฝดจัน กล่าวว่า แม่ของเธอเป็นหลานปู่ของแฝดจัน ถึงกับตั้งโรงเรียนขึ้นที่บ้านเพื่อสอนเด็กๆ ในครอบครัวและเด็กๆในชุมชนใกล้เคียง 

แฝดสยามอิน-จัน
ทายาทแฝดสยามอิน-จัน

ในความเห็นของอเล็กซ์ ลักษณะประจำครอบครัวบังเกอร์ที่สืบทอดมาจากอิน-จัน คือ ‘Intellectual Curiosity’ ความใฝ่รู้ และ ‘Being Open-minded’ ความใจกว้าง 

อินกับจันเดินทางไปทั่วโลก พบทั้งคนที่มองว่าพวกเขาเป็น ‘ตัวประหลาด’ เป็น Freak Show ของละครสัตว์ และคนที่ใจกว้างพอจะยอมรับนับถือคู่แฝดในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มีเรื่องเล่าว่าแม้แต่พ่อของสองสาวตระกูล Yates ในตอนแรกก็ไม่ยอมให้ลูกสาวแต่งกับแฝดหนุ่ม ไม่ใช่เพราะความผิดปกติทางร่างกาย แต่เพราะแฝดหนุ่มเป็น ‘คนหัวดำ’ เพื่อนบ้านถึงกับเข้ามาคุยกับพ่อของสองสาวว่าอย่ายอมให้แต่ง 

แต่ไปๆ มาๆ ก็ได้แต่งกันทั้งพี่ทั้งน้อง แต่ภายหลังแต่งงานก็ยังมีคนเอาของมาขว้างใส่บ้านของอินกับจัน เพียงเพราะ ‘ไม่ชอบ’ ที่แฝดสยาม ‘ไม่เหมือน’ พวกเขา 

คืนสู่เหย้าที่เมาท์แอรี งานชุมนุมลูกหลานบังเกอร์ประจำปี

ปัจจุบัน ทายาททั้งหมดมีราว 1,500 คน ส่วนหนึ่งยังปักหลักอยู่ที่ถิ่นฐานเดิมที่อินกับจันใช้ชีวิตอยู่หลังออกจากคณะละครสัตว์ คือเมืองเล็กๆชื่อเมาท์แอรี (Mount Airy) รัฐนอร์ทแคโรไลนา มีแฝดมาชุมนุมมากที่สุด 7 คู่ แต่ไม่มีคู่ไหนตัวติดกัน 

ทุกปีในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมเป็นงาน ‘คืนสู่เหย้า’ ของเหล่าทายาทแฝดสยาม มีการเช็กชื่อว่าปีนี้ใครมาบ้าง และมอบรางวัลต่างๆ (เช่น ทายาทที่อายุน้อยที่สุด อายุมากที่สุด ทายาทที่เดินทางมาไกลที่สุด) สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานทุกปี มีการเลี้ยงอาหาร ก่อนเปิดบ้านให้เหล่าทายาทเข้าชมและรำลึกถึงบรรพบุรุษไปด้วยกัน 

บ้านหลังนี้ที่เปิดให้ชมเป็นบ้านของจันกับภรรยา (บ้านของอินถูกไฟไหม้ไปหมดจากอุบัติเหตุ) ตัวบ้าน กำแพงอิฐ และเตาผิงในบ้าน ยังเป็นแบบเดิมเหมือนเมื่อครั้งอินกับจันยังมีชีวิตอยู่ อิฐแต่ละก้อนทำด้วยมือโดยทาสผิวดำที่อินกับจันซื้อตัวมาให้ช่วยงานในไร่

ทุกวันนี้ บ้านหลังนี้เป็นของอเล็กซ์ ทายาทรุ่นสาม กับน้องสาว มีการต่อเติมบ้าง แต่หน้าบ้านยังมีพุ่มกุหลาบอายุร้อยกว่าปีที่ ‘Grandma Adelaide’ (อะเดเลด ภรรยาของจัน) ปลูกไว้ และมีต้นฮอลลี่สูงใหญ่หน้าบ้าน เมื่ออินกับจันสิ้นชีวิต ทั้งคู่เคยถูกฝังอยู่ใต้ต้นไม้นี้ ก่อนย้ายไปที่หลุมฝังศพในโบสถ์

“แม่ของฉันจะสอนอยู่เสมอว่าอย่าเป็นคนใจแคบนะ สังคมที่เมาท์แอรีอาจมีคนที่มองอะไรแคบๆ บ้าง  เราเข้าใจดีว่าการไม่ Fit In เต็มร้อยมันเป็นยังไง บางครั้งฉันไปซื้อของแถวบ้าน จะมีคนเข้ามาทักว่า ‘เธอนี่ คนตระกูลบังเกอร์ใช่ไหมเนี่ย’ เพราะหน้าตาฉันดูมีเชื้อสายเอเชีย ไม่เหมือนคนอื่นๆ ในชุมชน” อเล็กซ์เล่า ก่อนมองหน้าคนสัมภาษณ์ แล้วบอกว่า “You look like one of my cousins!”

ฉันจึงบอกว่า ฉันเป็นคนไทยเชื้อสายจีน

ทายาทแฝดสยามอิน-จัน
ทายาทแฝดสยามอิน-จัน
ทายาทแฝดสยามอิน-จัน

“So were they.” อเล็กซ์หมายถึงอินกับจันที่มีพ่อเป็นคนจีน แม่เป็นคนไทย (ข้อมูลบางแห่งระบุว่า แม่ของอิน-จันมีเชื้อสายอินโดนีเซีย) 

“อินกับจันมีเชื้อจีน ดังนั้น คุณกับฉันเราต่างก็มีเลือดไทยปนจีนทั้งคู่ ฉันอดไม่ได้หรอกที่จะรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างในสังคมที่เมาท์แอรี แม้ว่าเพื่อนๆ จะไม่เคยล้อเลียน แต่ก็รู้สึกแตกต่างอยู่ดี เพราะพอเลิกเรียนฉันก็จะกลับไปอยู่บ้านที่จันกับอะเดเลดช่วยกันสร้าง มันมีกลิ่นอายของพวกเขาอยู่ในนั้น”

อเมริกันดรีม ไต่เต้าจากนักแสดงในละครสัตว์จนร่ำรวยเป็นเจ้าของฟาร์ม 

เป็นเวลา 10 ปีที่แฝดสยามอิน-จันตระเวนแสดงกับคณะละครสัตว์ไปทั่วอเมริกาและหลายประเทศยุโรป

นอกจากเล่นกายกรรมเก่งแล้ว คู่แฝดยังขี่ม้าได้ เล่นหมากรุกเก่ง และเป็นนักดนตรี โดยเล่นลูต (Lute) เป่าขลุ่ย และสีไวโอลิน

“สมัยเด็กๆ ตอนเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นครูให้ผมออกไปเล่าเรื่องแฝดสยาม ผมเรียกเพื่อนออกมา 2 คน เอาเชือกมัดตัวติดกันจนผมพูดจบ ใช้เวลาสัก 45 นาที คือแรกๆ มันก็ดูตลกดี แต่พอผ่านไปสักพักก็เริ่มจะอึดอัด ขยับไปขยับมา ทุกคนจะถามว่าแล้วอินกับจันเข้าห้องน้ำยังไง ผมตอบว่าเพื่อน นายก็ต้องหาทางจนได้ล่ะ” แซ็คเล่า เขาบอกว่า ชื่นชมปู่ทวดจริงๆ ที่ ‘อยู่ด้วยกันได้’ และยังทำงานหาเงินได้ด้วย

ทริปคืนสู่ 'เหย้า' ครั้งแรกในชีวิตของทายาทแฝดสยามอิน-จันที่จังหวัดสมุทรสงคราม
ทริปคืนสู่ 'เหย้า' ครั้งแรกในชีวิตของทายาทแฝดสยามอิน-จันที่จังหวัดสมุทรสงคราม
ทริปคืนสู่ 'เหย้า' ครั้งแรกในชีวิตของทายาทแฝดสยามอิน-จันที่จังหวัดสมุทรสงคราม

การที่ตัวติดกันทำให้คู่แฝดมีความพิเศษ เพราะทั้งคู่หาวิธีใช้ชีวิตอย่าง ‘คนปกติ’ จนได้  

บางครั้งเราอยากมีเวลาอยู่กับตัวเองเงียบๆ หรือเมื่อเหม็นหน้าใครก็อยากจะไปอยู่ห่างๆ แต่อินกับจันทำไม่ได้ แม้ภายหลังเมื่อร่ำรวยเป็นเจ้าของฟาร์ม สร้างบ้าน 2 หลังให้ภรรยาอยู่คนละหลัง และอินกับจันผลัดเวรไปอยู่บ้านละ 3 วัน แต่ความที่ตัวติดกัน ไปไหนก็ต้องไปด้วยกันตลอด จะนอนตะแคงก็ทำไม่ได้

“สมมติว่าอินโกรธจัน หรือบังเอิญคืนนี้เป็นเวรที่ต้องไปอยู่บ้านภรรยาจัน อินก็จะทำตัวเงียบเฉยเหมือนไม่มีเขาอยู่ในโลก” แซ็คทำท่าประกอบ

เมื่ออายุ 28 ปีคู่แฝดเป็นอิสระจากสัญญาของคณะละครสัตว์และมีเงินเก็บมากพอที่จะซื้อที่ดินผืนหนึ่งในรัฐนอร์ทแคโรไลนา

เหล่าทายาทบอกกับเราว่าในสมัยนั้นคู่แฝดเรียกได้ว่าเป็น ‘เศรษฐี’ มีเงินมากพอจะซื้อตัวทาสผิวดำมาใช้งานในไร่และทำงานบ้านทาสหญิงคนหนึ่งชื่อเกรซ (Grace) เป็นแม่นมดูแลลูกๆ ของอินกับจัน สนิทกันมากจนเด็กๆ เรียกว่า Aunt Grace ทุกปีที่งานคืนสู่เหย้าของทายาทแฝดสยามจึงปรากฏ ‘ทายาทผิวดำ’ ที่จะมาร่วมงานทุกปี แซ็คกล่าวว่าเขาใช้คำว่า ‘ทายาท’ เพราะเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของครอบครัวอินกับจัน

คืนถิ่นบรรพบุรุษที่สมุทรสงคราม

พ.ศ. 2354 หรือ 207 ปีที่แล้วแฝดสยามคู่นี้ถือกำเนิดใกล้วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวกันว่าเพื่อนบ้านเห็นเป็นลางร้าย เกรงจะเกิดอาเพศ จึงยุให้ฆ่าทิ้งเสีย

นางนาคผู้เป็นมารดาของฝาแฝดอิน-จันบอกว่า ‘ช่างมัน ฉันไม่แคร์’ และเลี้ยงสองหนุ่มจนเติบใหญ่ บิดาชาวจีนของอินกับจันถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2362 คู่แฝดจึงต้องช่วยมารดาทำมาหากินทางค้าขายและเลี้ยงสัตว์ 

วันดีคืนดีโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ ผ่านมาเห็นคู่แฝดกำลัง ‘ว่ายน้ำ’ ตามเรื่องเล่ากล่าวว่าแวบแรกนายโรเบิร์ตตกอกตกใจนึกว่าสองหนุ่มน้อยเป็น ‘Some kind of animal’ แต่เมื่อพบว่าเป็นแฝดตัวติดกันโรเบิร์ต ฮันเตอร์ จึงตาลุกวาววาดภาพเงินมหาศาลที่คู่แฝดจะหาได้ในอเมริกา และจัดแจงติดต่อเรือสินค้าของกัปตันเอเบิล คอฟฟิน (Abel Coffin) แล้วไปเจรจากับนางนาคขอซื้อตัวคู่แฝดวัย 18 ปีลงเรือไปแสวงโชคเผชิญโลกใหม่ที่สหรัฐอเมริกา

และที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์ของ Siamese Twins คู่แรกของโลก

แซ็คกล่าวว่าการได้กลับมาบ้านเกิดของปู่ทวดอิน-จันมีความหมายกับเขามาก

ทายาทแฝดสยามอิน-จัน
ทายาทแฝดสยามอิน-จัน

“ผมมีเลือดไทยอยู่ในตัว การได้กลับมาเห็นที่ที่คู่แฝดเกิดและเติบโตมันน่าดีใจมาก เรารู้ว่าอินกับจันมีพี่น้อง ผมได้แต่คิดว่าแล้วเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาล่ะ เขาแต่งงานไหม มีลูกมีหลานหรือเปล่า ทริปนี้เราจะได้พบญาติที่สาบสูญไปนานแล้วบ้างไหม คงจะดีมากเลยถ้าเรารู้ว่าพวกเขาอยู่ไหน”

โฮเมอร์เสริมว่าเขาออกจะผิดหวังนิดหน่อยเมื่อทราบว่าทางไทยยังระบุตัวเชื้อสายของอินกับจันที่ยังมีชีวิตอยู่ที่สมุทรสงครามไม่ได้ เพราะเขาเองก็อยากพบ ‘ครอบครัว’ ที่น่าจะยังอยู่ที่นี่

“ผมเป็นทายาทรุ่นสาม และภูมิใจมากเวลาบอกคนทั่วไปว่า นี่ ผมมีเชื้อไทยปนจีนอยู่หนึ่งในแปดเชียวนะ เมื่อมาเมืองไทยแล้วได้เห็นว่าคนที่นี่เป็นมิตรและถ่อมตนแค่ไหนผมก็รู้สึกอบอุ่นใจมากที่รู้ว่าปู่ทวดของผมเกิดที่นี่ อยากให้อเมริกาเป็นอย่างนี้บ้าง ที่อเมริกาทุกอย่างเร็วไปหมด นิสัยคนก็ไม่นุ่มนวลเท่า”

หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยสหรัฐอเมริกา

เกือบ 30 ปีที่ผ่านมางานคืนสู่เหย้าประจำปีของตระกูลบังเกอร์จัดที่เมาท์แอรี สถานที่ที่แฝดสยามลงหลักปักฐานในสหรัฐอเมริกา

แต่ปีนี้พิเศษกว่าทุกปี เพราะกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครรราชทูตไทยณกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดงานคืนถิ่นบรรพบุรุษแฝดสยามอิน-จันที่จังหวัดสมุทรสงคราม พากลุ่มทายาทคืนสู่ ‘เหย้า’ ที่อินกับจันถือกำเนิดและเติบโต

ในวันคล้ายวันเกิดของอินและจัน 11 พฤษภาคม 2561 ทีมงาน The Cloud ไปเดินท่อมๆ ชมสวนมะพร้าว ชิมน้ำมะม่วงหาวมะนาวโห่ ดูการสาธิตทำน้ำตาลมะพร้าว พร้อมกับทายาทแฝดสยามท่ามกลางอากาศร้อนแบบไทยๆ 

ทายาทแฝดสยามอิน-จัน
ทายาทแฝดสยามอิน-จัน
ทายาทแฝดสยามอิน-จัน

อเล็กซ์ ทายาทรุ่นสามฝั่งแฝดจัน กล่าวว่า “ฉันประทับใจที่ได้มาเห็นสังคมเกษตรกรรมที่นี่ ได้เห็นไร่อ้อย มันสำปะหลัง มะละกอ มะพร้าว ครอบครัวของเราก็ทำฟาร์มเหมือนกัน พ่อฉันเป็นชาวไร่ เราเลี้ยงหมู เลี้ยงวัว ทำไร่ยาสูบและข้าวโพด ฝั่งแฝดอินก็เหมือนกัน ลูกๆ หลานๆ ฝั่งนั้นมีหลายคนทีเดียวที่ยังอยู่แถบเมาท์แอรีและยึดอาชีพทำการเกษตร

ฉันมาเมืองไทยครั้งแรกตอนอายุ 22 แค่มาเที่ยวกรุงเทพฯ 2 วัน ดังนั้น คราวนี้จึงเป็นครั้งแรกของฉันที่ได้มาสมุทรสงคราม ความรู้สึกตั้งแต่ครั้งแรกที่มาเมืองไทยก็คือ ฉันมองไปรอบตัวแล้วคิดว่า โอ้ นี่แหละที่ของฉัน นี่คือคนของฉัน ไม่มีใครเดินมาทักฉันว่านี่เธอเป็นคนจีนเหรอ หรือเป็นคนเอเชียใช่ไหม แต่ที่เมาท์แอรีฉันต้องคอยตอบคำถามนี้อยู่เรื่อย” 

ทายาทแฝดสยามอิน-จัน

เป็นความรู้สึกที่แปลกดี เมื่อคิดว่าตัวเรากับหญิงชาวอเมริกันที่เดินดื่มน้ำมะพร้าวอยู่ข้างๆ ต่างก็มีเลือดไทยเหมือนกัน ทายาททุกคนดูตื่นเต้นที่เห็นวิธีการเก็บมะพร้าว ปอกและกะเทาะมะพร้าว เดินชมบ้านสวนแบบไทยๆ

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ออกแบบกิจกรรมร่วมกับจังหวัดสมุทรสงครามเปิดเผยว่าอยากให้ทายาทตระกูลบังเกอร์ได้สัมผัสรากเหง้าของบรรพบุรุษเรียนรู้วิถีชีวิตที่ผูกพันกับการเกษตรเชิงนิเวศและรู้จักความเป็นพหุสังคมของสมุทรสงครามที่คนต่างศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม อยู่ร่วมกันได้ 

“ลูกหลานตระกูลบังเกอร์มีสำนึกเกี่ยวกับบรรพบุรุษค่อนข้างแนบแน่น ไม่ใช่สำนึกในความเป็นไทย แต่เป็นสำนึกที่ว่าเขามีรากเหง้าบางอย่างอยู่นอกสหรัฐอเมริกา” คุณวิชชุ เวชชาชีวะ รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กล่าวกับ The Cloud

“ทายาทตระกูลบังเกอร์เขาอยากรู้จักพื้นถิ่นของบรรพบุรุษอยู่แล้ว ผมคิดว่าคนปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมี Identity ที่ถูกจำกัดความเพียงแค่ความเป็นรัฐชาติ (Nation State) แน่นอนว่าเราต้องเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ความสนใจใคร่รู้ว่าเรามาจากไหน มันทำให้เรามองอะไรไปไกลกว่าความเป็นชาตินิยมแคบๆ 

“ยังมีสังคมอื่นที่เป็นที่มาของเรา ที่บรรพบุรุษเราเติบโตขึ้นมา ผมคิดว่านั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะก้าวข้ามความเป็น Nation State คนในชาติควรรู้จักมองออกไปข้างนอก อยากรู้จักข้างนอก ว่ามีอะไรต่างจากเรา และเราจะชื่นชมความต่างเหล่านั้นได้อย่างไร” 

คุณวิชชุยังกล่าวว่าแฝดสยามอิน-จันเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฏในเรื่องราวความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ได้เล่าในระดับผู้นำต่อผู้นำ แต่เป็นระดับประชาชนต่อประชาชน ชีวิตที่มีสีสันของอินกับจันในยุคบุกเบิกของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงชีวิตชาวไทยในสหรัฐฯ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน บอกเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย 

จากชีวิตริมคลองในสมุทรสงคราม ฟ้าส่งแฝดสยามอิน-จันให้ไปโลดแล่นในโลกใหม่ วันนี้ลูกหลานของอิน-จัน กลับมาเหยียบผืนดินที่ครั้งหนึ่งแฝดทั้งสองอาจเคยวิ่งเล่น 

บางทีนางนาค แม่ของแฝดสยาม อาจมองเห็นอนาคตทั้งหมดนี้ จึงไม่เชื่อคำยุยงของเพื่อนบ้านที่ให้ฆ่า ‘เด็กประหลาด’ ทิ้งก็เป็นได้

ทายาทแฝดสยามอิน-จัน
 

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ